|
|
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ 5
|
เชียงใหม่มีหัตถกรรมมากมายหลายอย่าง มีทั้งที่คิดทำขึ้น เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน และงานที่ประณีตบรรจงด้วยฝีมือ เชิงช่างอย่างที่เรียกกันว่า หัตถศิลป์ เช่น งานไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน ตามโลกทัศน์ของสังคมนั้น ๆ โดยขึ้นอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้านาย ส่วนงานหัตถกรรมของชาวบ้านนั้นสร้างขึ้นสนอง ความต้องการของชาวบ้านโดยเฉพาะ เช่น ผ้าทอ หม้อดินเผา หรือเครื่องจักรสาน |
เนื่องจากเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนามาช้านาน จึงมีงานศิลปหัตถกรรมมากมาย ทั้งด้านงานศิลปและงานช่าง อีกทั้งมีช่างฝีมือจากที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มาตั้งรกรากอยู่บริเวณรอบกำแพงเมือง งานฝีมือด้านต่าง ๆ ของเชียงใหม่จึงรุ่งเรืองและอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้านายคุ้มหลวง เมื่อเจ้านายหมดอำนาจ งานช่างฝีมือก็อ่อนแอตามไปด้วย ปัจจุบันงานด้านหัตถกรรมของเชียงใหม่ บางแห่งยังคงสร้างขึ้นตามแบบเดิมในอดีต ส่วนใหญ่แม้ยังใช้พื้นฐานของเทคนิค และวิธีการผลิตเก่า แต่ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งรูปแบบทางศิลปะ กระบวนการผลิต และการจัดการให้เข้ากับกลไกตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งงานด้านหัตถกรรมของเชียงใหม่ ที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมมีอยู่หลายชนิด เช่น เครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก ผ้าทอตีนจก ผ้าไหมสันกำแพง เครื่องปั้นดินเผา ร่ม และกระดาษสา เป็นต้น
เครื่องเงิน
|
สมัยพญาเม็งราย ได้มีการรวบรวมช่างเงินมาจากแคว้นพุกามอังวะ แต่ภายหลังที่เชียงใหม่ตกเป็นของพม่า ผู้คนกระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ จนกระทั่งเชียงใหม่เป็นอิสระจากพม่า พระยากาวิละจึงได้ฟื้นฟูเชียงใหม่ พร้อมทั้งรวบรวมช่างฝีมือมาที่เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้พักอาศัยอยู่แถบริมกำแพงเมืองด้านใน |
สำหรับกลุ่มช่างเงินนั้น ได้มาตั้งรกรากอยู่ใกล้กับไทเขิน และตั้งชื่อหมู่บ้านของตนว่า "วัวลาย" หรือ "งัวลาย" ตามรัฐฉานที่ตนจากมา และการทำเครื่องเงินในระยะแรก ทำขึ้นเพื่อเป็นส่วยตามความต้องการของเจ้านาย ภายหลังที่เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นและมีการติดต่อค้าขายกับชาติอื่น เช่น พม่า และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เครื่องเงินจึงกลายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายกับสินค้าจำเป็นอื่น ๆ และสามัญชนเริ่มใช้เครื่องเงินได้ ด้วยเหตุที่เจ้านายเริ่มเปลี่ยนไปใช้เครื่องทองแทน
|
การค้าขายระหว่างคนต่างกลุ่ม จึงทำให้ความรู้ ภูมิปัญญาต่าง ๆ เกี่ยวกับรูปแบบของเครื่องเงินเริ่มหลากหลายขึ้น ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทำนั้น เป็นรูปีจากพม่า เงินหมัน เงินราง จากสิบสองปันนา เครื่องเงินวัวลายนี้โบราณนิยมทำกันเพียงบางชนิด เช่น สลุง (ภาชนะอย่างขัน) พาน ถาด เชี่ยนหมาก เป็นต้น แต่ภายหลังที่รัฐบาลได้รณรงค์ใช้ ข้าราชการ ประชาชน แต่งชุดไทย จึงได้มีการทำเป็นเครื่องประดับของสตรี เพิ่มขึ้นจากรูปแบบเดิม |
เครื่องเขิน ในสมัยพระยากาวิละ ไทยเขินได้อพยพมาอยู่บริเวณใกล้กับวัดนันทาราม และบริเวณประตูเชียงใหม่ เดิมชาวไทเขินไม่เพียงแต่ทำเครื่องเขินเพื่อใช้ในครัวเรือน หากยังใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นที่ไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น เกลือ เครื่องปั้นดินเผา และยังใช้เป็นส่วยแก่เจ้านาย ทั้งเชียงใหม่และเจ้าเชียงตุง
|
ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 ทำให้เจ้านายต้องยึดครองที่นา มาเป็นส่วนตัว ชาวบ้านไม่ต้องส่งเป็นส่วยเป็นสิ่งของ แต่เปลี่ยนมาเป็นเงินแทน รวมทั้งชาวยุโรปเริ่มเข้ามาพร้อมกับมีสินค้าอุตสาหกรรมแปลกใหม่มาขาย เมื่อชาวบ้านไม่สามารถผลิตข้าวได้เพราะถูกยึดที่นา และจำเป็นต้องส่งส่วยเป็นตัวเงิน ชาวไทเขินจึงต้องผลิตเครื่องเขินเพื่อค้าขาย |
เครื่องเขินเป็นภาชนะทำจากไม้ไผ่สาน เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ เคลือบด้วยน้ำรักสีดำ ถ้าต้องการสีแดง ทาเคลือบด้วยชาด ซึ่งทางเชียงใหม่เรียกว่า สีหาง หากเป็นของเจ้านายจะประดับตกแต่งด้วยสีทองและเขียนลวดลายสวยงาม ส่วนของชาวบ้านมักเป็นสีหาง ไม่มีลวดลาย
ไม้แกะสลัก
|
งานแกะสลักในยุดก่อนทำขึ้นเพื่องานในสถาบัน ศาสนา และสถาบันเจ้านายเป็นส่วนใหญ่ เช่น คันทวย บานประตู หน้าบัน และโครงสร้างอื่น ๆ ของตัววิหาร หอพระไตรปิฎก หอคำ ซึ่งนอกจากจะใช้ประดับตกแต่ง แล้วยังสะท้อนวิธีคิดและโลกทัศน์ของคนร่วมสมัยอีกด้วย เดิมแหล่งทำไม้แกะสลักของเชียงใหม่ อยู่แถบ วัวลายประตูเชียงใหม่ และชาวบ้านจากหมู่บ้านถวาย ไปฝึกฝนจนสามารถทำได้ดี จึงได้นำกลับมาทำที่บ้านถวาย ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จนเป็นที่นิยมของคนทั่วไป |
สินค้าแกะสลักมีหลายอย่าง ตั้งแต่ชิ้นเล็กอย่างเช่น ปากกา ดินสอที่ทำจากกิ่งไม้ ช้าง นก กบ ปลา และสัตว์ต่าง ๆ ดอกไม้ จนถึงไม้แกะสลักขนาดใหญ่ เช่น นางไหว้ นางรำ ช้าง ครกเก่าแกะสลัก โต๊ะ ตู้ เตียง และที่เป็นเอกลักษณ์ของไม้แกเสลักบ้านถวาย คือ พระยืนที่เลียนแบบของพม่า ครุฑซึ่งต้องใช้ฝีมือ
|
Update : 14/5/2554
|
|