หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ 1

    พญาเม็งราย เจ้าเมืองเงินยาง องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว ได้แผ่อำนาจจากแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำกก มาจนถึงแคว้นหริภุญไชย ตีเมืองเล็กเมืองน้อยในเขตลุ่มแม่น้ำกกได้ทั้งหมด ตั้งเป็นแคว้นโยนก ส่วนเมืองใหญ่ เช่น เมืองพะเยาของพญางำเมือง ทรงใช้วิธีผูกสัมพันธไมตรี หลังจากนั้นได้แผ่อิทธิพลลงทางใต้ และสร้างเมืองเชียงรายเป็นศูนย์กลาง แล้วจึงเข้าตีแคว้นหริภุญไชย ซึ่งขณะนั้น มีความเจริญมั่นคง เป็นชุมทางการค้า มีแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางขนส่งไปยังเมืองอโยธยาตอนล่าง ที่อยู่ใกล้ทะเล และสามารถติดต่อค้าขายกับจีนได้สะดวก
    เมื่อพญาเม็งรายตีได้แคว้นหริภุญไชยสำเร็จ จึงได้รวมเข้ากับแคว้นโยนกตั้งเป็น "อาณาจักรล้านนา" พร้อมกันนั้นพญาเม็งราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง จึงได้ร่วมกันสถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" เมื่อปี พ.ศ. 1839 เป็นศูนย์กลาง อาณาจักรล้านนาตอนล่าง ที่นับเป็นศูนย์รวมของการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอาณาจักร มีผู้ครองนครราชวงศ์เม็งรายต่อมาอีก 18 องค์
    บริเวณเมืองเชียงใหม่ อยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และบริเวณที่ราบฝั่งขวาของเม่น้ำปิง (พิงคนที)

    ความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา
    ภายหลังที่พญาเม็งรายสถาปนาเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาตอนล่างแล้ว ได้ทรงสร้างอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การค้า และศาสนา

    ด้านการเมือง การปกครอง
    พญาเม็งรายทรงส่งพระญาติวงศ์ไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้น หรือเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น ลำปาง เชียงตุง เชียงรุ้ง ส่งโอรสไปปกครอง เมืองที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เมืองนาย หัวเมืองไทไหญ่ และเชียงราย ซึ่งในระยะแรก ถือเป็นศูนย์กลางของการปกครองอาณาจักรล้านนาตอนบน
    รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 ที่ได้รับการยกย่อง ให้มีฐานะเป็น "ราชาธิราช" เท่ากับกษัตริย์อยุธยา ทรงแผ่ขยายอาณาเขตของล้านนาไปอย่างกว้างขวาง โดยทางด้านใต้และด้านตะวันออก ยึดได้เมืองน่าน แพร่ จนถึงหลวงพระบาง
    ด้านตะวันตกขยายไปจนถึงรัฐฉาน เช่น เมืองไลคา สีป้อ ยองห้วย ด้านเหนือยึดได้เมืองเชียงรุ้งและเมืองยอง นอกจากนั้นยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง 25 ปี แต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน
    ด้านศาสนา
    พญาเม็งราย ทรงรับอิทธิพลศาสนาพุทธจากแคว้นหริภุญไชยซึ่งเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาตั้งแต่เดิม จนสมัยของพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 ที่ได้ทรงรับเอาลัทธิลังกาวงศ์ จากอาณาจักรสุโขทัยมาเผยแพร่ ได้โปรดให้สร้างวัดวาอารามและเจดีย์มากมาย เช่น สร้างวัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม รวมทั้งวัดพระธาตุดอยสุเทพและเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย แล้วอัญเชิญไปไว้ที่วัดสวนดอก และวัดพระธาตุดอยสุเทพ
    นอกจากนั้น ทรงได้สนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่าง ๆ มาศึกษาพระธรรมวินัยแบบลังกาวงศ์ที่วัดบุปผาราม และอาราธนาพระสงฆ์ในนิกายเดิมมาบวชใหม่ในนิกายลังกาวงศ์อีกด้วย จึงทำให้ในรัชสมัยของพระองค์เป็นศูนย์กลางทางศาสนาแทนหริภุญไชยไปในที่สุด
    ในรัชสมัยของพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์องค์ที่ 8 ได้ส่งคณะสงฆ์ เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนายังลังกา และได้กลับมาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ ไปยังเมืองต่าง ๆ จนทำให้พระภิกษุตื่นตัวศึกษาปริยัติธรรมจนแตกฉาน
    สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 ได้ทรงให้จัดการ สังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก
    ทรงสร้างวัดขึ้นอีกหลายวัด เช่น วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) วัดป่าแดงมหาวิหาร เป็นต้น ทรงสร้างต่อเติมเจดีย์หลวงให้สูงขึ้น ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดพระธาตุลำปางหลวงมาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์หลวง
    ล่วงมาในสมัยพญาแก้ว หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 ภิกษุชาวเชียงใหม่ ได้สร้างผลงานวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญไว้มากมาย เช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เวสสันดร ทีปนี มูลศาสนา และปัญญาสชาดก เป็นต้น

    การล่มสลาย
    อาณาจักรล้านนา เริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัยพญาแก้ว เนื่องจากกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่เชียงตุงในการทำสงคราม เสียชีวิตไพร่พลลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเกิดอุทกภัยขึ้น ในเชียงใหม่ ทำให้เสียชีวิตผู้คนลงอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านเมือง เริ่มเกิดความไม่มั่นคง ภายหลังจากที่พญาแก้วสิ้นพระชนม์ กษัตริย์องค์ต่อมาอ่อนแอ อีกทั้งเกิดมีการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ จนทำให้ขุนนางมีอำนาจมากขึ้น จนถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอน กษัตริย์ได้ เมื่อศูนย์กลางอำนาจเกิดสั่นคลอน เมืองในปกครองจึงแยกตัวเป็นอิสระ แย่งชิงอำนาจ และไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการ
    จนถึงสมัยมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15 กองทัพไทใหญ่ที่ได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ยกมาปล้นเมือง และเมื่อกองทัพอยุธยา ก็ได้ยกมาล้อมเชียงใหม่ หัวเมืองต่าง ๆ ก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งเมื่อพม่ายกทัพมาล้อมเชียงใหม่ ในสมัยท้าวแม่กุเพียง 3 วัน เชียงใหม่จึงเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2101 และนับจากนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรล้านนาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี

    การเป็นอิสระจากพม่า
    ระหว่างที่พม่าได้ปกครองล้านนามาเป็นเวลายาวนานนั้น คราวใดที่พม่ามีกษัตริย์ที่อ่อนแอ ผู้นำชาวล้านนาก็จะลุกขึ้นต่อต้าน ที่จะแยกเป็นอิสระ
    ในปี พ.ศ. 2101-2207 พม่ายอมให้ล้านนาปกครองตนเอง แต่ต้องส่งบรรณาการแก่พม่าในฐานะเป็นเมืองขึ้น
    จนกระทั่งปี พ.ศ. 2207 พม่าได้รวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า พร้อมทั้งส่งขุนนางพม่ามาปกครอง ทั้งได้แยกเชียงแสนออกจากเชียงใหม่ และตั้งเป็นฐานที่มั่นของพม่า เพื่อทอนอำนาจของเชียงใหม่ที่พยายามจะแยกตัวเป็นอิสระ
    ในปี พ.ศ. 2270 เชียงใหม่ได้แยกตัวเป็นอิสระจากพม่าได้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกพม่ายึดกลับคืนได้อีกในปี พ.ศ. 2306 เชียงใหม่จึงถูกพม่าปกครองอย่างเข้มงวดและกดขี่ขูดรีด ทำให้ขุนนางล้านนาไม่อาจทนได้ในที่สุด พระยาจ่าบ้าน ขุนนางเมือง เชียงใหม่ กับพระยากาวิละเจ้านครลำปาง พากันมาเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน และร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากขับไล่พม่าจากเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ. 2317 และอีก 30 ปี ต่อมาจึงสามารถขับไล่พม่าจากเชียงแสนได้

    • Update : 14/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch