จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (นามเดิม: ประยุทธ์ อารยางกูร) หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป.อ.ปยุตฺโต" เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อ ปีพ.ศ. 2494 และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการนักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชาการพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักเช่นหนังสือ พุทธธรรม เป็นต้น ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยผลงานของท่านทำให้ท่านได้รับรางวัลและดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education) [1] นอกจากนี้ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ท่านได้รับรวมมีมากกว่า 15 สถาบัน ซึ่งนับว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ชาติภูมิ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เกิดวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ณ บ้านใกล้ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ฝั่งตะวันออก บริเวณตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 5 จากบุตรเก้าคน[ต้องการอ้างอิง] ของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร [2] ทางครอบครัวประกอบกิจการค้าขายผ้าแพร ผ้าไหม ขายของชำ และโรงสีไฟ
เมื่ออายุได้ 6 ขวบเข้าเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวที่ตลาดศรีประจันต์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ จากนั้นบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา โดยพักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ เด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความใส่ใจในการเรียนมาก ช่วงเวลาปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษแก่น้อง ๆ ได้
การบรรพชา
เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์ของท่านจะควบคู่ไปกับการเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ท้องเสีย ท้องอืด ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ ไวรัสเข้าตา สายเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ในเพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้ เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่ วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับเป็น นาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาจนกระทั่งได้รับปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จาก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
งาน
หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม. ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 10 ปี มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ. 2516 และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้นในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 กว่าแห่ง และได้รับรางวัล "การศึกษาเพื่อสันติภาพ" จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งท่านได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ปัจจุบันพระพรหมคุณภรณ์เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และดูแลสำนักสงฆ์สายใจธรรม บนเทือกเขาสำโรงดงยาง ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
สมณศักดิ์
เกียรติคุณของพระพรหมคุณาภรณ์
ตลอดชีวิตของพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้ใช้ความรู้พระไตรปิฎกแท้ๆ เพื่อช่วยปกป้องสังฆมณฑลในประเทศไทยหลายกรณี ไม่ว่า กรณีสันติอโศกหรือกรณีวัดพระธรรมกาย ท่านได้ช่วยชี้แจงให้คนไทยได้รับทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่ถูกต้องเอาไว้หลายครั้ง ในขณะเดียวกัน ท่านยังมีบทบาทในการชี้แนะสังคมไทยในด้านการบริหารประเทศหลายครั้ง เช่น ในหนังสือ มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของระบบทุนนิยมเสรีในประเทศไทย และยังได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมตะวันตก หรืออเมริกา มีแง่มุมที่ไม่ควรเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศไทย ที่จะทำให้เน้นแต่พัฒนาวัตถุ ทำให้นักคิดไทยหลายคนตื่นตัวมาหาหลักพุทธธรรมเป็นแนวในการพัฒนา
แรงบันดาลใจให้อยู่เป็นพระสืบอายุพระศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่เป็นระยะเวลานานจนมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาตลอดเป็นเพราะได้อ่านนวนิยายอิงธรรมะของอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ทำให้รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกองทัพธรรม เช่น
ประสบการณ์ในการสอน
ผลงานทางวิชาการพุทธศาสนา
ปัจจุบัน
- ที่ปรึกษาทางวิชาการ ประจำ มูลนิธิแผ่นดินธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์
- เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน พุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม