หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระราชพิธีสิบสองเดือน
    พระราชพิธีสำหรับ พระนครที่เคยมีมาแต่ก่อนอาศัยที่มาเป็นสองทางคือ จากตำราไสยศาสตร์ จากศาสนาพราหมณ์ทางหนึ่ง และจากพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง แต่มีบางพิธีมาจากต้นเหตุทั้งสองนี้ แล้วได้คละระคนกันขึ้นก็มีอยู่บ้าง แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดิน และชาวพระนครนับถือศาสนาพราหมณ์ การพิธีใดในศาสนาพราหมณ์ การพิธีใดที่เป็นศรีสวัสดิมงคลก็ยึดถือปฏิบัติกันมา ครั้นต่อมาเมื่อชาวไทยหันมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมิได้มีฤกษ์และพิธีใด ๆ เข้ามาปะปน ก็นำเอาพิธีต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งไม่ขัดต่อคติทางพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติแทรกไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางใจ ดังที่เคยเชื่อถือมาก่อนแล้วนั่นเอง
                พระราชพิธีที่มีมาในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้ใช้มาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยาก็คือ พระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำและถือว่าเป็นการมงคล สำหรับพระนครคือ
    พระราชพิธีเดือนห้า

                พระราชพิธีเดือนห้านี้ ได้ต่อมาจากพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในเดือนสี่เรียงตามลำดับดังนี้
    การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่องและเลี้ยงโต๊ะปีใหม่
                พระราชพิธีสมโภชเครื่องเป็นของเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงใหม่ ทรงจัดให้มีการเลี้ยงโต๊ะ เพื่อเป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่อย่างฝรั่งด้วย พิธีนี้ทำในวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า ตอนเช้ามีพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิในพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ตอนค่ำเชิญพระสยามเทวาธิราช เจว็ดมุขและเทวรูปมาตั้งที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จัดตั้งเครื่องสังเวยโต๊ะจีน ตรงลานหน้ามุขเด็จมีละครเล่น และคราวเดียวกัน โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโต๊ะเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูตต่างประเทศคณะมิชชันนารี และพ่อค้า ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลิกการเลี้ยงโต๊ะเช่นนี้ ได้เปลี่ยนมาเลี้ยงเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น การสังเวยเทวดาก็เปลี่ยนเอามาทำในเวลาเช้า
    พระราชพิธีศรีสัจจปานุกาล (ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา)
                    เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดิน มีสืบมาแต่โบราณไม่เว้นว่าง มีคำสั่งอ้างถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง กำหนดมีปีละสองครั้ง คือในวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๕ ครั้งหนึ่ง วันแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๑๐ อีกครั้งหนึ่ง
                    การถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพ ฯ มี ๕ อย่าง คือน้ำแรก พระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติอย่างหนึ่ง ถือน้ำปกติ ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้วต้องถือน้ำปีละสองครั้งอย่างหนึ่ง ผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอย่างหนึ่ง ทั้งสามนี้ถือเป็นถือน้ำอย่างเก่า การถือน้ำอย่างที่สี่คือทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่งอีกพวกหนึ่ง ทั้งสองพวกนี้เป็นการถือน้ำเกิดขึ้นใหม่ การถือน้ำทั้งสามอย่างคือ อย่างที่ ๑ อย่างที่ ๓ และอย่างที่ ๕ นั้นนับว่าเป็นการจร ส่วนการถือน้ำอย่างที่ ๒ และอย่างที่ ๔ นับเป็นการประจำปี
    พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน
                    เป็นพิธีของพราหมณ์พฤติบาศทอดเชือก ดามเชือกเป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง ทำเพื่อให้เจริญสิริมงคลแก่ช้าง ซึ่งเป็นพระราชพาหนะและเป็นกำลังแผ่นดิน และบำบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวง แต่การพิธีนี้เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นหลาย ๆ อย่าง เช่นเดียวกับช้างและม้า เป็นต้น พิธีนี้ทำปีละสองครั้ง คือทำเดือนห้าครั้งหนึ่งกับเดือนสิบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรตรวจตราชมเชยราชพาหนะทั้งปวงปีละสองครั้ง และเป็นการตระเตรียมเครื่องสรรพศาสตราวุธ และพลทหารให้พร้อมมูลอยู่เสมอ
    พิธีสงกรานต์
                    วันสงกรานต์เริ่มเมื่อวันขึ้น หนึ่งค่ำเดือนห้า ซึ่งเป็นกำหนดขึ้นปีใหม่ นับเป็นวันนักขัตฤกษ์สำคัญ สำหรับชาวไทยมาแต่โบราณ สำหรับการภายในมีพระราชพิธีพระราชกุศลนักขัตฤกษ์ ในวันนี้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แลพระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปีแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน นอกจากนี้มีพระราชกุศลก่อพระทราย และถวายข้าวบิณฑ์ ในวันสงกรานต์ พิธีสงกรานต์แบ่งออกเป็นสามตอนสามวัน วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ตามลำดับ
                    พระราชกุศลเริ่มตั้งแต่วันจ่าย คือวันก่อนหน้าสงกรานต์หนึ่งวัน และมีการสวดมนต์สามวันโดยมิได้เสด็จออก ในวันมหาสงกรานต์เวลาค่ำมีสวดมนต์สรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง และมีการสรงน้ำ (เฉพาะพระสงฆ์ที่เคารพ) หากพระสงฆ์นั้นอาพาธมาไม่ได้ ต้องให้ฐานานุกรมมาแทน และต้องเพิ่มน้ำหอมขึ้นอีกขวดหนึ่ง เพื่อจะได้ไปถวายแก่ผู้ที่ได้รดน้ำนั้น เมื่อได้รับไตรแล้วจึงออกไปสรงน้ำ เว้นไว้แต่ผู้ที่มาแทนไม่ได้สรงน้ำด้วย บรรดาพระสงฆ์ที่สรงน้ำเสร็จแล้วจึงไปห่มไตรแพร ซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ นอกจากนี้ไม่มีของไทยธรรมใดอีก
                    ในเวลาบ่ายของวันเนา เป็นเรื่องการฉลองพระทรายเตียงยก คือพระทรายที่ก่อบนม้า ๑๐ องค์ และเวลาค่ำพระราชาคณะ สวดมนต์ ๓๐ รูป
                    รุ่งขึ้นเป็นวันเถลิงศก เวลาเช้าเปลี่ยนพระพุทธรูป เชิญพระพุทธรูปพระชนม์พรรษากลับ แล้วเชิญพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ และพระอัฐิออกตั้งที่โต๊ะหมู่หรือบนธรรมาสน์ และนิมนต์พระสงฆ์ตามจำนวนพระอัฐิที่สดับปกรณ์ ฉันทั้งเช้าและเพล แต่ไม่มีการสรงน้ำ แล้วเสด็จขึ้นหอพระ ทรงฉลองพระหัตถ์ลงยา สรงพระบรมธาตุ และทรงสุหร่ายประพรมพระพุทธรูปในหอพระ แล้วจึงเสด็จหอพระบรมอัฐิ ทรงน้ำหอมสรงพระบรมอัฐิ และพระอัฐิอยู่ในหอพระ และไม่ได้อยู่ในหอพระเสร็จ จากนั้นจึงเสด็จออกทรงประเคนพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเช้า และในวันเถลิงศก เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะสรงมรุธาภิเษกตามฤกษ์มิได้ขาด แต่เดิมในการสงกรานต์พระเจ้าแผ่นดินต้องสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น ส่วนการเวียนเทียนในวันตรุษมีทั้ง ๓ วันสงกรานต์แต่เดิมมาแล้ว ในเวลานักขัตฤกษ์สงกรานต์ถือกันว่าเป็นฤดูหรือเวลาที่สมควรจะเล่นเบี้ย และได้มียกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาสงกรานต์ ๓ วันด้วยกัน
    พระราชกุศลก่อพระทราย
                    กระทำในวันสงกรานต์ เป็นการชักชวนให้ประชาชนขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการซ่อมแซมพระอาราม และถนนหนทางในพระอาราม
    การพระราชกุศลตีข้าวบิณฑ์
                    ข้าวบิณฑ์นี้ได้เนื่องมาจากการที่อยากตักบาตรพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งมีวิธีถวายข้าวพระต่าง ๆ ซึ่งประพฤติอยู่ด้วยกันโดยมาก


    พระราชพิธีเดือนหก

    พระราชพิธีเดือนเจ็ด

    พระราชพิธีเดือนแปด

                 ตามกฎมณเฑียรบาลรายย่อจดหมายไว้ว่า เดือนแปดเข้าพระวัสสา ในหนังสือนพมาศกล่าวไว้ว่า เป็นการในพระพุทธศาสนา น่าจะเรียกว่าเป็นการพระราชกุศลมากกว่า จะเรียกว่าการพระราชพิธี เป็นประเพณีเมื่อถึงฤดูฝนพระสงฆ์หยุดอยู่ ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง เป็นการจำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่ให้ท่องเที่ยวไป ต้องอยู่จำพรรษาในวัดแห่งเดียวให้ครบ ๓ เดือน
    การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา
                 เทียนพรรษาที่ต้องลงทุนรอนมากก็เป็นที่ชื่นชมในพระราชกุศล เทียนพรรษานี้เมื่อประดับประดาเครื่องพิมพ์สีผึ้งเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งไปตามหัวเมืองให้ทันจุด เหลือนอกนั้นให้เป็นของกรุงเทพ ฯ ให้ยกมาตั้งที่เฉลียงท้องพระโรง มีสายสิญจ์วงรอบ พระสงฆ์ราชาคณะ ๒๐ รูป เริ่มสวดตั้งแต่เริ่มขึ้น ๑๓ ค่ำ พระพุทธรูปให้พระปางห้ามสมุทรเป็นประธาน ในพิธีขึ้น ๑๔ ค่ำ เลี้ยงพระ ๑๔ ค่ำ กลางคืนล่าง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เช้าจึงเสด็จพระราชดำเนิน ออกเลี้ยงพระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูป
                 เทียนพรรษาที่จุดนั้น ต้องใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นลงยาราชาวดี เพราะต้นตำราบอกว่ามาจากดวงอาทิตย์ เป็นไฟบริสุทธิถือว่าเป็นมงคล
    การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม

                 เมื่อพระราชทานเทียนให้ไปจุดตามวัดต่าง ๆ เสร็จก็เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชพิธีในเวลาเช้า บ่ายวันแรม ๑ ค่ำเวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินสดับปกรณ์กาลานุกาล เหมือนอย่างเดือนอื่น ๆ ทุกคราว จะแปลกแต่มีเครื่องสักการะสำหรับเข้าพรรษา ทรงประเคนองค์ละตะลุ่ม เมื่อพระสงฆ์กลับเสด็จพระราชดำเนินออก เปลื้องเครื่องทรงพระมหามณีรัตนปฏิมากร
                 อนึ่ง ในวันนักขัตฤกษ์เข้าพรรษา ๓ วันนี้ มีการสวดมนต์มหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
                 การเปลื้องเครื่องทรงพระมหามณีรัตนปฏิมากร กำหนดในเวลาเปลี่ยนตามฤดูกาลปีละ ๓ ครั้ง คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดเข้าวสันตฤดูไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง ทรงเครื่องอย่างห่มดองตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบสอง ใปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ เป็นเหมันตฤดู เปลี่ยนเป็นผ้าทรงคลุม ทำด้วยทองคำเป็นหลอดลงยาราชาวดีร้อยลวดคลุมทั้งสองพระพาหา ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือนสี่ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด เป็นคิมหันตฤดู ทรงเครื่องต้นเป็นเครื่องทองคำลงยาราชาวดี ประดับเพชรพลอย

    พระราชพิธีเดือนเก้า

                 พระราชพิธีตุลาภาร เป็นพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์หรือบำเพ็ญทานอย่างหนึ่ง ตามจดหมายขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า พระราชพิธีนี้ให้เอาเงินชั่งให้เท่าพระองค์ แล้วสะเดาะพระเคราะห์ให้แก่พราหมณ์ แต่ตามกฎมณเฑียรบาลนั้นมีพิธีมากมาย และเป็นการใหญ่ มีตราชูใหญ่อยู่กลางท้องพระโรงพระเจ้าแผ่นดินทรง"ถีบ" (ชั่ง) แล้วพระอัครมเหสีถีบ แล้วพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์แห่กลับแล้วมีงานสมโภชเลี้ยง
    พระราชพิธีพรุณศาสตร์
                 พระราชพิธีนี้ไม่มีในกฎมณเฑียรบาล แต่ในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าเป็นพิธีสำคัญและมีมาแต่โบราณ จะเลิกเสียไม่ได้ พระราชพิธีนี้เมื่อครั้งสุโขทัยเป็นพิธีของพราหมณ์ ต่อมาได้ทำพร้อมกับพิธีสงฆ์ โรงพิธีคล้ายกับโรงพิธีอื่น ๆ เป็นพิธีที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกใหญ่ ได้กล่าวมาแล้วในพิธีพืชมงคล ลักษณะพิธีพรุณศาสตร์เป็นพิธีประจำปี เว้นปีใดที่ฝนตกบริบูรณ์
    การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต
                การพระราชกุศลนี้ มีกำหนดตามวันซึ่งตรงกับวันประสูติของพระบรมอัฐิและพระอัฐินั้น ๆ รายไปตามเดือนวันต่าง ๆ กัน การพระราชกุศลนี้ เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำเป็นการภายในเงียบ ๆ คืออัญเชิญพระบรมอัฐิไม่มีประโคมกลอง ทรงกระทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมอัฐิตั้งแว่นฟ้าทองคำสองชั้น บุษบกทองคำนี้มีเครื่องสูงบังแทรก ตั้งเครื่องราชูปโภคบริโภคบนม้าทองใหญ่สองข้างแว่นฟ้า เครื่องนมัสการ โต๊ะทองคำลงยาราชาวดี มีเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิสำรับหนึ่ง ถ้ามีพระอัฐิใช้พานทอง แต่การบูชาเดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำมานานแล้ว


