หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า
    การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า

                การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้ามีที่มาและมีขั้นตอนตามลำดับ  ดังนี้
                    ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา เขตเมืองเวรัญชาพร้อมพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เวรัญชาพราหมณ์ได้เข้าไปพบพระผู้มีพระภาค หลังจากได้สนทนากันแล้วก็เกิดความเลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสก

    เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและอยู่ได้นาน
                ครั้งนั้น พระสารีบุตรได้ไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาคทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นานและพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน  จึงได้เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาค
                พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีพระศาสนาของพระพุทธเจ้าอยู่สามพระองค์ที่ไม่ดำรงอยู่นาน และอีกสามพระองค์ที่ดำรงอยู่นาน
                พระสารีบุตรจึงทูลถามถึงสาเหตุปัจจัยที่เป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า การที่ศาสนาที่ไม่ดำรงอยู่ได้นาน เพราะพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์ ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย  อนึ่ง  สุตตะ  เคยยะ  เวยยากรณะ  คาถา อุทาน  อิติวุตตกะ  ชาดก  อัพภูตธรรม  เวทัลละ  ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้แสดงแก่สาวก เพราะอันตราธานแห่งพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตาม สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน  ต่างโคตรกัน  ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองไว้ ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย กำจัดดอกไม้เหล่านั้นได้
                การที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นาน เพราะพระผู้มีพระภาคทั้งสาม มิได้ทรงท้อพระทัย  เพื่อจะทรงแสดงพระธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย  อนึ่ง  สุตตะ  เคยยะ  เวยยากรณะ  คาถา  อุทาน  อิติวุตตกะ  ชาดก  อัพภูตธรรม  เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามเหล่านั้น สาวกชั้นหลังจึงดำรงพระศาสนา ไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองไว้ ใช้ด้ายร้อยไว้ดีแล้ว ลมย่อมกระจาย กำจัดดอกไม้เหล่านั้นไม่ได้

    พระสารีบุตรปรารภให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
                เมื่อพระสารีบุตรได้สดับดังนั้น จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วที่จะทรงบัญญัตสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้พระศาสนานี้ยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้รอก่อน เพราะพระตถาคตแต่ผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฎในสงฆ์ในศาสนานี้  ต่อเมื่อใด อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้น พระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น  ขณะนี้ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ โดยภิกษุผู้บวชนาน ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ถึงความเป็นอยู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้  เมื่อนั้น พระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฎฐานิยธรรมเหล่านั้น
                ก็ภิกษุสงฆ์นั้นไม่มีเสนียดไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกษุ 500 รูปนี้  ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำก็เป็น โสดาบัน  มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

    ปฐมปาราชิกสิกขาบท เรื่องพระสุทินน์
                มีเศรษฐีบุตรผู้หนึ่งชื่อสุทินน์ เมื่อได้ออกบวชแล้วได้ไปเสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าของตน ตามที่พ่อแม่ขอร้อง เพื่อให้มีบุตรไว้สืบสกุล  เนื่องจาก พระสุทินน์ไม่ยอมกลับมาเป็นคฤหัสถ์ตามที่พ่อแม่ขอร้อง โดยอ้างว่า ถ้าพระสุทินน์ไม่มีทายาทไว้ พวกเจ้าลิจฉวีจะริบทรัพย์สมบัติของครอบครัวไป เนื่องจากหาบุตรผู้สืบสกุลไม่ได้ พระสุทินน์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีโทษ เพราะสิกขาบทยังมิได้บัญญัติไว้ จึงได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าของตน จนนางตั้งครรภ์และได้คลอดบุตรมาชื่อว่า พีชกะ
                ต่อมาพระสุทินน์ได้เกิดความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า เราได้ชั่วแล้ว ไม่ได้ดีแล้ว เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย ์ ให้บริสุทธิได้ตลอดชีวิต  เพราะความรำคาญนั้น เพราะความเดือดร้อนนั้น ทำให้ท่านซูบผอม เศร้าหมอง ผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสารซบเซาแล้ว
                บรรดาภิกษุที่เป็นสหายของพระสุทินน์  เห็นอาการของพระสุทินน์เช่นนั้น จึงถามว่า  การที่เกิดอาการดังกล่าว เป็นเพราะท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมัง
                พระสุทินน์จึงได้แถลงความจริงว่า มิใช่ตนจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ แต่เป็นเพราะบาปกรรมที่ทำไว้ คือได้เสพเมถุนในภรรยาเก่า จึงได้มีความรำคาญความเดือดร้อนว่าเราได้ชั่วแล้ว เราไม่ได้ดีแล้ว เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต
                บรรดาภิกษุที่เป็นสหายจึงกล่าวว่า  ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย  เพื่อคลายความกำหนัด  ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด  เพื่อความพรากไม่ใช่เพื่อความประกอบ  เพื่อความไม่ถือมั่นไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น  มิใช่หรือ  เพื่อธรรมชื่อนั้น  อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว  เพื่อคลายความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด  เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก  คุณยังจะคิดเพื่อความประกอบ  เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น  คุณยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น
                ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย  เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ  เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา  เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย  เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย  เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ  เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา  เพื่อคลายความกำหนัด  เพื่อความดับทุกข์  เพื่อนิพพาน
                การละกาม  การกำหนดรู้ความหมายในกาม  การกำจัดความระหายในกาม  การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม  การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม  พระผู้มีพระภาคตรัสบอกไว้แล้ว โดยเอนกปริยาย
                การกระทำของคุณนั้น  ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส  หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว  โดยที่แท้ การกระทำของคุณนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ไม่เลื่อมใส  และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
                ภิกษุเหล่านั้นติเตียน พระสุทินน์โดยเอนกปริยายดังนี้แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
                ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์  ในพระเหตุเป็นมูลเค้านั้น  ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น  แล้วทรงสอบถามพระสุทินน์ว่า
                ดูกรสุทินน์  ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกาจริงหรือ
                พระสุทินน์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า  ดูกรโมฆบุรุษ  การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ  ใช้ไม่ได้  ไม่ควรทำ  เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนั้นแล้ว  ไฉนจึงไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า
                ดูกร  โมฆบุรุษ  ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย  เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด  เพื่อความพราก  ไม่ใช่เพื่อความประกอบ  เพื่อความไม่ถือมั่นไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ  เพื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว  เพื่อคลายความกำหนัด  เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด  เราแสดงเพื่อความพราก  เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ  เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น  เธอยังจักคิดเพื่อความถือมั่น
                ดูกร  โมฆบุรุษ  ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย  เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ  เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา  เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย  เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย  เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ  เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา  เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา  เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา  เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ  มิใช่หรือ
                ดูกร โมฆบุรุษ  การละกาม  การกำหนดรู้ความหมายในกาม  การกำจัดความระหายในกาม  การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม  การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม  เราบอกไว้แล้วโดยเอนกปริยาย  มิใช่หรือ
                ดูกร  โมฆบุรุษ  องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย  ยังดีกว่าอันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย  องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากงูเห่า  อันเธอสอดเข้าไปในหลุมถ่านเพลิงที่ติดไฟลุกโชน  ยังดีกว่าอันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดมาตุคาม ไม่ดีเลย
                ข้อที่ว่าดีนั้น เพราะเหตุไร
                เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น  พึงถึงความตายหรือความทุกข์เพียงแค่ตาย  ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ  และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย  เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย  ทุตติ  วินิบาต นรก  ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิด  เข้าในองค์กำเนิดมาตุคามนั้น  เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป  พึงเข้าถึงอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก  ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ
                ดูกร  โมฆบุรุษ   เมื่อการกระทำนั้นมีโทษอยู่  เธอยังได้ชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม  อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน  เป็นมรรยาทของคนชั้นต่ำอันชั่วหยาบ  มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่  อันคนคู่ร่วมกันเป็นไป   เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธรรม  เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก  การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส  หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว  โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น  เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส  และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระสุทินน์โดยเอนกปริยายดังนี้แล้ว  ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก  ความเป็นคนบำรุงยาก  ความเป็นคนมักมาก  ความเป็นคนไม่สันโดษ  ความคลุกคลี  ความเกียจคร้าน  ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย  ความเป็นคนบำรุงง่าย  ความมักน้อย  ความสันโดษ  ความขัดเกลา  ความกำจัด  อาการที่น่าเลื่อมใส  การไม่สะสม  ปรารภความเพียร  โดยเอนกปริยาย  ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น  ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น  แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว  รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เพราะเหตุนั้นแล  เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย  อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ  คือ เพื่อการรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑  เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑  เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑  เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑  เพื่อป้องกันอาสวะอันจักบังเกิดในปัจจุบัน ๑  เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑  เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑  เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑  เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑  เพื่อถือตามพระวินัย ๑
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นมาแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้

    พระปฐมบัญญัติ

                ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม  เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
                ก็สิกขาบทนี้  ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย  ด้วยประการฉะนี้

    ทุติยปาราชิกสิกขาบท เรื่องพระธนิยกุมภาการบุตร

                อันภิกษุไม่ควรทำกุฎีที่สำเร็จด้วยดินล้วน  ภิกษุใดทำต้องอาบัติทุกกฎ
                กาลต่อมา  พระธนิยะ ได้ไปหาพนักงานรักษาไม้ที่ชอบพอกัน  แล้วแจ้งว่าจะขอไม้ไปทำกุฎีไม้  พนักงานรักษาไม้ตอบว่า  ไม้ที่มีอยู่  มีแต่ไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร  ซึ่งเก็บไว้ใช้ในคราวมีอันตราย  ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสั่ง  พระธนิยะจึงบอกว่าไม้เหล่านั้น  พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแล้ว  เจ้าพนักงานรักษาไม้ได้ฟังดังนั้นก็เชื่อ จึงให้ไม้แก่พระธนิยะไป
                ต่อมาวัสสการพราหมณ์  มหาอำมาตย์ในมคธรัฐไปตรวจราชการในกรุงราชคฤห์  ได้ทราบว่าพระธนิยะนำไม้ไป  จึงไปทูลพระเจ้าพิมพิสาร  พระเจ้าพิมพิสารสอบถามทราบเรื่องแล้วจึงถามพระธนิยะว่า  พระองค์ได้พระราชทานไม้แก่พระธนิยะเมื่อใด  พระธนิยะถวายพระพรว่า  เมื่อครั้งพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ได้ทรงตรัสว่า หญ้า ไม้และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแล้วแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย  ขอสมณและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สรอยเถิด
                พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสว่า  คำกล่าวนั้นหมายถึงการนำหญ้า ไม้และน้ำในป่า  ไม่มีใครหวงแหน แต่พระคุณเจ้านำไม้ที่เขาไม่ให้ไปด้วยเลศ  ครั้งนี้พระคุณเจ้ารอดตัวเพราะบรรพชาเพศ  แต่อย่าทำเช่นอีก

    ประชาชนเพ่งโทษติเตียนโพนทนา
                คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษว่า  พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ไม่ละอาย  ทุศีล  พูดเท็จ  พระสมณเหล่านี้ยังปฏิญาณว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม  ประพฤติสงบ  ประพฤติพรหมจรรย์  กล่าวคำสัตย์  มีศีล  มีกัลยาณธรรม  ติเตียน ว่าความเป็นสมณะและพราหมณ์ย่อมไม่มีแก่พระสมณเหล่านี้  ความเป็นสมณะและพราหมณ์เหล่านี้เสื่อมแล้ว  และโพนทนาว่า  พระสมณะเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะและพราหมณ์แล้ว  แม้แต่พระเจ้าแผ่นดิน พระสมณะเหล่านี้ยังหลอกลวงได้  ไฉนจักไม่หลอกลวงคนอื่นเล่า
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่  บรรดาที่เป็นผู้มักน้อยสันโดษ มีความละอาย  มีความรังเกียจ  ใคร่ต่อสิกขา  ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระธนิยะถึงเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ให้ไป  แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาค

    ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
                ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุ  เป็นเค้ามูลนั้น  ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น
    แล้วทรงสอบถามพระธนิยะว่า  เธอได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป จริงหรือ
                พระธนิยะทูลรับว่าจริง  พระพุทธเจ้าข้า
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า  ดูกรโมฆบุรุษ  การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ  ใช้ไม่ได้  ไม่ควรทำ  การกระทำของเธอนั้น  ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส  หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว  โดยที่แท้  การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส  และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
                สมัยนั้น  มหาอำมาตย์ ผู้พิพากษาเก่าคนหนึ่ง  บวชในหมู่ภิกษุ  พระองค์จึงได้ตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า  พระเจ้าพิมพิสาร จับโจรได้แล้วประหารชีวิตเสียบ้าง  จองจำไว้บ้าง  เนรเทศเสียบ้าง  เพราะทรัพย์ประมาณเท่าไร
                ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า  เพราะทรัพย์บาทหนึ่งบ้าง  เพราะของควรค่าบาทหนึ่งบ้าง  เกินบาทหนึ่งบ้าง พระพุทธเจ้าข้า
                แท้จริงสมัยนั้น ทรัพย์ 5 มาสกในกรุงราชคฤห์ เป็นหนึ่งบาท
                ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระธนิยะ โดยเอนกปริยายแล้ว  จึงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก  มักมาก  ไม่สันโดษ  ความคลุกคลี  ความเกียจคร้านตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย  บำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส  การไม่สะสม  ปรารภความเพียร  โดยเอนกปริยาย  แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น  ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น  แก่ภิกษุทั้งหลาย  แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้  ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้

    พระปฐมบัญญัติ

    อนึ่ง ภิกษุใด  ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย  พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว
    พึงประหารเสียบ้าง  จองจำบ้าง  เนรเทศเสียบ้าง  ด้วยบริภาษว่าเจ้าเป็นโจร  เจ้าเป็นคนพาล  เจ้าเป็นคนหลง
     เจ้าเป็นขโมย  ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด  ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น  แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้
                ก็สิกขาบทนี้  ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว  แก่ภิกษุทั้งหลาย  ด้วยประการ ฉะนี้

    ตติยปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุหลายรูป

    รับสั่งให้เผดียงสงฆ์
                ครั้งล่วงกึ่งเดือน  พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับซ่อนเร้น  แล้วรับสั่งถามพระอานนท์ว่า  เหตุไฉนภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนน้อยไป
                พระอานนท์กราบทูลว่า  เป็นเพราะพระองค์ทรงแสดงอสุภกถา....... ทรงพรรณาถึงอสุภสมาบัติเนืองๆ  โดยเอนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันประกอบความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน  เธอเหล่านั้น อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน  จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง  วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง  ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส  ภิกษุสงฆ์นี้จะพึงดำรงอยู่ในพระอรหัตผลด้วยปริยายใด  ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกปริยายอื่นนั้นเถิด
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ถ้าเช่นนั้นเธอจงเผดียงภิกษุที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งหมด ให้ประชุมกันที่ อุปัฏฐานศาลา
                พระอานนท์จึงเผดียงภิกษุสงฆ์ที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งสิ้น  ให้ประชุมที่อุปัฏฐานศาลา  แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  กราบทูลว่าภิกษุสงฆ์พร้อมกันแล้ว  ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรเถิด
                ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์  แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แล  อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต   เยือกเย็น  อยู่เป็นสุข  และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว  ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน  ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล  ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ  ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น
                ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณโคนไม้ก็ตาม  อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม  นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติ บ่ายหน้าสู่กรรมฐาน  ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า  มีสติหายใจออก
                ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  อาณาปานสติสมาธิ  อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้  ทำให้มากแล้วอย่างนี้  จึงเป็นคุณสงบ  ประณีต  เยือกเย็น  อยู่เป็นสุข  และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน

    ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
                ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาค  รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น  ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น  แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า  ข่าวว่าพวกภิกษุปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง  จริงหรือ
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าจริง พระพุทธเจ้าข้า
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า  การกระทำของภิกษุเหล่านั้น  ไม่เหมาะ  ไม่สม  ไม่ควร  ไม่ใช่กิจของสมณะ  ใช้ไม่ได้  ไม่ควรทำ ..... การกระทำของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส........
                    ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยเอนกปริยายแล้ว  จึงทรงติโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก....... ทรงสรรเสริญคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย....... โดยเอนกปริยาย แล้วทรงแสดงธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น  ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น  แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เพราะเหตุนั้นแล  เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ.......
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงว่า ดังนี้

    พระปฐมบัญญัติ

             อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น
    แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

    จตุตถปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา

    ภิกษุต่างทิศมาเฝ้า
                สมัยนั้น พวกภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในทิศทั้งหลาย เป็นผู้ผอม ซูบซีด มีผิวพรรณหมอง เหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ส่วนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง
                การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
                ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งวัคคุมุทาว่า ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ
                ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้ ยังพอให้เห็นเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกและไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตพระพุทธเจ้าข้า

    พุทธประเพณี
                พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์กำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการ 2 อย่าง คือ จักแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งวัคคุมุทาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาผาสุกและไม่ลำบากด้วยวิธีการอย่างไร
                ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า คุณวิเศษของพวกเธอนั้นมีจริงหรือ
                พวกภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่มีจริงพระพุทธเจ้าข้า

    ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคม ยังดีกว่าที่พวกเธอกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้อง ไม่ดีเลย ข้อที่ว่าดีกว่านั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดเชือดโคอันคมนั้น พึงถึงความตายหรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้แลเป็นเหตุ
                ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส.....ครั้นแล้วทรงกระทำมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย  ดังนี้

    มหาโจร 5 จำพวก
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร 5 จำพวกนี้มีปรากฎอยู่ในโลก มหาโจร 5 จำพวกเป็นไฉน
                มหาโจรบางคนในโลกนี้ย่อมปรารถนาว่า เมื่อไรหนอเราจักมีบุรุษร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง แวดล้อม แล้วท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี ทำการเบียดเบียน ตัด เผาผลาญ ต่อมาเขาได้บรรลุความปรารถนานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมปรารถนาว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักมีภิกษุร้อยหนึ่ง พันหนึ่งแวดล้อม แล้วเที่ยวจาริกไปในตามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และศิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลายนี้เป็นมหาโจร จำพวกที่ 1 มีปรากฎอยู่ในโลก
                อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 2 มีปรากฏตัวอยู่ในโลก
                อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติธรรมอันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 3 ที่ปรากฏอยู่ในโลก
                อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ นี้เป็นมหาโจรพวกที่ 4 ปรากฏอยู่ในโลก
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย

    ทรงบัญญัติปฐมบัญญัติ
                ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกฝั่งวัดคุมุทาโดยเอนกปริยาย  แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก......ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย.....โดยเอนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือเพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ 1.....เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัจธรรม 1  เพื่อถือตามพระวินัย 1
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง  ดังนี้

    พระปฐมบัญญัติ

                อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะกล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้  ความเห็นอย่างประเสริฐอย่างสามารถ
    น้อมเข้ามาในกายตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใด ถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม  เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวว่า  ข้าพเจ้าไมรู้อย่างนั้นได้กล่าวว่ารู้  ไม่เห็นอย่างนั้นได้กล่าวว่าเห็น
    ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ  แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหา สังวาสมิได้
                สิกขาบทแห่งนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย

    เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ
                สมัยนั้น ภิกษุเป็นอันมากสำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าเห็น ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่ได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญได้ว่าบรรลุ ครั้นต่อมา จิตของเธอน้อมไปเพื่อความกำหนัดก็มี เพื่อความขัดเคืองก็มี เพื่อความหลงก็มี จึงรังเกียจว่า.....พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมัง แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่พระอานนท์ ๆ  กราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่เหมือนกัน ข้อที่ภิกษุทั้งหลายสำคัญมรรคผลที่ตนยังไม่ได้ว่าได้ แต่ข้อนั้นเป็นอัพโพหาริก
                ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงว่า ดังนี้

    พระอนุบัญญัติ

                อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ ความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ
    น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแค่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใดถือเอาก็ตามไม่ถือเอาก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้วมุ่งความหมดจด จะฟังกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่าไม่รู้ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น
    ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นภิกษุมากรูปด้วยกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สมัยนั้นวัชชีชนบท อัตคัดอาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย   ภิกษุเหล่านั้นจึงคิดกันว่า พวกเรายังเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจะต้องไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
                ภิกษุบางพวกเสนอว่า พวกเราจงช่วยกันอำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ บางพวกเสนอว่า พวกเราจงช่วยกันนำข่าวสาสน์อันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์ บางพวกเสนอว่าพวกเราจักกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน  ได้ทุติยฌาณ  ได้ตติยฌาณ  ได้จตุตถฌาน  รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา 3 รูปโน้นได้อภิญญา 6  ดังนี้
                ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า การกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นี้ประเสริฐสุด แล้วก็พากันกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์
                ครั้นต่อมาประชาชนเหล่านั้นพากันยินดีว่า เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่มีภิกษุทั้งหลายผู้มีคุณพิเศษเห็นปานนี้อยู่จำพรรษา เพราะก่อนนี้ ภิกษุทั้งหลายที่อยู่จำพรรษาของพวกเรา จะมีคุณสมบัติเหมือนภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านี้ไม่มีเลย โภชนะชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่บริโภคด้วยตน ไม่ให้บิดามารดา บุตร ภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต จึงภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง
                การที่ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วเข้าเยี่ยมพระภาคนั้นเป็นประเพณี
                ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้ว เก็บเสนาสนะถือบาตรจีวรหลีกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ป่ามหาวัน กูฏาคารศาลา แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
                สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา  ป่ามหาวัน  เขตพระนครเวสาลี  ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงอสุภกถา  ทรงพรรณาคุณอสุภสมาบัติเนื่องๆ โดย  เอนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย  แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า  เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน  ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา  นอกจากพระภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว
                ระหว่างนั้น ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันว่า  พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภกถา......... ทรงพรรณาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนืองๆ  โดยเอนกปริยายดังนี้  แล้วพากันประกอบด้วยความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฎฐานหลายอย่าง หลายกระบวนอยู่  ภิกษุเหล่านั้นอึดอัด ระอา  เกลียดชังร่างกายของตน  ฉะนั้นจึงปลงชีวิตตนเองบ้าง  วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง  บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตต์ก็ขอให้ช่วยปลงชีวิตของพวกตน  โดยให้บาตรจีวรเป็นเครื่องตอบแทน  ครั้งนั้นได้มีภิกษุถูกปลงชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
                สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์  พระธนิยกุมภการบุตรได้ทำกุฏิมุงบังด้วยหญ้า แล้วอยู่จำพรรษา  เมื่อล่วงไตรมาสแล้ว  ก็ยังคงอยู่ ณ ที่นั้นตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน  ขณะที่พระธนิยเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาตร  คนหาบหญ้า คนหาฟืนได้รื้อกุฎีนั้น แล้วขนหญ้าและใบไม้ไป  พระธนิยะได้เที่ยวหาหญ้าและไม้มาทำกุฎีอีก  ก็มีคนมาขนหญ้าและใบไม้ไปอีก
                เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นถึงสามครั้ง  พระธนิยะจึงทำกุฎีสำเร็จด้วยดิน  แล้วเผาจนสุก  กุฎีนั้นก็งดงามน่าดูน่าชม  มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง  มีเสียงเหมือนเสียงกระดึง
                พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นจึงทรงติเตียนว่า ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร  ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้  ไม่ควรทำ  แล้วทรงให้ภิกษุสงฆ์ทำลายกุฎีนั้นเสีย  และทรงบัญญัติว่า

    • Update : 13/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch