|
|
การทหารของไทย 07
การทหารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคต่อมา (พ.ศ. 2394-2468)
ในห้วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เป็นห้วงเวลาที่ชาติมหาอำนาจทางตะวันตก ได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และจัดตั้งอาณานิคมทางดินแดนทางตะวันออก โดยสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาต่อดินแดนในพระราชอาณาเขต และประเทศไทยมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ไทยได้เริ่มปฏิรูประบบต่าง ๆ โดยเลือกสรรเอาแบบอย่างที่ดี ของชาติมหาอำนาจทางตะวันตก มาประยุกต์เข้ากับหลักการเดิมของไทย เริ่มด้วยการจัดการฝึกศึกษา เพื่อพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ในด้านการทหารมีการเสริมสร้างกำลังรบ และวางมาตรการการป้องกันประเทศ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาวะแวดล้อมของโลก
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
การปรับปรุงด้านการจัดและการฝึก
ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจการทหารของไทย จากแบบเก่า มาเป็นแบบชาติตะวันตก มีการจัดตั้ง กองทหารหน้า โดยให้รวบรวมลูกหมู่กองมอญมาฝึก ขึ้นอยู่ในกรมพระกลาโหม ทำการฝึกแบบใหม่ มีอาวุธปืนทันสมัยครบครัน มีกำลังมากกว่ากองทหารอื่น ๆ เป็นหน่วยที่ต้อง ปฏิบัติภารกิจมากหน่วยหนึ่งในยามสงคราม และเป็นหน่วยที่ไปปฏิบัติการก่อนหน่วยอื่นเสมอ ส่วนหน้าที่ในยามปกติคือ การปราบปรามโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดจนเข้าขบวนตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้ง หน่วยนี้นับว่าเป็นหน่วยที่ มีพัฒนาการที่สำคัญต่อไปในยุคต่อมา ในปี พ.ศ. 2394 ได้มีการจัดหมู่เลขลาวและเขมร ในสมุหพระกลาโหม และ หมู่เลขลาวกรุงในสมุหนายก โดยให้เป็นทหารฝึกหัดอย่างยุโรป ในปี พ.ศ. 2395 ได้มีการรวมทหารจากกองทหารรักษาพระองค์อย่างยุโรป และตั้งกองปืนใหญ่อาสาญวนขึ้น เพื่อทดแทนกองอาสาญวน (เข้ารีด) ที่โอนไปขึ้นกับวังหน้า พวกญวนอาสาของวังหลวงนี้นับถือพุทธศาสนา แต่เดิมอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี ต่อมาได้รับอนุญาตให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ในปี พ.ศ. 2398 ให้ย้ายกองทหารอย่างยุโรปทั้ง 3 กอง มาตั้งอยู่ที่สนามไชย ต่อมาได้ให้ขุนหมื่นสิบยก คือ ชักกำลังทหาร 1 ใน 10 จากกรมต่าง ๆ มาเป็นทหารอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า กองเกณฑ์หัด หรือ ทหารเกณฑ์หัด โดยให้มีการหัดแบบฝรั่งเช่นกัน ทำให้มีกองทหารที่จัดขึ้นและฝึกหัดแบบยุโรปในครั้งนั้นอยู่ 4 กอง รวมเรียกว่า กรมทหารหน้า เป็นกรมทหารประจำการ ประกอบด้วย
กองทหารอย่างยุโรปเดิม
กองทหารมหาดไทย เกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ
กองทหารกลาโหม เกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายใต้ และ
กองเกณฑ์หัด ได้จ้างครูชาวอังกฤษมาฝึกสอน 2 คน คือ ร้อยเอก อิมเปย์ (Impey) เป็นนายทหารนอกราชการของกองทัพอังกฤษ ประจำอินเดีย เดินทางมาจากเมืองเมาะลำเลิง มาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2394 เข้ารับราชการเป็นครูฝึกทหารวังหลวง ฝึกทหารในกรมทหารอาสาลาวและเขมร ที่เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์หัดแบบตะวันตกในวังหลวง คนทั่วไปเรียกทหารหน่วยนี้ว่า ทหารอย่างยุโรป หรือ ทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง หน่วยดังกล่าวนี้มีการจัดเป็น กองร้อย หมวด และหมู่ มีนายร้อย นายสิบ ควบคุมตามแบบฝรั่ง จัดออกเป็น 2 กอง คือ กองทหารรักษาพระองค์ ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิม และกองทหารหน้า อีกคนหนึ่งคือ ร้อยเอก น๊อกซ (Knox) เป็นนายทหารนอกราชการกองทัพอังกฤษ ประจำอินเดียเช่นกัน เดินทางเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ได้เข้ามาทำหน้าที่ครูฝึกทหารวังหน้า ร้อยเอกน๊อกซผู้นี้ เมื่อคราวศึกเชียงตุง ปี พ.ศ.2396 ได้นำกองทหารหน้า ซึ่งจัดเป็นรูปกองกำลังพิเศษ เข้าช่วยกำลังส่วนใหญ่ตอนถอยออกจากเชียงตุง ต่อมาเมื่อนายทหารอังกฤษทั้ง 2 นาย ได้ลาออกจากราชการ ก็ได้จ้างนายทหารชาวฝรั่งเศสชื่อ ลามาช (Lamache) มาฝึกแทน และได้รับราชทินนามเป็น หลวงอุปเทศทวยหาญ รับราชการอยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไป จำนวนทหารที่ได้รับการฝึกแบบยุโรป เมื่อเทียบกับกำลังทั้งหมดแล้ว ก็นับว่ามีจำนวนไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นการฝึกเบื้องต้น เพื่อปฏิบัติราชการในยามปกติ
การปรับปรุงด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และป้อมปราการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ปืนใหญ่สำหรับใช้รักษาพระนครยังมีอยู่น้อย มีปืนใหญ่ขนาด 10 นิ้ว ที่สั่งเข้ามาเพียง 200 กระบอก จึงได้มีการจัดหาปืนใหญ่ขนาด 8 นิ้ว และขนาด 12 นิ้ว มาใช้งานอีก เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังจัดหาปืนอาร์มสตรอง ปืนทองเหลือง ปืนหลังช้าง ปืนคาบศิลา และปืนไรเฟิลฉนวนทองแดง เข้ามาใช้ในการรักษาพระนครอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากจะจัดหาจากต่างประเทศแล้ว ยังให้สร้างขึ้นใช้เองอีกส่วนหนึ่ง เช่น ปืนพระสุบินบรรดาล เป็นต้น การปรับปรุงป้อมปราการต่าง ๆ เนื่องจาก กำแพงพระนครเดิมแคบ และคูพระนครด้านตะวันออก เป็นเพียงลำคลอง นอกจากนั้นภูเขาทองวัดสระเกศที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ นั้น ถ้าข้าศึกยึดได้แล้วเอาปืนไปตั้งบนภูเขาทอง ก็จะระดมยิงเข้ามาในพระนครได้ จึงให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นคูเมืองชั้นนอก เมื่อปี พ.ศ. 2395 ใช้เวลาขุด 10 เดือน สิ้นค่าก่อสร้าง 391 ชั่ง (ประมาณ 30,000 บาท) ให้สร้างป้อมเรียงรายเป็นระยะ ตามฝั่งคลองส่วนในพระนคร ตั้งแต่ปากคลองด้านเหนือไปถึงปากคลองด้านใต้ 5 ป้อม คือ ป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมปิดปัจจานึก ป้อมผลาญศัตรู ป้อมปราบศัตรูพ่าย และป้อมทำลายปรปักษ์ เมื่อสงครามลามมาถึงพระนคร ให้ใช้ไม้แก่นหรือไม้ลำปักเป็นค่ายระเนียด บรรจบกันเป็นเขื่อน เพื่อจะได้ต่อสู้กับข้าศึกได้ถนัด นอกจากป้อมทั้ง 5 ป้อมดังกล่าวแล้ว ยังมีป้อมที่สร้างในรัชสมัยของพระองค์อีก 3 ป้อมคือ ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ป้อมหักกำลังดัสกร และป้อมมหานคร
การศึกสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2395 เจ้าเมืองเชียงรุ้ง ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ฝ่ายไทยเห็นว่าประเทศพม่าหย่อนกำลังลง เนื่องจากอังกฤษตีได้เมืองมอญที่อยู่ทางด้านชายทะเล จึงได้ช่วยเหลือเมืองเชียงรุ้ง ให้พ้นจากอำนาจของพม่าและจีนฮ่อ จึงให้ทัพไทยเข้าตีเมืองเชียงตุง แต่เนื่องจากหนทางไกลและกันดาร ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันจนเสบียงอาหารหมด และเกิดการเจ็บป่วยขึ้นในกองทัพ จึงต้องล่าทัพกลับ ทำให้เชียงรุ้งต้องตกไปเป็นของพม่า
กิจการทหารเรือ
กิจการทหารเรือเริ่มแบ่งออกมาชัดเจน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2394 มีหน่วยทหารเรือ 2 หน่วยคือ ทหารเรือวังหน้า ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ มีหน่วยขึ้นสังกัดคือ เรือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสาจาม และ กองทะเล ทหารมะรีน ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม มีหน่วยในสังกัดคือ กรมอรสุมพล ประกอบด้วย กรมเรือกลไฟ กรมอาสาจาม และกรมอาสามอญ ทหารทั้งสองหน่วยนี้เป็นอิสระจากกัน ในระยะนี้มีเรือของฝรั่งชาติต่าง ๆ เข้ามาค้าขายราชอาณาจักรไทยมากขึ้นเป็นลำดับ เรือเดินทะเลเริ่มมีความจำเป็นมากขึ้น และเปลี่ยนจากยุคเรือใบมาเป็นยุคเรือกลไฟเป็นครั้งแรก เรือที่สร้างขึ้นในระยะแรก ๆ เป็นเรือกลไฟจักรข้าง ต่อมาจึงเป็นจักรท้าย ลำเรือต่อด้วยไม้ เครื่องจักรไอน้ำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เรือเหล็กมีเฉพาะที่สั่งต่อจากต่างประเทศ เรือกลไฟลำแรกที่ต่อในประเทศไทยคือ เรือสยามอรสุมพล ต่อเมื่อปี พ.ศ. 2398 เมื่อปี พ.ศ. 2406 พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้ถวายเรือกลไฟให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ คือ เรืออรรคเรศรัตนาสน์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรก ที่เป็นเจ้าของเรือกำปั่นที่ทำด้วยเหล็กทั้งลำ คือ เรือมงคลราชปักษี เป็นเรือของชาวอเมริกัน พระองค์ได้ทรงซื้อมาดัดแปลงเป็นเรือรบและเรือพระที่นั่ง อู่เรือที่สามารถซ่อมสร้างเรือกลไฟของทางการมีอยู่ 3 อู่ ด้วยกันคือ อู่เรือใต้วัดระฆัง เป็นอู่เรือหลวง ได้ใช้งานต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ อู่เรือวังหน้า สร้างขึ้นเพื่อซ่อมสร้างเรือรบและเรือพระที่นั่งของวังหน้า ตั้งอยู่บริเวณโรงทหารเรือวังหน้า ปัจจุบันคือที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อู่เรือบ้านสมเด็จ อยู่ในความอำนวยการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ตั้งอยู่หน้าวัดอนงคาราม สำหรับอู่เรือของชาวต่างประเทศ มีอยู่ 2 อู่ คือ อู่บริษัทแมคลีน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2398 และอู่บริษัทบางกอกด๊อก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2408
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ (พ.ศ. 2411-2453)
การจัดการทางทหารให้ทันสมัยทัดเทียมนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์ มีดังนี้
การจัดการทางทหารก่อน พ.ศ. 2430 1. การจัดตั้งหน่วยทหารมหาดเล็ก เริ่มต้นจากเมื่อ ปี พ.ศ. 2404 ได้มีการทดลองฝึกบุตรข้าราชการ ตามแบบยุทธวิธีแบบใหม่ แบบทหารหน้า เรียกกันว่า มหาดเล็กไล่กา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2411 ก็ตั้งเป็นหน่วยทหารหน่วยหนึ่ง เรียกกันว่า ทหารสองโหล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2413 ก็ได้จัดตั้ง กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และเมื่อมีจำนวนกำลังพลมากขึ้น จึงได้ตั้งขึ้นเป็น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการกรม ดำรงพระยศเป็นนายพันเอก ปี พ.ศ. 2414 ได้มีการจัดระเบียบของหน่วยนี้ให้มั่นคงขึ้น และให้ชื่อว่า กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หลังปี พ.ศ. 2416 ให้จัดตั้งกองทหารม้า กองทหารช่าง และกองทหารแตรวง ขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก ฯ ตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. 2420 หน่วยนี้ก็เป็นปึกแผ่น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2430 เมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น หน่วยทหารเหล่าต่าง ๆ ในกรมทหารมหาดเล็กก็แยกไปตั้งหน่วยใหม่ คงเหลือแต่เหล่าทหารราบ จึงได้ชื่อว่า กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และเมื่อปี พ.ศ. 2450 ก็ได้ชื่อว่า กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
2. การปรับปรุงกรมทหารหน้า เมื่อปี พ.ศ. 2414 ได้โอนทหารรักษาพระองค์ กองทหารล้อมวัง และกองฝีพาย ซึ่งเป็นหน่วยทหารแบบเก่า เข้าสมทบกับกรมทหารหน้า กรมทหารหน้าได้รับการปรับปรุงในด้านต่าง ๆ มาโดยลำดับ มีหน่วยกองทหารม้า กองทหารดับเพลิง และกองทหารข่าวในสังกัด นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้กรมทหารหน้ารับเลขไพร่หลวง และบุตรหมู่ใด กรมใด ที่สมัครเข้ามาเป็นทหารเป็นเวลา 5 ปี จะได้ปลดพ้นหน้าที่ประจำการ ทำให้มีผู้มาสมัครเข้ารับราชการในกรมทหารหน้าเป็นอันมาก นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยไพร่ทั้งหลายให้ไปสู่ความเป็นไท 3. การจัดกองทัพ กำลังในส่วนกลางหรือในกรุง ได้รับการปรับปรุงมาโดยลำดับ โดยแยกทหารบกและทหารเรือ จากกันเป็นสัดส่วน แต่กองทัพหัวเมืองยังคงเดิม คือแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1. กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในบังคับบัญชาของสมุหนายก 2. กองทัพหัวเมืองฝ่ายใต้ ในบังคับบัญชาของสมุหพระกลาโหม 3. กองทัพหัวเมืองชายทะเล ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาพระคลัง
การจัดการทางทหารระหว่าง พ.ศ. 2430-2435 มีการขยายขนาดและปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยต่าง ๆ ประกอบด้วยทหารบก 7 กรม และทหารเรือ 2 กรม เป็นอิสสระแก่กัน ทุกหน่วยขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ในส่วนของกองทัพบก 7 กรม ได้แก่ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารรักษาพระองค์ กรมทหารล้อมวัง กรมทหารหน้า กรมทหารฝีพาย กรมทหารปืนใหญ่ และกรมทหารช้าง ในส่วนของทหารเรือ ได้มีการจัดตั้งหน่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 อยู่ 2 กรม คือ กรมเรือพระที่นั่งเวสาตร์ ทหารที่มาประจำหน่วยนี้โอนมาจากทหารแคตลิ่ง และทหารมะรีนในกรมคลังแสงเดิม เรือในสังกัดกรมนี้มีอยู่ 9 ลำคือ เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรืออรรคราชวรเดช เรืออรรคเรศรัตนาสน์ เรือประพาสอุดรสยาม เรือไรซิงซัน เรือสุริยมณฑล เรือนฤเบนทร์บุตรี และเรือมณีเมขลา กรมอรสุมผล มีกรมอาสามอญ และกรมอาสาจาม รวมอยู่ด้วย เรือในสงกัดกรมนี้มีอยู่ 8 ลำด้วยกัน คือ เรือมุรธาวสิตสวัสดิ์ เรือยงยศอโยชฌิยา เรือพิทยัมรณยุทธ เรือสยามมงกุฎไชยสิทธิ์ เรือสยามมุปรัสดัมภ์ เรือหาญหักศัตรู เรือต่อสู้ไพรินทร์ และเรืออะโปโล
การจัดตั้งกรมยุทธนาธิการ เนื่องจากหน่วยต่าง ๆ เป็นอิสระแก่กัน ทำให้ขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2428 ได้จัดตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทั่วไปในกรมทหาร เรียกตาม ภาษาอังกฤษว่า Commander in Chief และโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งนี้ ตามประเพณีแต่โบราณ ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 ได้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหาร โดยให้รวมทหารบกและทหารเรือ ตั้งเป็นกรม เรียกว่า กรมยุทธนาธิการ เพื่อรับผิดชอบในการบังคับบัญชา กรมทหารบก และกรมทหารเรือ อย่างใหม่ทั้งหมดให้เป็นระเบียบแบบแผน ตาม พรบ. ฉบับนี้ได้กำหนดไว้ดังนี้ 1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระราชอิสสริยศตำแหน่ง จอมทัพ 2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารทั่วไป 3. นายพลตรี กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ช่วยผู้บังคับบัญชาการทหารเรือ 4. นายพลเรือโท พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ 5. นายพลตรี เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นเจ้าพนักงานใหญ่ใช้จ่าย 6. นายพันเอก พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นเจ้าพนักงานใหญ่ฝ่ายยุทธภัณฑ์ 7. นายพลตรีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บัญชาการรักษาพระราชวัง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้ยกฐานะกรมยุทธนาธิการ เป็นกระทรวงยุทธนาธิการ (Ministry of War and Marinc) โดยมีนายพลเอก เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดี นายพันเอก พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นผู้บัญชาการทหารบก และนายพลเรือโท กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ กระทรวงยุทธนาธิการ แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายพลเรือน ทำหน้าที่ด้านธุรการ การบริการ และการส่งกำลังบำรุง โดยมีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา ฝ่ายทหารทำหน้าที่เป็นส่วนกำลังรบ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ กรมทหารบก และกรมทหารเรือ โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่ง จอมทัพ และโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ รับสนองพระบรมราชโองการ การจัดหน่วยของกรมทหารบก แบ่งออกเป็น 6 หน่วยด้วยกันคือ กรมนายเวรใหญ่ทหารบก กรมปลัดทหารบกใหญ่ กรมยกกระบัตรทหารบกใหญ่ โรงเรียนสอนวิชาทหาร โรงพยาบาลทหารบก และกรมคุกทหารบก ได้มีการขยายอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้น และในส่วนภูมิภาคก็มีการจัดระเบียบ และขยายหน่วยขึ้นอีกหลายหน่วยด้วยกัน
การจัดตั้งกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2435 ได้มีการจัดระเบียบกระทรวงเสนาบดี ตั้งเป็น 12 กระทรวง ในด้านการทหาร กำหนดให้กระทรวงกลาโหม เป็นกระทรวงราชการทหาร แต่เนื่องจากกระทรวงกลาโหมยังต้องทำงานด้านการบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่เดิม จึงยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบราชการด้านการทหารทั้งหมดได้ ดังนั้นจึงให้แยกการบังคับบัญชาทหารเรือ กรมช้าง กรมแสง จากกระทรวงยุทธนาธิการไปขึ้นกับกระทรวงกลาโหม ส่วนกระทรวงยุทธนาธิการก็ยุบเป็นกรมยุทธนาธิการ มีหน้าที่บังคับบัญชาทหารบก ผู้บัญชาการทหารกรมยุทธนาธิการมีตำแหน่งในที่ประชุมเสนาบดีด้วย
กรมยุทธนาธิการในครั้งนั้น ประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ คือ กรมทหารบกใหญ่ กรมปลัดทัพบกใหญ่ กรมยุทธภัณฑ์ กรมคลังเงิน โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายสิบ กองทหารหน้า กองทหารม้า กองทหารปืนใหญ่ กองทหารมหาดเล็ก กองทหารรักษาพระองค์ กองทหารล้อมวัง และกองทหารฝีพาย ในการจัดวางระเบียบใหม่ครั้งนี้ ได้มีพระราชพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลใหม่แก่หน่วยทหารต่าง ๆ ให้เป็นแบบเดียวกัน การปรับปรุงกิจการทหารด้านอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ และเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2431 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขธรรมเนียมกำหนดอายุไพร่ โดยกำหนดไว้ดังนี้ ... บุตรหมู่ทหารเมื่ออายุย่าง 18 ปี ให้ไปลงบัญชีชื่อไว้ในกรมทหาร ครั้นอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ต้องไปประจำการฝึกหัดวิชาทหาร จนอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ และเมื่ออายุครบ 22 ปีบริบูรณ์ ให้มาเข้าเวรรับราชการปีละ 3 เดือน จนอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ จึงปลดพ้นราชการ ทหารที่มีบุตรเข้ารับราชการทหารตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ให้บิดาปลดจากราชการในเวลานั้น เว้นยามศึกสงคราม บุตรจะต้องเป็นทหารตามหมู่บิดาตน ... ในปีเดียวกันนี้ ได้มีการตราพระราชบัญญัติสำหรับกรมทหารขึ้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยง และรางวัลของทหาร โดยกำหนดให้เบี้ยเลี้ยงเฉพาะทหารที่ไปราชการรักษาชายแดนในหัวเมืองลาวและเขมร อันเป็นท้องถิ่นกันดาร และในปลายปี พ.ศ. 2431 ได้มี พรบ. ว่าด้วยศักดินาทหาร และ พรบ. ว่าด้วยลำดับยศนายทหารบก เพื่อเป็นการวางระเบียบในกิจการทหารให้เป็นที่เรียบร้อยสมบูรณ์าขึ้นตามลำดับ
|
Update : 15/5/2554
|
|