|
|
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาของแม่น้ำน่านตอนใต้ ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยงวง ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล 3 อำเภอ คือ ตำบลส้าน และตำบลน้ำมาบ อำเภอเวียงสา ตำบลศรีษะเกษ ตำบลเชียงของ และตำบลสถาน อำเภอนาน้อย ตำบลบ่อแก้ว และตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ประมาณ 934 ตารางกิโลเมตร หรือ 583,800 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ขนานกันทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก บริเวณที่ราบลุ่มตรงกลางจะมีลักษณะเป็นภูเขาน้อยใหญ่ลดหลั่นกันลงไป ตอนกลางของพื้นที่มีแม่น้ำน่านทอดตัวไหลผ่านจากเหนือสุด-ใต้สุด ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร แบ่งอุทยานออกเป็นซีกตะวันตกและซีกตะวันออก ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ดอยคำ สูง 1,229 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง นอกจากนี้ยังมีดอยจำลึก ดอยไหว ดอยสุไข ดอยจำปูหลวงแก้ว ดอยหวดและดอยภูหลักหมื่น เป็นต้น สภาพอากาศค่อนข้างเย็นในช่วงฤดูหนาว และจะมีเมฆมากในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 24 องศาเซลเซียส
พรรณไม้ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีความสูงต่างกันหลายระดับ จึงทำให้มีสภาพป่าหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา พบตามแนวสันเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ไม้ก่อต่าง ๆ ตะเคียน กระบาก ไม้พื้นล่างประกอบด้วยพืชในตระกูลปาล์ม ขิง ข่า และเฟิร์น ป่าดิบแล้ง พบตามหุบเขาและริมห้วย ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง กระบก แดง เหียง ส่วนป่าสนพบเป็นหย่อม ๆ ตามแนวสันเขาที่มีความสูงระหว่าง 500-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นตามที่ราบเชิงเขา ริมห้วยและหุบเขา กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ไม้สัก ชิงชัน ประดู่ ตะเคียนทอง มะค่าโมง ฯลฯ ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ตามไหล่เขา เชิงเขา และพื้นที่ค่อนข้างราบ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง เป็นต้น
สัตร์ป่า
สัตว์ป่าที่พบมี ช้าง วัวแดง กระทิง ซึ่งสัตว์ทั้ง 3 ชนิดนี้จะอพยพข้ามไปมาในเขตติดต่อระหว่างประเทศไทยและลาว นอกจากนี้ยังมีหมี เลียงผา กวาง เก้ง เสือ หมูป่า หมาป่า กระจง อีเห็น ไก่ฟ้า ตะกวด เต่า นกยูง นกนานาชนิดและงูชนิดต่าง ๆ
สถานที่ท่องเที่ยว
เสาดินและคอกเสือ เกิดจากการพังทลายของดินเป็นพื้นที่กว้างประมาณ 20 ไร่ กระจัดกระจายไปตามสภาพพื้นที่ โดยมีป่าเต็งรังขึ้นอยู่ประปราย ลักษณะของเสาดินคล้ายแกรนด์แคนยอน เหมือนกับแพะเมืองผีของจังหวัดแพร่ เสาดินและคอกเสือตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ไปตามเส้นทางเวียงสา-นาน้อย ประมาณ 5 กิโลเมตร ปากนาย เกิดจากสภาพป่าที่ถูกน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ท่วมถึง มีขนาดกว้างใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน มีหมู่บ้านชาวประมงน้ำจืดอาศัยอยู่ สภาพทิวทัศน์สวยงามมากแห่งหนึ่ง ระยะทางเข้าจากกิ่งอำเภอนาหมื่นไปประมาณ 27 กิโลเมตร
แก่งหลวง เกิดจากแนวหินน้อยใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ในแม่น้ำน่าน รวมทั้งโขดหินและหน้าผา ยามหน้าน้ำจะมีเสียงน้ำกระทบโขดหินดังกึกก้อง ยามหน้าแล้งจะมองเห็นแนวโขดหินอย่างสวยงาม การเดินทางให้ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 (นาน้อย-ปางไฮ) จากปากทางถึงแก่งหลวงประมาณ 35 กิโลเมตร
จุดชมวิวผาชู้ เป็นจุดที่เป็นหน้าผาใหญ่โดดเด่น สามารถมองเห็นทิวทัศน์และแม่น้ำน่านที่ทอดตัวคดเคี้ยวไปตามที่ราบลุ่มอย่างงดงาม การเดินทางให้ไปตามเส้นทางเดียวกับทางไปแก่งหลวง จากปากทางเข้าถึงแก่งหลวงประมาณ 21 กิโลเมตร ทิวทัศน์ฝั่งแม่น้ำน่าน สภาพของสองฝั่งแม่น้ำมีป่าไม้ที่สวยงามตลอดจนโขดหินและหน้าผาต่าง ๆ เหมาะแก่การล่องแพหรือนั่งเรือชมธรรมชาติ
|
Update : 15/5/2554
|
|