หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พุทธศาสนพิธี 1

    พุทธศาสนพิธี

                พุทธศาสนพิธี คือแบบอย่างหรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา เหตุที่เกิดมีพุทธศาสนพิธี ก็เนื่องมาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักการสำคัญไว้สามประการ คือ
                ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
                       สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง        สพฺพปาปสฺส อกรณํ
                       สอนให้อบรมกุศลให้ถึงพร้อม        กุศลสูป สมฺปทา
                       สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว        สจิตต ปริโยทปนํ
                ด้วยหลักการทั้งสามประการนี้ พุทธศาสนิกชนต้องพยายามเลิกละความประพฤติชั่วทุกอย่าง จนเต็มความสามารถ พยายามสร้างกุศลสำหรับตนให้พร้อมเท่าที่จะสามารถทำได้ และพยายามชำระจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ทั้งหมดเป็นการพยายามทำดีที่เรียกว่า ทำบุญ การทำบุญนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุคือ ที่ตั้งอันเป็นทางไว้โดยหลักย่อ ๆ สามประการเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ อันประกอบด้วย
                ทาน  การบริจาคของ ของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
                ศีล  การรักษา กาย และ วาจาให้สงบเรียบร้อยไม่ล่วงบัญญัติที่ห้ามไว้
                ภาวนา  การอบรมจิตใจให้ผ่องใสในทางกุศล
                บุญกิริยาวัตถุ เป็นแนวทางให้พุทธศาสนิกชนประพฤติบุญตามหลักการดังกล่าวข้างต้น และทำให้เกิดพุทธศาสนพิธีต่าง ๆ ขึ้น คือเมื่อพุทธศาสนิกชนทำบุญไม่ว่าจะปรารภเหตุใด ๆ ก็ให้เข้าหลักบุญกิริยาวัตถุทั้งสามประการนี้ โดยเริ่มต้นมีการรับศีล ต่อไปเป็นภาวนาด้วยการสวดมนต์ จบลงด้วยการบริจาคทาน
                เมื่อพิธีกรรมใดเป็นที่นิยม และรับรองปฏิบัติสืบ ๆ มาจนเป็นประเพณี พิธีกรรมนั้นก็กลายเป็นศาสนพิธีขึ้น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อแยกเป็นหมวด พอจะแบ่งออกได้เป็นสี่หมวดด้วยกัน คือ
                       หมวดกุศลวิธี     ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล
                       หมวดบุญพิธี      ว่าด้วยพิธีทำบุญ
                       หมวดทานพิธี      ว่าด้วยพิธีถวายทาน
                       หมวดปกิณกะ      ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ด


    กุศลพิธี

                กุศลพิธี คือพิธีกรรม อันเกี่ยวด้วยการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนา ทั้งตัวบุคคลและหมู่คณะ ได้แก่ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พิธีรักษาอุโบสถ ส่วนพิธีเข้าพรรษา พิธีถือนิสสัย พิธีทำสามีจิกรรม พิธีทำวัตรสวดมนต์ พิธีกรรมวันธรรมสวนะ พิธีสังฆอุโบสถ และพิธีออกพรรษา เป็นพิธีกรรมที่พระภิกษุสงฆ์พึงปฏิบัติเพื่อความดีงามในพระวินัย
    บุญวิธี
                บุญวิธี คือพิธีทำบุญ หรือทำความดีเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัวของพุทธศาสนิชน เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตของคนทั่วไป  แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ทำบุญงานมงคล และทำบุญงานอวมงคล นอกจากนี้ยังมีงานทำบุญร่วมกันเป็นส่วนรวม ของชุมชนในระดับต่าง ๆ
                งานหลักของการทำบุญ คือการเลี้ยงพระ เรียกว่า การทำบุญเลี้ยงพระ มีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วถวายภัตตาหารกับถวายทานอย่างอื่นแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี
                การทำบุญงานมงคล ได้แก่ การทำบุญในโอกาสต่าง ๆ เพื่อความเป็นศิริมงคล ส่วนการทำบุญงานอวมงคล เป็นการทำบุญเกี่ยวกับการตาย มีการทำบุญหน้าศพและการทำบุญอัฐิ
                พิธีฝ่ายสงฆ์ มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีสวดพระพุทธมนต์ พิธีสวดพระอภิธรรม พิธีสวดมาติกา พิธีสวดแจง พิธีสวดถวายพรพระ พิธีอนุโมทนาในกรณีต่าง ๆ พิธีพระธรรมเทศนา และพิธีพิเศษเฉพาะงาน เช่น พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะ เป็นต้น


    ทานพิธี

                ทานพิธี คือพิธีถวายทานต่าง ๆ เป็นการถวายวัตถุที่ควรให้เป็นทาน ในพระพุทธศาสนาเรียกวัตถุที่ควรให้เป็นทานว่า ทานวัตถุ  จำแนกได้เป็นสิบประการคือ ภัตตาหาร น้ำ ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ มาลัย และดอกไม้เครื่องบูชาต่าง ๆ ของหอม หมายถึงธูปเทียนบูชาพระ เครื่องลูบไล้ เครื่องที่นอนอันควรแก่สมณะ ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป
                การถวายทานนิยมทำสองอย่างคือ ถวายเจาะจงเฉพาะภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เรียกว่า ปาฏิปุคลิกทาน และถวายไม่เจาะจงภิกษุรูปใด มอบเป็นของกลางให้สงฆ์เรียกว่า สังฆทาน
                การถวายทานวัตถุทั้งสิบประการดังกล่าวมีคำถวายแตกต่างกันออกไป แยกออกได้เป็นพวก ๆ ตามปัจจัยเครื่องอาศัยสี่อย่างของบรรพชิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานเภสัช การถวายทานนิยมถวายเป็นสองแบบคือ ถวายในกาลที่ควรถวายสิ่งนั้น ๆ  เรียกว่า กาลทาน และถวายไม่เนื่องด้วยกาลอีกแบบหนึ่ง


    ข้อปฏิบัติในการประกอบพุทธศาสนพิธี

                ในการประกอบพุทธศาสนพิธี พุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติตนด้วยความเรียบร้อย สำรวม ด้วยอาการอันแสดงความเคารพตลอดพิธี มีวิธีการปฏิบัติที่ถือกันเป็นประเพณี เช่น วิธีแสดงความเคารพพระภิกษุ วิธีประเคนของแด่ภิกษุ วิธีทำหนังสืออาราธนา และทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย วิธีอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม วิธีกรวดน้ำ วิธีจับด้ายสายสิญจน์ วิธีตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป และพิธีของพระภิกษุสงฆ์ก็มีวิธีบังสุกุลในพิธีทำบุญอายุ และพิธีศพ วิธีบอกศักราชในการแสดงพระธรรมเทศนา
                พุทธศาสนพิธี  มีระเบียบพิธีโดยเฉพาะในแต่ละพิธี งานต่าง ๆ ตามประเพณีเกี่ยวกับชีวิต งานวันนักขัตฤกษ์ และเทศกาลต่าง ๆ จะมีพุทธศาสนพิธีแทรกอยู่ทั้งสิ้น เช่นงานมงคลสมรส งานทำบุญฉลองต่าง ๆ งานศพ งานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ฯลฯ
    พระราชพิธีพระราชกุศลและรัฐพิธี

                งานพิธีตามประเพณีไทย จะมีพิธีทางพระพุทธศาสนาประกอบอยู่ด้วย พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะ และเอกอัครศาสนูปถัมภก ดังนั้นในงานพระราชพิธี พระราชกุศล และรัฐพิธีต่าง ๆ จึงมีพุทธศาสนพิธี ซึ่งเรียกว่า พิธีสงฆ์ เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น
                พระราชพิธี  เป็นงานหลวงสำหรับพระมหากษัตริย์ จัดขึ้นประจำตามกำหนดกาล โดยเป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาแต่โบราณกาล ประกาลหนึ่ง และเป็นการพิเศษที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเป็นงานพระราชพิธีอีกประการหนึ่ง
                งานพระราชพิธีประการแรก เป็นงานที่กำหนดเป็นประจำตามกำหนดกาลที่เวียนมาถึงทุกรอบปี เช่นพระราชสงกรานต์  พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น
                งานพระราชพิธีบางงานมีแต่พิธีสงฆ์อย่างเดียว บางงานก็มีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ร่วมกัน และบางทีก็มีพิธีโหรรวมอยู่ด้วย พิธีสงฆ์มีเจริญพระพุทธมนต์ เทศน์ สดับปกรณ์
                งานพระราชกุศล  เป็นงานที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล บางงานก็ต่อเนื่องกับงานพระราชพิธี เช่น พระราชกุศลทักษิณานุปาทาน พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี จัดทำต่อเนื่องกับงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล งานที่ไม่เกี่ยวกับงานพระราชพิธีก็มี เช่น พระราชกุศลมาฆบูชา เป็นต้น
                รัฐพิธี  เป็นงานพิธีที่รัฐบาล หรือทางราชการ กำหนดขึ้นประจำปีโดยเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประกอบพิธี เช่น รัฐพิธีที่ระลึกวันจักรี รัฐพิธีที่ระลึกวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นต้น งานใดจะจัดให้มีพิธีสงฆ์ด้วยหรือไม่นั้น สุดแต่สำนักพระราชวังจะกำหนด และนำความขึ้นกราบบังคมทูล

    กุศลพิธีเบื้องต้นของพุทธสานิกชน


    พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
                การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือการประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน เป็นการแสดงตนให้ปรากฏว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชีวิตของตน เป็นพิธีที่ได้ทำกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เพื่อแสดงให้รู้ว่าตนละลัทธิเดิมและรับเอาพระพุทธศาสนาไว้เป็นที่นับถือ
                วิธีแสดงตนมีต่างกันโดยสมควรแก่บริษัทคือ
                ผู้ที่เป็นบรรพชิตภายนอกพระพุทธศาสนามาก่อน ขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงรับด้วยวาจาว่า มาเถิดภิกษุ ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด หรือเพียงว่า มาเถิดภิกษุ จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ภิกษุที่ทรงรับใหม่นั้นถือเพศตามเป็นอันเสร็จ ส่วนคฤหัสถ์ผู้ปรารถนาจะเป็นภิกษุก็แสดงตน และทรงรับเหมือนอย่างนั้น
                ผู้ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสาวก รับถือเพศตามก่อนแล้วเปล่งวาจาถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ สามครั้ง เป็นอันเสร็จ ต่อมาภายหลังวิธีนี้ใช้สำหรับรับเข้าเป็นสามเณร พระสงฆ์ประกาศรับเป็นพระภิกษุ
                คฤหัสถ์ผู้ไม่ปรารถนาออกบวช เปล่งวาจาถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ปฏิญาณตน ชายเป็นอุบาสก หญิงเป็นอุบาสิกา
                การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่จำทำเฉพาะคราวเดียว ทำซ้ำ ๆ ตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใส เกิดเป็นประเพณีนิยม แสดงตนเป็นพุทธมามกะสืบต่อเนื่องกันมาสรุปได้ว่า
                เมื่อมีบุตรหลานอายุพอรู้เดียงสา ระหว่าง ๑๒ - ๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อสืบความเป็นชาวพุทธต่อไป และเมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ ว่านับแต่นี้ไป ตนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงมีระเบียบพิธีดังนี้
                การมอบตัว  ผู้ที่ประสงค์จะประกอบพิธีต้องไปมอบตัวกับพระอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ แจ้งความประสงค์ให้ทราบ นำพานดอกไม้รูปเทียนเข้าไปหาพระอาจารย์ คุกเข่าห่างจากตัวพระอาจารย์ ประมาณศอกเศษ ยกพานน้อมตัวประเคน เมื่อพระอาจารย์กับพานแล้ว ให้ขยับตัวถอยออกมาเล็กน้อย แล้วประนมมือก้มกราบด้วยเบญจางคประดิษฐตรงหน้าพระอาจารย์สามครั้ง แล้วนั่งพับเพียบลง ขอเผดียงสงฆ์ต่อพระอาจารย์ตามจำนวนที่ต้องการ ไม่น้อยกว่าสามรูป รวมเป็นสี่รูปทั้งพระอาจารย์ จากนั้นกราบลาพระอาจารย์ด้วยเบญจางคประดิษฐอีกสามครั้ง
                การเตรียมการ  พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ควรประกอบขึ้นในวัดจะเหมาะที่สุด ถ้าจัดทำในพระอุโบสถได้เป็นดี เพราะเป็นสถานที่สำคัญอันเป็นหลักของวัด ไม่ควรจัดในที่กลางแจ้ง ควรตั้งโต๊ะบูชามีพระพุทธรูปเป็นประธาน
                ให้ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะนุ่งห่มให้เรียบร้อย นั่งรอในที่ที่ทางวัดจัดไว้ เมื่อถึงเวลากำหนด พระอาจารย์และพระสงฆ์เข้าสู่บริเวณพิธี กราบพระพุทธรูปประธานแล้วเข้านั่งประจำอาสนะ ให้ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะเข้าไปคุกเข่าหน้าโต๊ะบูชา จุดธูปเทียนและวางดอกไม้บูชาพระ ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเปล่งวาจาว่า
                           อิมินา  สกฺกาเรน    พุทธํ  ปูเชมิ       ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้    (กราบ)
                    อิมินา  สกฺกาเรน    ธมฺมํ  ปูเชมิ        ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้    (กราบ)
                    อิมินา  สกฺกาเรน    สงฺฆํ  ปูเชมิ        ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้    (กราบ)
                จากนั้น เข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์ ถวายพานเครื่องสักการะแก่พระอาจารย์ แล้วกราบพระสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์ด้วยเบญจางคประดิษฐสามครั้ง เสร็จแล้วคงคุกเข่าประนมมือเปล่งคำปฏิญาณต่อหน้าพระสงฆ์ เป็นตอนไป ดังนี้
                    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส     ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

    (เปล่งวาจา สาม ครั้ง )

                     เอสาหํ ภนฺเต    สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ
                     ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ พุทฺธมามโกติ มํ สํโฆ ธาเรตุ
                ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ พระพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตนคือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคนทั้งชายหญิง คำปฏิญาณให้เปลี่ยนไปดังนี้
                    เอสาหํ              ถ้าเป็นชายว่า  เอเต มยํ      ถ้าเป็นหญิงว่า เอตา มยํ
                    คจฺฉามิ             เป็น คจฺฉาม      (ทั้งชายและหญิง)
                    พุทฺธมามโกติ       เป็น พุทธมามกาติ      (ทั้งชายและหญิง)
                    ม ํ    เป็น    โน      (ทั้งชายและหญิง)
                เมื่อผู้ปฏิญาณกล่าวคำปฏิญาณจบแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นประนมมือรับ "สาธุ" พร้อมกัน ต่อจากนั้นให้ผู้ปฏิญาณนั่งพับเพียบแล้วประนมมือฟังโอวาทต่อไป เมื่อจบโอวาทแล้ว ผู้ปฏิญาณรับคำว่า "สาธุ" แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือน้อมตัวลงเล็กน้อย กล่าวคำอาราธนาเบญจศีล และสมาทานศีล ตามคำที่พระอาจารย์ให้ ดังนี้
                ผู้ปฏิญาณอาราธนาศีล
                             อหํ ภนฺเต    วิสุ ํ วิสุ ํ รกฺขนตฺ ถาย    ติสรเณน สห    ปญฺจ สีลานิ ยาจามิ
                    ทุติยมฺปิ   อหํ  ภนฺเต    วิสุ ํ วิสุ ํ รกฺขนตฺ ถาย    ติสรเณน สห    ปญฺจ สีลานิ ยาจามิ
                    ตะติยมฺปิ  อหํ ภนฺเต    วิสุ ํ วิสุ ํ รกฺขนตฺ ถาย    ติสรเณน สห    ปญฺจ สีลานิ ยาจามิ
                    ถ้าสมาทานพร้อมกันหลายคน ให้เปลี่ยนคำ อหํ เป็น มยํ และเปลี่ยนคำ ยาจามิ เป็นยาจาม
                คำสมาทานเบญจศีล
                    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺ ธสฺส  ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

    (เปล่งวาจา สามครั้ง)

                    พระอาจารย์ว่า ยมหํ วทามิ ตํ วเทหิ ผู้ปฏิญาณรับว่า อาม ภนฺเต
                    พระอาจารย์ว่านำ ผู้ปฏิญาณว่าตาม ดังนี้
                             พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
                             ธมฺมํ สรณํ    คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
                             สงฺฆํ สรรณํ จฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
                    ทุติ ยมฺปิ  พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  แม้ครั้งที่ สอง
                    ทุติยมฺปิ  ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  แม้ครั้งที่ สอง
                    ทุติยมฺปิ  สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  แม้ครั้งที่ สอง
                    ตติยมฺปิ  พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  แม้ครั้งที่สาม
                    ตติยมฺปิ  ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  แม้ครั้งที่สาม
                    ตติยมฺปิ  สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ      ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  แม้ครั้งที่สาม
                    พระอาจารย์ว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ      ผู้ปฏิบัติรับว่า    อาม    ภนฺเต
                    พระอาจารย์ว่านำ      ผู้ปฏิบัติว่าตาม
                    ปาณาติปาตา  เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  เว้นจากผลาญชีวิตสัตว์
                    อทินฺนาทานา  เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  เว้นจากถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้
                    กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  เว้นจากประพฤติผิดในกาม
                    มุสาวาทา  เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  เว้นจากการพูดเท็จ
                    สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา  เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  เว้นจากสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท
                    อิมานิ ปญฺจ สิกฺขา ปทานิ สมาทิยามิ    ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบทห้าเหล่านี้  
                    (พระอาจารย์บอกบทนี้จบเดียว ผู้ปฏิญาณพึงว่าซ้ำสามจบ)  แล้วพระอาจารย์บอกอานิสงส์ศีลต่อไปว่า
                         สีเลน สุคตึ ยนฺติ    สีเลน โภคสมฺปทา
                         สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ    ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
                    ผู้ปฏิญาณกราบอีกสามครั้ง ถ้ามีเครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์ พึงนำมาประเคนในลำดับนี้ เสร็จแล้วนั่งราบตรงหน้าพระอาจารย์ เตรียมกรวดน้ำเมื่อพระสงฆ์ อนุโมทนา ดังนี้
                      ยถา   ฯลฯ
                      สพฺพีติโย   ฯลฯ
                      โส อตฺถลทฺโธ   ฯลฯ หรือ สา อตฺถลทฺธา ฯลฯ หรือ เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ แล้วแต่กรณี
                        ภวตุ สพฺพมงฺคลํ
                ขณะพระอาจารย์ว่า ยถา ฯลฯ  ผู้ปฏิญาณพึงกรวดน้ำตามแบบ พอพระสงฆ์ว่า สพฺพีติโย ให้กรวดน้ำให้เสร็จแล้วนั่งประนมมือรับพร เมื่อจบแล้วพึงคุกเข่ากราบพระสงฆ์สามครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี
    พิธีรักษาอุโบสถ

                อุโบสถ เป็นเรื่องของกุศลกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของพุทธบริษัท แปลว่าการเข้าจำเป็นอุบายขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบาง และเป็นทางแห่งความสงบระงับ อันเป็นความสุขอย่างสูงสุดในพระพุทธศาสนา อุโบสถของคฤหัสมีสองอย่างคือ ปกติอุโบสถ และปฏิชาครอุโบสถ ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันที่จำนวนวันที่รักษาอุโบสถมากน้อยกว่ากัน โดยเนื้อแท้ก็คือการสมาทานศีลแปดอย่างเคร่งครัด
                การรักษาอุโบสถ ประกอบด้วยพิธีกรรม ดังนี้
                เมื่อตั้งใจจะรักษาอุโบสถ ในวันพระใด พอได้เวลารุ่งอรุณพึงเตรียมตัวให้สะอาด แล้วบูชาพระ เปล่งวาจาอธิษฐานอุโบสถด้วยตนเองก่อนว่า
                    อิมํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคต ํ พุทฺธปญฺญตฺต ํ อุโปสถ ํ อิมญฺจ รตฺตึ อมญฺจ ทิวส ํ สมฺมเทว อภิรกฺขนฺตุ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานอุโบสถพุทธบัญญัติ ประกอบด้วยองค์แปดประการนี้ เพื่อจะรักษาไว้ให้ดี มิให้ขาดหาย ตลอดคืนหนึ่ง และวันหนึ่งในเวลาวันนี้
               จากนั้นจึงไปที่วัดเพื่อรับสมาทานอุโบสถศีล ต่อพระสงฆ์ตามประเพณี
                โดยปกติวันอุโบสถนั้นเป็นวันธรรมสวนะ พระสงฆ์และสามเณรย่อมลงประชุมกันในพระอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ ประมาณ ๐๙.๐๐ น. ต่อหน้าอุบาสกอุบาสิกาแล้วทำวัตรเช้า พอทำวัตรเสร็จ อุบาสก อุบาสิกาพึงทำวัตรเช้าร่วมกัน เมื่อทำวัตรจบแล้ว พึงคุกเข่าประนมมือประกาศอุโบสถ ดังนี้
                    อชฺช โภนฺโต ปกฺ ขสฺส อฏฺมีทิวโส เอวรูโป โข โภนฺโต ทิวโส, พุทฺเธน ภควตา ปญฺญตฺตสฺส ธมฺมสฺสวนสฺส เจว, ตทตฺ ถาย อุปาสก อุปาสิกาน ํ อุโปสถสฺส จ กาโล โหติ , หนฺท มย ํ โภนฺโต สพฺเพ อิธ สมาคตา ตสฺส ภควโต ธมฺมานธมฺมปฏิปตฺติยา ปูชนตฺถาย ,อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวส ํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคต ํ อุโปสถํ อุปวสีสฺสามาติ, กาลปริจฺเฉท ํ กตฺวา ต ํ ตํ เวรมณี อารมฺมณ ํ กริตฺวา อวิกฺขิตฺตจิตฺต ํ หุตฺวา สกฺกจฺจ ํ อุโปสถ ํ สมาทิเยยฺยาม อีทิสํ หิ อุโปสถ ํ สมฺปตฺตานํ อมฺหากํ ชีวิตํ มนิรตฺ ถกํ  โหตุ
                ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการ ให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกันก่อน แต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็นอัฐมีดิถีที่แปด แห่งปักษ์มาถึงแล้ว วันเช่นนี้เป็นการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้ประชุมกันฟังธรรม และเป็นการรักษาอุโบสถ ของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรมนั้นด้วย เราทั้งหลายที่ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้  พึงกำหนดกาลว่าจะรักษาอุโบสถตลอดกาลวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง พึงทำความเว้นโทษนั้น ๆ เป็นอารมณ์ อย่าให้มีจิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น พึงสมาทานองค์อุโบสถแปดประการโดยเคารพ เพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยธรรมานุธรรมปฏิบัติ ชีวิตของเราทั้งหลายที่ได้เป็นอยู่รอดมาถึงวันอุโบสถเช่นนี้ จงอย่าได้ล่วงไปเสียเปล่าจากประโยชน์เลย
                คำประกาศนี้สำหรับวันพระแปดค่ำทั้งข้างขึ้น และข้างแรม ถ้าเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ เปลี่ยนเป็น ปณฺณรสีทิวโส เปลี่ยนคำแปลว่า วันปัณรสีดิถีที่สิบห้า ถ้าเป็นวันพระ ๑๔ ค่ำ เปลี่ยนเป็น จาตุทฺทสีทิวโส เปลี่ยนคำแปลว่า วันจาตุทฺทสีดิถีที่สิบสี่
                เมื่อประกาศจบแล้ว พระสงฆ์ผู้แสดงธรรมขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ อุบาสก อุบาสิกาทุกคน พึงนั่งคุกเข่า กราบพร้อมกันสามครั้ง แล้วกล่าวคำ อาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ดังนี้
                    มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห อฏฺฐงฺคสมนฺคตํ อุโปสถํ ยาจาม (ว่าสามจบ)
                    ต่อจากนั้นคอยตั้งใจรับสรณาคมน์และศีลโดยความเคารพ คือประนมมือ และว่าตามคำที่พระสงฆ์บอกเป็นตอน ๆ ดังนี้
                    พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ.... ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
                เมื่อพระสงฆ์ว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ พึงรับพร้อมกันว่า อาม ภนฺเต แล้วคอยรับศีลต่อไป ดังนี้
                    ปาณาติปาตา   เวรมณี   สิกฺขาปทํ   สมาทิยามิ
                    อทินฺนาทานา   เวรมณี   สิกขาปทํ   สมาทิยามิ
                    อพฺรหมฺจริยา   เวรมณี   สิกขาปทํ   สมาทิยามิ
                    มุสาวาทา   เวรมณี   สิกขาปทํ   สมาทิยามิ
                    สุราเมรยมชฺชปมาทฏฐานา   เวรมณี   สิกขาปทํ   สมาทิยามิ
                    วิกาลโภชนา   เวรมณี   สิกขาปทํ   สมาทิยามิ
                    นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณ มณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา   เวรมณี   สิกขาปทํ   สมาทิยามิ
                    อุจาสยนมหาสยนา   เวรมณี   สิกขาปทํ   สมาทิยามิ
                    อิมํ อฏฺฐงฺ สมนาคตํ พุทฺธปญฺญตฺตํ อุโปสถํ อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวสํ   สมฺมเทว   อภิรกฺ ขิตุ ํ   สมาทิยามิ
                    ต่อจากนี้พระสงฆ์จะว่า
                    อิมานิ อฏฺฐสิกขา ปทานิ อุโปสถวเสน มนสิกรตฺวา สาธุกํ อปฺปมาเทน รกฺขิตพฺพานิ
                        พึงรับว่า อาม ภนฺเต
                        พระสงฆ์จะว่า อานิสงส์ของศีลต่อไป ดังนี้
                            สีเลน สุคตึ ยนฺติ  สีเลน โภคสมฺปทา
                            สีเลน  นิพฺพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
                        พึงกราบพร้อมกันสามครั้ง แล้วนั่งพับเพียบประนมมือฟังธรรมต่อไป เมื่อพระแสดงธรรม
                เมื่อพระสงฆ์แสดงธรรมจบแล้ว ทุกคนพึงให้สาธุการและสวดประกาศตนพร้อมกัน ดังนี้
                    สาธุ สาธุ สาธุ  
                    อหํ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ    สงฺฆญฺจ  สรณํ คโต
                    อุปาสกตฺตํ เทเสสึ    ภิกฺขุสงฺฆสฺส  สมฺมุขา
                    เอตํ เม สรณํ เขมํ    เอตํ สรณํมุตฺตมํ
                    เอตํ สรณมาคมฺม    สพฺพทุกฺข ปมุจฺจเย
                    ทุกฺขนิสฺสรณสฺเสว    ภาคี อสฺสํ อนาค เต
                ถ้าเป็นหญิง คำว่า คโต เปลี่ยนเป็นคตา  คำว่าอุปาสกตฺตํ เป็น อุปาสิกตฺตํ
    คำว่า ภาคี อสฺสํ เป็น ภาคีนิสฺสํ
                เมื่อสวดประกาศจบแล้ว พึงกราบพร้อมกันอีกสามครั้ง เป็นเสร็จพิธีตอนเช้า พอได้เวลาบ่าย หรือเย็นจวนค่ำ พึงประชุมกันทำวัตรค่ำ เมื่อทำวัตรจบแล้ว พึงนั่งคุกเข่ากราบพระสามครั้ง แล้วกล่าวคำอาราธนาพิเศษโดยเฉพาะ ดังนี้
     
                    จาตุทฺทสี ปณฺณรสี    ยา จ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี
                    กาลา พุทฺเธน ปญฺญตฺตา    สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม
                    อฏฺฐมีโข อยนฺทานิ    สมฺปตฺตา อภิลกฺขิตา
                    เตนายํ ปริสา ธมฺมํ    โสตุ ํ อิธ สมาคตา
                    สาธุ อยฺโย ภิกฺขุ สงฺโฆ    กโรตุ ธมฺมเทสนํ
                    อยญฺจ ปริสา สพฺพา    อฏฺฐิกตฺวา สุณาตุ ตนฺติ ฯ
                คาถาอาราธนาธรรมนี้ใช้เฉพาะวันพระ ๘ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม ถ้าเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ เปลี่ยนคำว่า อฏฺฐมีโข เป็น ปณฺณรสี ถ้าเป็นวันพระ ๑๔ ค่ำ เป็น จาตุทฺทสี
                เมื่ออาราธนาจบแล้ว พระสงฆ์จะขึ้นแสดงธรรม พอเทศน์จบ ทุกคนพึงให้สาธุการ และสวดประกาศตนพร้อมกัน แล้วสวดประกาศต่อท้าย ดังนี้
                    กาเยน วาจาย ว เจตสาวา    พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ
                    พุทโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนฺตํ    กาลญฺตเร สํวริตุ ํ ว พุทฺเธ
                    กาเยน วาจาย ว เจตสาวา     ธมฺเม กุกมฺมํ ปกตํ มยายํ
                    ธมฺโม กฏิกฺคณฺหตุ อจฺจยนฺตํ    กาลญฺตเร สํวริตุ ํ ว ธมฺเม
                    กาเยน วาจาย ว เจตสาวา     สงฺเฆ กุกมฺมํ ปกตํ มยายํ
                    สงฺโฆ ปฏิกฺคณฺหตุ อจฺจยนตํ    กาลญฺตเร สํวริตุ ํ ว สงฺเฆ
                เมื่อสวดประกาศตอนท้ายเทศน์จบแล้ว ลากลับได้ทันที คำลากลับ มีดังนี้
                        หนฺททานิ มยํ  ภนฺเต อาปจฺฉาม        พาหุกิจจา มยํ พหุกรณียา
                    พระสงฆ์ผู้รับการลาพึงกล่าว ดังนี้
                        ยสฺสทานิ ตุมฺเห กาลํ มญฺยถ
                    ผู้ลาพึงรับพร้อมกันว่ สาธุ ภนฺเต แล้วกราบพร้อมกันสามครั้งเป็นเสร็จพิธี

    วิธีสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน
                กระทรวงศึกษาธการได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้มาอยู่เดิมก่อนหน้านี้แล้ว มีดังนี้
        แบบสวดมนต์ไหว้พระประจำวัน    (ก่อนเข้าเรียน)

                       อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา         พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ   (กราบ)
                       สฺวากฺขาโต ภควาตา ธมฺโม         ธมฺมํ นมสฺสามิ    (กราบ)
                       สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวก สงฺโฆ         สงฺฆํ นมามิ    (กราบ)

        แบบคำสวดมนต์ไหว้พระวันสุดท้ายของสัปดาห์   (ตอนเลิกเรียน)
                    อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา ....สงฺฆํ นมามิ
                สวดบทนมัสการ
                    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส  (ว่าสามครั้ง)


    • Update : 14/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch