หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ประเทศเพื่อนบ้านของไทย- ประเทศญี่ปุ่น

    ประเทศญี่ปุ่น

                ประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่เกือบสุดภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค และใกล้กับฝั่งตะวันออกของทวีปเอเซีย ประกอบด้วยเกาะใหญ่ ๆ ๔ เกาะ ที่สำคัญคือ เกาะฮอนชู (ใหญี่ที่สุด) เกาะฮอกไกโด เกาะชิโกกุ และเกาะคิวชู ทางเหนือสุดอยู่ห่างจากเกาะชัคคาลินของสหภาพโซเวียตรัสเซียประมาณ ๔๕ กิโลเมตร โดยมีช่องแคบโชมาคั่นกลาง และส่วนที่อยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเซียที่สุดคือ อยู่ห่างจากแหลมเกาหลีใต้ ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร เกาะคิวชู อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ
                นอกจากเกาะสำคัญ ๔ เกาะ ดังกล่าวแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังมีเกาะอื่น ๆ อีกประมาณ ๓,๙๐๐ เกาะตั้งอยู่เป็นแนวยาวตามฝั่งตะวันออกของทวีปเอเซีย ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๗๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ลักษณะของหมู่เกาะเป็นแนวโค้งของวงกลม ยาวจากเหนือจรดใต้ ประมาณ ๓,๘๐๐ กิโลเมตร
                เกาะใหญ่ที่สุดคือเกาะฮอนชู เป็นที่ตั้งของกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น โยโกฮามาเป็นท่าเรือ และเมืองท่าที่สำคัญ เกียวโตเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และบริเวณเมืองโอซากา - โกเบ เป็นศูนย์กลางทางการพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่สำคัญ
    ลักษณะภูมิประเทศ
                พื้นที่ประมาณร้อยละ ๗๐ ของประเทศเป็นภูเขา พื้นที่ประมาณร้อยละ ๑๔ เป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูก ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ ๑๖ เป็นพื้นที่อื่น ๆ
                ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีภูเขาไฟมาก และยังมีภูเขาไฟทยังคุกรุ่นอยู่ร้อยละ ๑๐ ของจำนวนภูเขาไฟในโลก ยังมีภูเขาไฟที่ยังนคุกรุ่นอยู่ ๖๗ ลูก ภูเขาไฟฟูจิ เป็นภูเขาที่สูงที่สุด (๓,๗๗๖ เมตร) ของญี่ปุ่น เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ได้ระเบิดครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๐
                โดยทั่วไปลักษณะภูมิประะทศของญี่ปุ่น มีทิวทัศน์อันสวยงาม และน่ามหัศจรรย์เช่น ทะเลสาบบนภูเขา ซึ่งมีหิมะปกคลุม ช่องแคบที่เต็มไปด้วยโขดหิน และแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว ยอดเขาสูงชัน และน้ำตกที่สวยงาม
                    เกาะฮอนชู  เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีพื้นที่ประมาณ ๒๓๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเทือกเขาทอดตัวเป็นแนวยาวตลอดความยาวของเกาะ เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชินาโนะ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของประเทศ ยาวประมาณ ๓๗๐ กิโลเมตร
    ประชากรและสังคม

                หมู่เกาะญี่ปุ่น เป็นแหล่งที่ได้รับอารยธรรมของโลกโบราณค่อนข้างช้ากว่าที่อื่น แม้ว่าจะมีการพบเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดของโลกก็ตาม
                ประวัติความเป็นมาของประชากรญี่ปุ่นเชื่อกันว่า เมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว มีเทพบุตร และเทพธิดา ชื่ออิซานากิ และฮิซะนะมิ ทั้งสองได้ให้กำเนิดเกาะญี่ปุ่นขึ้นมาก่อน แล้วจึงเกิดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และเทพยดาต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ต่อจากนั้นก็เกิดบุตรหลานสืบต่อมาเป็นชาวญี่ปุ่นได้ทุกวันนี้ ส่วนดวงอาทิตย์ก็เชื่อว่า เป็นต้นวงศ์ของพระจักรพรรดิ์ พระจักรพรรดิ์ผู้เป็นโอรสพระอาทิตย์ก็ได้ปกครองญี่ปุ่นตลอดมา
                คนญี่ปุ่นถือว่าตนเองเป็นเทวดาโดยชาติกำเนิด และเมื่อญี่ปุ่นถือว่าเป็นเมืองเทวดาเรียกว่า ชิงโกกุ หรือกามิโนะกุนิ แปลว่าดินแดนแห่งเทวดา ด้วยเหตุนี้ความเชื่อดังกล่าวคนญี่ปุ่น จึงถือว่าตนเองประเสริฐกว่าชนชาติอื่นใดในโลก
                เรื่องราวที่ชัดเจนเกี่ยวกับญี่ปุ่นในสมัยแรกได้มาจากบันทึกของจีน ในปี พ.ศ.๘๔๓ ได้กล่าวว่าคนญี่ปุ่นมีการแบ่งชนชั้นอย่างเด่นชัด มีอาชีพทางกสิกรรมและประมง คนญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่าร้อยเผ่าพันธุ์ มีหัวหน้าเผ่าซึ่งมีสถานภาพกึ่งศาสนาทั้งชายและหญิง ได้มีการกล่าวถึงดินแดนราชินี ซึ่งมีอำนาจเหนือดินแดนอื่น
                เมื่อประมาณปี พ.ศ.๗๔๐ ญี่ปุ่นเริ่มถูกรุกรานจากคาบสมุทรเกาหลีหลายครั้ง ทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากเกาหลี อีกหลายศตววรรษต่อมาความั่งคั่ง และอำนาจได้ตกอยู่ในมือของกลุ่มขุนนางทหาร ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยเผ่าพันธุ์กึ่งอิสระที่เรียกว่า อุจิ ซึ่งมีความผูกพันกับกลุ่มตระกูลผู้นำยะมะโตะ อุจิต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็มีหัวหน้า และศาลเจ้าเป็นที่สักการะบูชาของตน
                จากหลักฐานทางมานุษย์วิทยา และนักโบราณคดี มีข้อสันนิษฐานว่า พื้นที่เกาะญี่ปุ่นนั้นเดิมมีชนชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่เรียกว่า ชาวไอนุ ต่อมาเมื่อประมาณสองพันปีที่ผ่านมา ได้มีชนชาติอื่นอพยพเข้ามาพวกหนึ่งคือ พวกมงโกล ซึ่งอพยพผ่านประเทศจีน และเกาหลี อีกพวกหนึ่งเป็นชาวเมืองร้อน อพยพมาจากอาเซียอาคเนย์ ทั้งสองพวกเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในเกาะญี่ปุ่นผสมกับพวกไอนุ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิม ปรากฎว่ามีชนเผ่าเกาหลีมากกว่าชนเผ่าอื่น และต่อมาได้ปราบชนเผ่าอื่นไว้ในอำนาจ ชนกลุ่มนี้เคยอยู่ใกล้จีน จึงได้รับวัฒนธรรม และระบบต่าง ๆ ในสังคมจีนไว้มาก ที่สำคัญคือ การถือแซ่และการสืบแซ่
                เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๓๔๐ คนพวกนี้ได้เข้าครอบครองญี่ปุ่น โดยแต่ละแซ่ก็สร้างบ้านเมืองขึ้นครอง แต่ละเมืองมีผู้สืบตระกูลเป็นหัวหน้าแซ่ปกครอง มีศาลเจ้าประจำแซ่อยู่ทุกเมือง คนที่อยู่ในชนชั้นปกครองสมัยนั้นคือ ผู้ถืออาวุโส มีอาชีพทางรบพุ่งเป็นนักรบ ต่อมามีอิทธิพล และอำนาจในสังคม และการปกครองของญี่ปุ่นมายาวนาน เรียกกันต่อมาภายหลังว่า ซามูไร
                บรรดาแซ่ต่าง ๆ มีแซ่หนึ่งแรกเริ่มตั้งอยู่ในเกาะคิวชู ได้อพยพเคลื่อนย้าย มาตั้งทำมาหากินอยู่บนพื้นที่ราบยามาโต ในเกาะฮอนชู อันเป็นเกาะกลางและใหญ่ที่สุด ต่อมาได้ขนานนามแซ่ของตนว่ายามาโต ซึ่งเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์ก็เจริญรุ่งเรืองมีผู้คนมากกว่าแซ่อื่น ๆ ในที่สุดก็เป็นที่นับถือว่าเป็นใหญ่ในเกาะญี่ปุ่นภาคกลางและตะวันตก ตลอดจนในเกาหลีภาคใต้ จากหัวหน้าแซ่ยามาโต ผู้ได้เป็นใหญ่ในบรรดาหัวหน้าแซ่ทั้งปวงนั้น ราชวงศ์ญี่ปุ่นก็ได้เกิดขึ้น และได้ครองญี่ปุ่นสืบต่อกันมาเป็นเวลาสองพันปีเศษ ถือเป็นการเริ่มต้นของชาติญี่ปุ่น
                คุณลักษณะประชากร คนญี่ปุ่นเป็นนักธรรมชาติ มีความทรหดอดทน ขยันหมั่นเพียร มีความเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยทั่วไปชาวญี่ปุ่นเป็นคนมีไหวพริบดี ว่องไว คบคนง่าย ชอบหาสิ่งใหม่ ๆ แต่มีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย สงบ แต่มีความกล้าหาญ เพื่อความรุ่งโรจน์แห่งจักรวรรดิ์ของเขาเอง
                จากการที่ญี่ปุ่นได้รับความเจริญทางวัฒนธรรมมาจากเกาหลีและจีนเป็นส่วนใหญ่ จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อแนวความคิด และการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่น
                ลักษณะที่เด่นชัดของชาวญี่ปุ่นคือ การมีพื้นฐานของการอยู่อย่างโดดเดี่ยว การมีทักษะในการร่วมทำงานเป็นกลุ่ม การให้ความสำคัญในการศึกษา การยึดมั่นในหลักของลัทธิขงจื้อ ซึ่งญี่ปุ่นได้นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ดังจะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่น จะมีลักษณะเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างจริงจัง มีระเบียบวินัย
                จากความเคยชินที่มีรากฐานโดดเดี่ยว ประกอบกับอิทธิพลของลัทธิเซ็น มีผลทำให้ไม่นิยมการแสดงออกอย่างกระจ่างในด้านความคิดและคำพูด คนญี่ปุ่นจะมีการรวมตัวในกลุ่มเดียวกันอย่างเหนียวแน่น การตัดสินใจมักจะต้องเป็นการตัดสินใจของคนระดับสูง กล่าวกันว่าชาวญี่ปุ่นใช้เวลานานมาก ในการตัดสินใจแต่จะใช้เวลาสั้นมาก ในการปฎิบัติงานที่ได้ตัดสินใจแล้ว
                การตั้งถิ่นฐาน  ลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ เป็นข้อจำกัดทำให้การตั้งถิ่นฐานของประชากรส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีประชากรเกิน ๕๐๐,๐๐๐ คน จะอยู่ทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งมีอากาศดักว่าด้านทะเลญี่ปุ่น
                ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ ๑๒๒ ล้านคน ประกอบด้วยชาวญี่ปุ่นและชาวไอนุ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของเกาะญี่ปุ่น นอกนั้นเป็นชนชาติอื่นเป็นส่วนน้อย ได้แก่ จีน และเกาหลี
                ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นประมาณร้อยละ ๗๘ อาศัยอยู่ในตัวเมือง โดยมีประชากรประมาณร้อยละ ๕๘ ของจำนวนผู้ที่อาศัยในตัวเมืองแออัดอยู่ในนครใหญ่ ๆ ๔ แห่ง คือ โตเกียว โอซากา นาโอยา และคิตะคิวชู กับจังหวัดรอบนครใหญ่ดังกล่าวอีก ๑๖ จังหวัด
                เมืองโตเกียว มีประชากรมากที่สุดถึงประมาณ ๑๒ ล้านคน ส่วนอีก ๑๐ เมือง ที่มีประชากรมากกว่า ๑ ล้านคน ได้แก่ โยโกฮามา โอซากา นาโงยา ซับโปโร เกียวโต โกเบ ฟุคุโอะกะ และฮิโรชิมา ตามลำดับ จำนวนประชากรญี่ปุ่นนับว่ามีความหนาแน่นมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

                ศาสนาและลัทธิ  การศาสนาในญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญมากนัก ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ศาสนาเคยมีบทบาทในญี่ปุ่นพอ ๆ กับในสังคมของชาวตะวันตก แต่แนวโน้มที่คนหันมาสนใจในเรื่องทางโลกอย่างเดียว ดังที่ปรากฎในสังคมชาวตะวันตกในระยะหลังนั้น ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อประมาณสามศตวรรษมาแล้ว
                การสนใจและย้ำชีวิตทางโลกของสังคมชาวญี่ปุ่นเป็นผลมาจาก พื้นฐานของปรัชญาขงจื้อ ซึ่งทั้งจีนและเกาหลีได้รับผลอันนี้มาก่อน ลัทธิขงจื้อเน้นที่ความเป็นระเบียบ อย่างมีเหตุผลของธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ระเบียบของสังคมเป็นสิ่งที่วางอยู่บนศีลธรรมอันเคร่งครัด และเชื่อมโยงขึ้นไปเป็นรัฐ ซึ่งปกครองโดยผู้รู้ที่มีจริยธรรมสูง ลัทธิขงจื้อไม่เชื่อในเรื่องเทพเจ้าไม่มีนักบวช และมีพิธีกรรมทางศาสนาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีการกราบไหว้บูชา มีแต่การคิดที่ถูกต้อง และการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง ที่แสดงออกโดยการมีความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา เคร่งครัดในประเพณีและมรรยาทอันเหมาะสม
                การเน้นความสำคัญของประวัติและด้านอื่น ๆ ของลัทธิขงจื้อ เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นรับมาจากจีน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แต่ก็ถูกบดบังด้วยพุทธศาสนา จนกระทั่งถึงยุคที่มีการรวมศูนย์อำนาจภายใต้ระบบโตกุงาวะ ในพุทธศตรรษที่ ๒๒ ลัทธิขงจื้อจึงมีอิทธิพลขึ้นมาชัดเจนกว่าแต่ก่อน นับแต่นั้นมาปรัชญาขงจื้อก็ครอบงำความคิด และทัศนคติของคนญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๔ คนญี่ปุ่นนับถือลัทธิขงจื้อมากมาย เช่น คนจีน คนเกาหลี ทั้ง ๆ ที่มีระบบการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับลัทธิเลย
                ในพุทธศตรรษที่ ๒๕ อันเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามของชาวตะวันตก รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกการศึกษาลัทธิขงจื้อ แล้วหันมาเน้นการศึกษาวิทยาศาสตร์และการแพทย์ แต่ยังคงมีในประกาศนโยบายการศึกษาของรัฐบาลในปี พ.ศ.๒๔๓๓ โดยเน้นเรื่องหลักความสัมพันธ์ตามลัทธิขงจื้อ และหน้าที่ของประชาชนต่อจักรพรรดิ์เท่านั้น
                ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ยังมีค่านิยมแบบขงจื้อหลงเหลืออยู่โดยทั่วไป และมีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นมากกว่าศาสนา หรือปรัชญาอื่น ๆ สิ่งที่ลัทธิขงจื้อมีแฝงอยู่คือ ความเชื่อเกี่ยวกับคุณธรรมของรัฐบาล การย้ำความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความจงรักภักดี ตลอดจนความเชื่อมั่นในการศึกษา และการทำงานหนัก
                    ศาสนาพุทธ  ชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาพุทธพอ ๆ กับศาสนาคริสต์ นิกายของศาสนาพุทธที่แพร่มายังเอเชียตะวันออกคือ นิกายมหายาน ซึ่งแตกต่างจากนิกายเถรวาท ที่แพร่หลายอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และศรีลังกา
                    พุทธศาสนานิกายมหายาน ในญี่ปุ่นได้แตกแขนงออกไปสามนิกายใหญ่ นิกายแรกเกิดในศตวรรษที่ ๙ เป็นพุทธศาสนาที่จำกัดอยู่เฉพาะหมู่คนส่วนน้อย นิกายนี้เน้นทั้งคำสอน และพิธีกรรม รวมทั้งการแสดงออกทางศิลปะ นิกายที่สอง เกิดหลังนิกายแรก ประมาณหนึ่งศตวรรษ ย้ำถึงความหลุดพ้นโดยอาศัยศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศรัทธาในพระอะมิดะ หรือพระพุทธเจ้าอันสถิตอยู่ ณ แดนสุขาวดี อันเป็นสวรรค์ทางทิศตะวันตก หรือศรัทธาในปุณฑริกสูตร (สูตรดอกบัว)  อันเป็นพุทธปณิธานที่ทรงสัญญาว่า จะช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ นิกายนี้เป็นที่มาของนิกายแห่งแดนสุขาวดี (โจโดชุ)  ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ นิกายแห่งแดนสุขาวดีอันแท้จริง (ชินชุ) และนิกายนิชิเร็น ปัจจุบันเป็นนิกายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สำหรับนิกายที่สาม เน้นการหลุดพ้นด้วนตนเอง โดยการฝึกฝนตนเองด้วยการทำสมาธิ นิกายนี้คือ นิกายเซ็น ซึ่งได้แบ่งออกเป็นสองนิกายย่อย ซึ่งรับมาจากจีนเมื่อปี พ.ศ.๑๗๓๔ และ พ.ศ.๑๗๗๐ ได้แก่ นิกายที่เน้นการนั่งสมาธิ (ซาเซน) กับนิกายที่เน้นการฝึกปัญญาด้วยวิธีตั้งปัญหาให้ขบคิด (โคอัน) วิธีการเหล่านี้ถือว่าสามารถนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ด้วย การบรรลุธรรมโดยฉับพลัน (ซาโตริ) และเป็นการพัฒนาบุคคลิกภาพอีกด้วย
                    กล่าวกันว่า พุทธศาสนาที่ญี่ปุ่นเรียกว่า บุตสุโด ได้เข้าไปสู่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๙๕ เริ่มจากกษัตริย์แห่งเมืองกุดารา ในประเทศเกาหลี ได้ทรงขอให้จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นคือ พระเจ้ากิมเมจิ ส่งกองทัพไปช่วยปราบจลาจลในอาณาเขตของพระองค์ หลังจากนั้นก็ได้ส่งพระสูตร และพระพุทธรูปมาเป็นธรรมบรรณาการ ต่อมาภิกษุ และภิกษุณีในพระพุทธศาสนาก็ได้จาริกจากประเทศเกาหลี ไปประกาศพระศาสนาในประเทศญี่ปุ่น จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นมีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ให้ขุนนางเผยแผ่ศาสนาออกไป เริ่มแรกก็มีผู้ขัดขวางพอสมควร จนต่อมาอีกประมาณ ๕๐ ปี ในสมัยของพระนางสุอิโกะ ผู้ดำรงตำแหน่งพระจักรพรรดิ  เจ้าโชโตกุซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ปลูกฝังพระพุทธศาสนาลงในราชสำนักญี่ปุ่น และในประเทศญี่ปุ่นอย่างมั่นคง ซึ่งในสมัยนั้น พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น มีเพียงนิกายเดียวคือมหายามิกะ หรือมหายานภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ชังรงชู
                    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สำคัญคู่เคียงกับศาสนาชินโต  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีชาวญี่ปุ่นนับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๘๔ ล้านคน
                    ศาสนาชินโตหรือลัทธิชินโต  เป็นลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นอันเกิดจากการนับถือธรรมชาติและการนับถือภูติผีในหมู่ ชาวญี่ปุ่นสมัยโบราณ ผู้ถือว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตลอดจนวิญญาณของคนตายเป็นเทพเจ้า ดังนั้น ชินโตหรือวิถีทางของคามิ (เทพเจ้า) จึงได้กลายมาเป็นศาสนาของชุมชน โดยมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้านและเทพผู้พิทักษ์ท้องถิ่น บรรดาวีรบุรุษและผู้นำที่ชุมชนยกย่อง ได้รับการบูชาอย่างเทพเจ้ามาหลายชั่วอายุคน  นิยายที่มีต้นกำเนิดเทพเจ้าของราชวงศ์อิมพีเรียล กลายมาเป็นหนึ่งในหลักคำสอนทางศาสนาขั้นพื้นฐานของศาสนาชินโต และในปี พ.ศ.๒๔๑๑ ศาสนาชินโตได้รับการนับถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติ
                    แม้ว่าศาสนาชินโตจะไม่สนใจในเรื่องชีวิตในชาติหน้าเหมือนศาสนาพุทธ แต่ศาสนาชินโตก็สามารถผสมผสานกับศาสนาพุทธได้อย่างราบรื่น โดยศาลเจ้าในศาสนาชินโต กับวัดในพระพุทธศาสนามัก มีการบริหารเชื่อมโยงกัน คนญี่ปุ่นสมัยก่อนมักนับถือทั้งพระพุทธศาสนา และศาสนาชินโต และบางทีก็นับถือลัทธิขงจื๊อไปด้วย
                    ผู้นำในยุคเมจิมีการต่อต้านพระพุทธศาสนามาก และหันไปบำรุงส่งเสริมศาสนาชินโต โดยพยายามสร้างระบบการปกครอง ที่มีศาสนาชินโตเป็นศูนย์กลาง
                    ลัทธิชินโตมีข้อกำหนดในเรื่องพิธีการ และการปฏิบัติตนตามธรรมเนียม ไม่มีการสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่บอกนรกสวรรค์ และไม่ชี้ทางแห่งการรอดพ้น แต่ผลโดยตรงทำให้เกิดภักดีสามชีพ คือภักดีต่อครอบครัว ภักดีต่อชุมชน และภักดีต่อรัฐอันแสดงออก ตรงองค์จักรพรรดิ ภายในครอบครัวพิธีไหว้ผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษเป็นสาระสำคัญที่สุดของลัทธิชินโต
                    เมื่อสังคมมีอำนาจมาก คนก็ต้องมีความภักดีอย่างเหนียวแน่นด้วยการแสดงออกถึงความภักดีต่อเจ้าเมือง ต่อจักรพรรดิ  ความภักดีเช่นนี้ นักรบจะมีมากที่สุด  สังคมญี่ปุ่นถือว่ามีเกียรติสูง จึงต้องรักษาไว้ให้มั่นคงด้วยประเพณีบูชิโด หมายถึง ทางแห่งนักรบ หมายถึงความกล้าหาญ เสียสละ พร้อมจะสละชีพแก่บ้านเมืองทุกเมื่อ นักรบเหล่านี้เรียกว่า ซามูไร
                    คริสตศาสนา  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๙๒ ได้มีบาทหลวงคณะเยซูอิด ชื่อฟรานซิส ซาเวียร์ ประกาศเผยแพร่คริสตศาสนาในญี่ปุ่นเจ้าเมืองเล็ก ๆ ในกิวชิวได้ให้การสนับสนุน และส่งเสริม เพราะเหตุว่าเมืองใดต้อนรับบาทหลวง ชาวโปรตุเกสก็จะมาค้าขายด้วย จึงทำให้หมู่บ้านคนหาปลาเล็ก ๆ กลายเป็นท่าเรือค้าขายที่สำคัญ  ต่อมาพวกขุนนางมากมายได้เข้ารีตนับถือคริสตศาสนากัน ประมาณว่าคนญี่ปุ่นเข้ารีตถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน
                    เมื่อฮิเดโยชิรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นได้ เห็นว่าคริสตศาสนาเป็นภัยต่อบ้านเมือง เพราะเป็นเครื่องชักจูงให้ฝรั่งเข้ามาเผยแพร่อิทธิพล และอาจยึดเอาญี่ปุ่นเป็นเมืองขึ้นได้ จึงประกาศห้ามไม่ให้นักสอนศาสนาเข้าเมือง ต่อมาอิเอะยาสุได้ครองประเทศญี่ปุ่น ก็เปลี่ยนนโยบายของฮิเดโยชิ โดยส่งเสริมให้นักสอนศาสนาชาวสเปน และพ่อค้าชาวสเปน ได้มาตั้งที่เมืองเอโดะ ต่อมาชาวอังกฤษ และชาวฮอลันดาก็มาติดต่อค้าขายโดยไม่ได้เผยแพร่ศาสนาด้วย อิเอยาสุเห็นว่า การค้าขายกับศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน จึงเริ่มปราบปรามศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นเป็นการใหญ่ จับบาทหลวงและผู้เข้ารีตไปฆ่าเป็นจำนวนมาก ทำให้คนญี่ปุ่นกลัวตาย เลิกนับถือคริสตศาสนา หรือไม่ก็หลบหนีไปอยู่ที่อื่น
                    ปัจจุบันมีผู้นับถือคริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ มากกว่านิกายโรมันคอธอลิกเล็กน้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ พวกโปรเตสแตนต์ได้จัดงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการสถาปนาศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีชาวญี่ปุ่นนับถือคริสตศาสนาประมาณ ๙ แสนคน
                    ลัทธิขงจื๊อ  ได้รับการยกย่องในญี่ปุ่น ในฐานะเป็นประมวลคำสอนทางด้านศีลธรรมมากกว่าการเป็นศาสนา ลัทธินี้แพร่เข้ามาสู่ญี่ปุ่น เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ และมีอิทธิพลต่อความคิด และการประพฤติของชาวญี่ปุ่นมาก
                การจัดลำดับชั้นของสังคม จากการที่ญี่ปุ่นได้มีลัทธิชินโดเป็นพื้นฐานสำคัญในสังคม ทำให้เกิดภักดีสามชีพขึ้นดังกล่าวมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ในชั้นแรก สังคมญี่ปุ่นจึงแบ่งออกเป็น "อุจิ" ต่าง ๆ ในบรรดาอุจินั้นต่างก็มีอำนาจปกครองตนเองเหมือนกับเป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งดำเนินไปโดยมีอำนาจสมบูรณ์  แต่ในบรรดาอุจิต่าง ๆ นั้นจะมีหัวหน้าอุจิหนึ่งมีอำนาจมากกว่า และถือว่าตนสืบพงศ์พันธุ์มาจากพระอาทิตย์ ได้รับการยกย่องให้มีฐานะพิเศษคือ มีฐานะเป็นตัวแทนอุจิอื่น ๆ ในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนรวม ซึ่งย่อมหมายถึงมีอำนาจสิทธิของประมุขแห่งศาสนาด้วย
                ประการที่สองหัวหน้าอุจิพระอาทิตย์มีฐานะเป็นผู้ตัดสินกรณีพิพาทระหว่างอุจิ เป็นผู้ตั้งหัวหน้าอุจิอื่น ในกรณีที่ไม่มีผู้สืบตระกูล เป็นผู้ตั้งอุจิใหม่และสั่งเลิกอุจิใด ๆ ที่กระทำความผิดเป็นภัยต่ออุจิทั้งปวง ฐานะหลังนี้ย่อมหมายถึงลัทธิอำนาจของผู้พิพากษาตุลาการอันสูงสุดในแผ่นดิน จึงย่อมหมายความว่าจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นในระยะแรก ได้มีพระราชอำนาจตามที่กล่าวมา ต่อมาอุจิวงศ์พระอาทิตย์ ได้แผ่ขยายเขตกว้างขวางออกไป ประกอบกับอิทธิพลการปกครองของฮ่องเต้แห่งกรุงจีน ทำให้ได้แบบอย่างจึงได้เปลี่ยนฐานะไปเป็นจักรพรรดิ์ และเทวราชโดยสมบบูรณ์
                จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมีความผูกพันกันทางสายโลหิต ทำให้คนเคารพเชื่อฟังซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกในชาติเดียวกัน มีความเคารพบูชาต่อจักรพรรดิ์ ทำให้ญี่ปุ่นมีความเชื่อฟังพระราชกำหนดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นความประสงค์ของจักรพรรดิ์ ดังนั้นจักรพรรดิ์จึงเป็นผู้อยู่สูงสุด และเป็นแก่นแห่งสังคมญี่ปุ่น
                    ชนชั้นกุเงะ  เป็นชนชั้นรองลงมาจากจักรพรรดิ์  ซึ่งถือว่าเป็นตระกูลมาจากอดีตจักรพรรดิ์ หรือเทพยดาต่าง ๆ ในสมัยเมจิกล่าวว่ามีตระกูลผู้ดีอยู่ประมาณ ๑๕๕ ตระกูล และยังมีมาถึงปัจจุบันอีกมากเช่น ตระกูลนากาโตมิ ฟูจิวาระ ตาอิระ และตระกูลมินาโนโตะ เป็นต้น
                    ชนชั้นนุเกะ  เป็นชนชั้นรองลงมาจากชนชั้นกุเงะ เป็นชนชั้นนักรบ มีชื่อเรียกหลายอย่างเช่น ซามุราฮิ หรือซามุไร ชนชั้นนี้มีลำดับศักดิ์ของตนเอง เป็นนายทหารผู้ใหญ่ และรอง ๆ ลงไปจนถึงนักรบชั้นผู้น้อย ทั้งนี้โดยอาศัยตำแหน่ง และทรัพย์ว่าสูงต่ำกว่ากัน ในยุคแรก ๆ จักรพรรดิ์ได้แต่งตั้งนายทหารผู้ใหญ่ และมีอำนาจ มีคนเคารพนับถือ เป็นหัวหน้าปกครองเรียกว่า โชกุน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดสมัยหนึ่ง
                    ชนชั้นสามัญ  แบ่งออกได้เป็นสามชนชั้นคือ ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า
                        ชาวนา  ได้รับการยกย่องว่าเป็นชนชั้นสามัญที่สูงสุด รองจากนักรบคือ ซามูไร แต่ในความเป็นจริงแบ่งได้ยากมาก เพราะซามูไรจำนวนไม่น้อย ที่มีอาชีพทำนา ในยามสงบ และมีชาวนาที่มีฝีมือในการใช้อาวุธ สามารถออกรบได้ในยามสงคราม สำหรับซามูไรได้สิทธิสะพายดาบได้สองเล่ม และได้รับการยกเว้นภาษีอากร ซึ่งชาวนาก็มีสิทธิเช่นกัน แต่ไม่มากเท่า
                        ช่างฝีมือ ได้แก่ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างทอ ช่างหม้อ ฯลฯ ช่างตีดาบซึ่งอยู่ในประเภทช่างเหล็ก จะได้รับการยกย่องมากที่สุด เพราะดาบเป็นของจำเป็นสำหรับนักรบ ช่างตีดาบบางคนได้รับการยกย่องเทียบเท่าเจ้าเมือง หรือ "กามิ" และได้รับการอุปถัมภ์จากผู้อยู่ในตระกูลสูงของสังคมคือ จักรพรรดิ์ และขุนนางตลอดจนนักรบทั่วไป
                        พ่อค้า  ชาวญี่ปุ่นโบราณกล่าวว่าพ่อค้าเป็นชนชั้นต่ำสุด การหาเงินโดยการซื้อถูกขายแพงเป็นอาชีพที่ไร้เกียรติ
                        ยังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกสังคม และถือว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่นคือพวก "โอริ" หรือ "เอดะ" เทียบได้กับพวกจัณฑาลในอินเดีย ชาวญี่ปุ่นถือว่าคนพวกนี้อพยพมาจากที่อื่น จึงไม่ยอมรับ คนเหล่านี้ได้ทำงานเลี้ยงชีพที่ชาวญี่ปุ่นรังเกียจหรือถือว่าเป็นงานต่ำคือ งานสัปเหร่อ ขุดหลุมฝังศพ ขุดบ่อน้ำ กวาดถนน ทำรองเท้า (เกี๊ยะ) ฟอกหนังสัตว์ หรือเป็นเพชฆาต คนเหล่านี้จะตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลจากสังคมชาวญี่ปุ่น มีหัวหน้าปกครองคนในกลุ่ม
                        บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่พวกขอทาน ละคอน หญิงโสเภณี พวกนี้ถูกกันออกจากสังคม เพราะประพฤติผิดธรรมเนียม ไม่มีสิทธิธรรมฮาราคีรี ไม่มีใครสังคมด้วย เรียกว่า พวก"ฮินัน"
                        บุคคลกลุ่มสุดท้ายคือ สมณะ ซึ่งหมายถึงสมณะในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก พระสงฆ์ในญี่ปุ่นแยกกันเป็นหลายนิกาย รวมกันไม่ติด ต่างฝ่ายก็ปกครองด้วยกันเองโดยเจ้าคณะ หรือสมภาร พระสงฆ์ญี่ปุ่นในสมัยแรก ๆ ปกครองแบบทหาร ถืออาวุธ และออกทำสงครามระหว่างนิกาย และบางครั้งก็เกิดศึกระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส
                    การเปลี่ยนแปลงยกเลิกชนชั้น  ในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ยกเลิกการปกครองแบบโชกุน โดยได้ถวายเมืองคืนให้จักรพรรดิ์ และยังคงให้เจ้าเมืองได้รับเงินเดือนในอัตรา ๑ ใน ๑๐ ของส่วยอากรที่เคยเก็บได้ในเมืองนั้น ๆ
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ได้จัดตั้งระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค โดยแบ่งประเทศออกเป็นจังหวัดต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการปกครอง โดยกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งพระยากินเมือง หรือไดเมียว พวกนี้เข้ารับราชการบ้าง รวบรวมทุนเป็นพ่อค้าบ้าง จักรพรรดิ์ได้ตั้งทำเนียบขุนนางขึ้นใหม่แบบชาวตะวันตก และให้ขุนนางเก่ารับฐานันดรศักดิ์ และบรรดาศักดิ์ตามธรรมเนียมใหม่ ตามลำดับสูงต่ำที่ครองเมือง เมืองเล็กเมืองใหญ่ บางคนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้า
                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ - ๑๖ จักรพรรดิ์ให้มีการฝึกทหารแบบชาวตะวันตก เริ่มมีการเกณฑ์ทหาร โดยได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์จากชนชั้นชาวนา และคนในเมืองที่มิใช่ซามูไรมาเป็นทหาร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๙ ก็ได้ยกเลิกการจ่ายเบี้ยหวัด และยกเลิกสิทธิต่าง ๆ ของซามูไร เป็นการสิ้นสุดภาวะของซามูไร นับเป็นการสิ้นสุดชนชั้นในสังคมญี่ปุ่น

    พัฒนาการทางวัฒนธรรม

               ต้นกำเนิดวัฒนธรรมญี่ปุ่น  วัฒนธรรมของจีนซึ่งมีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น มีส่วนสร้างวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ดีขึ้น โดยญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมจากจีน โดยผ่านมาทางคาบสมุทรเกาหลีในสมัยนั้น วัฒนธรรมจีนเป็นวัฒนธรรมผสมกับวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา ที่จีนได้รับเป็นมรดกมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังมีวัฒนธรรมของอิหร่านซึ่งมาจากเอเซียกลาง วัฒนธรรมกรีกและอื่น ๆ ทางเอเซียภาคเหนือ ต่อมายังมีวัฒนธรรมของอาณาจักรบอกไก ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตจากแมนจูเกาปัจจุบัน จนจรดภาคเหนือของเกาหลีและดินแดนชายฝั่งทะเลจีนภาคเหนือ
                นอกจากนี้ยังได้รับวัฒนธรรมของชาติทางรัสเซียภาคใต้ ของคันธาระ ภาคเหนือของอัฟกานิสถาน อันเป็นวัฒนธรรมพุทธผสมกับวัฒนธรรมกรีกอีกด้วย
                ดังนั้นประเทศยี่ปุ่นจึงมีวัฒนธรรมทั้งฝ่ายตะวันออก และตะวันตกมาผสมผสานกันทั้งของเก่าและของใหม่ ลักษณะสำคัญยิ่งของญี่ปุ่นประการหนึ่งคือ สามารถดำรงรักษาวัฒนธรรมอันดีต่าง ๆ ชนิดได้เป็นเวลาช้านาน วัฒนธรรมของทุกชาติ และทุกกาลสมัยได้รับการตกแต่งโดยญี่ปุ่นอย่างดี ทำให้ผสมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ด้วยการแก้ไขวัฒนธรรมเหล่านั้นให้เข้ารูปเข้ารอยกับญี่ปุ่น
                กล่าวกันว่าเจ้าชายโชโตกุ ตาอิริ เป็นจักรพรรดิ์ที่เอาพระทัยใส่ในวัฒนธรรมโบราณของญี่ปุ่นเป็นอันมาก ได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนา สร้างพระพุทธรูป และวัดวาอารามมากมาย จนทำให้ญี่ปุ่นได้อยู่ในยุคทองของวัฒนธรรมตลอดเวลาเกือบ ๒๐๐ ปี ยุคดังกล่าวคือ ยุคนารา นั่นเอง
                การพัฒนาวัฒนธรรมญี่ปุ่น  ชาวญี่ปุ่นสามารถสร้างวัฒนธรรมของตนเองจากวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ โดยที่พยายามคงรูปเดิมเอาไว้ เช่นพระไตรปิฎก ฉบับดั้งเดิมทั้ง ๑๘ ตอนนั้นยังมีอยู่ในญี่ปุ่น และยังได้พิมพ์เพิ่มเป็น ๓๐ ตอน พระสูตรบางฉบับซึ่งหาไม่พบในประเทศจีนก็ยังมีอยู่ในญี่ปุ่น
                ในสมัยนารา ได้มีงานสำคัญ ๆ ทางวรรณกรรมเกิดขึ้นมาก เช่น ชุมนุมคำประพันธ์ของจีน ซึ่งกวีญี่ปุ่นได้จัดทำขึ้น ตัวอักษรญี่ปุ่นที่เรียกว่า "คะนะ" ก็ได้คิดขึ้นในยุคนี้ ถือได้ว่าเป็นภาษากลางที่ทำให้ประชาชนเข้าใจความคิดเห็นมากขึ้น
                    ยุคคามากุระ  เป็นยุคที่ทหารมีอำนาจ จึงเป็นเหตุให้มีวัฒนธรรมอย่างใหม่เช่น ศิลปวรรณคดี สมัยฟูจิวาระ ที่สร้างขึ้นก่อนหน้านี้เป็นศิลปในวงแคบ แต่วัฒนธรรมคามากุระที่เกิดขึ้นใหม่นี้ เป็นวัฒนธรรมที่มีธาตุของนักรบที่อยู่ในชนบท พอใจในสงคราม นิยมการเสียสละและชีวิตที่ตรากตรำในสนามรบ พวกนักรบได้ส่งเสริมความภักดีต่าง ๆ และถือว่าการเสียสละโดยไม่มีขอบเขต เพื่อความภักดีเป็นเกียรติสูงสุด ลักษณะเหล่านี้ ได้กลายเป็นลักษณะมาตรฐานของคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ
                    ยุคมืดของญี่ปุ่น  เป็นยุคที่ถัดมาจากยุคคามากุระ บ้านเมืองระส่ำระสาย มีการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างผู้ปกครอง แต่ก็ปรากฎว่าศิลปะต่าง ๆ เช่นการก่อสร้าง ภาพเขียน ภาพปั้น ได้เจริญมากในช่วงนี้ โดยพุทธศาสนานิกายเซ็นเป็นผู้ส่งเสริม ทำให้มีอิทธิพลในการกำหนดแบบศิลปะต่าง ๆ  ได้มีการถ่ายเทศิลปะวัฒนธรรมจากจีน มาสู่ญี่ปุ่น แล้วดัดแปลงให้เป็นญี่ปุ่นมากขึ้น ละคอนญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ โดยนิกายเซ็นเป็นผู้ริเริ่มเพื่อสอนศาสนา การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น และพิธีกินน้ำชาก็เกิดจากนิกายเซ็นในสมัยนี้เช่นกัน
                    การนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น  ในปี พ.ศ.๒๐๘๐ ได้มีชาวโปรตุเกสเข้ามาสู่เกาะตาเนกาชิมา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะญี่ปุ่น และได้นำปืนไฟเข้ามาด้วย ต่อจากนั้นก็ตามเข้ามา
                    ในปี พ.ศ.๒๑๗๕ หนุ่มชาวญี่ปุ่นได้พบบาทหลวงในคริสตศาสนานิกายเยซูอิด เป็นชาวสเปน และได้มอบตัวเป็นศิษย์ ได้นำบาทหลวงผู้นั้นเข้าประเทศ เป็นเหตุให้คริสตศาสนาเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เจ้าผู้ครองนครได้เข้ารีตไปหลายคน วัฒนธรรมตะวันตกก็ตามเข้ามา เช่น การสร้างป้อมปราการ การต่อเรือ การสร้างโบสถ์ อนุสาวรีย์ และมีสินคัานำเข้ามากมายหลายชนิด มีเครื่องพิมพ์และวรรณคดียุโรป
                    จากการยึดนโยบายโดดเดี่ยวและปิดประเทศในสมัยโชกุนตระกูลโตกุกาวา ทำให้ญี่ปุ่นหยุดชะงักการรับสิ่งใหม่ ๆ จากโลกภายนอกไประยะหนึ่ง  แต่ในที่สุดก็ต้องเปิดประเทศ เป็นเหตุให้วัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกหลั่งไหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นมากมายในทุกเรื่อง
                    เพื่อเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงญี่ปุ่นให้อยู่ในสภาพสมสมัย รัฐบาลแห่งจักรพรรดิเมจิ ได้ทุ่มเทงบประมาณส่งคนที่มีสติปัญญาดี ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้นำกลับมาปรับปรุงญี่ปุ่นให้เข้าระเบียบใหม่โดยเร็ว และให้ชาวญี่ปุ่นเป็นชาวตะวันตกให้ได้มากที่สุด
                    วรรณคดี - วรรณกรรม  งานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดสองเรื่องของญี่ปุ่นซึ่งมีเหลืออยู่นั้นได้มีอิทธิพลอย่างมากจนถึงทุกวันนี้ เรื่องหนึ่งคือ โคจิกิ เป็นบันทึกเหตุการณ์โบราณเป็นบทร้อยแก้ว เชื่อว่าเขียนเมื่อปี พ.ศ.๑๒๕๕  อีกเรื่องหนึ่งคือ มันเนียวชู เป็นบทร้อยกรองต่าง ๆ รวบรวมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๓๑๓ เป็นนิพนธ์ ๔,๕๐๐ เรื่องของบุรุษสตรีหลายอาชีพ หลายวัยและหลายฐานะ
                    วรรณกรรมที่รวบรวมได้ในสมัยกลางของญี่ปุ่นคือ ชินโคคินชู รวมคำประพันธ์โบราณและสมัยใหม่ จากนั้นวรรณคดีตะวันตก ได้แปลออกเป็นภาษาญี่ปุ่น หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา งานวรรณกรรมของญี่ปุ่นก็ได้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศและได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ
                    ศิลปะ  ศิลปกรรมญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุดคงเหลือมาถึงปัจจุบันคือ รูปปั้นดินสมัยหินและรูปสลักหิน  สิ่งประดิษฐ์ต่อ ๆ มาได้แก่ รูปจำลองที่ฝังศพ ปั้นด้วยดินเหนียว ที่เรียกว่า ฮานิวะ ซึ่งขุดพบในสุสานโบราณ
                    การดื่มน้ำชาของญี่ปุ่นได้แบบอย่างการดื่มน้ำชาจากจีน การชงน้ำชาถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
                    ศิลปะการจัดดอกไม้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้หญิงญี่ปุ่นที่ต้องมีการเรียนการสอนกันอย่างแพร่หลาย
                    พระพุทธศาสนาได้ให้ความเจริญด้านประติมากรรม การสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ เช่น วัดใหญ่และมีพระพุทธรูปสวยงามอยู่ในเมืองนารา
                    ในสมัยตระกูลฟูจิวาระมีอำนาจ ลักษณะของประติมากรรมมีความประณีตมาก เกิดศิลปะแบบใหม่ขึ้นมามาก พระราชวังคัทสุระที่เมืองเกียวโตได้สร้างขึ้นในสมัยนี้
                    ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นระยะที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลตะวันตกไว้มาก บางครั้งผสมผสานจนเกิดเป็นศิลปะแบบใหม่
                    ดนตรี  ดนตรีแบบเก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่งที่ยังคงเล่นกันอยู่ในราชสำนัก และที่วัดชินโตบางวัด คือ "งะงักกุ" มีกำเนิดมาจากดนตรีจีน เป็นการผสมผสานดนตรีของเปอร์เซีย อินเดียและเกาหลี มีท่วงทำนองไพเราะ
                    เครื่องดนตรีที่เป็นแบบฉบับประจำชาติ ๓ ชนิดที่ใช้ทดแทนเครื่องดนตรีอื่น ๆ คือ ซามิเซน เป็นเครื่องดนตรีมีสามสาย คล้ายซอสามสาย ซากุฮาจิ เป็นเครื่องเป่า ลักษณะคล้ายขลุ่ย ทำด้วยไม้ไผ่  และโคโต รูปร่างเตี้ยยาว มีสาย ๑๓ สาย คล้ายขิม หรือจะเข้ของไทย ใช้เล่นประกอบละครคาบูกิ บุนระกุและบุโย (นาฏศิลป์โบราณ)
                    ซากุฮาจิ เดิมใช้เล่นเฉพาะนักบวชในพุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมกว้างขวางในหมู่ชาวต่างประเทศ ส่วนโคโตเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมทั่วไป
                    ต่อมาเครื่องดนตรีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับดนตรีตะวันตก โดยเริ่มนำไปสอนในโรงเรียนประถม
                    การละคร  ศิลปะการละครของญี่ปุ่นมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะมีลักษณะพิเศษ เช่น ละคร "โน" ที่มีแบบแผนสง่างาม ไปจนถึงละครสั้น ๆ ที่สนุกสนานของชาวบ้าน และจากละครหุ่น ซึ่งสืบทอดกันมาหลายศตวรรษ ไปจนถึงการสร้างภาพยนต์ โดยอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่ผลิตภาพยนต์มากที่สุดในโลก
                    ญี่ปุ่นมีละครคลาสสิคสามชนิดได้แก่ ละครโน บุนระกุ ละครหุ่น และคาบูกิ  ละครที่เก่าแก่ที่สุดคือ ละครโน ซึ่งถือกำเนิดมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นละครที่มีแบบสูงส่ง เล่นให้ชมเฉพาะบุคคลชั้นสูง  การแสดงยังคงรักษาแบบแผนไว้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน
                    ละครหุ่น มีการสร้างตัวหุ่นขนาดครึ่งหนึ่งของคนจริง สร้างขึ้นอย่างสวยงาม การเชิดใช้คนเชิดถึงสามคน และใช้ดนตรีซามิเซนประกอบให้เห็นอารมณ์ของคนจริง ๆ
                    ละครคาบูกิ เป็นละครที่มีชื่อของญี่ปุ่นเช่นกัน มีลักษณะผสมของละครโน และบนระกุ สมัยแรก ๆ ยังใช้สตรีแสดง แต่ต่อมาได้ใชผู้ชายแสดง ละครคาบูกิ ได้รักาาประเพณีของญี่ปุ่นไว้อย่างดี
    การเมืองและการปกครอง

                ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น  เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นได้แก่ กลุ่มเผ่าพันธ์หนึ่งที่เรียกว่า เชื้อชาติยามาโต ซึ่งเป็นใหญ่เหนือเผ่าพันธุ์นักรบ และตระกูลอื่น ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ หรือ ๙ และเป็นที่ยอมรับว่าบรรดาผู้นำของเผ่ายาโมโตคือบรรพบุรุษของพระราชวงศ์ญี่ปุ่น
                ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาด้านฝีมือช่าง ศิลปะและการเรียนรู้จากประเทศจีน และเกาหลี ตลอดจนหลักวิชาการแพทย์ ดาราศาสตร์ และพระพุทธศาสนา
                ในปี พ.ศ.๑๖๒๔ ญี่ปุ่นได้แบบแผนระบบการปกครองจากจีน เมืองนาราเป็นเมืองหลวงแรกสุดของญี่ปุ่น สร้างขึ้นเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และได้ย้ายไปมาภายในบริเวณเมืองปัจจุบันคือ นารา เกียวโต และโอซากา
                ในปี พ.ศ.๑๘๘๐ ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ที่เกียวโต ได้เป็นที่ประทับของจักรพรรดิ์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี
                ในปี พ.ศ.๒๒๗๑ เป็นปีเริ่มต้นของการปกครองแบบฟิวตัล (ศักดินา) จึงเป็นการบดบังอำนาจของจักรพรรดิ์กล่าวคือ องค์จักรพรรดิ์ เป็นประมุขเพียงในนามอำนาจการปกครอง เป็นของพวกโชกุน ซึ่งได้ปกครองญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาติดต่อกันมาหลายศตวรรษ โดยมีนโยบายไม่ต้องการติดต่อกับโลกภายนอก
                ยุคต่อมาถึงยุคปัจจุบัน  ในกลางพุทธศตววรรษที่ ๒๔ และต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เปิดประเทศ ออกรับโลกภายนอกมากขึ้น
                ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวฝ่ายญี่ปุ่น ทำให้ทำสัญญามิตรภาพด้วย และต่อมาก็ได้มีการทำสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับรัสเซีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ในปีเดียวกัน จึงนับได้ว่าญี่ปุ่นได้เปิดประเทศติดต่อกับโลกภายนอกอีกครั้งหนึ่ง ผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เป็นแรงกดดัน ของกระแสสังคมและการเมืองภายในประเทศ และในที่สุดระบบฟิวดัลแห่งรัฐาลโชกุน ก็สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๑๔๑๐ อำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ ก็กลับคืนมาสู่องค์จักรพรรดิ์อีกครั้ง ในการขึ้นครองอำนาจของจักรพรรดิ์เมจิ ในปี พ.ศ.๒๔๑๑
                    สมัยเมจิ (พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๕๕)  เป็นระยะที่น่าสนใจระยะหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ญี่ปุ่นได้เริ่มต้นการปรับปรุงประเทศ และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่ชาวตะวันตก ต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษเพื่อพัฒนาภายในเวลา ๑ - ๓ ทศวรรษเท่านั้น นั่นคือการสร้างชาติแบบใหม่ กอร์ปด้วยอุตสาหกรรมสมัยใหม่ สถาบันการเมืองสมัยใหม่ และแบบแผนทางสังคมสมัยใหม่ ก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ญี่ปุ่นได้เข้าเกี่ยวข้องกับสงครามกับจีน ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๓๘ และอีก ๑๐ ปีต่อมาได้ทำสงครามกับรัสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ - ๒๔๔๘  ซึ่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะทั้งสองครั้ง ในสมัยนี้ได้ย้ายเมืองหลวงจากเกียวโต ไปเมืองเอโด และให้ชื่อใหม่ว่า โตเกียว
                    ในปี พ.ศ.๒๔๖๙  จักรพรรดิ์ฮิโรฮิโต ขึ้นครองราชย์ และได้นำญี่ปุ่นสู่ยุคสงครามมหาเอเซียบูรพา ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ต่อมาได้ยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ในปี พ.ศ.๒๔๘๘  และถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครอง
                    ในปี พ.ศ.๒๔๙๔  ญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับ ๔๘ ประเทศ และได้เอกราชกลับคืนมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕
                    ปัจจุบันญี่ปุ่นปรับปรุงประเทศเป็นแบบสมัยใหม่ ทั้งด้านโครงสร้างการเมือง อุดมการณ์ตะวันตกต่าง ๆ ผสมกับลักษณะเฉพาะของสังคมญี่ปุ่น กลายเป็นลักษณะการเมืองและสังคมแบบใหม่
                โครงสร้างของรัฐบาล  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ญี่ปุ่นได้มีการสถาปนาสภาไดเอ็ดอิมพีเรียลขึ้น นับว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่นำเอาการเมืองระบบรัฐสภามาไว้ในเอเซีย แต่สภาไดเอ็ดอิมพีเรียลก็ยังเป็นสภาที่จัดตั้งขึ้นด้วย ผู้แทนราษฎรของชนชั้นที่มีสิทธิพิเศษ เช่น พวกขุนนาง และเนื้อหาการปกครองก็ยังคงเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เพราะว่าอำนาจการปกครองอยู่ในมือของจักรพรรดิ์ ประชาชนไม่มีสิทธิ์เสียงทางการเมือง ไม่สามารถเลือกยึดถือลัทธิการเมือง ที่ตนศรัทธาได้
                ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นการนำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ โดยมีสภาไดเอ็ด เป็นสถาบันสูงสุดของการปกครอง มีองค์จักรพรรดิ์เป็นสัญญลักษณ์ของประเทศ อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชน
                ญี่ปุ่นแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็นสามฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เช่นเดียวกับประเดียวกับประเทศที่ปกครองในระบบรัฐสภาทั่ว ๆ ไป สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีได้ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็สามารถยุบสภาไดเอ็ดได้
                    อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีไม่เกิน ๒๐ คน นายกรัฐมนตรีได้รับการกำหนดตัวโดยรัฐสภา และต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา มีอำนาจถอดถอนรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ต้องแต่งตั้งมาจากสมาชิกรัฐสภา และรัฐมนตรีทุกคนต้องเป็นพลเรือน
                    อำนาจนิติบัญญัติ  สภาไดเอ็ด เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสถาบันแห่งอำนาจสูงสุดของประเทศด้วย สภาไดเอ็ดมีอำนาจหน้าที่ เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณางบประมาณ ให้ความเห็นชอบในเรื่องการทำสนธิสัญญา และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
                    สภาไดเอ็ด ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๕๑๑ คน และสภาที่ปรึกษา (วุฒิสภา) ๒๕๒ คน
                    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระในตำแหน่ง ๔ ปี เขตเลือกตั้งมี ๑๓๐ เขต แต่ละเขตมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓ - ๕ คน ตามจำนวนประชากรในเขต
                    สมาชิกสภาที่ปรึกษามาจากการเลือกตั้งเช่นกัน มีวาระดำรงตำแหน่ง ๖ ปี ทุก ๓ ปี จะมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวนครึ่งหนึ่ง สมาชิก ๑๐๐ คน ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งต่าง ๆ สมาชิกอีก ๑๕๒ คน ได้รับเลือกจากเขตจังหวัด ๔๗ แห่ง สภาที่ปรึกษามีอำนาจรองจากสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรใช้เสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ ผ่านพระราชบัญญัติที่สำคัญได้ แม้ว่าจะถูกสภาที่ปรึกษาคัดค้านก็ตาม
                    อำนาจตุลาการ  ฝ่ายตุลาการ มีอิสระเต็มที่แยกจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยมีศาล ๕ ชนิด คือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลจังหวัด ศาลครอบครัว และศาลแขวง
                    ศาลฎีกา  ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ๑ คน และผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก ๑๔ คน ประธานศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งจากองค์จักรพรรดิ์ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ส่วนผู้พิพากษาอีก ๑๔ คน ได้รับแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลในระดับอื่น ๆ ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ตามที่ศาลฎีกาเสนอ
                แหล่งกำเนิดของอำนาจที่แท้จริง  รัฐบาลญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจากสมาชิกพรรคการเมือง ที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น การเลือกตั้งของญี่ปุ่น จึงมีความหมายมาก รัฐบาลจะบริหารประเทศ ตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง
                    พรรคเสรีประชาธิปไตย  เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีนโยบายอนุรักษ์นิยมและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตลอดมา จึงสามารถครองอำนาจเป็นรัฐบาล ติดต่อกันมานานที่สุดในโลกพรรคหนึ่ง ดังนั้นวิถีทางการเมืองและนโยบายที่สำคัญของญี่ปุ่น จะเป็นอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับพรรคเสรีประชาธิปไตย
                    พรรคการเมืองของญี่ปุ่น ประกอบด้วยกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีกองทุนเป็นอิสระ มีนายทุน เช่น บริษัทกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ หนุนหลัง แต่ละกลุ่มก็พยายามช่วงชิงความเป็นใหญ่อิทธิพล และการนำภายในพรรคระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา
                    อนาคตของพรรคการเมืองในญี่ปุ่น  เนื่องจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่เคยมีโอกาสเข้าบริหารงานรัฐบาล ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นที่จะมอบความไว้วางใจ ประกอบกับพรรคเสรีประชาธิปไตยมีผลงานชัดแจ้ง ในการนำญี่ปุ่นสู่ความเจริญก้าวหน้าโดยสำคัญตลอดมา
                นโยบายในประเทศและต่างประเทศ
                    การเมืองในประเทศ  เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นปกครองเดิมคือ ทหารและกลุ่มธุรกิจได้ถูกโค่นล้มไป เปิดโอกาสให้นักการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำ โดยขบวนการประชาธิปไตยยุคใหม่
                    รัฐธรรมนูญใหม่ที่สหรัฐอเมริกาช่วยร่างให้ ได้ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้อย่างกว้างขวางและชัดแจ้ง ไม่มีการจำกัดสิทธิความเชื่อถือในลัทธิการเมือง แม้กระทั่งลัทธิคอมมิวนิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์ก็สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ความเสมอภาคในทางกฎหมาย เป็นหลักการสำคัญในสังคมญี่ปุ่นสมัยปัจจุบัน
                    การปกครองของญี่ปุ่นใช้รูปแบบของการแบ่งแยกอำนาจเหมือนกับประเทศต่าง ๆ คือมีสถาบันทางการเมืองสามฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการแยกจากกัน การเลือกตั้งเป็นวิธีการสำคัญที่สุดในการเข้าสู่อำนาจบริหาร รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา รัฐบาลจะดำเนินการบริหารประเทศตามนโยบายของพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้ง อย่างจริงจัง
                    รัฐสภาของญี่ปุ่นมีสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง)  สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งคู่
                    พรรคการเมืองของญี่ปุ่น เพิ่งมีการจัดตั้งกันอย่างแท้จริงภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มแรกมีพรรคการเมืองจำนวนมาก ต่อมา พรรคต่าง ๆ ได้รวมตัวกันเข้าจนเหลือพรรคใหญ่หลัก ๆ เพียง ๓ - ๔ พรรค พรรคที่ครองอำนาจติดต่อกันยาวนานที่สุด จนถึงปัจจุบันคือ พรรคเสรีประชาธิปไตย
                    ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านการต่อสัญญา "อำโป" กับสหรัฐอเมริกา ไม่ให้รัฐบาลต่อสัญญาการป้องกันประเทศร่วมกับสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็ได้มีการนำญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่โดยการประกาศนโยบายเศรษฐกิจ "แผนการเพิ่มรายได้เป็นสองเท่า" ทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
                    นโยบายต่างประเทศ  การตกอยู่ในความยึดครองของสหรัฐอเมริกาทำให้ญี่ปุ่นรับอิทธิพลทั้งในด้านเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรมจากสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกอย่างมาก เป็นเหตุให้ชาวญี่ปุ่นส่วนมาก คิดว่าตนเองเป็นชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น ที่จะมุ่งสนใจผลประโยชน์ และความร่วมมือไปยังประเทศตะวันตกมากกว่าประเทศเอเชียด้วยกัน
                    สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศค่ายทุนนิยมที่มีอิทธิพลต่อญี่ปุ่นมากที่สุด และกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น
                        ความร่วมมือทางด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกา  สัญญาอัมโประหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกา สามารถรักษากองทัพของตนไว้ในญี่ปุ่นได้ต่อไป จึงเป็นการคุมญี่ปุ่นมากกว่าการร่วมมือป้องกันญี่ปุ่น  อาจกล่าวได้ว่าสัญญาอำโป
    มีส่วนก่อความเจริญให้แก่ญี่ปุ่นอีกทางหนึ่ง เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นไม่ต้องจ่ายเงินงบประมาณไปในด้านการป้องกันประเทศ
                        ท่าทีของญี่ปุ่นต่อประเทศยุโรป  ชาวญี่ปุ่นมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และกรีก โดยมีความสนใจ และยอมรับความเจริญทางด้านการปกครอง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และความสวยงามของธรรมชาติ ส่วนสหภาพโซเวียตนั้น คนญี่ปุ่นมีทัศนคติในทางปฏิปักษ์ เนื่องจากผลประโยชน์ของประเทศขัดแย้งกันในด้านการเมือง และกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด ซึ่งสหภาพโซเวียตยึดครองอยู่
                       ท่าทีของญี่ปุ่นต่อประเทศจีน  ญี่ปุ่นพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ประนีประนอมกับจีนอย่างมาก โดยเล็งเห็นผลประโยชน์ทางด้านการค้า การตลาดและการลงทุนในจีน เป็นอันดับสองรองลงมาจากสหรัฐอเมริกา
                       ท่าที่ของญี่ปุ่นต่ออาเซียน  เมื่อมีการตั้งองค์การ "อาเซียน" ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอาเซียนอย่างจริงจังในเกือบทุกเรื่อง เรียกได้ว่ากลุ่มอาเซียนเป็นมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในเอเชีย
                        ญี่ปุ่นเสียเปรียบดุลการค้าแก่อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยการซื้อน้ำมันและแก๊ส แต่ได้เปรียบดุลการค้ากับไทยฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์อย่างมาก
                    แนวนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทย  การลงทุนในประเทศไทยของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่มีคุณภาพเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ  นอกจากนั้นยังมีปัจจัยพื้นฐานอย่างเพียงพอ
    การคมนาคมขนส่ง

                ประเทศญี่ปุ่นมีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะและหมู่เกาะ การคมนาคมขนส่งจึงมีทั้งระบบขนส่งทางรถไฟ เรือ เครื่องบินและทางหลวง เพื่อความคล่องตัว และเหมาะสมกับลักษณะของสิ่งของ หรือปัจจัยที่ขนส่ง การขนส่งทุกระบบจัดอยู่ในอันดับนำของทวีปเอเชีย โครงข่ายของทางหลวง และทางรถไฟครอบคลุมถึงทุกส่วนของประเทศ
                การขนส่งทางบก  ประกอบด้วยทางรถไฟ ทางรถไฟด่วน ทางรถไฟใต้ดินและทางหลวง


    • Update : 15/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch