|
|
การทหารของไทย 03
การทหารของไทยสมัยอยุธยา
ตั้งแต่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กรุงศรีอยุธยาก็ ได้ทำศึกสงครามกับอาณาจักรที่อยู่รอบด้านมาโดยตลอด ที่เป็นศึกใหญ่ก็มีอยู่หลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงความสามารถของทหารไทย ที่มีระเบียบแบบแผน มีการควบคุมบังคับบัญชา ตลอดจนมียุทธวิธีที่ดีนำมาใช้อย่างได้ผล จึงสามารถทำสงครามได้ชัยชนะ ดำรงราชอาณาจักรอยู่ได้ตลอด 417 ปี การทหารในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าในสมัยสุโขทัย เพราะจากสภาพ การณ์แวดล้อม พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จะต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ถ้าอ่อนแอเมื่อใดก็จะมีเหตุการณ์ ภายในคือ การคิดขบถแย่งราชสมบัติ และเหตุการณ์ภายนอกคือ อาณาจักรข้างเคียงจะยกกองทัพมารุกรานอาณาจักรอยุธยาอย่างได้ผล
ยุคสมัยของการทหารในสมัยอยุธยา
สมัยแรก (ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ - พ.ศ. 1991) การปกครองคงใช้แบบเมืองลูกหลวง เช่นเดียวกับสมัยกรุงสุโขทัย กำลังพลของกองทัพ ประกอบด้วย ไพร่สม และ ไพร่หลวง ไพร่สม คือชายไทยที่มีอายุครบ 18 ปี จะต้องขึ้นทะเบียนทหารชั้นต้น ด้วยการสักเลขแล้วเป็นลูกหมู่ อยู่ในกรมกองที่บิดาของตนสังกัดอยู่ เพื่อฝึกหัดการเป็นทหาร ไพร่หลวง คือชายไทยที่มีอายุครอบ 21 ปี มีฐานะหน้าที่เป็นทหารเต็มตัว ต้องมาเข้าเวรที่หน่วยต้นสังกัด หรือส่งไปประจำทำงานเดือนเว้นเดือน ไพร่หลวงที่อยู่ในหัวเมืองชั้นกลาง ให้เข้ารับราชการที่เมืองนั้น ปีละ 1 เดือน เพื่อให้มีเวลาไปประกอบอาชีพของตน สำหรับผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ใช้วิธีเกณฑ์ให้หาสิ่งของที่ทางราชการต้องการใช้ มาให้แก่ทางราชการทดแทน การเข้ารับราชการ เรียกว่า ส่วย ไพร่หลวงจะต้องเป็นทหารไปจนกว่าจะมีอายุครบ 60 ปี หรือถ้ามีบุตรชายมาเข้าเป็นทหารถึง 3 คนแล้ว จึงมีสิทธิ์พ้นราชการทหารได้ก่อนกำหนด ส่วนผู้ที่เป็นทาสต้องรับใช้ผู้เป็นนายอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นไทแก่ตนเอง จึงไม่ต้องเป็นทหาร
สมัยการทหารรุ่งเรือง นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา การทหารของกรุงศรีอยุธยาก็มีการปรับปรุงหลายครั้งด้วยกัน พอประมวลได้ดังนี้
รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในรัชสมัยของพระองค์ ไทยได้เริ่มนำเรือที่ใช้บรรทุกสินค้าไปขายยังหัวเมืองชายทะเล มาใช้บรรทุกทหารไปทำการรบ คือในปี พ.ศ. 1998 ไทยได้ยกกำลังทางเรือไปตีเมืองมะละกา ได้ทรงขยายอำนาจเมืองหลวงออกไป ครอบคลุมถึงเมืองลูกหลวง และเมืองพระยามหานคร โดยยุบหัวเมืองเหล่านั้นลงเป็นหัวเมืองเล็ก และอยู่ในเขตหัวเมืองชั้นใน ขึ้นตรงต่อ ราชธานี ทรงแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงทำหน้าที่บริหารราชการในด้านต่าง ๆ คือ ชั้นอัครมหาเสนาบดี 2 คน และชั้นเสนาบดี 4 คน (จตุสดมภ์) ในด้านราชการทหาร มีสมุหพระกลาโหม เป็นผู้บังคับบัญชาการทหารทั้งในราชธานี และบรรดาหัวเมืองชั้นใน ส่วนหัวเมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราช ยังคงปกครองตามประเพณีเดิม ต่อมาได้ให้มหาดไทยดูแลหัวเมืองทางเหนือ กลาโหมดูแลหัวเมืองทางใต้ และกรมท่า (โกษาธิบดี) ดูแลหัวเมืองตามชายฝั่งทะเล เนื่องจากทรงขยายอำนาจปกครองของราชธานี ให้กว้างขวางออกไป จึงได้นำเอาหัวเมืองชั้นกลางเดิม เช่น สุพรรณบุรี มาอยู่ในเขตหัวเมืองชั้นใน ส่วนหัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองประเทศราชเดิม ให้เปลี่ยนฐานะเป็นเมืองพระยามหานคร เจ้าเมืองมีอำนาจในแต่ละเมืองนั้น ๆ และขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เมืองดังกล่าวได้แก่ นครศรีธรรมราช ตะนาวศรี ทวาย พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก และกำแพงเพชร หัวเมืองที่พ้นออกไปจากเขตที่กล่าวนี้ ถือว่าเป็นประเทศราชตามเดิม
รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช พ.ศ. 2032-2072) ได้มีการปรับปรุงกิจการทหารอีกหลายประการ คือ
การจัดทำตำราพิชัยสงคราม ทำเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2041 ปัจจุบันสูญหายไปเกือบหมดคงเหลืออยู่เพียง กฎหมายอาญาศึก และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ครั้งหลังสุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2368 เรียกว่า พระพิชัยสงคราม เนื้อความแบ่งเป็น 3 ตอน คือ สาเหตุของสงคราม อุบายสงครามกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี มีการดูนิมิตรฤกษ์ยามและการทำเลขยันต์ แต่งเป็นคำกลอน เพื่อให้จำง่าย การเตรียมกำลังพล แต่เดิมเจ้าเมืองและสัสดีเมืองเป็นผู้ทำบัญชีกำลังพล แล้วส่งมาให้กลาโหม แต่มีข้อบกพร่องมากเพราะขาดการควบคุมและตรวจสอบที่ดี จึงได้แก้ไขโดยส่งเจ้าหน้าที่ใน กรมพระสุรัสวดี ออกไปประจำตามหัวเมืองต่าง ๆ คอยดูแลและทำบัญชีพล การบรรจุกำลังพลเข้าประจำหน่วย แล้วส่งสำเนาการบรรจุกำลังพลดังกล่าว มาให้กลาโหมถือไว้ตั้งแต่ยามปกติ เมื่อเกิดศึกสงคราม กรมการเมืองก็เรียกพลเข้าประจำหน่วย ถ้าได้ไม่ครบต้องส่งคนออกติดตาม
รัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. 2076-2089) ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธี เนื่องจากมีทหารต่างชาติชาวโปรตุเกส ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ชานกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2061 ได้จัดตั้งเป็นกองอาสาช่วยไทยรบกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2077 ในการนี้ทหารอาสาชาวโปรตุเกสได้นำปืนไฟ (ปืนเล็กยาว) ซึ่งนับว่าเป็นอาวุธใหม่ มีอำนาจร้ายแรงกว่าอาวุธที่ใช้กันอยู่เดิม ทำให้ไทยได้รับชัยชนะโดยง่าย หลังจากนั้นฝ่ายไทยจึงขอให้ช่วยจัดหาปืนไฟ มาใช้ในกองทัพ และช่วยฝึกทหารให้ด้วย ทำให้ยุทธวิธีที่เคยใช้กันมาแต่เดิมต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น รูปขบวนรบ การใช้ที่กำบัง และการเข้าตะลุมบอน เป็นต้น และเกิดหน่วยทหารอาสาชาวต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก โดยแยกเป็นหน่วยพิเศษต่างหาก
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091-2111)
ในห้วงเวลาดังกล่าว ไทยได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการใช้อาวุธปืนใหญ่ และปืนเล็กยาวจากทหาร ชาวโปรตุเกส ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงด้านการทหารหลายประการด้วยกัน
การเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์ สมเด็จพระจักรพรรดิ์ทรงเห็นว่า บรรดาป้อมปราการที่มีอยู่ ของเมืองพระยามหานครนั้น เปรียบเหมือนดาบสองคม ถ้าฝ่ายเราสามารถรักษาไว้ได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเรา แต่ถ้าป้องกันไว้ไม่ได้ เมื่อข้าศึกยึดได้แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายข้าศึก ดังนั้นจึงทรงดำเนินการดังนี้ ให้รื้อป้อมปราการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนพม่า และอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยา ทางกรุงยกกำลังไปช่วยไม่ใคร่จะทันท่วงที แต่ทางด้านเหนือคือเมืองพิษณุโลกและเมืองกำแพงเพชร ซึ่งแม้จะอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยามาก แต่ก็อยู่ห่างจากชายแดนพม่ามากกว่า ฝ่ายไทยสามารถยกกำลังไปป้องกันได้ทัน จึงมีการเสริมสร้างป้อมปราการให้แข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวกรุงศรีอยุธยาเอง ก็ได้มีการเสริมสร้างป้อมปราการให้สามารถป้องกันปืนใหญ่ได้ เพราะเดิมกำแพงเมืองของกรุงศรีอยุธยาเป็นกำแพงดิน จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน สร้างป้อมเพิ่มขึ้นและทันสมัยขึ้น โดยใช้ช่างชาวยุโรป สูง 3 วา หนา 10 ศอก ใบเสมาสูง 2 ศอกคืบ กว้าง 2 ศอก หนาศอกคืบ และขยายคูเมืองรอบพระนครให้กว้าง และลึกยิ่งขึ้น เมื่อทำให้กรุงศรีอยุธยาแข็งแรง ทั้งโดยธรรมชาติและที่สร้างเสริมขึ้นใหม่ จึงได้ใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นที่มั่นสำคัญ ในการทำศึกที่ยกมารุกราน โดยปล่อยให้ข้าศึกยกเข้ามาล้อมกรุงแล้วคอยเวลาให้ถึงหน้าน้ำ เมื่อน้ำเหนือหลากลงมาท่วมพื้นที่โดยรอบกรุง ฝ่ายข้าศึกไม่สามารถตั้งอยู่ได้ ต้องถอยกลับไปเอง การเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธี เมื่ออาวุธทันสมัยขึ้น คือมีการใช้ปืนไฟ คือปืนใหญ่ และปืนเล็ก ในการรบของทั้งสองฝ่าย คือทั้งไทยและพม่า ทำให้การใช้รูปขบวนในการรบ และยุทธวิธีในป้อมค่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่มีแต่อาวุธสั้นเป็นอาวุธประจำกาย และไม่มีอาวุธหนักเป็นอาวุธประจำหน่วย และใช้สนับสนุนทั่วไป เช่น ปืนใหญ่ ในครั้งนั้นเรือสินค้าโปรตุเกสติดตั้งปืนใหญ้ไว้ในเรือ สามารถยิงจากเรือไปยังที่หมายที่ต้องการได้ จึงได้เริ่มใช้เรือสินค้าโปรตุเกส แล่นไปยิงค่ายพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาอย่างได้ผล จึงได้มีพระราชดำริให้ดัดแปลง เรือแซ คือเสริมกราบเรือ ทำแท่นที่ตั้งปืนใหญ่ไว้ยิงข้าศึก และบรรดาเรือรูปสัตว์ เช่น เรือครุฑ และเรือกระบี่จะมีปืนใหญ่ไว้ที่หัวเรือทุกลำ นับว่าเรือรบไทยเกิดมีขึ้นในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ปรากฎเป็นหลักฐาน
|
Update : 15/5/2554
|
|