|
|
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ 2
|
นับจากอดีต ชีวิตของชาวล้านนาผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้จากการดำเนินชีวิต และสถาบันทางศาสนาในชุมชน รวมทั้งระบบหัววัด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของวัดต่าง ๆ ไม่ว่าใกล้หรือไกลกัน และคนในชุมชนหนึ่งชักชวนคนอีกชุมชนหนึ่งมาทำบุญที่วัดของตน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กัน ขณะที่พุทธศาสนามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตของคนเมืองอย่างลึกซึ้ง แต่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีปู่ย่าและผีเสื้อเมือง ผีเจ้าเมืองก็มีปะปนอยู่ จนแยกกันไม่ออก ชาวล้านนาสามารถนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานกันได้ อย่างกลมกลืน ในงานพิธีและประเพณีต่าง ๆ ซึ่งจะพบได้ในปัจจุบัน ประเพณีและงานพิธีที่สำคัญในรอบปีของชาวเชียงใหม่มีอยู่มากมาย อาทิ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าอินทขีล ประเพณี ลอยโคมลอยโขมด ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง และพิธีเลี้ยงผีปู่และย่า เป็นต้น |
ประเพณีสงกรานต์
|
ประเพณีสงกรานต์เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ และขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลาย ให้ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้ล่วงไปในปีเก่า พร้อมทั้ง เตรียมร่างกายและจิตใจให้สดใสรับปีใหม่ โดยจะเริ่มจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 18 เม.ย. ของทุกปี แต่ชาวล้านนาถือวันที่ 15 เม.ย. เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ ต่างจากภาคกลาง และในระยะเวลา 6 วันนี้จะประกอบพิธีหลายอย่าง วันที่ 13 เม.ย. ถือเป็นวันสังขารล่อง (วันสิ้นสุดปีเก่า) ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยิงปืน จุดประทัด ก่อนสว่าง เพื่อขับไล่ เสนียดจัญไร แล้วเก็บกวาดบ้านเรือน หิ้งพระ |
วันที่ 14 เม.ย. เป็นวันที่เรียกกันว่า "วันเนา" หรือ "วันเน่า" วันนี้ชาวเชียงใหม่จะทำแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล พร้อมทั้งตระเตรียมอาหาร คาวหวาน เครื่องไทยทาน เพื่อทำงานบุญในวันสงกรานต์ และไปขนทรายเข้าวัด วันที่ 15 เรียกว่า "วันพญาวัน" ถือเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ชาวเชียงใหม่จะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และถวายอาหารพระที่เรียกว่า "ทานขันข้าว" เพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และสรงน้ำพระ หลังจากนั้นจึงนำขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้น ส้มป่อย หมากพลู เมี่ยง หรืออาจมีเครื่องนุ่งห่ม ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนวันที่ 16-18 เม.ย. เรียกว่า "วันปากปี ปากเดือน ปากวัน" จะเป็นวันประกอบพิธีกรรมสักการะต่อวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป
ประเพณีเข้าอินทขีล
|
อินทขีล เป็นชื่อของเสาหลักเมืองของชาวเชียงใหม่ เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขีล กลางเมืองเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันย้ายไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง ในสมัยของพระยากาวิละ และได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นเสาปูน การจัดงานประเพณีเข้าอินทขีล จัดขึ้นในปลายเดือน 8 ต่อต้นเดือน 9 (พฤษภาคม-มิถุนายน) ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วันเดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก |
เดิมประเพณีนี้ เจ้าผู้ครองนครจะจัดขึ้นเพื่อสังเวยเทพยดาอารักษ์ บูชากุมภัณฑ์ และมีพิธีเข้าทรงผีเจ้านาย เพื่อสอบถามว่า ฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์ และชะตาบ้านเมืองจะดีหรือไม่ หากชะตาของบ้านเมืองไม่ดี ก็จะจัดพิธีสืบชะตาเมืองเพิ่มขึ้นด้วย และปัจจุบันได้เพิ่มการทำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง โดยการแห่พระพุทธรูปคันธารราษฎร์ (พระเจ้าฝนแสนห่า) รอบเมือง และจะนำมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ชาวเมืองสรงน้ำ จากนั้นพระสงฆ์ 9 รูป จะเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขีล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดิน การประกอบพิธีนี้ เพื่อมุ่งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของชาวเมืองก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก
ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง
|
วัดพระธาตุจอมทองวรวิหาร เป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่สำคัญ ตั้งอยู่บนเนินสูงราว 10 เมตร ที่เรียกว่า "ดอยจอมทอง" และมีเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ (ส่วนที่เป็นพระเศียรด้านขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) พระบรมสารีริกธาตุจอมทองนั้น ประดิษฐานอยู่ในพระโกศ 5 ชั้น มีจำนวน 1 องค์ ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว มีสีขาวนวลและ ออกน้ำตาลคล้ายสีดอกพิกุลแห้ง บรรจุไว้ในเจดีย์ ซึ่งจะมีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำ 2 ครั้ง ในทุกปี คือวันที่พระบรมสารีริกธาตุเข้าพรรษาและออกพรรษา |
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของแต่ละปี จะเป็นวันที่พระบรมสารีริกธาตุเข้าพรรษา พระภิกษุจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกจากพระโกศ 5 ชั้น มาประดิษฐานในพระโกศแก้วใส แล้วแห่ไปทำพิธีที่โบสถ์ ในระหว่างทางชาวบ้านจะโยนข้าวตอกดอกไม้ไปยังพระโกศ เพื่อถวายเป็นสักการะ เมื่อทำพิธีเสร็จก็จะแห่จากโบสถ์ไปยังหอสรงข้างวิหาร หอสรงนี้จะมีรางน้ำเป็นรูปตัวนาคสำหรับใช้สรงน้ำ และเดิมจะใช้น้ำแม่กลาง ผสมด้วยดอกคำฝอย เป็นน้ำสำหรับสรง แต่ปัจจุบันใช้น้ำสะอาดธรรมดา เสร็จแล้วจึงอัญเชิญเข้าจำพรรษาในพระโกศ 5 ชั้น ตามเดิม และกลางคืนพระภิกษุจะสวดเจริญพระพุทธมนต์ เป็นอันเสร็จพิธี วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของแต่ละปี จะเป็นวันที่พระบรมสารีริกธาตุออกพรรษา จะมีประเพณีพิธีการเช่นเดียวกับวันที่พระบรมสาริกธาตุเข้าพรรษา แต่จะเป็นพิธีเล็กกว่า ชาวบ้านไม่ค่อยมาร่วมสรงน้ำมากนัก
ประเพณีลอยโคมและลอยโขมด
|
เป็นประเพณีการทำบุญและสนุกสนานร่าเริง หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับงานในท้องไร่ ท้องนา ของชาวล้านนา โดยจะจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันยี่เป็ง" โดยการลอยโคมในเวลากลางวันและกลางคืน และลอยโขมดหรือลอยกระทงเวลากลางคืน วันขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ตามวัดวาอารามและบ้านเรือน จะประดับตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย โคมไฟ และดอกไม้นานาชนิด โดยสร้างขึ้นเป็นประตูป่า เพื่อเตรียมในการตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) ในวันขึ้น 15 ค่ำ |
|
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรและฟังเทศมหาชาติ โดยเป็นการเทศน์แบบพื้นเมือง ที่พระสงฆ์จะขึ้นไป เทศน์บนธรรมมาสน์บุษบก และในตอนค่ำชาวบ้านจะนำผางผะติ๊ด (ถ้วยประทีป) มาที่วัดเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และฟังเทศน์ และการจุดผางผะติ้ดนี้ คนล้านนาถือว่าได้บุญมาก เมื่อเสร็จจากการบูชาผางผะติ้ดก็จะเป็นการจุดโคมไฟ หรือลอยโคม และลอยโขมดหรือลอยกระทง พร้อมกับเล่นดอกไม้ไฟ |
การปล่อยโคมลอยมี 2 ลักษณะ 1. ปล่อยโคมลอยในตอนกลางวัน เรียกว่า ว่าว โดยทำโคมด้วยกระดาษสี แล้วให้ลอยสู่ท้องฟ้าด้วยความร้อนคล้ายบอลลูน เพื่อปล่อยทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ไป 2. ปล่อยโคมลอยในเวลากลางคืน เรียกว่า โคมไฟ โดยใช้ไม้พันด้ายเป็นก้อนกลม ชุบน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้แขวนปากโคม แล้วจุดไฟปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์
|
สำหรับการลอยโขมดหรือการลอยกระทงของล้านนา จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ เช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า ลอยโขมดนั้น เนื่องจากกระทงเมื่อจุดเทียนแล้วปล่อยลงน้ำ จะมีแสงสะท้อนกับเงาน้ำวับแวมดูคล้ายแสงของผีโขมด ชาวล้านนาจะลอยกระทงเล็ก ๆ กับครอบครัว เพื่อนฝูง ในวันขึ้น 15 ค่ำ ส่วนกระทงใหญ่ที่ร่วมกันจัดทำ นิยมลอยในวันแรม 1 ค่ำ กระทงเล็กของชาวเชียงใหม่ แต่เดิมใช้กาบมะพร้าว ที่มีลักษณะโค้งงอ เหมือนเรือเป็นกระทง แล้วนำกระดาษแก้วมาตกแต่งเป็นรูปนกวางดอกไม้ และประทีบไว้ภายใน |
พิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ
|
เป็นพิธีที่ชาวเชียงใหม่ทำมาแต่ในอดีต เพื่อสังเวยเครื่องเซ่นแก่ผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยักษ์ชอบกินเนื้อคน และจะทำพิธีขึ้นในวันขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ที่เชิงป่าดอยคำด้านตะวันออกของตำบลแม่เหียะ เป็นประจำทุกปี และชาวบ้านจะต้องร่วมกันทำพิธีฆ่าควายเซ่นสังเวย หากไม่ทำพิธีนี้จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข เกิดภัยพิบัติ และในพิธีเลี้ยง จะมีการเข้าทรงเจ้านาย เพื่อพยากรณ์ถึงความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองด้วย พิธีนี้ได้เลิกไปเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นของพม่า จนถึงสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา จึงได้รื้อฟื้นขึ้นอีก |
ประเพณีการทำบุญสลากภัตต์ การทำบุญนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า "กิ๋นสะลากฮากไม้" ปัจจุบันเรียก "ทานสลาก" หรือ "ทำบุญสลาก" ทำขึ้นที่วัดเชียงมั่น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ วัดเจดีย์หลวง ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 เหนือ และวัดพระสิงห์ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ สมัยก่อนไม่มีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารเช่นปัจจุบัน คือ เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรจับสลากมากน้อยเพียงใด ก็ขบฉันเฉพาะอาหาร เท่าที่บอกในสลากเท่านั้น การจับสลากภัตต์มี 2 วิธี คือ จับเส้นและจับเบอร์ การจับเส้นเป็นวิธีเก่า คือเขียนข้อความการทำบุญสลากและชื่อผู้ศรัทธา ลงในแผ่นกระดาษแข็ง ใบตาล ใบลาน หรือวัตถุอื่นใดเท่ากับจำนวนของไทยทาน เป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับและเพื่อเป็นบุญกุศลต่อตนเอง โดยการนำไปกองรวมกันในโบสถ์หรือวิหารที่จัดไว้ แล้วให้พระเณรมาจับตามจำนวนที่กำหนด ส่วนสลากที่เหลือก็ถวายแก่พระพุทธ จากนั้นชาวบ้านจึงถวายของตามชื่อเส้นของตน หลังจากพระให้ศีลให้พรแล้ว จึงรับเส้นของตนไปเผา พร้อมทั้งตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย เป็นอันเสร็จพิธี ส่วนวิธีจับเบอร์นั้น เป็นที่นิยมกันมากกว่าวิธีจับเส้น มีวิธีการคือ ทำเบอร์ของไทยทานเท่ากับจำนวนพระเณร แล้วมีวิธีจับเช่นเดียวกับการจับเส้น
ประเพณีการเลี้ยงขันโตก
|
ขันโตก เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารของชาวเหนือ ทำด้วยไม้สัก ทาด้วยหางสีแดง สูง 8-10 นิ้ว มีขาไม้สักกลึงเป็นรูปกลมตั้งบนวงล้อรับอีกอันหนึ่ง ขันโตกจะกว้างประมาณ 10-30 นิ้ว สมัยโบราณคนพื้นเมืองนิยมใช้ขันโตกสำหรับใส่อาหาร รับประทานในครัวเรือน แต่ความนิยมใช้ค่อยเสื่อมลงเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น และคนหันไปนิยมของใช้จากต่างประเทศแทน ขันโตกจึงใช้เฉพาะเป็นธรรมเนียมในการต้อนรับแขกเมือง และบุคคลสำคัญเท่านั้น |
|
Update : 14/5/2554
|
|