|
|
การทหารของไทย 06
การทหารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคต้น
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
ราชอาณาจักรไทย ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทุกทิศทางยิ่งกว่าสมัยใด กล่าวคือ ทางเหนือได้อาณาจักรลานนาไทย รวมทั้งหัวเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น เชียงตุง เชียงรุ้ง และหัวเมืองอื่น ๆ ในแคว้นสิบสองปันนา ทางด้านตะวันออกได้หัวเมืองลาว และกัมพูชาทั้งหมด ด้านทิศใต้ได้ดินแดนตลอดแหลมมะลายู ได้แก่ เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองเประ และเมืองปัตตานี ด้านตะวันตก ได้หัวเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี และเมืองทะวาย
ได้มีสงครามกับพม่าหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญได้แก่สงครามเก้าทัพ เมื่อปี พ.ศ. 2328 พม่ายกกำลังมาครั้งนี้ มีกำลังพลประมาณ 144,000 คน จัดเป็น 9 ทัพ แยกย้ายกันเข้าตีไทย 5 ทาง ทัพบกยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จำนวน 5 ทัพ ยกเข้ามาตีหัวเมืองทางเหนือ 2 ทัพ และยกเข้ามาตีหัวเมืองทางใต้ 2 ทัพ ทั้งหมดยกกำลังเข้าตีพร้อมกันในเดือนอ้ายของปี พ.ศ. 2328 ฝ่ายไทยเห็นว่าทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์มีกำลังมาก และสามารถเข้าถึงกรุงเทพได้ใกล้ที่สุด จึงจัดกำลังเข้าทำการรบ ดังนี้ ทัพที่ 1 ยกไปตั้งรับพม่าที่เมืองนครสวรรค์ เพื่อรับมือกับพม่าที่เดินทัพมาทางเหนือ ทัพที่ 2 เป็นทัพใหญ่มีกำลังพลประมาณ 30,000 คน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นแม่ทัพ ยกทัพไปตั้งรับพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัด เมืองกาญจนบุรี เพื่อรับมือกับพม่าที่เดินทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ 3 ยกไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี เพื่อรับมือกับพม่าที่เดินทัพมาทางใต้ ทัพที่ 4 เป็นกองหนุนทั่วไป ตั้งอยู่ที่กรุงเทพ ฯ
ผลของสงคราม กองทัพไทย ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม โดยการดำเนินกลยุทธที่ยอดเยี่ยมของฝ่ายไทย เริ่มตั้งแต่การวางกำลัง สะกัดการรุกของพม่าอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านการวางกำลัง ณ พื้นที่ที่สำคัญด้วยกำลัง ที่พอเหมาะและจังหวะเวลาถูกต้อง ทำให้สามารถเอาชนะพม่าที่มีกำลังมากกว่าหลายเท่าตัว โดยที่ฝ่ายพม่าต้องถอยทัพกลับไปตั้งแต่อยู่ที่ชายแดน เมื่อกองทัพหลวงของพม่าต้องถอยกลับไป กองทัพพม่าที่ยกมาทางเหนือ และทางใต้ก็ถูกกองทัพไทยปราบได้ราบคาบโดยง่ายในเวลาต่อมา
พม่ายกทัพมาตีไทยอีกครั้งในสงครามที่ท่าดินแดง แต่ก็พ่ายแพ้ไทยกลับไปเมื่อรบกันอยู่ได้เพียง 3 วัน ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีสงครามขนาดใหญ่ระหว่างไทยกับพม่าอีกเลย กิจการทหารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ คงดำเนินตามแบบอย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการรวบรวมตำราพิชัยสงคราม ที่หลงเหลือจากการถูกทำลายจากพม่า มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นแบบแผน ซึ่งก็ได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ระเบียบแบบแผนในการแบ่งเหล่า และการจัดหน่วยทหาร การเตรียมกำลังพล การเกณฑ์ทหาร และกิจการด้านทหารอื่น ๆ คงดำเนินการตามแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ มีการปรับปรุงในส่วนปลีกย่อย เช่น ให้รับราชการทหารเพียงปีละ 4 เดือน โดยหมุนเวียนเป็นวงรอบ 4 รอบ ๆ ละ 1 เดือน ดังที่ปรากฏในกฏหมายตราสามดวง เมื่อปี พ.ศ. 2327
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
การทหารยังคงดำเนินตามแบบอย่างเดิม ในรัชสมัยของพระองค์มีการสงครามไม่มากนัก เมื่อปี พ.ศ. 2363 มีข่าวว่าพม่าจะยกทัพมารุกราน ทางด้านเมืองกาญจนบุรี จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกำลังไปสะกัดข้าศึกสามแห่งด้วยกัน คือ ที่เมืองกาญจนบุรี เพื่อยับยั้งข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ที่เมืองเพชรบุรี เพื่อยับยั้งข้าศึกที่จะเข้ามาทางด่านสิงขร และที่เมืองราชบุรี เพื่อรักษาเมืองราชบุรีไว้ แสดงให้เห็นถึงการใช้ยุทธศาสตร์ที่จะยับยั้งข้าศึกตามเส้นทางเดินทัพที่สำคัญไว้ที่ชายแดน ซึ่งได้ผลมาแล้วอย่างดี ทางด้านตะวันออก ญวนซึ่งแต่เดิมเคยมีสัมพันธไมตรีกับไทย เริ่มขยายอาณาเขตเข้ามาในดินแดนกัมพูชา อาจกระทบกระเทือนถึงไทย จึงได้มีการจัดหาอาวุธปืนใหญ่และปืนเล็กมาใช้ในกองทัพเป็นการด่วน โดยจัดหาจากต่างประเทศ เนื่องจากการศึกสงครามลดน้อยลงไปมาก จึงได้มีการลดหย่อนการเข้ารับราชการทหารลง โดยลดลงเหลือปีละ 3 เดือน จากเดิม 4 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2353การทหารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคต้น
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้มีการปรับปรุงการทหารให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยจัดให้มีการจัดหน่วยทหารราบและทหารปืนใหญ่ขึ้น เป็นหน่วยประจำการ มีการนำชาวรามัญ จากเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) และเมืองปทุมธานี มาฝึกหัดเป็นทหารซีปอย ที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และมีการจัดพวกญวนมาฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่ โดยให้แต่งการแบบทหารซีปอย การปรับปรุงด้านการทหารที่สำคัญพอประมวลได้ ดังนี้
การสร้างป้อมปราการ เพื่อป้องกันข้าศึกที่ยกกำลังมาทางเรือ ให้สร้างป้อมเพิ่มเติม ณ เมืองที่ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำที่สำคัญทั้งสิ้น คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางประกง คือ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมืองสมุทรปราการ ได้แก่ ป้อมปีกกา และป้อมตรีเพชร ที่ตำบลบางจะเกรง ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2371 ป้อมคงกะพัน ที่ตำบลบางปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. 2377 ขยายป้อมผีเสือสมุทร ออกไป 2 ด้าน แล้วให้ถมศิลาปิดปากอ่าว ที่แหลมฟ้าผ่า คงไว้แต่ทางเดินเรือเป็นช่อง ๆ เรียกว่า โขลนทวาร ป้อมเสือซ่อนเล็บ ที่ตำบลบางจะเกรง สำหรับใช้เป็นที่บัญชาการกองทัพ เมื่อปี พ.ศ. 2392 ปากน้ำอื่นๆ ได้แก่ ป้อมวิเชียรโชฎก ปากแม่น้ำท่าจีน ที่เมืองสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ. 2371 ป้อมพิฆาตข้าศึก ปากแม่น้ำแม่กลอง ที่เมืองสมุทรสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2374 ป้อมไม่ปรากฏชื่อ ปากแม่น้ำบางประกง ที่เมืองฉะเชิงเทรา ไม่ปรากฏปีที่สร้าง
การสร้างป้อมปราการที่เมืองหน้าด่าน
เพื่อป้องกันข้าศึกที่ยกมาทางบก ณ บริเวณพื้นที่ชายแดน ติดกับประเทศเพื่อนบ้านคือ ทางด้านตะวันออกติดกับกัมพูชา ทางด้านใต้ติดกับมะลายู และทางด้านตะวันตกติดกับพม่า ดังนี้ สร้างป้อมปราการที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี เพื่อป้องกันด้านตะวันตก คือพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2377 สร้างป้อมไพรีพินาศ และป้อมพิฆาตศัตรู ที่กาญจนบุรี เพื่อป้องกันด้านตะวันออก คือญวณ เมื่อ พ.ศ. 2377 สร้างป้อมปราการที่ตำบลบ่อยาง เมืองสงขลา เพื่อป้องกันด้านภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2379
การสร้างเรือรบ
เพื่อป้องกันข้าศึกที่เข้ามารุกรานทางทะเล เดิมไทยเรามีแต่เรือขนาดเล็ก บรรทุกทหารไม่ได้มาก เป็นปัญหาในการรบและการลำเลียงทหารไปทางทะเล เช่นกรณีศึกเมืองถลาง ที่เกาะภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. 2352 จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ดำเนินการต่อเรือต้นแบบ เพื่อให้ใช้ได้ทั้งในแม่น้ำและในทะเล ได้มีการต่อเรือดังกล่าวเป็นจำนวน 30 ลำ ราคาลำละ 30 ชั่ง และได้พระราชทานชื่อเรือเหล่านั้น เช่น เรือไชยเฉลิมกรุง เรือบำรุงศาสนา เรืออาสสู้สมร เรือขจรจบแดน เป็นต้น ต่อมาเมื่อทราบว่าทางญวน มีเรือรบขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า เรือป้อม ดังนั้น เพื่อสร้างศักยสงครามของไทยไม่ให้ด้อยกว่าญวน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กอง ต่อเรือป้อมขึ้น 80 ลำ ให้ประจำการอยู่ที่พระนคร 40 ลำและส่งไปรักษาเมืองท่าชายทะเล 40 ลำ ต่อมาในห้วงปลายรัชสมัยของพระองค์ ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ต่อเรือกำปั่นรบขึ้นอีกหลายลำ ได้แก่ เรือแกล้วกลางสมุทร เรือพุทธอำนาจ เรือราชฤทธิ์ และเรือวิทยาคม เป็นต้น ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อเรือและเป็นคนไทยคนแรก ที่สามารถต่อเรือสมัยใหม่ได้ คือ จมื่นไวยวรนาถ ซึ่งต่อมาได้เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
การสงครามและการปราบกบถ ในห้วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2325-2362 อังกฤษได้ขยายอำนาจมาทางเอเชียใต้ และตะวันออกไกล ประเทศอินเดียเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ และอังกฤษเริ่มทำสงครามกับพม่า อังกฤษได้ขอให้ไทยส่งกำลังไปช่วย ในฐานะที่เป็นมิตรประเทศของอังกฤษ และทราบว่าไทยกับพม่าเป็นศัตรูกันอยู่ ฝ่ายไทยได้จัดทหารไปช่วยอังกฤษตามที่ได้รับการร้องขอ แต่แล้วก็ต้องยกทัพกลับ เพราะอังกฤษจะให้กองทัพไทยไปขึ้นอยู่ใต้บังคับบัญชาของตน การสงครามครั้งนี้ แต่เดิมอังกฤษต้องการเพียงให้พม่าเปิดประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษ และคิดจะยกหัวเมืองขึ้นของพม่ารวมทั้งเมาะตะมะให้แก่ไทย เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่อังกฤษต้องการจากเมืองมะลายูกับการค้าในเมืองไทย แต่ต่อมาอังกฤษมีความต้องการมากขึ้นหลายประการ เมื่อเสนอมาให้ไทย ไทยเห็นว่าผลประโยชน์ที่ทางอังกฤษเสนอมาให้ไทยนั้น ได้เปลี่ยนแปรไปจากเดิม คือไม่ยอมยก เมืองมะริด เมืองทวาย และเมืองตะนาวศรี ให้ไทย และต้องการให้กองทัพไทยไปขึ้นในบังคับบัญชาของอังกฤษ และเมื่อฝ่ายไทยไม่ยอม ก็ขอให้ไทยส่ง ช้าง ม้า พาหนะในกองทัพไทย ไปใช้ในกองทัพอังกฤษ ฝ่ายไทยเห็นว่าผิดประเพณี ของสิ่งเหล่านั้นเป็นสมบัติของแผ่นดินมีไว้ใช้ในกองทัพเท่านั้น มิใช่ให้ผู้อื่นไปใช้สอย ด้วยเหตุนี้ไทยจึงไม่ยอมร่วมรบกับอังกฤษ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของราชอาณาจักรไทยไว้อย่างดีที่สุด เมื่ออังกฤษทำสงครามชนะพม่าแล้ว ก็ได้แจ้งให้ไทยส่งข้าหลวงออกไปชี้แนวเขตแดน โดยแจ้งว่าเมืองทวายเคยเป็นของไทยมาก่อน ขอให้ไทยส่งข้าหลวงไปชี้ว่า ดินแดนส่วนไหนเป็นของไทย อังกฤษก็จะคืนให้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดกล้า ฯ ให้มีศุภอักษรเสนาบดี ตอบไปมีเนื้อความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำสงคราม เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบวรพุทธศาสนา และเพื่อความผาสุกของสมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฏร์ ไม่ได้ทำสงครามเพื่อขยายพระราชอาณาเขต กรุงพม่านั้น เมื่อพระเจ้ากรุงอังกฤษทรงตีได้แล้วก็ขอให้ทรงรักษาไว้เถิด ทางกรุงสยามไม่มีพระประสงค์ ผลของสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่า อังกฤษยึดได้เมืองต่าง ๆ ทางใต้ของแม่น้ำสาละวินมาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษทั้งหมด ทำให้ปิดเส้นทางที่พม่าใช้เดินทัพมาทำสงครามกับไทย สงครามระหว่างไทยกับพม่าที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลายาวนาน ประมาณ 300 ปี จึงยุติลง
กบถอนุวงศ์ อาณาจักรลาวตกอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มาถึงปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ถือโอกาสที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนไม่ราบรื่น จึงพยายามจะแยกลาวออกจากไทย โดยอาศัยอิทธิพลของญวน เจ้าอนุวงศ์ได้ยกทัพเวียงจันทน์เข้ามายึดเมืองนครราชสีมาไว้ได้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 แล้วกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก ฝ่ายไทยได้ส่งกองทัพขึ้นไปขับไล่กองทัพลาว จากนครราชสีมาไปจนถึงเวียงจันทน์ ยึดเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้ เจ้าอนุวงศ์หนีไปเมืองแง่อันของญวน แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้ และถูกส่งมาที่กรุงเทพ ฯ และถึงแก่พิราลัยเมื่อถูกขังอยู่ไม่นาน
การป้องกันทางทะเลและกำลังทางเรือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กำลังทางเรือใช้สนับสนุนกำลังทางบกให้ลุล่วง ในครั้งที่พม่ายกกำลังทางเรือ ไปตีหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกในครั้งสงคราม 9 ทัพ โดยในขั้นแรกยกกำลังจำนวน 20,000 เศษ พร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปทางเรือแล้ว ไปขึ้นบกที่เมืองชุมพร แล้วจึงยกกำลังทางบกไปตีพม่าที่เมืองไชยา เมื่อพม่าถอยไป กำลังทางเรือก็ยกจากชุมพรไปยังเมืองไชยา บรรจบกับกำลังทางบก แล้วใช้ กำลังทางบกตามตีทัพพม่าที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อพม่าถอยหนีจากเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว จึงยกกำลังทางเรือไปที่เมืองนครศรีธรรมราช และเห็นว่า ควรเป็นโอกาสเหมาะ ที่จะปราบปรามหัวเมืองมะลายูต่อไป จึงได้ยกกำลังทางเรือไปขึ้นบกและตีเมืองปัตตานีได้ ทำให้เจ้าเมืองมะลายูอื่น ๆ มีเจ้าเมืองไทรบุรี และเจ้าเมืองตรังกานู เกรงกลัวเข้ามาอ่อนน้อม กองทัพไทยได้ยกทัพกลับโดยทางเรือ (พร้อมกับนำปืนใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ ปืนนางพญาตานี ซึ่งเป็นปืนใหญ่สำริดที่มีขนาด ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม) กลับถึงพระนคร เมื่อเดือน 11 ปี พ.ศ. 2329 รวมเวลาที่ไปราชการทัพครั้งนี้นานถึง 7 เดือน สำหรับการป้องกันพระนคร จากการรุกรานของข้าศึกทางทะเล ได้มีการสร้างเมืองหน้าด่านที่อยู่ทางใต้ของพระนครลงไปทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาคือ เมืองปากลัด
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พม่าได้เข้ามาตีหัวเมืองชายทะเล คือเมืองชุมพร เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า และเมืองถลาง ฝ่ายไทยใช้กำลังทั้งทางบกและทางเรือเข้าต่อสู้กับพม่า สำหรับกำลังทางเรือจัดเป็น 2 กอง คือ กองแรก ยกกำลังทางเรือไปขึ้นบกที่เมืองไชยา แล้วยกกำลังไปทางบก ผ่านปากพนม เพื่อไปช่วยเมืองถลาง กองที่สอง ยกกำลังทางเรือไปขึ้นบกที่เมืองนครศรีธรรมราช สมทบกำลังกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช แล้วยกกำลังไปทางบก เพื่อไปช่วยเมืองถลาง กองทัพไปไม่ทัน พม่าตีเมืองตะกั่วทุ่งและเมืองตะกั่วป่าแตกก่อน แล้วจึงข้ามไปเกาะถลาง ตีเมืองถลางแตก พอทราบข่าวว่ากองทัพไทยยกมา ก็ถอยหนีไปทางเรือ กองทัพไทยจึงเข้ายึดเมืองถลางไว้ได้โดยง่าย ฝ่ายไทยจับเชลยพม่าได้เป็นจำนวนมาก สำหรับการป้องกันทางทะเล ได้สร้างเมืองปากลัดต่อ แล้วให้ชื่อว่า นครเขื่อนขัณฑ์ ได้มีการสร้างป้อมขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับป้อมเดิมคือป้อมวิทยาคม อีก 3 ป้อม คือ ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง และ ป้อมราหูจร ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สร้างป้อมอีก 5 ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรด และ ป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ ป้อมเหล่านี้ชักกำแพงถึงกัน ภายในป้อมสร้างเป็นคลังเสบียง คลังเครื่องศัตราวุธ และโรงพักของทหาร นอกจากนั้นยังได้ทำลูกทุ่นดึงสายโซ่กั้นแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้ป้องกันเรือข้าศึกแล่นผ่าน ในปี พ.ศ. 2362 เมื่อไทยได้ทราบว่าญวนทำการขุดคลองลัดขนาดใหญ่ จากทะเลสาบเขมรมาออกที่เมืองบันทายมาศ ใกล้กับชายแดนไทยทางด้านตะวันออก ทำให้สามารถใช้กำลังทางเรือยกมายังไทยได้ง่าย จึงได้ให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ และสร้างป้อมที่เมืองนี้จำนวน 6 ป้อม โดยสร้างทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 ป้อม ได้แก่ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ และ ป้อมกายสิทธิ์ สร้างทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ป้อม คือ ป้อมนาคราช และ ป้อมผีเสื้อสมุทร นอกจากนี้ยังได้สร้างป้อมเพิ่มเติมอีกป้อมหนึ่งที่นครเขื่อนขันฑ์ คือ ป้อมเพ็ชรหึง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ตระหนักถึงการรุกรานของข้าศึกทางทะเล ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นตามลำดับ จากกรณีของญวน และกรณีที่อังกฤษพิพาทกับจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับทรงมีพระราชดำรัสว่า "จะไว้ใจทางทะเลไม่ได้" จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเรือรบแบบต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ เรือสำหรับใช้ในลำน้ำ จำพวกเรือยาว ทำเป็นเรือกิ่ง เรือเอกชัย เรือรูปสัตว์ เรือศรี และเรือกราบ ล้วนแล้วเป็นเรือที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค และใช้เป็นพาหนะสำหรับยกกำลังไปทางลำน้ำ เรือที่ใช้ในอ่าวตามชายฝั่ง เรียกว่า กำปั่นแปลง ได้มีการต่อเรือดังกล่าวเป็นจำนวนถึง 80 ลำ เมื่อปี พ.ศ. 2377 เอาไว้ใช้ที่พระนคร 40 ลำ และนำไปใช้ตามหัวเมืองชายทะเลอีก 40 ลำ เรือกำปั่นใบใช้ในทะเล จมื่นไวยวรนาถ ร่วมกับฝรั่งชาวยุโรป ได้ร่วมกันสร้างขึ้นในไทย เป็นเรือกำปั่นรบสำหรับใช้ลาดตระเวนทางทะเล คือ เรือแกล้วกลางสมุทร มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ARIEL เป็นเรือขนาดระวางขับน้ำ 110 ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ติดตั้งอยู่ 6 กระบอก ต่อมาก็ได้มีการต่อเรือกำปั่นใบเป็นเรือหลวงอีกหลายลำ และเริ่มจ้างฝรั่งชาวยุโรปมาเป็นนายเรือ เช่น เรือระบิลบัวแก้ว เรือวิทยาคม และเรือแกล้วกลางสมุทร เป็นต้น การบรรจุคนลงเรือ จะใช้ฝ่ายทหารบกมาลงเรือ เมื่อหมดหน้าที่แล้ว ก็ส่งกลับหน่วยเดิม ให้ยกทหารฝ่ายบกจากกรมกองต่าง ๆ เช่น กรมแสง กรมอาสาจาม กรมฝรั่งแม่นปืน กองทหารมะรีน และกองอู่เรือ เป็นต้น มาใช้ทางเรือ
เมื่อปี พ.ศ. 2389 ทัพเรือไทยได้ยกไปตี เมืองบันทายมาศ เพื่อทำลายคลองที่ญวนขุดขึ้นมาสำหรับเป็นทางเดินเรือ จากเมืองบันทายมาศไปยังเมืองโชดก แต่ฝ่ายญวนมีกำลังมาก และจัดการตั้งรับอย่างแข็งแรง ทำให้ฝ่ายไทยต้องถอยทัพกลับ การสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกรานทางทะเล ได้มีการสร้างป้อมเพิ่มเติม ณ เมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ตามลำดับเวลาดังนี้ ปี พ.ศ. 2371 สร้างป้อมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มเติมจากเดิมอีก 2 ป้อม คือ ป้อมปีกกา และป้อมตรีเพ็ชร ปี พ.ศ. 2377 สร้างป้อมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 2 ป้อม คือ ป้อมคงกะพัน และป้อมนารายณ์กางกร ปี พ.ศ. 2388 สร้างป้อมพับสมุด ถัดจากป้อมนาคราชลงไปทางใต้ ปี พ.ศ. 2390 สร้างป้อมที่ตำบลมหาวงศ์ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือเมืองสมุทรปราการเล็กน้อย ชื่อ ป้อมเสือซ่อนเล็บ เป็นป้อมที่ใหญ่กว่าป้อมใด ๆ ที่เคยสร้างมาก่อน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ด้านหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ที่มีชายแดนใกล้กับญวน คือ เมืองจันทบุรี ซึ่งเมืองเก่าอยู่ลึกเข้าไปมาก ไม่เหมาะแก่การตั้งรับข้าศึก จึงให้รื้อกำแพงเมืองเก่าออกเมื่อปี พ.ศ. 2377 แล้วให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านเนินวง ตำบลบางจะกะ ซึ่งตั้งอยู่ในที่สูงเป็นชัยภูมิดี เหมาะแก่การตั้งฐานทัพต่อสู้ข้าศึก ได้สร้างป้อมขึ้นที่แหลมสิงห์อีก 2 ป้อม มาได้ชื่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ว่า ป้อมไพรีพินาศ และป้อมปราบปัจจามิตร กิจการด้านกองทัพเรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ นับว่าเจริญรุดหน้าไปมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการด้านนี้ในสมัยต่อมา
|
Update : 15/5/2554
|
|