หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์
    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 01
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    ปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
    ณ  ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    จัดโดย  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    เมื่อวันที่ 16  สิงหาคม 2534
    จากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง
    คัดลอกจาก http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/budddhist/index/index6.htm
    สารบัญ
    1. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีความสดใสที่แฝงความสับสน
    2.  ศาสนากับวิทยาศาสตร์เริ่มร่วมแล้วร้างเริด
    3. วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนาจุดแยกหรือจุดบรรจบ
    4. พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ความต่างในความเหมือน
    5. สุดแดนวิทย์เข้ามาจ่อแดนจิต
    6. ข้อเสนอเบ็ดเตล็ดเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์
    การแก้ปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 02
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    ปรับท่าทีและทำความเข้าใจกันก่อน
    ได้ยินข่าวว่าหลายท่านฟังดูชื่อปาฐกถานี้  พอได้ยินชื่อเรื่องและชื่อผู้แสดงก็รู้สึกแปลกใจว่า  มีการนิมนต์พระมาพูดในเรื่องวิทยาศาสตร์  เป็นเรื่องที่เหมือนกับว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และบางท่านก็มีความรู้สึกทำนองว่า  เอ๊ะ !  ทำไมเอานักศาสนามาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์  อาตมาก็มามีความรู้สึกว่า  เอ !  ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้ก็จะไม่ค่อยถูกต้อง  น่าจะต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อยก่อน  เพื่อเตรียมใจในการฟังปาฐกถา คือเพื่อการวางท่าทีที่ถูกต้อง
    การที่มีความรู้สึกว่า  พระเป็นนักศาสนาแล้วมาพูดในเรื่องของนักวิทยาศาสตร์นี้  อาจจะเป็นความเคยชินของยุคสมัย  คือสมัยนี้เป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง  หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  เวลาได้ยินเรื่องราวก็มีการแบ่งกันไปว่า นี่เป็นนักศาสนา นี่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นั่นเป็นนักรัฐศาสตร์   เป็นต้น  แต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาของตน  แต่อาตมานี้ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นนักศาสนา  และก็ไม่อยากจะยอมรับให้เรียกว่า เป็นนักศาสนา เพราะอาตมาก็เป็นพระภิกษุเท่านั้นเอง
    พระภิกษุกับนักศาสนาไม่เหมือนกัน  พระภิกษุเป็นเรื่องของวิถีชีวิต  เราอาจจะใช้คำพูดเลียนแบบ  คือเติมคำว่า  เฉพาะอย่าง ก็เป็นวิถีชีวิตเฉพาะอย่าง  ส่วนการเป็นนักศาสนานั้นเป็นเรื่องของวิชาการเฉพาะอย่าง
    วิถีชีวิตเฉพาะอย่าง  กับวิชาการเฉพาะอย่างนี้  ไม่เหมือนกัน  ผู้ที่มีวิถีชีวิตเฉพาะอย่างนั้น  ก็มีบทบาทมีหน้าที่ตามแบบแผนของตนเอง  ที่จะดำเนินชีวิตและยู่ร่วมในสังคมด้วยดี  อันนี้เป็นข้อที่สำคัญ  คือเขาจะมีวิถีชีวิตอย่างไรก็เป็นแบบของเขา  แต่วิถีชีวิตแบบนั้นจะทำให้เขามีบทบาทเฉพาะอย่าง  ที่ทำให้เขาดำเนินชีวิตไปได้อย่างเกื้อกูลและกลมกลืน  สามารถอยู่ร่วมในโลกนี้  หรือในสังคมนี้ได้ด้วยดี
    แต่นักวิชาการเฉพาะอย่าง  เป็นเรื่องของการแบ่งซอยในตัววิชาการโดยเฉพาะว่าใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงวิชาการนั้น  ๆ  ซึ่งอาจจะไม่คำนึงถึงว่าท่านผู้นั้นจะดำเนินชีวิตอย่างไร  อยู่ในสังคมอย่างไร  เรียกว่าเป็นเรื่องของวิชาการล้วน ๆ เพราะฉะนั้น พระภิกษุนั้น  ในกรณีอย่างนี้คงจะไม่เรียกว่าเป็นนักศาสนา
    นอกจากนั้น  อาตมาก็ไม่ได้สนใจศึกษาเรื่องศาสนาอะไรต่าง ๆ  มากมาย  คำว่าศาสนาในกรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นธรรมะ  ในกรณีนี้ศาสนาเป็นคำที่เราใช้ในความหมายสมัยใหม่  เป็นเรื่องวิชาการ  ส่วนธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของพระจะต้องศึกษา  เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของท่าน  เพราะฉะนั้น  เราคงต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กันไว้ก่อน
    เพราะฉะนั้น  การที่จัดปาฐกถาครั้งนี้ และมีชื่อปาฐกถาว่าเป็นเรื่อง พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์นั้น  ไม่ควรให้มองว่าเป็นการมาพบกันของผู้เชี่ยวชาญในวิชาการสองฝ่าย มิฉะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า  แหม คราวนี้น่าสนใจเพราะว่ามีการมาพบกันของบุคคลที่ไม่น่าจะมาพบกัน ๒ พวก  หรือ  ๒ ฝ่าย  คือฝ่ายศาสนากับฝ่ายวิทยาศาสตร์  ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยนึกว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย
    ถ้าตั้งท่าทีให้ถูกต้องเราก็จะมองว่า  มีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์นี่แหละที่เรากำลังจะพูดถึง  วิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลาง  โดยมีนักวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าของเรื่อง  เป็นผู้ชำนาญพิเศษในวิชาการนี้และตอนนี้เรากำลังเปิดโอกาส  หรือเชิญให้บุคคลภายนอกวงวิชาการวิทยาศาสตร์ เป็นพระบ้าง เป็นคนอื่นบ้าง มาดูมามอง และมาให้ความคิดเห็น  ถ้าตั้งท่าทีกันอย่างนี้แล้ว  ก็จะฟังเรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
    ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว  ผู้ที่จะมาพูดนั้นซึ่งเป็นคนนอกวงการ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์มากมาย  อาจจะรู้บ้าง  ไม่รู้บ้าง รู้ผิดรู้ถูก พูดผิดพูดถูก แต่เมื่อตั้งท่าทีถูกแล้ว ผู้ที่จะได้ประโยชน์ ก็คือวงการวิทยาศาสตร์เอง ซึ่งได้ดูว่าคนนอกเขามองตนอย่างไร
    การที่ตั้งท่าทีอย่างนี้จะมีประโยชน์อย่างไร  หรือมีเหตุผลอย่างไร  ก็มีเหตุผลว่า  บุคคลก็ตาม  กิจการต่าง  ๆ  ของมนุษย์ก็ตาม  เมื่อเข้าสู่ชีวิตและโลกที่เป็นจริงแล้ว  ไม่ใช่ว่าจะดำเนินชีวิตหรือกิจการของตนไปโดยโดดเดี่ยวลำพังให้สำเร็จได้  มันจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความคิดจิตใจ  เรื่องราว  และความเป็นไปต่าง ๆ รอบด้าน  ที่มาจากทิศทางต่าง ๆ และมีลักษณะต่าง ๆ กัน  จึงต้องมีการประสานสัมพันธ์กับบุคคลประเภทอื่น  และวิชาการสายอื่นด้วย  ถ้าการประสานสัมพันธ์นั้นประสบผลสำเร็จ  ก็จะทำให้การทำหน้าที่ของตนหรือของวิชาการของตนก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
    เพราะฉะนั้น การที่เราให้บุคคลภายนอกมาพูดมามองบ้างนี้ย่อมเป็นการดี  ทำให้เราเห็นแง่มุมในการที่จะเข้าไปประสานสัมพันธ์กับโลกภายนอก  หรือวงวิชาการต่าง ๆ  ในวงกว้างให้ได้ผลดียิงขึ้น  เรียกว่าเป็นการทำให้เกิดความรอบคอบ  และรอบด้านยิ่งขึ้น
    เป็นอันว่าจะให้มองเรื่องของปาฐกถาครั้งนี้  ว่าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เองที่ให้บุคคลภายนอกมามอง  คราวนี้ให้พระมามอง  พระจะมองอย่างไรก็ค่อยมาดูกันต่อไป
    ประการที่สองที่อยากจะทำความเข้าใจกันไว้ก่อนก็คือ  ชื่อเรื่องปาฐกถา  บางท่านก็อาจจะมองอย่างเมื่อกี้นี้อีก  คือ  ให้นักศาสนามาพูด  และยังแถมอวดอ้างด้วยว่า  พระพุทธศาสนานี้เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์  อันนี้อาตมาจะยังไม่อธิบาย  แต่จะบอกว่าชื่อปาฐกถานี้ถือได้ว่าเป็นคำพูดของนักวิทยาศาสตร์เอง  และก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ด้วย  แต่ตอนนี้ยังไม่บอกว่าเป็นใคร  ท่านผู้นี้ไม่ได้พูดไว้ตรง ๆ อย่างนี้หรอก  อาตมาถือเอานัยมาตั้งเป็นชื่อ  ถือว่าชื่อปาฐกถานี้เข้ากันได้กับคำพูดของท่าน  แต่ไม่ได้ถือเป็นเรื่องจริงจังนักหนา  และเราก็จะได้อธิบายกันต่อ ๆ ไป  ไม่ต้องใส่ใจนักว่าเป็นรากฐานจริงหรือไม่  แต่เอาเป็นว่า  ในสิ่งที่พูดต่อไปนี้  จะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา  และจะเป็นรากฐานจริงหรือไม่  ก็วินิจฉัยกันได้เอง ด้วยสติปัญญาพิจารณาของแต่ละท่าน
    นอกจากนี้ก็คงจะต้องทำความเข้าใจกัน  เกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำบางอย่าง  คือตัวคำว่าพระพุทธศาสนาเอง กับคำว่าวิทยาศาสตร์
    คำว่า พุทธศาสนา ในที่นี้ ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงรูปแบบหรือสถาบันอะไรที่เป็นรูปธรรม แต่หมายถึงตัวสาระที่เป็นนามธรรม ที่เป็นเนื้อหาหรือหลักการของพระพุทธศาสนา
    ส่วนวิทยาศาสตร์ก็มีปัญหา คือ นักวิทยาศาสตร์เองอาจจะบอกว่า  ต้องพูดให้ชัดว่า  ในที่นี้  ฉันจะเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นะ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ไม่เกี่ยว  เทคโนโลยีไม่เกี่ยว  แต่ในสายตาของชาวบ้าน  เวลาได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์นี่เขามองรวมไปหมด  เขาไม่ได้แยก  อาตมานี่  มาแบบชาวบ้าน  หมายความว่าอยู่พรรคเดียวกับชาวบ้าน  ในฐานะที่เป็นพระ  ก็อยู่ฝ่ายชาวบ้าน ก็คืออยู่ในวงคนทั่วไป เพราะฉะนั้นก็จะมาพูดในความหมายแบบคลุม ๆ เครือ ๆ  คือเอาวิทยาศาสตร์ที่หมายถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ด้วยก็ได้เทคโนโลยี แต่ในบางตอนอาจจะแยก ตอนไหนที่แยกก็คงจะได้อธิบายเฉพาะตอนนั้นต่อไป
    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 03
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    คุณค่าที่ถูกสงสัย
    ก่อนอื่น เราคงจะต้องยอมรับกันถึงคุณค่า หรือประโยชน์หรือจะเรียกเป็นศัพท์สูง ๆ  หน่อยก็คือ  คุณูประการ ที่วิทยาศาสตร์ได้ทำไว้ให้แก่มนุษยชาติ วิทยาศาสตร์นี่มีประโยชน์เป็นอเนกอนันต์อันนี้ไม่มีใครปฏิเสธ อาตมามาแสดงปาฐกถาครั้งนี้เดินทางมาชั้วโมงเดียวก็ถึงเชียงใหม่ จากสนามบินดอนเมือง ถ้าหวนหลังไปเมื่อราชกาลที่ ๑  สัก ร.ศ. ๑๑   กว่าท่านผู้ฟังในที่นี้จะได้ฟังอาตมาก็คงต้องอีก ๓ เดือนข้างหน้า  ซึ่งคงจะไม่มาเสียมากกว่า  อันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นอุปการะของวิทยาศาสตร์  ที่ช่วยให้การปฏิบัติกิจการต่าง ๆ  เกิดความสะดวกสบาย  จะเดินทางท่องเที่ยวก็ได้  จะมาทางวิชาการ  เพื่อประโยชน์ในทางสติปัญญาก็ได้  มีทั้งเครื่องบิน มีทั้งรถไฟ และรถยนต์
    มองกว้างออกไปอีก  ในการสื่อสารปัจจุบัน  เรามีวิทยุ โทรศัพท์ โทรสาร โทรทัศน์ แล้วก็มีวีดีทัศน์ ดาวเทียมอะไรต่าง ๆ  ซึ่งล้วนเป็นอุปกรณ์ที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  หรือที่เห็นกันชัด ๆ  ก็อย่างในวงการแพทย์  โรคระบาดมากมายหลายอย่าง  เดี๋ยวนี้ก็หายไปหมด  อหิวาต์ก็แทบจะไม่มีเงียบไปนานแล้ว  เพิ่งจะไปโผล่ที่เปรูเมื่อไม่นานนี้  ในสายเอเชียก็เงียบไป  กาฬโรคก็หายไปเลย  ไข้ทรพิษก็บอกว่าลบไปได้แล้ว  รวมแล้วโรคระบาดเหล่านี้  เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยต้องกลัวอันตราย  แม้ว่าจะยังไม่อาจวางใจได้ว่าปลอดภัย  ในเมื่อเอดส์โผล่ขึ้นมา  มาเลเรียที่รบกันยังไม่จบสิ้นก็ชักจะฟื้นตัวขึ้น  และวัณโรคก็ทำท่าจะหวนกลับมา
    แต่ก่อนนี้คนเป็นแค่ไส้ติ่งอักเสบ  ก็คงจะต้องเสียชีวิต  แต่เดี๋ยวนี้การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเป็นเรื่องที่ง่ายเสียเหลือเกิน  จนกระทั่งถึงผ่าสมองก็ไม่ยาก  เครื่องมือในการตรวจ  ในการหาสมุฎฐานและตำแหน่งของโรคก็พรั่งพร้อมและชัดเจนแม่นยำ อย่างเอกซเรย์ก็เจริญมาเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  จะใช้ระบบอุตราซาวนด์ก็ได้ จนกระทั่ง MRI ก็มีแล้ว  หมอแทบไม่ต้องตรวจเอง  ส่งไปเข้าเครื่องตรวจก็สำเร็จ  จนกระทั่งหมอยุคต่อไป ถ้าไม่มีเครื่องเหล่านี้ ก็อาจจะตรวจไม่เป็น นี่ก็เป็นเรื่องของความเจริญที่ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
    เรามีเครื่องไฟฟ้า  มีเครื่องทุ่นแรงสารพัด  การพิมพ์  การอะไรต่าง ๆ  ก็เจริญก้าวหน้า  แม้แต่ของที่เดี๋ยวนี้เราเห็นเป็นของเล็กน้อย  อย่างนาฬิกานี่  สมัยก่อนถอยหลังไป  ๒๐ - ๓๐ ปี  นาฬิกาไม่ใช่เป็นของที่ง่าย ๆ เลย  บางทีไปซื้อมาประจำบ้านเป็นเรือนใหญ่ ๆ โต ๆ  แล้วก็ใช้ลำบาก  ต้องไขลานหรือดึงลูกตุ้มกันทุกวัน  อะไรทำนองนี้  แต่เดี๋ยวนี้นาฬิกาควอร์ทซ์มีแล้ว  เป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน  ราคาก็ถูก ถูกนิดเดียว  แล้วก็เดินตรงกว่าสมัยก่อนมากมาย  นาฬิกาสมัยก่อนเรือนใหญ่ ๆ ราคาแพง ๆ จะให้ตรงนี้ยาก  เราเรียกนาฬิกาปารีส บางทีต้องตั้งต้องปรับกันอยู่นั่นแหละ  ยากเหลือเกิน  เดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม  นาฬิกากลายเป็นเรื่องที่แสนจะง่ายสบาย เครื่องเขียน ปากกา ก็แสนจะหาง่าย  ราคาก็แสนจะถูก  เมื่อ ๒๐ ปีก่อนต้องคอยระวังเก็บรักษา  แต่เดี๋ยวนี้ มันง่ายและถูกจนใช้กันทิ้ง ๆ อย่างไม่มีความหมาย  เจริญพรั่งพร้อมสะดวกไปทุกอย่าง  จนกระทั้งสามารถไปอวกาศได้  มีคอมพิวเตอร์ใช้  นี่ก็เป็นความเจริญที่เรียกว่ารุดหน้าอย่างยิ่ง
    ในทางชีววิทยาก็ไปถึงขั้นที่เรียกว่า  พันธุวิศวกรรม  ซึ่งอาจจะมีการแปลงพันธุ์  แต่งพันธุ์  ปรุงแต่งเพิ่มพันธุ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ของชีวิตพืชและสัตว์ต่าง ๆ ได้  อันนี้ก็เป็นความหวังของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน  เรียกว่าพรรณนากันไปได้แทบจะไม่มีที่สิ้นสุด  นี่แหละคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์  ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของเทคโนโลยีเป็นอันมาก
    แต่ในอีกด้านหนึ่ง  เมื่อมองไปก็ปรากฏว่า  วิทยาศาสตร์นี้โดยเฉพาะที่ออกรูปมาเป็นเทคโนโลยีอย่างที่กล่าวเมื่อกี้  ได้ก่อให้เกิดโทษอย่างมหาศาลแก่มนุษยชาติเช่นเดียวกัน  ยิ่งถึงยุคปัจจุบันนี้ก็มีความกังวลกันมาก  โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาอย่างสูงแล้วถึงกับหวาดกลัวกันว่า  โลกและมนุษยชาตินี้  อาจจะถึงความพินาศไป  เพราะความเจริญหรือพัฒนาในทิศทางที่ทำกันมา  อาจจะเป็นความพินาศแบบปุ๊บเดียว  คือชั่วกดสวิทซ์ กดปุ่ม  อย่างสงครามนิวเคลียร์  หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นความพินาศไปอย่างช้า ๆ  ใช้เวลายาวนาน  คือการที่ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมสลาย  ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่มา  ของยุคปัจจุบัน
    แม้แต่ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวเดี๋ยวนี้  คนก็ถูกคุกคามด้วยภัยธรรมชาติอย่างใหม่อันนี้กันมาก  จะกินอาหาร  ก็ไม่รู้ว่าผักหรือปลานี้  เขาแช่ฟอร์มาลินหรือเปล่า  บางทีเขาฉีดฮอร์โมนเร่งความเติบโตของสัตว์และพืชที่เอามาทำเป็นอาหาร  บางทีเลี้ยงหมู  ก็ให้กินสารเคมีที่ทำให้เนื้อมีสีแดงน่ารับประทาน  ขายได้ราคา  หรืออาจจะมีสารเคมีเป็นพิษ  ซึ่งมาในรูปของสารที่ช่วยรักษาอาหารให้คงทนอยู่นานบ้าง  ปรุงแต่งรสบ้าง  ปรุงแต่งสีสัน  หรือเป็นส่วนผสมอะไรต่าง ๆ บ้าง  ตลอดกระทั่งในเรื่องยาฆ่าแมลง ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์  ที่วางขายมีไม่น้อยเป็นของที่คนปลูกและคนเลี้ยงเขาไม่รับประทาน  อันนี้ก็เป็นสภาพปัจจุบันที่คนไม่น้อยมีความหวาดกลัว  มีชีวิตอยู่ด้วยความระแวงหวั่นใจ  แล้วมันก็คุกคามต่อชีวิตของคนจริง ๆ
    อันนี้มองไปในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าเวลานี้วิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแปลกปนอยู่ในธรรมชาติ  นี้เป็นสำนวนพูด คือ เรารู้สึกเหมือนกับว่าวิทยาศาสตร์กับธรรมชาติเวลานี้เป็นคนละพวก  คือ คนมองคล้าย ๆ กับว่าวิทยาศาสตร์เป็นพวกหนึ่ง และธรรมชาติเป็นอีกพวกหนึ่ง  เป็นคนละพวกกัน  ทั้ง ๆ ที่แท้จริงล้ววิทยาศาสตร์ก็คือการศึกษาธรรมชาติ  อยู่ด้วยกันมากับธรรมชาติ   
    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 04
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    เมื่อวิทยาศาสตร์แปลกหน้ากับธรรมชาติ
    วิทยาศาสตร์นั้นโดยพื้นฐานของมัน  จะต้องเป็นพวกเดียวกับธรรมชาติแต่ปัจจุบันนี้คนได้มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์คือสิ่งทีมิใช่ธรรมชาติ  เราเคยเรียกสิ่งที่ทำขึ้นมาด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์  โดยเอามาประยุกต์ใช้ทำเป็นเทคโนโลยี  ว่าเป็นของวิทยาศาสตร์  เราเรียกชื่อโดยเอาคำว่าวิทยาศาสตร์ต่อท้ายคำนั้น ๆ  เช่น ไตที่ทำด้วยเทคโนโลยี  ก็เป็นไตวิทยาศาสตร์  ปอดทำด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ก็เป็นปอดวิทยาศาสตร์
    แล้วต่อมาบางทีก็เปลี่ยนเรียกปอดวิทยาศาสตร์  เป็นปอดเทียมไป  ไตวิทยาศาสตร์ก็เป็นไตเทียม  เอ๊ะ !  ไป ๆ มาๆ  ของวิทยาศาสตร์นี่กลายเป็นของเทียมไปแล้ว  เอาละซี  นี่แหละความหมายในหมู่ประชาชนนี้มันแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ  เราจะต้องติดตามดูเหมือนกัน
    ถ้ามองอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า เวลานี้ วิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแปลกปนอยู่ในธรรมชาติมากมาย เป็นการที่วิทยาศาสตร์ได้กระทำต่อธรรมชาติ
    เวลาเราพูดในวงสังคมศาสตร์  เราบอกว่ามนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ  แต่ตอนนี้เรามาพูดกับฝ่ายวิทยาศาสตร์  เราบอกว่าวิทยาศาสตร์กระทำต่อธรรมชาติ  แต่ความหมายก็อันเดียวกัน  เพราะการที่วิทยาศาสตร์จะไปกระทำต่อธรรมชาติอย่างนั้นได้  ก็เพราะมนุษย์นี่แหละ  เป็นผู้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการกระทำ  แต่มูลเหตุเดิมมันมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์  เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่านี่แหละ  ความเสื่อมความพินาศอะไรต่าง ๆ  ที่กำลังจะมีมานี่นะ  ล้วนแต่เกิดจากฝีมือของวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น  มันก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ปัจจุบันเป็นอันมาก  เนื่องจากการที่ได้ทำให้ธรรมชาติผันผวนปรวนแปรเปลี่ยนรูปใหม่ 
    ความสวยงามแบบแปลกหน้าที่ทำให้โลกหน้าเกลียด
    เมื่อพูดด้วยภาษาอย่างที่ว่ามาแล้วนั้นธรรมชาติแปรรูปใหม่  ก็หมายความว่า  โลกแห่งธรรมชาตินี้ต่อไปมันอาจะไม่เป็นโลกแห่งธรรมชาติ  แต่มันอาจจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์  คือว่า ในเมื่อวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาทำอะไรต่อมิอะไรต่อธรรมชาติมากมายแล้ว  เอาอะไรต่าง ๆ  เข้าไปแปลกปนในธรรมชาติมากแล้ว  เราก็จะไม่มีโลกแห่งธรรมชาติ  เพราะโลกแห่งธรรมชาติจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ในความหมายเฉพาะที่กล่าวมาแล้ว  พอเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์  ต่อไปมันก็เป็นโลกเทียมอย่างที่ว่าเมื่อกี้  เช่นเดียวกับที่ไตวิทยาศาสตร์  เป็นไตเทียม  นั่นคือไม่ใช่โลกแท้
    ทีนี้มนุษย์ล่ะ  มนุษย์ที่อยู่ในโลกนี้ เดิมก็อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติ  และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติด้วย  คือตัวเราและชีวิตของเราเป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ  แล้วก็อยู่ในโลกที่เป็นธรรมชาติกลายเป็นวิทยาศาสตร์  พอถึงตอนนี้มันชักจะกลับกัน  ชักจะไม่สอดคล้องกันแล้ว  หมายความว่า  มนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ  กล่าวคือ  มนุษย์อย่างเรา ๆ นี้  ยังคงเป็นธรรมชาติอยู่อย่างเดิม  เพราะว่าร่างกาย  หรือส่วนประกอบอะไรต่าง ๆ  ของเรานี้  โดยสภาพทางชีววิทยามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป  วิทยาศาสตร์ยังไม่ได้มาดัดแปลงชีวิตในทางชีววิทยาของเราให้มันแปลกรูปไป  ให้มันสอดคล้องกับโลกวิทยาศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น
    อันที่จริงนั้น  ถ้าจะให้มนุษย์นี้อยู่ได้ด้วยดีในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นโลกวิทยาศาสตร์  ที่มีสารอะไรต่าง ๆ  แปลกใหม่นี้  เราจะต้องปรับร่างกายปรับชีวิตมนุษย์ให้มันสอดคล้องกันด้วย  แล้วเราก็จะได้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ที่อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์  แต่ตอนนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น  มันไม่สอดคล้อง  มันก็กลายเป็นว่า  มนุษย์ธรรมชาติจะไปอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์  ถ้ามีความไม่สอดคล้องอย่างนี้  มันจะต้องเกิดปัญหา  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งอย่างหนึ่ง
    ทีนี้  ถ้ามนุษย์ธรรมชาตินี้อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ไม่ได้  มันก็จะต้องมีมนุษย์วิทยาศาสตร์ขึ้นมาอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์  ซึ่งอาจจะเป็นขึ้นมาก็ได้  มนุษย์วิทยาศาสตร์นั้น  อาจจะได้แก่หุ่นยนต์  เพราะฉะนั้นต่อไปก็เลยกลายเป็นว่า  โลกวิทยาศาสตร์นี้  จะเป็นโลกของมนุษย์วิทยาศาสตร์ หรือมนุษย์เทียม  ถ้าเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่ามนุษย์ธรรมชาตินี้อาจจะหายไปก็ได้
    เพราะฉะนั้น  มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า  ความเจริญทางวิทยาศาสตร์นี้  ไม่สอดคล้องกัน  เหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์นี้ได้ปรับแปรรูปโลกภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมของมนุษย์เสียใหม่ให้เป็นโลกวิทยาศาสตร์  มีอะไรต่าง ๆ  ที่เป็นของแปลกปลอมเกิดขึ้นเยอะแยะ  แต่ไม่ได้ปรับชีวิตของมนุษย์ให้สอดคล้องอย่างนั้นด้วย  เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดความขัดกัน
    ทีนี้ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง  มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก  มนุษย์นี้ประกอบด้วยกายและใจ ในสองส่วนนี้เรื่องมันกลับกันเสีย คือ วิทยาศาสตร์ที่เจริญขึ้นมานี้แปรเปลี่ยน  ทำให้โลกภายนอกเป็นโลกวิทยาศาสตร์อย่างที่กล่าวเมื่อกี้  โลกวิทยาศาสตร์นั้น  เป็นโลกฝ่ายวัตถุ ซึ่งควรจะเข้าคู่กันกับฝ่ายการในชีวิตของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์ที่ว่าเป็นสองส่วน คือกายกับใจนี้น่ะ ส่วนที่เป็นคู่กับโลกวัตถุภายนอกก็คือ ส่วนร่างกาย แต่พอเรามาพิจารณาในแง่นี้กลับปรากฏว่า  ส่วนร่างกายนี้ยังไม่เปลี่ยน  แต่ส่วนที่เปลี่ยนกลับเป็นส่วนจิตใจ
    หมายความว่า วิทยาศาสตร์ได้มีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์  ทำให้มนุษย์มีจิตใจแบบจิตใจเทียม  คือเป็นจิตใจที่ชื่นชอบของวิทยาศาสตร์  ร่วมหอลงโรงของวิทยาศาสตร์  หันไปหาของเทียมเป็นจิตใจที่แปลกแยกจากธรรมชาติ
    เป็นอันว่าแทนที่จะเปลี่ยนกาย  กลับไปเปลี่ยนจิตใจเสียนี่  ส่วนที่สอดคล้องกันคือส่วนกายของมนุษย์นี่  มันจะต้องเข้ากับโลกวัตถุภายนอก  แต่ส่วนกายนั้นเราไม่ปรับเปลี่ยน  กลับไปเปลี่ยนส่วนจิตใจ  มันก็ขัดแย้งกัน  ทั้งภายในตัวและภายนอกตัว  ร่างกายหรือชีวิตทางชีววิทยาที่เป็นธรรมชาติ  ก็ต้องอยู่ในโลกวัตถุที่เป็นวิทยาศาสตร์พร้อมกันนั้น  จิตใจที่อยู่ในร่างกายนี้ก็ไปนิยมที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์    โดยที่กายของตัวนี้ไม่เป็นไปด้วย  ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน  นี่แหละเป็นปัญหาของโลกปัจจุบัน  ที่จะต้องมาคิดกันว่าเราจะแก้ไขอย่างไร
    ร่างกายของเราซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต  ที่ควรจะต้องอยู่อย่างสอดคล้องกับโลกภายนอกนั่นน่ะ  ขณะนี้มันยังเป็นธรรมชาติแท้ ๆ มันยังต้องการอากาศที่บริสุทธิ์  ยังต้องการน้ำที่บริสุทธิ์  แล้วก็ต้องการอาหารที่บริสุทธิ์ แต่เสร็จแล้วตอนนี้มันก็กำลังมาเป็นปัญหากับสิ่งเหล่านี้  เนื่องจากอากาศก็เป็นอากาศที่ไม่บริสุทธิ์  เพราะเป็นอากาศที่ถูกวิทยาศาสตร์  ทำให้ผันแปรไป  น้ำก็เป็นน้ำที่ไม่บริสุทธิ์  คือเป็นน้ำที่ถูกวิทยาศาสตร์ทำให้แปลกปน แล้วอาหารก็เป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์เพราะเป็นอาหารที่วิทยาศาสตร์ทำให้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว  อันนี้มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา  เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหาชีวิตด้วยร่างกายเสียใหม่  ให้มันสอดคล้องกับโลกภายนอกที่เป็นวัตถุวิทยาศาสตร์อย่างว่านั้น
    เอาละ  นี้เป็นการพูดในเชิงอุปมา  เพื่อให้เห็นภาพ ก็เป็นอันว่า  ต่อไปนี้มนุษย์อาจต้องเลือกเอาต้องมีการตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรระหว่างมนุษย์ธรรมชาติในโลกของธรรมชาติ  กับการพยายามทำให้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์  ที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์  เพื่อให้มันเกิดความสอดคล้องกัน  มนุษย์จะเลือกเอาอย่างไหน  หรือจะมีทางประนีประนอมอย่างไร
    ถ้าเป็นไปได้ในสภาพปัจจุบัน  ก็คือว่า  ตัวมนุษย์โดยเฉพาะด้านร่างกายยังเป็นธรรมชาติ  แต่เรากำลังจะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน  ถ้าเดินต่อไปในทิศทางนี้จะต้องไปสู่ความพินาศอย่างแน่นอน  ถ้าแก้ไขไม่ได้  หันเปลี่ยนเข็มหรือเบนทิศทางของความเจริญของมนุษยชาติไม่ได้  ความหายนะก็รออยู่ข้างหน้า
    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 05
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    เพื่อนเก่าที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี
    เมื่อพิจารณาวิเคราะห์ออกไปอีก  ก็จะเห็นว่า  ส่วนของวิทยาศาสตร์ที่มาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก  ที่เปลี่ยนโลกธรรมชาติให้เป็นโลกวิทยาศาสตร์หรือโลกเทียมอะไรต่าง ๆ นี่  ส่วนที่เป็นตัวกระทำสำคัญก็คือ  เทคโนโลยี  แต่มนุษย์ก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั่นแหละประดิษฐ์เทคโนโลยีขึ้นมา  แล้วมนุษย์ก็ใช้เทคโนโลยีนี้เป็นช่องทาง  หรือเป็นเครื่องมือไปจัดการกับธรรมชาติ  เพื่อจะหาความสุขสบายให้แก่ตนเอง
    มนุษย์ได้อาศัยเทคโนโลยี หาความสะดวกสบายให้แก่ตนเอง เสร็จแล้วก็ปรากฏว่า  ภัยอันตรายทั้งหลาย  ตลอดจนความพินาศที่อาจจะมีขึ้น  ก็อาศัยเทคโนโลยีนั่นแหละเป็นช่องทางย้อนกลับเข้ามาทำร้ายมนุษย์อีกทีหนึ่ง  กลายเป็นว่า  เทคโนโลยีนี้เป็นทั้งเครื่องมือหาความสุขของมนุษย์  และเป็นเครื่องมือที่เปิดช่องทางให้ภัยอันตรายย้อนเข้ามาทำร้ายมนุษย์ด้วย  อันนี้ก็เป็นปมปัญหาที่เราจะต้องหาทางแก้ไข
    ทีนี้สำหรับเรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้  วิทยาศาสตร์ก็ย่อมเถียงอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว  วิทยาศาสตร์ซึ่งในที่นี้คือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์  ก็บอกว่า  ฉันมีหน้าที่เพียงบอกความจริงให้ทราบเท่านั้น  ฉันค้นคว้าความรู้ในธรรมชาติออกมาแล้ว  ใครจะเอาไปใช้อย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา  ฉันไม่เกี่ยวด้วยนี่   วิทยาศาสตร์ บริสุทธิ์มักจะปัดความรับผิดชอบอย่างนี้
    ถึงตอนนี้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อย่างที่ว่าเมื่อกี้  ก็จะเตือนเราว่า  อย่าเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไปสับสนกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี  แล้วก็มักจะโทษเทคโนโลยีว่า  เทคโนโลยีนี้เอาความรู้ของตนไปหาประโยชน์
    แต่ที่จริง  เทคโนโลยีไม่ได้เอาความรู้วิทยาศาสตร์ไปหาประโยชน์อย่างเดียว  ว่าโดยพื้นฐานเดิมนั้นเทคโนโลยีต้องการเอาความรู้จากวิทยาศาสตร์บริสุทธ์ไปทำประโยชน์  แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่าเทคโนโลยีนี่มี ๒ อย่างแล้ว  คือ  เทคโนโลยีที่เอาไปทำประโยชน์อย่างหนึ่ง  และเทคโนโลยีที่เอาไปหาประโยชน์อย่างหนึ่ง  สิ่งที่เราต้องการคือ  เทคโนโลยีชนิดไปทำประโยชน์  แต่ตอนนี้มันเกิดปัญหาขึ้นมาเพราะกลายเป็นว่าเอาเทคโนโลยีไปหาประโยชน์  และคนนี่แหละที่เป็นตัวการ  แทนที่จะเอาเทคโนโลยีไปทำประโยชน์ก็เอาไปหาประโยชน์
    ถ้าตราบใดเรายังจำกัดตัวอยู่ในคำว่า  ทำประโยชน์  ก็จะเกิดโทษพิษภัยแก่มนุษย์ได้น้อย  และได้ยาก  แต่ถ้าเมื่อไรมันกลายเป็นเทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ขึ้นมาแล้ว  ปัญหาก็เกิดขึ้น  อย่างที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น  ก็จะต้องแยกให้ดีระหว่างเทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์ กับ เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ และ เน้นที่เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์
    เมื่อปัญหาอยู่ที่การใช้หรือเอาไปใช้  ตั้งแต่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ผิด ๆ  ตลอดจนเอาเทคโนโลยีไปใช้เพื่อหาประโยชน์หรือแม้แต่เอาไปใช้ทำลายกันก็ตาม  ทั้งหมดนั้น  ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น  เมื่อปัญหาเกินจากมนุษย์  ก็มาลงที่เรื่องจริยธรรมหรือศีลธรรมเท่านั้นเอง  วิธีแก้ปัญหาทั้งหมดก็มีคำตอบที่ตรงไปตรงมา  แน่นอนและง่ายที่สุด  คือ  เมื่อคนมีศีลธรรมหรือมีจริยธรรมแล้วปัญหาก็หมดไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะถูกใช้ในทางที่เป็นคณเพื่อเสริมสร้างประโยชน์สุขแก่ชีวิตและโลกทั้งหมด  แม้จะมีโทษที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เกิดขึ้นบ้าง  การป้องกันและการแก้ไขก็จะเป็นไปอย่างดีที่สุด
    มนุษย์ย่อมคาดหวังว่า  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา  จะอำนวยคุณประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์  แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นก็ไม่มีหลักประกันอะไรในตัวของมันที่จะช่วยให้ตัวมันอำนวยแต่คุณประโยชน์ตามที่มนุษย์คาดหวังอย่างนั้นได้  มันจึงเปิดตัวอ้าเต็มที่อย่างช่วยตัวเองไม่ได้  ทั้งต่อการที่จะก่อคุณหรือก่อโทษ  สุดแต่ใครจะเอามันไปใช้อย่างไร
    ผลปรากฏว่า  ถ้ามนุษย์ขาดศีลธรรมหรือจริยธรรมเสียอย่างเดียว  แทนที่จะก่อคุณอย่างที่คาดหวังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมักจะกลายเป็นช่องทางและเป็นเครื่องมือเสริมกำลังสำหรับทวีโทษภัยให้แก่มนุษย์และโลกทั้งหมด  โดยเป็นตัวเอื้อโอกาสแก่การผลิตและการบริโภคสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรออินทรีย์อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมักมากมุ่งแต่จะกอบโกยและแย่งชิงกัน ( โลภะ และราคะ )  เปิดทางสะดวกและเสริมพลังอำนาจในการที่จะทำลายล้างและก่อความพินาศแก่กัน ( โทสะ )  และเพิ่มพลังพร้อมทั้งปริมาณของสิ่งที่จะล่อเร้าชักจูงให้เกิดความหลงใหลมัวเมาประมาท ( โมหะ )  ทั้งทำลายคุณภาพชีวิตของมนุษย์เอง  และก่อความเสื่อมโทรมแก่ธรรมชาติแวดล้อม  มีแต่จริยธรรมอย่างเดียวที่ได้ช่วยบรรเทาผลร้าย  และจะแก้ไขปัญหาได้ถ้าจริยธรรมที่แท้แพร่กระจายไปในสังคมมนุษย์
    โดยนัยนี้  เมื่อขาดจริยธรรมเสียแล้ว  ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ผ่านทางเทคโนโลยีแม้แต่ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  ก็กลายเป็นการเพิ่มช่องทางแห่งภัยอันตรายที่จะเข้ามาถึงตัวมนุษย์ให้มากขึ้น  จนเกิดภาวะที่เหมือนกับว่า  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียิ่งเจริญ  ภัยอันตรายของมนุษย์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นและร้ายแรงยิ่งขึ้นหรืออาจถึงกับเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมาว่า  ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  คือการเพิ่มภยันตรายแก่โลกมนุษย์
    ขอยกตัวอย่างเช่น  ในกาลเวลาที่ผ่านมา  ถ้าคนผู้ใดไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกติดตัว  มีแต่ตัวคือร่างกายของตนอย่างเดียวจะอยู่ไหนไปไหน  โอกาสที่จะเกิดอันตรายจากการทำร้ายของผู้อื่นก็มีน้อย  แต่มาถึงปัจจุบันนี้เมื่อศัลยกรรมปรับเปลี่ยนอวัยวะ  หรือ  Plastic surgery เจริญก้าวหน้ามากขึ้น  มีการเปลี่ยนหัวใจเปลี่ยนซี่โครงและอวัยวะอื่น ๆ ได้ ปัญหาใหม่ ๆ  ก็เริ่มเกิดขึ้น  มีการซื้อขายอวัยวะกัน  และเกิดภัยอย่างใหม่  คือ การทำร้าย ลักพา  และฆ่าคนเพื่อปล้นอวัยวะ  ยังได้ยินข่าวปล้นลูกตาเด็กในบางประเทศ  ต่อไปภายหน้า  คาดหมายกันว่า  ศัลยกรรมปรับเปลี่ยนอวัยวะนี้จะเจริญไปอีกไกลมาก  พร้อมกันนั้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยอันตรายที่กล่าวข้างต้น  ก็ทวีขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้นเท่าใด  จริยธรรมก็ยิ่งทวีความจำเป็นมากขึ้น  และสวัสดิภาพของมนุษย์ก็ยิ่งต้องการจริยธรรมมากขึ้นเท่านั้น
    อย่างไรก็ตาม  เมื่อเรื่องโยงมาถึงจริยธรรม  แม้จะเป็นความจริงง่าย ๆ ที่ตรงไปตรงมาที่สุด  ก็มาจี้จุดที่มนุษย์ยุคนี้ดูเหมือนจะพยายามหันหน้าหนีมากที่สุด  พูดง่าย ๆ ว่า อยากไม่มีปัญหา แต่ไม่อยากแก้ปัญหา  เมื่อไม่อยากแก้ปัญหา  ไม่อยากพูดถึงเรื่องจริยธรรม  ก็ต้องยอมรับและเจอกับปัญหาต่อไป  จึงจะขอผ่านไปพูดเรื่องอื่น
    ทีนี้เราจะต้องให้ความยุติธรรมแก่เทคโนโลยีบ้าง  นอกจากที่กล่าวเบื้องต้นว่า  ชาวบ้านเขามองวิทยาศาสตร์ในความหมายว่า รวมถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีด้วยแล้ว  แม้แต่จะแยกตัวออกมาได้อย่างชัดเจนเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ล้วน ๆ ก็ตาม  เมื่อพูดถึงโทษภัยเกิดขึ้นมานี้  วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ต้องรับผิดชอบด้วย  เพราะว่ากันไปแล้วเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  และในประวัติศาสตร์ที่เป็นมาอย่างน้อยในช่วงเป็นร้อย ๆ  ปีนี่  วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ไม่บริสุทธิ์แท้  ที่ว่าไม่บริสุทธิ์แท้นั้นเป็นอย่างไร  ก็คือมันมีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง  ซึ่งกำหนดทิศทางแก่วิทยาศาสตร์  บางทีวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ก็ไม่รู้ตัวว่า  มันมีคุณค่าอะไรซ่อนอยู่ข้างหลัง  ที่มากำหนดทิศทางของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์  ซึ่งถ้าไม่รู้ตัวก็กลายเป็นไม่เป็นตัวของตัวเอง  ถูกเขากำหนดทิศทางให้
    อีกอย่างหนึ่ง  เวลาคนพูดถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์นั้น คนเขามองเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของวิทยาศาสตร์  ผ่านทางเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น  อย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้  เท่าที่ได้พูดถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์มาทั้งหมดนั้น  ที่จริงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีแทบทั้งนั้นเลย  เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า  การที่คนเขาเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ผ่านเทคโนโลยี  วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ยอมรับว่า  เออ ใช่นี่แหละ  วิทยาศาสตร์ได้ทำคุณแก่มนุษย์มากมายอย่างนี้  ทีนี้พอถึงตอนที่เขากล่าวโทษบ้างก็ต้องรับเหมือนกัน  เมื่อถึงตอนที่เป็นคุณ  ตัวยอมรับ  ตอนนี้มาถึงโทษแล้วจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้  นี้เป็นประการหนึ่ง
    อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง  ก็คือ  วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  ในความเจริญก้าวหน้ามาด้วยกัน  ไม่ใช่ว่าวิทยาศาสตร์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เทคโนโลยี  แล้ววิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ช่วยให้เทคโนโลยีมีโอกาสเจริญก้าวหน้าอย่างเดียว  ที่จริงแล้วเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามาได้มากมาย
    อะไรเล่า  ที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามาได้  สิ่งนั้นก็คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์  และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญก็คือ  การสังเกต และการทดลอง  ในการสังเกตทดลองเบื้องต้น  จะใช้ประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย  โดยเฉพาะก็ตาคือดู แล้วก็หูคือฟัง  แล้วก็กายคือสัมผัส  สามอย่างนี้สำคัญอย่างยิ่ง  ในการสังเกตทดลองทางวิทยาศาสตร์
    แต่อินทรีย์ของมนุษย์  หรือประสาทอย่างที่ว่าเมื่อกี้  ( ทางพระใช้คำว่าอินทรีย์ )  มันมีขีดขั้น  มีวิสัยจำกัด  เราใช้ตาดูดาวไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่  เห็นจักรวาลไม่กว้าง  ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น  มีกล้องโทรทรรศน์  กล้องส่องดูดาว  นั่นแหละจึงทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปได้  ของเล็ก ๆ มองไม่เห็น เราก็ทำเทคโนโลยี คือ ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นมา วิทยาศาสตร์ก็ก้าวหน้าต่อไป เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จึงอาศัยเทคโนโลยีมาก  ในการที่จะเจริญก้าวหน้า
    เราต้องมองในทางกลับกันด้วยว่ามันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทดลองอะไรต่าง ๆ นี่  เจริญมาก็ในฐานะที่เป็นส่วนของเทคโนโลยี  เพราะฉะนั้นจึงบอกเมื่อกี้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาศัยซึ่งกันและกันในการที่ได้เจริญก้าวหน้ามาด้วยกัน  จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้  นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังมองไปที่คอมพิวเตอร์  ว่าจะเป็นอุปกรณ์  เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญ  ที่จะมาช่วยสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์  ทำให้วิทยาศาสตร์สามารถขยายขีดความสามารถ  ในการที่จะเข้าถึงความจริงของโลกแห่งธรรมชาติมากขึ้น เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า  คอมพิวเตอร์นี่จะมาช่วยรวบรวมประมวลข้อมูล  ในขอบเขตที่กว้างขวางและปริมาณที่มากมาย  จนกระทั่งสมองมนุษย์ไม่สามารถจะบันทึกไว้ไหว  อันนี้คอมพิวเตอร์ทำได้  และการที่มันมีความสามารถในการที่จะประมวลผลสรุปอะไรต่าง ๆ นี่แหละ  ต่อไปข้างหน้า  การตั้งสมมุติฐาน และการวางทฤษฎีต่าง ๆ คงจะได้อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นอันมาก
    ในที่สุดก็เป็นอันสรุปได้ว่า  การที่วิทยาศาสตร์ปรากฏคุณค่าแก่โลกมนุษย์  ทำให้คนทั่วไปยอมรับเกียรติของวิทยาศาสตร์ดีเด่นขึ้นมาได้นั้น  ก็โดยอาศัยมีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ปรากฏขึ้นเป็นอันมาก  เป็นแต่ว่าเราจะต้องแยกให้ถูกแล้วก็ใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง  อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า  ควรสนับสนุนเทคโนโลยีที่ทำประโยชน์ไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์
    เอาละ  นี่เป็นการทำความเข้าใจกันในบางส่วน  ที่พึงรู้เพื่อจะได้วางท่าทีให้ถูกต้องในการที่จะพูดกันต่อไป  
    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 06
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    ก้าวถึงสุดแดนแต่ก็รู้ว่าไม่จบ
    ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ  เวลานี้ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ได้มาไกลมากแล้ว  จนกำลังนะสุดแดนแห่งโลกวัตถุ  ขอบเขตของวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ที่โลกวัตถุ  แต่ตอนนี้มันจะสุดเขตของแดนแห่งโลกวัตถุแล้ว  และกำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ  ตอนนี้ละจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก  ในแง่ของสิ่งที่เราจะศึกษา
    สิ่งที่วิทยาศาสตร์จะศึกษาพิสูจน์ต่อไปนี้  กำลังจะก้าวเข้ามาในแดนของจิตใจ  นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย  กำลังหันมาสนใจปัญหาเรื่องจิตใจว่า  จิตใจคืออะไร  จิตใจทำงานอย่างไร  consciousness  คืออะไร  มันมาจากวัตถุจริงหรือไม่  หรือมันมีความมีอยู่ของมันต่างหาก  อย่างคอมพิวเตอร์เวลานี้มี AI แล้ว AI ก็คือ  artificial  intelligence  ที่เขาเรียกว่าปัญญาประดิษฐ์
    ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นี้  ต่อไปจะทำให้คอมพิวเตอร์มีจิตใจหรือไม่  เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยถกเถียงกันอยู่  ถึงกับเขียนหนังสือมาเป็นเล่มโต ๆ  เลย  บางเรื่องเป็น national  bestseller  ของอเมริกาก็มี  ว่าด้วยเรื่องคอมพิวเตอร์จะมีจิตใจได้หรือไม่  อันนี้แสดงว่าวิทยาศาสตร์กำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ  เมื่อจ่อแดนของจิตใจ  ก็ก้าวเข้ามาสู่แดนของศาสนา  เพราะฉะนั้น  ก็มีเรื่องที่จะต้องมาพิจารณากัน  นี้พูดในแง่ของสิ่งที่ถูกพิสูจน์หรือศึกษา
    อีกด้านหนึ่งก็คือ  ในแง่ของการพิสูจน์หรือวิธีพิสูจน์  เมื่อมาถึงขั้นนี้วิธีการพิสูจน์นั้นก็กำลังจะพ้นเลยขอบเขตของอินทรีย์ ๕ ออกไป  แต่ก่อนนี้  เราใช้อินทรีย์ ๕ เปล่าเปลือย คือ ตา หู และร่างกายล้วน ๆ  แล้วต่อมาเราก็อาศัยอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์  เมื่ออินทรีย์เปล่า ๆ ไม่สามารถจะรับรู้  หรือรับทราบได้  เราก็เอาพวกเทคโนโลยีอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยอินทรีย์นั้นมาใช้
    แต่มาถึงตอนนี้แม้แต่อุปกรณ์เหล่านั้นก็อาจจะพิสูจน์ไม่ไหว คือ ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้  เมื่อถึงขั้นนี้  การพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์  ก็กลายมาเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์  คือใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นสื่อ  แล้วก็มาอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์
    เมื่อการสังเกต พิสูจน์ หรือตีความอะไรต่าง ๆ มาใกล้แดนของจิตใจมากขึ้น  ถ้าวิทยาศาสตร์ยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการ  มันก็จะอยู่แค่ในระดับของการคาดหมายและความเชื่อ  มีเรื่องความเชื่อเข้าไปปะปนมากขึ้นด้วย  และอันนี้ก็คือเรื่องที่ว่า  วิทยาศาสตร์กำลังเข้าจ่อแดนของจิตใจแล้ว  จะเข้าถึงแดนนั้นได้หรือไม่ และอย่างไร  ซึ่งเป็นจุดที่เราน่าจะพิจารณา
    เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว  ก็หันกลับไปดูตั้งแต่กำเนิด  และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา 
    พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 07
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    คุณค่าและความคิดที่ผลักดัน
    เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์
    ขอย้อนกลับไปพูดถึงกำเนิดของวิทยาศาสตร์  พร้อมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็นมาได้อย่างไร
    อะไรเป็นจุดต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์  ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็ดี  สังคมศาสตร์ก็ดี  ว่ากันตามจริงแล้ว  มันมีฐานอยู่ที่คุณค่าทางจิตใจทั้งนั้น  ยกตัวอย่างเช่น  เศรษฐศาสตร์  เศรษฐศาสตร์นี้เริ่มด้วยอะไร  ฐานของมันคืออะไร  ก็คือความต้องการ ตัวกำหนดของเศรษฐศาสตร์ก็คือความต้องการ  ความต้องการนี้เป็นอะไร  เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ หรืออินทรีย์ ๕ หรือเปล่า  ก็ไม่ใช่  มันเป็นเรื่องของจิตใจ  เป็นเรื่องของคุณค่า  แต่ศาสตร์ที่พยายามเป็นวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่า  ฉันไม่เกี่ยวกับคุณค่า  เป็น value-free  แต่มันไม่ value-free ได้จริงสักที
    ทีนี้ในแง่ของตัววิทยาศาสตร์เองละ  จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไหน  จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์คือความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ  คำตอบนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับ  ที่แท้นั้นมันเป็นคำตอบของนักวิทยาศาสตร์เองด้วยซ้ำ
    ความใฝ่รู้ต่อความจริงของธรรมชาติ  ซึ่งเป็นความคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ในใจ  พร้อมด้วยความเชื่อว่าในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลที่สม่ำเสมอแน่นอน  สองประการนี้แหละเป็นฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มประกอบกิจกรรมในการค้นคว้าศึกษา  หาความรู้ที่อยู่เบื้องหลังของธรรมชาติ
    เพราะฉะนั้น  จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ใจของมนุษย์  อยู่ที่ความใฝ่รู้และศรัทธาหรือความเชื่อ  ถ้าปราศจากคุณสมบัติของจิตใจอย่างนี้แล้ว  วิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น  และไม่เจริญงอกงาม
    นักวิทยาศาสตร์ใด  ยิ่งมีความใฝ่รู้อย่างนี้บริสุทธิ์แรงกล้าและมีความเชื่ออย่างนี้อย่างแรงกล้า  นักวิทยาศาสตร์นั้นก็จะยิ่งสร้างความเจริญให้แก่วิทยาศาสตร์ได้มาก  แต่ไม่ใช่เท่านี้  ยังมีอะไรอย่างไรต่อไป  เราจะพูดเป็นขั้น ๆ ตอนนี้เริ่มด้วยความใฝ่รู้ก่อน  ว่าจุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์  คือความใฝ่รู้ใจความจริงของธรรมชาติ
    ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคต้น ๆ ที่ยังกระเส้นกระสายอยู่นั้น  มีจุดเริ่มอยู่ที่ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ  ซึ่งเป็นความใฝ่รู้ที่เรียกได้ว่าบริสุทธิ์พอสมควร
    แม้ว่าต่อมาความใฝ่รู้อันนี้จะถูกกดดันด้วยแรงบีบคั้นของศาสนจักรในสมัยกลางหรือยุคมืด  ถึงกับว่าทางศาสนจักร คือ ทางศาสนาคริสต์นั้นได้ตั้งศาลไต่สวนศรัทธาที่เรียกว่า  Inquisition  ขึ้นมา  เพื่อเอาคนที่แสดงความสงสัยในคัมภีร์ศาสนา  หรือพูดจาแสดงความไม่เชื่อในคำสอนของศาสนา  ไปขึ้นศาลพิจารณาโทษ  อย่างกาลิเลโอ  ไปพูดเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ขึ้นมา  ก็ถูกจับขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา  หรือ Inquisition  นี้  จวนจะถูกบังคับลงโทษให้ดื่มยาพิษ  เสร็จแล้วกาลิเลโอสารภาพผิด  ก็เลยพ้นโทษไป  ก็เลยไม่ตาย  แต่อีกมากมายหลายคนถูกเผาทั้งเป็น
    ในยุคนั้น  ก็เป็นอันว่าได้มีการปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นการบีบคั้นปิดกั้นการแสวงหาความจริงในธรรมชาติกันเป็นอย่างมาก  แต่ยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น  เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า  จากแรงกดดันในยุคมืดนั้น  ก็ทำให้ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นยิ่งแรงกล้ามากขึ้น  แล้วก็ฝังติดเป็นนิสัยของชาวตะวันตกสืบมาจนปัจจุบัน  หรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่ง  อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาสังเกต
    อย่างไรก็ตาม  แรงจูงใจอย่างที่ว่ามานี้  ก็ยังถือว่าเป็นความใฝ่รู้ที่บริสุทธิ์  แต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น  วิทยาศาสตร์ที่เป็นมาและเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้  มีประวัติแห่งการที่ได้รับอิทธิพลครอบงำจากระบบคุณค่าใหญ่ ๒ อย่าง  ซึ่งเป็นแนวคิด เป็นทัศนคติ เป็นค่านิยม เป็นแรงจูงใจที่พ่วงแฝงอยู่เบื้องหลังความเจริญของวิทยาศาสตร์ตลอดมา  และเป็นตัวผลักดันกิจกรรมในการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์  ตลอดจนกำหนดวิถีและทิศทางของความเจริญก้าวหน้าในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เรื่อยมา
    คุณค่าใหญ่ ๒ ตัวนี้คืออะไร ?  ตอบว่า คือ
    .   ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ  หรือความเข้าใจว่า  ความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติความคิดนี้เกิดจากการที่ชาวตะวันตกมีความเข้าใจว่า  มนุษย์เรานี้  เป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมา  ในฉายาของพระองค์  คือในรูปแบบของพระองค์  เสมือนแม้นพระองค์  ให้มาครองโลก ครองธรรมชาติ  พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างธรรมชาติ  สร้างสรรพสิ่ง  สร้างสรรพสัตว์ทั้งหลาย  คือเดรัจฉานต่าง ๆ ขึ้นมานี้  เพื่อให้มารับใช้สนองความปรารถนาของมนุษย์  เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นใหญ่  เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  เป็นเจ้า  เป็นผู้ครอบครอง
    มนุษย์เรียนรู้ความลึกลับของธรรมชาติ  ก็เพื่อจะได้มาจัดการกับธรรมชาติ  มาปั้นแต่งธรรมชาติให้เป็นไปตามปรารถนาของตนเองตามใจชอบ  เรียกว่าให้ธรรมชาติรับใช้มนุษย์
    ตำราฝรั่งถึงกับบอกว่า  แนวความคิดอันนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตก  เขาบอกว่า  แต่ก่อนนี้ในยุคโบราณนั้น  ตะวันออก เช่น จีน และอินเดีย  มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากกว่าประเทศตะวันตก  แต่ด้วยอาศัยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติอันนี้  จังได้ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกในทางวิทยาศาสตร์มาได้จนปัจจุบัน
    แต่ในปัจจุบันนี้  แนวความคิดนี้กำลังเป็นปัญหา  เป็นปัญหาอย่างไรก็คงจะได้ว่ากันต่อไป
    เป็นอันว่า  ระบบคุณค่าใหญ่ที่ ๑ คือแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ  ซึ่งปรากฏออกมาเป็นแรงจูงใจในรูปของความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ  ต่อจากนี้ก็เป็นประการที่สอง
    ๒.   ความเชื่อว่า  ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม
    อันนี้ก็เป็นความคิดที่สำคัญเหมือนกัน  แนวคิดนี้พ่วงมากับการพัฒนาอุตสาหกรรม  แต่เดิมนั้น  อุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกเกิดขึ้นมา  จากแรงจูงใจและความคิดในการที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน  อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกเอง คือ การที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน  หรือ scarcity เพราะว่าในโลกตะวันตกนั้น  ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยธรรมชาติมาก เช่น ในฤดูหนาว พืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่มี  เกิดไม่ได้  มนุษย์ต้องอยู่ด้วยความยากลำบากเหลือเกิน  นอกจากอากาศหนาวเหน็บแก่ตัวเองแล้ว  ยังหาอาหารได้ยากอีกด้วย  ทำให้มนุษย์ต้องเพียรพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลนนั้น  และก็ได้ทำให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้นมา
    ทีนี้  ตรงข้ามกับความขาดแคลนคืออะไร  มนุษย์ก็คิดว่า  เมื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนสำเร็จแล้ว  ถ้าเกิดความพรั่งพร้อมมนุษย์ก็จะอยู่เป็นสุขอย่างแท้จริง  เพราะฉะนั้น  ความคิดที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางอุตสาหกรรมของฝรั่ง  จึงได้แก่  ความคิดนี้  คือ ความคิดที่ว่า  จะแก้ปัญหาความขาดแคลน  และให้มีวัตถุพรั่งพร้อมเพราะมองไปว่า  ความสุขของมนุษย์นั้น  จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมอย่างที่กล่าวเมื่อกี้
    ต่อมา  แนวความคิดนี้ก็พัฒนามาเป็นวัตถุนิยม  แล้วก็แปรมาเป็นบริโภคนิยมได้ด้วย  แต่ที่สำคัญก็คือความคิดความเข้าใจแบบอุตสาหกรรมนี้  ได้เข้ามาประสานกันกับแนวคิดอย่างที่หนึ่ง
    เมื่อกี้นี้ตามแนวคิดที่ ๑ ถือว่า  มนุษย์จะมีความสำเร็จในโลกอย่างผู้ที่ครอบครองโลกได้  ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ  ทีนี้ก็มาบวกแนวคิดที่สองเข้าไป  บอกว่ามนุษย์จะมีความสุขได้จริงต่อเมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์
    เมื่อรวมกันเข้าไปก็ได้หลักความเชื่อที่ว่า  เราจะต้องพิชิตธรรมชาติเพื่อจะเอาธรรมชาติมาปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุ ที่จะมาบำรุงบำเรอมนุษย์ให้พรั่งพร้อมมีความสมบูรณ์  แล้วเราจะได้มีความสุข  แนวคิดสองอย่างนี้สอดคล้องกันและเสริมกำลังกัน  ก็เลยไปกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย  เข้ากันได้สนิท

    • Update : 2/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch