หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    กฎหมายพระสงฆ์ของไทย

    กฎหมายพระสงฆ์ของไทย


                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่า กฎพระสงฆ์ ขึ้นในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๔๔ รวม ๑๐ ฉบับ ดังที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ชุดแรก ที่ปรากฎหลักฐานอยู่ถึงปัจจุบัน
                ในการตรากฎหมายคณะสงฆ์โดยส่วนรวม ทรงมีพระราชประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ และเจ้าหน้าที่สังฆการี ทำการกำกับดูแลและลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ตามสมควรแก่โทษหนักเบา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ รวมทั้งที่ทรงตราไว้ในกฎพระสงฆ์นี้ด้วย นอกจากนั้น ในแต่ละฉบับจะทรงปรารภเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณี ๆ ไป อันเป็นสาเหตุให้ต้องตรากฎพระสงฆ์ฉบับนั้น ๆ ขึ้นมา
                การที่มีกฎพระสงฆ์ขึ้นมานี้ สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยเริ่มจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เกิดสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ประชาชนพลเมืองเกิดความระส่ำระส่ายไปทั่ว ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย บรรดาพระราชาคณะ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ และเจ้าอาวาสปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ การคณะสงฆ์จึงตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชนเช่นที่เคยเป็นมาในสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในฐานะที่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทรงเร่งรับฟื้นฟูสถานภาพของพระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันกับที่ทรงเร่งรีบฟื้นฟูสภาพของบ้านเมือง ให้พ้นจากจุดวิกฤติโดยเร็วที่สุด



                กฎพระสงฆ์ที่ทรงตราขึ้นมามีอยู่ ๑๐ ฉบับ เนื้อหาสาระของแต่ละฉบับ จะประกอบด้วยข้อความที่ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่อง ว่าผิดพระธรรมวินัยข้อใด ทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียอย่างไร แล้วทรงมีพระบรมราชโองการ ห้ามมิให้ทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมทั้งกำหนดโทษทางบ้านเมือง เพิ่มจากโทษทางพระธรรมวินัยอีกส่วนหนึ่ง สาระสำคัญของกฎพระสงฆ์แต่ละฉบับ ดังนี้


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๑

                ๑.  กฎให้ไว้แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  ฝ่ายทหารพลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  ขอเฝ้าจ้าวต่างกรมๆ พระราชวังบวรสถานมงคล ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ แลสังฆการีธรรมการ ราชาคณะ พระสงฆเจ้า อธิการ อนุจร ฝ่ายคันทธุระ วิปัสนาธุระ อรัญวาสี คามวาสี นอกกรุง ในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แลหัวเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา ตะวันตก ตะวันออก ปากใต้ ฝ่ายเหนือ จงทั่ว
                จึงพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว  ทุกวันนี้มีพระราชปณิธานปรารถนาพระโพธิญาณ ..... เป็นเอกอัครมหาสาสะนูปถัมภก พระพุทธศาสนา..... เสด็จออก ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยบูรพาภิมุข  พร้อมด้วย อัครมหามนตรี กวีชาติ ราชปุโลหิต โหรา ราชบัณฑิตยเฝ้าพระบาทบงกชมาศ  ทรงพระราชวิจารนุญาณรำพึงถึง พระปริยัติศาสนา  พระไตรปิฎกนี้เป็นต้น ปฏิบัติมรรคผล  ให้ได้โลกียสมบัติ โลกุตรสมบัติ เพราะพระไตรปิฎก  จึงมีพระราชโองการ ฯ ดำรัสว่า
                โดยต่ำแต่ให้มีพระธรรมเทศนา แลสำแดงพระธรรมเทศนาให้ธรรมเป็นทานนั้น  มีผลประเสริฐกว่า  สรรพทานทั้งปวง  ชื่อว่าให้พระนิพพานเป็นทาน..... เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณา แสวงหาอุบายที่จะให้สมณพราหมณ์ เสนาบดี ประชาราษฎรทั้งปวง  ให้ได้สมบัติทั้งสามประการ  พ้นจากจตุราบายทุกข์ แลสงสารภัย จึงทรงพระอนุเคราะห์ให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  สมาทานพระไตรสรณาคมน์ ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ  ในสำนักพระสงฆ์ทุกวัน ทุกเพลาเป็นปฏิบัติบูชา กองมหากุศลวิเศษ ประเสริฐกว่า อามิสบูชา จตุปัจจัยทาน..... แลพระปริยัติไตรปิฎกธรรมนี้  เมื่อบุคคลประพฤติเป็นสัมมาคารวะแล้ว  ก็มีผลอันนับประมาณมิได้.....
                แลทุกวันนี้อาณาประชาฎรทั้งปวงลางบาง  ให้มีพระมหาเวสสันดรชาดกนี้มิได้มีความสังเวชเลื่อมใส เป็นธรรมคารวะ  ฟังเอาแต่ถ้อยคำตลกคะนอง  อันหาผลประโยชน์มิได้  พระสงฆ์ผู้แสดงนั้นบางจำพวกมิได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก  ได้แต่เนื้อความแปลร้อยเป็นกาพย์กลอน  แล้วก็มาสำแดงเป็นถ้อยคำตลกคะนอง หยาบช้า  เห็นแต่ลาภสัการเลี้ยงชีวิต  มิได้คิดที่จะร่ำเรียนสืบไป  ทำให้พระศาสนาฟั่นเฟือนเสื่อมสูญ  ชวนกันประมาทในพระธรรมเทศนา.....
                ครั้งนี้ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า  ให้สมเด็จพระสังฆราช ราชาคณะ พระสงฆ์ฝ่ายปริยัติ  นักปราชญ์ราชบัณฑิตย  ให้พิจารณาค้นดูพระไตรปิฎกนั้น ก็พบเห็นบทว่า ผู้สำแดง แลผู้ฟังธรรมอันประมาท  กล่าวถ้อยคำตลกคะนอง  เอาธรรมนั้นมากล่าวเป็นอธรรม  โทษนั้นเป็นครุโทษอันใหญ่หลวง..... เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า
               แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้พระสงฆ์ผู้สำแดงพระธรรมเทศนา  และราษฎรผู้จะฟังพระมหาชาติชาดกนั้น สำแดง แลฟังแต่ตามวาระพระบาลี  แลอรรถกถา ฎีกา ให้บริบูรณ์ด้วยผลอานิสงค์นั้น  ก็จะได้พบสมเด็จพระศรีอารยิเมตไตรในอนาคต.....
                และให้พระภิกษุสงฆ์ เถร เณรฝ่ายคันถธุระ วิปัสนาธุระ แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวง  ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้จงทุกประการ  ถ้า..... ผู้ใดมิได้ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้  จะเอาตัวผู้มิได้กระทำตามกฎ  แลญาติโยมพระสงฆ์ เถร เณรรูปนั้นเป็นโทษตามโทษานุโทษ
                กฎให้ไว้ ณ วันเสาร์ เดือนสิบ ขึ้นสิบห้าค่ำ  จุลศักราชพันร้อยสี่สิบสี่ ( พ.ศ. ๒๓๒๕ ) ปีขาล จัตวาศก


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๒

                ๒.  กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ.....
                ด้วยสมเด็จพระบรมบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
                มีพระราชอุตสาหะ มิได้คิดแก่พระกายแลพระชนม์ชีพ จนได้สิริราชสมบัติ ทั้งนี้ด้วยตั้งพระทัยจะบำรุง  พระบวรพุทธศาสนาตามพุทธฎีกาว่า  พระปาติโมกข์สังวรวินัยนี้ชื่อว่าพระศาสนา  ถ้าพระภิกษุยังทรงประปาติโมกข์บริบูรณ์อยู่ตราบใด  ชื่อว่าพระศาสนายังตั้งอยู่ ณ ตราบนั้น  เหตุฉะนี้จึงทรงพระราชศรัทธา  บริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมาก  เป็นจตุปัจจัยทานถวายพระสงฆ์  แลมีพระราชโอวาทานุศาสนตักเตือน  เพื่อจะให้พระสงฆ์ทั้งปวง ในกรุงนอกกรุงเทพมหานคร  และนานาประเทศ  ให้ทรงพระปาติโมกขสังวรณ์ศีลบริสุทธิ์  ให้เป็นเนื้อนาบุญแก่สัตว์โลก..... ฝ่ายฆราวาสแต่ก่อนก็มีศรัทธา มิได้กระทำให้เป็นเสน่หาอาลัย  ทำให้เจ้ากูเสียศีลสิกขาบทบริสุทธิ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย  พระศาสนาก็รุ่งเรืองสืบมา
                แลภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐแล้ว  มิได้รักษาประปาติโมกข์ตามอริยวงศ์ประเพณี  ปฏิบัติเข้าระคนคบหาฆราวาส  ติดด้วยเบญจกามคุณ  มิได้เห็นแก่พระศาสนา  เห็นแก่หน้าบุคคล  รับฝากเงินทองของฆราวาส  ฆราวาสมิได้คิดแก่พระศาสนา  เข้าเป็นญาติโยมปฏิบัติด้วยเสน่หาอาลัย  ให้กะปิจังหันแก่ภิกษุโดยคุณปัติคุณแก่กัน ให้เสียศีลสิกขาบทไป  ดุจหนึ่งสมีรักวัดบางหว้าใหญ่  รับเข้าของเงินทองของอี่เพงไว้เป็นอันมาก  อี่เพงเป็นกบฎโทษถึงตาย  สิ่งของอี่เพงเป็นของหลวงตามบทพระไอยการ  ราชอาณาจักรสืบมาโดยโบราณราชประเพณี  เนื้อความทั้งนี้ก็ปรากฏทั่วพระนครแขวงจังหวัด  ถ้าสมีรักรักสิกขาบทจริง  ก็จะขวนขวายเอาของฝากนั้น มาแจ้งแก่สมเด็จพระสังฆราช และราชาคณะผู้ใหญ่ทั้งปวง  ให้ปรึกษาตามบทพระวินัยว่า  ทรัพย์นี้เป็นของของหลวง หรือยังเป็นของอี่เพงอยู่ จึงควรแก่สมณ  นี่สมีรักปิดบังไว้ มิได้ให้ราชาคณะทั้งปวงรู้  อนึ่งก็ได้โปรดให้ป่าวร้องเป็นหลายครั้ง  สมีรักก็มิได้บอกแก่ผู้ใด  ต่อไอ้มีชื่อให้การออกว่าของอี่เพงฝากไว้แก่สมีรักเป็นอันมาก  จนตรัสใช้ให้ราชบุรุษมา  สมีรักจึงสำแดงแก่ราชบุรุษ..... ฉะนี้ก็เห็นในสมีรักว่าสมีรักองอาจหยาบช้า  หาอาลัยต่อสิกขาบทไม่หลายครั้งมาแล้ว  เกลือกสมีรักแกล้งบังเอาของของเขาไว้ เจ้าของขาดอาลัยก็จะขาดสิกขาบทอยู่ก่อนแล้ว  หากแต่สมีรัก กลัวภัยในปัจจุบันกว่ากลัวภัยในอนาคต  จึงสู้สบถสาบาน ให้การต่อพระราชาคณะ  พระราชาคณะพิพากษาว่าต้องแต่อาบัติปาจิตตีย์  สมีรักเป็นโลกีย์มีภยาคติ  ยังกลัวความตายอยู่ จะเชื่อเอาสบถสาบานสมีรักนั้นไม่ได้  ก็เห็นว่าสมีรักยังหาปราศจากมลทินโทษไม่  โดยกระแสทางการพิจารณา  เห็นเนื้อความใหญ่ทั้งสองข้อ ฝ่ายพุทธจักราณาจักร เป็นปัจจัยถึงกันติดพันสมีรักอยู่  แต่หากทรงพระกรุณาว่า  ยังหามีพระราชกำหนดกฎหมายไม่ จึงงดโทษสมีรักไว้
              แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า  อย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก  ห้ามอย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก ห้ามอย่าให้ภิกษุสามเณรทั้งปวงรับของฝากฆราวาส  จะเสียพระวินัยพระศาสนาไป  ถ้าภิกษุไม่รับฝาก ห้ามปรามผู้ฝาก ผู้ฝากมิพัง  กลัวภัยขืนทิ้งไว้ที่กุฏิ..... เร่งเอาเพื่อนพรหมจรรย์ที่ใกล้กันให้หลายองค์รู้เห็นเป็นพยาน..... พาสงฆ์ซึ่งรู้เห็นนั้นไปแจ้งเนื้อความ และสิ่งของแก่พระราชาคณะเจ้าอธิการ  พระราชาคณะเจ้าอธิการจงประชุมนุมกันปรึกษาจงละเอียด  ให้ต้องตามพระวินัยบัญญัติ.... ถ้าพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยจะปรึกษาประการใด จงประพฤติตาม  ให้สงฆ์เป็นอันมากรู้เห็นเป็นพยานไว้..... อย่าให้ผู้อื่นแคลงในพระพุทธศาสนา แลห้ามฝ่ายฆราวาส อย่าให้เอาของเงินของทองไปฝากภิกษุสามเณรไว้  ทำให้เจ้ากูเสียวินัยสิกขาบทเป็นอันขาดทีเดียว  ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้  ฝ่ายภิกษุสามเณรจะลงพระอาชญาโทษดุจโทษ อทินนาทานปาราชิก  จะสึกออกขับเฆี่ยนจงสาหัส  ฝ่ายฆราวาสจะให้ริบราชบาทขับเฆี่ยนจงหนักโดยโทษานุโทษ
                อนึ่ง....ถ้าสามเณรรูปใด มีอายุสมควรจะอุปสมบทแล้ว  ก็ให้บวชเข้าร่ำเรียนคันถธุระ วิปัสนาธุระ  อย่าให้เที่ยวไปมาเรียนความรู้อิทธิฤทธิ์ให้ผิดธุระทั้งสองไป..... สามเณรรูปใดอายุถึงอุปสมบทแล้วมิได้บวช เที่ยวเล่นโว้เว้อยู่ จับได้จะเอาตัวสามเณรแลชีต้น อาจารย์ ญาติโยมเป็นโทษจงหนัก
                กฎให้ไว้ ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นห้าค่ำ  จุลศักราชหนึ่งพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๓

                ๓.  กฏให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ.....
                สมเด็จบรมนาถบพิตร..... รับพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
                พระศาสนาจะวัฒนาการตั้งไปได้ อาศัยพระราชอาณาจักร...สงเคราะห์พระศาสนา  ฝ่ายพระวินัยบัญญัติเล่า  พระพุทธองค์ตรัสสอนอนุญาตไว้ว่า  ถ้ากุลบุตรบวชเป็นภิกษุสงฆ์ในพระศาสนาแล้ว  ให้อยู่ในสำนักหมู่คณะสงฆ์ในพระศาสนาแล้ว  ให้อยู่ในสำนักหมู่คณะสงฆ์แลอุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน  จะได้รู้กิจวัตรปฏิบัติ  ถึงมาทว่าจะประพฤติผิดทำทุจริตอันมิควร  ก็จะมีความละอายกลัวเพื่อนพรหมจรรย์ แลครูอุปัชฌาย์จะว่ากล่าวติเตียน ความชั่วทุจริตที่ทำนั้นจะสงบลง  ศีลนั้นจะบริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งแก่สมาธิปัญญา วิปัสนามรรคญาณ สำเร็จมรรคผลในหมู่คณะสงฆ์...แม้นมาทจะมีปรารถนาจะหาที่อยู่อันสบายสมควรแก่พระกัมมัฏฐานก็ดี  ก็ย่อมจักชวนเพื่อนพรหมจรรย์ร่วมศรัทธาด้วยกัน...จะได้ทำสังฆกรรมแลอุโบสถกรรมด้วยกัน  เพื่อจะได้ศีลบริสุทธิ์เป็นที่ตั้งแก่พระกัมมัฏฐาน.....
                แลภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้  ละพระวินัยบัญญัติเสีย  มิได้ระวังตักเตือนสั่งสอนกำชับว่ากล่าวกัน  ครั้นบวชเข้าแล้วก็มิได้ให้ศิษย์อยู่นิสัยในหมู่คณะสงฆ์ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน  ละให้เที่ยวไปโดยอำเภอใจ..... ทำมารยารักษาศีลภาวนา  ทำกิริยาให้คนเลื่อมใสนับถือ  สำแดงความรู้วิชาอวดอิทธิฤทธิ์ เป็นอุตริมนุษธรรมเป็นกลโกหก  ตั้งตัวว่าผู้มีบุญ ว่าพบคนวิเศษมีวิชามาแต่ถ้ำแต่เขา..... ทำให้แผ่นดินและพระศาสนาจลาจล.... เพราะเหตุพระสังฆราชาคณะอธิการผู้ใหญ่ผู้น้อยมิได้เอาใจใส่ตักเตือน ว่ากล่าวตามพระวินัยบัญญัติ..... ฝ่ายฆราวาสข้าทูลลอองธุลีผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ละเมินเสีย  มิได้เอาใจใส่ระวังรักษา  ให้ไอ้อีมีชื่อผู้ศัตรู เข้ามาทำอันตรายถึงในพระราชฐาน..... ถ้าจะว่าตามโบราณราชกำหนดกฎหมาย  ฝ่ายสมณฆราวาสมิได้พ้นจากมหันตโทษ..... แต่หากทรงพระกรุณายกโทษไว้เพราะยังมิได้มีพระราชกำหนดกฎหมายก่อน.....
                แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้พระราชาคณะจัดแจงตั้งแต่งภิกษุสามเณร..... ให้เป็นราชาคณะแลอธิการ ให้มีตราตั้งแต่เป็นอักษร ชื่ออารามเป็นอักษรขอมสำหรับตัว  ประจำที่ราชาคณะเจ้าอธิการ ทุกตำแหน่ง ทุกอาราม  ถ้าแขวงใดเมืองใดพระสงฆ์มาก  วัดหนึ่งให้มีอธิการหนึ่งอันดับ  เก้ารูปสิบรูปขึ้นไป  ถ้าพระสงฆ์น้อย  อารามหนึ่งให้มีอธิการหนึ่งอันดับ สี่ห้ารูปขึ้นไป  ให้ปรนนิบัติรักษาพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ อย่าให้เป็นอันตราย  ถ้าแลพระสงฆ์ แลสามเณรแขวงจังหวัด เมืองเอก โท ตรี จัตวา  จะมีศรัทธาเที่ยวเข้ามาร่ำเรียน คันถธุระ วิปัสนาธุระ และสมณกิจประการใด  ก็ให้เขียนฉายาแลชีต้น  แลพระวสา แลชื่ออุปัชฌาย์อาจารย์  ศัตราราชาคณะ หัวเมืองนั้น ๆ มาเป็นสำคัญ  จะอยู่อารามใด เมืองใดก็ดี  ให้เอาหนังสือ แลศัตราสำคัญนั้น แจ้งแก่ราชาคณะเจ้าอธิการในกรุง  ถ้าราชาคณะอธิการในกรุงเห็นหนังสือ แลตราสำคัญแล้ว  จึงให้รับไว้ร่ำเรียน..... ถ้าแลฝ่ายพระสงฆ์สามเณร ณ กรุงเทพ ฯ..... อาการดั่งนี้แม้นจะชั่วแลดี จะได้สืบสาวรู้ง่าย  อนึ่งก็เป็นที่คำนับ รู้จักเค้ามูล แห่งกัน  จะได้กระทำสังฆกรรม อุโบสถกรรมด้วยกันเป็นอันดี  หาความรังเกียจแก่กันมิได้
                อนึ่งถ้ากุลบุตรจะบวชเรียน อำลาประจุสึกก็ดี  ให้รู้ว่ากุลบุตรชื่อนั้น อยู่บ้านนั้น เป็นลูกหลานผู้นั้นๆ
                แลให้พระราชาคณะเจ้าหมู่เจ้าคณะอธิการ  แลกรมการหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา นายอำเภอแขวงจังหวัดทั้งปวง  กำชับว่ากล่าว สอดแนมระวังระไว  ดูหมู่คณะในแว่นแคว้น  แขวงจังหวัดวัดวาอารามบรรดาขึ้นแก่ตน  อย่าให้มีคนโกหกมารยาคิดทำร้าย แผ่นดินแลพระศาสนา  ให้จลาจลดุจครั้งนี้ได้เป็นอันขาดทีเดียว  ห้ามอย่าให้ อาณาประชาราษฎรทั้งปวง นับถือ คบค้า ปรนนิบัติไอ้โกหก..... แลผู้ได้รู้เห็นว่าเหล่าร้ายคิดกลโกหกมารยาแล้ว  แลมิได้จับกุมว่ากล่าว  บอกให้กราบทูลพระกรุณา ละเมินเสีย..... จะเอาเจ้าคณะเจ้าอารามเจ้าอธิการเจ้าเมืองเจ้าแขวงจังหวัดประเทศนั้น ๆ เป็นโทษกบฎ  ดุจโทษไอ้คนโกหกคิดทำร้ายแผ่นดิน และพระศาสนาเป็นจลาจล
                กฎให้ไว้ ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๔

                ๔.  กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ อธิการ
                สมเด็จพระบรมนารถบพิตร..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
                เป็นประเพณีในพระพุทธศาสนาสืบมาแต่ก่อน  มีพระพุทธฎีกาโปรดไว้ให้ภิกษุสามเณรอันบวชในพระศาสนา รักษาธุระสองประการ คือ คันถธุระ วิปัสนาธุระ..... เป็นประเพณีมนุษย์มีปัญญา  พบเห็นพระศาสนาเข้าแล้วก็มีความเพียร ปฏิบัติตามธุระทั้งสอง  อยู่นิสัยในสำนักครู อุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์อาจารย์ก็ตั้งใจสั่งสอนตักเตือนกำชับว่ากล่าวกัน  มิได้ละเมินพระศาสนาหามิได้  พระศาสนาก็บริบูรณ์มา  แลภิกษุสามเณรทุกวันนี้  ลางพวกบวชเข้ามาแล้ว  มิได้ปฏิบัติตามธุระทั้งสอง..... เอาแต่กาสาวพัตร์เป็นที่พึ่ง  เพื่อจะเอาแต่ความสะบายให้บริบูรณ์กายเนื้อหนัง  ดุจพระพุทธฎีกาตรัสว่าเหมือนโคแลกระบือ  เกิดมาแต่บริโภคอาหารให้เจริญแต่เนื้อหนัง  จะได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญานั้นหามิได้..... อุปัชฌาย์อาจารย์ก็เมินเสีย..... ทำร้ายแผ่นดินแลพระศาสนาให้เศร้าหมองฉะนี้ ไม่ควรนักหนา
               แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้มีภิกษุโลเล ละวัตรปฏิบัติ แลปฎิญาณตัวว่าเป็นกิจวัด มิได้ร่ำเรียนธุระทั้งสองฝ่าย อย่าให้มีได้เป็นอันขาดทีเดียว..... แลพระศาสนาจะรุ่งเรืองขึ้นนั้นก็เพราะพระราชาคณะ ให้พระราชาคณะเร่งตักเตือนพิจารณาเห็นศิษย์ควรร่ำเรียนคันถธุระ วิปัสนาธุระ อันใดอันหนึ่งได้ ก็ให้ร่ำเรียนอันนั้น แล้วปฏิบัติตามพระปริยัติปฏิบัติศาสนา ให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่เทพามนุษย์ทั้งปวง แล้วให้พระราชาคณะ เจ้าคณะอธิการ ทำบัญชีหางว่าวภิกษุสามเณรฝ่ายคันถธุระ วิปัสนาธุระ  ส่งให้สังฆการีธรรมการกราบทูลพระกรุณา..... ถ้าภิกษุสามเณรองค์ใด กักขละ หยาบช้า สอนยาก อุปัชฌาย์ อาจารย์จะว่ามิฟัง..... ให้กำจัดเสีย อย่าให้เข้าหมู่คณะได้เป็นอันขาดทีเดียว  พระศาสนาจึงจะรุ่งเรืองสืบไป
                ถ้าแลราชาคณะ เจ้าคณะ อธิการ ภิกษุ สามเณร สังฆการีธรรมการผู้ใด มิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ จะเอาตัวญาติโยมเป็นโทษตามโทษานุโทษ
                กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๕

                ๕.  กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ
                สมเด็จพระบรมนารถบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
                ไอ้มาต้องเมถุนปาราชิกแล้ว มิได้กลัวบาปละอายแก่บาป ปฏิญาณตัวว่าเป็นภิกษุ เข้ากระทำสังฆกรรมด้วยพระสงฆ์ เป็นอุปัชฌาย์บวชนาค ปลอมเข้าผูกโบสถ์แลรับกฐิน..... ไอ้ชูต้องอทินนาทานปาราชิก..... แล้วปกปิดโทษไว้ ปฎิญาณตัวว่าเป็นภิกษุสมณะนั่งหัตถบาทบวชนาค เข้าผูกอุโบสถทำสังฆกรรมด้วยสงฆ์ ให้พระศาสนาเศร้าหมอง แลไอ้แก้วต้องอทินนาทานปาราชิก..... แลเอามลทินไปโทษป้ายท่านผู้มีศีลบริสุทธิ์ พระสงฆ์ว่ากล่าวแล้วฉะนี้ หวังจะให้ทายกทั้งปวงที่ศรัทธากระทำกุศลไว้ สอดแคล้วกินแหนงท่านผู้มีศีลบริสุทธิ์ จะให้ผลของทายกนั้นน้อยไป มิควรหนักหนา
               แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าภิกษุองค์ใดต้องจตุปาราชิกทั้งสี่ แด่อันใดอันหนึ่งปาราชิกแล้ว  ให้มาบอกแก่สงฆ์ จงแจ้งแด่ในอุโบสถเดียวนั้น อย่าให้ปกปิดโทษจตุปาราชิกไว้ ปฎิญาณตัวเป็นสงฆ์สมณะ เข้ากระทำสังฆกรรม อุปสมบทกรรมด้วยคณะสงฆ์ให้เป็นมณทิลในสังฆกรรมทั้งปวง..... ให้ศาสนาเศร้าหมอง ถ้ามีผู้โจทนาว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจ จะเอาตัวเป็นโทษถึงสิ้นชีวิต แล้วให้ริบราชบาท ขับเฆี่ยนตีโบยญาติโยมจงหนัก อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
                กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยยี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก

    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๖

               แต่นี้ไปเมื่อหน้า ห้ามมิให้ภิกษุสามเณรสงเคราะห์ฆราวาส ให้ผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เป็นต้น แล้วอย่าให้ผสมผสาน ขอกล่าวป่าวร้องเรื่ยไรสิ่งของอันเป็นของแห่งฆราวาสอันใช่ญาติ แล้วอย่าให้ทำการศพ แลทำเบญจการฆราวาสทั้งปวง แล้วอย่าให้เป็นหมอนวด หมอยา หมอดูต่าง ๆ  แลให้ยาแก่คฤหัสถ์อันใช่ญาติ  แลห้ามอย่าให้พูดใช้สอยนำข่าวสารการฆราวาส แลห้ามบรรดาการทั้งปวงอันกระทำผิดจากพระปาติโมกข์ สังวรวินัย ภิกษุรูปใดมีอธิกรณ์ข้อใหญ่ สงฆ์พิพากษามิถ่องแท้ เป็นฉายาเงาปาราชิก ควรจะเสียอยู่ข้างการลามกในพระศาสนา เป็นที่สงสัยสงฆ์ทั้งปวงอยู่แล้ว  อย่าให้เอาไว้ให้สึกเสีย.....
                หนึ่งห้ามฝ่ายฆราวาสทั้งปวง อย่าได้ถวายเงินถวายทองนากแก้วแหวน แลสิ่งขของอันไม่สมควรแก่สมณ เป็นต้น  แลทองเหลือง ทองขาว ทองสำฤทธิ์ แก่ภิกษุสามเณร แลห้ามอย่าให้ถวายบาตรนอกกว่าบาตรเหล็กบาตรดิน  แลนิมนต์ใช้สอยพระภิกษุสามเณรให้ทำเบญจการศพ แลให้นวดแลทำยา ดูลักษณะ ดูเคราะห์ แลวาดเขียนแกะสลักเป็นรูปสัตว์ แลใช้นำข่าวสารของฆราวาสต่าง ๆ  แลห้ามบรรดาการภิกษุสามเณรกระทำผิดพระปาติโมกข์สังวรวินัย.....
                แลถ้าพระราชาคณะ เจ้าอธิการ  ภิกษุ  สามเณร  ฆราวาส  สังฆการีธรรม  การผู้ใดมิได้ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ แลละเมิดเสีย มิได้กำชับว่ากล่าวกัน กระทำให้พระศานาเศร้าหมองดุจหนึ่งแต่ก่อนนั้น  ฝ่ายพระราชาคณะ พระภิกษุสามเณร จะเอาญาติโยมเป็นโทษ ฝ่ายฆราวาสทั้งปวง จะให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตามโทษานุโทษ
                กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๗

    ๗.  กฎให้ไว้แก่สังฆการี.....
                   ด้วยสมเด็จบรมนารถบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า เป็นประเพณีเมืองไท  พม่า  เมืองรามัญ  ถวายกฐินทานแก่ภิกษุจำพรรษาแล้ว และออกพรรษาในพระวิหารเสมาวงล้อมต่าง ๆ แลใกล้กันนั้น..... แลท้าวพญาอันทรงพระปัญญาพินิจพิจารณาเห็นว่า พระสงฆ์ผู้ทรงพระวินัยไตรปิฎกอันยิ่ง รักษาพระศาสนานั้นก็มีเป็นอันมาก..... (ถ้าแลเห็นว่าพระบาลีว่าวัดมีเขตวงล้อมต่าง ๆ ใกล้กัน  ผู้จะทอดกฐินในวัดนั้น  กฐินนั้นมิเป็นกฐิน  พระสงฆ์ผู้รับกรานนั้นมิเป็นรับเป็นกราน)..... ครั้งนี้เล่าประเพณีและบาลีในกฐินขันธ์  อันพระอรหันตขีณาสพผู้ทรงวินัยกระทำปฏิบัติสืบ ๆ กันมาเป็นช้านาน  หาผู้ใดจะทักท้วงไม่ ตราบเท่าทุกวันนี้..... ถ้าผู้ภายหลังทำหักรานให้กฐินทานสาบสูญบัดนี้  ก็จะเป็นครุโทษสืบ ๆ ไปเป็นหนักหนา.....
                อนึ่งเห็นว่าพระธรรมราชมุนีพุทธาจารย์  หาเป็นสุภาพวินัยธรแท้ไม่  มิได้อยู่ในบังคับบัญชาสมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่าอันเป็นครู  มีพระพรรษาทรง พระวินัยสันทัด ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดตั้งไว้เป็นพญาสงฆ์สำหรับพิพากษาพระวินัย  แลหักรานผู้เฒ่าผู้แก่ ให้นัยแก่พระญาณวิริยผู้เป็นศิษย์ตน  นำเอาเนื้อความกิจสงฆ์เข้ามาถวายพระพร  แลอุดหนุนถ้อยคำอันเอาโทษอันเป็นคุรุธรรม  เข้ามาติดแปดไว้ในพระราชฐาน  นี่หากว่าสมเด็จพระสังฆราชแลพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ยั่งยืนในพระวินัย  ถวายพระพรขัดไว้จึงพ้นโทษ..... และเหตุเป็นคุรุกรรมใหญ่หลวงลามกมาถึงพระราชฐาน ทั้งนี้เพราะพระธรรมราชมุนี พระพุทธาจารย์ พระญาณวิริยะ  ไม่มีสัมมาคารวะต่อสมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่าอันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งขึ้นไว้  ให้เป็นที่ไหว้ที่บูชาปรึกษาพระวินัยทั้งปวง..... จึงเกิดเนื้อความมากมายทั้งนี้ มิสมควรนักหนา
               แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า  ห้ามอย่าให้พระสงฆ์ ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ให้อธิการรามัญ  อธิการลาว อันดับทั้งปวง แลสังฆการีธรรมการราชบัณฑิต  ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง  เอาเนื้อความสงฆ์อันวิวาทกันด้วยกิจพระวินัย..... เอากราบทูลพระกรุณาให้หม่นหมองพระทัยเป็นอันขาดทีเดียว  แลให้ทูลแก่สมเด็จพระสังฆราชราชาคณะอธิการอันดับ  ให้มอญลาวทั้งปวงฟังบังคับบัญชาสมเด็จพระสังฆราชผู้เดียว  ถ้าแลเป็นเนื้อความมหันตโทษ ข้องเข้ามาในราชอาณาจักร  จำเป็นจะทูล ก็ให้เอาปรึกษาด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ผู้ใหญ่ผู้น้อย นักปราชญ์ราชบัณฑิต ให้พร้อมกันควรทูล  แล้วจึงให้กราบทูลพระกรุณา
                ถ้าแลพระราชาคณะ..... ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใด  มิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้  จะเอาตัวผู้กระทำผิดพระราชกำหนดกฎนั้น  เป็นโทษตามโทษานุโทษ
                กฎให้ไว้ ณ วันจันทร์ เดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ นักกษัตร เบญจศก

    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๘

                ๘.  กฎให้แก่พระสุรัสวดีซ้ายขวาในนอก  ให้กฎหมายบอกข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ฝ่ายทหารพลเรือน  แลข้าหลวงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ขอเฝ้าข้าเจ้าต่างกรม ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  แลสังฆการีธรรมการ  แลเมือง ๑ ๒ ๓ ๔  ปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงจงทั่ว
                ด้วยสมเด็จพระบรมนารถบพิตร ฯ..... ได้ทรงฟังพระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรว่าพระพุทธจักร แลพระราชอาณาจักรทั้งสองนี้อาศัยกับ  ฝ่ายพระสังฆเถรานุเถรอันรักษาพระพุทธจักรนั้น  ระวังกันตรวจตรารักษาพระศาสนา  มิให้เป็นอันตรายเศร้าหมอง  ครั้นเห็นว่ามีบาปภิกษุอันตราย แล้วว่ากล่าว  ยังกันให้ปรึกษาโทษผิดแห่งกัน  แล้วตัดสินว่ากล่าวตามพระวินัย  บำบัดรำงับโทษให้สงบมิได้มีลามกในพระศาสนา  ถ้าเกิดพวกภิกษุโจรมากหนัก  เหลือกำลังจะว่ากล่าว  รนร้อนชวนกันเข้ามาถวายพระพรพึ่งพระราชอาณาจักร  ฝ่ายพระมหากษัตริย์  ผู้รักษาพระราชอาณาจักรก็ช่วยอุปถัมภ์ ตามพระมหาเถรานุเถรผู้ร้อนรนรักษาพระพุทธศาสนา  เป็นประเพณีมา  จำเดิมแต่พระอรหันต์เจ้าห้าร้อย  มีพระมหากัสปเถรเจ้าเป็นประธาน  เป็นเหตุด้วยพระภิกษุแก่  อันกล่าวปรับวาทติเตียนเป็นเสี้ยนพระศาสนา  ก็ชวนมาถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอชาติศัตรูราช  พระเจ้าอชาติศัตรูก็เป็นศาสนูปถัมภก ขอปฐมสังคายนาระงับโทษดังนี้  จนถึงทุติยสังคายนา  ตติยสังคายนา  จตุดตุสังคายนา  ปัญจมสังคายนา  ฉัตถสังคายนา  ฝ่ายพระพุทธจักร  พระราชอาณาจักร  ย่อมพร้อมกันทั้งสองฝ่าย  ชวนกันชำระพระศาสนา  (มิให้มีบาปภิกษุทำลายพระศาสนา) ได้เป็นประเพณีสืบมาทั้งนี้  จนถึงเมื่อสมเด็จพระมหากรุณาเจ้าเสด็จนิพพานแล้ว  พระพุทธศาสนาล่วงไปได้ พันห้าร้อยแปดสิบเจ็ดพรรษา  ครั้นสมเด็จพระเจ้าประกรมภาหุราชบพิตร..... เป็นใหญ่ในลังกาทวีปทั้งปวง  พิจารณาเห็นหมู่ภิกษุกุลบุตรปฏิบัติต่าง ๆ มิได้ต้องแตกจากกัน  ประพฤติผิดให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญไป..... จึงไว้ธุรกิจด้วยพระมหากัสปเถรเจ้า  อันอยู่ในอุทุมพรปัพพารามมหาวิหาร  ทั้งพระพุทธเจ้าพระราชอาณาจักรสองฝ่าย  กระทำย่ำยีปาปภิกษุทั้งสองเหล่า  คือภิกษุต้องปาราชิกเหล่าหนึ่ง  แลภิกษุมากด้วยอาบัติเหล่าหนึ่ง  พระราชทานผ้าขาว แล้วให้สึกออกจากเพศบรรพชิต  ทรงชำระพระพุทธศาสนาให้ปราศจากมณฑิล  ด้วยพระทัยอันบริสุทธิ์ประกอบด้วยกรุณา  แต่จะให้เทวดามนุษย์ทั้งปวง  กระทำสักการบูชา ซึ่งพระศาสนาอันบริสุทธิ์  ให้ได้พ้นจากสงสารทุกข์  แลทรงพระมหากรุณาแก่กุลบุตรอันหาปัญญามิได้  ปฏิบัติผิดแล้วจะไปเสวยทุกขเวทนาอยู่ในจตุราบายอันช้านานหนักหนา..... แลเป็นประเพณีพุทธจักรพระราชอาณาจักรช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา  พระพุทธศาสนาจึงค่อยยืดยาวมาตราบเท่าบัดนี้.....
                แลทุกวันนี้ เห็นฝ่ายพุทธจักรวางมือเสีย  ประการหนึ่งเข้าใจว่าศาสนาถึงเพียงนี้แล้ว  เห็นจะบำรุงให้วัฒนาขึ้นได้  จึงมิได้ระวังระไวว่ากล่าวกัน ให้เกิดมหาโจรปล้นทำลายพระศาสนา  ทั้งสมณะแลสามเณรมิได้รักษาพระจตุปาริสุทธิศีล  ร่ำเรียนธุระทั้งสองประการ  แลชวนกันเที่ยวเข้าร้านตลาดดูสีกา  มีอาการกิริยานุ่งห่มเดินเหินกระด้างอย่างฆราวาส  มิได้สำรวมรักษาอินทรีย์  มิเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ทายก  แลเที่ยวดูโขนหนังลครฟ้อนขับ แลเล่นหมากรุกสกาพนันทั้งปวง  แลคบคิดกันกับคฤหัถชายหญิงเล่นเบี้ย..... และผูกพันเรียกฆราวาสหญิงชาย เป็นพ่อแม่เลี้ยง พี่เลี้ยง น้องเลี้ยง  แลเคารพนบนอบยอบกายวาจาแก่ฆราวาสอย่างว่าทาษทาสา  แลขอให้น้ำมนต์  ด้ายมงคลสูตรเป็นต้นแก่ฆราวาสปรารถนาลาภ  แลฆราวาสหญิงชายที่หาปัญญามิได้ ให้บำเรอแก่หมู่ภิกษุปาปอลัชชี  ได้ชื่อว่าให้กำลังแก่ภิกษุลามก.....
                แลผู้มีชื่อทั้งนี้ กระทำทุจริตผิดหนักหนา เป็นมหาโจรปล้นพระศาสนาชุกชุมขึ้นทั้งนี้  เพราะพระราชาคณะธิบดี  พระเถรานุเถรผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ หาความกตัญญูกตเวทีต่อพระศาสนาไม่  มิได้ประพฤติตามพระพุทธฎีกา สัตตปริหายหานิยธรรมเจ็ดประการ  มีประชุมนุมพร้อมกันตรวจตราว่ากล่าว  ให้เห็นดีแลร้ายไม่มี  หากว่าผู้มีชื่อฆราวาสเอาเนื้อความมาว่ากล่าวขับเฆี่ยน  พันธนาการประจานโทษตระเวนบกสามวันเรือสามวัน  เพื่อมิให้ดูเยี่ยงกับทำลายพระศาสนา..... แต่ฝ่ายข้างพระราชอาณาจักรนี้เร่งร้อนรนนัก  ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิต  สังฆการีธรรมการออกมาเผดียงแจกกฎหมาย  ให้พระราชาคณะทั้งปวง เร่งกำชับตรวจตรากัน  รักษาพระจตุรปาริสุทธิศีล  กฏิบัติตามคันถธุระ วิปัสนาธุระและพระราชกำหนดเก่าใหม่อยู่เนือง ๆ ฉะนี้ ก็ยิ่งมีสมณะสามเณรเป็นมหาโจรปล้นพระศาสนาขึ้นมากมาย  ดั่งนี้มิควรหนักหนา
               แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า  ห้ามมิให้สมณะสามเณรเถระรูปชี  กระทำความชั่วทุจริต ผิดด้วยพระวินัยบัญญัติบรรดาพรรณาโทษมานั้น.....
                อนึ่งพระราชาคณะทั้งปวง ก็ได้ถวายปฎิญาณว่า จะกำชับว่ากล่าวให้พระสงฆ์สามเณร รักษาชาตะรูปะชะตะสิกขาบทอันนี้ให้บริบูรณ์ ฟังดูก็หาเห็นหยุดไม่ กฎแต่ก่อนก็ให้ประกาศไปว่า จะเอาโทษทั้งสมณะแลฆราวาส แลให้สังฆการีธรรมการสอดแนมจับเอาตัวผู้ถวายเงินทอง แลภิกษุเณรเถรรูปชี ผู้รับเงินทองให้ได้เอามาว่ากล่าว.....
                อนึ่งเถรเณรจะออกจากอาราม มีกิจไปใกล้ไกลแห่งใดก็ดี  ให้ห่มดองครองผ้าเหมือนกิริยาบิณฑบาต  บิณฑบาทโดยลำดับ  อย่าให้ชิงรับจังหันวิวาทชกตีกันเป็นอันขาดทีเดียว  แลหากิจนิมนต์ไม่ได้อย่าให้เที่ยวเข้าบ้านถ้าและมีกิจธุระด้วยญาติแลบิดามารดารจะมาบ้านนั้น แลจะมีที่มาใกล้ไกลแห่งใดก็ดี ให้อำลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ให้รู้กิจธุระก่อนจึงไปด้วยพรหมจาริยเป็นเพื่อนพยานกันสองรูปสามรูปด้วยกัน แลห้ามอย่าให้สมณะสามเณรคบหาสีกาอันใช่ญาติ  เข้าไปบ้านนอนบ้าน  ผสมผสานด้วยลาภรากเสน่หา  ห้ามฝ่ายอุบาสิกาอย่าทำสนิทติดพันเป็นโยม..... ให้ตั้งใจศรัทธาถวานทานเป็นสงฆ์อย่าจำเพาะ..... แลจะไปถวาย
    ถึงอารามนั้นให้ไปในเวลาเช้าถึงเที่ยง  ห้ามอย่าให้เข้าไปถวายในกุฎี แลนั่งในที่ลับที่กำบัง  ให้นั่งนอกกุฎีในที่แจ้ง  มีเพื่อนสีกากันรู้เห็นเป็นหลายคน.....
                แลให้พระราชาคณะเจ้าอธิการอันดับผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง  ประพฤติตาม สัตตปริยหานิยธรรม แลลงพระอุโบสถจงพร้อมกันทุกวันอุโบสถ  ตามพุทธบัญญัติ..... จะให้สังฆการีธรรมการตรวจทุกวันอุโบสถ  จัดสรรชำระมลทินโทษออกเสียจากพระศาสนา
                ถ้าภิกษุสามเณรรูปใดอารามใด  ต้องอธิกรณ์ถึงอับติมวัตถุเป็นปาราชิกแล้ว  ให้พระราชาคณะสึกเสีย  แล้วบอกแก่สังฆการีธรรมการให้แจ้งด้วย  จะได้สักหน้าหมายไว้  อย่าให้ปลอมอุปสมบทสืบไป.....
                อนึ่งรูปชีอย่าให้อยู่ในอารามใกล้อารามเป็นอันขาดทีเดียว  แลฝ่ายฆราวาสนั้น ให้มูลนายบิดามารดาตรวจตราว่ากล่าว  สตรีภาพอันเป็นบ่าวไพร่ บุตรธิดา ญาติ..... ทำลายศีลสมณสามเณร ให้เป็นปาราชิก  ทำลายพระศาสนาเป็นอันขาด..... ถ้าแลบิดามารดาคณาญาติภิกษุเถรเณรที่ทำผิดนั้นรู้เห็น..... ชวนกันปิดบังเสีย.....
    มีผู้อื่นรู้เอามาว่ากล่าว  พิจารณาสืบสวนได้เนื้อความเป็นสัจ  จะเอาบิดามารดาญาติพี่น้องภิกษุเถรเณรซึ่งเป็นโจรอยู่ในพระศาสนา เป็นโทษด้วย
                ถ้าแลฝ่ายพระสงฆ์สมณะทั้งปวง  มิได้กระทำตามพระราชกำหนดนี้.... จะเอาโทษแก่พระราชาคณะลงมาทั้งฐานานุกรม อธิการมหาเถรานุเถระ  อันดับผู้ใหญ่ผู้น้อยแลสามเณร อันมิได้ระวังระไวตรวจตราว่ากล่าวกันนั้น  เป็นโทษเสมอด้วยโทษสมคบสมณะสามเณรอันเป็นบาปลามกนั้น  ฝ่ายฆราวาสทั้งปวงก็แลผู้อื่นมิได้ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้..... จะเอาโทษแต่มูลนายลงมาจนบิดามารดา
    ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้กันที่พอจะรู้เห็น  มิได้ห้ามปรามเอามาว่ากล่าวนั้น  เป็นโทษเสมอด้วยโทษสมณสมคบหญิงศิลบาท อันเป็นบาปหยาบช้านั้น  จะได้พร้อมกันช่วยกันรักษาพระศาสนาทั้งสองฝ่ายฉะนี้.....
                กฎให้ไว้ ณ วันพุธ เดือนสาม แรมสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราชพันร้อยห้าสิบแปด (พ.ศ. ๒๓๓๙) ปีระกา เอกศก


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๙

                ๙  กฎให้ไว้แก่พระราชาคณะ  เจ้าอธิการฐานานุกรมในนอกกรุง  แลแขวงจังหวัดหัวเมือง ๑ ๒ ๓ ๔ ปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงจงทั่ว
                สมเด็จพระบรมนารถ ฯ..... สั่งว่า..... มหาสีนขาดจากสิกขาบทเป็นปาราชิกลามกในพระศาสนา  มิได้เป็นสมณะปฏิญาณตนว่าเป็นสมณ ปิดความชั่วไว้..... กระทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญเศร้า
    หมองมิควรนักหนา
               แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า  ให้พระราชาคณะฐานานุกรมเจ้าอธิการ  เอาใจใส่ตรวจตราดูรู้เห็นว่า อันดับนั้นติดพันอยู่ด้วย หญิงโยมอุปฐาก  ผิดพุทธวจนะอยู่แล้ว  ก็ว่ากล่าวให้ปริวัฎออกเสียจากพระศาสนา  อย่าให้เป็นปาราชิก  ขึ้นได้ในพระศาสนาดุจหนึ่งอ้ายสีนฉะนี้  แลให้ประกาศแก่พระสงฆ์อันดับวัดวาอารามจงทั่ว  ถ้าพระสงฆ์องค์ใดกระทำความชั่วลามกอยู่แล้วก็ให้ปริวัฎออกเสีย  อย่าให้เป็นมลทินอยู่ในพระศาสนา  ทรงพระกรุณาหาเอาโทษไม่ ถ้าแลพระสงฆ์องค์ใดปกปิดความชั่วไว้..... มีผู้ว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจ  จะเอาตัวเป็นโทษถึง ๗ ชั่วโคตร  แล้วจะให้ลงพระราชอาญาตีโยม  พระราชาคณะ ฐานานุกรม เจ้าอธิการ อันดับ กระทำความผิดแลละเมินเสีย มิระวังตรวจตรากัน  ให้เป็นลามกชั้นในพระศาสนา.....
                กฎให้ไว้ ณ วันศุกร์ แรมสี่ค่ำ เดือนเก้า ปีขาล ฉศก


    กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๑๐

                กฎให้ไว้แก่ เจ้าพญา และพญา  พระหลวง  เจ้าราชนิกุล  ขุน  หมื่น  พัน  ทนาย  ฝ่ายทหารพลเรือน  มหาเล็กขอเฝ้า  ข้าเจ้าต่างกรม  ฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  และกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลัง แลผู้รักษาเมือง  ผู้รั้ง  กรมการหัวเมือง ๑ ๒ ๓ ๔  ปากใต้ฝ่ายเหนือ ทั้งปวงจงทั่ว
                สมเด็จบรมนารถบพิตร ฯ..... สั่งว่า
                ตั้งพระทัยทรงพระราชศรัทธา จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา..... บัดนี้พระสงฆ์อันนับเข้าในพระพุทธชิโนรสมิได้มีหิริโอตัปปะ  คบหากันทำอุลามกเป็นอลัชชีภิกษุ  คือเสพสุรายาเมา..... กระทำจอมปลอมเหมือนสามเณร..... แลซึ่งพระสงฆ์สามเณร กระทำจลาจลปล้นพระศาสนาดั่งนี้  เพราะพระสงฆ์ราชาคณะ..... ละเมินเสีย มิได้ดูแลกำชับห้ามปราม
                บัดนี้ให้พระราชาคณะ ฐานานุกรม สังฆการีธรรมการ  ราชบัณฑิตย์  พร้อมกันชำระพระสงฆ์ซึ่งเป็นอลัชชีภิกษุ  พิจารณารับเป็นสัจ  ให้พระราฃทานผ้าขาวสึกออกเสียจากพระศาสนา.....
               แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า  ถ้าผู้ใดเห็นพระสงฆ์กระทำอุลามกเป็นอลัชชี..... ทำให้ผิดเพศสมณ  ไม่ต้องด้วยพระวินัยบัญญัติ  ให้ว่ากล่าวตักเตือน  ถ้ามิฟังให้ไปบอกเจ้าอธิการ เจ้าคณะ
                อนึ่งถ้าผู้ใดล้มตาย  ห้ามอย่าให้เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระมาลัย ให้นิมนต์สวดแต่พระอภิธรรม  แลสวดให้สำรวจไปปกติ  อย่าให้ร้องเป็นลำนำแขก จีน ฝรั่ง มอญ  แลให้เจ้าภาพปฏิบัติเป็นแต่อัฐบาน  น้ำชายาเสียง อย่าให้เลี้ยง สาคู แกงบวช เมี่ยงส้ม เมี่ยงใบ กล้วย อ้อย ของกัด ของเคี้ยว เป็นอันขาด  ถ้าฆราวาสที่มาช่วยจะสวดพระมาลัยก็ตามเถิด  แต่อย่าให้สวดเป็นลำนำตลกคะนอง  ประการหนึ่ง ห้ามอย่าให้อาณาประชาราษฎร ลูกค้าร้านแพ แขก จีน ไทย ขายผ้าแพรพรรณแก่พระสงฆ์สามเณรเป็นอันขาดที่เดียว  ถ้าผู้ใดมิฟัง ยังขืนคบหา พระสงฆ์ เณร ให้สวดพระมาลัยเล่นตลกคะนอง  แลขายผ้าแพรพรรณแก่พระสงฆ์ สามเณร ดุจหนึ่งแต่หลัง จะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก
                แลให้สัสดีหมายบอกข้าทูลละออง ฯ ให้กรมพระนครบาล  นายอำเภอประกาศป่าวร้อง  อาณาประฃาราษฎร  ลูกค้าวานิชพ่วงแพร้าน แขก  จีน  ไทย แลให้  มหาดไท กลาโหม  กรมท่า  มีตราไปถึงหัวเมืองทั้งปวงจงทั่ว
                กฎนี้ให้ไว้ ณ วันอังคาร แรมสิบสามค่ำ เดือนเจ็ด จุลศักราชพันร้อยหกสิบสาม (พ.ศ. ๒๓๔๔) ปีระกา ตรีนิศก

               

    • Update : 13/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch