|
|
พระพุทธวชิรมกุฏ วัดมกุฏกษัตริยาราม
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระ
|
"วัดมกุฏกษัตริยารามราชวร วิหาร" หรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า "วัดมกุฏ" ตั้งอยู่ริมถนนและคลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร กรุง เทพฯ ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราช วรวิหาร สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นคูพระนครชั้นนอก และทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร อุทิศพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี พระราชเทวี ผู้เป็นที่สนิทเสน่หาได้สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า สมัยกรุงศรีอยุธยาจะมีการสร้างวัดเรียงรายตามคูเมือง เช่น วัดกุฎีดาว ตรงข้ามวัดสมโกษ
ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดส่วนพระองค์คู่กับวัดโสมนัสวิหาร ทรงโปรดให้ซื้อที่ดินสวนของราษฎรซึ่งมีเขตติดต่อกับวัดโสมนัสวิหาร เพื่อสร้างพระอาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เป็นนายช่าง
การก่อสร้างพระอารามเสร็จเรียบ ร้อยในปี พ.ศ.2411 พระราชทานนามวัดและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า วัดนามบัญญัติ เป็นการชั่วคราวก่อน จนกว่าเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้วจึงให้เรียกนามพระราช ทาน ว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นนามตามพระปรมาภิไธย
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชโอรสและพระราชธิดา ต่างช่วยกันทำนุบำรุงวัดแห่งนี้สืบมา
วัดมกุฏกษัตริยารามและวัดโสมนัสวิหาร เป็นวัดในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีเสมา 2 ชั้น ชั้นแรกเรียกว่า มหาสีมา อยู่ในซุ้มที่มุมกำแพงรอบวัด และยังมีเสมารอบพระอุโบสถอีกเรียกว่า ขันธสีมา ในวัดที่มีเสมา 2 ชั้นเช่นนี้ พระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งพระอุโบสถและพระวิหาร
อาคารสำคัญในวัดได้แก่ พระอุโบสถ มีลายพระมหามงกุฎอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่างเช่นเดียวกัน ผนังด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมอันหลากหลายแตกต่างจากวัดอื่น เช่น เรื่องพระสาวกในบาลีและอรรถกถา พระอัครสาวก 11 พระองค์ อัครสาวิกา 8 องค์ ภาพการบำเพ็ญกรรมฐาน สิ่งที่พึงปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย ธุดงควัตร บนบานหน้าต่างและบานประตูด้านในเขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรบรรจง เป็นต้น
วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธวชิรมกุฏ" พระพุทธรูปประธานในพระวิหาร ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก 2 ศอก 9 นิ้ว สูง 2 ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว วัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร เป็นประธานการหล่อพระพุทธวชิรมกุฏ แต่ในคราแรกยังมิได้ตั้งนาม ตราบจนพุทธศักราช 2511 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวาระครบ 100 ปี สถาปนาวัดวัดมกุฏกษัตริยาราม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายี) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ถวายพระนามว่า "พระพุทธวชิรมกุฏ"
โดยถือเอานามวัด ซึ่งตั้งตาม พระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ประกอบกับพระนามฉายาเมื่อทรงผนวช ว่า วชิรญาโณ ผนวกกับการที่วัดแห่งนี้ ยังเป็นที่ประทับศึกษาพระปริยัติธรรมของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระราชนัดดา ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย
นามพระประธาน พระพุทธวชิรมกุฏ ที่ทรงคิดถวาย จึงเป็นมงคลนามแห่งพระอารามยิ่ง
|
Update : 6/5/2554
|
|