หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ประเทศเพื่อนบ้านของไทย-ประเทศเวียดนาม

    ประเทศเวียดนาม


                ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ ๑๒๗,๒๐๗ ตารางไมล์ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน มีรูปร่างยาวโค้ง ตอนกลางแคบทอดเป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ เป็นระยะทางประมาณ ๑,๓๕๐ ไมล์  และมีฝั่งทะเลยาวประมาณ ๑,๔๐๐ ไมล์ รูปร่างคล้ายพัดจีน มีด้านอยู่ทางตอนใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ คือ
                    ทิศเหนือ  ติดต่อกับประเทศจีน ในเขตแคว้นยูนาน กวางสี และกวางตุ้ง
                    ทิศตะวันออก  จรดอ่าวตังเกี๋ย และทะเลจีน
                    ทิศใต้  จรดทะเลจีน และอ่าวไทย
                    ทิศตะวันตก  จรดประเทศกัมพูชา และประเทศลาว
    ลักษณะภูมิประเทศ

                ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นป่าเขาทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับจีน จะมีภูเขามากที่สุด เส้นทางคมนาคม มีแต่ตามช่องเขาต่าง ๆ ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง เป็นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ภาคใต้เป็นที่ราบริมฝั่งทะเล ทำการเพาะปลูกได้ตามพื้นที่ปากแม่น้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงอันกว้างใหญ่
                พื้นที่ในแคว้นตังเกี๋ย พื้นที่ทางตอนเหนือและทางตะวันตกเป็นทิวเขา แต่ละทิวเขาทอดจากตะวันตก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ทางชายแดน ที่ติดต่อกับประเทศจีน ในเขตมณฑลยูนาน และกวางสีเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีหน้าผาชันและเหวลึก มียอดเขาสูงเรียงรายกันไป สิ้นสุดในแนวของหมู่เกาะต่าง ๆ ในอ่างตังเกี๋ย
                    ทิวเขาอันนัม  ซึ่งเป็นแกนของพื้นที่ ประกอบด้วยเทือกเขาที่สลับซับซ้อน และมีที่ราบสูงหลายแห่งอยู่ติดต่อกัน บางแห่งมีความสูงถึง ๓,๑๔๐ เมตร ทิวเขาเหล่านี้แผ่กว้างออกไปในพื้นที่ตอนเหนือ และตอนใต้
                    ที่ราบสูงตอนเหนือ  อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำแดง เป็นบริเวณที่มีหินเขาอัคนี ประกอบด้วยที่ราบสูงที่มีหินทราย และหินปูน ส่วนใหญ่เป็นป่าเขามีบางส่วนเป็นที่นา
                    พื้นที่ลุ่มตังเกี๋ย  เป็นพื้นที่ลุ่มบริเวณปากแม่น้ำแดง รวมกับที่ลุ่มปากแม่น้ำอื่น ๆ อีกหลายสาย ทางภาคเหนือโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มเป็นดินทรายที่ถูกแม่น้ำต่าง ๆ พัดพามาสะสมไว้ จึงเป็นบริเวณที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก โดยเฉพาะพื้นที่ปากแม่น้ำแดงมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตรกรรมพื้นที่ลุ่มบริเวณดังกล่าว โดยทั่วไปมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๑๐ ฟุต มีคลองส่งน้ำเป็นจำนวนมาก แยกจากแม่น้ำแดง นอกจากนั้นยังมีแม่น้ำสายสั้น ๆ อีกหลายสายเช่น แม่น้ำดำที่ไหลจากที่ราบสูงทางตอนเหนือของแคว้นตังเกี๋ย
                    พื้นที่สามเหลี่ยม (Delta)  ที่เกิดจากแม่น้ำมา แม่น้ำซู และแม่น้ำคา ทำให้เกิดที่ลุ่มขยายลงมาทางส่วนใต้ตอนใกล้ทะเล
                    แคว้นตังเกี๋ยเป็นดินแดนที่กว้างขวางที่สุดของเวียดนาม มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ระยะทางจากเหนือจรดใต้ประมาณ ๓๘๐ กิโลเมตร และจากตะวันออกจรดตะวันตก ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร
                    พื้นที่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำแดง  เป็นพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว ส่วนใหญ่เป็นภูเขา เป็นภูเขาหินปูน ความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่าที่ราบตังเกี๋ยมาก
                    แม่น้ำที่สำคัญในบริเวณนี้คือแม่น้ำดำ  ซึ่งไหลผ่านเข้าไปในภูเขาแคบ ๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดแก่พื้นที่แม่น้ำดำไหลขนานไปกับแม่น้ำแดง แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำแดงทางเหนือของกรุงฮานอย กระแสวน้ำไหลเชี่ยวมาก
                    พื้นที่แคว้นอันนัม  เป็นที่ราบแถบริมฝั่งทะเลยาวตลอดลงไปทางใต้ ทางทิศตะวันตกเป็นทิวเขาสูงกั้นเขตแดนระหว่างลาวกับเวียดนาม มีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลลงสู่ทะเล ทางด้านทิศตะวันออก
    ภูเขา แม่น้ำ และที่ราบ

                    ภูเขา  แบ่งออกได้เป็นสามบริเวณคือ
                        บริเวณภาคเหนือของแคว้นตังเกี๋ย  เป็นบริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของแม่น้ำแดง แยกออกเป็นบริเวณย่อย ๆ ได้ สามบริเวณคือ
                            - บริเวณแม่น้ำขาว  กับชายทะเล เป็นบริเวณที่กว้างที่สุด ประกอบด้วยทิวเขา และสันเขา เป็นรูปโค้งซ้อนทับกัน หันเข้าหาทางทิศตะวันออก และทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอยู่สี่ทิวเขาด้วยกันคือ ทิวเขาซองกำ (Soug Gam) อยู่บริเวณตอนกลางของแม่น้ำดำ มีหุบเขาอีกและทะเลสาปหลายแห่ง มียอดสูงสุดประมาณ ๑,๙๗๐ เมตร  ทิวเขางามซัน (Ngan Son) มียอดสูงสุด ๑,๙๓๐ เมตร,  ทิวเขาบัคซัน ( Bac Son) เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเทือง (Song Thuang) หุบเขานี้มีความลาดชันมาก เป็นช่องทางเชื่อมมณฑลกวางสีของจีนกับเมืองลังซัน (Long Son) ของเวียดนาม  ทิวเขาดองเตรียม (Dong Triam) เริ่มจากเมืองฟูลงเทือง (Phu Long Thuang)  ไปจรดชายแดนประเทศจีน มียอดสูงสุด ๑,๕๐๐ เมตร ตอนกลางของทิวเขามีถ่านหินอุดมสมบูรณ์มาก
                            - บริเวณเมืองไทงูเย็น (Thai Ngu Yen)   เมืองตูเย็น (Tuyen)  เมืองเย็นเบ (Yen Bay) และเมืองพูโด (Phu Tho) เป็นบริเวณที่ประกอบด้วยภูเขาเตี้ย ๆ และหุบเขากว้าง ๆ มีทิวเขาสูงอยู่เพียงยอดเดียวคือ ทิวเขาตันดา (Tan Da ) สูงประมาณ ๑,๕๙๐ เมตร
                            - บริเวณที่ราบสูงติดต่อกับชายแดนจีนในเขตมณฑลยูนาน  ที่ราบสูงในมณฑลยูนานของจีน ได้ยื่นเข้ามาทางภาคเหนือของแคว้นตังเกี๋ย ที่ราบสูงเหล่านี้มีลักษณะเหล่านี้มีลักษณะแตกต่างกันมาก ประกอบด้วย ที่ราบสูงปางคาน (Pang Khan)  มีทิวเขาซองเซ (Song Chay)  มียอดสูงประมาณ ๒,๔๓๐ เมตร ที่ราบสูงพูทาคา (Pou Tha Ca) และที่ราบสูงดองตวน (Dong Tuan)  ซึ่งอยู่ในเมืองเคาบัง (Cao Bang) และเมืองลังซัน (Long Son) เหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสั้น ๆ ไหลไปบรรจบแม่น้ำซีเกียว (Si Kiang) ในประเทศจีน
                        ทิวเขาบริเวณแม่น้ำแดงกับแม่น้ำโขง  เป็นบริเวณที่มีทิวเขาหนาแน่นที่สุด ทิวเขาเหล่านี้มีทิศทางจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้
                            - ทิวเขาฟานสีฟัน (Fan Si Pan)  อยู่ระหว่างแม่น้ำแดงกับแม่น้ำดำ มีความยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร มีความสูงประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร สูงสุดประมาณ ๒,๙๘๐ เมตร มีที่ราบสูงทายังพัน (Ta Yang Pan) ซึ่งมีความสูงถึง ๒,๐๐๐ เมตร
                            ทางทิศใต้ของทิวเขาฟานสีฟัน จนถึงที่ราบสูงตรันนินห์ (Tran Ninh) ในประเทศลาว พื้นที่ประกอบด้วยทิวเขาที่มีทิศทางจากตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิวเขาเหล่านี้ก่อให้เกิดลำน้ำและที่ราบเล็ก ๆ ทั้งสองฝั่งของลำน้ำคือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำ เริ่มตั้งแต่เมืองไลเจา (Lai Chau) จนถึงหัวบินห์ (Hoa Binh) ต่อไปจนถึงเมืองวูบาน (Yu Ban) และเมืองฟูโนกวาน (Phu Nho Quan)
                            ที่ราบสูงตั้งแต่ชายแดนติดต่อกับมณฑลยูนาน ประเทศจีนจนถึงที่ราบสูงซองลา (Song la) และที่ราบสูงมอค (Moc)
                            - ทิวเขาตรันห์หัว (Tharh Hoa)  อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมา (Song Ma) ทางตอนเหนือ
                        ทิวเขาอันนัมในแคว้นอันนัมตอนเหนือ  เป็นทิวเขาที่ยาวเหยียดจากบริเวณที่ราบสูงตรันนินห์ (Tran Ninh) ในประเทศลาว ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และขนานกับชายทะเล จากทางตอนเหนือของแคว้นไปสุดทางใต้ของเวียดนาม ทิวเขานี้มีความสูงไม่มากนัก บางตอนแคบมาก และเป็นหน้าผาขัน เป็นทิวเขาที่แบ่งประชากร ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของภูเขา
                    แม่น้ำ  แยกออกได้เป็นสองบริเวณคือ

                        แม่น้ำบริเวณแคว้นตังเกี๋ย  มีแม่น้ำที่สำคัญอยู่สองสายคือ
                            - แม่น้ำแดง  มีความยาวประมาณ ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ในเขตมณฑลยูนาน ประเทศจีน มีทิศทางการไหลจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำแดงไหลเข้าเขตประเทศเวียดนาม ในเขตเมืองลาวกาย (Loa Kay) และมีความยาวจากเมืองลาวกาย จนถึงปากแม่น้ำที่ไหลไปลงสู่ทะเล มีความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ระหว่างเมืองลาวกาย และเมืองเยนเบ (Yan Bay) มีเกาะแก่งอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ มีแควสำคัญ ๆ ของแม่น้ำแดงคือ
                            ทางฝั่งขวามีแม่น้ำดำ และแควนำมู (Nam Mou)
                            ทางฝั่งซ้ายมีแม่น้ำขาว และแควของแม่น้ำขาว ที่สำคัญอีกสามสาย
                            จากตัวเมืองเวียตตรี แม่น้ำแดงเริ่มไหลเข้าสู่ที่ราบลุ่ม และแยกออกไปเป็นหลายสาย ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีน ในอ่าวตังเกี๋ย สายที่สำคัญคือ แม่น้ำเดย์ (Day) คลองเรปิด (Rapid Canel) และคลองแบบบัว ได้เชื่อมแม่น้ำแดงกับแม่น้ำไทยบินห์ (Thai Binh)
                            ปริมาณน้ำในแม่น้ำแดง ในฤดูแล้งกับฤดูน้ำ มีความแตกต่างกันมาก ฤดูน้ำมากอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม น้ำในแม่น้ำแดงมีระดับสูง ไม่เป็นเวลาไม่แน่นอน แล้วแต่ปริมาณฝนตกบนภูเขา
                            - แม่น้ำไทยบินห์ (Thai Binh)  มีความยาวไม่มาก โดยเริ่มต้นจากจุดรวมของแควซองคัด (Song Cad) และซองตัง (Song Thoung) ไปถึงบริเวณที่จรดกับคลองเรปิด ต่อจากนั้นแม่น้ำไทยบินห์ ก็กลายเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำแดง ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง
                            บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง มีแม่น้ำลำคลองใหญ่น้อย มาเชื่อมติดต่อกัน แล้วไหลลงสู่ทะเลจีน ในอ่าวตังเกี๋ย บริเวณนี้ปรากฎว่า มีน้ำท่วมอยู่บ่อย ๆ จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อให้ใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ ในบางแห่งสามารถทำนาได้ปีละสองครั้ง
                            - แม่น้ำบริเวณตอนเหนือของแคว้นอันนัม  ทางตอนเหนือของแคว้นอันนัม มีทิวเขาอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลมากกว่าทางตอนใต้ลงไป แม่น้ำบริเวณนี้จึงมีความยาวกว่าแม่น้ำซึ่งเกิดจากทิวเขาอันนัม ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศลาว แม่น้ำเหล่านี้จะไหลลงสู่ทะเล ทางด้านทิศตะวันออก มีแม่น้ำที่สำคัญ ๆ คือ แม่น้ำชู (Song Cho) และแม่น้ำมา (Song ma) มีความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ไหลลงสู่ทะเลจีนในบริเวณเมืองทันหัว (Than Hoa) มีที่ราบลุ่มระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ และบริเวณปากน้ำใช้ในการเพาะปลูก ต้นน้ำของแม่น้ำดังกล่าว อยู่ในแคว้นซำเหนือของประเทศลาว  แม่น้ำคา (Song Ca) เกิดจากที่ราบสูงตรันนินห์(Tran Ninh) ในประเทศลาว ไหลลงสู่ทะเลจีนบริเวณเมืองวินห์ (Yinh)  แม่น้ำเบนไฮ เป็นแม่น้ำสำคัญอีกสายหนึ่ง เดิมใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างเวียดนามเหนือ กับเวียดนามใต้ ที่เส้นขนานที่ ๑๗ องศาเหนือ
                    ที่ราบ  เป็นที่ราบซึ่งไม่กว้างขวางนัก ส่วนมากจะอยู่แถบชายทะเล หรือระหว่างสองข้างของแม่น้ำ
                        ที่ราบลุ่มแคว้นตังเกี๋ย หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง  เป็นที่ราบลุ่มที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุด ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีความสูงประมาณ ๐ - ๑๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล ในที่ราบนี้มีบริเวณเนินเขาที่เป็นหินบ้างเล็กน้อย ทางทิศใต้มีทิวเขาหินปูน บริเวณเมืองทันห์หัว (Thanh Hoa) ติดต่อกันโดยผ่านช่องเขาดองเกียว
                        ที่ราบทันห์หัว (Thanh Hoa)  อยู่ในแคว้นทันห์หัว หรือในบริเวณลุ่มแม่น้ำมา และแม่น้ำชู มีพื้นที่กว้างขวาง รองลงมาจากที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ใช้ในการเพาะปลูก
                        ที่ราบไงอัน ( Nghi An)  อยู่บริเวณรอบ ๆ เมืองวินห์ (Yinh) หรือบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำคา
                        ที่ราบฮาเตียน (Hatinh)  อยู่บริเวณเมืองฮาเตียน จากที่ราบแห่งนี้ต่อลงไปทางใต้ มีที่ราบชายฝั่งทะเล มีลักษณะแคบยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเล ผ่านเมืองดองฮอย (Dong Hoi) ไปจนถึงที่ราบเมืองกวางตรี(Quoang Tri) และเมืองเว้ (Huc) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงไป
    การคมนาคมขนส่งทางบก

                    ถนน  ถนนที่มีอยู่อาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้คือ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด ทางหลวงท้องถิ่น และทางที่รถยนต์พอจะเดินได้ในบางฤดูกาล
                    บริเวณที่มีทางหลวงมากที่สุดคือ ในแคว้นตังเกี๋ย ซึ่งฝรั่งเศสสมัยที่ปกครองเวียดนามอยู่ ได้สร้างขึ้นไว้สำหรับติดต่อกับประเทศจีน และประเทศลาว นอกจากนั้นเป็นถนนที่ติดต่อระหว่างจังหวัด และภายในจังหวัด
                        ถนนหมายเลข ๑  เรียกว่า ถนนสายแมดาริน (Mandarine Route)  เป็นถนนสายสำคัญที่สุด และเป็นสายที่ยาวที่สุด สร้างขึ้นในคริสตศตวรรษที่๑๙ สมัยจักรพรรดิ์ญวน เริ่มต้นที่เมืองลังซัน (Long Son) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงฮานอย หรืออยู่ทางทิศใต้ของมณฑลกวางสี เป็นเมืองชุมทางที่สำคัญ มีถนนหมายเลข ๔ ขนานกับเขตแดนจีน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงเมืองคาวบัง (Coa Bang) และในระหว่างทางที่เมืองดองเดง (Dong Deng) มีทางแยกไปยังเมืองปิงเซียง (Ping Siang) ในมณฑลกวางสี ประเทศจีน
                        ถนนสายแมนดาริน (Mandarien)  เริ่มจากเมืองลังซัน (Long Son) ไปยังเมืองฮานอย แล้วผ่านไปยังเมืองนินห์บินห์ (Ninh Binh) ขนานไปับชายฝั่งทะเล ผ่านเมืองสำคัญคือ ทันห์หัว (Thanh Hoa) ดองฮอย (Dong Hoi) ลงมาทางใต้ถึงเมืองกวางตรี ผ่านเมืองต่าง ๆ ไปถึงเมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) พนมเปญ มาจดชายแดนไทยในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
                        ถนนหมายเลข ๒  ตั้งต้นจากเมืองฮานอย ผ่านที่ราบสูงตังเกี๋ยขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เลียบไปตามฝั่งแม่น้ำขาว ผ่านเมืองฟูเยน (Phou Yen) วินห์เยน (Vinh Yen) ฮูเยนกวาง (Hu Yen Quang) บัคกวาง (Bac Quang) ไปสุดทางที่เมืองฮาเกียง (Ha Giang)
                        จากเมืองฮาเกียง มีถนนของจังหวัดติดต่อกับเมืองเวนซาน ( Wen Shan) ในมณฑลยูนาน ประเทศจีน ที่เมืองบัคกวาง มีถนนแยกทางซ้ายไปสู่เมืองลาวกาย (Lao Kay)
                        ถนนหมายเลข ๓  ตั้งต้นจากเมืองฮานอย ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ระหว่างถนนหมายเลข ๑ และหมายเลข ๒ ผ่านไปเมืองไทงวูเยน บัคคาน (Bac Kan) แล้วแยกออกเป็นสองสาย ทางซ้ายไปยังเมืองบางลัค (Bao Lac) ทางขวาไปเมืองคาวบัง (Cao Bang) ทั้งสองเมืองดังกล่าวอยู่ติดกับเขตแดนวประเทศจีน
                        ถนนหมายเลข ๔  อยู่ทางภาคเหนือสุดของประเทศ เริ่มต้นจากเมืองมอนเก (Mon Cay) เลียบตามชายแดนประเทศเวียดนามกับจีน ผ่านเมืองลังซวอน เมืองคามบัง ไปยังเมืองบางลัค
                        ถนนหมายนเลข ๕  ติดต่อระหว่างเมืองฮานอยกับเมืองไฮฟอง (Hai Pong) ใช้ในการลำเลียงขนส่งสินค้าจากท่าเรือเมืองไฮฟองไปยังเมืองฮานอย
                        ถนนหมายเลข ๖  ตั้งต้นจากเมืองฮานอยไปทางทิศวตะวันตกผ่านเมืองฮาดอง (Ha Dong) หัวบินห์ ขนานไปกับลำน้ำดา (Song Da) ผ่านเมืองซองลาไปสุดที่เมืองไลเจา (Lai Chau) ในประเทศจีน
                        ระหว่างเมืองโซโบ (Cho Bo) กับเมืองซอนลา มีถนนสามสายที่แยกเข้าสู่ประเทศลาว ในแคว้นวำเหนือ
                        ระหว่างเมืองซอนลากับเมืองไลเจา มีทางแยกไปเมมืองเดียนเบียนฟู และเข้าไปสู่ประเทศลาวทางแคว้นพงสาลี
                        ถนนหมายเลข ๗  แยกจากถนนสายแมนดาริน ที่ฟูเดียนเจา (Phu Dien Chau) ไปทางทิศตะวันตก เลียบไปทางทิศใต้ของแม่น้ำซองคา ผ่านช่องเขาบาเทเลมี (Ba The lemy) ไปยังเมืองเชียงของและเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว
                        ถนนหมายเลข ๘  เริ่มต้นจากเมืองรินห์ไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ประเทศลาว โดยผ่านช่องเขาเหนือ (Ke4o Neva) ผ่านนาเป (Nape) ลัคเซา  (Lak Sao) คำเกิด ไปบรรจบกับถนนระหว่างท่าแขก - ปากซัน เวียงจันทร์ ในประเทศลาว
                        ถนนหมายนเลข ๙  เริ่มต้นจากเมืองฮาเตียน (Ha Tinh) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านช่องเขามูเกีย (Mu Gia) ผ่านบ้านนาเผาถึงเมืองท่าแขกในประเทศลาว
                        นอกจากถนนสายวสำคัญดังกล่าวแล้ว ยังมีถนนที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองต่อเมืองอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำแดง และระหว่างเมืองตามชายฝั่งทะเล
                    ทางรถไฟ  ฝรั่งเศสได้สร้างทางรถไฟไว้ในเวียดนาม ในสมัยที่ปกครองเวียดนามอยู่หลายสายด้วยกัน สายที่ยาวที่สุดคือ สาย Trans Indochina   เชื่อมต่อระหว่างเมืองฮานอย กับเมืองไซ่ง่อน ทางรถไฟในเวียดนาม สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศจีนได้ นอกจากนั้นฝรั่งเศส ยังได้สร้างทางรถไฟสายตะวันตกเฉียงเหนือ ของเมืองฮานอย ผ่านเมืองลาวกาย เข้าไปในประเทศจีนในเขตมณฑลยูนานถึงเมืองคุนยิง
                        ทางรถไฟสายฮานอย - ไซ่ง่อน  เลียบชายฝั่งทะเลขนานกับถนนสายแมนดาริน ผ่านเมืองที่สำคัญคือเมืองฟูลี นามคินห์ ทัมหัวห์และเมืองวินห์
                        ทางรถไฟสายฮานอย - ลังซอน - นัมกวาน (Num Kwan)  ติดต่อเข้าไปยังมณฑลกวางสี ประเทศจีน ยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร
                        ทางรถไฟสายฮานอย - ไฮฟอง  เป็นทางรถไฟสายสั้น ๆ มีสะพานข้ามแม่น้ำแดงแห่งหนึ่ง ยาวปรนะมาณ ๑,๖๘๐ เมตร
                        ทางรถไฟสายฮานอย - ลาวกาย - คุนมิง  มีความยาวประมาณ ๒๗๐ กิโลเมตร ติดต่อกับประเทศจีน ผ่านเมืองเมงจือ (Meng Tzu) ทางรถไฟตัดผ่านช่องเขาและซอกเขา เป็นทางชัน ตัดผ่านอุโมงถึง ๑๗๐ แห่ง
                    ช่องเขา  ถนนติดต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ ในตอนเหนือของเวียดนาม ส่วนมากตัดผ่านภูเขา โดยเลียบไปตามเชิงเขาและแม่น้ำ
                        ถนนหมายเลข ๑  ตอนจากเมืองฮานอยลงมาทางใต้ ต้องตัดผ่านช่องเขาหลายแห่ง ที่สำคัญคือช่องเขาระหว่างเมืองเว้และตุราน
                        ถนนหมายเลข ๗  จากเมืองฟูเดียนเจา แยกจากถนนหมายเลข ๑ ไปยังเมืองเชียงขวาง และเมืองหลวงพระบางของประเทศลาว จะผ่านช่องเขาบาเทเลมี
                        ถนนหมายเลข ๘  จากเมืองวินห์ไปยังเมืองคำเกิดในประเทศลาว จะผ่านช่องเขาเหนือ ที่บริเวณนาเป
                        ถนนหมายเลข ๙  จากเมืองฮาเตียนห์ ไปยังเมืองท่าแขกของประเทศลาว จะผ่านช่องเขามูเกีย

                การคมนาคมขนส่งทางน้ำ  แต่ก่อนการคมนาคมขนส่งทางบกมีน้อย และก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาปกครองเวียดนามนั้นทางรถไฟยังไม่มี ชาวเวียดนามจะใช้แม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ เป็นทางสัญจรและขนส่ง โดยใช้เรือขนาดต่าง ๆ ที่เหมาะกับความลึกของแม่น้ำ
                ในพื้นที่ตอนเหนือมีแม่น้ำแดง แม่น้ำไทยนินห์ ส่วนแม่น้ำในแคว้นอันนัม ที่เกิดจากทิวเขาอันนัมเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ แคบ และกระแสน้ำไหลเชี่ยว ไม่เหมาะแก่การขนส่งทางน้ำ
                    ในแคว้นตังเกี๋ย  ในแม่น้ำแดง ฝรั่งเศสได้ทำเขื่อน และวางทำนบกั้นน้ำ เพื่อใช้ในการเดินเรือ ได้ระยะยาวไกล และใช้ได้ทุกฤดูกาล ในฤดูน้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม ลำน้ำนี้จะใช้ได้เป็นระยะทางประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตร เรือกลไฟจะแล่นไปได้ถึงเมืองวางกาย และในแม่น้ำดำจะไปได้ถึงเมืองไชโย ในฤดูแล้งเรือกลไฟแล่นในแม่น้ำแดงได้เพียงประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร
                    ในพื้นที่สามเหลี่ยมของแคว้นตังเกี๋ย การคมนาคมแบ่งออกเป็นสองตอนคือ
                        ทางแม่น้ำแดงกับแม่น้ำไทยมินห์  แม่น้ำทั้งสองติดต่อกันได้โดยใช้คลองขุด การคมนาคมนับว่าสดวกมีทางน้ำที่ใช้เดินเรือได้เป็นระยะทางประมาณ ๓,๓๐๐ กิโลเมตร
                        ในแคว้นอันนัมตอนเหนือ  ในเขตนี้มีแม่น้ำมา แม่น้ำชู และแม่น้ำเกียว เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ไม่เหมาะแก่การขนส่งทางน้ำ เพราะตอนปากแม่น้ำกว้างและตื้น มีสันทรายขวางอยู่ กั้นไม่ให้ติดต่อกับทะเลได้สะดวก ในฤดูแล้งน้ำตื้น ส่วนในฤดูน้ำกระแสน้ำไหลเชี่ยว พอใช้ในการลำเลียงขนส่งได้ในระยะทางไม่ไกลนัก
                การคมนาคมขนส่งทางทะเล  แม้ว่าเวียดนามจะมีชายทะเลยาวมาก ประมาณ ๑,๒๕๐ กิโลเมตร ตลอดแนวเขตประเทศด้านทิศตะวันออก แต่ไม่มีอ่าวสำหรับจอดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ พอที่จะใช้เป็นท่าเรือได้
                    ชายทะเลระหว่างเมืองมงไค (Mong Cai)  และเมืองไฮฟอง  เป็นบริเวณที่มีอ่าวและเกาะมากที่สุด เกาะเหล่านี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ทางทิศเหนือเป็นเกาะใหญ่ ขนานกับชายทะเลได้แก่ เกาะไกโย (Cai Bau) ทางทิศใต้ประกอบด้วยเกาะเล็ก เกาะน้อย และมีหินโผล่ขึ้นมาจากพื้นน้ำในบริเวณอ่าวอลอง (Along) และอ่าว Faitsi Long ทางทิศตะวันออกของเมืองไฮฟอง มีเกาะใหญ่อยู่เกาะหนึ่งชื่อ เกาะแคทบา (Cat Ba) และมีหมู่เกาะเล็ก ๆ ต่อไปทางทิศตะวันออก
                    ระหว่างเมืองไฮฟองกับเมืองดองฮอย  ชายทะเลตอนนี้ไม่มีอ่าวสำคัญ ชายทะเลแถบนี้มีแหลมยื่นออกมาบ้าง และในบางตอนประกอบด้วยเนินทรายสูง แผ่เข้าไปในแผ่นดิน เนินทรายบางแห่งสูงถึง ๔๐ เมตร เช่น เนินทรายที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองดองฮอย
                    บริเวณมุยรอน (Mui Ron)  มีหาดหน้ากว้าง ๑๐ กิโลเมตร ใกล้ถนนสายหลักคือ ถนนหมายเลข ๑ หรือถนนสายแมนดาริน
                    บริเวณตอนปากน้ำ  มีอยู่เพียงสองแห่ง ที่พอใช้ได้คือ ที่ดองฮอย และที่แม่น้ำเคียนเกียว ใกล้มุยรอน ที่ดองฮอยใช้ได้สำหรับเรือขนาดเล็ก และกินน้ำตื้น ส่วนที่แม่น้ำเคียนเกียว ใช้เรือขนาดเล็กกินน้ำตื้นเข้าไปในลำน้ำได้ถึง ๑๐ กิโลเมตร
                    สรุปแล้วการขนส่งโดยเรือเดินสมุทร ในพื้นที่ดังกล่าวแล้วใช้ท่าเรือเมืองไฮฟองได้เพียงแห่งเดียว มีเรือเดินทะเลเข้าไปขนส่งสินค้าติดต่อกับฮ่องกง และเมืองท่าต่าง ๆ ของประเทศจีน เช่น กวางตุ้ง เอ้หมิง เซี่ยงไฮ้ ทางด้านเหนือและตะวันออก และติดต่อกับสิงคโปร์และอินเดีย ทางด้านใต้และตะวันตก นอกจากนั้นยังติดต่อกับญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์อยู่บ้าง
    ประชากร

                ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติเวียดนามแท้ ประมาณร้อยละ ๘๕ เป็นชาวจีนประมาณร้อยละ ๒ ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยประมาณร้อยละ ๑๔ ประกอบด้วย ชาวโม้ง ( Muong) ไท (Thai) แม้ว (Meo) เขมรมอญ (Mon) จาม (Cham)
                ดินแดนเวียดนาม แต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกมอย (Moi) ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ กันหลายสิบเผ่า มีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับชาวข่าบางเผ่าในประเทศลาว จัดเข้าอยู่ในตระกูลมอญ - เขมร และบางเผ่าในตระกูล ชวา - มลายู พวกมอยมีอยู่มากกว่าล้านคน ส่วนมากอาศัยอยู่ตามภูเขาเหนือไซ่งอน ขึ้นไปจนเหนือเส้นขนานที่ ๑๗ พวกนี้ไม่มีตัวหนังสือใช้ เคร่งครัดในลัทธิไสยศาสตร์ นับถือผีสาง เทวดา อย่างยิ่ง ไม่ชอบพบคนแปลกหน้า
                นอกจากพวกมอยแล้ว ขนกลุ่มน้อยในเวียดนามอีกพวกหนึ่งคือ พวกไทย บรรพบุรุษของพวกไทยอพยพจากประเทศจีน เมื่อประมาณต้นพุทธกาล เข้ามาตามลุ่มน้ำต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ในที่สุดได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นตังเกี๋ย เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มคือ
                        ผู้ไทยดำ  อยู่ในเขตสิบสองจุไทย แถบแม่น้ำซองมา แม่น้ำดำ เมืองซอนลา เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) เมืองฮุง เมืองลอย
                        ผู้ไทยขาว  อยู่ในแถบเมืองไลเจา ใกล้เคียงกับไทยดำ ไทยโท้ ไทยนุง
                        ไทยโท้  อยู่รอบ ๆ บริเวณที่ราบสามเหลี่ยมแม่น้ำแดง ทางทิศตะวันตก และทางทิศเหนือของเมืองฮานอย
                        ไทยนุง  อยู่ตามพรมแดนตังเกี๋ย และมณฑลกวางสีของจีน
                        ยาง  อยู่ในเขตเมืองห้ายาง ทางทิศตะวันออกของเมืองเผาลัก ตรงปากน้ำแคลร์กับน้ำโล
                        มีชนอีกพวกหนึ่ง อยู่ตอนกลางของแคว้นตังเกี๋ยคือ พวกเมือง (Moung) ซึ่งเป็นชาติผสมเวียดนาม ชวา และไทย มีภาษาพูดคล้ายพวกเวียดนามมาก ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเชิงเขา บริเวณใกล้กับเมืองฮานอย และตะวันตกเฉียงใต้ลงไป ตามภูเขากั้นพรมแดนลาว ตรงกับเมืองวินห์ นับว่าเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของเวียดนาม ทางตอนเหนือด้วยเหมือนกัน
                        มีชนอีกสองพวกที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเวียดนามตอนเหนือคือ พวกแม้ว และพวกหม่าน
                        พวกแม้ว  แบ่งออกเป็นสี่พวกคือ แม้วขาวแดง แม้วสาย แม้วดำ และแม้วขาว อาศัยอยู่ตามเมืองชายแดน ที่ติดต่อกับประเทศจีน ทางด้านมณฑลยูนาน ในเขตเมืองลาวกาย เมืองจำปา เมืองฟองโท เมืองไลเจา เมืองแถง และเมืองซอนลา
                        พวกหม่าน  แบ่งออกเป็นห้าพวกคือ หม่านตาปัน หม่านลานเถน หม่านกวางก๊ก หม่านเถาลาน และหม่านกวางตัง อาศัยอยู่ตามภูเขาในเขตเมืองฟองโท เมืองไลเจา เมืองลาวกาย ริมฝั่งแม่น้ำแดง เมืองเกายาง เมืองลาวเชิง เมืองเยนบาย เมืองบองกาย และภูเขาแถบเมืองหัวบินห์ ก่อนที่แม่น้ำดำจะไปบรรจบแม่น้ำแดง
                        ชาวญวน หรือชาวเวียดนาม  เดิมอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ บริเวณมณฑลซีเกียง ฟูเกี้ยน กวางตุ้ง และกวางสี ในปัจจุบัน จัดอยู่ในเผ่าไทย - จีน เพราะภาษาพูดของพวกเวียดนาม มีคำพ้องกับคำไทยในภาษา และคำในภาษาจีนอยู่มาก
                        พวกชนกลุ่มน้อยรวมกันประมาณร้อยละ ๑๕ ของประชากร เวียดนามตอนเหนือนี้ โดยความเป็นมาทางประวัติสาสตร์ เป็นพวกที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับพวกเวียดนาม ในสมัยที่ยังแยกเป็นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ รัฐบาลเวียดนามเหนือได้เคยประสบปัญหาของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้อนุมัติให้มีเขตปกครองตนเองของพวกไทย - แม้ว (Thai - Meo Autonomous) มีพื้นที่ประมาณ ๑๙,๕๐๐ ตารางไมล์ มีชนเผ่าต่าง ๆ อยู่ ๒๐ เผ่า ประมาณ ๓๓๐,๐๐๐ คร และมี Viet - Bac Autonomous Area   มีพื้นที่ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตารางไมล์ มีชนเผ่าต่าง ๆ ๑๕ เผ่า ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คน นอกจากนี้ยังมี Lao - Ha - Yen  Area  อีกด้วย
                    ชาวเวียดนามแท้  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่น ตามที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่ราบตามชายฝั่งทะเลตะวันออก และที่ราบตอนใต้
                    ชาวจีน  ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในย่านการค้า และตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น เมืองโชลอง เมืองไซ่ง่อน (โฮชิมินห์) และเมืองตามชายฝั่งทะเลทั่วไป ชาวจีนที่อยู่ในเวียดนามเกือบทั้งหมด ถือสัญชาติเวียดนาม มีการพักรวมกันเป็นกลุ่ม จัดตั้งสมาคมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า แต่ก็มีชาวจีนบางส่วนประกอบอาชีพทางกสิกรรมเลี้ยงสัตว์
                    ชาวเผ่าไทย  ประกอบด้วย ไทยขาว ไทยดำ ไทยแดง ไทยลาย ไทยโท้ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด จากบรรดาชนที่ไม่ใช่เวียดนามแท้
                    ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามภูเขา เชิงเขา ที่เป็นป่าลึกด้านเหนือ กลาง และตะวันตก และที่ราบสูงภาคกลาง พวกนี้มักไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ชอบอพยพเปลี่ยนที่อยู่เรื่อยไป ไม่นิยมวัฒนธรรมต่างถิ่น ส่วนใหญ่มีความเชื่อในไสยศาสตร์ หาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่ ล่าสัตว์ และหาของป่ามาขาย
                    ชาวเขมร  อาศัยอยู่ตามบริเวณดินแดนดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กับบริเวณใกล้เมืองฮาเดียน ติดต่อกับแดนเขมร ไปจนถึงบริเวณแหลมที่ยื่นออกไปในทะเลจีน มีอาชีพส่วนใหญ่ในการทำการกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ และการประมง นับถือพระพุทธศาสนา และมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายประชากรในประเทศกัมพูชา
                    ชาวจาม  เป็นเจ้าของถิ่นเดิมในดินแดนภาคกลางของเวียดนาม และในภาคใต้ของเวียดนาม แถบชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา แถบเมืองซอด๊อก ไตนินห์ และฟานราง ชาวจามเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมสูงเป็นของตนเองมาก่อน วัฒนธรรมของชาวจามที่เหลืออยู่ในเวียดนามคือ วัดโพนาการ์ (Poh Nagar) ซึ่งอยู่ในภาคกลางของเวียดนาม
                    ชาวเกาะ  เป็นพวกที่มีเชื้อสายอินเดีย อินโดเนเซีย มลายู ทำมาหากินอยู่ทั่วไปในภาคใต้ของเวียดนาม ในแถบชายฝั่งทะเลเข้ามาจนถึงเขตแดน ที่ติดต่อกับกัมพูชา และลาว และขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองเว้ และเมืองกวางตรี ความหนาแน่นอยู่ในภาคกลางของประเทศ
                    เชื้อชาติอื่น ๆ  เป็นชาวต่างประเทศที่เข้าไปประกอบอาชีพเล็กๆ น้อย เป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ทั่ว ๆ ไปตามเมืองใหญ่ ๆ ที่เจริญแล้ว และตามชายแดนที่ติดต่อกัน เช่น ลาว ไทย ฝรั่งเศส และชาวยุโรปอื่น ๆ
                    โดยทั่วไปแล้ว ชาวเวียดนามเป็นชนชาติที่มีนิสัยใจคอมั่นคง มีความขยันขันแข็งในการทำงาน มีความมานะอดทนดีมาก มีความรักชาติ รักอิสรภาพ กล้าหาญ เฉลียวฉลาด และมีความสามัคคีกลมเกลียวกันอย่างแน่แฟ้น ในหมู่คนเวียดนามด้วยกันมีความรู้สึกชาตินิยมอย่างรุนแรง และพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ
                    ปัจจุบันเวียดนามมีหลายศาสนา และลัทธิ แต่ระบบโครงสร้างของสังคมมีพื้นฐาน และได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อมาก ชาวเวียดนามถือว่า ครอบครัวเป็นพื้นฐานความเป็นอยู่ ดังนั้นที่ดินของบรรพบุรุษจึงถือเป็นกรรมสิทธิร่วมกันทั้งครอบครัว มีความเคารพนับถือวิญญาณของบรรพบุรุษ มีความยึดมั่นในลัทธิศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบเนื่องกันมาแต่เดิม
    พัฒนาการทางวัฒนธรรม

                ประเทศเวียดนามตั้งอยู่ติดกับประเทศจีนทั้งทางบก และทางทะเล ทางตอนเหนือของประเทศจึงเป็นเขตที่รับวัฒนธรรมไว้อย่างมั่นคง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่เก่าแก่ ชาวเวียดนามมีประวัติย้อนหลังกลับไปสู่วัฒนธรรมดอง - ซอน ในยุคโลหะในระยะต้น ๆ ชาวเวียดนามพูดภาษา ที่มีเสียงอยู่ในพวกคำพยางค์เดียวเหมือนไทย แต่มีส่วนประกอบอื่น ๆ แบบมอญ - เขมร ปนอยู่
                จีนได้ขยายอำนาจการปกครองถึงเวียดนามตอนเหนือ ในเกือบปลายพุทธศตวรรษที่สาม ในระยะนั้นจีนเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า นาม - เวียด และมีการจัดตั้งประเพณีแบบจีน มีข้าวเป็นอาหารหลัก และดำเนินการบริหารตามแบบจีน ด้วยเหตุนี้การบริหารแบบจีนและวัฒนธรรมของจีนโบราณ จึงได้แพร่หลายในเขตเวียดนามตอนเหนือ และต่อมาก็ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งขณะนั้นกำลังรุ่งเรืองในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เวียดนามมีอารยธรรมที่แตกต่างออกไปจาก ไทย ลาว และเขมร ที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยมีวัฒนธรรมแบบศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เป็นอิทธิพลผสมจากเขตเอเชียกลางโดยผ่านจีน
                หลังจากความเสื่อมของราชวงศ์ถัง ในปี พ.ศ.๑๔๕๐ ชาวเวียดนามได้แยกตัวออกจากการปกครองของจีน และตั้งตัวเป็นเอกราช แต่อิทธิพลด้านวัฒนธรรมของจีน ก็ยังคงมีอยู่ ต่อมาราชวงศ์มองโกลของจีนได้เข้ามารุกราน และยึดได้เมืองฮานอยหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ.๑๙๕๐ เลอลอย ผู้นำขบวนการต่อต้านจีนของเวียดนาม ได้สถาปนาราชวงศ์เลอขึ้น และได้ให้คำกล่าวไว้ว่า "เรามีภูเขาและแม่น้ำของเราเอง มีขนบธรรมเนียมประเพณีของเราเอง" ราชวงศ์เลอ ได้ปกครองเวียดนามอยู่เป็นเวลายาวนาน มีจักรพรรดิ์ที่เข้มแข็งที่สุดของราชวงศ์เลอคือ เลอทันห์ตัน (พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๔๐) ต่อมาก็มีราชวงศ์ที่สำคัญ ๆ และได้ขยายดินแดนลงมาทางใต้เรื่อย ๆ
                การแสดงออกทางวัฒนธรรมในเวียดนาม ในสมัยราชวงศ์เลอ (พ.ศ.๑๙๖๑ - ๒๓๒๙) มีดังนี้
                    วรรณกรรม  เป็นยุคแห่งวรรณคดีจีนผสมกับเวัยดนาม นักประพันธ์ที่สำคัญมี เหงียนไตร ผู้นิพนธ์ ประกาศต่อประชาชนให้มีความรักชาติ ดังตรันกอน ผู้ประพันธ์บทเพลงจากภรรยานักรบ แลกีดอน ผู้ประพันธ์ประวัติศาสตร์ของไดเวียด เป็นต้น บรรดากวี ข้อเขียนทางวรรณคดี และปรัชญาหลายตอน เป็นภาษาจูกิง อันเป็นภาษาจีนชั้นสูง
                    ในราชวงศ์เหงียน (พ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๔๘๘) วรรณคดีในสมัยนี้ยังคงผลิตผลงานเป็นภาษาจีนผสมเวียดนามคือ เขียนด้วยตัวอักษรจีน บทประพันธ์ส่วนใหญ่เป็นผลงานของจักรพรรดิ์เอง แต่ในวรรณคดีในภาษาเวียดนาม ก็ได้พัฒนาไปมากในรัชสมัยนี้
                    ในการเขียนภาษาเวียดนาม ชาวเวียดนามได้อาศัยอักษรที่เรียกว่า ชูนอง ก่อนเป็นอักษรจีนที่แก้ไขตามหลักการของเจ้าตำราแต่ละคน และต่อมาได้ใช้อักษรที่เรียกว่า กว๊อกงื้อ เป็นการถอดภาษาด้วยการใช้อักษรโรมัน ซึ่งคิดขึ้นโดยบาทหลวง อเล็กซองเดรอะ เดอโรด (พ.ศ.๒๑๙๔) อักษรกว๊อกงื้อ หรืออักษรประจำชาติ เป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพียงแบบเดียว
                    นวนิยายในรูปบทกวีที่มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งเขียนด้วยภาษาของปราชญ์ มีคุณค่าทางวรรณคดีมาก ผู้ประพันธ์คือ เหงียนดู (พ.ศ.๒๓๐๘ - ๒๓๖๓) และบทกวีที่รู้จักกันดีที่สุดบทหนึ่งคือ ลุกวันเทียน ผู้ประพันธ์คือ เหงียนดินห์เจียว (พ.ศ.๒๓๖๕ - ๒๔๓๑)  โดยได้อาศัยหลักศีลธรรมตามลัทธิขงจื้อ
                    ในด้านบทละคร ที่เขียนขึ้นส่วนใหญ่ประกอบด้วย เนื้อเรื่องที่ยืมมาจากจีน แหล่งที่มาที่สำคัญได้แก่ นิยาย อิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง สามก๊ก ตัวละครเป็นอย่างเดียวกับงิ้วจีน รูปแบบของบทกวีภาษาเวียดนาม บางทีก็ลอกแบบจีน หรือมิฉะนั้นก็เป็นบทกวีพื้นเมือง
                    ศิลปกรรม  ราชวงศ์เลอ ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นทั่วประเทศ นับว่าเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ของศิลปกรรมเวียดนาม ซึ่งบางครั้งก็แสดงออกด้วยหลุมพระศพของจักรพรรดิ์ ราชวงศ์เลอ ในระยะแรก ๆ จะเหมือนกับหลุมศพของจักรพรรดิ์ในราชวงศ์หมิงของจีน แต่ก็มีสิ่งปลูกสร้างที่เมืองหัวลือ ที่ได้แสดงให้เห็นบุคคลิกภาพ และเป็นตัวของตัวเอง ของศิลปินเวียดนามในการติดตามศิลปะของจีน
                    ต่อมาในราชวงศ์เหงียน (พ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๓๘๘) ในรัชสมัยของจักรพรรดิ์ยาลอง ศิลปกรรมของราชวงศ์เหงียน ส่วนใหญ่แสดงไว้ที่เมืองเว้ สถาปัตยกรรมของพระราชวังจักรพรรดิ์ เป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงศิลปกรรมจีน กรุงปักกิ่งอย่างมาก
                    ศิลปเครื่องเขินของเวียดนาม ได้เริ่มเจริญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ นับได้ว่าเป็นมาตรฐานสูง มีลักษณะลมุนละไมกว่าของจีนและญี่ปุ่น การทำเครื่องเขินนับว่า เป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของเวียดนาม การทำลายรดน้ำ การทำภาพสอดสีต่าง ๆ มีความวิจิตรงามตา


                    สถาปัตยกรรม  เวียดนามได้รับอิทธิพลจากจีนเช่นเดียวกัน ตัวอาคารมักสร้างให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องประดับประดาแบบจีน ส่วนภาพในประดับด้วยไม้แกะสลัก มีลวดลายแบบจีน ซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมเวียดนาม
                    รากฐานของสถาปัตยกรรมในเวียดนาม เกิดจากวิถีชีวิตประจำวัน และแนวความคิดในความเป็นอยู่ของสมัยนั้น ๆ
                    ปฎิมากรรม  รวมถึงงานแกะสลัก และงานหล่อ ได้รับอิทธิพลจากจีน จาม และฝรั่งเศส มาผสมผสานกันแนวคิดดั้งเดิมของตน
                    งานปฎิมากรรมส่วนใหญ่ จะเห็นได้ตามโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ส่วนลวดลายต่าง ๆ ที่ใช้ในงานด้านนี้จะเห็นว่า มีสัตว์ต่าง ๆ เช่น มังกร ม้า เต่า และนกอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืน ความมั่นคงและความสุขสำราญของชีวิต อิทธิพลของจามนับว่าเป็นรองจากจีน งานปฎิมากรรมด้านนี้มีรูปกินรี แจกัน เสาแกะสลัก เครื่องปั้นดินเผาถูกตกแต่งเป็นรูปคนสวมพวงมาลัยบนศีรษะ เป็นต้น
                    ส่วนอิทธิพลของฝรั่งนั้นได้เข้ามาทีหลัง ได้ช่วยปรับปรุงเทคนิคในการทำลวดลายให้สวยงามยิ่งขึ้น แบบฉบับของงานมีลักษณะพิเศษ ไม่ได้สัมพันธ์กับงานสร้างเจดีย์ หรือพระปรางค์ ซึ่งสร้างกันมาแต่ก่อน หรือในสมัยเดียวกัน
                    จิตรกรรม  เวียดนามได้แบบอย่างมาจากจีนหลายอย่าง และในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ภาพเขียนต่าง ๆ ของเวียดนามได้นำมาดัดแปลง และเจือปนด้วยศิลปกรรมฝรั่งเศสด้วย จิตรกรรมจึงมีทั้งสองแบบคือ ทั้งแบบยุโรป และแบบของทางตะวันออก ซึ่งมีสองชั้นด้วยกัน
                    จิตรกรรมชั้นสูง มักจะเป็นภาพเขียนที่บรรยายธรรมชาติไว้อย่างวิจิตรพิสดาร ส่วนจิตรกรรมชั้นต่ำ ก็เป็นภาพเขียนบนผ้าไหม ฉาก ตามหีบไม้ต่าง ๆ ตามภาชนะเคลือบและเครื่องเขิน
                    ดุริยางคศิลป์  เริ่มต้นในราชวงศ์เลอ ได้มีการประพันธ์ทำนอง แบบของชาวจามด้วย
                    ในสมัยราชวงศ์อองได๋ ได้มีการศึกษาดุริยางคศาสตร์ของจีนด้วย ดนตรีประจำชาติของเวียดนามแต่โบราณ ได้รับอิทธิพลจากจีน คำร้องและลีลาของเพลง ได้จากธรรมชาติและความรัก
                    เครื่องดนตรีเวียดนามที่เลียนแบบเครื่องดนตรีจีนมี ขลุ่ยสามรู กระจับปี่ใหญ่ กระจับปี่สั้น ซอด้วง และขิม แต่เครื่องดนตรีเวียดนามที่ประดิษฐขึ้นเอง ในสมัยต่อมาเรียกว่า คอนคิม มีลักษณะคลายแบนโจ และเครื่องดีดชนิดใหม่มีลักษณะคล้ายจะเข้ โดยปกติเครื่องประกอบดนตรีของเวียดนาม ก็คล้ายของชาวเอเชียด้วยกัน
                    โดยทั่วไป ชาวเวียดนามรักการดนตรี รักการร้องเพลง และชอบร้องเพลง ในขณะทำงานหนักร่วมกัน กรรมกร ที่แบกของหนัก ๆ ก็ชอบร้องเพลงขณะทำงาน
                    นาฎศิลป  มีลักษณะลีลาท่าทางการรำ อันเป็นศิลปที่อ่อนช้อย เทียบได้กับศิลปพื้นเมืองของไทยในบางอย่าง ได้แก่ ระบำ เดวียน เด ซึ่งเป็นการร่ายรำที่แสดงถึงชีวิตความสุข และความรักของคนธรรดาสามัญชนบท ระบำซานห์ เทียบ โก เดียว เป็นการเตือนให้ระลึกถึงสมัยที่รุ่งเรืองของดนตรีบริสุทธิ์ของเวียดนาม นาฏศิลปบางอย่างของเวียดนาม ก็ได้รับอิทธิพลจากจีน
                    วัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน  ในเวลาพบปะกัน ชาวเวียดนามใช้การก้มศีรษะ และโค้งตัวเล็กน้อย บางครั้งพวกผู้ชายก็จับมือกัน ซึ่งเป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกจากฝรั่งเศส
                    ในเทศกาลปีใหม่ที่เรียกว่า เท็ต ประมาณปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับตรุษจีน มีขนบธรรมเนียมประเพณีการปฎิบัติคล้ายกับจีน เช่นการให้ของขวัญกันและกัน มีการเลี้ยงดูกัน ตามบ้านจะปักเสาไม้ไผ่ลำยาวไว้ลำหนึ่ง และประดับประดาเสานั้นด้วยใบไม้ ขนนก ลูกกระพวน รูปปลาตัวเล็ก ๆ กระดาษเงิน กระดาษทอง และจุดโคมไฟแขวนไว้ในเวลากลางคืน และมีการต้อนรับปีใหม่เมื่อเสร็จพิธี ก็พากันไปนมัสการปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน ตามวัดวาอารามในพระพุทธศาสนา สมาชิกในครอบครัว ก็พากันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ และสวยงามที่สุด
                    เครื่องแต่งกายประจำชาติเวียดนามคือ ผู้หญิงนุ่งกางเกงแพรยาวสีขาวหรือสีดำ แต่นิยมสีดำมากกว่า สวมเสื้อแขนยาวคอตั้งสูง ตัวเสื้อยาวลงมาจรดข้อเท้า ผ่าสองข้างสูงแต่สะเอว ให้แลเห็นกางเกงด้านข้าง ไว้ผมยาวเกล้ามวย สวมงอบหรือหมวกรูปฝาชีทรงสูง หรือใช้ผ้าสามเหลี่ยมคลุมศีรษะ รวบชายสองข้างมาผูกไว้ใต้คาง รองเท้าปกติใช้รองเท้าไม้ ทำเป็นรูปส้นสูง พ่นสีต่าง ๆ เช่น สีเงิน สีทอง ผู้ชายแต่งกายคล้ายผู้หญิง บางครั้งสวมเสื้อกุยเฮง สวมหมวกดำที่เย็บด้วยผ้า แต่ไม่มีปีก
                    อาหาร ชาวเวียดนามบริโภคข้าวเป็นหลัก เหมือนชาวเอเชียทั้งหลาย และใช้ตะเกียบแบบจีน รสอาหารไม่จัด และเผ็ดร้อนเท่าไทย มีกะปิ น้ำปลา เหมือนไทย นิยมกันผักสดกันมาก
      ศาสนา

                เวียดนาม ไม่มีศาสนาประจำชาติของตนเองมาแต่เดิม มีแต่ลัทธิขงจื้อและเต๋า ตามอย่างชาวจีน เมื่อครั้งยังอยู่ในดินแดนจีนทางใต้ ชาวเวียดนามมีความเชื่อ และนับถือดวงวิญญาณบรรพบุรุษ มีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของผู้ตาย โดยถือว่า "คนตายปกครองคนเป็น" คือ ผู้ที่มีชีวิตอยู่ต้องเคารพเชื่อฟังถ้อยคำโอวาทของบิดามารดา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะดวงวิญญาณเหล่านี้จะคอยปกปักรักษาให้พวกเขาได้รับความสุข พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายทั้งหลายทั้งปวง และจะทำให้เกิดเหตุร้าย หรืออันตราย เมื่อเขาไม่เคารพต่อดวงวิญญาณนั้น ๆ
                ชาวเวียดนามนับถือศาสนาเป็นแบบผสมคล้ายจีนคือ ส่วนใหญ่นับถือลัทธิเต๋า (Taoism) และศาสนาพุทธ นอกจากนั้นมีนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิค เกาได๋ (Coa Dai) ฮัวเหา (Hoa Hao) และขงจื้อ ส่วนศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือน้อยมาก
                ลัทธิเต๋า (Taoism)  มีเล่าจื้อเป็นเจ้าของลัทธิ ได้ตั้งลัทธินี้ขึ้นในประเทศจีน เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชาวเวียดนามนับถือลัทธิเต๋าตามอย่างจีน มีผู้นับถือลัทธิเต๋าอยู่ประมาณร้อยละ ๑๐
                หลักการของลัทธิเต๋า ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกย่อมออกมาจากเต๋า และเต๋าบันดาลให้เป็นไป หรือให้เกิดโดยเฉพาะในเรื่องธรรมชาติ ถือว่ามนุษย์ที่เกิดมาเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของสากลโลกเท่านั้น และถือกำเนิดมาจากเต๋า เหมือนกับสิ่งอื่น จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกฎของเต๋า (ธรรมชาติ)
                คำสั่งสอนของลัทธิเต๋า คล้าย ๆ กับที่มีปรากฎในศาสนาพุทธ เช่น จะตอบแทนความร้ายด้วยความดี ผู้ใดรู้จักผู้อื่นก็เป็นบัณฑิต แต่ผู้ใดรู้จักตนเองก็เป็นผู้ที่ตื่นแล้ว ผู้ใดชนะตนก็เป็นผู้มีเดช ผู้ใดรู้จักพอผู้นั้นเป็นคนมั่งมี ลักษณะของความดีเหมือนน้ำ เพราะมีคุณแก่สิ่งทั้งปวง ฯลฯ


    • Update : 15/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch