หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา 2

    สมเด็จพระมหินทราธิราช

               สมเด็จพระมหินทราธิราช พระนามเดิม พระมหินทร์ หรือพระมหินท์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระสุริโยทัย เสด็จพระราชสมภพ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๘๒ มีพระเชษฐาคือ พระราเมศวร ผู้เป็นที่พระมหาอุปราช มีพระเชษฐภคินีสองพระองค์คือ พระบรมดิลก กับพระสวัสดิราช (พระวิสุทธิกษัตรี) และพระขนิษฐาคือ พระเทพกษัตรี
               หลังสงครามกับพม่าที่เรียกว่าสงครามช้างเผือก ยุติลงในปี พ.ศ.๒๑๐๗ พระมหินทร์ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชต่อจากพระราเมศวร ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเสด็จออกผนวช
               ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๑๑ สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ได้ทูลขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวช แล้วขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า โดยพระเจ้าบุเรงนอง ได้ยกกองทัพเจ็ดกองทัพ มาทำสงครามกับไทย กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แล้วเข้าตีหัวเมืองทางเหนือ เพื่อตัดกำลังไม่ให้ส่งกองทัพเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้
               ในระหว่างการศึก สมเด็๋จพระมหาจักรพรรดิประชวรและเสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหินทร์ ฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ห้าเดือน ยังไม่สามารถตีหักเข้าไปได้ พระเจ้าบุเรงนองจึงออกอุบายเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ยอมเป็นไมตรี โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอตัวพระยาราม ผู้มีความสามารถรับผิดชอบการรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงยินยอมมอบตัวพระยารามแก่พม่า แต่ทางพระเจ้าบุเรงนองกลับตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามข้อตกลง และเร่งยกกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหนักขึ้น
               ขณะนั้นใกล้ฤดูน้ำหลาก แต่พม่าก็ยังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงได้เกลี้ยกล่อมให้พระยาจักรีซึ่งทางพม่าขอตัวไปพร้อมกับ พระราเมศวรในสงครามกับพม่าครั้งก่อน เข้าเป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงเห็นว่าพระยาจักรีเคยเป็นแม่ทัพ ที่มีความสามารถในการศึกกับพม่าครั้งก่อน จึงทรงโปรดให้เป็นผู้จัดการป้องกันพระนคร ทัพพม่าจึงตีหักเข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากล้อมพระนครไว้ถึงเก้าเดือน
               พม่าเข้ายึดทรัพย์สิน และกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสมเด็จพระมหินทร์ ฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางน้อยใหญ่ ก็ได้นำไปกรุงหงสาวดีด้วย
               สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างทาง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระชนมายุได้สามสิบพรรษา ครองราชย์ได้ ๑ ปี



    สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

               สมเด็จพระมหาธรรมราชาหรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๘ พระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย พระราชมารดาเป็นพระญาติฝ่ายพระราชชนนี สมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ พระองค์ทรงรับราชการเป็นที่ขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจรักษาพระองค์ หลังจากที่เหตุการณ์วุ่นวายในราชสำนักยุติลง และพระเฑียรราชาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ แล้วขุนพิเรนทรเทพ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา แล้วได้รับโปรดเกล้าให้ไปครองเมืองพิษณุโลก สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีศักดิ์เทียบเท่าพระมหาอุปราช ได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เป็นพระอัครมเหสี ต่อมามีพระราชโอรสและพระราชธิดาสามพระองค์คือ
               พระสุพรรณเทวี หรือพระสุพรรณกัลยา ซึ่งต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้ถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ เมื่อพระชนมพรรษาได้ ๑๗ พรรษา เพื่อขอสมเด็จพระนเรศวรมาช่วยงานของพระองค์
               องค์ที่สองคือ พระองค์ดำ หรือสมเด็จพระนเรศวร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ พระเจ้าบุเรงนองได้ขอไปอยู่ที่กรุงหงสาวดี ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๙ พรรษา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ได้ขอตัวมาช่วยงานของพระองค์ และทรงตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช ไปครองเมืองพิษณุโลก ดูแลหัวเมืองเหนือทั้งปวง
               องค์ที่สามคือ พระองค์ขาว หรือพระเอกาทศรถ ประสูติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๐
               ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ เกิดสงครามช้างเผือกกับพม่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ป้องกันเมืองพิษณุโลกเป็นสามารถ ทางกรุงศรีอยุธยาส่งกำลังไปช่วยไม่ทัน พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้จนเสบียงอาหารในเมืองขาดแคลน จึงได้ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า พระเจ้าบุเรงนองจึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระธรรมราชาเป็นพระศรีสรรเพชญ์ ครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของพม่า กับขอสมเด็จพระนเรศวรไปอยู่ที่หงสาวดี
               ในปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย
               ในวันศุกร์ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้อภิเษกให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะประเทศราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ บางแห่งเรียก พระสุธรรมราชา เป็นต้นราชวงศ์สุโขทัย
               สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของพม่าอยู่ถึง ๑๕ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวร องค์รัชทายาทก็ได้ทรงประกาศอิสระภาพ
               ในห้วงระยะเวลา ๑๐ ปี แรกในรัชสมัยของพระองค์ กัมพูชาได้ส่งกำลังมาโจมตีหัวเมืองทางตะวันออกและรุกเข้ามาถึงชานพระนคร แต่ฝ่ายไทยก็สามารถต่อสู้ขับไล่เขมรกลับไปได้ พระองค์ทรงเห็นเป็นโอกาสในการป้องกันพระนคร จึงได้บูรณะซ่อมแซมกำแพงและป้อมต่าง ๆ รอบพระนครให้แข็งแรงขึ้น กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๑๒๓ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคูพระนครทางด้านทิศตะวันออก หรือคูขี่อหน้า ซึ่งแต่เดิมแคบข้าศึกสามารถเข้ามาสู่พระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก แล้วสร้างให้ไปจรดริมฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ ทรงสร้างป้อมมหาชัย ตรงบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ไหลมาบรรจบกัน และสร้างพระราชวังจันทร์เกษม (วังหน้า) สำหรับใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ไว้คอยสกัดกั้นทัพข้าศึกที่เข้าโจมตีพระนครทางด้านทิศตะวันออก

    สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

               สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลก พระนามเดิม พระองค์ดำ หรือพระนเรศวร มีพระเชษฐภคินี คือ พระสุพรรณเทวี และพระอนุชา คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)
               หลังจากเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เขมรเห็นเป็นโอกาสที่ไทยอ่อนแอ จึงได้ยกทัพมาปล้นสดมภ์และกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายพระนคร สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงได้ขอตัวสมเด็จพระนเรศวรจากหงสาวดี กลับมาช่วยป้องกันบ้านเมือง เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่หงสาวดี หลังสงครามช้างเผือกตามคำทูลขอของพระเจ้าบุเรงนอง ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๙ พรรษา
               สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระมหาอุปราช ปกครองหัวเมืองทางเหนือ และประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๑๔ ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นกำลังสำคัญในการป้องกัน และกอบกู้บ้านเมืองจากข้าศึกทั้งเขมรและพม่า ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ พระองค์ได้ทรงประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาจากอำนาจของพม่า หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจพม่าเป็นเวลา ๑๕ ปี
               เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๓ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๑๓๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง
               ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ
               การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ การสงครามในขั้นต่อไปหลังจากนั้นของพระองค์คือ การรุกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก เริ่มจากการตีเมืองทวาย และตะนาวศรี คืนกลับมาจากพม่าหลังจากสงครามยุทธหัตถี  การยกไปตึเมืองเขมรในเวลาต่อมา ยึดเมืองละแวกของเขมรได้  ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ พระองค์ยกกองทัพไปปราบปรามมอญแล้วยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี แต่พระเจ้าตองอูได้นำเสด็จพระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอูก่อน คงทิ้งให้เมืองหงสาวดีร้างก่อนที่พระองค์จะนำทัพไปถึงไม่นาน
               รายละเอียดของงานด้านการทหารของพระองค์มีอยู่ในเรื่องราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
               สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองใหม่เป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกระบบเมืองพระยามหานคร จัดแบ่งหัวเมืองเป็นหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ยกเลิกการให้เจ้านายไปปกครองเมืองเหล่านี้ แล้วให้ขุนนางไปปกครองแทน
               สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง พระองค์ทรงประชวรเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์กลายเป็นพิษ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๕



    สมเด็จพระเอกาทศรถ

               สมเด็จพระเอกาทศรถ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๓ พระนามเดิมว่า พระองค์ขาว  เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในสมเด็จพระมหาธรรมราชา กับพระวิสุทธิกษัตรี
               หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้เสด็จออกร่วมทำการรบคู่กับสมเด็จพระนเรศวร ได้โดยเสด็จในการทำศึกสงครามด้วยทุกครั้งนับแต่นั้นมาจนสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ เป็นจำนวนถึง ๑๗ ครั้ง
               ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระเอกาทศรถ เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่พระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน
               เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๑๔๘ พระองค์ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนเรศวร ในปีเดียวกันในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองเป็นปกติสุข เป็นที่เคารพยำเกรงแก่ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นผลจากการที่สมเด็จพระนเรศวร และพระองค์เองได้ทรงสร้างอานุภาพ ของราชอาณาจักรอยุธยาไว้อย่างยิ่งใหญ่ มีพระราชอาณาเขตแผ่ออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะแผ่พระราชอาณาเขตออกไปอีก
               ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการยอมรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นทหาร เรียกว่า ทหารอาสา โดยได้จัดแบ่งออกเป็นพวก ๆ ตามเชื้อชาติ และตามความชำนาญในการรบ เกิดหน่วยทหารอาสาขึ้นหลายหน่วย เช่น กรมอาสาญี่ปุ่น กรมอาสาจาม กรมทหารแม่นปืน (โปรตุเกส) นอกจากนั้นในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีชื่อเสียงในด้านความสามารถหล่อปืนใหญ่สำริดที่มีคุณภาพสูง ซึ่งน่าจะได้เรียนรู้มาจากโปรตุเกสและฮอลันดา เมื่อมาผสมผสานกับขีดความสามารถ ในด้านการหล่อโลหะของไทยที่มีการหล่อ ระฆังและพระพุทธรูป ที่มีมาแต่เดิม จึงทำให้การหล่อปืนใหญ่ของไทยในครั้งนั้นเป็นที่ยกย่องชมเชยไปถึงต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่โชกุนของญี่ปุ่น ได้มีหนังสือชมเชยคุณสมบัติของปืนใหญ่ไทยเป็นอันมาก พร้อมกับขอให้ไทยช่วยหล่อปืนใหญ่ให้อีกด้วย
               สมเด็จพระเอกาทศรถมีพระราชโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสี สององค์คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์ และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาค และมีพระราชโอรสที่ประสูติจากพระสนม อีกสามองค์คือ พระอินทรราชา พระศรีศิลป์ และพระองค์ทอง
               สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๓ พระชนม์พรรษาได้ ๕๐ พรรษาเศษ ครองราชย์ได้ห้าปี



    พระศรีเสาวภาคย์

               พระศรีเสาวภาคย์ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๔ พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่เจ้าฟ้าสุทัศน์ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชได้เสวยยาพิษสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้รับทูลเชิญให้ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๓ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๔
               ในรัชสมัยของพระองค์ ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในแผ่นดิน โดยพวกเรือญี่ปุ่นที่เข้ามาค้าขาย ได้ปล้นราษฎร ได้บุกเข้าไปในพระนคร และเข้าไปในพระราชวัง จับพระศรีเสาวภาคย์ และบังคับให้ทรงปฏิญาณสัญญาว่ามิให้ผู้ใดทำร้ายพวกญี่ปุ่น แล้วได้ลงเรือแล่นหนีออกทะเล โดยนำตัวพระสังฆราชไปเป็นตัวประกันจนถึงปากน้ำ
               พระศรีเสาวภาคย์ครองราชย์อยู่ได้ปีสองเดือนก็เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ พระบรมศพถูกนำไปฝังที่วัดโคกพระยา


    สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

               สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีพระนามเดิมว่า พระอินทราชา เป็นพระราชโอรสในพระเอกาทศรถ ก่อนหน้าที่สมเด็จพระเอกาทศรถจะเสด็จสวรรคต พระอินทราชาได้เสด็จออกผนวชอยู่จนถึงรัชสมัยพระศรีเสาวภาคย์ เมื่อพระศรีเสาวภาคย์เสด็จสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์และบรรดาเจ้านายขุนนาง ได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระอินทราชาให้ทรงลาผนวช และขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงพระนาม พระเจ้าทรงธรรม หรือพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระศรีศิลป์ ผู้เป็นพระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก
               สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระองค์ไม่นิยมการศึกสงคราม ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระเอกาทศรถ ในด้านการปกครองบ้านเมือง ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสี คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร กับพระอาทิตยวงศ์
               พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้า ฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรี จึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน
               พระองค์ทรงมีสัมพันธไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และในปี พ.ศ.๒๑๕๕ พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข
               เนื่องจากพระองค์ไม่นิยมการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตก
    ในทะเลอันดามัน พม่ายกกำลังมาตีเมืองทวายได้เมื่อปี พ.ศ.๒๑๖๕ ต่อมากัมพูชา และเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นประเทศราช
    ของไทยมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ ต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา
               ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร และทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัย เป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราช จนกว่าจะได้ครองราชย์
               สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๑๗ ปี



    สมเด็จพระเชษฐาธิราช

               สมเด็จพระเชษฐาธิราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมพ ระอนุชาพระองค์หนึ่งพระนามเจ้าอาทิตย์วงศ์
               เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคตได้เกิดการชิงราชสมบัติระหว่างพระองค์กับพระศรีศิลป์พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ฝ่ายพระองค์มีออกญาศรีวรวงศ์ กับออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ) เป็นกำลังสำคัญได้จับพระศรีศิลป์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชสำเร็จโทษ แล้วกราบบังคมทูลเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ออกญาศรีวรวงศ์ ได้เลื่อนฐานะเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
               เมื่อพระองค์เสด็จขิ้นครองราชย์ได้แปดเดือน ก็คิดเกรงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จะคิดแย่งราชสมบัติ จึงทรงหาทางกำจัดเสีย แต่ความนี้ได้รู้ไปถึงเจ้าพระยากลาโหมเสียก่อนก็ขัดเคือง จึงได้ยกกำลังบุกเข้าไปในวังหลวง สมเด็จพระเชษฐา ฯ มิได้คิดต่อสู้ได้แต่หลบหนีไป เจ้าพระยากลาโหม ฯ จึงสั่งให้พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำตามไปทันที่ป่าโมกน้อยจับสมเด็จพระเชษฐา ฯ มาได้ เจ้าพระยากลาโหม ฯ จึงสั่งให้นำสำเร็จโทษเสีย
               สมเด็จพระเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๘ เดือน



    สมเด็จพระอาทิตยวงศ์

               สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์รองในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๑ เมื่อสมเด็จพระเชษฐา ฯ เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพระยากลาโหมได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุได้เพียง ๑๐ พรรษา โดยมีเจ้าพระยากลาโหม ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการ แต่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ บรรดาขุนนางข้าราชการทั้งปวงเห็นว่า พระองค์ทรงพระเยาว์ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงได้
    อัญเชิญพระองค์ออกจากราชสมบัติ แล้วอัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง
               สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ครองราชย์ได้ ๓๘ วัน



    สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

               สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เดิมรับราชการในราชสำนักสมเด็จพระเอกาทศรถ ในตำแหน่งมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์ ได้ร่วมกับพระศรีศิลป์ สำเร็จโทษพระศรีเสาวภาคย์ แล้วเชิญพระอินทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จมื่นศรีสรรักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาอำมาตย์ และออกญาศรีวรวงศ์ ตามลำดับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่พวกญี่ปุ่น นำกำลังเข้ามาจะควบคุมพระองค์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระยาศรีวรวงศ์ก็สามารถปราบปรามลงได้ จึงได้รับความดีความชอบ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ให้ดูแลรักษาพระเชษฐาธิราช ผู้เป็นพระราชโอรสที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา
               ในรัชสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระยาศรีวรวงศ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ มีอำนาจและอิทธิพลมาก ทำให้สมเด็จพระเชษฐาธิราช เกิดความระแวงและคิดกำจัด แต่เจ้าพระยากลาโหม ฯ รู้ตัวก่อนและควบคุมพระองค์สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้ แล้วอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์
               เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๒ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ แล้วทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์ปราสาททอง พระองค์มีพระราชโอรส และพระราชธิดารวมเจ็ดพระองค์
               พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
    ทำให้เขมรกลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม
               ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์ หัวเมืองประเทศราชทางใต้ คิดกบฏยกทัพไปตีเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง พระองค์ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แต่ในขณะเดียวกันก็เสียเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาแก่พม่า
                ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญ เช่น พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ และพระธรรมนูญ
                ในปีจุลศักราช ๑๐๐๐ ตรงกับปีขาล (พ.ศ.๒๑๘๑) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นกลียุค พระองค์จึงทรงให้จัดพิธีลบศักราช เปลี่ยนจากปีขาลเป็นปีกุน แล้วแจ้งให้หัวเมืองน้อยใหญ่รวมทั้งเมืองประเทศราช ให้ใช้ปีศักราชตามที่ทางกรุงศรีอยุธยากำหนดขึ้นมาใหม่
               ในปี พ.ศ.๒๑๗๕ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พร้อมทั้งหมู่พระราชนิเวศ และวัดชุมพลนิกายาราม ขึ้นที่บางปะอิน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ สำหรับไว้เป็นที่แปรพระราชฐาน
               พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสถาปนาวัดสำคัญ ๆ หลายวัด เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดชุมพลนิกายาราม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดมหาธาตุ และโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ ครองราชย์ได้ ๒๗ ปี



    สมเด็จเจ้าฟ้าชัย

               สมเด็จเจ้าฟ้าชัย หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๖ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์มีพระอนุชา และพระขนิษฐาทั้งหมดหกพระองค์ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙
               พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ ครองราชย์ได้ ๙ เดือน



    สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

               สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระสรรเพชญ์ที่ ๗ เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระนารายณ์ราชกุมาร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระอนุชาองค์รองในสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ประทับที่วังหน้า
               พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๑๙๙ และเสด็จสวรรคตในปีเดียวกัน ครองราชย์ได้สองเดือนกับยี่สิบวัน

    สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

               สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐาคือ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย มีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา
               พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ เมื่อพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระปรึชาสามารถมาก ทำให้กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ
    การต่างประเทศ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา
               ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนาตลอดจนเข้ารับราชการ ทำให้ชาวตะวันตกยอมรับนับถือกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก
               ในด้านการค้าขาย ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งกว่าในรัชสมัยอื่น ๆ ทรงปรับปรุงกรมพระคลังสินค้า โปรดเกล้า ฯ ให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และต่อมาเมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผู้เป็นชาวกรีกได้ช่วยปรับปรุงงานของกรมพระคลังสินค้าอีก ทำให้การค้าขายกับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า "ในชมพูทวีปไม่มีเมืองใดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ามากเท่ากับในสยาม สินค้าขายได้ดีมากในสยามและการซื้อขายใช้เงินสด สำหรับเมืองท่าของไทยในเวลานั้น มีอยู่หลายเมืองด้วยกัน ได้แก่ มะริด ตะนาวศรี ภูเก็ต ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และบางกอก
               พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งบาทหลวงสามคนเดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อทั้งสามคนมาถึงแล้วก็ได้มีใบบอกไปยัง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และพระสันตปาปา ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าจะใช้กรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่คริสตศาสนา พระบาทหลวงได้ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า เป็นการนำความเจริญมาให้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดทางคริสตศาสนาด้วย
               ในปี พ.ศ.๒๒๒๔ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงจัดคณะทูตนำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่คณะราชทูตสูญหายไประหว่างทาง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๒๖ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดคณะทูตเดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อสอบสวนความเป็นไปของทูตคณะแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงทราบก็เข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเลื่อมใสจะเข้ารีต จึงได้จัดคณะราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยมีเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เป็นหัวหน้าคณะทูต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทูลขอให้ทรงเข้ารีต แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถว่า
               "การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป  ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว
    และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้"
               พระองค์ได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎรทั่วไปที่จะนับถือคริสตศาสนาได้ตามความเลื่อมใสของตน ทำให้เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ พอใจ
               ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๒๘ เมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสเดินทางกลับ พระองค์ก็ได้จัดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นหัวหน้าคณะราชทูตเดินทางไปฝรั่งเศส นำพระราชสาส์นของพระองค์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และได้ส่งกุลบุตร ๑๒ คน ไปศึกษาวิชาที่ประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงโปรดปรานเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นอย่างมาก ได้ให้เหรียญที่ระลึก และเขียนรูปภาพเหตุการณ์ไว้ด้วย เมื่อคณะราชทูตเดินทางกลับ พระองค์ได้โปรดให้มองสิเออร์ เดอลาลูแบร์ เป็นราชทูตเข้ามากรุงศรีอยุธยา พร้อมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และได้นำทหารฝรั่งเศสจำนวน ๖๓๖ นาย เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทหารฝรั่งเศสจำนวนดังกล่าว ไปรักษาป้อมที่เมืองธนบุรีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมีกำลังสองกองร้อยให้ไปรักษาเมืองมะริด ซึ่งมีอังกฤษเป็นภัยคุกคามอยู่
               ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ สมเด็จพระนารายณ์ทรงประกาศสงครามกับอังกฤษ เนื่องจากมีเหตุบาดหมางกันในเรื่องการค้าขายกับอินเดีย รัฐบาลอังกฤษให้บริษัทอังกฤษ เรียกตัวคนอังกฤษทั้งหมดที่รับราชการอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ให้กลับประเทศอังกฤษ ต่อมาชาวอังกฤษได้มาก่อความวุ่นวายในเมืองมะริดและรุกรานไทยก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรไทยได้  เนื่องจากขณะนั้นมีทหารฝรั่งเศสรักษาเมืองมะริดอยู่
               ในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าจะมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ ที่เจริญรุ่งเรืองแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มีการทำสงครามหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญได้แก่ การยกกองทัพออกไปตีพม่าที่กรุงอังวะ ตามแบบอย่างที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้ทรงกระทำมาแล้วในอดีต และได้มีการยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่สองครั้งจนได้ชัยชนะ
               สมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๑ เมื่อพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์ได้ ๓๒ ปี



    สมเด็จพระเพทราชา

               สมเด็จพระเพทราชา เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๕ เดิมเป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี เข้ารับราชการเป็นจางวาง (เจ้ากรม) ในกรมพระคชบาล ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้แสดงความสามารถในการศึกสงครามเป็นที่ปรากฏ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระนารายณ์ ได้มีอำนาจและบทบาทในทางการเมือง และการปกครองของกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก
               ในปี พ.ศ.๒๒๓๑ ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ พระเพทราชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ประทับอยู่ที่ลพบุรี และทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิชัยดิษฐ์ในปัจจุบัน
               เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จสวรรคต บรรดาข้าราชการได้อัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษ ฯ พระองค์ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๒ พระชนมายุได้ ๕๖ พรรษา
               เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายไทยเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
               ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม  โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ
               นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย
               ในด้านความสัมพันธ์กับหัวเมืองประเทศใกล้เคียง มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือในปี พ.ศ.๒๒๓๔ เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย  ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๓๘ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพไทยไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน
               สมเด็จพระเพทราชา เส็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๖ พระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา  ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี



    สมด็จพระเจ้าเสือ

               สมเด็จพระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๖ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้พระเพทราชา เลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม ได้เข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นหลวงสรศักดิ์ ได้ร่วมกับพระเพทราชา กำจัดพระปีย์ และเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๖ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี และได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสองค์ใหญ ่เป็นพระมหาอุปราช ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสองค์รอง เป็นวังหลัง
               พระองค์รักการต่อสู้ มีความดุดันและห้าวหาญ จึงได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าเสือ
               สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๑ ครองราชย์ได้ ๕ ปี



    สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

               สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นพระราราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๒๑ พระนามเดิมเจ้าฟ้าเพชร ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราช ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๑ ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ หรือสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
               ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ทรงระแวงพระทัยในเจ้าฟ้าพร พระราชอนุชา ผู้เป็นพระมหาอุปราช จึงทรงมีพระราชดำริที่จะยกราชยมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทร์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ทรงเกรงพระทัยเจ้าฟ้าพร จึงหาทางหลีกเลี่ยงโดยเสด็จออกผนวช สมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีพระราชดำรัสว่า เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ให้เจ้าฟ้าอภัย ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองขึ้นครองราชย์ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าพรกับเจ้าฟ้าอภัย จึงได้แย่งราชสมบัติกัน ที่สุดเจ้าฟ้าพรได้ขึ้นครองราชย์
               ในรัชสมัยของพระองค์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองมหาชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๒๖๔ เพื่อเชื่อมต่อแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ต่อจากที่ขุดค้างไว้จนเสร็จ และได้ขุดคลองเกร็ดน้อย ซึ่งเป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณลัดคุ้งปากคลองบางบัวทอง ปัจจุบันคือปากเกร็ด
               ในด้านการต่างประเทศ มีการส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีนถึงสี่ครั้ง ทำให้การค้าขายระหว่างไทยกับจีน ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
               ในปี พ.ศ.๒๒๔๔ เกิดความวุ่นวายในเขมร อันเนื่องจากการแย่งราชสมบัติกัน เจ้าเมืองละแวก ขอเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ส่วนพระแก้วฟ้าผู้เป็นอนุชาฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายญวน ซึ่งพยายามแผ่อำนาจเข้าไปในเขมร พระองค์ได้ส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าไปถึงเมืองอุดรมีชีย ราชธานีของเขมร และได้เกลี้ยกล่อมให้พระแก้วฟ้ากลับมาอ่อนน้อมต่อไทย  เขมรจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของไทยเช่นแต่ก่อน
               สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ พระชนมายุได้ ๕๔ พรรษา ครองราชย์ได้ ๒๕ ปี



    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ พระนามเดิม เจ้าฟ้าพร เป็นพระอนุชา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ นอกจากนั้นพระองค์ยังมีพระนามอื่นตามที่ปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์คือ สมเด็จพระรามาธิบดินทร ฯ สมเด็จพระรามาธิบดี ฯ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุธรรมราชา ฯ และสมเด็จพระบรมราชา ทางฝ่ายพม่าเรียกว่า พระมหาธรรมราชา
               ในรัชสมัยของพระองค์พุทธศาสนาเฟื่องฟูมาก พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งในกรุงศรีอยุธยาและในบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดป่าโมก วัดหันตรา วัดภูเขาทอง และวัดพระราม  โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมเศียรพระประธานวัดมงคลบพิตร ที่ชำรุดอยู่ ทรงให้ความสำคัญในการศึกษาทางพุทธศาสนาเป็นพิเศษ ผู้ที่ถวายตัวเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว
               ในปี พ.ศ.๒๒๙๖ พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ทรงทราบกิตติศัพท์ว่าพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองมาก จึงได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งเสื่อมโทรมลงไป เนื่องจากกษัตริย์ลังกาองค์ก่อน หันไปนับถือศาสนาพราหมณ์ และทำลายพุทธศาสนา จนกระทั่งไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่ในลังกา สมเด็จพระเจ้าบรมโกษ จึงโปรดให้ส่งคณะสมณทูตประกอบด้วยพระราชาคณะสองรูปคือ พระอุบาลี และพระอริยมุนี พร้อมคณะสงฆ์อีก ๑๒ รูป ไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชา อุปสมบท ให้กับชาวลังกา คณะสงฆ์คณะนี้ได้ไปตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้นในลังกา หลังจากที่ได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา เป็นเวลาเจ็ดปีแล้ว คณะสงฆ์คณะนี้บางส่วนได้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๓
               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ พระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา ครองราชย์ได้ ๒๖ ปี



    สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

               สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เป็นพระราชโอรสองค์รองในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิมเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนพรพินิต มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) หลังจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๙ แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มิได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใด ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๐๐ จึงทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยทรงเห็นว่าทรงพระปรีชา มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด
               เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ สวรรคต เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่ก่อนหน้าที่จะมีพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบและพระอนุชาต่างพระมารดาสามองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ได้พยายามแย่งชิงราชสมบัติ แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงขอให้พระราชาคณะเกลี้ยกล่อมจนสำเร็จ และพระองค์ได้ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์
               เมื่อพระองค์ครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ ก็ทรงสละราชย์สมบัติแล้ว ถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นพระเชษฐา แล้วพระองค์เสด็จออกผนวช โดยประทับอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม



    สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)

               พระเจ้าเอกทัศน์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิม เจ้าฟ้าเอกทัศน์ ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนอนุรักษ์มนตรี
               หลักจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี แสดงพระองค์ว่าต้องการขึ้นครองราชย์ และเสด็จเข้าประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ยอมสละราชสมบัติถวายพระเชษฐาและเสด็จออกผนวช เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงเสด็จขึ้นครองราชย ์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชามหาดิศร ฯ แต่คนส่วนใหญ่มักขานพระนามว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาบรินทร และพระเจ้าเอกทัศน์
               ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๓ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวช ออกมาช่วยบัญชาการรบ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ที่ยกทัพมาได้รับบาดเจ็บจากปืนใหญ่ ต้องยกทัพกลับ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง
               ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ โอรสพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง ปีกับสองเดือน ก็เข้าตีพระนครได้ เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ ตรงกับวันอังคาร ขึ้นเก้าค่ำ เดือนห้า ปีกุน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้วัดสังฆาวาส ต้องอดอาหารกว่า ๑๐ วัน และเสด็จสวรรคต เมื่อพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิสามต้น พม่าได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ หน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร


    • Update : 15/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch