|
|
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าแก่อีกเมืองหนึ่ง มีอายุไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปีมาแล้ว มีศักดิ์เป็นเมืองลูกหลวงและเมืองพญามหานคร ของอาณาจักรสุโขทัยมาตามลำดับ ก่อนที่จะมีชื่อว่ากำแพงเพชร เมืองนี้มีชื่อเดิมอยู่ ๒ ชื่อ คือ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม ทั้งสองชื่อนี้มีปรากฏอยู่ใน ศิลาจารึกหลักที่ ๒ และศิลาจารึกเขาสุมนกูฎ เมืองทั้งสองนี้ตั้งอยู่ใกล้กัน คืออยู่ทางฝั่งตะวันตกหรือฝั่งขวาของแม่น้ำปิง คนละฝั่งกับเมืองปัจจุบัน ในสมัยพญาเลอไทยแห่งกรุงสุโขทัยได้มาบูรณะเมืองชากังราว เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐ และยกฐานะขึ้นเป็นเมืองลูกหลวง เช่นเดียวกับเมืองศรีสัชนาลัยและได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระราชโอรสพระองค์หนึ่งมาครองเมืองนี้ ต่อมาแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนทางเดิน เป็นผลให้ซากเมืองเก่าพังทะลายหมดไปจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ เมื่อพระเจ้าอู่ทองได้ตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรทางใต้ ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ล่วงมาถึงรัชสมัยของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) รัชกาลที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ยกทัพมาตีกรุงสุโขทัยได้ ผลจากสงครามเขตการปกครองของกรุงสุโขทัยได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือดินแดนทางริมฝั่งแม่น้ำปิงส่วนหนึ่ง และดินแดนทางริมฝั่งแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านอีกส่วนหนึ่ง ทางด้านแม่น้ำปิงได้รวมเมืองชากังราวและเมืองนครชุมเข้าเป็นเมืองเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเมืองกำแพงเพชร ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองราชธานีปกครองดินแดนทางลุ่มแม่น้ำปิงในย่านนี้ ส่วนทางลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ให้เมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี และโปรดเกล้า ฯ ให้พญาไสลือไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๒ เป็นเจ้าเมือง ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงพิจารณาเห็นว่าการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นสองส่วน และต่างไม่ขึ้นแก่กันดังกล่าวเกิดผลเสีย มีเรื่องไม่สงบเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงได้รวมเขตการปกครองทั้งสองเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๘๑ โดยยุบเมืองกำแพงเพชรจากฐานะเดิมแล้วให้ทุกเมืองขึ้นต่อเมืองพิษณุโลกเพียงแห่งเดียว
วัดมหาธาตุนครชุม
วัดนี้พญาเลอไท สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๕๘ ได้มีการบูรณะกันหลายครั้ง จนเกือบไม่เหลือร่องรอยของ ศิลปสุโขทัยที่สร้างไว้แต่เดิม องค์พระมหาธาตุสันนิษฐานว่า เดิมน่าจะเป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ปัจจุบันเป็นพระเจดีย์ทรงมอญ
วัดพระแก้ว
วัดนี้เป็นวัดใหญ่และสำคัญมากในอดีต แต่ปัจจุบันเป็นวัดร้างจากหลักฐานพบว่า เมื่อพระยายุธิษฐิระ ราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั่ว) ได้ครองเมืองกำแพงเพชร สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้พระราชทานพระแก้วมรกต ให้มาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร จึงได้บูรณวัดนี้จากวัดเดิมให้ใหญ่โตสวยงาม
วัดช้างรอบ
เป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีพระเจดีย์ใหญ่อยู่กลางลานวัด ที่ฐานทักษิณซึ่งมีรูปช้างครึ่งตัว ยืนอยู่โดยรอบองค์พระเจดีย์ มีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมอยู่โดยรอบ สูงประมาณเมตรครึ่ง
ป้อมและประตูเมืองกำแพงเพชร
สร้างด้วยศิลาแลง นอกกำแพงมีคูกว้างและลึก มีอยู่ ๘ ห้อมด้วยกัน สร้างติดกับกำแพงเมือง ๗ ป้อม อีกป้อมหนึ่งอยู่ใกล้สะพานกำแพงเมือง บนสันกำแพงมีทางเดินกว้างพอให้ทหารเดินสวนกันได้ ใต้ใบเสมาของกำแพงมีช่องรูปสี่เหลี่ยมสำหรับใช้ยิงปืนออกมา ประตูเมืองมีอยู่ ๘ ประตู
วัดเก่ายุคสุโขทัยอื่น ๆ ได้แก่วัดธาวาสใหญ่ วัดตึกพระพมณ์ วัดสี่อริยาบท หรือวัดมณฑปสี่หน้า
เมืองไตรตรึงส์ ตั้งอยู่ห่างจากตรีเมืองกำแพงเพชรไปทางใต้ประมาณ ๑๒ กม. อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ตามตำนานสิงหนวัติกุมารมีว่า เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๕๔๗ พระเจ้าไชยศิริ กษัตริยเมืองเชียงรายได้อพยพผู้คนหนีภัยสงคราม มาสร้างเมืองไตรตรึงส์ ใช้เป็นเมืองชั่วคราว ต่อมาภายหลังเมื่อมีผู้อพยพลงมามากขึ้นเห็นว่าทำเลดีจึงได้สร้างเป็นเมืองใหญ่ ปัจจุบันยังพบซากกำแพงเมืองคูเมืองและพระเจดีย์เก่า ๆ อยู่มากเมืองเทพนคร ตามตำนานกล่าวว่า ท้าวแสนปมได้สร้างเมืองนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๒ ปัจจุบันยังค้นไม่พบซากเมืองเก่า แต่มีหมู่บ้านชื่อบ้านเทพนคร อยู่ห่างตัวเมืองประมาณ ๙ กม.ทุ่งเศรษฐี อยู่ใกล้ตัวเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันติดกับถนนพหลโยธิน บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของบรรดาวัดวาอารามเก่าแก่หลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดพิกุล วัดหม่องกาเล วัดฤาษี เป็นต้น เป็นบริเวณที่พบพระเครื่องที่มีชื่อของเมืองกำแพงเพชร คือพระซุ้มกอและพระปางลีลาเม็ดขนุน ชื่ออื่นของพระเครื่องดังกล่าวคือพระทุ่งเศรษฐี ซึ่งคงจะมีที่มาจากที่ได้มาจากทุ่งเศรษฐี และพระกำแพงเขย่งซึ่งน่าจะมีที่มาจากเป็นพระเครื่องที่พบที่จังหวัดกำแพงเพชรเป็นปางลีลา ซึ่งมีอากับกิริยาคล้ายกำลังเขย่งพระบาท
|
Update : 14/5/2554
|
|