|
|
ความรู้เรื่องเมืองสยาม จากจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ 9
บทที่สิบห้า แบบทูตานุทูตในเมืองสยาม
๑. ทูตานุทูต ในเมืองภาคตะวันออก มิได้เป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดิน และได้รับเกียรติน้อยกว่าในยุโรป เขาคือผู้จำทูลพระราชสารของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้แทนพระองค์ เขาจึงได้รับการนับถือน้อย
มร.เดอ โชมองต์ แม้ว่าจะเป็นอัคราชทูตวิสามัญ ก็ไม่ได้รับพระราชทานเรือกูบกัญญาของหลวง ให้เป็นพาหนะไม่ เรือกูบกัญญานับเป็นที่เชิญพระราชสารของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เรือลำนี้มีฉัตรสี่คัน อยู่ที่มุมบุษบกทั่งสี่ด้าน ตามด้วยเรือยาวแห่คู่ชักอีกสี่ลำ ประดับด้วยฉัตรทุกลำ แต่ไม่มีผู้นั่งไปด้วย
ชาวตะวันออก จึงไม่รู้สึกความแตกต่างระหว่างราชทูตกับผู้แทนพระองค์แต่ประการใด และไม่รู้จักว่าราชทูตผู้แทนพระองค์สามัญ กับราชทูตประจำราชสำนักนั้นต่างกันอย่างไร เพราะเขาไม่เคยส่งราชทูตไปประจำยังราชสำนักต่างประเทศ นอกจากใช้ไปราชการจำทูลพระราชสารเป็นครั้งคราว แล้วกลับมาเท่านั้น
๒. คณะทูตสยามประกอบด้วยทูตสามคน คนแรกเรียกว่า ราชทูต คือผู้จำทูลพระราชสาร คนที่สองเรียกว่า อุปทูต และคนที่สาม ตรีทูต
๓. ถือว่าทูตานาทูตนี้เป็นเพียงผู้ถือสารเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อราชทูตเปอร์เซียน ได้ถึงแก่กรรมที่เมืองตะนาวศรี พวกเปอร์เซียนที่ติดตามมาในขบวน จึงเลือกพวกกันเองคนหนึ่ง ให้เป็นผู้เชิญพระราชสารพระเจ้ากรุงเปอร์เซียน มาถวายพระเจ้ากรุงสยามแทน
๔. ไม่พระราชทานพระราชสารตอบ นอกจากออกใบรับให้เท่านั้น และแม้ว่าจะมีพระราชสารตอบ ก็ไม่ได้มอบให้แก่ราชทูต แต่พระองค์จะจัดแต่งคณะทูตานุทูตของพระองค์เองชุดหนึ่ง ให้เชิญพระราชสารไปกับราชทูตนั้นด้วย
๕. พระเจ้ากรุงสยามทรงได้รับราบทูลล่วงหน้าว่าจะมีราชทูตมาถึงอย่างไร ราชทูตต่างประเทศที่มาสู่กรุงสยาม จะต้องหยุดอยู่ก่อนที่ชายแดนทางเข้าราชอาณาจักร จนกว่าพระเจ้ากรุงสยามจะทรงได้รับคำกราบบังคมทูลแล้ว และถ้ามีคณะทูตสยามร่วมมาในขบวนด้วย ก็เป็นหน้าที่ของคณะทูตสยามเดินทางล่วงหน้าเข้ามาก่อน เพื่อเฝ้ากราบถวายบังคมทูลพระกรุณาว่า ตนได้กลับมาถึงแล้ว พร้อมด้วยการมาถึงของราชทูตต่างประเทศ ซึ่งพวกตนเป็นผู้นำมาด้วย
๖. ในเมืองสยามนั้น ราชทูตได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูโดยตลอดเขาต้องติดต่อแถลงมูลราชกิจให้ทราบ ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นราชทูต ก็อาจทำการค้าขายได้ด้วย แต่ทำสัญญากิจการอะไรไม่ได้ก่อน จนกว่าจะได้ทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาร และแถลงมูลราชกิจที่ตนเชิญมาว่าขานทั้งปวงนั้นแล้ว สำหรับ มร.เดอ โชมองต์ กับคณะผู้แทนนพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ได้รับการยกเว้นการปฎิบัติในพิธีกรรมอย่างหลังนี้ แต่คณะทูตสยามไม่ได้รับการยกเว้นในเมืองฝรั่งเศส พวกเขาต้องแถลงมูลราชกิจที่ตนเชิญมาให้ทรงทราบก่อน
๗. เขาเข้าสู่พระนครก็เพื่อตรงเข้าเฝ้า และออกจากพระนครก็ต่อเมื่อออกจากเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา จะพูดจาข้อราชการอะไรไม่ได้อีกแล้ว
๘. พระราชพิธีเสด็จออกแขกเมือง พระนครหลวงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีเสด็จออกรับแขกเมือง เป็นพิธีใหญ่ การเสด็จออกรับแขกเมือง ณ ที่อื่นถือว่าเป็นการให้เข้าเฝ้าส่วนพระองค์
๙. สิ่งที่น่าสังเกตในเวลาเฝ้า ธรรมเนียมในที่เฝ้าทุกครั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ตรัสก่อน เนื้อความที่ทรงพระราชปฎิสันถาร ในที่เฝ้าในวันเสด็จออกในพระราชพิธีรับแขกเมืองนั้น เป็นคำถามที่เกือบจะเหมือนเป็นอย่างเดียวกันแทบทุกครั้ง ครั้นแล้วก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้ราชทูตเจรจากับพระคลัง ในข้อเสนอทั้งปวงที่ราชทูตจะกล่าว การพูดมากไม่เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยเลย พระองค์กลับทรงพระราชดำริว่า ยิ่งราชทูตคนใดกราบทูลขึ้นก่อน เป็นเวลาช้านานเท่าใด ก็เท่ากับว่าราชทูตผู้นั้น ถวายพระเกียรติแก่พระองค์น้อยลงเท่านั้น เมื่อได้ทรงมีพระราชดำรัสปฎิสันถารแก่ราชทูตแล้ว ก็จะโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานนำหมากกับพลู และเสื้อชั้นนอกตัวหนึ่งมาพระราชทาน ราชทูตต้องสวมเสื้อตัวนั้นในทันที บางทีก็พระราชทานดาบ และสร้อยทองคำให้ด้วย
๑๐. โปรดให้ชาวต่างประเทศที่มิใช่ราชทูตได้เฝ้าก็แต่ในโอกาสที่เสด็จผ่านเท่านั้น
๑๑. ชาวชมพูทวีปเป็นคนระมัดระวังและเจ้าเลห์ในการเจรจา ในกิจการทุกอย่าง ชาวชมพูทวีปทำการเนิ่นช้า ในการตกลงเนื่องจากต้องปรึกษาหารือกันอย่างยืดยาว ไม่ยอมดำเนินการนอกแบบธรรมเนียมของตน ที่เคยปฎิบัติกันมาเลย พวกเขามีนิสัยเยือกเย็นและมีการอำพรางมาก มีการพูดจากวางแต้มคู คมในฝัก มีเล่ห์กระเท่ห์ ในการเขียนเป็นลาบลักษณ์อักษร ทั้งล่อทั้งชนเท่าที่อีกฝ่ายหนึ่งจะหลงเชิงได้
๑๒. สิ่งที่ชาวยุโรปได้สำนึกอยู่เสมอคือ ต้องเจรจากับชาวชมพูทวีปด้วยลักษณะยกตนข่มท่านเข้าไว้ ชาวชมพูทวีปฝังสันดานในด้านยอมตนลงเป็นทาส ยอมอ่อนน้อมต่อผู้ที่ปฎิบัติต่อตนอย่างโอหังบังอาจ และก้าวร้าวต่อผู้ที่เขาคอยเอาใจตน พระเจ้ากรุงสยามตรัสว่า ราษฎรของพระองค์มีสันดานเป็นลิงคือ สะทกสะท้านตราบใดที่ยังมีผู้ถือปลายเชือก ที่ล่ามคออยู่ซึ่งเมื่อปล่อยเชือกให้หลุดมือไปแล้ว ก็จะไม่รู้จักบุญคุณเจ้าของตัวเองอีกเลย
บุคคลที่ปล่อยตัวให้ตกเป็นทาสของโทสะจริต เป็นที่ดูถูกดูแคลนของชาวชมพูทวีปนัก
๑๓. เครื่องราชบรรณาการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทูตในเมืองทางภาคตะวันออก การค้าเป็นผลประโยชน์ที่ฝังใจชาวชมพูทวีปอย่างยิ่ง ของกำนัลจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินการทางการทูต เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนอันเป็นมงคลระหว่างพระราชา ดูเหมือนจะทรงแสดงให้ปรากฎว่า ทรงสนพระทัยในของกำนัลราชบรรณาการ ทุกชิ้นเป็นทำนองให้เกียรติแก่พระราชาผู้ทรงจัดส่งมาถวาย
๑๔. ชาวตะวันออกถือเป็นเกียรติยศมากที่ได้รับราชทูต เห็นการมีทูตานุทูตมานั้นว่า เป็นเชิงถวายตัวเป็นเมืองออก และทรงหน่วงเหนี่ยวราชทูตต่างประเทศไว้ในราชสำนักของพระองค์ให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้เพื่อยืดพระเกียรติยศที่พระองค์ ทรงได้รับให้เนิ่นนานออกไป ด้วยเหตุนี้พระเจ้ามะหง่ล พระเจ้ากรุงจีน และพระเจ้ากรุงญี่ปุ่น จึงมิได้ส่งราชทูตของพระองค์ไป ณ ที่แห่งใดเลย พระเจ้ากรุงเปอร์เซียนที่ทรงส่งราชทูตมายังกรุงสยามก็เพราะราชทูตพระเจ้ากรุงสยามกราบทูลขอร้อง
๑๕. ราชทูตสยามเป็นสมุหบัญชี เพราะเป็นผู้นำเอาสินค้าไปด้วย พูดกันโดยทั่ว ๆ ไป แล้ว พระราชานักการค้าเหล่านี้ มักจะยกเอาเรื่องพระศาสนาขึ้นบังพระพักตร์ เพื่อพัฒนาการค้าของพระองค์ให้มากมูลพูนทวีขึ้นทั้งสิ้น
บทที่สิบหก ชาวต่างประเทศนานาชาติที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แล้วตั้งรกรากอยู่ในเมืองสยาม
๑. การจัดระเบียบภายในให้แก่คนต่างด้าว ที่เข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงสยาม เสรีภาพในการประกอบการทำมาค้าขาย ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นเครื่องดึงดูด ชนต่างด้าวเป็นอันมากเข้ามาสู่กรุงสยาม และตั้งรกรากอยู่โดยมีเสรีภาพอันสมบูรณ์ ในอันที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ตามประเพณีนิยมของตน และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนได้อย่างเปิดเผย แต่ละประชาชาติก็มีเขตที่อยู่อาศัยของตนแตกต่างกันออกไป อาณาเขตที่อยู่นอกตัวเมืองนั้น ชาวสยามเรียกว่า บ้าน ประกอบเป็นชานพระนคร แต่ละประชาชาติก็เลือกตั้งหัวหน้า ที่ชาวสยามเรียกว่า นาย ของตนขึ้น และนายบ้านนั้น ๆ ก็จะเจรจากิจแห่งลูกบ้านของตน กับขุนนางซึ่งพระเจ้ากรุงสยามทรงแต่งตั้ง ขึ้นเพื่อการนี้
๒. โชควาสนาของพวกแขกมัวร์ในเมืองสยามนั้นแตกต่างกันไปเป็นยุค ๆ ในบรรดาประชาชาติต่าง ๆ นั้น พวกแขกมัวร์ตั้งตัวได้เป็นอย่างดีในรัชกาลนี้ มีอยู่สมัยหนึ่งพระคลังเป็นแขกมัวร์ ด้วยว่าพระราชาในประเทศข้างเคียงที่มีเดชานุภาพ ต่างก็นับถือ ศาสนามะหะหมัด ด้วยกันทั้งสิ้น ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในราชสำนัก และในหัวเมืองในครั้งนั้นจึงตกอยู่ในมือ ของพวกแขกมัวร์โดยสิ้นเชิง พระเจ้ากรุงสยามโปรดให้สร้างสุเหร่าขึ้นหลายแห่ง พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าใช้จ่าย ในพิธีทางศาสนาที่สำคัญ ซึ่งพวกแขกมัวร์ทำการเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน เพื่อระลึกถึงวันถึงแก่ความตายของอาลี หรือวันตายของบุตรของอาลี ชาวสยามที่เข้ารีตศาสนาแขกมัวร์ ได้รับอภิสิทธิ์ยกเว้นการเข้าเดือนรับราชการแผ่นดิน แต่ไม่ช้าพวกคลังที่เป็นแขกมัวร์เกิดทำผิด คิดมิชอบในพระราชทรัพย์จึงตกอับสิ้นวาสนาไป และความนับหน้าถือตาพวกแขกมัวร์ก็ถดถอยน้อยลงเป็นลำดับ และพระเจ้ากรุงสยามทรงปลดออกจากตำแหน่ง และหน้าที่สำคัญ ๆ และยังบังคับให้ชาวสยามที่เข้ารีตนับถือศาสนามะหะหมัด เสียเงินค่าราชการ แทนการเข้าเดือนรับราชการที่พวกตนได้รับการยกเว้นมาแต่เดิม ในเมืองสยามยังมีแขกมัวร์อยู่อีกประมาณสาม หรือสี่พันคน ชาวปอร์ตุเกส ที่เกิดในชมพูทวีปก็มีจำนวนเท่า ๆ กัน เช่นเดียวกับชาวจีน และชาวมลายา และยังมีชาวชาติอื่น ๆ อยู่อีกบ้าง
๓. การค้าขายต่างประเทศซบเซาลงในสยาม ทำให้เศรษฐกิจชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวแขกมัวร์ ไปเสียจากพระนคร ตั้งแต่พระเจ้ากรุงสยาม ทรงรวบรวมเอาการค้าขาย ติดต่อกับต่างประเทศมาเป็นของพระองค์เองแต่ผู้เดียว
การค้าขายในเมืองสยามนั้น อาจกระทำได้โดยเสรีอยู่เกือบตลอดเวลา และเจริญรุ่งเรืองดีอยู่ แฟร์นังด์ เมนเดซ ปินโต ได้กล่าวไว้ว่า ในสมัยของท่านนั้น มีเรือกำปั่นต่างประเทศเข้ามาดำเนินการค้า กว่าปีละหนึ่งพันลำ ปัจจุบันคงมีเรือของชาวฮอลันดา เข้ามาเพียงสองหรือสามลำเท่านั้น
๔. เหตุใดการค้าขายต่างประเทศในสยามจึงซบเซาลง ไม่มีใครตกลงใจไปสู่กรุงสยาม เพื่อขายสินค้าที่ตนนำไปให้แก่ พระเจ้าแผ่นดินด้วยความจำใจ และซื้อสินค้าที่ตนต้องการจากพระองค์เพียงเจ้าเดียว ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีเรือกำปั่นต่างประเทศไปถึงกรุงสยาม พร้อมกันหลายลำ ก็ไม่อนุญาตให้ซื้อขายกันเอง หรือขายให้แก่ชาวเมือง จนกว่าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงอ้างปริมสิทธิ์ ทรงกว้านซื้อเอาสินค้าที่ดีที่สุดในระวางเรือไปหมด ตามสนนราคาที่ทรงกำหนดขึ้น ตามพระราชอัธฌาศัย ด้วยว่าในฤดูกาลที่เรือกำปั่นจะต้องเร่งออกจากท่าบังคับเข้ามา พ่อค้าย่อมพอใจที่จะยอมขายขาดทุนมาก ๆ และซื้อสินค้าขึ้นระวางใหม่ในราคาแพงลิบลิ่ว ดีกวาที่จะรออยู่ในกรุงสยามจนกว่าถึงฤดูกาล ที่จะออกเรือได้ในปีหน้า
๕. คนพื้นเมืองชาวสยามไม่สามารถทำการค้ากับต่างประเทศได้ คนพื้นเมืองชาวสยามนั้นฉิบหาย ป่นปี้แล้วด้วยภาษีอากร และการเข้าเดือนรับราชการ จึงไม่สามารถที่จะทำการค้าที่ใหญ่โตได้
บทที่สิบเจ็ด พระภิกษุ และสังฆาวาส
๑. กำเนิดคำว่า ปาก็อด พระภิกษุนั้นอยู่ในสังฆาวาส ชาวสยามเรียกว่า วัด และพระภิกษุใช้อุโบสถ ซึ่งชาวสยามเรียกว่า วิหาร และชาวปอร์ตุเกศ เรียกว่า ปาก็อด (Pagode)
๒. ลักษณะของสังฆาวาส วิหารกับอาวาสนั้น กินพื้นที่กว้างใหญ่สี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมด้วยรั้วไม่ไผ่ ตรงกลางพื้นที่เป็นที่ประดิษฐานพระวิหาร อันถือว่าเป็นสิ่งที่พึงเคารพนับถือที่สุดในวัดนั้น ตามมุมที่ดินและตามแนวรั้วไม้ไผ่มี กุฎิสงฆ์ รายรอบ บางทีก็เรียงกันสองแถว หรือสามแถว เป็นเรือนหลังย่อม ๆ แยกต่างหากจากกันเป็นหลัง ๆ ไป ยกพื้นสูงตั้งอยู่บนตอม่อ กุฎีเจ้าอาวาสมีขนาดใหญ่กว่า และค่อนข้างสูงกว่าหลังอื่น ๆ เจดีย์ ตั้งอยู่ใกล้ อุโบสถ และรายรอบ พื้นที่ตั้งอุโบสถกับเจดีย์นอกจากจะพูนขึ้นสูงกว่าลานวัดแล้ว ยังมีกำแพงล้อมสี่ด้าน จากกำแพงนี้ไปถึงแนวกุฎีมีพื้นที่กว้างขวางเป็น ลานวัด กำแพงนี้บางทีก็เป็นกำแพงเกลี้ยง ๆ แต่บางทีตามแนวกำแพงก็สร้างเป็นระเบียงโดยรอบ มุงหลังคารูปร่างเหมือนกุฎีมืด ตามสำนักนางชีจองเราและบนฐานที่ยกขึ้นติดกับกำแพง ตามแนวพระระเบียงขนาดสูงพอเอื้อมถึง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฎิมากรเรียงรายอยู่อย่างแน่นขนัด ลางองค์ก็ปิดทอง
๓. มีกุฎีสำหรับนางชี แม้ในเมืองสยามจะมีนางชีคือ สตรีที่ปฎิบัติพระวินัยสิกขาบทของพระภิกษุ พวกนางไม่มีสำนักของตนเอง ต้องอาศัยอยู่ในวัดของพระภิกษุนั้น ความจริงมิได้มีนางชีอยู่ทุกวัด
๔. สมณบุตรอยู่กันอย่างไร พวกเณร หรือสมณบุตร แยกย้ายกันอยู่ตามกุฎี พระภิกษุหลังละหนึ่งถึงสามรูป ทำหน้าที่ปรนนิบัติพระภิกษุ ที่ตนอาศัยอยู่ด้วย เณรบางรูปวบวชอยู่จนแก่ก็มี
๕. ศาลาการเปรียญ โรงเรียนของเณรเป็นศาลาไม้ไผ่ แยกออกไปตั้งอยู่ต่างหาก นอกจากนี้ยังมีหลังอื่นแยกออกไปตั้งอยู่ต่างหากเหมือนกัน สำหรับสัปบุรุษมาทำบุญในพระวิหารปิด หรือเมื่อพระสงฆ์ลงทำอุโบสถ
๖. หอระฆัง เป็นหอไม้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว เรียกว่า หอระฆัง ระฆังใช้ตีด้วยฆ้อนไม้ เฉพาะแต่ในการสงคราม หรือรบทัพจับศึกเท่านั้น ที่ชาวสยามจะตีฆ้องชัย หรือเครื่องมือที่ทำด้วยทองเหลือง สำริดหรือทองแดงด้วยค้อนเหล็ก
๗. เจ้าอาวาส แต่ละวัดอยู่ในการปกครองของพระภิกษุผู้ใหญ่ เรียกว่า เจ้าวัด แต่บรรดาเจ้าวัดทั้งปวง ไม่ได้มีสมณศักดิ์เสมอกัน ไม่มีเจ้าวัดรูปใดมีอำนาจบังคับบัญชา หรือพิจารณาอธิกรณ์ต่อเจ้าอาวาสรูปอื่น ๆ ได้
๘. พระสังฆราช พวกนักสอนศาสนา เปรียบสังฆราชของสยาม กับเอแว็ค ของเรา และเจ้าวัดธรรมดาเสมอกิวเร่ของเรา ไม่มีใครนอกจากสังฆราชเท่านั้น ที่จะอุปสมบทพระภิกษุได้ สังฆราชสยามไม่มีอำนาจพิจารณาอธิกรณ์ หรือบังคับบัญชาราษฎร หรือพระภิกษุ ที่มิได้อยู่ในวัดที่ตนเป็นเจ้าอธิการ
วัดที่สร้างขึ้นสำหรับสังฆราชนั้น มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษกว่าวัดอื่น ๆ โดยมีแผ่นหินปักอยู่รอบอุโบสถ และที่ใกล้ ๆ กำแพงดินนั้น ประกบกันอยู่เป็นสองแผ่น รูปร่างคล้ายหมวกสังฆราชฝรั่ง ตั้งอยู่บนฐานแท่นในภาษาสยามเรียกว่า เสมา ยิ่งมีแผ่นหินนี้รอบอุโบสถมากเท่าใด ก็ถือกันว่าสังฆราชวัดนั้น มีสมณศักดิ์สูงมากขึ้นเท่านั้น
๙. เกียรติยศของสังฆราช พระเจ้ากรุงสยามพระราชทานสมณนาม สัปทนคันหนึ่ง เสลี่ยงเล่มหนึ่ง กับคนหามหาบให้แก่สังฆราชที่สำคัญ ๆ แต่สังฆราชจะใช้ขบวนนี้ก็ต่อเมื่อ ไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น สังฆราชประจำวัดในวังหลวง รูปปัจจุบันมีนามว่า พระวันรัต
๑๐. เจตนารมย์ของสถาบันนี้ อยู่ที่การเลี้ยงตัวอยู่ด้วยบาปของประชาชน พระภิกษุไม่ฉันอาหารร่วมกับฆราวาส แม้ว่าท่านจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อฆราวาส ที่บ่ายหน้ามาพึ่ง แม้แต่พวกเข้ารีตถือศาสนาคริสต์ก็ตาม มีบทบัญญัติห้ามไว้มิให้แบ่งปันไทยทาน ที่ตนรับมาให้แก่พวกเดียวกันเอง แม้กระนั้นก็ไม่ได้มีข้อห้าม มิให้พระภิกษุให้สิ่งของ แก่เพื่อนภิกษุด้วยกันเป็นอันขาด หรือให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในยามจำเป็นแท้เสียทีเดียว มีห้องอยู่สองห้องตั้งอยู่ที่ประตูกุฎี ด้านละห้องเพื่อต้อนรับภิกษุอาคันตุกะ จะมาขออาศัย
๑๑. พระภิกษุมีสองจำพวก จำพวกหนึ่งครองชีวิตอยู่ในป่า อีกจำพวกหนึ่งอยู่ในเมือง
๑๒. พระภิกษุต้องอยู่อย่างเป็นโสด มิฉะนั้นจะต้องรับพระราชอาญาเผาไฟทั้งเป็น พระภิกษุทั้งสองจำพวกจะต้องดำเนินชีวิตถือพรหมจรรย์ อย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่ครองสมณวิสัย พระเจ้ากรุงสยามซึ่งเสด็จออกพิจารณาคดี ซึ่งภิกษุอลัชชีจำนนต่อหลักฐานแล้ว จะไม่โปรดพระราชทานอภัยโทษให้แก่ความผิด ประเภทนี้เลยเป็นอันขาด
๑๓. ถ้าไล่หนังสือตกก็ถูกขับออกจากวัด พระเจ้ากรุงสยามโปรดให้มีการทดสอบความรู้บรรดาพระภิกษุทั้งหลาย เป็นครั้งคราวเกี่ยวกับความรู้ภาษาบาลี และคัมภีร์ต่าง ๆ และเมื่อเราไปถึงเมืองสยาม ก็ได้โปรดให้สึกพระภิกษุออกเป็นฆราวาส หลายพันรูป ฐานไม่มีความรู้ลึกซึ้งเพียงพอ แต่พระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีไม่ยอมให้ฆราวาสมาเป็นแม่กองสอบ และยอมเข้ารับการสอบไล่ความรู้จากภิกษุชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น
๑๔. พระภิกษุสอนหนังสือเด็กและสั่งสอนประชาชน พระภิกษุเทศนาสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชน ตามที่มีจารึกไว้ในพระคัมภีร์บาลี ถึงทุก ๆ วันรุ่งขึ้นจากอมาวสี และทุกวันเพ็ญ ก็แสดงพระธรรมเทศนา และสัปปุรุษสีกา ก็พากันไปประชุมฟังเป็นประจำในอุโบสถ เวลาที่แม่น้ำลำคลองเปี่ยมฝั่งไปด้วยน้ำฝน จนถึงเวลาที่น้ำเริ่มลดก็มีการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวัน ตั้งแต่เวลาหกโมงเช้าจนถึงเวลาฉันจังหันมื้อเพล และตั้งแต่บ่ายโมงไปจนถึงห้าโมงเย็น พระธรรมถึกผู้เทศน์นั่งพับเพียบอยู่บนธรรมาสน์สูง และมีพระภิกษุอีหลายรูปคอยผลัดเปลี่ยนกัน ขึ้นไปทำหน้าที่นี้
๑๕. อาชีพอย่างนี้มีกำไรดี สาธุชนอนุโมทนาพระธรรมเทศนา ที่เทศน์เป็นธรรมทานด้วยคำภาษาบาลีว่า สาธุสะ อันหมายความว่า ชอบแล้วเจ้าข้า ครั้งแล้วก็ถวายไทยทานแก่พระธรรมถึกผู้เทศน์ และพระนักเทศน์นั้น ถ้าได้เทศน์บ่อย ๆ ก็กลายเป็นคนร่ำรวยไปได้
๑๖. การเข้าพรรษาของพระภิกษุและการอดข้าวได้โดยไม่ยาก ในฤดูที่ชาวยุโรปเรียกว่า ฤดูเข้าพรรษา การอดนั้นกระทำโดยไม่ฉันอะไรเลย ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป นอกจากเคี้ยวหมากพลูได้เท่านั้น ชาวชมพูทวีปนั้นเป็นคนมีความมักน้อยในเรื่องดื่มกินเป็นอันมาก การอดอาหารราว ๔๐ วัน หรือบางทีถึง ๑๐๐ วัน ก็ดูเหมือนจะทนกันได้
๑๗. พระภิกษุออกไปจำศีลไม่หลับนอนในเวลากลางคืน ในท้องนากับความนิยมนับถือของราษฎร เมื่อสิ้นคราวเกี่ยวข้าวแล้ว พระภิกษุก็ออกไปจำศีลไม่หลับนอนในเวลากลางคืน ที่กลางท้องนาเป็นเวลาสามสัปดาห์ อยู่ใต้กระต๊อบย่อม ๆ สะหลังคาด้วยใบไม้เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และในเวลากลางวันท่านก็กลับไปเยี่ยมวัด และเข้าจำวัดในกุฎีของท่าน กระต๊อบของเจ้าอธิการนั้นอยู่กลางวง และสูงกว่ากระต๊อบทั้งหลาย ท่านไม่ตามไฟในเวลากลางคืนเพื่อให้สัตว์ร้ายหลีกหนีไป เช่นที่คนทั้งหลายในประเทศนี้ที่เดินทางไปในป่าปฎิบัติกันเลย และเช่นเดียวกับที่เขาได้กระทำโดยรอบเรือนพัก ที่เราพำนักอยู่ จนพวกราษฎรเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์นัก ที่พระภิกษุเหล่านั้นหาถูกสัตว์ร้ายมาคร่าเอาไปกินไม่ ประชาชนพากันสรรเสริญพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีมกา ด้วยว่าท่านไม่มีอาวาส หรือโบสถ์ วิหาร ที่จะเข้าไปอยู่ได้
๑๘. พระภิกษุใช้ลูกประคำ พวงลูกประคำ ๑๐๘ เม็ด ใช้ยามท่องบ่นภาวนาเป็นภาษาบาลี
๑๙. เครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุ พระภิกษุไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่า และศีรษะเปล่า ใช้ผ้านุ่งของคฤหัสถ์พันรอบชายโครง และขาอ่อน แต่เป็นผ้าสีเหลือง อันเป็นภูษาของพระเจ้าแผ่นดินสยาม และพระเจ้าแผ่นดินจีน เครื่องนุ่งห่มของท่านมีสี่ผืน ผืนแรกเรียก อังสะ เป็นจำพวกผ้าแถบเฉลียงไหล่ กว้าง ๕ - ๖ นิ้ว พาดไว้กับไหล่ซ้าย และขัดไว้ด้วยดุมเพียงเม็ดเดียวที่เอวด้านขวา ไม่ทิ้งชายต่ำกว่าเอวบนผ้าอังสะ มีผ้าผืนใหญ่คลุมเป็นเครื่องห่มของพระภิกษุเรียกว่า ผ้าจีวร เป็นผ้าหลายชิ้นเย็บติดต่อกันโดยเที่ยวไปเก็บเอามาจากที่ต่าง ๆ เป็นผ้าจำพวกคล้องคอคลุมไหล่ ชายตกเกือบถึงพื้นดิน ทั้งด้านหลังและด้านหน้า และคลุมแต่เพียงไหล่ซ้ายเฉลียงมาเอวขวา ปล่อยให้แขนทั้งสองข้างลอดออกมา และไหล่ขวาเปลือย บนผ้าจึงเป็น ผ้าพาด เป็นผ้าอีกผืนหนึ่งกว้าง ๔ - ๕ นิ้ว พาดไว้บนบ่าซ้าย เป็นทำนองส่วนประกอบ ทิ้งชายจรดถึงสะดือเท่ากับทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สีนั้นบางทีก็เป็นสีแดง เพื่อตรึงผ้าพาดกับจีวรให้อยู่กับที่ ใช้ผ้าแถบสีเหลือง ผืนหนึ่ง คาดไว้กลางลำตัวเรียกว่า รัดประคด
๒๐. พระภิกษุมีบาตรเหล็กขนาดย่อม ๆ ไว้สำหรับบิณฑบาต ท่านนำมันไปในถุงผ้า (ถลกบาตร) สะพายไว้ทางเบื้องซ้ายของลำตัว ผูกไว้ด้วยปลายเชือกสองด้าน (สายโยกตร์) คล้องไว้กับไหล่ขวา
๒๑. พระภิกษุโกนศีรษะและถือเครื่องกำบัง พระภิกษุโกนหนวดเครา ผม และคิ้ว มีตาลปัตรเป็นร่มกันแดดคันย่อม ๆ รูปร่างเป็นเครื่องกำบัง เจ้าอธิการจำต้องปลงผมของตนเอง เพราะไม่มีใครอาจถูกต้องศีรษะของท่านได้ ท่านต้องยอมให้ผู้อื่นปลงผมให้เหมือนกัน และภิกษุรูปอื่นก็ทำได้หลังจากที่ได้รับอนุญาตโดยเฉพาะแล้ว มีดโกนในกรุงสยามทำด้วยทองแดง
๒๒. ในวันที่พระภิกษุปลงผมนั้น เป็นวันถือศีลอุโบสถของราษฎร เป็นวันสิ้นเดือนทางจันทรคติ หรือวันกลางเดือนพระจันทร์เต็มดวง ในวันนั้นบรรดาพระภิกษุ และราษฎรจะพากันอดอาหารคือ เว้นการกินอาหารตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป ในวันนี้พวกราษฎรงดการออกไปจับปลา และพากันไปทำบุญที่วัดด้วยเงิน ผลหมากรากไม้ ผ้าสบงจีวร หรือว่าสัตว์ ถ้าสัตว์เหล่านั้นตายลง พระภิกษุก็ฉันเนื้อสัตว์ที่ตายเองนั้น ในที่ใกล้ ๆ วัดบางวัด ยังมีสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาเป็น ๆ ที่มีผู้นำมาปล่อยถวายวัด และนอกจากวันนักขัตฤกษ์ อันกระทำทั่วทุกวัดแล้ว แต่ละวัดยังมีวันนัดพิเศษออกไป เพื่อรับทานอีกด้วย คล้าย ๆ กับเป็นวันรับอุทิศทาน
๒๓. ประชาชนพอใจแต่งตัวให้สวยงามไปวัด และความเวทนาสงสารสัตว์ของพวกเขา การกุศลยิ่งใหญ่ของชาวสยามอย่างหนึ่งคือ การปล่อยสัตว์ซึ่งมาจากพวกที่จับมาจากท้องทุ่งท้องนา มาถวายแก่พระภิกษุแล้ว พระภิกษุก็นำถวายต่อพระพุทธปฎิมากรอีกชั้นหนึ่ง บางทีประชาชนก็ถวายเทียนที่จุดแล้ว ซึ่งพระภิกษุนำไปติดไว้ที่พระชานุของพระพุทธรูป พระศาสดาของชาวสยามห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒๔. ชาวสยามสรงน้ำพระพุทธรูป พระภิกษุ และบิดามารดาของตน ถึงกลางเดือนห้า พระภิกษุพากันสรงพระพุทธรูปด้วยน้ำอบ และโดยความเคารพจึงไม่อนุญาตให้สรงที่พระเศียร จากนั้นพระภิกษุทั้งหลายก็พากันไป สรงน้ำพระสังฆราชและภิกษุอื่น ๆ ต่อไป บรรดาลูกหลานก็รดน้ำพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ของตน ประเพณีก็ใช้อยู่ในประเทศลาวเช่นกัน ที่ต่างกันอยู่คือ เขางลงไปสรงน้ำพระเจ้าแผ่นดินจนถึงในลำแม่น้ำ
๒๕. เวลาที่พระภิกษุตื่นขึ้นในตอนเช้า บรรดาพระภิกษุไม่มีนาฬิกาใช้ และท่าตื่นเมื่องสว่างขึ้นราง ๆ พอมองเห็นเส้นลายมือแล้ว ดังนั้น ท่านจึงตื่นขึ้นค่อนข้างสาย ในฤดูที่กลางวันสั้น แม้ว่าเสียงระฆังจะได้ปลุกให้ตื่นตั้งแต่ก่อนอรุณแล้วก็ตาม
๒๖. พระภิกษุไปลงอุโบสถแต่เช้า เมื่อตื่นแล้ว พระภิกษุทั้งหลายจะตามเจ้าอธิการไปลงอุโบสถ เป็นเวลาสองชั่วโมง ท่านสวดมนต์เป็นภาษาบาลี และข้อความที่สวดนั้น จารอยู่บนใบไม้ขนาดค่อนข้างยาว และผูกติดกันไว้ทางปลายด้านหนึ่ง ประชาชนไม่มีหนังสือสวดมนต์เลย อิริยาบถของพระภิกษุเวลาสาธยายมนต์คือ นั่งพับเพียบและโบกตาลปัตร คล้ายกับจะให้ตนเองได้ลมอยู่เสมอ พัดของท่านจึงโยกไปมาตามแต่พยางค์ที่ท่านกล่าวออกมา ท่านสวดพร้อม ๆ กันและด้วยระดับเสียงเดียวกัน เมื่อเข้าไปในอุโบสถหรือออกมา ท่านจะหมอบกราบสามครั้งต่อพระพุทธรูป พวกคฤหัสถ์ก็ทำเช่นเดียวกัน ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ เมื่ออยู่ในอุโบสถต่างก็นั่งพับเพียบ
๒๗. พระภิกษุทำอะไรบ้างในวันหนึ่ง ๆ เมื่อกลับจากบิณฑบาตรแล้ว พระภิกษุก็ฉันภัตตาหาร และไม่ค่อยจะถวายข้าวที่จะฉันต่อพระพุทธรูปโดยสม่ำเสมอนัก ในระหว่างที่คอยฉันเพลนั้น พระภิกษุก็เล่าเรียน หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร ท่านฉันเพลตอนเที่ยงวัน หลังจากฉันเพลแล้ว ท่านก็จะสอนหนังสือให้แก่พวกสามเณร แล้วจำวัด พอตกเย็นท่านก็ช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาดลานอุโบสถ แล้วทำวัตรเย็น เป็นเวลาสองชั่วโมง เช่นในตอนเช้า แล้วจำวัด ถ้าท่านไม่บริโภคอีกในตอนค่ำ ก็ฉันแต่ผลไม้เท่านั้น และแม้ว่าท่านจะมีงานประจำอยู่เต็มวัน ท่านก็ยังมีเวลาจาริกไปเที่ยวเล่นในเมืองได้อยู่ หลังจากเพลแล้ว
๒๘. บ่าวพระภิกษุที่เป็นคฤหัสถ์ นอกจากพวกทาสที่มีอยู่สำหรับวัดแล้ว แต่ละวัดยังมีบ่าวไว้อีกคนหนึ่ง หรือสองคน เรียกว่า ตาปะขาว ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ตาปะขาวเป็นผู้รับเงินที่มีผู้บริจาค ถวายเป็นปัจจัยให้แก่พระสงฆ์ เนื่องจากพระภิกษุจับต้องเงินทองแล้วต้องอาบัติ ตาปะขาวเป็นธุระดูแลเรือกสวนไร่นาของวัดคือ ทำทุกอย่างในวัดแทนพระภิกษุสงฆ์ ในประการที่ท่านทำด้วยตนเองไม่ได้
บทที่สิบแปด การเลือกตั้งสมภารเจ้าวัด และการประชุมพระภิกษุกับนางชี
๑. การเลือกตั้งสมภารเจ้าวัด เมื่อพระอธิการ หรือสมภาร เจ้าวัดถึงแก่มรณภาพ ทางวัดจะเลือกเจ้าวัดขึ้นใหม่ โดยธรรมดาแล้ว ย่อมเลือกพระภิกษุรูปที่มีพรรษามากที่สุด หรือรูปที่ทรงความรู้มากที่สุดในวัดนั้น
๒. คฤหัสถ์ที่สร้างโบสถ์นั้นทำอย่างไร และการตั้งวัดขึ้นมาได้ ถ้าเอกชนคนใดสร้างโบสถ์ขึ้น เขาจะทำความตกลงกับพระภิกษุที่มีพรรษามากบางรูปตามที่ศรัทธา เพื่อให้มาเป็นเจ้าอธิการของวัด แล้วจึงสร้างกุฎีขึ้นรายล้อมอุโบสถนั้น ทีละหลังสองหลัง สุดแท้แต่จะมีพระภิกษุอื่นมาอยู่ใหม่เพิ่มขึ้น
ถ้าผู้ใดต้องการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เขาก็เริ่มด้วยการไปทำความตกลงกับเจ้าอธิการรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งจะรับเขาเข้าไว้ในวัดของท่าน มีแต่สังฆราชเท่านั้นที่จะอุปสมบทให้ได้ เขาจะต้องไปร้องขอต่อสังฆราช ซึ่งจะนัดวันเวลาที่อุปสมบทให้ ใครที่ขัดขวางมิให้คนผู้นั้นได้อุปสมบทก็ได้บาป ด้วยการบวชนั้นมีแต่คุณ พ่อแม่ของเจ้านาคก็มีแต่ความยินดีที่ได้เห็นลูกของตนได้อุปสมบทในพระพุทธสาสนา ทุกคนมีเสรีที่จะบวชเป็นพระภิกษุ พ่อแม่และเพื่อนฝูงก็พากันแห่ตามเจ้านาคไปในพิธีกรรมนี้ พร้อมด้วยเครื่องดนตรี และนักระบำรำฟ้อน เจ้านาคกับผู้ที่ติดตามมาก็เข้าไปในอุโบสถ ซึ่งพระสังฆราชคอยท่าอยู่ แต่พวกผู้หญิงพวกดนตรี กับพวกฟ้อนรำไม่เข้าไปในอุโบสถด้วย สังฆราชเป็นผู้มอบไตรให้เจ้านาคถึงมือ เจ้านาคก็นำไปนุ่งห่ม ผลัดเครื่องนุ่งห่มของฆราวาสออก ต่อจากนั้นสังฆราชก็กล่าวคำภาษาบาลีอยู่หลายคำ เมื่อเสร็จพิธีอุปสมบทแล้ว พระภิกษุใหม่ก็ไปสู่วัดที่ตนจะอยู่จำพรรษา พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง ก็ตามไปส่งกันเป็นขบวนอีกไม่กี่วันต่อมา พ่อแม่ของพระภิกษุบวชใหม่ ก็มีการเลี้ยงพระที่วัด จัดให้มีมหรสพหลายอย่างที่หน้าอุโบสถ
๓. พระภิกษุมีหลายชั้นหรือไฉน ม.แชชเแวส ได้แบ่งชั้นพระภิกษุออกเป็นบาหลวงเจ้ากู และภิกขุ บาหลวง ชาวสยามเรียก บาทหลวง เป็นการเรียกเพื่อแสดงความเคารพเท่านั้น ชาวสยามใช้ชื่อนี้เรียกบรรดาหลวงพ่อคณะเยซูอิด ที่เราเรียกว่า เรเวรังซ์ (Reverence)
๔. นักบวชผู้หญิง เรียกว่า นางชี นุ่งขาวห่อขาวเหมือนตาปะขาว และไม่มีใครนับถือว่าเป็นสมณะเต็มตัวนัก อธิการเจ้าวัดธรรมดาก็บวชนางชีได้ เหมือนกับเณร
บทที่สิบเก้า ลัทธิศาสนาของพระภิกษุ
๑. พระภิกษุสงฆ์ในชมพูทวีปมีหลายประเภท ทั่วชมพูทวีปเต็มไปด้วยภิกษุสงฆ์ บางประเภอทแต่งงานมีลูกมีเมียได้ บางประเภทก็ถือเพศพรหมจรรย์ บางประเภทก็บริโภคเนื้อสัตว์เมื่อมีผู้ฆ่าแล้วนำมาถวายให้ บางประเภทก็๋ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย บางประเภทฆ่าสัตว์ตัดชีวิต บางประเภทไม่ฆ่าสัตว์เป็นอันขาด ลัทธิศาสนาของภิกษุสงฆ์เหล่านี้ไม่ค่อยจะเหมือนกัน แม้ว่าหลักธรรมเบื้องต้นนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานการเวียนว่ายตายเกิดอย่างเดียวกัน และลัทธิบูชาก็แตกต่างกันออกไป
๒. ความเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกมีชีวิตจิตใจและความเห็นในเรื่องความมีชีวิตจิตใจนี้ โดยที่ปรากฏแก่ชาวชมพูทวีปว่าวิญญาณทั้งหลาย ดูเหมือนจะมีธรรมชาติสร้างสรรค์มาเป็นอย่างเดียวกันหมด จึงไม่ห่วงต่อการย้ายเข้าไปสิงในรูปถ่ายประเภทใด เชื่อว่าดวงวิญญาณนั้นอยู่ในรูปกาย และเป็นตัวปกครองรูปกาย เชื่อว่าวิญญาณเหล่านั้น จำใจมาสิงสถิตอยู่ และเป็นโอกาสที่จะได้รับการทุกขเวทนา และใช้เวรกรรมของตน ด้วยการทนทุกข์เวทนานั้น ความบรมสุขของวิญญาณนั้น อยู่ที่สิ้นความจำเป็นที่จะก่อรูปกายใด ๆ มีชีวิตจิตใจอีกต่อไป แต่อยู่ในความสงบระงับไปชั่วนิรันดร และตัวนรกอันแท้ของดวงวิญญาณก็เป็นตรงกันข้าม กล่าวกันว่ามีพระภิกษุสงฆ์บางรูปยืนยันว่าตนระลึกชาติก่อน ๆ ได้
๓. ความคิดเห็นในเรื่องความนิรันดรของโลก ตามลัทธิศาสนาของชาวชมพูทวีปนั้น สภาพธรรมดาของโลกย่อมยั่งยืนอยู่ชั่วนิรันดร แต่โลกที่เราเห็นอยู่ในบัดนี้ ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยว่าทุกสิ่งที่เราเห็นอยู่ในโลก ล้วนสถิตอยู่ในความรู้สึกนึกคิดไปเองเท่านั้น และจะแตกดับไปแล้วเกิดใหม่ในขณะเดียวกันในสภาพเดียวกัน เป็นสวรรค์ใหม่ พิภพใหม่และดาวใหม่
๔. สภาพของดวงวิญญาณตามทรรศนะของชาวชมพูทวีป พวกนอกศาสนาทางภาคตะวันออกทั้งปวงเชื่อในความจริงที่ว่า ย่อมจะมีบางสิ่งเหลืออยู่ หลังจากชีวิตของมนุษย์แตกดับแล้ว โดยดำรงอยู่ต่างหากจากกันจากรูปกายนั้น พวกเขาอนุมานเอาแต่เพียงว่าวิญญาณนั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดนัก ไม่อาจสัมผัสหรือเห็นด้วยตาได้
๕. ความคิดเห็นไร้สาระของชาวตะวันออก
๖. การรับโทษและการรับอานิสงส์ของวิญญาณ ดวงวิญญาณไม่รู้จักสาบสูญตามทรรศนะของพวกเขา และเมื่อออกจากอัตภาพ ชีวิตนั้นก็จะไปได้รับโทษทัณฑ์ หรืออานิสงส์มากน้อยตามส่วนแห่งกรรมของตนช้า หรือเร็วตามผลกรรมที่ตนทำมา จนกว่าวิญญาณนั้นจะได้กลับไปสิงอยู่ในกายมนุษย์ใหม่ และดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุข มากน้อยก็สุดแต่กุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ตนได้ทำไว้ในชาติก่อน ๆ
๗. เขาให้คำอธิบายเกี่ยวกับความรุ่งเรืองของคนชั่วและความทุกข์ยากของคนดีว่าอย่างไร ถ้าเขาได้เห็นคนชั่วมีความรุ่งเรือง ก็เชื่อว่าผู้นั้นได้รับอานิสงส์จากกุศลกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติ ถ้าชีวิตของผู้ใดลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีทั้งดีและชั่ว ก็ว่าผู้นั้นได้ประกอบกรรมไว้ ทั้งดีและชั่วในอดีตชาติ
๘. หลังจากที่มนุษย์ตายแล้ว วิญญาณจะไปในที่หลายแห่ง ยังมีสถานที่นอกภพนี้อีกหลายแห่ง ที่วิญญาณจะต้องไปอุบัติขึ้น เพื่อรับทุกข์โทษ หรือรับอานิสงส์เป็นบำเหน็จ ชาวชมพูทวีปจัดสรรสถานที่เหล่านี้เป็นชั้น ๆ แผ่ไปในธรรมดาโลกวิสัย และที่ปรากฏในพระคัมภีร์ของเขา ก็มีความแตกต่างกันออกไป ในเรื่องจำนวน แม้ว่าตามทรรศนะทั่วไปจะมีชั้นที่เสวยสุขอยู่เก้าชั้นและชั้นที่เสวยทุกข์อยู่เป็นจำนวนเท่า ๆ กัน ชั้นที่เสวยสุขอยู่เหนือศีรษะเราขึ้นไป ชั้นที่เสวยทุกข์อยู่ใต้ฝ่าเท้าเราลงไป ชั้นใดยิ่งสูงขึ้นไปก็เสวยสุขมากชั้นบน ๆ เรียกว่า เทวดา และเรียกผู้เสวยทุกข์ในชั้นล่าง ๆ ว่า ผี ส่วนผู้ที่อยู่ในโลกนี้เรียกว่า มนุษย์
๙. ดวงวิญญาณกลับปฏิสนธิใหม่ การตายและการเกิดใหม่ย่อมเป็นการนำจากสถานที่แห่งหนึ่งไปสู่สถานที่อีกแห่งหนึ่ง และหลังจากที่ไปมีชีวิตอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ชั่วระยะเวลาอันกำหนด ซึ่งตามปกติก็ยืดเยื้อออกไปหลายพันปีแล้ว ดวงวิญญาณที่ได้รับการ
ลงทัณฑ์หรือได้รับบำเหน็จแล้วก็จะเวียนกลับมาเกิดใหม่ในโลกนี้อีก
๑๐. การดำรงชีวิตอันเต็มไปด้วยความทะยานอยากเช่นในชีวิตนี้ ชาวชมพูทวีปสันนิษฐานว่า วิญญาณนั้นไปสิงสถิตในรูปกายใหม่ในสถานที่ที่ไปจุติ เขาเชื่อว่าวิญญาณนั้นมีความต้องการสิ่งที่เคยใช้สอยมาแต่ก่อนในชีวิตนี้
๑๑. เหตุใด หญิงชาวอินเดียจึงเผาตัวเองไปพร้อมกับศพสามี
๑๒. ธรรมเนียมนี้ชาวตาดก็ถือปฏิบัติอยู่และเคยมีตัวอย่างในหมู่ชาวจีนเหมือนกัน
๑๓. การประหยัดทรัพย์ของชาวจีนและชาวประเทศข้างเดียว ไม่ว่าชาวจีน ชาวตังเกี๋ย ชาวสยาม หรือชาวอินเดียพ้นแม่น้ำคงคาออกมา เท่าที่ทราบก็ไม่เคยได้รับเอาลัทธิธรรมเนียมที่ยอมให้ผู้หญิงเผาตัวตายตามมาใช้เลย นอกจากนั้นยังรู้จักใช้วิธีประหยัดแทบที่จะใช้เครื่องเรือนและเงินทองจริง ๆ เผาไปพร้อมกับศพผู้ตาย หากใช้กระดาษกรุตัดทำจำลองขึ้นให้คล้ายของจริง และมักทาสี หรือปิดทองเผาไปพร้อมกับศพ
๑๔. อำนาจของคนตายเหนือคนเป็น ที่มาของธรรมเนียมเซ่นผี ชาวชาติในภาคตะวันออก ยังคิดอีกว่าผู้ตายหรือผีนั้นมีอำนาจที่จะมารบกวนให้เดือดร้อน และให้ความช่วยเหลือแก่คนเป็นได้อีกด้วย จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดการจัดงานศพให้ประณีตและครึกครื้น ต่อไปเกิดการบนบวงผีผู้ตาย
๑๕. ชาวชมพูทวีปกลัวผีคนที่รู้จักกันเท่านั้น
|
Update : 14/5/2554
|
|