|
|
อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
ข้อมูลทั่วไป อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นพื้นที่ในบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในบริเวณตอนล่างของจังหวัดอุดรธานี และตอนบนของจังหวัดขอนแก่น สภาพทางธรณีเป็นภูเขาหินทราย ซึ่งมีชั้นของหินทรายอยู่ด้านบนระดับผิวดิน โดยมีชั้นของหินดินดานหรือหินดินดานปนทรายเป็นฐานด้านล่าง มีดินประเภทดินลูกรังและดินร่วนปนทรายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ และสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ มีเนื้อที่ประมาณ 322 ตารางกิโลเมตร หรือ 201,300 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 50 ของประเทศ
สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ภูเก้า มีสัณฐานคล้ายกะทะหงายโดยมีที่ราบอยู่ตอนกลาง พื้นที่เช่นนี้ทำให้สัณนิษฐานได้ว่า พื้นที่ส่วนนี้น่าจะเป็นซากภูเขาไฟโบราณที่ดับสนิทไปแล้วหลายร้อยล้านปี หรือมิฉะนั้นก็เป็นการโก่งตัวของเปลือกโลกในบริเวณนี้ขึ้นมาเป็นขอบเทือกเขา เทือกเขาภูเก้าเป็นเทือกเขาสองชั้น ชั้นนอกเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชันมาก ไหล่เขาด้านในมีความลาดชันไม่มากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ บางแห่งเป็นที่ราบ ภูพานคำ เป็นแนวทิวเขายาวในเทือกเขาภูพาน เรียงตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขาเป็นแอ่งที่ราบต่ำลุ่มน้ำพอง ซึ่งเป็นหุบเขาขนาดใหญ่ เมื่อมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่ดังกล่าวนี้กลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยาน ฯ มีเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของภูพานคำ
สถานที่ท่องเที่ยว
ทิวทัศน์ริมทะเลสาบ เหนือเขื่อนอุบลรัตน์และเกาะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอุทยาน ฯ ทั้งหมด เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำและพักแรม นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางไปเที่ยวหมู่บ้านประมง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู และจะซื้อขายปลาได้ที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
หลักฐานร่องรอยมนุษย์ยุคหิน ประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ร่องรอยที่ค้นพบมีอายุประมาณไม่ต่ำกว่า 3,500 ปี ในยุคสมัยบ้านเชียงซึ่งสังคมมนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์เป็นอาหาร ปรากฏภาพเขียนสีและภาพสลักบนผนังภายในถ้ำ เช่น ถ้ำเสือตก ถ้ำพลาไฮ ถ้ำเจ็ก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่สวยงามอีกหลายแห่ง เช่น หอสวรรค์ หินปราสาท น้ำตกตากฟ้า น้ำตกตาหินแตก และจุดชมวิวที่ภูเขาด้านใต้ บริเวณวัดพระพุทธภูเก้า ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี
|
Update : 15/5/2554
|
|