|
|
พระพุทธจุฬารักษ์ วัดราชสิทธาราม กทม.
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ
|
"วัดราชสิทธาราม" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนอิสรภาพ ด้านเหนือสะพานเจริญพาสน์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ด้านทิศตะวันตกของวัดที่มีอยู่ก่อนแล้ว คือ วัดพลับ
ต่อมาโปรดให้รวมทั้ง 2 วัดเข้าเป็นวัดเดียว มูลเหตุที่ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ในที่ใกล้กับวัดพลับเดิมนั้น เนื่องมาแต่สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อยู่จำพรรษา ณ วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม จ.พระ นครศรีอยุธยา
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงพระกรุณาฯ นิมนต์ให้ลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ ท่านได้ถวายพระพรขออยู่วัดฝ่ายอรัญวาสี เพราะท่านเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระอย่างเชี่ยวชาญ
โดยที่ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า วัดพลับ เป็นวัดที่สำคัญฝ่ายอรัญวาสีของจังหวัดธนบุรี คู่กับวัดรัชฎาธิษฐานเป็นวัดใกล้พระนคร จึงได้โปรดให้อยู่วัดพลับและเพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ จึงได้ทรงสร้างวัดพระราชทานให้ใหม่ดังกล่าวมา ทั้งทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร เมื่อพ.ศ.2325 พร้อมกันกับที่ได้ทรงตั้งพระราชาคณะรูปอื่น เป็นต้น
ต่อมา พระอาจารย์สุก ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 4 วัดราชสิทธาราม จึงเป็นวัดที่สำคัญอีกที่หนึ่ง และอยู่มาตราบเท่าทุกวันนี้
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระมหาเถระที่ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระ จนมีฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่า "พระสังฆราชไก่เถื่อน" ด้วยทรงสามารถแผ่พรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้
การสร้างวัดขึ้นเมื่อไหร่นั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด มีกล่าวไว้แต่เพียงว่า เมื่อพระอาจารย์สุก ลงมาอยู่วัดพลับแล้ว ก็ทรงสร้างวัดพระราชทาน อาจเป็นในเวลาใกล้ๆ กันนั้นก็ได้
ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าชายทับ ทรงผนวชจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักจันทร์และเมื่อขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะให้ทั้งวัด พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม
วัดราชสิทธารามหรือวัดพลับ เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธจุฬารักษ์" พระ พุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย วัสดุปูนปั้นลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 5 ศอก 2 นิ้ว สูงจรดพระรัศมี 6 ศอก 1 คืบ
พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏเรื่องราวการสร้างที่ชัดเจน กล่าวกันมาแต่เพียงว่า เป็นฝีมือพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปั้นส่วนพระเศียร ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปั้นพระวรกาย และถวายพระนามว่า พระพุทธจุฬารักษ์
เบื้องหน้าพระพุทธจุฬารักษ์ ประดิษ ฐานพระพุทธสาวกสำคัญ 3 พระองค์อยู่ด้านซ้ายขวา คือ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร และองค์กลาง คือ พระอานนท์
ทั้งนี้ กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
|
Update : 6/5/2554
|
|