|
|
พัดยศสมณศักดิ์
พัดยศสมณศักดิ์ น่าจะมีที่มาจากตาลปัตร ซึ่งตามหลักฐานพบว่า ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้มีกฎหมายที่กล่าวถึงการใช้ตาลปัตร (สมัยนั้นใช้ คำว่า ตาลีปัต) เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๔ ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการติดต่อทางการพระพุทธศาสนากับสิงหฬทวีป คือประเทศ ลังกาก็มีหลักฐานพบว่า กษัตริย์ลังกาได้พระราชทานของควรแก่สมณหลายอย่างแก่พระเถระมอญ ที่ชาวไทย ส่งไปบวชแปลงเป็น นิกายลังกาวงศ์ ในบรรดาของควรแก่สมณดังกล่าว มีตาลปัตรรวมอยู่ด้วย มีลักษณะเป็นพัดพื้นแพรรูปคล้ายพัดรองของไทย ด้ามเป็นงา แต่กลึงสั้นกว่า ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกฐ ทางลังกาขอคณะสงฆ์ไทยไปตั้งสมณวงศ์ที่เรียกว่า สยามวงศ์ ที่ลังกา ในจดหมายเหตุทูตลังกา ตอนเข้าเฝ้าพระสังฆราชไทยว่า "มีบัลลังก์ตั้งพัดยศ ด้ามงาสองเล่ม เล่มหนึ่งพื้นพัด สานด้วยงา อีกเล่มหนึ่งพื้นกำมะหยีสีแดง ปักเป็นลวดลายด้วยทองและเงิน" แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของ พัดยศมาตามลำดับ ทั้งไทยและลังกา ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาอย่างแนบแน่น ยาวนาน
พัดยศสมณศักดิ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีรูปลักษณะและสี แตกต่างกันไปตามลำดับชั้นนั้น ๆ เริ่มตั้งแต่ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นเจ้าคณะรอง ชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราช ชั้นสามัญ พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี พระเปรียญธรรม ตั้งแต่ ๓ ประโยดถึง ๙ ประโยค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน เป็นการยกย่องและประกาศคุณงามความดีของพระภิกษุสงฆ์ ผู้มีความสมควรตามฐานานุรูป เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้ดำรงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
|
Update : 13/5/2554
|
|