หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ประเทศเพื่อนบ้านของไทย-ประเทศมาเลเซีย

    ประเทศมาเลเซีย


                ประเทศมาเลเซียในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรเรียกว่า มาเลเซียตะวันตก และส่วนที่อยู่ในเกาะบอร์เนียว เรียกว่า มาเลเซียตะวันออก ทั้งสองส่วนนี้ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ ๑๓ รัฐ อยู่ในมาเลเซียตะวันตก ๑๑ รัฐ อยู่ในมาเลเซียตะวันออก ๒ รัฐ
                    มาเลเซียตะวันตก หรือที่เรียกว่า เพนนินซูลามาเลเซีย (Peninsula Malasia) ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ จำนวน ๑๑ รัฐ ตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรอินโดจีน
                    มาเลเซียตะวันออก อยู่ในเกาะบอร์เนียว ทางด้านเหนือต่อจากกาลิมันตันของอินโดนิเซีย ประกอบด้วยรัฐสองรัฐคือ รัฐซาราวัค และรัฐซาบาห์ โดยมีประเทศบรูไน ตั้งอยู่ระหว่างกลางของรัฐทั้งสอง
                    มาเลเซีย มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ ๓๒๙,๐๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณสองในสามของพื้นที่ประเทศไทย มีพรมแดนโดยทั่วไปคือ
                        ทิศเหนือ  ติดต่อกับประเทศไทย ในเขตรัฐห้ารัฐด้วยกัน เรียงจากตะวันตกไปตะวันออกคือ รัฐเปอร์ลิส รัฐเคดาห์ รัฐเปรัค และรัฐกลันตัน
                        ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ติดต่อกับทะเลซูลู ใกล้หมู่เกาะฟิลิปปินส์
                        ทิศตะวันออก  ติดต่อกับทะเลจีนใต้
                        ทิศใต้ ติดต่อกับช่องแคบยะโฮร์ ซึ่งกั้นระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนิเซีย
                        ทิศตะวันตก  ติดต่อกับทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย และช่องแคบมะละกา ซึ่งกั้นระหว่างมาเลเซียกับเกาะสุมาตรา ของอินโดนิเซีย
                        รัฐต่าง ๆ ของมาเลเซีย มีที่ตั้งและขนาดพื้นที่ดังนี้
                    รัฐกลันตัน (Kelantan)  อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ติดต่อกับจังหวัดนราธิวาสของไทย มีพื้นที่ประมาณ ๑๔,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองโกตาบารู เป็นเมืองหลวง เป็นแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของมาเลเซีย
                    รัฐเปรัค (Perak) ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีอาณาเขตตอนบนติดต่อกับจังหวัดยะลา และนราธิวาสของไทย มีพื้นที่ประมาณ ๒๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองอิโปห์ เป็นเมืองหลวง
                    รัฐเปอร์ลิส (Perlis)  ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย ที่จังหวัดสตูล และสงขลา มีพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ตารางกิโลเมตร จัดว่าเป็นรัฐที่มีพื้นที่น้อยที่สุด ในบรรดา ๑๓ รัฐ มีเมืองกางาร์ เป็นเมืองหลวง มีฐานะเป็นราชนคร เพราะเป็นที่ประทับของสุลต่านของรัฐ
                    รัฐเคดาห์ (kasah)  ตั้งอยู่ตอนบนของมาเลเซียตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย ที่จังหวัดยะลา และสงขลา มีพื้นที่ประมาณ ๙,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองลอรัสตา เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐที่มีภูมิประเทศ ประชากร และศิลปวัฒธรรมคล้ายคลึงกับประเทศไทย และมีคนมาเลเซียเชื้อสายไทย อาศัยอยู่มากที่สุด
                    รัฐยะโฮร์ (Jahor)  อยู่ทางตอนใต้สุดของมาเลเซียตะวันตก ติดต่อกับประเทศสิงคโปร์ มีพื้นที่ประมาณ ๑๙,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองยะโฮร์บารู เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุด
                    รัฐมะละกา (Melaka)  อยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะโฮร์ ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีพื้นที่ประมาณ ๑,๖๕๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองมะละกา เป็นเมืองหลวง ถือว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
                    รัฐนครีเซมบิลัน (Negrisembian)  ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐมะละกา ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีพื้นที่ประมาณ ๖,๖๕๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองเซเรมบัน เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองท่าที่มีชายฝั่งทะเลสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อน
                    รัฐปาหัง (Pahang)  อยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะโฮร์ ทางฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู เป็นรัฐที่มีพื้นที่ประมาณ ๓๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร นับว่าเป็นรัฐที่มีพื้นที่มากที่สุด ของมาเลเซียตะวันตก มีเมืองกวนตัง เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐเก่าแก่ที่มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอยู่มาก
                    รัฐปีนัง (Penang)  เป็นเกาะและมีพื้นที่เป็นดินแดนบางส่วนอยู่เหนือรัฐเปรัค อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองยอร์ช ทาวน์ เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐที่มีความสมบูรณ์ในทุกด้าน ได้สมญานามว่า ไข่มุกแห่งตะวันออก
                    รัฐเซลังงอร์ (Selangor)  ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู อยู่ระหว่างรัฐเปรัค กับรัฐนครีเซมปิลัน มีพื้นที่ประมาณ ๘,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองซาห์อะลาม เป็นเมืองหลวง และมีเมืองเกลัง เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุด
                    รัฐตรังกานู (Terngganu)  อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู อยู่ทางด้านเหนือของรัฐปาหัง มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร  มีเมืองกัวลาตรังกานู เป็นเมืองหลวง
                    รัฐซาบาห์ (Sabah)  ตั้งอยู่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว มีพื้นที่ประมาณ ๗๓,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองโกตาคินาบารู เป็นเมืองหลวง พื้นที่สองในสามเป็นป่าไม้ และภูเขา ยอดเขาโกตาคินาบารู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในมาเลเซีย
                    รัฐซาราวัค (Sarawak)  อยู่ทางฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของเกาะบอร์เนียว มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๔,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร นับว่าเป็นรัฐที่มีพื้นที่มากมี่สุดของมาเลเซีย มีเมืองคุชชิง เป็นเมืองหลวง มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่มาก มีชาวมาเลย์ และชาวจีน อาศัยอยู่น้อย
                    นอกจากนี้ยังมีเขตสหพันธรัฐอีกสามเขต ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เกาะลาบวน และเมืองปุตราจายา อยู่ภายใต้สหพันธรัฐ (รัฐบาลกลาง) ไม่ขึ้นอยู่กับเขตใด โดยเฉพาะกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นเมืองหลวงของประเทศ และเมืองปุตราจายา เป็นเมืองราชการ
    ลักษณะภูมิประเทศ
                    มาเลเซียตะวันตก  ตั้งอยู่บนแหลมมลายู ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าไม้ ภูเขา และหนองบึง ประมาณร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่
                    บริเวณชายฝั่งตะวันตก ที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย และช่องแคบมะละกา เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ชายฝั่งเต็มไปด้วยหนองบึง และป่าไม้โกงกาง ผิวดินเป็นดินเหนียว และโคลนตม คงมีเหลือพื้นที่ราบซึ่งเป็นดินทรายบางบริเวณ พื้นดินตอนในห่างจากบริเวณที่ราบชายฝั่งสองด้าน ค่อย ๆ เปลี่ยนระดับเป็นที่ราบสูง บริเวณเชิงเขา พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินแดง และดินปนทราย ดินเหนียวและดินลูกรัง
                    มาเลเซียตะวันออก  ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวตอนเหนือ ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็นสามส่วนคือ
                    ที่ราบชายฝั่ง และริมทะเลมีหนองบึง และป่าโกงกาง ที่เชิงเขา และทิวเขาสูงมีความสูงชัน มีเหวลึกปกคลุมด้วยป่าทึบยากแก่การสัญจร มียอดเขาสูงสุดอยู่ทางภาคเหนือ มีลักษณะผิวดินแตกต่างกันออกไป บริเวณพื้นที่รอบชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นประเภทดินเหนียว และดินโคลนตม ซึ่งมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ในบริเวณบางแห่งมีกรวดทรายปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก
                เทือกเขา  เทือกเขาสำคัญของมาเลเซียประกอบด้วยเทือกเขาบินดัง เทือกเขาโกฮิมหรือเทือกเขากลาง เทือกเขาตรังกานู ในแหลมมลายู และเทือกเขากินาบาลู ในเกาะบอร์เนียว ซึ่งมียอดเขาโกตาคินาบาลูเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในมาเลเซีย
                แหล่งน้ำ  ในแหลมมลายูมีแม่น้ำสายสำคัญได้แก่ แม่น้ำคาดาห์ แม่น้ำซุนดา แม่น้ำเกรียน แม่น้ำเปรัค แม่น้ำปาหัง แม่น้ำกลันตัน แม่น้ำมุดา แม่น้ำเบอร์นัม แม่น้ำสลังงอร์และแม่น้ำกลัง
                ในเกาะบอร์เนียวมีแม่น้ำสายสำคัญได้แก่ แม่น้ำรายัง มีความยาวประมาณ ๕๖๐ กิโลเมตร  แม่น้ำมาลุย ยาวประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำกินาบาดางัน
                ชายฝั่งทะเล ในแหลมมลายูฝั่งทะเลด้านตะวันออกติดต่อกับทะเลจีนใต้ ลักษณะท้องทะเลในบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลาดชัน พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยปะการัง และหินใต้ทะเลน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก เหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่าง ๆ ฝั่งทะเลมีความยาวประมาณ ๑,๙๐๐ กิโลเมตร  บริเวณชายฝั่งมีความลึกตั้งแต่ ๑๒๐ - ๓๐๐ ฟุต เป็นหาดทรายยาวเหยียดติดต่อกัน มีที่ราบลุ่มอยู่เป็นบางตอน ฝั่งทะเลด้านตะวันตกเป็นหาดเลน พื้นที่ลึกเข้าไปในบริเวณชายฝั่งเป็นที่ลุ่ม และหนองบึง และป่าไม้โกงกาง คงมีเฉพาะบางแห่งเท่านั้นที่มีหาดทราย
                ในเกาะบอร์เนียว ฝั่งทะเลบริเวณใต้สุดของทะเลจีนใต้ ท้องทะเลในบริเวณดังกล่าวมีความลึกพอสมควร มีกลุ่มหินปะการังอยู่เป็นหย่อม ๆ ในระยะลึก นอกจากนั้นยังมีหินใต้น้ำอยู่เป็นบางตอนในบริเวณใกล้ชายฝั่ง เป็นอุปสรรคในการเดินเรือใกล้ฝั่ง บริเวณฝั่งทะเลรัฐซาราวัคมีความลึกใกล้ฝั่งประมาณ ๒๐ - ๓๐ ฟุต  ห่างออกไปจากฝั่ง บางพื้นที่ลึกมาก บางแห่งลึกประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ ฟุต
                บริเวณชายฝั่งของรัฐซาบาห์ ทิศเหนือติดต่อกับทะเลจีนใต้ ความลึกของทะเลมีมากกว่ารัฐซาราวัค
    ประชากร
                มาเลเซียในแหลมมลายู มีประชากรอยู่หนาแน่น บริเวณที่ราบชายฝั่งตะวันตก โดยมีประชากรประมาณร้อยละ ๘๒ รองลงมาคือ บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนที่อยู่ในเกาะบอร์เนียว มีประชากรอยู่หนาแน่น บริเวณที่ราบชายฝั่งทางตอนใต้ของรัฐซาราวัค แถบบริเวณแม่น้ำ
                ความแตกต่างของเชื้อชาติ  สังคมของมาเลเซียมีลักษณะเป็นพหุสังคม (Multi - Racial Society) ประกอบด้วยประชากร
    แตกต่างกันทางเชื้อชาติได้แก่ เชื้อชาติมลายู เชื้อชาติจีน และเชื้อชาติอินเดีย แต่ละเชื้อชาติมีความแตกต่างกันทางภาษา ศาสนาวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่
                ก่อนอังกฤษเข้ามามีอำนาจในแหลมมลายู ปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติในสังคมยังไม่เด่นชัด แม้ว่าจะมีชาวต่างชาติเช่น ชาวจีน เข้ามาทำการค้ากับชาวพื้นเมืองมานานแล้วก็ตาม บรรดาชาวจีนดังกล่าวมีทั้งเข้ามาค้าขาย และตั้งหลักแหล่งในแหลมมลายูตามเมืองท่า และเกาะต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกามาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ แล้ว ชุมชนชาวจีนในยุคดังกล่าวจะปรับตัวเข้ากับสังคมชาวพื้นเมืองโดยพูดภาษา แต่งกายและแต่งงานกับชาวพื้นเมือง ทำให้เกิดความกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับชาวพื้นเมือง
                ภายหลังที่บริษัทอินเดียตะวันตกของอังกฤษ ได้เข้ามามีอำนาจ และบทบาทในแหลมมลายู ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็เกิดมีเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน และชาวอินเดียที่เข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองแร่ดีบุก และในไร่การเพาะปลูกขนาดใหญ่ของอังกฤษ ได้รวมกลุ่มกันตามเชื้อชาติ รัฐบาลอังกฤษให้ความคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ในขณะที่ชาวมลายูในการปกครองของสุลต่านของแต่ละรัฐ ดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่เป็นชาวนาและชาวประมง
                ชาวจีนส่วนใหญ่ทำมาหากินจนร่ำรวย และคุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไว้ ส่วนชาวมลายูถือตนว่าเป็นบุตรแห่งแผ่นดิน (ภูมิบุตร) เหนือกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่อยู่ในแหลมมลายูด้วยกัน มีอาชีพหลักทางเกษตรกรรม และมีฐานะยากจน  ส่วนชาวอินเดียที่อังกฤษนำมา จากประเทศอินเดีย เพื่อทำงานเกษตรกรรม และงานกรรมกรก็ยังอยู่ในสภาพเดิม
                เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวภูมิบุตรจึงได้เป็นผู้บริหารประเทศ รัฐบาลของชาวภูมิบุตรได้ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวภูมิบุตร
    เหนือกว่าชาวมาเลเซียเชื้อชาติอื่น ๆ
                คุณลักษณะของประชากร  เนื่องจากชาวมาเลเซียมีหลายเชื้อชาติและยังมีชนเผ่าน้อยในรัฐซาบาห์ และซาราวัค ทำให้เกิดเป็นชาติพันธุ์ลูกครึ่งเชื้อชาติต่าง ๆ มาก
                ชนกลุ่มแรกในแหลมมลายูได้แก่ ชาวโอรัง อัสลี  ตามมาด้วยชาวมาเลย์ และชนชาติอื่น ๆ ได้แก่ จีน อินเดีย และชาวยุโรป ส่งผลให้มีขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย และหลากหลายทางวัฒนธรรม
                    ชาวโอรัง อัสลี  คำว่าโอรัง อัสลี เป็นภาษามลายู หมายถึงชนชาติดั้งเดิม ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่สามกลุ่มและเผ่าเล็กเผ่าน้อยอีกกว่า ๒๐ เผ่า ประมาณร้อยละ ๙๐ อาศัยอยู่ในชนบท อีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ตามชานเมือง กลุ่มโอรังอัสลีมีชื่อเรียกว่า ซาไกหรือทาสขัดดอก
                    ชนกลุ่มเก่าแก่ที่สุดบนแหลมมลายูคือพวกเนกริโต ซึ่งเข้ามาในแหลมมลายูเมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นโอรังอัสลีกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยมากพวกนี้จะมีผิวคล้ำและผมหยิกฝอย มีรูปร่างหน้าตาเฉพาะตัวคล้ายชาวปาปัวนิวกินี หรือแอฟริกาตะวันออก  ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมมลายู และเป็นโอรังอัสลีเพียงกลุ่มเดียว ที่เป็นชนเร่ร่อนมีการทำการเพาะปลูกน้อยมาก ชอบย้ายหลักแหล่ง
                    ชนกลุ่มใหญ่รองลงมาคือ พวกเชนอย  เชื่อกันว่ามีบรรพบุรุษร่วมกับชาวเขาทางเหนือของกัมพูชาและเวียดนาม เข้ามาอยู่ในแหลมมลายู เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว  ส่วนใหญ่จะทำไร่เลื่อนลอย เมื่อดินจืดก็ย้ายหลักแหล่ง มีอยู่เป็นจำนวนมากในที่ราบสูงคาเมรอน กลายเป็นแรงงานรับจ้างในไร่ชา
                    ชนอีกกลุ่มหนึ่งคือ โปรโตมาเลย์ อพยพมาจากเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เข้ามายังแหลมมลายูเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีก่อน ชาวมาเลย์รุ่นใหม่ มีบรรพบุรุษร่วมกับชนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย
                    ชาวมาเลย์  ชาวมาเลย์ผูกพันกับแผ่นดินจนเรียกตนเองว่า ภูมิบุตรา หรือบุตรของแผ่นดิน  เป็นคนใจกว้าง เอื้อเฟื้อ ยิ้มง่ายและมีอารมณ์ขัน ชาวมาเลย์ในชนบท จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำไร่ทำนา และรักใคร่กันในหมู่บ้านเดียวกัน
                    อย่างไรก็ดีชาวมาเลย์ในเมืองจะแตกต่างจากในชนบทมาก จะมีวิถีชีวิตบางอย่าง เช่น การแต่งกายแบบชาวตะวันตก แต่ชาวมาเลเซียยังคงมีน้ำใจเดียวกัน เพราะมีความเชื่อในศาสนาเดียวกัน หลักอิสลามทำให้ชาวมาเลย์แตกต่างจากคนมาเลเซียอื่น ๆ ไม่มีการแต่งงานข้ามชาติมากนัก แม้จะยอมรับมุสลิมชาติอื่น ๆ ก็ตาม ทำให้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ มุสิลม ยังคงโดดเด่นไม่เหมือนใคร
                    ชาวอินเดีย  คนอินเดียเข้ามาในแหลมมลายูเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว แต่ชาวอินเดียเริ่มเข้ามาอยู่กันเป็นจำนวนมาก ในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ส่วนใหญ่มาจากอินเดียตอนใต้ ประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นชาวทมิฬ ที่เหลือเป็นชาวซิกข์ เบรกาลี เกราลัน เตลูกู และปาร์ซี มักมีอาชีพกรีดยาง หรือเป็นคนงานในไร่
                    ปัจจุบันชาวอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐเซลังงอร์ เปรัค และปีนัง มีอยู่ประมาณร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งหมด ชาวอินเดียประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นชาวทมิฬ ยังคงเป็นแรงงานในไร่ ซึ่งได้เป็นมาตั้งแต่สมัยที่มาเลเซีย ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
                    ชาวอินเดียได้นำวัฒนธรรมหลายประการมาสู่มาเลเซีย เช่นเครื่องแต่งกายที่เป็นส่าหรีไหมสีสด อาหารอินเดียรสขัด การร้องรำทำเพลงในฉากต่าง ๆ ของภาพยนต์ รวมทั้งหลักศาสนาฮินดู
                    ชาวจีน  มีอยู่ประมาณร้อยละ ๓๐ ของประชากรทั้งหมด มีบทบาทในการควบคุมเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยาง และดีบุก ชาวจีนเริ่มเข้ามาค้าขายตามเกาะต่าง ๆ ในแหลมมลายู และหมู่เกาะชวา ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๓ จนถึงสมัยราชวงศ์แมนจู ในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการห้ามชาวจีนออกนอกประเทศ แต่ก็มีชาวจีนหนีออกมา และมาอยู่ในแหลมมลายูเป็นจำนวนมกา โดยเข้ามาทำงานในเหมืองดีบุก ทำถนน และทางรถไฟ ในการนี้ได้นำการสูบฝิ่น และบ่อนการพนันเข้ามาด้วย
                    ชุมชนชาวจีน ไม่ยอมรับนับถือวัฒนธรรมมาเลย์ แต่ได้นำประเพณีของตนเข้ามาใช้ ตามกฎหมายแล้ว ชาวจีนทุกคนต้องเรียนภาษามลายู แต่เมื่ออยู่บ้านก็มักจะพูดภาษาจีนกลาง หรือภาษาท้องถิ่น ชาวจีนยึดมั่นในการพึ่งตนเอง และความขยันขันแข็ง ให้ความสำคัญต่อครอบครัว และความผูกพันในพวกพ้อง
                    ชาวจีนในมาเลเซียนับถือสามศาสนาคือ พุทธ เต๋า และขงจื้อ
                    ปรานากัน  วัฒนธรรมปรานากัน ถือกำเนิดขึ้นเมื่อก่อนพ่อค้าชาวจีน จัดตั้งท่าเรือขึ้นที่มะละกา ตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๕ เกิดการแต่งงานระหว่างพ่อค้าจีน  และหญิงมาเลย์ในท้องถิ่น รวมทั้งสัมพันธไมตรี ระหว่างจักรพรรดิ์ราชวงศ์หมิง กับสุลต่านแห่งมะละกา
                    ในปี ค.ศ.๑๔๖๐ สุลต่านมันโชร ชาห์ ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงฮังลีโป แห่งราชวงศ์หมิง และมาประทับอยู่ที่ บูกกิต จีนา (ภูเขาจีน) พร้อมเชื้อพระวงศ์ที่ยังเยาว์อีก ๕๐๐ องค์ กับนางกำนัลอีกมาก
                    ชาวจีนมาเลย์ รุ่นต่อมาจึงได้ชื่อว่า ชาวจีนช่องแคบ หรือปรานากัน  ในภาษามลายู แปลว่า เกิดที่นี่
                    เมื่อชาวดัทช์ เข้ามาในตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ก็มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น ทำให้สายเลือดของพวกปรานากัน จางลงแทบจะเป็นจีนเต็มตัว แต่เอกลักษณ์ของปรานากันซึ่งรวมเอาส่วนดีของวัฒนธรรมมาเลย์ และจีนเข้าด้วยกัน ยังคงมีให้เห็นในเครื่องแต่งกายมาเลย์ เช่น ซารุง กาบายา อาหารแบบเฉพาะตัว
                    วัฒนธรรมปรานากัน รุ่งเรืองสูงสุดในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ มีศูนย์กลางอยู่ที่มะละกา นอกจากนั้นก็มีอยู่ที่ปีนัง และสิงคโปร์
                    ชาวยูเรเซีย  เมื่อชาวโปร์ตุเกสล้มระบบสุลต่านของมะละกาสำเร็จ ในปี ค.ศ.๑๕๑๑ (พ.ศ.๒๑๕๔) ผู้ปกครองคนใหม่ พยายามเข้าควบคุม โดยสนับสนุนให้ชาวโปร์ตุเกสแต่งงานกับหญิงชาวพื้นเมือง ชุมชนลูกครึ่งเติบโตขึ้นมาด้วยสำนึกในชาติโปร์ตุเกส และคริสตศาสนา และรักษาประเพณีตามเชื้อสายยุโรป โดยสืบทอดตำราอาหาร บางคนยังพูดภาษาคริสเตา ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางตะวันออกเฉียงใต้ของโปร์ตุเกส สมัยกลางในยุโรปซึ่งเลิกใช้แล้ว แต่ยังคงใช้กันอยู่ในบางส่วนของมาเลเซีย
                    ซาราวัคและซาบาห์  เป็นประชากรที่มีเชื้อสายหลากหลายที่สุดในมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นชาวมองโกลลอยด์ ที่อพยพมาจากกาลิมันตัน อินโดนิเซีย
        สภาพความเป็นอยู่ของประชากรในเมืองและชนบท
                    ชาวมาเลย์ ภูมิบุตร หรือชาวมาเลย์มุสลิม  คือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามลายู ซึ่งถือว่าเป็นภาษาประจำชาติ และปฎิบัติตามกฎธรรมเนียมของชาวมาเลย์ (รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐)
                    ชาวมาเลย์มีนิสัยสันโดษ รักสงบ ไม่ชอบการแข่งขันและค้าขาย ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา อยู่ตามชนบท ทำให้มีฐานะยากจน และล้าหลังกว่าชาวจีน แต่รัฐบาลมาเลเซียได้จัดโครงการช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เหนือชาวมาเลย์เชื้อสายอื่น ๆ ทำให้ชาวภูมิบุตรมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้ารับราชการมากกว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่น
                    ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง มีนิสัยขยันขันแข็ง ประกอบอาชีพธุรกิจ การค้าเป็นส่วนใหญ่ เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ บางส่วนทำงานในเหมือง หรือสวนยาง มีฐานะร่ำรวยกว่าชาวมาเลย์ เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและสังคม พยายามแสวงหาอำนาจทางการเมือง และต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้เท่าเทียมกับชาวมาเลย์
                    ชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย  ประกอบอาชีพพ่อค้า ทำงานในโรงแรม ตลอดจนงานด้านบริการในเมือง มีความขยันขันแข็ง สภาพความเป็นอยู่ปานกลาง มีอำนาจต่อรองทางการค้า เศรษฐกิจ และการเมือง รองลงมาจากกลุ่มแรก
    ศาสนา
                ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาในแหลมมลายู และหมู่เกาะใกล้เคียงเมื่อประมาณกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๒ โดยเข้ามาทางฝั่งทะเลแถบเหนือ ตามด้วยฝั่งตะวันตก จนถึงใต้ของเกาะสุมาตรา และแผ่ไปทั่วเกาะสุมาตรา เมื่อประมาณคริสตศตวรรษที่ ๑๔
                เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๔๓ เกิดอาณาจักรมะละกาขึ้น มีความเจริญมาก กลายเป็นศูนย์กลางการค้า และการเดินทางทางทะเล การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ที่มาจากพ่อค้าชาวอาหรับ ได้แพร่ไปทั่วดินแดนแถบนี้ เช่น รัฐปาหัง เคดาห์ ปัตตานี กลันตัน ตรังกานู เซลังงอร์ ยะโฮร์ และเปรัค
                จากประวัติศาสตร์ปรากฎว่า เจ้าผู้ครองนครได้เปลี่ยนจากการนับถือพุทธศาสนา มานับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ เจ้าชายปรเมศวร ที่ได้ลี้ภัยจากเกาะสุมาตรามาอยู่ที่มะละกา
                ศาสนาประจำชาติมาเลเซียคือ ศาสนาอิสลาม ชาวมาเลย์ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีประมาณร้อยละ ๕๓ นับถือศาสนาพุทธประมาณร้อยละ ๑๗ นับถือลัทธิเต๋า ประมาณร้อยละ ๑๒ นับถือศาสนาคริสต์ ประมาณร้อยละ ๘ นับถือศาสนาฮินดู ประมาณร้อยละ ๘ และอื่น ๆ ประมาณร้อยละ ๒
                ประเทศมาเลเซีย ได้มีการนำหลักการของคัมภีร์กุรอานในศาสนาอิสลาม เข้ามามีส่วนในการปกครองเช่น ประมุข หรือสุลต่านแห่งรัฐต้องเป็นอิสลามิกชน ถือว่าฐานะของสุลต่านอยู่สูงทั้งทางศาสนาและทางการเมือง การปกครอง สุลต่านจะแต่งตั้งผู้พิพากษาทางศาสนา ซึ่งจะพิจารณาแต่คดี ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม และกฎหมายประเพณีในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางด้านศาสนาซึ่งขึ้นอยู่กับกรมกิจการศาสนา
                อิสลามในมาเลเซีย มีทรรศนะที่ว่าจะเป็นอิสลามที่สมบูรณ์แบบ มีความพอเพียงในตนเอง โดยยึดหลักการของศาสนาอิสลามไว้กับชีวิตปัจจุบัน แต่รับความเจริญและวิทยาการสมัยใหม่ไปประยุกต์ใช้ โดยไม่ขัดต่อหลักการอิสลาม ปฏิเสธลัทธิต่าง ๆ  ของชาวตะวันตก
                ปัจจุบันมาเลเซีย มีแนวคิดที่จะเป็นประเทศอิสลามที่พัฒนาแล้วในปี ค.ศ.๒๐๒๐ โดยมีจุดมุ่งหมายที่อารยธรรมอิลสลาม (Civilization Islam) หรือที่เรียกว่าอิสลามหะฎอรีย์ ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนามนุษย์ที่ดีกว่า
                ข้อห้ามในการปฏิบัติ มีข้อปฎิบัติในการอยู่ร่วมกันของประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโต้แย้ง รัฐธรรมนูญจึงได้ห้ามนำเอาประเด็นที่อ่อนไหวเช่น
                    - สิทธิในกฎหมายเชื้อชาติมาถกเถียงกันในที่สาธารณะหรือในรัฐสภา เช่นการเป็นพลเมือง การเข้าศึกษา การเข้ารับราชการซึ่งต้องเป็นคนเชื้อสายมลายูเท่านั้น
                    - สิทธิในการใช้ภาษา
                    - สิทธิในพระราชอำนาจพิเศษของประมุข
                รัฐธรรมนูญมอบให้รัฐต่าง ๆ เป็นฝ่ายดูแลออกกฎหมายเกือบทั้งหมด เกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามเช่น กฎหมายมรดก การหมั้น การแต่งงาน ที่ห้ามแต่งงานกับคนต่างศาสนา
                ชายหญิงมลายูจะต้องมีจิตสำนึกในการแต่งกายตามประเพณี โดยเฉพาะผู้หญิงวัยผู้ใหญ่จะสวมฮิญาบถึงร้อยละ ๗๐ และให้ผู้หญิงมีบทบาทในที่สาธารณะน้อยลง เพราะถือว่าหน้าที่แรกคือการเป็นภรรยา และมารดาเท่านั้น
                ห้ามการเผยแพร่ศาสนาอื่น ๆ ให้แก่ชาวมุสลิม

    ประวัติศาสตร์
                ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น  ชาวมาเลย์ในยุคแรก ๆ ตั้งถิ่นฐานรวมตัวกันอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ทางตอนเหนือของแหลมมลายู เมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ในช่วง ๑,๐๐๐ ปีแรก มีรายละเอียดเกี่ยวกับแหลมมลายูไม่มากนัก เรื่องราวของแหลมมลายู และดินแดนแถบนี้ ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานครั้งแรก เมื่อคริสตศตวรรษที่ ๕ ดังปรากฎในบันทึกของผู้แสวงบุญชาวจีนสองคน ที่เดินทางโดยเรือจากจีนไปยังพุทธภูมิในอินเดีย
                ต่อมาในครคิสตศตวรรษที่ ๙ และ ๑๐ ก็ได้มีการบันทึกประวัติของดินแดนแถบนี้
                ชาวอินเดียได้กล่าวถึงดินแดนแถบนี้ไว้ในพงศาวดารเรื่องรามเกียรติ์และตามเอกสารอื่น ๆ
                เมื่อเส้นทางสายไหมถูกพวกป่าเถื่อนก่อกวน ทำให้ราชวงศ์จีนต้องหันมาใช้เส้นทางทะเลตอนใต้มากขึ้น จนทำให้ดินแดนในแหลมมลายู กลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างตะวันออกไกลคือ จีนกับเอเซียใต้คือ อินเดียกับประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง
                ดินแดนแถบนี้ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสำคัญ ๆ ตามลำดับคือ อาณาจักรศรีวิชัย อันเป็นอาณาจักรเก่าแก่ของอินโดนีเซีย และนับถือพุทธศาสนา ได้แพร่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ในแหลมมลายู ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔
                ต่อมาในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อาณาจักรฮินดูบนเกาะชวา คือ อาณาจักรมัชปาหิต และอาณาจักรสุโขทัยได้แผ่อำนาจเข้ามาแทนที่ แหลมมลายูจึงเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูมาก่อน
                ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๔๔ อาณาจักรที่ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของมาเลเซีย ปัจจุบันคือมีผู้ปกครองคนแรกชื่อเจ้าชายปรเมศวร์ ได้สร้างหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ให้กลายเป็นอาณาจักรและศูนย์การค้า ระหว่างอาณาจักรมีชื่อว่า มะละกา (Malacca) ทำการค้าอย่างแน่นแฟ้นกับราชวงศ์หมิง (Ming) ของจีน และได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เพื่อรับความคุ้มครอง และประโยชน์ทางการค้าจากบรรดาอาณาจักรต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เพื่อให้พ้นจากอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา และมัชปาหิต
                ความรุ่งเรืองของมะละกา ดำรงอยู่ได้ประมาณเกือบร้อยปีก็ตกไปอยู่ในการปกครองของโปร์ตุเกส เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๔ ศูนย์อำนาจของมลายูก็ไปปรากฎอยู่ตามพื้นที่อื่น ๆ ในแหลมมลายูเช่น ยะโฮร์ เปรัค ปาหัง ไทรบุรีหรือเคดาห์ เซลังงอร์ เป็นต้น
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๘๔ มะละกาถูกชาวดัทย์ยึดครอง ต่อจากนั้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อังกฤษได้แผ่อิทธิพลทางการค้าจากอินเดียเข้าสู่ปีนัง และยึดครองปีนัง จากสุลตานรัฐเคดาห์ ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ในที่สุดอังกฤษก็ได้มะละกาจากดัทช์ แลกกับดินแดนสุมาตราในปี พ.ศ.๒๓๖๗ อีกสองปีต่อมาอังกฤษก็ได้ครอบครองทั้งปีนัง มะละกา และสิงคโปร์
                ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ รัฐเปรัค เซลังงอร์ นครีเซมปลัน และปาหัง ได้รวมกันเป็นสมาพันธรัฐมลายู ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๗ ประเทศไทยได้มอบสิทธิการปกครองรัฐเคดาห์ เปอร์ลิส กลันตัน และตรังกานู ให้แก่อังกฤษ ซึ่งได้ส่งที่ปรึกษามาดูแล และในปี พ.ศ.๒๔๕๗ รัฐยะโฮร์ ก็เข้ามารวมกลุ่มด้วย แต่ทั้งห้ารัฐนี้ไม่ได้เข้าร่วมกับสมาพันธรัฐมลายู เพราะเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจของตนให้แก่อังกฤษ
        ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทยในอดีต
                    สมัยสุโขทัย  ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ราชอาณาจักรสุโขทัยได้แผ่ออกไปอย่างกว้างขวางใหญ่ไพศาล แผ่นดินในแหลมมลายูทั้งหมด รวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย ดังหลักฐานที่ปรากฎในจดหมายเหตุของจีน แห่งราชวงศ์หงวน ซึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๘ อันเป็นปีที่ ๑๘ ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ นั้น พระองค์ได้เสด็จยาตราทัพลงไประงับการจลาจล ในแหลมมลายูทางภาคใต้
                    สำหรับหลักฐานของไทยเราเอง ในศิลาจารรึกของพ่อขุนรามคำแหงได้กล่าวถึงอาณาเขตของกรุงสุโขทัยว่าครอบคลุมไปตลอดแหลมมลายู
                    จากหลักฐานในจดหมายเหตุของจีน และหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯ สมัยสมัยสุโขทัย แสดงให้เห็นว่า มลายูอยู่ในการปกครองของอาณาจักรไทยมาเป็นเวลาเกือบ ๘๐๐ ปีมาแล้ว
                    สมัยอยุธยา  มลายูยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรไทยในฐานะประเทศราชเช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัย
    ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารของไทย และพระราชพงศาวดารของจีน คือ
                    ในสมัยอยุธยาตอนต้น พระราชพงศาวดารในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเมืองมลายู และเมืองมะละกาเป็นประเทศราชของไทย  ผู้ครองนครได้ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองแก่ไทยเป็นประจำทุกปี
                    ในพระราชพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๐ ได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าจักรพรรดิจีนได้ส่งขันทีที่ชื่อยันฉิ่ง เป็นทูตมายังเมืองมะละกา ได้กล่าวว่า "ประเทศนี้ไม่มีกษัตริย์และไม่เรียกอาณาจักร แต่เป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรไทย ซึ่งต้องส่งทองคำเป็นบรรณาการแก่ไทยเป็นประจำปี ๆ ละ ๔๐ ตำลึง  หัวหน้าชื่อไป๋ลีสูล่า (ปรเมศวร)..."
                    นอกจากจีนแล้วยังมีชาติตะวันตกในสมัยนั้นยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือดินแดนแหลมมลายูด้วย ชาติแรกคือ โปร์ตุเกส ซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติแรก ที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ได้มีชาวโปร์ตุเกสที่เป็นนักประวัติศาสตร์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๙๒ ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรไทย ในสมัยอยุธยาครั้งนั้นไว้ในหนังสือชื่อ เอเชีย โปร์ตุเกซา (Asia Portugueza) ว่ามหาอาณาจักรไทยในเวลานั้น เป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดอาณาจักรหนึ่งในเอเชียตะวันออก นอกจากนั้นก็มีอาณาจักรจีน และอาณาจักรพิชัยนคร (อยู่ในอินเดีย)  มีแม่น้ำสายใหญ่ผ่านกลางประเทศตั้งแต่เหนือลงมาใต้ มหาอาณาจักรมีความยาว ๙๙๐ ไมล์   ทางตะวันตกจดอ่าวเบงกอล ทางใต้จดมะละกา ทางเหนือจดประเทศจีน และทางตะวันออกจดเขมร พื้นที่เป็นภูเขา และที่ราบ มีประชาชนหลายเชื้อชาติหลายภาษา เข้ามาพึ่งพิงอาศัย
                    ชาวตะวันตกอีกชาติหนึ่งคือชาวฝรั่งเศสได้บันทึกยอมรับอำนาจของไทยเหนือดินแดนในแหลมมลายู คือ เมอซิเออร์ ลานิเยร์ (Monsieur Lanier) ได้เข้ามายังเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รวบรวมจดหมายเหตุฝรั่งเศส ซึ่งชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ โดยได้กล่าวถึงราชอาณาจักรไทยสมัยอยุธยา ในเวลานั้นว่า "เวลานั้นเจ้าแผ่นดินเขมร ยะโฮร์ ปัตตานี ไทรบุรี และยำบิ ล้วนแต่เป็นเมืองขึ้นของไทยทั้งนั้น และทุก ๆ ปี ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามทุกคน"
                    สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์  ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แหลมมลายูคงอยู่ในราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา แต่ดินแดนบางส่วนของแหลมมลายู เริ่มถูกอิทธิพลของชาวตะวันตกหลายชาติ เข้ามายึดครองไปอยู่ในอำนาจของตน ตามลำดับเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ แหลมมลายูในส่วนที่เป็นประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ในปัจจุบันได้ตกไปอยู่ในการปกครองของชาติตะวันตก
        ไทยเสียดินแดนมลายู และการเข้ายึดครองมลายูของอังกฤษ
                    ไทยเสียมะละกาให้โปร์ตุเกส  มะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทยมาช้านาน จนปรากฏว่า มะละกาได้รับวัฒนธรรมไทยไว้มากกว่าแห่งอื่น ยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
                    ในปี พ.ศ.๒๐๕๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา โปร์ตุเกสได้ส่งกองเรือสินค้าเดินทางมาถึงเมืองมะละกา ได้เกิดเป็นปรปักษ์กับชาวอาหรับ และชาวพื้นเมือง จึงถูกยึดเรือ จึงได้ขอร้องไปยังผู้สำเร็จราชการเมืองกัวให้มาช่วยเหลือ มีการยกกำลังมายังเมืองมะละกาในปี พ.ศ.๒๐๕๔ ยึดเมืองมะละกาได้ และขับไล่พวกอาหรับออกไป ต่อมาเมื่อทราบว่ามะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทย จึงได้แต่งทูตเดินทางเข้ามาเจรจาทางไมตรีขอเมืองมะละกาจากไทยในปี พ.ศ.๒๐๖๒ ทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่หันไปนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ประกอบกับไทยได้ทอดทิ้งเมืองมะละกามาช้านาน
    เพราะหนทางไกล การไปมาติดต่อปกครองดูแลไม่สะดวก จึงทรงยอมรับไมตรีของโปร์ตุเกส และยอมยกเมืองมะละกาให้โปร์ตุเกส นับเป็นครั้งแรก ที่ไทยเริ่มเสียดินแดนในแหลมมลายูให้แก่ชาวตะวันตก
                    โปร์ตุเกสครอบครองมะละกาอยู่ ๑๓๐ ปี ก็เสียมะละกาให้แก่ฮอลันดาซึ่งได้เข้ามายึดครองเซลังงอร์ และเปรัคไว้เป็นที่ทำการค้าแล้ว ต่อมาฮอลันดาได้ยกมะละกาให้อังกฤษ เพื่อแลกกับเมืองเบนดูเลนหรือปันกุลัน
                    ไทยเสียเกาะหมากหรือปีนังให้อังกฤษ  เป็นการเสียดินแดนในแหลมมลายูเป็นครั้งที่สองของไทย ซึ่งอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมเกาะปีนังขึ้นอยู่กับเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย
                    ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ พระยาไทรบุรีแข็งเมือง เพราะไทยกำลังผลัดแผ่นดินใหม่ และกำลังยกกองทัพไปปราบเมืองปัตตานีที่แข็งเมืองอยู่เช่นกัน เมื่ออังกฤษมาขอเช่าเกาะปีนัง จากพระยาไทรบุรี ๆ จึงยอมให้เช่าโดยมอบหมายให้อังกฤษเป็นผู้คุ้มครอง อังกฤษยังได้ขอซื้อดินแดนบนแผ่นดินใหญ่ของรัฐไทรบุรี ที่อยู่ตรงข้ามกับเกาะปีนัง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันพวกโจรสลัด
                    อังกฤษได้สิงคโปร์และดินดิงส์  อังกฤษเห็นว่าเกาะสิงคโปร์เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นศูนย์การค้า จึงได้ขอซื้อจากสุลต่านยะโฮร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗  ส่วนดินแดนที่เรียกว่าดินดิงส์และหมู่เกาะต่าง ๆ ที่อยู่ในการปกครองของสุลต่านแห่งเปรัค อังกฤษก็ขอเช่าจากสุลต่านแห่งยะโฮร์ ๆ ยอมขายให้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙
                    อังกฤษตั้งเสตรต เซ็ตเติลเมนต์ (Straits Settlement)  ในปี พ.ศ.๒๔๐๑ รัฐบาลอังกฤษได้เลิกกิจการของบริษัทอินเดียตะวันออก แล้วโอนดินแดนในแหลมมลายู ที่อยู่ในครอบครองของบริษัท มาเป็นของรัฐบาลอังกฤษ ดินแดนดังกล่าวได้แก่ เกาะปีนัง เกาะสิงคโปร์ ดินดิงส์และมะละกา เรียกว่า เสตรต เซตเติลเมนท์ มีชาวอังกฤษเป็นผู้สำเร็จราชการโดยตรง ให้เกาะสิงคโปร์เป็นเมืองหลวง
                    อังกฤษยึดเมืองอื่น ๆ อีก  ในระยะต่อมา อังกฤษได้มุ่งครอบครองดินแดนบนแผ่นดินใหญ่ของแหลมมลายู เมื่อเห็นว่า เมืองใดมิได้มีหลักฐาน เป็นเมืองขึ้นของไทยอย่างเด็ดขาดโดยตรง ก็และเล็มเลียบเคียงเอากับสุลต่านผู้ครองเมือง แต่ถ้าเห็นว่าเมืองใดเป็นเมืองขึ้นของไทยอย่างเด็ดขาดโดยตรง ก็ยังไม่กล้าเข้ามาวุ่นวาย เช่น เมืองไทรบุรี (เคดาห์)  กลันตัน ตรังกานู และเปอร์ลิส เป็นต้น
                    สำหรับเมืองที่เป็นอิสระและกึ่งประเทศราชของไทยที่อังกฤษหาเหตุยึดเอาไปเป็นเมืองขึ้นได้แก่
                        รัฐเปรัค  ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ได้เกิดจลาจลในรัฐเปรัค อังกฤษขอให้สุลต่านแห่งเปรัคทำการปราบปราม แต่ไม่สามารถปราบได้ อังกฤษจึงถือโอกาส เข้าปราบปรามเอง เมื่อสงบราบคาบแล้วอังกฤษก็ไม่ยอมถอนกำลังกลับ ในที่สุดรัฐเปรัคก็ตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ โดยอังกฤษส่งข้าหลวงใหญ่ (Resident) มาปกครอง
                        รัฐเซลังงอร์  ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน รัฐเซลังงอร์ก็ได้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม  และบังเอิญ นายทหารอังกฤษถูกฆ่าตาย อังกฤษ จึงถือโอกาสบังคับทำนองเดียวกับรัฐเปรัค และให้คนอังกฤษเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำอยู่ในราชสำนักสุลต่านด้วย
                        รัฐนครีเซมปิลัน  ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ เกิดการแย่งชิงราชสมบัติในรัาฐนครีเซมปิลัน และเกิดจลาจลทั่วไป อังกฤษถือเป็นข้ออ้างเข้าไปรักษาความสงบ และยึดเป็นรัฐในอารักขา
                        รัฐปาหัง  เป็นรัฐเก่าแก่ของไทย เคยมีคนไทยไปเป็นเจ้าเมืองปกครองมาแต่โบราณ ได้เกิดเหตุการณ์คนจีนในบังคับอังกฤษ ถูกฆ่าตายในเมืองปากัน รัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปร์ขอให้จัดการสอบสวน และส่งตัวคนร้ายไปให้อังกฤษที่สิงคโปร์ แต่สุลต่านรัฐปาหังไม่ยอมปฎิบัติตาม แต่ในที่สุดก็ยอมให้อังกฤษตั้ง
    ข้าหลวงใหญ่มาประจำเช่นเดียวกับรัฐอื่น ๆ
                        ในที่สุดรัฐต่าง ๆ ในแหลมมลายูได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเกือบหมดสิ้น คงเหลือรัฐยะโฮร์ซึ่งเป็นรัฐอิสระ ปกครองตนเองได้เพียงรัฐเดียว กับอีกสี่รัฐของไทยคือ ไทรบุรี เปอร์ลิส กลันตัน และตรังกานู
                        อังกฤษตั้งสหพันธรัฐมลายู ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ อังกฤษได้รวมรัฐทั้งสี่ที่ได้มาใหม่คือ รัฐปาหัง เปรัค เซลังงอร์ และนครีเซมปิลัน เข้าเป็นสหพันธรัฐมลายา (Fedetated Malaya Ststes)  โดยมีเมืองกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งอยู่ในรัฐเซลังงอร์เป็นเมืองหลวง
                    ไทยเสียสี่รัฐมลายู ครั้งสุดท้ายให้อังกฤษ  นับเป็นการสูญเสียที่มีความหมายแก่ไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งสี่รัฐมีความผูกพันกับราชอาณาจักรไทยอย่างใกล้ชิด มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและต่อเนื่องกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกลันตัน ไทรบุรี และเปอร์ลิส มีประชากรพื้นเมืองเป็นคนไทยแท้ ๆ และเป็นชาวพุทธ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนดังกล่าว นับร้อยปีมาแล้ว ไม่อาจละทิ้งถิ่นฐานอพยพออกมาได้ ต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนดังกล่าวไป
                    สาเหดุการเสียดินแดนสี่รัฐมลายู (มาลัย)  ดังกล่าวสอบได้ว่า เกิดจากสนธิสัญญาที่อังกฤษทำกับไทย ในลักษณะที่เอาเปรียบทุกด้าน เป็นการเข้ามาทำสัญญาในลักษณะที่มีเรือรบ และมีปืนเข้ามาเจรจาด้วย สัญญาดังกล่าวมีอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจศาล หรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extra Tentoriality) ซึ่งเป็นที่มาของการเสียดินแดนส่วนนี้
                    อังกฤษได้เริ่มเข้ามาติดต่อกับประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๕ โดยมาขออนุญาตตั้งสถานีการค้า ตามหัวเมืองชายทะเลของไทย และในกรุงศรีอยุธยา จากนั้นก็ได้ติดต่อกันอีกเป็นระยะ ๆ ตลอดมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ อังกฤษกับไทย เริ่มมีไมตรีกัน ตามแบบธรรมเนียมทางการทูตของอารยประเทศ ได้มีการทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ สัญญาฉบับนี้ไทยเริ่มเสียเอกราชทางศาล โดยอังกฤษได้กำหนดให้คนในบังคับอังกฤษ เมื่อทำผิดกฎหมายในราชอาณาจักรไทย ไม่ต้องขึ้นศาลไทย ศาลกงสุลของอังกฤษจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีเอง ไทยจำเป็นต้องยินยอม เพื่อรักษาความเป็นเอกราชส่วนใหญ่ไว้
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ไทยต้องยอมยกดินแดนสี่รัฐมลายู ให้แก่อังกฤษเพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยให้คนในบังคับอังกฤษทุกประเภท ต้องขึ้นศาลไทย รวมทั้งอังกฤษให้ไทยกู้เงินมาสร้างทางรถไฟสายใต้ สัญญานี้เรียกว่า สัญญากรุงเทพ ฯ (Bangkok Treaty) กระทำในปี พ.ศ.๒๔๕๒
                    การปกครองระหว่างเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  อังกฤษได้จัดการปกครองรัฐต่า งๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน บางครั้งอังกฤษปกครองเองโดยตรง ผู้ปกครองและข้าราชการล้วนเป็นชาวอังกฤษ บางรัฐปกครองแบบเมืองขึ้น โดยให้สุลต่านปกครองตามเดิม อังกฤษเพียงส่งข้าหลวงมาควบคุม การแบ่งการปกครองเป็นดังนี้
                        การปกครองแบบเสตรต เซตเติลเมนต์ (Straits Selllement)  ได้แก่ เกาะปีนัง เกาะสิงคโปร์ และมะละกา อังกฤษได้เข้าปกครองโดยตรง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๒ - ๒๔๑๐ เดิมอยู่ในความดูแลของบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company)  ต่อมาอังกฤษได้ส่งข้าหลวงมาควบคุม จึงให้ขึ้นตรงต่อกระทรวงอินเดีย แล้วเปลี่ยนไปสังกัดกระทรวงอาณานิคม เรียกรัฐทั้งสามนี้ใหม่ว่า คราวน์ โคโลนี (Crown Colony)  โดยอังกฤษส่งข้าหลวง (Governor)  มาควบคุม มีอำนาจในการบริหารในฐานเป็นประมุขของรัฐ รับผิดชอบต่อกษัตริย์อังกฤษโดยตรง ในการบริหารงาน
                        สหพันธรัฐมลายา (Fedetated MalayaStates - FMS)  แต่เดิมรัฐเปรัค ปาหัง เซลังงอร์ และนครีเซมปิลัน อังกฤษได้ส่งข้าหลวง (Resident) ไปประจำทุกรัฐ ต่อมารัฐทั้งสี่นี้ได้รวมกันจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐมลายู ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ ประมุขของรัฐคือ ข้าหลวงใหญ่ (High Commissionor)  ซึ่งเป็นข้าหลวงของเสตรต เซตเติลเมนต์ (Straits Settlement)  ด้วย และข้าหลวง (Resident) ของแต่ละรัฐ เข้าร่วมประชุมปรึกษา
                        สภาสหพันธ์ (Federal Council)  ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ มีสมาชิก ๘ คน คือ ข้าหลวง (Resident) ของอังกฤษสี่คน ประชาชนในรัฐอีกสี่คน ต่อมาได้เพิ่มประเภทหลังเป็นแปดคน รวมสิบสองคน
                ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ เจ้าผู้ครองรัฐทั้งสี่ในสหพันธ์ได้ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญ สภาสหพันธ์ขึ้น ให้เพิ่มสมาชิกเป็น ๒๔ คน ในแต่ละรัฐประกอบด้วยเจ้าผู้ครองนคร ข้าหลวง (Resident)  และสภาแห่งรัฐ (State Council) เป็นที่ปรึกษา
                        รัฐนอกสหพันธ์ (Unfederated States)  ได้แก่ สี่รัฐมลายู ซึ่งอังกฤษได้ไปจากไทย รวมกับรัฐยะโฮร์ (Johore) ในแต่ละรัฐมีที่ปรึกษาประจำ แต่ให้ชาวมาเลย์มีส่วนร่วมในการปกครองในรัฐเหล่านั้น มากกว่ารัฐในสหพันธ์
                 ยุคหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา
                    การจัดตั้งองค์กรทางการเมือง  ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๕ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองมลายู และบอร์เนียว จนสงครามยุติในปี พ.ศ.๒๔๘๘
                    ก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีการกระตุ้นเรื่องเชื้อชาติมาเลย์จากหลายองค์กร ความรู้สึกชาตินิยมยิ่งรุนแรงขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้มีการตั้งพรรคอัมโน (United Malays National Organization - UMNO) เพื่อเป็นหัวหอกในการต่อสู้ให้ได้อิสรภาพของประเทศ
                    ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ คณะกรรมการแองโกล - มาลายัน ซึ่งประกอบด้วย มาลาย อังกฤษ บอร์เนียวเหนือ และซาราวัค ได้ทำการสำรวจประชามติ เพื่อตั้งประเทศมาเลเซียขึ้น ประกอบด้วย มลายา ซาบาห์ ซาราวัค และสิงคโปร์
                    ต่อมาสิงคโปร์ ได้แยกตัวออกมาตั้งเป็นประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
                    การปกครองหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา  เมื่อสงครามสงบลงอังกฤษได้กลับมาครอบครองมาเลเซียอีกครั้ง โดยการรวมรัฐมาเลย์ทั้งเก้ากับปีนัง และมะละกา เข้าด้วยกัน โดยมีข้าหลวงอังกฤษทำการปกครอง และมีสภาบริหาร (Executive Council)  กับสภานิติบัญญัติ (Legistative Conncit) เป็นผู้ช่วยราชาของรัฐต่าง ๆ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี และทางศาสนาของมลายู ส่วนสิงคโปร์ก็ให้เป็นอาณานิคมแยกต่างหากออกไป
                    การปกครองในรูปสหภาพมลายัน (Malayan Union)  โดยใช้รัฐธรรมนูญเริ่มในปี พ.ศ.๒๔๘๙ การจัดรูปแบบการปกครองดังกล่าว ทำให้เกิดมีการคัดค้านจากหลายฝ่าย อังกฤษจึงได้พิจารณารูปแบบของระบบการปกครองใหม่ และได้เสนอแบบสหพันธ์ (Federtion)  แต่ระบบนี้ก็ได้รับการคัดค้าน จากกลุ่มคนที่ไม่ได้มีเชื้อชาติมลายู อย่างไรก็ตามสหพันธ์มลายูก็ได้ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๔๙๑ โดยถือเอาข้อตกลงสหพันธ์ (Federtion Agreement) พ.ศ.๒๔๙๑ เป็นหลัก ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษ เป็นหัวหน้ารัฐบาลของสหพันธ์ และมีสภาบริหารกับสภานิติบัญญัติ ที่ข้าหลวงใหญ่เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาทั้งสองนี้ แต่รัฐบาลก็ยอมรับในอำนาจบางประการของผู้ปกครองรัฐ และอำนาจอารักขาของอังกฤษมีมาอยู่แต่เดิมก็ยังมีอยู่
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ มลายูก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๐๐ ของสหพันธ์มลายู ถือว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่มีบืบัญญัติว่าประชาชนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาอื่นได้
                ยุคก่อนตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย  สหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia)  เป็นประเทศใหม่เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ โดยการรวมกลุ่มของดินแดนซึ่งประกอบด้วย สหพันธรัฐมลายา สิงคโปร์ ซาราวัค และซาบาห์ (บอร์เนียวเหนือ) เข้าด้วยกัน ก่อนหน้านี้ดินแดนเหล่านี้ มีฐานะต่าง ๆ กันคือ
                    สหพันธ์มลายา (Feration of Malaya)  เป็นดินแดนเอกราชรวมอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาเกือบร้อยปี อังกฤษเพิ่งมาให้เอกราชเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ ๑๑ รัฐคือ เปอร์ลิส เคดาห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ตรังกานู เปรัค ปาหัง เซลังงอร์ นครีเซมปิลัน มะละกา ปีนัง และยะโฮร์ มีกษัตริย์เป็นประมุขเรียกว่า ยังดี เปอร์ตวน อากง (Yang - Di Pertuan Agong)  ไม่มีการสืบสันติวงศ์ แต่สืบราชสมบัติ โดยการได้รับเลือกตั้งจากสุลต่าน (Sultan) หรือเจ้าผู้ครองนครจากรัฐ ๙ รัฐ ยกเว้นปีนัง และมะละกา อยู่ในตำแหน่งห้าปี แล้วเลือกตั้งใหม่ สหพันธรัฐมลายา มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
                    สิงคโปร์  เป็นดินแดนที่มีสิทธิปกครองตนเอง อยู่ในความควบคุมของอังกฤษในด้านการต่างประเทศ และด้านการทหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒ มีประมุขเรียกว่า ยังดี เปอร์ตวน นครา (Yang - Si Pertuan Negara)  สิงคโปร์ต่อมาได้แยกตัวเป็นอิสระ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
                    ซาบาห์ (Sabah)  หรือบอร์เนียวเหนือ  อยู่เหนือสุดของเกาะบอร์เนียวเหนือ บริษัทบอร์เนียวเหนือของอังกฤษได้ปกครองดินแดนส่วนนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๔ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓ จึงได้ยกฐานะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และได้รับสิทธิปกครองตนเอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
                    ซาราวัค (Sarawak)  เป็นดินแดนที่ทอดยาวไปตามชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ประชากรของซาราวัค ประกอบด้วยชนหลายเผ่า
                    สุลต่านแห่งบูรไนได้ยกดินแดนส่วนนี้ให้แก่ เซอร์ เจมส์ บรุค (Sir James Brooke) นักเดินเรือชาวอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๘๔ ตระกูลบรุคได้ปกครองดินแดนนี้ติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นยกกำลังเข้ายึดครองในสงครามมหาเอเชียบูรพา ซาราวัคตกอยู่ในอารักขาของอังกฤษมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๑ และยกฐานะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ต่อมในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ก็ได้รับสิทธิปกครองตนเอง


    • Update : 15/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch