หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระเสริมปางมารวิชัย วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
    คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธฯ




    แหล่งธรรมใจกลางเมืองกรุง ที่มีวัยรุ่นเข้าเที่ยวชมมากที่สุดแห่งหนึ่ง "วัดปทุมวนาราม" เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จากการเข้ากระชับพื้นที่ของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ผู้คนต่างหนีตายเข้ามาพึ่งใบบุญในเขตอภัยทานของวัด แต่บางคนก็ต้องมาพบจุดจบอย่างคาดไม่ถึงจากการฆ่า กลายเป็นฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือนจากความทรงจำได้

    จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีชาวพุทธหลายคนตั้งข้อสังเกตและเชื่อว่า ถ้าวัดแห่งนี้ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปกป้องคุ้มครองอยู่ คงต้องมีผู้คนล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า หนึ่งในนั้นก็คือ "พระเสริม" เป็นพระพุทธปฏิมาประธานวัดปทุมวนาราม ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว สร้างขึ้นพร้อมกับพระสุก พระใส

    ถือเป็นพระพุทธรูป 3 พี่น้องแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต หล่อขึ้นจากทองสีสุก (โลหะสัมฤทธิ์ที่มีทองคำเป็นส่วนผสมหลัก) เมื่อราวปี พ.ศ.2109 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง พร้อมด้วยพระธิดา 3 พระองค์ ทรงพระนามว่า เสริม สุก และใส

    โปรดให้ช่างลาวล้านช้างหล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคลมีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ

    ในพิธีการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ พระภิกษุและฆราวาสช่วยกันสูบเตาหลอมทองอยู่ตลอดถึง 7 วัน แต่ทองยังไม่ละลาย พอถึงวันที่ 8 มีเพียงพระภิกษุสูงอายุรูปหนึ่งกับสามเณรรูปหนึ่งสูบเตาอยู่ ปรากฏมีชีปะขาวคนหนึ่งมาอาสาสูบเตาแทนพระและเณร

    แต่วันนั้นญาติโยมต่างเห็นบรรดาชีปะขาวสูบเตาอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพระภิกษุและสามเณรฉันเพลเสร็จแล้วก็จะไปสูบเตาต่อ ปรากฏว่าได้มีผู้เททองลงเบ้าทั้ง 3 จนเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เห็นชีปะขาวอยู่แม้แต่คนเดียว

    การหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ สำเร็จลงด้วยดีอย่างน่าอัศจรรย์

    พระธิดาเสริม สุก และใส ต่างถวายนามของตนเป็นนามของพระพุทธรูป ได้แก่ พระเสริมเป็นพระพุทธรูปประจำพระธิดาองค์พี่ พระสุกเป็นพระพุทธรูปประจำพระธิดาองค์กลาง และพระใสเป็นพระพุทธรูปประจำพระธิดาองค์สุดท้อง

    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ว่า พระเสริม พระสุก พระใส เป็นพระพุทธรูปลาวล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ และทรงสันนิษฐานเรื่องการสร้างเป็น 2 ประการ คือ อาจจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากเมืองหนึ่งเมืองใดทางตะวันออกของอาณาจักรล้านช้างและต่อมาตกอยู่ในเขตล้านช้าง หรืออาจสร้างขึ้นในเขตล้านช้างโดยฝีมือช่างลาวพุงขาวในยุคนั้น

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ครั้งเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างก่อกบฏ พระองค์โปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบ และได้ตั้งค่ายทหารที่เมืองพานพร้าว

    ทหารไทยเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ จนเจ้าอนุวงศ์หนีไปจากเวียงจันทน์

    ในครั้งนั้นได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากเมืองเวียงจันทน์หลายองค์ อาทิ พระแซกคำ พระฉันสมอ พระเสริม พระสุก พระใส ฯลฯ มาเก็บรักษาไว้ที่เมืองพานพร้าว และได้มีการสร้างพระเจดีย์เพื่อประดิษ ฐานจารึกพระนาม พระเจดีย์ปราบเวียง

    ต่อมา เจ้าอนุวงศ์ได้ร่วมกับพวกญวนเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์คืนและตีค่ายพานพร้าว ทหารฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้รื้อพระเจดีย์ปราบเวียง และนำพระพุทธรูปที่บรรจุอยู่ทั้งหมดกลับเวียงจันทน์

    ในที่สุด ทหารไทยเข้ายึดค่ายพานพร้าวคืนและตีเมืองเวียงจันทน์ และได้นำพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งข้ามกลับมาฝั่งไทย

    ส่วนการอัญเชิญพระเสริม พระสุก พระใส จากเมืองเวียงจันทน์ มีเรื่องเล่าเป็นตำนานต่อกันมาว่าพบพระพุทธรูปในถ้ำแห่งหนึ่งบนภูเขาควาย เนื่องจากชาวเมืองได้นำไปซ่อนไว้เพื่อหนีภัยสงคราม จึงนำขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่อัญเชิญมาทางลำน้ำงึมออกลำน้ำโขง

    เมื่อถึงบริเวณปากน้ำงึมเฉียงกับบ้านหนองกุ้งเมืองหนองคาย (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย) เกิดพายุฝนตกหนักแพที่ประดิษฐานพระสุกแตก ส่งผลให้พระสุกจมหายไปในกระแสน้ำ ส่วนพระเสริมและพระใสได้อัญเชิญมาถึงเมืองหนองคายอย่างปลอดภัย

    พระเสริมนั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดหอก่อง (วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ)

    ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมัยนั้น ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระเสริมมาประดิษฐานยังพระบวรราชวัง

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและข้าหลวง (เหม็น) ไปอัญเชิญพระเสริมและพระใสมายังพระนคร

    เมื่อครั้งอัญเชิญพระเสริมและพระใส มายังพระนครนั้น กล่าวกันว่าพระใสแสดงปาฏิหาริย์ เกวียนที่ประดิษฐานพระใสหักลงตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย ซ่อมก็หักอีก วัวลากเกวียนไม่ยอมเดิน ทั้งเชิญและบวงสรวงก็ไม่เป็นผล สุดท้ายทหารจึงอัญเชิญพระใสประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยแทน

    ส่วนพระเสริม อัญเชิญไปกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้อัญเชิญพระเสริมจากพระบวรราชวัง ไปประดิษฐานยังพระวิหารวัดปทุมวนาราม

    • Update : 6/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch