บัตรธนาคาร
เงินกระดาษที่นำเข้ามาใช้ในระยะต่อมาคือ บัตรธนาคาร (Bank Note) ซึ่งธนาคารพานิชย์พิมพ์ขึ้น หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้ว บัตรธนาคารดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ชนิดหนึ่งที่ธนาคารจัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคารและลูกค้า ในบัตรธนาคารข้อความเป็นสัญญาว่า ธนาคารผู้ออกบัตรพร้อมที่จะรับบัตรของคนคืน และจ่ายเงินตราที่เป็นโลหะตามราคาที่พิมพ์ไว้บนบัตรธนาคารนั้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปรับปรุงระบบต่าง ๆ ในการบริหารประเทศเป็นอันมาก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทส ความต้องการเงินตราได้เพิ่มขึ้นมากจนเกินความสามารถของโรงกษาปณ์สิทธิการ จะทำเหรียญบาทได้ทันกับความต้องการ ผู้ที่รับผิดชอบจึงได้กราบบังคมทูลความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระจัลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า ควรสั่งเครื่องทำเหรียญเงินบาทให้สามารถดำเนินงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องให้ได้เงินเดือนละหมื่นชั่งขึ้นไปทุกเดือน เนื่องจากเงินเหรียญจากต่างประเทศเข้ามาขอแลกกับเงินพระคลังไม่ต่ำกว่าปีละแสนชั่ง
ในขณะที่รัฐบาลกำลังพิจารณาแก้ไขปัญหาการผลิตเหรียญเงินบาทให้ทันต่อความต้องการอยู่นั้น ธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศก็ได้ยื่นขออนุญาต เปิดสาขาดำเนินธุรกิจในกรุงเทพ ฯ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตและอยู่ในระหว่าง เตรียมการจัดตั้งสาขาขึ้นนั้น เอเยนต์ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ได้มาเจรจาขอแลกเงินเหรียญประมาณเดือนละแสนห้าหมื่นเหรียญ คือ สามพันชั่งเศษ
ด้วยความต้องการดังกล่าว สาขาธนาคารพานิชย์ต่างประเทศจึงแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินบาท โดยขออนุญาตรัฐบาลพิมพ์บัตรธนาคารออกใช้ และขอให้รัฐบาลกรมศุลกากรรับบัตรธนาคารเอง ธนาคารในการชำระภาษีด้วย ทางรัฐบาลไทยได้อนุญาตให้ดำเนินการได้เมื่อ 21 พฤษภาคม 2432 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา สาขาธนาคารพานิชย์ต่างประเทศอื่นที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้ดำเนินธุรกิจธนาคารพานิชย์ในประเทศไทยได้ในปี พ.ศ. 2437 และปี พ.ศ. 2439 ก็ได้รับอนุญาตให้นำบัตรธนาคารของธนาคารตนเองออกใช้ได้เช่นกัน และต่างก็ทะยอยนำบัตรธนาคารออกใช้ในปี พ.ศ. 2441 และปี พ.ศ. 2442 ตามลำดับ แต่ทั้งนั้นรัฐบาลไทยยังสงวนสิทธิที่จะปฎิเสธไม่รับการชำระหนี้ด้วยบัตรธนาคารได้ ดังนั้นบัตรธนาคารที่นำออกใช้หมุนเวียนในช่วงนั้นจึงประกอบไปด้วยบัตรธนาคารของสาขาธนาคารพานิชย์ 3 แห่ง จากประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส คือ ธนาคารฮ่องกง และเซียงไฮ้ ธนาคารชาเตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน กับธนาคารอินโดนีจีน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2445 รัฐบาลได้เริ่มนำธนบัตรของรัฐบาลออกใช้เป็นครั้งแรก เมื่อมีธนบัตรรัฐบาลไทยออกหมุนเวียน ในปริมาณเพียงพอแล้ว สาขาธนาคารพานิชย์ต่างประเทศทั้ง 3 แห่ง จึงเริ่มไถ่ถอนบัตรธนาคารของตน ออกจากระบบหมุนเวียนของประเทศไทยจนหมด
บัตรธนาคารที่สาขาธนาคารต่างประเทศนำออกใช้นั้นมีอยู่รวม 8 ชนิดราคาได้แก่ชนิด 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท 40 บาท 80 บาท 100 บาท และ 400 บาท แต่ละธนาคารจะมีไม่ครบชนิดดังกล่าวแล้วแต่ธนาคารใดจะเลือกใช้ชนิดราคาใด
บัตรธนาคารนี้รัฐบาลมิได้รับว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้นการหมุนจึงอยู่ในวงแคบ แต่เนื่องจากว่ามีระยะเวลาในการนำออกใช้นานพอสมควร บัตรธนาคารจึงเรียนกันทับศัพท์ว่าว่า "แบงก์โน๊ต" (Bank Note) หรือ แบงก์
ความเคยชินอันนี้ ทำให้คนทั่วไปเรียกเงินว่า แบงก์ มาจนถึงทุกวันนี้
เงินกระดาษหลวง (Treasury Note)
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พ่อค้าชาวต่างประเทศ ในการนำเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทกับพระคลัง เพื่อใช้ซื้อสินค้าในประเทศไทย ในจำนวนปีละไม่ต่ำกว่าแสนชั่งในห้วงระยะเวลานั้น ทำให้รัฐบาลไทยต้องจัดหาเงินบาท ให้พอเพียงกับความต้องการดังกล่าว โดยใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินกระดาษออกใช้เป็นสื่อกลางในการชำระหนี้ เงินกระดาษนี้เรียกว่า "ตั๋วเงินกระดาษ" โดยมี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เป็นผู้ดำเนินการ
- ในปี พ.ศ. 2433 กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงค์ รองอธิบดีกรมพระคลัง ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สั่งพิมพ์ตั๋วเงินกระดาษจำนวน 3,951,500 ฉบับ เป็นชนิดราคา 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท 40 บาท 80 บาท 100 บาท และ 400 บาท และ 800 บาท รวม 8 ชนิด เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 240,000 ชั่ง คิดเป็นค่าจ้างดำเนินงานเป็นเงิน 14,500 ปอนด์ โดยมีเงื่อนไขให้ห้าง กีเชคเก้ แอนด์ เดวรีเอ้นท ต้องมอบแบบพิมพ์และเครื่องมือให้แก่รัฐบาลไทย ฝึกสอนพนังงานให้สามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้นเป็น ในการลงนามในการจัดทำสัญญา ให้ราชทูตของสยามประจำกรุงเบอร์ลิน เป็นผู้ลงนามในสัญญา และดูแลให้บริษัทปฎิบัติตามข้อตกลงระหว่างกันด้วย
ตั๋วเงินกระดาษงวดแรกได้รับเมื่อปี พ.ศ. 2434 ได้เตรียมการนำตั๋วกระดาษออกใช้เป็นจำนวนไม่เกิน 240,000 ชั่ง แยกเป็นชนิดราคา 1 บาท 40,000 ชั่ง ชนิดราคา 5 บาท 20,000 ชั่ง ชนิดราคา 20 บาท 40,000 ชั่ง ชนิดราคา 40 บาท 20,000 ชั่ง ชนิดราคา 80 บาท 40,000 ชั่ง ชนิดราคา 100 บาท 30,000 ชั่ง ชนิดราคา 400 บาท 25,000 ชั่ง และชนิดราคา 800 บาท 25,000 ชั่ง
ได้มีการนำเงินกระดาษหลวงออกใช้เมื่อ 1 เมษายน 2436 เงินกระดาษหลวงนี้มีขนาดต่าง ๆ กัน จากขนาดเล็กไปขนาดใหญ่ตามลำดับราคา ทั้งสองด้านพิมพ์สอดสี ประกอบด้วยลายเฟื่อง มีข้อความบอกราคาเป็นภาษาไทย อังกฤษ มลายู เขมร และลาว ไว้ทั้งสองด้าน ด้านหน้าพิมพ์ตราอาร์มแผ่นดินและมีข้อความพิมพ์ว่า
"เงินพระคลังมหาสมบัติ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ตั๋วสำคัญนี้ เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ ได้ออกโดยพระบรมราชโองการ เงินพระคลังมหาสมบัติกรุงสยาม ราคา...........บาท หอรัษฎากรพิพัฒน์ พระบรมมหาราชวังกรุงเทพ ฯ" และ "ตั๋วสำคัญฉบับนี้ เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ รับสัญญาจะให้เงินสดแก่ผู้ถือมาในเวลาที่มาขึ้น ที่หอรัรษฎากรพิพัฒน์ กรุงเทพ ฯ ในทันทีตามราคามีในตั๋วนี้"
ด้านหลังของเงินกระดาษหลวง ได้นำรูปช้างสามเศียรไอยราพต หนุนพระเกี้ยวและตราอาร์มแผ่นดินขนาดต่าง ๆ ลงพิมพ์ไว้เฉพาะเงินกระดาษหลวงชนิดราคา 40 บาทขึ้นไป
ลักษณะอื่น ๆ ของเงินกระดาษหลวง ได้แก่การกำหนดราคาโดยใช้มาตราเงินไทยแบบเดิม ที่เทียบค่าของเงินเป็น บาท ตำลึง ชั่ง เงินกระดาษหลวงที่เตรียมออกใช้ใน 1 เมษายน 2436 ในที่สุดก็มิได้นำออกใช้โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน คงเก็บไว้ในคลังของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2442 มีการปรับปรุงหน่วยงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีการจัดตั้ง "กรมธนบัตร" ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลการออกธนบัตรของรัฐบาลไทย เห็นสมควรให้ออกธนบัตรชนิดใหม่ และยกเลิกเงินกระดาษหลวงเสีย