|
|
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ 4
วัดสวนดอก
|
วัดสวนดอก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดบุปผาราม" ในอดีตบริเวณวัดนี้เป็นสวนดอกไม้ของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์เม็งราย โดยพระองค์ได้โปรดให้สร้างเป็นอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 1914 รวมทั้งสร้างพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1912 เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย อยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ องค์ใหญ่ทรงลังกา 1 องค์ เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ได้หักพังลงแล้ว |
ในสมัยราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอกมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้างไป แต่ได้บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระยากาวิละ ในปี 2450 พระนางดารารัศมี พระสนมเอกใน ร.5 ซึ่งเป็นเจ้านายในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เห็นทำเลที่วัดสวนดอกกว้างขวาง จึงย้ายเอากู่ของเจ้านายในตระกูล ณ เชียงใหม่ มาไว้ที่นี่
|
ในปี พ.ศ. 2475 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้น และได้บูรณะวิหารหลวงหลังปัจจุบันด้วย นอกจากสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด เช่น พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุในเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา วิหารขนาดใหญ่เปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน (เดิมเป็นเรือนหลวงของพระเมืองแก้ว) แล้วยังเป็นที่ตั้งของวัดเก้าตื้อ ซึ่งมีพระเจ้าเก้าตื้อประดิษฐานภายในโบสถ์ |
พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่มหึมา ตื้อเป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง พระพุทธรูปนี้ พระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์เม็งราย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน หน้าตักกว้าง 8 ศอก เพื่อเป็นพระประธานในวัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอก
วัดพระธาตุดอยสุเทพ
วัดนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาที่ชื่อว่า ดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์เม็งราย เมื่อปี พ.ศ. 1929 และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการะบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี ไปบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล เพื่อกำหนดที่ประดิษฐาน เมื่อพบที่บรรจุบนยอดดอยแล้ว จึงให้ขุดยอดดอยลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น เหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น สมัยพระเมืองเกษเกล้า ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 12 ของราชวงศ์เม็งราย ในปี พ.ศ. 2081 ได้โปรดให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ ต่อมาเจ้าท้าวทรายคำราชโอรส ได้ให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ ในปี .ศ. 2100 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ สำนักวัดอโศการาม เมืองลำพูน ได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะสะดวกขึ้น จนกระทั่งในสมัยครูบาศรีวิชัย จึงได้สร้างถนนขึ้นไป โดยถนนนี้มีความยาวถึง 11.53 กิโลเมตร
วัดพระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนเนินเตี้ย ๆ สมัยของพระเจ้าติโลกราช ในปี พ.ศ. 1994 ชาวบ้านได้สร้างศาลาขึ้นบนดอยศรีจอมทอง และสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขึ้นสององค์ประดิษฐานไว้ในศาลานี้ ในภายหลังจึงได้มี คหบดี 2 คน ร่วมกันสร้างวิหารขึ้น ต่อมาในสมัยกษัตริย์ลานนาไทยหลายพระองค์ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนกลายเป็นวัดใหญ่ และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในพระโกศทองคำ 5 ชั้น ซึ่งสามารถอัญเชิญออกมาสรงน้ำได้ จึงนับว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุองค์เดียวในประเทศไทยหรือในโลก ที่สามารถมองเห็นองค์พระธาตุจริง ๆ ได้
วัดอุโมงค์เถรจันทร์ (วัดถ้ำเถรจันทร์)
|
ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ พระยาเม็งรายสร้างขึ้นเป็นอารามให้พระเถระกัสป และพระชาวลังกา 4 รูป จำพรรษา เรียกว่า วัดเวฬุกัฎฐาราม ชาวบ้านเรียกว่า "วัดไม้ไผ่สิบเอ็ดกอ" ต่อมาในสมัยพระเจ้ากือนา ได้ซ่อมแซมบูรณะและทำอุโมงค์ใต้ดิน หรือถ้ำ ให้พระเถรจันทร์ บำเพ็ญวิปัสนา ต่อมาชาวบ้านจึง เรียกกันว่า "วัดถ้ำเถรจันทร์" หรือ "วัดอุโมงเถรจันทร์" เป็นถ้ำที่แคบแต่สูง และยาวคล้ายรูปกากบาท |
วัดเจดีย์เหลี่ยม
|
ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ตัวเจดีย์สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม สูงขึ้นไปเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นจะมีซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปยืน 60 องค์ นับเป็นวัดที่สวยงามที่สุด เดิมเรียกว่า "วัดกู่คำ" วัดที่สร้างขึ้นสมัยพระยาเม็งราย ปี พ.ศ. 1831 ในขณะที่พระองค์ ทรงสร้างเมืองกุมกาม (เวียงกุมกาม) เมื่อขุดสระน้ำ จึงให้นำเอาดินมาปั้นอิฐ และก่อสร้างเป็นเจดีย์กู่คำ สูง 22 วา ฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม เจดีย์จึงถูกทิ้งร้างหักพัง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2451 ชาวพม่าได้บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ จึงทำให้ศิลปกรรมต่าง ๆ เป็นแบบพม่า นอกจากรูปทรงเท่านั้นที่เป็นของเดิม |
วัดช้างค้ำ ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี (เดิมคือเวียงกุมกาม ในสมัยพระยาเม็งราย) เป็นวัดเก่าแก่สมัยพระยาเม็งราย มีวิหารและพระพุทธรูป 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ พระพุทธรูปยืน 1 องค์ เมื่อกลับมาจากการยกกองทัพไปตีพม่าจนได้ชัยชนะแล้ว จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นในปี พ.ศ. 1833 มีฐานกว้าง 8 วา สูง 9 วา และสร้างซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ 2 ชั้น เมื่อพระเถระได้นำเอา พระบรมสารีริกธาตุมาจากลังกา พระยาเม็งรายจึงโปรดให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ และปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ไว้ด้วย
|
Update : 14/5/2554
|
|