หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระแท่นศิลาอาสน์
    พระแท่นศิลาอาสน์

                พระแท่นศิลาอาสน์เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้  ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้  เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้ว  เพื่อโปรดสัตว์  ซึ่งแสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง  ในพระพุทธศาสนามายาวนาน  ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต  ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต  ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑปครอบ อยู่ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์
                วัดพระแท่นศิลาอาสน์  ตั้งอยู่บนเนินเขาเต่า  ตำบลทุ่งยั้ง  อำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์  ติดกับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก  ซึ่งอยู่บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด วัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด  ในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยไม่ได้มีข้อความกล่าวถึงพระแท่นศิลาอาสน์ เพิ่งมีปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ  พระองค์ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อปี พ.ศ. 2283  ได้แสดงว่า พระแท่นศิลาอาสน์ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว  จนเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง  จนพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเสด็จไปนมัสการ

                สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า  พระแท่นศิลาอาสน์ อาจมีมาก่อนแล้วช้านาน  ก่อนที่พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปบูชา เพราะพระแท่นศิลาอาสน์อยู่ริมเมืองทุ่งยั้งซึ่งตั้งมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย และบางทีชื่อทุ่งยั้งนั้นเอง จะเป็นนิมิตให้เกิดมีพระแท่น  เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับยับยั้ง เมื่อเสด็จผ่านมาทางนั้น ในทางตำนานมีคติที่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จยังประเทศต่าง ๆ ภายนอกอินเดียด้วยอิทธิฤทธิ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์ หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ในประเทศเหล่านั้น  เป็นคติที่เกิดในลังกาทวีป และประเทศอื่นได้รับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยาการณ์  ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์ไว้ มากบ้าง น้อยบ้างทุกประเทศ  เฉพาะเมืองไทย มีปรากฎในพงศาวดารโดยลำดับมาว่า พบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม  รัชกาลพระเจ้าเสือได้เสด็จไปบูชาพระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี  และพระเจ้าบรมโกศ เสด็จไปบูชาพระแท่นศิลาอาสน์

                มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นายช่างที่สร้างวิหาร วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝาง และวัดสุทัศน์ เป็นนายช่างคนเดียวกัน  บานประตูเก่าของพระวิหารเป็นไม้แกะสลักฝีมือดี แกะไม้ออกมาเด่น เป็นลายซ้อนกันหลายชั้น แม่ลายเป็นก้านขด ปลายเป็นรูปภาพต่าง ๆ เป็นลายเดียวกับลายบานมุขที่วิหารพระพุทธชินราช อาจสร้างแต่ครั้ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  พระเจ้าบรมโกศ ทรงพระราชศรัทธา  ให้ทำประตูมุขตามลายเดิมถวายแทน  แล้วโปรดให้เอาบานเดิมนั้น ไปใช้เป็นบานวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์  ประตูวิหารเก่าบานดังกล่าวได้ถูกไฟไหม้ไปเมื่อ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2451  เป็นไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาถึงวัด ไฟไหม้ครั้งนั้น เหลือกุฎิซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่เพียงหลังเดียว  ต่อมาพระยาวโรดมภักดี เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างและซ่อมแซมวิหาร  ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปครอบพระแท่นศิลาอาสน์ไว้

               ประเพณี ทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว  มีผู้มาสักการะบูชาทั้งในเทศกาลและนอกเทศกาลตลอดปี  พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า  การได้มาสักการะบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด  และเช่นเดียวกับพระพุทธบาทสระบุรี  พุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธา จะขวนขวายมานมัสการให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต  ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตอนเหนือจังหวัดอุตรดิตถ์  จะพยายามเดินทางมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์  แม้ว่าหนทางจะทุรกันดารเพียงใดก็ไม่ย่อท้อถอย และเห็นว่า เป็นการได้สร้างบุญกุศลที่มีค่าควร  การมานมัสการ จะกระทำทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชา ณ วันเพ็ญ เดือน สาม
                งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วันเพ็ญ เดือนสาม อันเป็นวันมาฆบูชา  จะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน สาม  บรรดาพระภิกษุสงฆ์จะธุดงค์มาปักกลดพักแรมที่บริเวณใกล้วัด  เมื่อถึงวันมาฆบูชา เวลาประมาณ 19.30 น.  พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหาร แล้วสวดพระพุทธมนต์ มีพระธรรมจักรกัปปวัตตสูตร เป็นต้น  เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็ออกมาให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์  ในตอนเช้าของทุกวันในระหว่างเทศกาล  บรรดาพระสงฆ์ที่ธุดงค์มานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ จะเดินทางเข้าไปบิณฑบาตรตามหมู่บ้าน  และบรรดาชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก  เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว  ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารร่วมรับประทานด้วยกัน  รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ด้วย  นับว่าเป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี

                เนื่องจากพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล  มีอาณาบริเวณอยู่ติดต่อกัน จึงจัดงานประจำปีพร้อมกันกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเวลา 8 วัน 8 คืน  ทำให้พุทธศาสนิกชนที่มาในงานเทศกาลนี้ได้ นมัสการพระบรมธาตุ และพระพุทธบาทด้วย เป็นการได้นมัสการพระพุทธเจดียสถาน อันเป็นที่เคารพสักการะ ได้ครบถ้วนในโอกาสเดียวกัน  ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน


    • Update : 14/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch