|
|
นกในประเทศไทย 1
นกกระจอกบ้าน
|
เป็นนกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร (จากปลายปากถึงปลายหาง) ลำตัวสีน้ำตาล ข้างแก้มสีขาว ข้างหูและใต้คอ สีดำ ตัวผู้สีสดใสกว่าตัวเมียเล็กน้อย อยู่รวมกันเป็นฝูง ใกล้บริเวณที่คนอยู่ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงระดับความสูง 1,800 เมตร ทำรังตามใต้หลังคาบ้าน หรือตามหลืบตามซอก ขยายพันธุ์ได้ตลอดปี วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ 13 วัน ออกจากไข่แล้วประมาณ 14 วัน จะบินได้ |
นกกระจาบ
เป็นนกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดูทั่ว ๆ ไปจะเห็นเป็นสีน้ำตาล หัว หลัง ปีก และหาง เป็นสีน้ำตาล มุมปากถึงข้างคอสีน้ำตาลเข้ม อกและท้องสีน้ำตาลนวล ระยะผสมพันธุ์ตัวผู้ที่โตเต็มวัยขนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด ปากสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ปากสั้น ปลายแหลมและแข็งแรง นกกระจาบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตามท้องทุ่ง ไร่ นา รังสร้างเอง ปราณีต ทนทาน ใช้เวลาสร้างนานหลายวัน มักพบห้อยระย้าอยู่หลายรังตามต้นไม้ต้นเดียวกัน รังนกกระจาบมีความปลอดภัยกว่านกชนิดอื่น กันแดด ฝน ลม ได้ดี และป้องกันภัยจากศัตรูพวกงู หนู และเหยี่ยวได้ดี นกกระจาบที่พบในไทย มี 3 ชนิด คือ นกกระจาบเรียบ อกไม่มีลาย พบทั่วทุกภาค และมีจำนวนมากกว่าชนิดอื่น นกกระจาบอกลาย อกมีลายจุดสีน้ำตาล พบในภาคกลาง และภาคเหนือ นกกระจาบทอง ในฤดูผสมพันธุ์ขนที่คอตัวผู้จะเป็นสีเหลืองสด พบเฉพาะภาคกลาง
นกกระจิบ
|
เป็นนกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ปากเล็กยาว ปลายแหลมตรง ขายาวเรียวเล็ก ชอบกระดกหางขึ้นลงและกระโดดไปมาเกือบตลอดเวลา กินแมลงตามกิ่งไม้ บางครั้งบนพื้นดิน นกกระจิบมักอยู่เป็นคู่ ผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี แต่มักเป็นช่วงฤดูฝน ทำรังด้วยการดึงใบไม้เล็ก ๆ เข้าหากัน วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกกไข่ ใช้เวลาประมาณ 12 วัน ก็ฟักออกเป็นตัว ทั้งตัวผู้ตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงลูก |
นกกกระจิบในประเทศไทย มี 5 ชนิด คือ นกกระจิบหางยาว และนกกระจิบคอดำ พบทั่วทุกภาค นกกระจิบหัวแดง พบทางภาคใต้ตอนล่าง นกกระจิบกระหม่อมแดง พบทางภาคใต้ กระกระจิบภูเขา พบทางภาคเหนือ
นกกระตั้ว
เป็นนกปากงุ้มเป็นขอชนิดหนึ่ง คล้ายนกแก้วแต่ตัวโตกว่า มีหงอน ยาวประมาณ 46 เซนติเมตร สีขาวทั้งตัว รวมทั้งหงอน ซึ่งโค้งไปข้างหลัง ขนใต้ปีกและใต้หางมีสีเหลืองปน หนังรอบตาสีขาวอมเหลือง ปากหนาแข็งแรงสีดำอมเทา ปากบนใหญ่คลุมปากล่าง ขาสีเทา ม่านตาของตัวผู้สีน้ำตาลแก่ ส่วนของตัวเมียเป็นสีน้ำตาลแดง นกกระตั้วมักอยู่เป็นคู่ หรือฝูงเล็ก ๆ มักเกาะตามต้นไม้สูง กินผลไม้ เมล็ดพืชและแมลง วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกกไข่ ระยะฟักไข่ประมาณ 4 สัปดาห์ ลูกนกจะบินได้เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน นกกระตั้วดำ ตัวโตกว่านกกระตั้วธรรมดาพอสมควร คือยาวถึง 56 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ขนสีดำตลอดตัว นกกระตั้วหงอนเหลือง ตัวขนาดเดียวกับนกกระตั้วธรรมดา แต่หงอนเป็นสีเหลือง
นกกระติ๊ด
เป็นนกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 16 เซนติเมตร ปากสั้นหนา ปลายแหลม แข็งแรง หัวกลม ลำตัวป้อม มีหลายสี เช่น แดง เขียว น้ำตาล
นกกระเต็น
|
เป็นนกที่มีหลายขนาด ความยาวตั้งแต่ 10-46 เซนติเมตร มีอยู่ทั่วโลก ยกเว้นบริเวณขั้วโลก และเกาะบางเกาะที่อยู่ห่างแผ่นดินใหญ่มาก รูปร่างอ้วนป้อม หัวโต คอสั้น ปากใหญ่ตรงและปลายแหลม ขาสั้นเล็ก สีสันสดใสทั้งตัว ประกอบด้วยสีเขียว น้ำเงิน แดง น้ำตาล และขาว นกกระเต็นบินเร็ว ตรง กระพือปีกถี่มาก สลับด้วยการร่อนระยะสั้น ๆ มักส่งเสียงร้องขณะบิน แต่เสียงไม่เพราะ ส่วนใหญ่ทำรังในดินตามตลิ่ง ริมฝั่งน้ำ โดยใช้ปากเจาะรู แล้วใช้เท้าเขี่ยดินออก รูลึกมาก 1-3 เมตร วางไข่ครั้งละ 5-8 ฟอง ใช้เวลาฟัก 18-24 วัน ทั้งคู่ผลัดกันฟักไข่ ลูกนกมีอายุ 3-4 สัปดาห์ จึงออกจากรัง แต่ยังอยู่ในความเลี้ยงดูและดูแลของพ่อแม่นก |
นกกระติ๊ดมักหากินเป็นฝูง บินเกาะกลุ่มชิดกันพร้อมทั้งส่งเสียงร้อง มองระยะไกลดูคล้ายฝูงผึ้ง กินเมล็ดพืชเป็นอาหาร ทำรังอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ หรือกอหญ้า ตัวผู้สร้างรัง วางไข่ครั้งละ 4-10 ฟอง ตัวเมียกกไข่ ใช้เวลาฟักประมาณ 12 วัน เมื่ออายุได้ 16 วัน ลูกนกก็บินได้ ในประเทศไทย มีนกกระติ๊ด อยู่ 7 ชนิด คือ นกกระติ๊ดตะโพกขาว นกกระติ๊ดขี้หมู และนกกระติ๊ดแดง พบอยู่ทั่วไปทุกภาค เว้นภาคใต้ นกกระติ๊ดสีอิฐ พบอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน นกกระติ๊ดตัวขาว และนกกระติ๊ดท้องขาว พบในภาคใต้ นกกระติ๊ดเขียว พบในทุกภาค เว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในประเทศไทย มีนกกระเต็น อยู่ 13 ชนิด เป็นนกอพยพตามฤดูกาล 5 ชนิด นกระเต็นขาวดำใหญ่ พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก พบเห็นได้ยาก นกกระเต็นปักหลัก พบตามแหล่งน้ำใหญ่ ๆ ในทุกภาค เว้นภาคใต้ นกกระเต็นน้อย พบทั่วทุกภาค ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ นกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว พบตามแหล่งน้ำในป่าทุกภาค เว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นกกระเต็นน้อยแถบอกดำ พบตามลำธารในป่าภาคใต้ พบไม่มากนัก นกกระเต็นลาย พบตามป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบเห็นได้ง่าย นกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล พบตามป่าที่ราบต่ำภาคใต้ พบเห็นน้อย นกกระเต็นใหญ่ปากสีน้ำตาล พบตามป่าชายเลนฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีต้นไม้ใหญ่ พบเห็นได้ยาก นกกระเต็นกำกอม หรือนกกระเต็นใหญ่ พบทั่วไปในทุกภาค นกกระเต็นแดง พบทางภาคใต้และภาคตะวันออก ตามป่าชายเลน บางส่วนเป็นนกอพยพ นกกระเต็นอกขาว พบทั่วไปในทุกภาค ชอบเกาะตามสายไฟที่อยู่ชานเมือง นกกระเต็นหัวดำ พบทั่วทุกภาค เป็นนกอพยพ
กระแตแต้แว้ด
|
เป็นนกขนาดกลาง ยาวประมาณ 32 เซนติเมตร ปากยาวตรงสีแดง ปลายสีดำ หัวสีดำ มีแถบขาวที่หู มีติ่งเนื้อสีแดงตรงโคน ปาก คอหนาสั้นสีดำ ตัวป้อม ท้องและอกขาว ปีกตอนบนสีน้ำตาล ปลายสีดำและมีแถบขาวอยู่ระหว่างสีน้ำตาลและสีดำ มีเดือย แหลมที่หัว ปีกใช้ในการต่อสู้ หางสั้น โคนหางสีดำปลายขาว ขายาวสีเหลือง นกชนิดนี้มักวิ่งหากินบนพื้นดินตามบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ทำรังเป็นหลุมตื้น ๆ บนพื้นดิน วางไข่คราวละ 4 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกกไข่นานประมาณ 25 วัน จึงฟักเป็นตัว |
เป็นนกที่พบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือบางส่วน และภาคอีสานตอนล่าง เสียงร้องกระแตแต้แว้ดมักร้องรับกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะเมื่อเห็นศัตรู เมื่อจวนตัวจะวิ่งหนีอย่างเร็วไปให้ไกลจากรัง แล้วล้มลงแกล้งทำเป็นชัก นอนตาแดง หรือนอนหงายตีนชี้ฟ้า เพื่อล่อศัตรูให้หลงวิ่งตามไป จากนั้นก็จะบินหนีไป การทำเช่นนี้เพื่อป้องกันศัตรูมากินลูกในรัง
นกกระทา
|
เป็นนกหากินตามพื้นดิน ยาว 17-33 เซนติเมตร ตัวกลม สีน้ำตาลอมดำ มีลายเป็นกระ นกกระทาแต่ละชนิดมีลายแตกต่าง กันปีกและหางสั้น ตัวเมียสีจางกว่าและลายไม่ชัดเจน ขาสีน้ำตาลเหลือง ยกเว้นนกกระทาดงขาสีเขียว ปกติมีเดือยข้างละหนึ่งเดือย การหาอาหารจะหาอาหารบนพื้นดินเช่นเดียวกับไก่ บินได้ในระยะใกล้ ๆ มักจะวิ่งกว่าบิน ทำรังอยู่ตามพื้นดินมีหญ้าคลุม วางไข่คราวละ 3-14 ฟอง ใช้เวลาฟัก 20-30 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่สามารถวิ่งได้ทันที |
นกกระทาในไทย มี 8 ชนิด ที่อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าเรียกนกกระทาทุ่ง ที่อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น หรือบนภูเขา เรียกนกระทาดง ดังนี้ นกกระทาทุ่ง อยู่ตามป่าโปร่งที่มีทุ่งหญ้า อยู่เดี่ยวหรือเป็นคู่ เสียงขันได้ยินไปไกล พบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้สุด นกกระทาดงแข้งแขียว มักอยู่โดดเดี่ยว นอกจากในฤดูผสมพันธุ์จึงอยู่เป็นคู่ พบทุกภาคในป่าทุกประเภท นกกระทาดงจันทบูร อยู่ตามป่าดงดิบสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 300 เมตร ขึ้นไป พบเฉพาะภาคตะวันออก บริเวณเขาสอยดาว จันทบุรี
นกกระทุง
|
เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1.5 เมตร ขาใหญ่สั้นสีน้ำตาลดำ มีพังพืดติดระหว่างนิ้ว ปากยาวใหญ่ปลายแบนสีชมพู ปลายเป็นจงอย พื้นปากล่างสามารถขยายเป็นกระพุ้งขนาดใหญ่สำหรับเก็บปลาที่จิกได้ไว้ทีละมาก ๆ ตาสีน้ำตาลแดงมีขอบสีเหลือง ขนบริเวณด้านหลังของคอตั้งเป็นสัน จากฐานคอไปถึงท้ายทอย ขนตามลำตัวเป็นสีขาวอมเทา ปลายแซมสีดำ หางและตอนล่างของลำตัวสีน้ำตาล ในฤดูผสมพันธุ์ ขนตอนบนของลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงิน ตอนล่างเป็นสีขาว |
นกกระทุงมักอยู่และออกหากินเป็นฝูง ขณะอยู่ในฝูงจะหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เวลาบินจะหดคอเข้ามา เมื่อบินระยะไกล จะบินเหลื่อมกันเป็นแถวเรียงหนึ่ง หรือเป็นรูปคล้ายหัวลูกศร การจับปลาอาจทำโดยบินขึ้นสูง แล้วทิ้งตัวพุ่งดิ่งลงไปในน้ำเพื่อให้ดำได้ลึกชอบเลียนแบกัน คือถ้าตัวหนึ่งทำอะไร ตัวอื่น ๆ ก็จะทำตาม เช่น กลับหัวลงช้อนปลาพร้อม ๆ กัน นกกระทุงทำรังรวมกันเป็นกลุ่มบนต้นไม้ ร่วมกับนกกระทุงด้วยกัน หรือกับนกกินปลาชนิดอื่น รังจะทำอยู่บนยอดไม้สูง ๆ ในป่า การผสมพันธุ์จะตกประมาณเดือนพฤศจิกายน วางไข่คราวละ 3-5 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกกไข่นาน 4-5 สัปดาห์ จึงฟักออกเป็นตัว
นกกระเรียน
|
เป็นนกขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1.25 เมตร สูง 1.5 เมตร ขนสีเทา คอยาว หัวและลำคอตอนบนมีแต่หนังและขนเส้นเล็ก ๆ สีแดง ตาสีแดง สายตาไวมาก ปากเรียวแหลม ปีกกว้างและยาว หางสั้น ขายาวสีแดง ขณะบินหัว คอ ลำตัว และขา จะยืดเป็นแนวตรง หากินเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ ตามทุ่งหรือดงหญ้า หนอง บึง ไม่เปลี่ยนคู่ หรือแยกจากัน เมื่อคู่ได้รับอันตรายก็จะไม่ทอดทิ้ง มักร้องเสียงแกร๋ แกร๋ ในเวลาเช้าและเย็น ผสมพันธุ์ในฤดูฝนโดยมีการเกี้ยวกันก่อน รังมีขนาดใหญ่ ทำด้วยต้นไม้เล็ก ๆ กิ่งไม้แห้ง และใบหญ้า นำมาสานเป็นรูปกระทง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 5 เมตร มักอยู่บนกอหญ้าหรือบริเวณน้ำตื้น |
วางไข่ครั้งละ 1-3 ฟอง ใช้เวลาฟัก 28-34 วัน ตัวเมียกกไข่มากกว่าตัวผู้ ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 3 ปี มีอายุ 50-60 ปี ในฤดูผลัดขนจะบินเกือบไม่ได้ เป็นนกที่หายาก
นกกระสาขาว
|
เป็นนกขนาดใหญ่ มีขนาดตั้งแต่ความยาวประมาณ 1 เมตร หนัก 2.5-4.5 กิโลกรัม ปาก ลำคอ และขายาว ปากยาวแหลมตรงสีแดง คอ อก ท้อง และก้นสีขาว ลำตัวตอนท้ายด้านบนสีดำ ครึ่งปีกด้านหน้าสีขาว ด้านหลังสีดำ ปลายหางตอนบนสีดำ ตอนล่างสีขาว ขาสีแดง ขณะบินจะยืดหัวและคอตรงไปข้างหน้า จะยืดขาตรงไปข้างหลัง เหนือระดับหางเล็กน้อย เมื่อบินเป็นกลุ่มจะบินอย่างไม่เป็นระเบียบ ปีกตีลมเสียงดังมาก หากินเป็นฝูง การหาเหยื่อจะก้าวเดินไปในแหล่งน้ำที่ไม่ลึกนัก ใช้ปากจิกหาเหยื่อในน้ำ ผสมพันธุ์เมื่ออายุ 3-4 ปี ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้างรังบนคาคบไม้สูง วางไข่คราวละ 3-5 ฟอง กลางวันทั้งตัวผู้และตัวเมีย จะผลัดกันกกไข่ ส่วนกลางคืนตัวเมียจะกก ใช้เวลาฟักประมาณ 33 วัน เคยพบที่นครปฐม ปัจจุบันเข้าใจว่าใกล้จะสูญพันธุ์จากประเทศไทย |
นกกระสาคอดำ
|
เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และใหญ่เป็นที่สองของโลก ยาวประมาณ 1.35 เมตร สูงประมาณ 1.70 เมตร น้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม ปากใหญ่ปลายแหลมสีดำ หัวและคอสีดำเหลือบเขียว กลางกระหม่อมสีเหลือบม่วง ขนบนหลังและโคนปีกตอนหน้าสีขาว ตอนหลังถึงหางสีดำ อก ท้อง และโคนขาสีขาว ขายาวสีแดง ตัวผู้ตาสีน้ำตาล ตัวเมียตาสีเหลือง ขณะบินมีลักษณะเช่นเดียวกับนกกระสาขาว คือ ปาก หัว ลำตัว หางและขา เหยียดเป็นเส้นตรง มักอยู่ตามลำพังหรืออยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ พ่อ แม่ ลูก หากินตามแม่น้ำ ทุ่งนา หนองน้ำ ขณะจับเหยื่อจะกระโดดกางปีก และวิ่งสลับฟันปลาเพื่อไล่เหยื่อ แล้วใช้ปากงับ |
ในฤดูผสมพันธุ์จะจับคู่กัน และมีการต่อสู้แบ่งเขตกัน ทั้งคู่ตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรังบนยอดไม้ ซึ่งสูงจากพื้นดิน 20-25 เมตร วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกก นานประมาณ 33 วัน
พบในทุกภาค เว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยมาก
นกกระสาแดง
|
เป็นนกยางขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 เมตร ปากยาวสีเหลือง ปลายแหลมและตรง หัวสีน้ำตาลอมเหลือง ด้านบนสีดำ ท้ายทอยมีเปียสีดำ ห้อยอยู่ 2-3 เส้น ขนใต้คางขาว คอยาวสีน้ำตาลแดงและงออยู่ตลอดเวลา มีเส้นดำพาดจากหัวมาถึงฐานคอ ตามแนวกึ่งกลางลำคอ จากมุมปากพาดใต้ตาถึงท้ายทอย อีกเส้นหนึ่งพาดจากมุมปาก มาตามความยาวด้านข้างของลำคอถึงฐาน คอด้านหน้า ที่ฐานคอมีพู่ขนสีขาว และสีน้ำตาลห้อยอยู่ ในฤดูผสมพันธุ์พู่ขนนี้จะมีสีเข้มขึ้น ลำตัวตอนบนปีก อก และท้อง สีเทาอม ดำ นิ้วตีนยาวมาก สามารถเกาะจับลำต้นพืชใต้น้ำมั่นคง มักไม่เดินบนบก ส่วนใหญ่จะยืนหรือเกาะอยู่นิ่ง ๆ |
ออกหากินเวลาเช้าและพลบค่ำ ตามพงอ้อ หรือกอหญ้าสูง ๆ ริมหนอง คลองบึง การหาเหยื่อจะค่อย ๆ ย่างไปตามชายน้ำ แล้วยืนนิ่งรอจนเหยื่อเข้ามาใกล้ แล้วจึงจิกฉกอย่างเร็วและแรง ให้ปากเสียบติดเหยื่อและสะบัดเหยื่อลงบนพื้น ใช้ปากงับจนตาย ก่อนกลืนกิน เป็นนกที่มักอยู่ตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จะจับคู่ และทำรังในพงอ้อ พงพืชน้ำสูง ๆ หรือต้นไม้สูงใกล้ชายน้ำ วางไข่ครั้ง ละ 3-5 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกกไข่ ใช้เวลาฟักประมาณ 33 วัน พบในทุกภาค ยกเว้นตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
|
Update : 16/5/2554
|
|