หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ

    ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ
    คัดลอกจากหนังสือระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ
    โดย
    พระเทพวิมลโมลี (บุญมา คุณสมฺปนฺโน ป. ๙)
    วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร
    อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ
    นางมาลินี วัชรานันท์
    ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง กรุงเทพมหานคร
    ๑๔ มิถุนายน ๒๑
    พิมพ์ครั้งที่ ๕๑/๑,๐๐๐ เล่ม
    หน้า ๔๙ –๗๕

    โพสท์ในลานธรรมเสวนากระทู้ที่ 004224 โดยคุณ : แสวงธรรม [ 4 ก.พ. 2545 ]

    ระเบียบปฏิบัติการรักษามารยาทในสังคม
    ระเบียบปฏิบัติการนั่งพับเพียบ

    อิริยาบถการนั่งพับเพียบ

                    การนั่งพับเพียบเป็นกิริยาอาการนั่งที่นิยมกันในหมู่ชาวพุทธว่า เป็นกิริยาอาการที่สุภาพ เรียบร้อย สวยงาม น่าดู น่าชม เหมาะสมแก่มารยาทของชาวไทย ที่ละเมียดละไมน่ารัก ซึ่งชาวพุทธเรานิยมปฏิบัติกันสืบมาแต่โบราณกาล จนกระทั่งทุกวันนี้

                    การนั่งพับเพียบนี้ ชาวพุทธนิยมปฏิบัติจนมีความเคยชิน จึงทำได้เรียบร้อย น่าดู ซึ่งเป็นอิริยาบถที่ชาวต่างชาติต่างศาสนากระทำตามได้ยาก แม้จะทำตามได้บ้าง ก็ไม่เรียบร้อย ไม่น่าดู มักจะขวางนัยน์ตาของผู้ได้ประสบพบเห็น

                    การนั่งพับเพียบนี้ ชาวไทยเรานิยมใช้ปฏิบัติเป็นประจำทั้งทางโลก และทางธรรม ในขณะที่เข้าร่วมประชุม ณ สถานที่ซึ่งต้องนั่งอยู่กับพื้น

    วิธีการนั่งพับเพียบ

                    วิธีการนั่งพับเพียบนั้น นิยมนั่งพับขาทั้งสองราบลงกับพื้น หันปลายเท้าไปด้านหลัง จะพับขาทั้งสองไปทางซ้ายหรือพับไปทางขวา ก็ได้ ตามถนัด

                    ถ้าผู้นั่งพับขาราบไปทางขวา ก็นิยมหงายฝ่าเท้าซ้ายขึ้น วางขาขวาทับลงบนฝ่าเท้าซ้าย ปลายเท้าขวาหันไปทางด้านหลัง ระวังอย่าให้นิ้วเท้าซ้ายเกินหัวเข่าขวาออกมาข้างหน้า

                    ถ้าผู้นั่งพับขาราบไปทางซ้าย ก็นิยมหงายฝ่าเท้าขวาขึ้น วางขาซ้ายทับลงบนฝ่าเท้าขวา ปลายเท้าซ้ายหันไปทางด้านหลัง ระวังอย่าให้นิ้วเท้าขวาเกินหัวเข่าซ้ายออกมาข้างหน้า

                    การนั่งพับเพียบนี้ นิยมนั่งตั้งตัวตรง อย่าให้เอียงซ้าย หรือเอียงขวา อย่าให้เอนไปข้างหน้า หรือเอนไปข้างหลัง มือทั้งสองประสานกันวางไว้ที่หน้าตัก หรือที่ขาพับ

                    ถ้านั่งพับเพียบพับขาราบไปทางขวา ก็นิยมวางมือทั้งสองประสานกันวางไว้บนขาพับข้างซ้าย

                    ถ้านั่งพับเพียบพับขาราบไปทางซ้าย ก็นิยมวางมือทั้งสองประสานกันวางไว้บนขาพับข้างขวา

                    กิริยาอาการที่วางมือประสานกันนั้น นิยมวางมือซ้ายหงายขึ้น วางมือขวาทับลงบนมือซ้ายก็ได้ หรือวางมือซ้ายคว่ำลง วางมือขวาทับลงบนหลังมือซ้ายก็ได้

                    กิริยาอาการที่วางมือประสานกันนั้น นิยมวางพักอย่างสบาย ไม่จับกันจนแน่น ไม่เกร็ง ไม่ใช้ลำแขนเป็นเครื่องค้ำยันลำตัว

                    การนั่งพับเพียบนี้ สำหรับสุภาพบุรุษ นิยมนั่งแยกหัวเข่าทั้งสองออกห่างกันพอสมควร ประมาณ ๑ คืบ ขณะนั่งอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ สำหรับสุภาพสตรี นิยมนั่งให้หัวเข่าทั้งสองแนบชิดกัน ไม่นิยมนั่งแยกหัวเข่าทั้งสองออกห่างจากกัน

                    การนั่งพับเพียบนี้ นิยมไม่หันปลายเท้าไปทางปูชนียวัตถุหรือปูชนียบุคคล เพราะการทำเช่นนั้นถือกันว่า เป็นกิริยาอาการแสดงความไม่เคารพ

    วิธีการนั่งพับเพียบได้นาน

                    การนั่งพับเพียบได้นานนั้น นิยมนั่งแยกหัวเข่าให้ห่างออกจากกัน ขนาดฝ่าเท้าข้างหนึ่งจรดกับหัวเข่าอีกข้างหนึ่ง อย่าให้ขาทับฝ่าเท้า การนั่งพับเพียบแบบนี้ นิยมเฉพาะผู้ใหญ่ หรือ นิยมเฉพาะในพิธีที่จะต้องนั่งเป็นเวลานาน ๆ เช่น นั่งฟังพระเทศน์ นั่งฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ เป็นต้น

                    การนั่งพับเพียบแบบนี้ ไม่นิยมนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ เพราะแสดงกิริยาอาการองอาจผึ่งผายมากเกินไป และไม่นิยมนั่งสำหรับสุภาพสตรี เพราะเป็นกิริยาอาการไม่สุภาพ ไม่น่าดู ไม่เหมาะสมกับสตรีเพศ

    วิธีการเปลี่ยนนั่งพับเพียบ

                    เมื่อนั่งพับเพียบอยู่ข้างเดียวเป็นเวลานาน ๆ มักเกิดมีอาการปวดเมื่อย ถ้าต้องการจะผลัดเปลี่ยนการนั่งพับเพียบไปอีกข้างหนึ่ง นิยมปฏิบัติ ดังนี้ :-

                    ใช้มือทั้งสองยันที่หัวเข่าทั้งสอง หรือ ยันที่พื้นข้างตัว หรือยันที่พื้นข้างหน้า(วิธีนี้เหมาะสำหรับคนเจ้าเนื้อป้องกันไม่ให้หัวขมำได้เป็นอย่างดี) แล้วกระหย่งตัวขึ้น พร้อมกับพลิกเปลี่ยนเท้าพับไปอีกข้างหนึ่ง โดยพลิกเท้าผลัดเปลี่ยนกันอยู่ด้านหลัง ไม่นิยมยกเท้ามาผลัดเปลี่ยนกันด้านหน้า เพราะเป็นกิริยาอาการที่ไม่สุภาพ

    ระเบียบปฏิบัติการประณมมือ

    การประณมมือ

                    การประณมมือ มาจากคำว่า “อัญชลีกรรม” คือการกระพุ่มมือทั้งสองประณม โดยให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกัน นิยมใช้แสดงความเคารพพระรัตนตรัยในเวลาฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ ฟังพระสวดพระอภิธรรม และฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น

    วิธีการประณมมือ

                    การประณมมือ นิยมปฏิบัติอย่างนี้ คือ ยกมือทั้งสองขึ้นประกบกัน ตั้งเป็นกระพุ่มมือประณมไว้ระหว่างอก ให้ปลายมือตั้งขึ้นข้างบน นิ้วมือทั้งสองข้างทุกนิ้วแนบชิดสนิทกัน อย่าให้เหลื่อมล้ำกัน อย่าให้กางห่างออกจากกัน ข้อศอกทั้งสองแนบชิดกับชายโครง

                    การประณมมือนี้ ถ้านิ้วมือกางห่างออกจากกัน ถือกันว่า เป็นกิริยาอาการที่แสดงออกให้ทราบถึงนิสัยของผู้นั้นว่า เป็นคนมือห่าง ตีนห่าง เป็นคนสุรุ่ยสุร่าย เป็นลักษณะของคนหยาบ คนมักง่าย คนอาภัพ คนยากจน

                    การประณมมือนี้ เป็นกิริยาอาการที่แสดงความเคารพพระรัตนตรัย จึงนิยมทำด้วยความเรียบร้อย ทำด้วยความตั้งใจเคารพอ่อนน้อม ไม่นิยมปล่อยให้นิ้วมืองอหงิกเป็นแง่งขิงแง่งข่า นิยมตั้งกระพุ่มมือไว้ระหว่างอก ไม่ยกให้สูงขึ้นไปจรดคาง หรือจรดปาก ไม่ปล่อยปลายมือให้ตกต่ำลงมาวางอยู่ที่พุง หรือ วางไว้ที่หน้าตัก หรือ วางไว้ที่หัวเข่า เป็นต้น

    ระเบียบปฏิบัติการไหว้

    การไหว้

                    การไหว้ มาจากคำว่า “นมัสการ” คือ การยกกระพุ่มมือที่ประณมขึ้นจรดหน้าผาก พร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย เป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพอย่างอ่อนน้อม นิยมใช้ทั้งทางคดีโลก และทางคดีธรรม

    วิธีการไหว้พระรัตนตรัย

                    การไหว้พระรัตนตรัย คือ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และปูชนียวัตถุปูชนียสถานที่นับเนื่องกับพระรัตนตรัย เช่นต้นโพธิ์ พระเจดีย์ เป็นต้น ในขณะที่ผู้นั้นนั่งเก้าอี้ หรือยืนอยู่ นิยมแสดงความเคารพด้วยการยกมือไหว้ มีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คือ :-

                    ยกมือที่ประณมขึ้น พร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย ให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว ให้ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก ทำเพียงครั้งเดียว แล้วลดมือลงตามเดิม เป็นเสร็จพิธีไหว้

    วิธีการไหว้บุคคลและไหว้ศพ

                    การแสดงความเคารพด้วยการไหว้ซึ่งกันและกันของคนไทยเราชาวพุทธนั้น นิยมปฏิบัติกันสืบมาว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามประจำชาติตลอดมาช้านาน

                    การไหว้ซึ่งกันและกันนั้น มีนิยมปฏิบัติเพื่อความเหมาะสมแก่ชั้นและวัยของบุคคลนั้น ๆ แบ่งออกเป็น ๓ แบบ คือ

    ๑. การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสมากกว่า และไหว้ศพ

    ๒. การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสเสมอกัน

    ๓. การรับไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสน้อยกว่า

    การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสมากกว่าและไหว้ศพ

                    การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสมากกว่า และไหว้ศพ นั้น สำหรับผู้น้อยปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสมากกว่าผู้ไหว้ โดยชาติวุฒิ คือ มีชาติกำเนิดสูงกว่า โดยคุณวุฒิ คือ มีคุณธรรมความดีได้รับยกย่องให้เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาสูงกว่า โดยวัยวุฒิ คือ ท่านผู้มีอายุแก่กว่าตน

                    การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสมากกว่าตนนี้ นิยมยกกกระพุ่มมือขึ้นไหว้ให้ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่บนดั้งจมูก พร้อมกับก้มศีรษะ และน้อมตัวลงพองาม สายตามองดูท่าน ด้วยความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน แม้การไหว้ศพก็นิยมปฏิบัติเช่นเดียวกันอย่างนี้

    การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสเสมอกัน

                    การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสเสมอกันนั้น สำหรับผู้มีวัยรุ่นราวคราวเดียวกัน แสดงความเคารพด้วยการไหว้และการรับไหว้ต่อกัน

                    การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสเสมอกันนี้ นิยมยกกระพุ่มมือขึ้นไหว้ ให้ปลายนิ้วชี้อยู่ที่ดั้งจมูก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ที่คาง ก้มศีรษะลงเล็กน้อย สายตามองกันและกัน ด้วยความปรารถนาดีต่อกัน

    การรับไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสน้อยกว่า

                    การรับไหว้บุคคลผุ้มีอาวุโสน้อยกว่านั้น สำหรับผู้ใหญ่รับไหว้ผู้น้อย นิยมยกกระพุ่มมือขึ้นประณมอยู่ระหว่างอกหรือที่หน้า ให้ปลายนิ้วชี้อยู่ที่ดั้งจมูก ปลายนิ้วหัวแม่มืออยู่ที่คาง สายตามองดูผู้ไหว้ด้วยความเมตตาปรานี

    ระเบียบปฏิบัติการนั่งคุกเข่า

    การนั่งคุกเข่า

                    การนั่งคุกเข่า คือการนั่งกระหย่งตัวขึ้น เป็นกิริยาอาการนั่งเตรียมตัวเพื่อจะกราบพระรัตนตรัย แบบเบญจางคประดิษฐ์

    วิธีการนั่งคุกเข่าสำหรับชาย

                    การนั่งคุกเข่าเตรียมตัวกราบพระรัตนตรัย สำหรับชายนั้น นิยมนั่งคุกเข่าตั้งปลายเท้าทั้งสองยันพื้น ให้นิ้วเท้าพับลงราบกับพื้น เท้าทั้งคู่แนบชิดสนิทกัน นั่งทับลงบนส้นเท้าทั้งคู่ แยกหัวเข่าทั้งสองออกห่างกันประมาณ ๑ คืบ อวัยวะที่ยันพื้นจะได้ฉากเป็นรูปสามเส้า เพื่อป้องกันมิให้ล้มได้ง่าย มือทั้งสองวางทอดราบไว้ที่เหนือหัวเข่าทั้งสอง ให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดสนิทกัน วางมืออย่างสบาย ไม่มีอาการเกร็ง

    วิธีการนั่งคุกเข่าสำหรับหญิง

                    การนั่งคุกเข่าเตรียมตัวกราบพระรัตนตรัยสำหรับหญิงนั้น นิยมนั่งคุกเข่าราบ เหยียดหลังเท้าทั้งคู่ให้ราบกับพื้นไปทางด้านหลัง ให้ฝ่าเท้าทั้งสองแนบชิดสนิทกัน หรือให้ปลายเท้าทั้งสองทับกันเล็กน้อยก็ได้ นั่งทับลงบนฝ่าเท้าทั้งสอง ให้หัวเข่าทั้งสองแนบชิดกัน มือทั้งสองวางทอดราบไว้ที่หัวเข่าทั้งสอง ให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดสนิทกัน วางมืออย่างสบาย ไม่มีอาการเกร็ง

    ระเบียบปฏิบัติการกราบ

    การกราบ

                    การกราบ มาจากคำว่า “อภิวาท” คือ การหมอบลงที่พื้นพร้อมกับกระพุ่มมือ หรือ พร้อมกับการประณมมือ เป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างสูงสุด ในบรรดากิริยาอาการแสดงความเคารพทั้งหลาย ทั้งในทางคดีโลกและในทางคดีธรรม

    วิธีกราบพระรัตนตรัย

                    การกราบพระรัตนตรัย คือ กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และปูชนียวัตถุปูชนียสถานที่นับเนื่องกับพระรัตนตรัยทุกอย่าง นิยมกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ คือ การกราบด้วยการตั้งไว้เฉพาะซึ่งองค์ ๕ (คือหัวเข่า ๒ ฝ่ามือ ๒ และหน้าผาก ๑) ให้จรดลงแนบกับพื้น ซึ่งมีจังหวะปฏิบัติ ๓ จังหวะ คือ :-

    จังหวะที่ ๑  ยกมือขึ้นประณมอยู่ระหว่างอก

    จังหวะที่ ๒  ยกมือประณมขึ้นจรดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก

    จังหวะที่ ๓  หมอบลงให้หน้าผากจรดพื้น ฝ่ามือทั้งสองแบราบลงแนบกับพื้น แล้วลุกขึ้นนั่ง ตั้งตัวตรง ประณมมือยกขึ้นผ่านจังหวะที่ ๑-๒-๓ ไปตามลำดับ ปฏิบัติเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง ทุกคราวที่กราบพระรัตนตรัย

    วิธีการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สำหรับชาย

                    การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สำหรับชายนั้น นิยมนั่งคุกเข่า (แบบชาย) ประณมมือยกขึ้นผ่านจังหวะที่ ๑-๒-๓ ไปตามลำดับดังกล่าวแล้ว แต่ขณะที่หมอบลงกับพื้นนั้น นิยมให้ข้อศอกทั้งสองต่อกับหัวเข่าทั้งสอง นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดสนิทกัน วางฝ่ามือทั้งสองลงราบกับพื้น ให้มือทั้งสองแยกออกห่างกันประมาณ ๔ นิ้ว ก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดกับพื้นในระหว่างมือทั้งสอง แล้วลุกขึ้นนั่ง ตั้งตัวตรง ยกมือประณมขึ้นผ่านจังหวะที่ ๑-๒-๓ ไปตามลำดับ อย่าหยุดชะงักเป็นระยะ ๆ จะดูไม่งาม ปฏิบัติเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง เมื่อครบ ๓ ครั้งแล้ว นิยมยกมือประณมขึ้นจบอยู่ในระหว่างคิ้วอีกครั้งหนึ่ง จึงเสร็จพิธีการกราบ

    วิธีการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สำหรับหญิง

                    การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สำหรับหญิงนั้น ก็นิยมปฏิบัติเช่นเดียวกับชาย ต่างกันแต่ขณะที่หมอบลงกับพื้นเท่านั้น คือ นิยมให้ข้อศอกทั้งสองอยู่ข้างตัวแนบชิดกับขาพับทั้งสอง ไม่นิยมให้ข้อศอกทั้งสองต่อกับหัวเข่าแบบชาย ส่วนวิธีปฏิบัตินอกจากนี้เหมือนกัน

                    ขณะที่หมอบกราบนั้น ทั้งชายและหญิง นิยมไม่ให้ก้นโด่งขึ้น จะดูไม่งาม

                    ขณะที่ยกประณมมือจากจังหวะที่  ๑ คือ จากระหว่างอก ขึ้นสู่จังหวะที่ ๒ คือ ระหว่างคิ้วนั้น นิยมก้มศีรษะลงมารับกัน แล้วหมอบลงสู่พื้น โดยแยกมือที่ประณมออกจากกัน นำมือขวาลดลงก่อน มือซ้ายลดลงตามระยะไล่เลี่ยกันลงไป

    วิธีการกราบบุคคลและกราบศพ

                    การกราบบุคคลและกราบศพนั้น นิยมกราบเหมือนกัน ด้วยวิธีกระพุ่มมือกราบ ไม่แบมือราบพับพื้นเหมือนกราบพระรัตนตรัย และนิยมกราบเพียงครั้งเดียว ไม่กราบ ๓ ครั้ง เหมือนกราบพระรัตนตรัย มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ :-

                    นั่งพับเพียบแบบเก็บเท้า พับขาราบไปทางซ้าย ตะแคงตัวข้างขวาไปทางบุคคล หรือศพ ที่จะกราบนั้น

                    หมอบลงกับพื้น พร้อมกับวางแขนขวาลงราบกับพื้นตลอดครึ่งแขน จากข้อศอกถึงมือ ตั้งสันมือขึ้น วางแขนซ้ายลงคู่กับแขนขวา มือทั้งสองแนบชิดแบบประณมมือ ให้ศอกขวาอยู่ข้างตัว ศอกซ้ายต่อกับหัวเข่าขวา

                    ก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดสันมือ ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว แล้วลุกขึ้นนั่งพับเพียบตามปรกติ เป็นเสร็จพิธีกราบบุคคล หรือกราบศพ

                    ส่วนการกราบพ่อและแม่ ในพิธีการพระพุทธศาสนา เช่น การกราบพ่อแม่ก่อนรับผ้าไตรเข้าขอบรรพชาอุปสมบทเป็นต้น นิยมกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ และกราบ ๓ ครั้ง เหมือนกราบพระรัตนตรัย เพราะถือกันว่า พ่อและแม่นั้นเท่ากับเป็นพระอรหันต์ของลูกในฐานะที่พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมมีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์โดยส่วนเดียว ฉันใด พ่อและแม่ทั้งหลายก็มีเมตตากรุณาต่อลูก ๆ ของตนโดยส่วนเดียว ฉันนั้น

    ระเบียบปฏิบัติการแสดงการเคารพพระสงฆ์

    การลุกขึ้นยืนรับพระสงฆ์

                    การลุกขึ้นยืนรับพระสงฆ์นี้ เป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวพุทธนิยมปฏิบัติต่อพระสงฆ์

                    เมื่อพระสงฆ์เถระผู้ใหญ่เดินมาถึงสถานที่พิธีงานนั้น ๆ คฤหัสถ์ชายหญิงซึ่งนั่งอยู่ ณ สถานที่นั้น นิยมปฏิบัติดังนี้ :          

                    ถ้านั่งเก้าอี้ นิยมลุกขึ้นยืนรับ เมื่อท่านเดินผ่านมาตรงหน้า นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้ เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงนั่งลงตามเดิม

                    ถ้าคฤหัสถ์ชายหญิงนั่งอยู่กับพื้น ไม่นิยมลุกขึ้นยืนรับ เมื่อท่านเดินผ่านมาถึงเฉพาะหน้า นิยมยกมือไหว้ หรือกราบ ตามความเหมาะสมแก่สถานที่นั้น

                    สำหรับท่านผู้เป็นประธานพิธี หรือเจ้าภาพงานนิยมคอยรอรับพระสงฆ์ที่นิมนต์มาประกอบพิธีในงานนั้น เมื่อพระสงฆ์มาถึง นิยมนิมนต์และนำท่านไปยังสถานที่จัดไว้รับรอง

    การให้ที่นั่งแก่พระสงฆ์

                    การให้ที่นั่งแก่พระสงฆ์นี้ เป็นกิริยาอาการแสดงความเอื้อเฟื้อแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ซึ่งชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันสืบมา มีวิธีปฏิบัติดังนี้ :-

                    เมื่อพระสงฆ์มาในพิธีงานนั้น ถ้าสถานที่ชุมนุมนั้น จัดให้นั่งเก้าอี้ คฤหัสถ์ชายหญิงนิยมลุกขึ้น หลีกไปให้โอกาสพระสงฆ์นั่งเก้าอี้แถวหน้า

                    ถ้าคฤหัสถ์ชายจำเป็นจะต้องนั่งเก้าอี้แถวเดียวกับพระสงฆ์ นิยมนั่งเก้าอี้ด้านซ้ายของพระสงฆ์

                    สำหรับสตรีเพศ ไม่นิยมนั่งเก้าอี้แถวเดียว หรือนั่งอาสนะยาวกับพระสงฆ์ เว้นแต่มีสุภาพบุรุษนั่งคั่นในระหว่าง

                    ถ้าสถานที่ชุมนุมนั้น จัดให้นั่งกับพื้น นิยมจัดอาสนะสงฆ์ไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จากอาสนะที่คฤหัสถ์ชายหญิงนั่ง เช่น ปูพรมผืนใหญ่เต็มห้อง เป็นต้น นิยมจัดปูลาดอาสนะเล็กบนพรมผืนใหญ่นั้นอีกชั้นหนึ่ง สำหรับเป็นที่นั่งของพระสงฆ์แต่ละรูป

    การตามส่งพระสงฆ์

                    การตามส่งพระสงฆ์นี้ เป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพแก่พระสงฆ์อีกประการหนึ่ง ซึ่งชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันสืบมา

                    เมื่อพระสงฆ์เถระผู้ใหญ่ หรือพระสงฆ์ที่นิมนต์มาในพิธีงานนั้นจะลากลับ คฤหัสถ์ชายหญิงผู้ที่อยู่ในพิธีงานนั้น นิยมปฏิบัติ ดังนี้ :-

                    ถ้านั่งเก้าอี้ นิยมลุกขึ้นยืนส่งท่าน เมื่อท่านเดินผ่านเฉพาะหน้า นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้

                    ถ้านั่งอยู่กับพื้น นิยมไม่ต้องยืนส่ง เมื่อท่านเดินผ่านเฉพาะหน้า นิยมกราบ หรือยกมือไหว้ ตามควรแก่กรณี

                    สำหรับท่านผู้เป็นประธานพิธี หรือเจ้าภาพงานนิยมเดินตามไปส่งท่านจนพ้นบริเวณงาน หรือจนกว่าท่านจะขึ้นรถออกพ้นจากบริเวณงานไปแล้ว และก่อนที่ท่านจะจากไปนิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้ เป็นการแสดงความเคารพส่งท่านอีกครั้งหนึ่ง

    การหลีกทางให้พระสงฆ์

                    การหลีกทางให้แก่พระสงฆ์นี้ เป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพเอื้อเฟื้อแก่พระสงฆ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันสืบมา

    วิธีปฏิบัติเมื่อพระสงฆ์เดินตามมาข้างหลัง

                    ถ้าพระสงฆ์เดิมมาข้างหลัง คฤหัสถ์ชายหญิงเดินไปข้างหน้า รู้สึกตัวว่ามีพระสงฆ์เดินตามมาข้างหลัง นิยมปฏิบัติ ดังนี้ :-

                    ยืนตรง มือทั้งสองห้อยประสานกันไว้ข้างหน้า หันหน้ามาทางท่าน

                    เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาถึงเฉพาะหน้า นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้

                    ถ้าท่านพูดด้วย นิยมประณมมือพูดกับท่าน (เฉพาะพระเถระ)

                    ถ้าท่านมิได้พูดด้วย เมื่อยกมือไหว้แล้ว ลดมือทั้งสองลง ห้อยประสานกันไว้ข้างหน้า มองดูท่านจนกว่าท่านจะเลยไป จึงเดินตามหลังท่านไป

    วิธีปฏิบัติเมื่อเดินสวนทางกับพระสงฆ์

                    ถ้าคฤหัสถ์ชายหญิงเดินสวนทางกับพระสงฆ์ นิยมปฏิบัติ ดังนี้:-

                    หลีกเข้าชิดทาง ด้านซ้ายมือของพระสงฆ์

                    ยืนตรง มือทั้งสองห้อยประสานกันไว้ข้างหน้า หันหน้ามาทางท่าน

                    เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาถึงเฉพาะหน้า นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้ หรือ นั่งกระหย่งยกมือไหว้ ตามควรแก่กาละเทศะ และบุคคล

                    ถ้าท่านพูดด้วย นิยมประณมมือพูดกับท่าน (เฉพาะพระเถระ)

                    ถ้าท่านมิได้พูดด้วย เมื่อยกมือไหว้แล้ว ก็ลดมือลงห้อยประสานกันไว้ข้างหน้า มองดูท่านจนกว่าท่านจะผ่านเลยไป จึงเดินไปตามปรกติ

    วิธีปฏิบัติเมื่อพบพระสงฆ์ยืนอยู่

                    ถ้าคฤหัสถ์ชายหญิง เดินไปพบพระสงฆ์ท่านยืนอยู่นิยมปฏิบัติ ดังนี้ :-

                    หยุดยืนตรง

                    น้อมตัวลงยกมือไหว้

                    ถ้าท่านพูดด้วย ประณมมือพูดกับท่าน

                    เดินหลีกไปทางซ้ายของพระสงฆ์

    วิธีปฏิบัติเมื่อพบพระสงฆ์นั่งอยู่

                    ถ้าคฤหัสถ์ชายหญิง เดินไปพบพระสงฆ์ท่านนั่งอยู่ นิยมปฏิบัติ ดังนี้ :-

                    หยุดนั่งลง ถ้าพื้นที่สะอาด นิยมนั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบ ถ้าพื้นไม่สะอาด นิยมนั่งกระหย่ง

                    น้อมตัวลงยกมือไหว้

                    ถ้าท่านพูดด้วย ประณมมือพูดกับท่าน

                    ลุกขึ้นเดินหลีกไปทางซ้ายของพระสงฆ์

                    ถ้าพระสงฆ์อยู่ในที่กลางแจ้ง มีเงาปรากฏอยู่ คฤหัสถ์ชายหญิงนิยมไม่เดินเหยียบเงาของพระสงฆ์ นิยมเดินหลีกไปเสียอีกทางหนึ่ง

    วิธีเดินตามหลังของพระสงฆ์

                    การเดินตามหลังพระสงฆ์นี้ เป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ซึ่งชาวพุทธชายหญิงนิยมปฏิบัติกันสืบมา มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้ :-

                    เดินตามไปเบื้องหลังของพระสงฆ์ โดยให้เยื้องไปทางซ้ายของท่าน

                    ไว้ระยะห่างจากท่านประมาณ ๒-๓ ก้าว

                    เดินตามท่านไปด้วยกิริยาอาการสำรวมเรียบร้อย

                    นิยมไม่แสดงความเคารพผู้อื่น

                    นิยมไม่พูดคุยทักทายปราศรัยกับผู้อื่น

    ระเบียบปฏิบัติการไปหาพระสงฆ์ที่วัด

    ฐานะของพระสงฆ์

                    พระภิกษุสงฆ์นั้น ดำรงอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลที่พุทธศาสนิกชนชายหญิงทั้งหลาย สมควรสักการะบูชากราบไหว้ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เพราะว่า พระสงฆ์เป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติซื่อตรง ประพฤติเพื่อให้ออกไปจากทุกข์ ประพฤติถูกต้องอย่างดียิ่ง และเป็นบุญเขตเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของชาวโลก

                    พระสงฆ์เป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ ด้วยการทรงเพศบรรพชิต และศึกษาเล่าเรียนทรงจำพระศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้มิให้เสื่อมสูญ

                    พระสงฆ์เป็นผู้นำเอาพระศาสนธรรมนั้น มาเทศนาชี้แจงอบรมสั่งสอนชาวพุทธให้ทราบว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ

                    พระสงฆ์เป็นผู้แนะนำพร่ำสอนชาวพุทธ ให้เลิกละความชั่ว และชักจูงชาวพุทธให้เกิดความยินดีพอใจในการทำความดี

                    พระสงฆ์เป็นสักขีพยานเป็นตัวอย่างแห่งความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตามพระศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกด้วย

    การเตรียมตัวเบื้องต้น

                    เพราะพระสงฆ์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น ชาวพุทธชายหญิงทั้งหลายผู้ประสงค์จะไปหาพระสงฆ์ที่วัด พึงสังวรระวังอยู่เสมอว่าเราไปหาท่านที่เคารพบูชา นิยมรักษากิริยามารยาททางกาย ทางวาจา ตลอดถึงจิตใจ ให้เรียบร้อย อันแสดงออกถึงความมีศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างดียิ่ง

                    ถ้าบุคคลผู้ไปหาพระสงฆ์นั้น เพื่อประสงค์จะขออาราธนานิมนต์ท่านไปประกอบพิธีงานมงคล หรืองานอวมงคลก็ตาม นิยมมีเครื่องสักการะบูชา เช่น ดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น ใส่พานนำไปถวาย เพื่อเป็นเครื่องแสดงความเคารพบูชาท่านด้วย ทั้งนี้ เพื่อรักษาประเพณีอันดีงานของมหาอุบาสกและมหาอุบาสิกา เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ประพฤติเป็นตัวอย่าง กล่าวคือ :-

                    o เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเวลาเช้าก่อนเที่ยงวัน ก็นิยมนำภัตตาหารคาวหวานไปถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวก

                    o เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเวลาบ่ายหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ก็นิยมนำเภสัช ๕ มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น ไปถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวกเป็นประจำตลอดมา

                    o ชาวพุทธชายหญิงผู้จะไปหาพระสงฆ์ที่วัดนั้น นิยมแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่นิยมแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์สีฉูดฉาดบาดตา ไม่นิยมนุ่งน้อยห่มน้อย หรือเปลือยหน้าเปลือยหลัง ชะเวิกชะวาก เป็นต้น

    วิธีปฏิบัติขณะถึงที่อยู่ของพระสงฆ์

                    ก่อนจะเข้าพบท่าน นิยมไต่ถามพระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัด ผู้อยู่ใกล้เคียงว่า ท่านอยู่ หรือไม่อยู่ ท่านว่าง หรือไม่ว่าง ท่านกำลังทำอะไรอยู่ สมควรจะเข้าพบท่านได้หรือไม่ และนิยมแจ้งความจำนงขออนุญาตเข้าพบท่านก่อน เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าพบได้ จึงเข้าพบท่าน

                    ถ้าไม่พบผู้ใดที่จะพอไต่ถามได้ นิยมรอคอยดูจังหวะที่สมควร และก่อนที่จะเข้าพบท่าน ขณะท่านอยู่ภายในห้อง นิยมกระแอม หรือไอ หรือเคาะประตูให้เสียงก่อน เพื่อให้ท่านได้ทราบล่วงหน้า เมื่อท่านอนุญาตแล้ว จึงนิยมเปิดประตูห้องเข้าไป (เฉพาะชาย) ส่วนหญิงไม่นิยมเข้าไปหาพระสงฆ์ในห้องเด็ดขาด

                    เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้ไปหานิยมนั่งคุกเข่ากราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ (ชาย กราบแบบชาย หญิง กราบแบบหญิง ดังกล่าวแล้วในระเบียบปฏิบัติการกราบข้างต้นนั้น) ๓ ครั้ง

                    เมื่อกราบเสร็จแล้ว นิยมนั่งพับเพียบ ไม่นิยมนั่งบนอาสนะเสมอกับพระสงฆ์ เช่น นั่งบนพรมหรือเสื่อผืนเดียวกัน หรือนั่งเก้าอี้เสมอกับพระสงฆ์ เป็นต้น

                    กิริยาอาการที่นั่งพับเพียบนั้น นิยมนั่งพับเพียบแบบเก็บเท้าดังกล่าวแล้ว (ในระเบียบปฏิบัติการนั่งพับเพียบข้างต้น) เฉพาะสตรีเพศ นิยมสังวรระวังเครื่องนุ่งห่ม โดยปกปิดอวัยวะที่ควรปิดให้เรียบร้อย

                    ขณะที่พระสงฆ์อยู่ชั้นล่าง คฤหัสถ์ชายหญิงไม่นิยมขึ้นไปชั้นบนของกุฏิ และไม่นิยมเข้าไปภายในห้องส่วนตัวของท่าน

    วิธีปฏิบัติขณะสนทนากับพระสงฆ์

                    ถ้าพระภิกษุสงฆ์รูปนั้น เป็นพระเถระผู้ใหญ่ นิยมประณมมือพูดกับท่าน ทุกครั้งที่กราบเรียนท่าน และรับคำพูดของท่าน

                    ขณะสนทนาอยู่กับพระสงฆ์นั้น ไม่นิยมพูดล้อเล่นกับท่าน ไม่นิยมพูดคำหยาบโลนกับท่าน ไม่นิยมนำเอาเรื่องส่วนตัวไปเล่าให้ท่านฟัง ไม่นิยมแสดงกิริยาอาการยกตนตีเสมอท่านคล้ายเพื่อนเล่น หรือยกตนสูงกว่าท่าน

                    เฉพาะสตรีเพศทั้งหมด แม้จะเป็นญาติกับพระภิกษุสงฆ์รูปนั้นก็ตาม ไม่นิยมสนทนากับพระภิกษุสงฆ์สองต่อสอง ทั้งภายในห้องและภายนอกห้อง ทั้งในที่ลับตาและในที่ลับหู เพราะผิดวินัยพุทธบัญญัติ

                    เมื่อเสร็จธุรกิจแล้ว นิยมรีบลาท่านกลับ ไม่ควรสนทนาอยู่นานเกินควร เพราะเป็นการรบกวนเวลาของท่าน

                    เมื่อจะลาท่านกลับ นิยมนั่งคุกเข่า(ตามเพศ) กราบท่านด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วเดินเข่าออกไป

    ระเบียบปฏิบัติการใช้คำพูดกับพระสงฆ์ต่างชั้น

                    การใช้คำทูลสมเด็จพระสังฆราช   คำแทนตัวพระองค์ท่าน ว่า “ฝ่าพระบาท” หรือ “ฝ่าบาท”คำแทนตัวผู้พูด (ชาย) ว่า “เกล้ากระหม่อม” หรือ “กระหม่อม”คำแทนตัวผู้พูด(หญิง) ว่า “กระหม่อมฉัน” หรือ “หม่อมฉัน”คำรับพระดำรัส (ชาย) ว่า “พ่ะย่ะค่ะ” หรือ “กระหม่อม”คำรับพระดำรัส (หญิง) ว่า “เพคะ”

                    การใช้คำพูดกับสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไป   คำแทนตัวท่านว่า “พระเดชพระคุณ” หรือ “ใต้เท้า”คำแทนตัวผู้พูด (ชาย) ว่า “เกล้ากระผม” หรือ “เกล้าฯ”คำแทนตัวผู้พูด (หญิง) ว่า “ดิฉัน” หรือ “อีฉัน”คำรับคำพูด (ชาย) ว่า “ขอรับกระผม”  “ครับกระผม” หรือ “ครับผม”คำรับคำพูด (หญิง) ว่า “เจ้าค่ะ”

                    การใช้คำพูดกับพระราชาคณะชั้นสามัญลงมา

             พระราชาคณะให้คำแทนตัวท่านว่า “ท่านเจ้าคุณ” หรือ “ท่าน”

             พระครูสัญญาบัตรและพระครูฐานานุกรม ใช้คำแทนตัวท่านว่า “ท่านพระครู” หรือ “ท่าน”

             พระเปรียญ ใช้คำแทนตัวท่านว่า “ท่านมหา” หรือ “ท่าน”

             พระอันดับธรรมดา ใช้คำแทนตัวท่านว่า “พระคุณเจ้า” หรือ “ท่าน”

             พระผู้เฒ่า ใช้คำแทนตัวท่านว่า “หลวงพ่อ” หรือ “หลวงปู่” เป็นต้น

                    ถ้าพระสงฆ์นั้นเป็นญาติกับผู้พูด นิยมใช้คำพูดแทนตัวแทนตามฐานะที่เป็นญาติกัน เช่น ใช้คำแทนตัวท่านว่า “หลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ หลวงลุง หลวงอา หลวงน้า หลวงพี่” เป็นต้น

                    คำแทนตัวผู้พูด (ชาย) ว่า “กระผม” หรือ “ผม”

                    คำแทนตัวผู้พูด (หญิง) ว่า “ดิฉัน” หรือ “อีฉัน”

                    คำรับคำพูด (ชาย) ว่า “ครับ”

                    คำรับคำพูด (หญิง) ว่า “เจ้าค่ะ” หรือ “ค่ะ”

    การใช้คำพูดกับพระธรรมดาสามัญทั่วไป

                    ถ้าผู้พูดไม่รู้จักกับพระภิกษุสงฆ์รูปนั้น ไม่ทราบว่าท่านมีสมณศักดิ์ชั้นไหน นิยมใช้คำพูดสามัญเป็นกลาง ๆ ดังนี้ :-คำแทนตัวพระภิกษุสงฆ์รูปนั้นว่า “พระคุณเจ้า” หรือ “พระคุณท่าน” หรือ “ท่าน”คำแทนตัวผู้พูด (ชาย) ว่า “กระผม” หรือ “ผม”คำแทนตัวผู้พูด (หญิง) ว่า “ดิฉัน” หรือ “อีฉัน” หรือ “ฉัน”คำรับคำพูด (ชาย) ว่า “ครับ”คำรับคำพูด (หญิง) ว่า “เจ้าค่ะ” หรือ “ค่ะ”

    ระเบียบปฏิบัติการรับสิ่งของจากพระสงฆ์

    ขณะพระสงฆ์ยืนอยู่ หรือ นั่งบนอาสนะสูง

                    เดินเข้าไปด้วยกิริยาอาการสำรวม โดยไม่เร็ว หรือช้าเกินไป เมื่อเข้าใกล้พอสมควร ประมาณพอยื่นมือเข้าไปรับสิ่งของได้พอดี

                    ยืนตรง น้อมตัวลงยกมือไหว้ แล้วยื่นมือทั้งสองเข้าไปรับ พร้อมกับน้อมตัวลงเล็กน้อย สำหรับชายรับสิ่งของจากมือท่าน สำหรับหญิงแบมือทั้งสองชิดกันคอยรองรับสิ่งของ

                    เมื่อรับสิ่งของแล้ว ถ้าสิ่งของเล็ก นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้พร้อมกับสิ่งของที่อยู่ในมือ ถ้าสิ่งของที่รับนั้นใหญ่หรือหนัก นิยมไม่ต้องยกมือไหว้ แล้วก้าวเท้าซ้ายถอยหลังออกไป ๑ ก้าว ชักเท้าขวามาชิด แล้วหันหลังกลับเดินไปได้

    ขณะพระสงฆ์นั่งเก้าอี้

                    เดินเข้าไปด้วยกิริยาอาการสำรวม เมื่อเข้าไปใกล้ประมาณ ๒ ศอก แล้วยืนตรง ก้าวเท้าขวาออกไป ๑ ก้าว แล้วนั่งคุกเข่าซ้าย ชันเข่าขวาขึ้น น้อมตัวลงยกมือไหว้ แล้วยื่นมือทั้งสองออกไปรับสิ่งของดังกล่าวแล้ว

                    เมื่อรับสิ่งของแล้ว ถ้าสิ่งของนั้นเล็ก นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้ พร้อมกับสิ่งของที่อยู่ในมือ ถ้าสิ่งของนั้นใหญ่หรือหนัก นิยมวางสิ่งของนั้นไว้ข้างตัว ด้านซ้ายมือ น้อมตัวลงยกมือไหว้ แล้วยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสองประคองยกยืนขึ้น ชักเท้าขวากลับมายืนตรง ก้าวเท้าซ้ายถอยหลังไป ๑ ก้าว และชักเท้าขวาชิด หันหลังกลับเดินไปได้

    ขณะพระสงฆ์นั่งกับพื้น

                    เดินเข้าไปด้วยกิริยาอาการสำรวม เมื่อถึงบริเวณที่ปูลาดอาสนะไว้ นั่งคุกเข่าลง แล้วเดินเข่าเข้าไป เมื่อถึงที่ใกล้ประมาณ ๑ ศอกเศษ นั่งคุกเข่า (ตามเพศ) กราบ ๓ หน ยื่นมือทั้งสองออกไปรับสิ่งของดังกล่าวแล้ว

                    เมื่อรับสิ่งของแล้ว นิยมวางสิ่งของนั้นไว้ข้างหน้าด้านขวามือ กราบ ๓ หน แล้วหยิบสิ่งของนั้นถือด้วยมือสองประคอง เดินเข่าถอยหลังออกไปจนสุดบริเวณที่ปูลาดอาสนะไว้แล้วลุกขึ้นยืนกลับไปได้

                    กิริยาอาการเดินเข่านั้น นิยมตั้งตัวตรง ถ้าไม่ได้ถือสิ่งของ มือทั้งสองห้อยอยู่ข้างตัว ถ้าถือสิ่งของ มือทั้งสองประคองถือสิ่งของ ยกขึ้นอยู่ระดับอก ศอกทั้งสองแนบชิดชายโครง

                    ขณะเดินเข่า ร่างกายส่วนบนไม่เคลื่อนไหว ไม่ซัดส่าย ไม่โยกโคลงไปมา ไม่เอียงซ้ายไม่เอียงขวา เฉพาะร่างกายส่วนล่างเท่านั้นที่เคลื่อนไหว และขณะเดินเข่าเข้าไป หรือถอยหลังออกมานั้น นิยมให้ตรงเข้าไป และตรงออกมา


    • Update : 1/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch