|
|
พระพุทธบาทสระบุรี
พระพุทธบาท เป็นบริโภคเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประเภทหนึ่งในสี่ประเภทของพระพุทธเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เช่นเดียวกับพระพุทธธาตุเจดีย์ การนับถือรอยพระพุทธบาทเป็นเจติยสถาน มีมูลเหตุเกิดขึ้นจากสองคติต่างกัน คือ เป็นคติของชาวมัชฌิมประเทศหรือชาวอินเดียในครั้งโบราณอย่างหนึ่ง และเป็นคติของชาวลังกาทวีป คือ ชาวลังกาในปัจจุบันอย่างหนึ่ง สำหรับคติของชาวมัชฌิมประเทศนั้น เดิมถือกันตั้งแต่ครั้งพุทธกาล และก่อนหน้านั้นว่า ไม่ควรสร้างรูปเทวดาหรือมนุษย์ขึ้นไว้บูชา ดังนั้นเจดีย์ที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเมื่อก่อนพุทธศักราช 500 จึงทำแต่สถูปหรือวัตถุต่าง ๆ เป็นเครื่องหมาย สำหรับบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งรอยพระพุทธบาทก็เป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันในสมัยนั้น ส่วนคติที่ถือกันในลังกาทวีปนั้น เกิดขึ้นภายหลัง โดยอ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นที่สักการะบูชา มีอยู่ห้าแห่งด้วยกัน คือที่เขาสุวรรณมาลิก เขาสุวรรณบรรพต เขาสุมนกูฏ ที่เมืองโยนกบุรี และที่หาดในลำน้ำนัมทานที มีคาถา คำนมัสการ แต่งไว้สำหรับสวดท้ายบทสวดมนต์อย่างเก่า ดังนี้
สุวณฺณ มาลิเก สุวณฺณ ปัพพเต |
|
สุมนกูเฏ โยนกปุเร |
นมฺมทาย นทิยา ปัญฺจปทวรํ |
|
อหํ วนฺทามิ ทูรโต |
เดิมเรารู้จักแต่รอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ซึ่งอยู่ที่ลังกาทวีปแห่งเดียว ตามตำนานในเรื่องมหาวงศ์ มีว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จโดยทางอากาศไปยังลังกาทวีป ได้ทรงสั่งสอนชาวลังกาทวีป จนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับไปยังมัชฌิมประเทศ ได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหารย์ ประทับรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณหนึ่งวา ประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ สำหรับให้ชาวลังกาได้สักการะบูชาต่างพระองค์ ฝ่ายพุทธศาสนิกชน ที่นับถือพระพุทธศาสนาตามลัทธิลังกาวงศ์ เช่น ไทย พม่า มอญ ต่างก็พยายามไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็นเวลาช้านาน
|
ล่วงมาถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2163-2173) เมื่อพระสงฆ์ไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปนมัสการ รอยพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป ณ เขาสุมนกูฏ พระสงฆ์ลังกาได้ถามว่า ในบรรดารอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ห้าแห่งนั้น แห่งหนึ่งอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพตในประเทศสยามเอง ชาวสยามทำไมจึงไม่ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนั้น เมื่อคณะสงฆ์ดังกล่าวเดินทางกลับมายังอยุธยา จึงนำความเข้าทูลพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าทรงธรรมจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราสั่งบรรดาหัวเมืองทั้งหลายให้ไปตรวจค้นดูตามภูเขาต่าง ๆ ว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใดหรือไม่ |
ในครั้งนั้น ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีสืบได้ความจากพรานบุญว่า ครั้งหนึ่งตัวพรานบุญเองได้ไปล่าเนื้อในป่าริมเชิงเขา ได้ใช้หน้าไม้ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งบาดเจ็บ เนื้อนั้นได้วิ่งหนีขึ้นไปบนไหล่เขาเข้าเชิงไม้ไป พอบัดเดี๋ยวก็เห็นเนื้อตัวนั้นวิ่งออกจากเชิงไม้ไปเป็นปกติดังเดิม พรานบุญแปลกใจจึงขึ้นไปดูบนไหล่เขานั้น ก็เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรอยเท้าคน ขนาดยาวประมาณศอกเศษ มีน้ำขังอยู่ในรอยนั้น ก็สำคัญว่าเนื้อคงหายบาดเจ็บเพราะกินน้ำนั้น จึงตักเอามาลองลูบตัวดู บรรดากลากเกลื้อนที่ตนเป็นอยู่มาช้านานก็หายหมด ผู้ว่าราชการเมื่อสระบุรีทราบดังนั้น จึงไปตรวจดูเห็นมีรอยอยู่จริงตามที่พรานบุญเล่าให้ฟัง จึงได้มีใบบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมจึงได้เสด็จออกไปทอดพระเนตรเห็นจริง จึงทรงพระราชดำริว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท ตรงตามที่ลังกาบอกมาเป็นแน่แท้ ก็ทรงโสมนัสศรัทธาด้วยเห็นว่า เป็นเจดีย์เนื่องชิดติดต่อถึงพระพุทธเจ้า ประเสริฐกว่าอุเทสิกเจดีย์ เช่น พระพุทธรูป และพระสถูปเจดีย์ ซึ่งเป็นของสร้างขึ้นโดยสมมติ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเป็นมหาเจดียสถาน มีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และมีสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์บริบาล และสร้างบริเวณพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระพุทธบาทแห่งหนึ่ง กับที่ท่าเจ้าสนุกริมลำน้ำป่าสักอีกแห่งหนึ่ง สำหรับประทับเวลาเสด็จไปสักการะบูชา แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างชาวฮอลันดา ส่องกล้องทำถนน ตั้งแต่ท่าเรือขึ้นไปจนถึงสุวรรณบรรพต เพื่อให้มหาชนเดินทางไปมาได้สดวก ทรงพระราชอุทิศที่หนึ่งโยชน์ โดยรอบรอยพระพุทธบาท ถวายเป็นพุทธบูชา กัลปนาผลซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงในที่นั้น สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดียสถาน และให้บรรดาชายฉกรรจ์ที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่ทรงพระราชอุทิศนั้น พ้นจากหน้าที่ราชการอื่น โดยจัดให้เป็นขุนโขลนข้าพระ ทำหน้าที่รักษาพระพุทธบาทแต่อย่างเดียว บริเวณที่ทรงพระราชอุทิศนี้ ได้นามที่เรียกกันเป็นสามัญว่า เมืองพระพุทธบาท เกิดมีเทศกาลที่มหาชนไปบูชารอยพระพุทธบาท ในกลางเดือนสามและกลางเดือนสี่เป็นประจำนับแต่นั้นมา
|
ความจริงรอยพระพุทธบาทอันเป็นที่มหาชนบูชาในประเทศไทย มีมาก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรมแล้วช้านานและมีอยู่หลายแห่ง โดยทำเป็นรอยพระพุทธบาทขนาดต่างกัน 4 รอย อุทิศต่อพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ เช่นที่เขาในแขวงเมืองเชียงใหม่ ทำเป็นรอยพระบาททั้งซ้ายและขวา ที่เป็นศิลาแผ่นใหญ่ เดิมอยู่ในเมืองชัยนาท ปัจจุบันอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ฯ และที่เรียกว่า "พระยืน" อยู่ในมณฑปใกล้พระแท่นศิลาอาส์น เป็นต้น |
การที่ทำแต่รอยพระพุทธบาทขวาข้างเดียวนั้นมีอยู่มาก ที่สำคัญคือที่พระเจ้าธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ทรงสร้างไว้บนเขานางทอง จังหวัดกำแพงเพชร มีอักษรจารึก อีกรอยหนึ่งไม่ปรากฎว่าผู้ใดสร้าง ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี พระพุทธบาทรอยนี้จำหลักบนแผ่นกระดานไม้แก่น ด้านหลังจำหลักรูปภาพเรื่องมารวิชัย แต่ตรงที่พระพุทธรูปทำเป็นแท่นพระพุทธอาส์น ไม่ได้ทำเป็นพระพุทธรูป แสดงว่ารอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ชั้นเดิมถือตามคติชาวมัธยมประเทศ คือสร้างเป็นวัตถุที่สักการะบูชาแทนพระพุทธรูป มิได้อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ เพราะฉะนั้นการที่พบรอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต จึงทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมา ณ ที่นี้ ต่อมาได้เกิดเจดียสถานที่เชื่อกันว่าเป็นพุทธบริโภคอีกหลายแห่ง คือ พระพุทธฉาย และพระแท่นดงรัง เป็นต้น
พระพุทธบาทสระบุรี
พระพุทธบาทสระบุรี ประดิษฐานอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพต อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตามคติของชาวลังกาทวีป ถือว่าเป็นบริโภคเจดีย์ เนื่องจากเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเหยียบไว้บนเขาสุวรรณบรรพต พบในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2171 โดยพรานบุญเป็นผู้ไปพบเห็นความศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถทำให้เนื้อที่บาดเจ็บจากการยิงของตน หายจากบาดเจ็บได้ และตัวพรานบุญเอง เมื่อนำน้ำจากรอยพระบาทมาลูบตัว ก็ทำให้กลากเกลื้อนที่ตนเป็นอยู่หายไปได้
|
พระเจ้าทรงธรรม ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นจริง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเป็นมหาเจดีย์สถาน มีพระมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างวัดให้พระภิกษุอยู่ดูแลรักษารอยพระพุทธบาทนี้ ให้ช่างชาวฮอลันดาทำถนนจากท่าเรือ ตรงไปยังเขาสุวรรณบรรพต ชาวบ้านเรียกว่าถนนฝรั่งส่องกล้อง เพราะมีการนำเครื่องมือวางแนวถนนแบบใหม่ คือกล้องวัดทิศทางและระดับ มาใช้ในการตัดถนน ทำให้ถนนสายนี้สร้างได้เป็นแนวตรง จากท่าเรือไปยังพระพุทธบาท ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ |
พระเจ้าทรงธรรม ยังได้ทรงอุทิศที่ดินและวางรากฐานอื่น ๆ อีกหลายประการ เพื่อให้พระพุทธบาทแห่งนี้ดำรงอยู่ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ตลอดไปชั่วกาลนาน ได้เกิดมีเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ในกลางเดือนสาม และกลางเดือนสี่ เป็นประจำปี ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
|
พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกหลายพระองค์ ได้เสด็จมาทรงสักการะบูชา และสมโภชพระพุทธบาทนี้เป็นนิจ บางพระองค์ก็ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัตถุสถานเพิ่มเติม อาทิ พระเจ้าปราสาททองได้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้นที่ธารทองแดง เพื่อใช้เวลาเสด็จมานมัสการพระพุทธบาทให้ชื่อว่า ตำหนักธารเกษม กับให้ขุดบ่อน้ำ พร้อมทั้งสร้างศาลาราย ตามริมถนนไปสู่พระพุทธบาท เพื่อให้ใช้เป็นที่พักของผู้ที่มานมัสการ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถนนเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินจากลพบุรี ถึงเขาสุวรรณบรรพต ให้สร้างอ่างแก้วและกำแพงกันน้ำตามไหล่เขา เพื่อชักน้ำฝนไปลงอ่างแก้ว ให้ประชาชนใช้บริโภค |
ในรัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี หรือพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2246-2251) ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑป และดัดแปลงจากเดิมที่มียอดเดียวให้เป็นห้ายอด ในรัชสมัยสมเด็จพระภูมินทราธิบดี หรือพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) ได้ให้เอากระจกเงาแผ่นใหญ่ประดับฝาผนังข้างในพระมณฑป และปั้นลายปิดทองประกอบตามแนวที่ต่อกระจก ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2 หรือพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสร้างบานประตูของมณฑปเป็นบานประตูประดับมุก จำนวน 8 บาน ล่วงมาถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร หรือพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ. 2301-2310) เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2509 พวกจีนอาสา จำนวน 300 คน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู ได้พากันไปยังพระพุทธบาท แล้วลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑป และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑปไป แล้วเผาพระมณฑปเสีย เพื่อปกปิดการกระทำของตน
|
ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑป พระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธา รับแบกตัวลำยองเดรื่องบนหนึ่งตัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือ ไปจนถึงพระพุทธบาท นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ยอดเยี่ยม เป็นที่ปรากฏแก่มหาชนในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา |
พระมหากษัตริย์ในพระราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ต่อมาก็ได้ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ ของพระพุทธบาท ให้อยู่ในสภาพที่ดีเลิศอยู่ตลอดมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมกุฏภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์หนึ่ง และสร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่ กับสร้างพระมณฑปน้อย ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑป เป็นเสื่อเงินและได้ทรงยกยอดพระมณฑป พร้อมทั้งบรรจุพระบรมธาตุ ที่พระมกุฏภัณฑเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท 4 ครั้ง ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และซ่อมผนังข้างในพระมณฑป สร้างบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑป จากเดิมที่มีอยู่สองสายเป็นสามสาย และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้เสด็จไปยกยอดพระมณฑป เมื่อปี พ.ศ. 2450
|
Update : 14/5/2554
|
|