    พระราชพิธีเดือนสิบ

                พระราชพิธีสารทกับ พิธีภัทรบทเป็นคนละพิธีไม่เหมือนกัน พิธีภัทรบทเป็นพิธีกลางเดือนของพราหมณ์ทำอย่างไสยศาสตร์แท้ ไม่ได้เกี่ยวกับพุทธศาสตร์ แต่เป็นพิธีนำหน้าพิธีสารท เพื่อเป็นการชำระบาปของพราหมณ์ให้บริสุทธิไว้ ทำการพระราชพิธีสารท ซึ่งจะมีต่อปลายเดือนภายหลังพิธีแรก พิธีภัทรบทนี้เป็นนักขัตฤกษ์ มหาชนทำมธุปายาสทาน และจะเด็ดรวงข้าวสาลีเป็นปฐมเก็บเกี่ยว พราหมณ์ทำพลีกรรม สรวงสังเวยบูชาพระไกรสพ อ่านพระเวทย์เผยศิลาไลย เพื่อบำบัดอุปัทวจัญไร มหาชนเก็บเกี่ยวข้าวมาทำมธุปายาสยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา ดังนั้นพราหมณ์ผู้รู้เพทางคศาสตร์จึงกระทำพิธีภัทรบทลอยบาป เพื่อจะรับมธุปายาส และยาคูคัพภสาลี อันที่จริงการพิธีสารทเป็นของพราหมณ์ พุทธศาสนาทำตามอย่างพราหมณ์ เช่นการกวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์เป็นต้น การกวนข้าวปายาสนั้น เป็นพิธีเพื่อที่จะให้เกิดสวัสดิมงคล แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ รับพระราชทานระงับโรคภัยอันตรายต่าง ๆ ส่วนยาคูนั้นเป็นการป้องกันข้าวในนามิให้อันตราย แต่ต้องการให้งามบริบูรณ์จึงประกอบพิธีขึ้น
                ในการพระราชพิธีสารทนี้ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงบาตรคือข้าวทิพย์และกระยาสารท แต่ข้าวทิพย์ได้ทรงบาตรเพียงวันเดียว วันหลังจากนั้นทรงใช้กระยาสารทเป็นขนมตามฤดู
    การพระราชกุศลกาลานุกาล
                ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิเท่าจำนวนที่เคยสดับปกรณ์มาแต่ก่อน ออกไปประดิษฐานบนพระที่นั่งเสวตฉัตรและโต๊ะจีน ทั้งในพระราชวังบวร ฯ และหอพระนาค ก็มีการพระราชกุศลตามเคยเหมือนกาลานุกาลอื่น ๆ
    การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง
                การตักบาตรน้ำผึ้งนี้เพิ่งเกิดใหม่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการที่ทำนั้นไม่สู้จะเป็นราชการสำหรับแผ่นดินนัก ทำเป็นส่วนธรรมยุติกาหรือเฉพาะแต่วัดบวรนิเวศน์ด้วยทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์ เหตุที่มีการตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น เพราะถือว่าน้ำผึ้งเป็นทั้งยาและอาหาร และการพระราชกุศลนี้ยังคงดำเนินอยู่
    การเฉลิมพระชนม์พรรษา
                พิธีการเฉลิมพระชนมพรรษา แบ่งออกเป็นสองตอน คือตอนฉลองและตอนเฉลิม ตอนฉลองนั้นเป็นงานฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมายุ ซึ่งได้เริ่มทำกันมาตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดเป็นงานสมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำในเดือนห้า และวันสงกรานต์ ซึ่งกำหนดทางจันทรคติ เนื่องจากเป็นงานใหญ่และทราบกันทั่วไป มีผู้เข้าเฝ้ามาก จึงต้องใช้ท้องพระโรง พระที่นั่งอนัตสมาคม (องค์เก่า) เป็นที่จัด ในวันนั้นจะฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมายุ ทั้งที่ทรงสร้างไว้ก่อน ๆ และองค์ใหม่ที่สร้างประจำปีนั้น แต่องค์ใหม่นี้น่าจะจัดประดิษฐานบนพานทอง ซึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะจีน  และจัดเครื่องบูชาเป็นพิเศษ ได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวนเท่าพระพุทธรูปประจำพระชนมายุ สวดมนต์เย็น และฉันเช้า แล้วถวายเทศนามงคลวิเศษตอนค่ำหนึ่งกัณฑ์ และดอกไม้เพลิงบูชา ๒ คืน ส่วนตอนเฉลิมนั้นได้กำหนดวันทำทางสุริยคติ ซึ่งคนไทยในสมัยนั้นถือว่าเป็นวันนับอย่างฝรั่ง ไม่ใคร่จะทราบกันซ้ำมักจะปิด ๆ บัง ๆ กันเสียด้วย งานตอนนี้คนข้างนอกจึงไม่ใคร่ทราบ ทำกันแต่ภายในพระบรมมหาราชวัง จึงได้กลายเป็นงานย่อย ๆ ไม่สำคัญไป
                ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคนเรียนรู้และรู้จักใช้วันทางสุริยคติมากขึ้น งานเฉลิมพระชนมพรรษาในตอนเฉลิม จึงกลับมีความสำคัญมากกว่าตอนฉลอง ในรัชสมัยนี้งานตอนฉลองได้ย้ายเข้าไปทำในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ใช้บุษบกดอกไม้ที่เสร็จจากงานถือน้ำเดือนห้า เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประจำปีก่อน ๆ ส่วนองค์ใหม่ทรงห่มแพรสีทับทิมสด แยกไปตั้งไว้บนโต๊ะหมู่ต่างหาก พระสงฆ์ที่นิมนต์เข้ามาสวดมนต์ก็ทรงใช้พระราชาคณะ และฐานานุกรมวัดราชบพิธทั้งสิ้น นอกจากปีใดพระสงฆ์ในวัดราชบพิธไม่ครบ (เท่าจำนวนพระพุทธรูป) ก็นิมนต์เพิ่มเติมจากวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะทรงถือว่า วัดทั้งสองนี้เป็นวัดที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น พิธีในตอนเช้าจะทรงเลี้ยงพระสงฆ์แล้วทรงปล่อยสัตว์ เวลาบ่ายมีการสมโภชพระพุทธรูป ตอนพลบค่ำมีการสรงมุรธาภิเศก แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนามงคลวิเศษ พระสงฆ์สวดมนต์ ถวายเครื่องไทยทานแล้วจุดดอกไม้เพลิง คืนต่อมาก็ทำเช่นเดียวกันอีกครั้งหนึ่งเป็นการเสร็จการ
                ส่วนตอนเฉลิมนั้น มีงานในพระบรมมหาราชวัง ๔ - ๕ วัน เนื่องจากว่าวันที่ ๒๐ กันยายน ตรงกับวันประสูติ งานจึงเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ในวันนั้นสวดมนต์เสดาะพระเคราะห์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ เช้าเลี้ยงอาหารพระสงฆ์ เวลาค่ำพระสงฆ์ธรรมยุตินิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๑ พระสงฆ์ฉันเช้า เสร็จแล้วทรงพระมุรธาภิเศก เวลาเที่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเข้าถวายพระพรชัยมงคล เวลาค่ำพระราชทานเลี้ยงโต๊ะ แต่ถ้ามีการไว้ทุกข์ก็ให้งดการเลี้ยง และให้เลื่อนการสวดมนต์ในวันรุ่งขึ้นมาแทน วันที่ ๒๒ พระสงฆ์มหานิกายเข้าสวดมนต์ที่ท้องพระโรง วันที่ ๒๓ พระสงฆ์มหานิกายที่นิมนต์มาเมื่อวานนี้ฉันเช้า เสร็จแล้วเทศนา ๔ กัณฑ์
                เฉพาะในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น จัดให้มีการสวดมนต์ ๓ วัน คือในวันที่ ๑๙ ถึง ๒๑ ภายในวัดมีการตกแต่งโคมไฟที่ศาลาราย กำแพงแก้ว พระพุทธปรางค์ ปราสาท และพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในพระอุโบสถได้จุดเทียนรายจงกลมตามชั้นบุษบก ที่หน้าพระพุทธรูป พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น จุดเทียนเล่มใหญ่ข้างละ ๗ เล่ม มีเทียนพระมหามงคล และเทียนเท่าพระองค์อีกสำรับหนึ่ง ตรงกลางพระอุโบสถตั้งเสากิ่งจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์ ๙ ต้น แต่ละต้นมีรูปเทวดานพเคราะห์ประจำทุกต้น ได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดวันละ ๕ รูปทั้ง ๓ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกถวายไตรย่ามก่อน พระสงฆ์รับไตรออกไปครอง ขณะนั้นจะทรงจุดเทียนต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วกว่าจะเสร็จก็พอดี พระสงฆ์ครองผ้าเสร็จกลับมานั่งตามที่พร้อมแล้ว จึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สังฆการีจะอาราธนาพระปริต จากนั้นทรงจุดเทียนและธูปที่จงกลบูชาเทวดานพเคราะห์ เจ้ากรมและปลัดกรมโหรา จะอ่านพระเวทย์บูชาเทวดาแล้วแปลเป็นไทย ได้เสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดารามเช่นนี้ครบทั้ง ๓ วัน


    พระราชพิธีเดือนสิบเอ็ด

                ในกฎมณเฑียรบาลว่าในพระราชพิธีเดือนสิบเอ็ด มีพิธีแข่งเรือได้ทำมาเพียงในชั้นกรุงเก่า แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้ทำ
                พระราชพิธีประจำเดือนสิบเอ็ด ที่คงทำในกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้
                    วันขึ้น ๔ ค่ำ  พิธีทอดเชือก ดามเชือก
                    วันขึ้น ๕ ค่ำ  แห่คเชนทรัศวสนาน
                    วันขึ้น ๖ ค่ำ  สมโภชพระยาช้าง
                    วันขึ้น ๑๔ ค่ำ  ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ พิธีออกพรรษา และลอยพระประทีป ตั้งแต่วันแรม ๕ ค่ำ จนสิ้นเดือนพระกฐิน
                ประเพณีแห่เสด็จทอดผ้ากฐิน โดยกระบวรพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้ากฐิน ณ วัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ก็จะเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือรบที่ได้จัดขึ้น และแห่แหมไปตามลำน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้ไพร่ฟ้าประชาชนได้สนุกสนานรื่นเริงในโอกาสที่มีงานกุศลอีกด้วย เรือรบที่จัดเข้ากระบวนนี้ เป็นเรือรบที่ใช้ทำการรบในลำน้ำ มีขนาดเล็กต้องใช้ฝีพาย เรือรบที่สำคัญ ๆ ใช้เป็นเรือพระที่นั่ง เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตราชนาค แกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม
                พิธีเดือนสิบเอ็ดที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นจะทำมาแต่ครั้งกรุงเก่าทุกอย่างหรือโดยมาก จึงปรากฏในกฎมณเฑียรบาล แต่พิธีแข่งเรืออย่างเดียว ส่วนพิธีทอดเชือก ดามเชือก และแห่คเชนทรัศวสนานในเดือนสิบเอ็ดก็ทำเช่นเดียวกับพระราชพิธีในเดือนห้า


    พระราชพิธีเดือนสิบสอง

    พระราชพิธีจองเปรียง
                การพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดโคมลอยนี้ทำในเดือนสิบสอง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล แต่โบราณมีความเป็นอย่างไรนี้ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดเจน ส่วนการพระราชพิธีที่ทำอยู่ในปัจจุบันเป็นของพราหมณ์ ซึ่งเมื่อถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ให้แทรกพิธีทางพุทธศาสนาไว้ ในการพระราชพิธีทั้งปวงด้วยเสมอ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้มีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าเป็นอย่างน้อย
                ตามคำโบราณกล่าวว่าพิธีจองเปรียงนี้เป็นการพิธียกโคมขึ้นบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหมในศาสนาพราหมณ์ ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระราชพิธีนี้จึงเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึง และพระพุทธบาท ได้กำหนดการยกโดยไว้ว่า ถ้าปีใดที่มีอธิกามาส ให้ยกโคมขึ้นตั้งแต่วันแรม ๑๔ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันลดโคม หรืออีกนัยหนึ่ง กำหนดตามโหราศาสตร์ว่า พระอาทิตย์ถึงราศรีพฤศจิก พระจันทร์อยู่ราศรีพฤษภ เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นกำหนดที่จะยกโคม หรืออีกนัยหนึ่งกำหนดด้วยดวงดาวกฤติกา คือ ดาวลูกไก่ ถ้าเห็นดาวลูกไก่นั้นตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลายกโคม
                อนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสตามหัวเมือง มีพระราชวังแห่งใดก็โปรดให้ยกเสาโคมชัย สำหรับพระราชวังนั้นด้วยเสมอ
    พิธีกะติเกยา
                การพระราชพิธีกะติเกยานี้ เป็นพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมา แต่ก่อนเคยทำในเดือนอ้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนมาทำในเดือนสิบสอง การที่จำกำหนดพระราชพิธีเมื่อใด เป็นหน้าที่ของโหรต้องเขียนฎีกาถวาย พิธีนี้เป็นพิธีพราหมณ์แท้แต่หาเหตุผลไม่ได้แจ่มแจ้ง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่อาจจะทรงเติมการพิธีสงฆ์หรือแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร จึงได้แต่เพียงเปลี่ยนกำหนดให้ถูกชื่ออย่างเดียวเท่านั้น
    พระราชกุศลไตรปี
                การฉลองไตรปีไม่แน่ว่าจะเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าหรือประการใด แต่ได้มาปฏิบัติกันในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกลายเป็นธรรมเนียม ไม่นับเป็นพระราชพิธี ถือเป็นเพียงการพระราชกุศลประจำปีโดยได้นิมนต์พระราชาคณะฐานานุกรม และเปรียญทั้งปวง ซึ่งได้รับพระราชทานไตรปี มาประชุมพร้อมกันและทำพิธีฉลองไตรปีกันเท่านั้น
    การลอยพระประทีป
                การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์รื่นเริงทั่วไปไม่เฉพาะแต่การฉลอง และไม่นับว่าเป็นพระราชพิธีเพราะไม่มีพระสงฆ์ หรือพิธีพราหมณ์อันใดเข้ามาเกี่ยวข้อง การลอยพระประทีปนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งได้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระร่วงในสมัยกรุงสุโขทัย
                การลอยพระประทีป ลอยกระทง ทำในฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาที่น้ำในแม่น้ำกำลังใสสะอาด และขึ้นสูงเต็มฝั่ง ดวงจันทร์มีแสงสว่างผ่องใส เป็นยามที่สมควรมีการรื่นเริงในลำน้ำในเวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จประพาสตามลำน้ำพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายใน เป็นประเพณีที่มีมาแต่กรุงสุโขทัย
    พระราชกุศลกาลานุกาล
                พระราชกุศลนี้เริ่มมีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการกระทำพิเศษขึ้นกว่าแต่เก่า และต่อจากการฉลองไตรปีในวันแรม ๒ ค่ำ เพื่อนิมนต์พระสงฆ์ที่ฉลองไตรได้สดับปกรณ์กาลานุกาลตามรายองค์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ
    พระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด
                การแจกเบี้ยหวัด ไม่มีกำหนดแน่ว่าวันใด แต่คงอยู่ในวันจันทร์หรือวันพุธข้างแรมเดือนสิบสอง ซึ่งมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชจะรับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นเงินไม่ได้ จึงทรงทำเป็นตั๋วอุทิศเป็นสิ่งที่ควรแก่สมณบริโภคตามจำนวนเงินเบี้ยหวัด และโปรดเกล้า ฯ ให้มีการมงคลในวันแรกของการแจกเบี้ยหวัดนี้ โดยนิมนต์เฉพาะแต่พระราชวงศานุวงศ์ ที่ทรงผนวชเข้ามารับพระราชทานฉัน
    พระราชพิธีฉัตรมงคล
                เป็นธรรมเนียมแต่เก่าก่อน เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ถึงเดือนหก พนักงานข้างหน้าข้างในซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภค และรักษาตำแหน่งหน้าที่พระทวารและประตูวัง ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคในตำแหน่งซึ่งตนรักษาอยู่พร้อมกันคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้า สวดมนต์เลี้ยงพระ ข้างฝ่ายในมีแต่เครื่องสังเวยเครื่องประโคม ทั้งนี้เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำกันเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่
                ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ควรจะมีการสมโภชพระมหาเศวตรฉัตร ให้เป็นสวัสดิมงคล แก่ราชสมบัติจึงทรงจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่า "พระราชพิธีฉัตรมงคล" ขึ้น

    พระราชพิธีเดือนอ้าย

                พระราชพิธีเดือนอ้ายตามที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า  "ไล่เรือเถลิงพิธีตรียัมพวาย" พิธีนี้เป็นพิธีไล่น้ำ หรือจะให้น้ำลดเร็ว ๆ เพื่อให้การเกี่ยวข้าวได้สะดวกและได้ผลดี แต่ไม่ได้จัดทำสม่ำเสมอทุกปี มักทำในปีที่น้ำลดเท่านั้น ในพิธีนี้ขบวนแห่คล้ายเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน และให้อาลักษณ์หรือราชบัณฑิตอ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิษฐาน นมัสการพระรัตนตรัยเทพยดา และพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งนับเป็นสมมติเทพยดา แล้วอ้างความสัตย์ซึ่งมีต่อเทพยดาทั้งสาม คือ วิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา และสมมติเทพยดา ขอให้บันดาลให้น้ำลดลง
    พระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
                การเลี้ยงขนมเบื้องนับเป็นตรุษอย่างหนึ่งในรอบปี กำหนดกันเอาเมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางใต้ตกนิจ เป็นวันหยุดจะกลับขึ้นเหนืออยู่ในองศา ๘ องศาในราศรีธนู ไม่กำหนดแน่ว่าเป็นวันกี่ค่ำ และไม่มีการสวดมนต์เช่นพระราชพิธีใด ๆ อีกด้วย ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในละเลงขนมเบื้อง และนิมนต์พระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ และพระราชาคณะมาฉันในพระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัย เป็นงานพระราชกุศลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาที่กำหนดพระราชทานเลี้ยงขนมเบื้องในระยะนี้เพราะกุ้งชุกชุมน้ำลดลงตลิ่งก็แห้ง กุ้งปลาลงหนองมากมาย ทั้งกุ้งก็มีมันมาก ปีหนึ่งมีเพียงหนหนึ่ง เพราะไส้ขนมเบื้องนั้นต้องประกอบด้วยกุ้งจึงอร่อย ส่วนข้าวในนาเมื่อน้ำลดข้าวก็เริ่มแก่ รอที่จะสุกเก็บเกี่ยวได้ เป็นเดือนที่นาไร่กำลังบริบูรณ์
    พระราชกุศลเทศน์มหาชาติ
                เป็นเทศนาสำหรับแผ่นดิน และเป็นพระราชกุศลนิจสมัยประจำปี เดิมมี ๓๓ กัณฑ์ กำหนดเครื่องภัณฑ์คล้ายบริขารกฐิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะกระทำในเดือนสิบเอ็ดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ มีเทศน์มหาชาติ วันแรม ๑ ค่ำ มีอริยสัจครบ ๓๐ กัณฑ์ เมื่อเทศนาจบจึงเสด็จลงลอยพระประทีป เฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการเทศน์มหาชาติหลวงเป็นงานใหญ่ โดยเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์


    พระราชพิธีเดือนยี่

                พระราชพิธีเดือนยี่ คงนับพระราชพิธีบุษบกภิเษกเข้ามาไว้ เพราะเป็นพิธีสรงมุรธาภิเษกอย่างหนึ่ง ในจำนวนพระราชพิธีมีสนาน ๑๗ อย่าง ไม่มีข้อความละเอียดกล่าวเกี่ยวกับพิธีนี้ไว้ด้วย
    การพระราชพิธีตรียัมพวาย และตรีปวาย
                นับเป็นพิธีใหญ่และทำบุญตรุษ เปลี่ยนปีใหม่ของพราหมณ์ จัดทำขึ้นที่เทวสถานทั้งสามของพระนคร ได้แก่เทวสถานพระอิศวร พระมหาวิฆเนศวร และพระนารายณ์ตามลำดับ
                พิธีตรียัมพวาย เป็นพิธีต้อนรับพระอิศวรผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้นถึงกำหนด ๑๐ วัน รับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันเสด็จลง วันแรม ๑ ค่ำเป็นวันเสาร์เสด็จกลับในวัน ๑ ค่ำ พระนารายณ์เสด็จลงมา วันแรม ๕ ค่ำเสด็จกลับ สำหรับพิธีต้อนรับพระอิศวรนั้นเป็นการเอิกเกริกครึกครื้น มีผู้คนไปรับแจกข้าวตอกข้าวเม่าที่เหลือจากสรวงสังเวย เพื่อนำไปเก็บเป็นสวัสดิมงคล แต่ส่วนการพระราชพิธีตรีปวายของพระนารายณ์นั้นทำอย่างเงียบ ๆ
                ในการพิธีนี้ จัดให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองยืนชิงช้าผลัดเปลี่ยนกันคนละปี และจัดให้มีการโล้ชิงช้าในพิธีนี้ด้วย ต่อจากนั้นก็มีพิธีส่งเสด็จพระผู้เป็นเจ้า ในการนี้พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จส่งพระผู้เป็นเจ้าโดยขบวนช้างถึงเทวสถานดังกล่าวแล้วด้วย
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ขึ้น โดยในตอนกลางวันโปรดให้พระสงฆ์เข้ารับพระราชทานฉัน ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ และสวดมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลากลางคืน สำหรับถวายอาหารหน้าพระพุทธปฏิมากรนั้น มีการถวายด้วยข้าวตอก มะพร้าว กล้วย อ้อย เพิ่มขึ้นเหมือนกับ เครื่องสังเวยหน้าเทวรูปในเทวสถาน
    การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา
                พระราชกุศลนี้เริ่มมีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษาตามอารามต่าง ๆ ที่มีพระบรมอัฐิและพระอัฐิ มีพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ และถวายปัจจัยไทยทานแล้วทอดผ้าสดับปกรณ์ของหลวง


    พระราชพิธีเดือนสาม

                การพระราชพิธีเดือนสามนี้ กฎมณเฑียรบาลจดไว้ว่าพิธีธานยเฑาะห์หรือธัญเฑาะห์ แต่ในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดจดไว้ว่า ธัญเฑาะห์ คือ พิธีเผาข้าวเพื่อการเสี่ยงทาย  การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล ซึ่งเป็นการทำเพื่อสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหารอันเป็นเสบียงสำหรับพระนคร
    พิธีศิวาราตรี
                เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ มีมาแต่โบราณแล้วหยุดไป เพิ่งกลับมาทำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก กำหนดทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม แต่เพราะเป็นพิธีพราหมณ์โดยเฉพาะ จึงไม่มีของหลวงพระราชทานในพิธีนี้
    การพระราชกุศลมาฆบูชา
                เริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วันมาฆบูชา พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันคล้าย วันที่พระอรหันต์สาวก ๑๒๕๐ รูปได้มาประชุมพร้อมกันด้วย จาตุรงคสันนิบาตนับเป็นการประชุมใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์
                การมาฆบูชานี้มีในเดือนสามบ้างเดือนสี่บ้าง แต่คงอยู่ในเดือนสามโดยมาก การพระพิธีที่จัดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ ๓๐ รูป เข้าในพระอุโบสถเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วพระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น แล้วสวดมนต์ต่อไป มีสวดโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย เมื่อสวดมนต์จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนรายรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีเครื่องประโคมครั้งนี้ แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์หนึ่ง
    พระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน
                การนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยพวกจีนนำสิ่งของมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากมายจนเหลือเฟือ จึงจัดบำเพ็ญพระราชกุศล โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์รวม ๓ วัน ทั้งให้ภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้จัดเรือขนมจีนมาถวายเปลี่ยนเวรกันไปทั้ง ๓ วัน ไม่มีการสวดมนต์ วิธีอนุโมทนาของพระสงฆ์ในการตรุษจีนนี้จึงไม่เหมือนกันทั้ง ๓ วัน บางวันก็มีสัพพะพุทธาบางวันก็ไม่มี เมื่อพระสงฆ์ฉันเรียบร้อยแล้ว ก็มีการเลี้ยงข้าราชการ และทรงปล่อยปลาทุกวันที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนี้
                การตรุษจีนนี้กระทำในเดือนยี่บ้าง เดือนสามบ้าง ทั้งนี้เพราะแล้วแต่ปฏิทินจีน
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการทำบุญตรุษจีนโดยเลี้ยงขนมจีนนั้น ไม่ใช่ธรรมเนียมของจีนจึงโปรดเกล้า ฯ ให้นำเกาเหลามาเลี้ยงพระสงฆ์แทน กับโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชวินิจฉัย อีกทั้งเชิญเทวรูป และเจว็ดมุขในหอแก้ว ลงไปตั้งถวายเครื่องสังเวยทั้ง ๓ วัน อาลักษณ์อ่านกลอนลิลิตเทวพลี นอกจากนี้ได้เพิ่มเครื่องเซ่นอย่างจีนที่หน้าพระพุทธรูปโดยเพิ่มจากข้าวพระ เช่น แตงโม ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโต น้ำตาลทราย ส้ม
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนมาเลี้ยงขนมจีนอย่างเดิม รวมทั้งมีการจัดเครื่องโต๊ะอย่างจีนมาตั้งเลี้ยงเจ้านาย ที่เก๋งพุทธรัตนสถาน


    พระราชพิธีเดือนสี่

                ในกฎมณเฑียรบาลบัญชีย่อพระราชพิธีว่า เดือนสี่การสัมพัจฉรฉินท์ แต่ครั้นเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว หลักฐานเลอะเลือนไม่ได้ความชัดเจน นอกจากทราบว่าได้ทำกันมาแต่โบราณ แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ ย่อมเป็นพระราชพิธีทำติดต่อกันกับเดือนห้า
                มีพระราชพิธีอันหนึ่ง ซึ่งติดต่อกันกับสัมพัจฉริทรเรียกว่า "ลดเจตร" คงได้ความว่ารดน้ำเดือนห้าเป็นพิธีดั้งเดิมที่สืบมาแต่ลาวพุงดำ
                สัมพัจฉรฉินท์นี้เป็นพระราชพิธีประจำ ทำเพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนราษฎร เนื่องจากพิธีสัมพัจฉรฉินท์เป็นพิธีใหญ่ให้รวมกับ พิธีอาพาธพินาศ เกศากันต์และโหมกุณฑ์
    กาลานุกาล พิธีตรุษ
                เป็นพระราชพิธีต่อท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษา และท้ายฉลองไตรปีเป็นของมีมาแต่เดิม ส่วนที่เปลี่ยนมาทำในท้ายวิสาขบูชานี้ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กำหนดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนห้า มีพิธีการพระราชกุศลทั้งปวงเหมือนเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว ในกาลานุกาล

    พระราชพิธีเคณฑะคือทิ้งข่าง
                เป็นพิธีการของพราหมณ์ที่ทิ้งข่างเสี่ยงทายตามตำรับไตรเพท เป็นพิธีให้อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายห้ามการประทุษร้าย ไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยเสี่ยงทายเห็นว่า พระบารมีพระเจ้าแผ่นดินยังมากอยู่
    พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท
                ตามกฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้เป็นความรวม ๆ ไม่ชัดเจนเหมือนอย่างพระราชพิธีอื่น ๆ คือ ที่รัตนสิงหาศน์เบ็ญจาเก้าชั้น ฉัตรทอง ฉัตรนาค ฉัตรเงิน และฉัตรเบญจรงค์ ส่วนในจดหมายของขุนหลวงหาวัดใจความว่า เสด็จสรงสนานในมณฑปกลางสระ ปุโรหิตถวายมุรธาภิเษกแล้วจึงถอดฉลองพระองค์ เปลื้องพระภูษาแก่พราหมณ์ แต่ภายหลังว่าเป็นพิธีล้างพระบาท จึงเอาความอะไรแน่ไม่ได้ พิธีนี้ก็ได้สูญหายไป
    การพระราชกุศลสลากภัตร
                จากหนังสือนพมาศกล่าวว่าทำในวันวิสาขบูชา แต่เพราะการพระราชพิธีสำหรับเดือนเจ็ดได้ยกเลิก ว่างเว้นไปตลอดเดือนด้วยเป็นฤดูฝน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีสลากภัตรเป็นการกุศลขึ้นแทน การพิธีนี้ให้พระสงฆ์จับสลากตามแต่ผู้ใดจะได้สลากภัตร นับเป็นภัตรอันหนึ่งในเจ็ดอย่างไม่ได้กำหนดเวลาทำพิธีไว้แน่นอน
    พระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา
                การพระราชกุศลนี้กระทำเป็นการประจำปีไม่ขาด คือในบรรดาวัดหลวงที่มีนิตยภัตรสองสลึงแล้วจะมีเทียนพรรษาอีกอย่างหนึ่ง เวลาที่จะหล่อเทียนก็บอกบุญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และเจ้าภาษีนายอากร มีการประชุมใหญ่ในวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนเจ็ดทุกปีมิได้ขาด สำหรับปีอธิกมาส รอการหล่อเทียนไว้ในวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนแปด บุรพสาธ รูปสัณฐานของเทียนพรรษานั้น วังหลวงกับวังหน้าไม่เหมือนกัน วังหลวงใช้รูปบัวปลายเสาวังหลวง วังหน้าใช้รูปบัวปลายเสาวังหน้า
    การพระราชกุศลวันที่ ๓๑ พฤษภาคม
                เป็นการทำบุญพระอัฐิหมู่ใหญ่ ไม่เป็นการพระราชกุศลประจำแผ่นดิน นับเป็นการในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินตามกาลสมัยเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภไว้ว่าหากต่อไปภายหน้าการพระราชกุศลเฝือนักก็ควรจะเลิกเสียไม่ต้องทำก็ได้


    พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล
                การพระราชพิธีนี้กล่าวเป็น ๒ ชื่อ แต่ความจริงนับเนื่องเป็นพิธีเดียวกันพระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ทำที่ท้องสนามหลวงในพระนคร แต่พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร พิธีทั้งสองทำพร้อมกันในคืนวันเดียวกัน
               พระราชพิธีพืชมงคล มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระราชพิธีจรดพระนังคัลมีมานานแล้ว ฤกษ์การพระราชพิธีนี้ต้องหาฤกษ์วิเศษกว่าฤกษ์อื่น ๆ กำหนดไว้ ๔ อย่าง คือฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องรับผีเพลียอย่างหนึ่ง ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง ให้ได้บูรณฤกษ์อย่างหนึ่ง ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง เมื่อได้ฤกษ์แล้วก็มีการแรกนา การแรกนาต้องเป็นหน้าที่ของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาในโบราณ พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงลงไถนาเองเป็นองค์แรก พระมเหษีเลี้ยงตัวไหม เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจ หมั่นในทางที่จะทำนาเพื่อความเจริญไพบูลย์แห่งพระนคร
    การวิสาขะบูชา
                วันวิสาขะบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ นับเป็นวันนักขัตฤกษ์แห่งพระพุทธศาสนิกชนได้ทำการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คล้ายกับทำเฉลิมพระชนมพรรษาปีละครั้งแต่โบราณมา ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก พระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูลทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันนี้เป็นอันมาก



    • Update : 15/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch