หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พุทธศาสนายุคหลังพุทธปรินิพพาน
    พุทธศาสนายุคหลังพุทธปรินิพพาน
    จากหนังสือ 'ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย'
    โดยพระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๙
    โพสท์ใน กระทู้มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ โดย ทับตะวัน..นำมาฝาก [23 เม.ย. 2548]
    ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้มีพระมหาเถระได้นิพพานก่อนไปแล้วหลายองค์ เช่น พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น
    ฝ่ายคฤหัสถ์หลายท่านก็ได้สวรรคตไปก่อน เช่น พระเจ้าสุทโธทนะพระเจ้าปัสเสนทิโกศล พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น
    ส่วนพระมหาเถระที่ยังเหลืออยู่เป็นกำลังสำคัญต่อมาคือ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอนุรุทธะ เป็นต้น
    เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพานแล้ว โทณพราหมณ์ก็ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนแล้วมอบให้แก่เมืองต่าง ๆ ที่ส่งตัวแทนมาขอเหตุการณ์อันเป็นรอยร้าวของคณะสงฆ์ก็เริ่มเกิดขึ้นจากบุคคล ๒ คน คือ พระสุภัททะบรรพชิตผู้เฒ่าและพระปุราณกับพวก อันนำไปสู่การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก
    การสังคายนาครั้งที่ ๑
    (The First Buddhist Synod)
    เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว และเมื่อข่าวนี้กระจายออกไปทั่วชมพูทวีปทั้งหมด พุทธศาสนิกชนต่างร่ำให้โศกาดูร พระสาวกที่เป็นปุถุชนก็เช่นกัน ต่างร่ำไห้ถึงการจากไปของพระพุทธองค์ ต่างคร่ำครวญว่าพวกเรายังเป็นปุถุชนอยู่ยังไม่ถึงฝั่ง พระพุทธองค์ก็มาเสด็จจากไปเสียแล้ว แล้วใครจะเป็นที่พึ่งให้เราได้ เมื่อพระองค์ไม่อยู่ ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้เรา
    แต่หลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๗ วันก็ปรากฏว่ามีพระแก่รูปหนึ่งนามว่าสุภัททะ ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและแสดงอาการปีติ กล่าวว่าท่านทั้งหลายจะมามัวร้องไห้รำพันอยู่ทำไม พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานก็ดีแล้ว เพราะเมื่อพระองค์ทรงอยู่ทรงสอนโน้น สอนนี้ ทรงห้ามโน้น ห้ามนี้ บัดนี้เราหมดพันธะแล้ว เป็นอิสระแล้วเป็นต้น
    ในขณะที่มหากัสสปะเถระเจ้ากำลังพำนักอยู่ ณ เมืองปาวา ใกล้เมืองกุสินาราแดนปรินิพพานเมื่อได้ทราบข่าวจากพระสงฆ์ว่า พระสุภัททะพูดเช่นนั้น จึงเกิดธรรมสังเวชในใจว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไม่นานนักเพียง ๗ วันเท่านั้น ก็มีภิกษุ อลัชชีไม่มียางอายจ้วงจาบพระธรรมวินัยในท่ามกลางสงฆ์เช่นนี้ ต่อไปภายภาคหน้าจะมียิ่งไปกว่านี้อีกหรือ อย่ากระนั้นเลย เราควรเรียกประชุมสงฆ์เพื่อหาทางป้องกันและกำจัดอลัชชีให้หมดไป
    เมื่อถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปเถระเจ้าจึงเรียกประชุมสงฆ์ ยกวาทะของพระสุภัททะมากล่าวอ้าง ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่และคัดเลือกพระอรหันต์ และภายหลังจึงได้บรรลุก่อนการทำสังคายนา
    เมืองราชคฤห์เป็นที่ประชุม
    เมืองราชคฤห์ มีหลายชื่อ เช่นเมืองวสุมติ เมืองภารหะธรถะปุระ คิริวราชา กุสากระปุระ และราชคฤห์ (Rajgriha) คำว่า วสุมติ พบในคัมภีร์รามายณะ โดยมีพระเจ้าวสุเป็นผู้ก่อตั้งเมืองราชคฤห์เป็นองค์แรก พระเจ้าวสุเป็นโอรสของพระพรหม ได้รับคำสั่งให้สร้างเมืองนี้ขึ้น คำว่า เมืองภารหะธรถะปุระ พบในคัมภีร์ มหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะ ตั้งตามชื่อกษัตริย์ พฤหัสธรถะ ปู่ของพระเจ้าชราสันธะที่เคยเสด็จมาที่นี่ คำว่าคิริวราชา เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ๕ ลูกล้อมรอบทุกด้าน ภูเขาทั้ง ๕ คือ ๑. เวภาระ ๒. ปัณฑวะ ๓. เวปุลละ ๔. อิสิคิริ ๕. คิชฌกูฏ ในคัมภีร์มหาภารตะเรียกชื่อภูเขาทั้ง ๕ ต่างกับคัมภีร์ บาลี คือ  ๑. ไวภาระ ๒. วลาหะ ๓. วฤศภะ ๔. ฤาษีคิริ ๕. ไชยยากะ และปัจจุบันชาวอินเดียเรียกดังนี้ ๑. ไวภาระ ๒. วิปุลละ ๓. รัตนะ ๔ .ฉหัตถะ ๕. ไสละ
    คำว่า กุสากระปุระ พบในจดหมายเหตุที่พระถังซัมจั๋งกล่าวไว้นอกจากนั้นยังเจอในวรรณกรรมของศาสนาเชน แปลว่า เมืองที่รายรอบด้วยหญ้ากุสะ และคำว่า ราชคฤห์ ภาษาบาลีคือราชคหะ แปลว่าเมืองหรือพระราชวังของพระราชา หลังพุทธปรินิพพาน ปกครองโดยพระเจ้าอชาตศัตรู พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร
    จากสถานที่ประชุมเพลิงศพของพระพุทธองค์ คือ เมืองกุสินาราเป็นระยะที่ไกลมาก พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายน่าจะทำสังคายนาที่เมืองกุสินารา แต่ที่ท่านเลือกเมืองราชคฤห์เป็นที่ทำสังคายนา เพราะเหตุว่า
    . ราชคฤห์เป็นเมืองที่เหมาะสม ชัยภูมิที่สะดวก
    ๒. ปัจจัย ๔ หาได้สะดวกเพราะเป็นเมืองใหญ่
    ๓. พระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีความเลื่อมใสพุทธศาสนาเพราะเป็นเมืองใหญ่
    ๔. แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่เป็นรัฐมหาอำนาจ และภาษามคธก็เป็นภาษาราชการ
    เมื่อตกลงเป็นที่เรียบร้อย แล้ว พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายจึงออกเดินทางจากเมืองกุสินาราสู่เมืองราชคฤห์ เมื่อไปถึงแล้วจึงแจ้งเรื่องให้พระเจ้าอชาตศัตรูทราบ พระองค์ทรงยินดีให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ พระองค์รับสั่งให้ปราบหน้าถ้ำสัตตบัณณคูหาให้สะอาด และรับสั่งให้ปูลาดอาสนะทำซุ้มปะรำ ถวายภัตตาหารตลอดการประชุม
    สังคายนาครั้งนี้ได้เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน พระมหากัสสปะ เป็นประธานและเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นองค์วิสัชนาพระสูตร
    ปรับอาบัติพระอานนท์
    ในการประชุมสังคายนาครั้งนี้ พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายได้มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับอาบัติพระอานนท์ แม้ว่าท่านจะบรรลุพระอรหันต์แล้วก็ตามเพราะเหตุว่า
    .  ไม่ได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่ให้ถอนได้หมายเอาสิกขาบทใด
    ๒.  ข้อที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฏกของพระพุทธองค์
    ๓.  ปล่อยให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน และนางร้องไห้จนน้ำตาเปียกพระสรีระ
    ๔.  ไม่อ้อนวอนพระศาสดาให้ทรงอยู่ตลอดกัปป์แม้ทรงจะมีนิมิตโอภาส
    ๕.  ช่วยเหลือให้สตรีบวชในพุทธศาสนา
    พระอานนท์กล่าวแก้ข้อกล่าวหาทั้ง ๕ ข้อดังต่อไปนี้
    ๑.  ไม่ทูลถามสิกขาบท เพราะไม่ได้ระลึกถึง
    ๒.  ที่เหยียบเพราะพลั้งเผลอ ไม่ใช่เพราะไม่คารวะ
    ๓.  ให้สตรีถวายบังคมก่อน เพราะค่ำมืดเป็นเวลาวิกาล
    ๔.  ไม่ทรงอ้อนวอนพระศาสดา เพราะถูกมารดลใจจึงไม่ได้อ้อนวอน
    ๕.  เพราะเห็นว่าพระนางประชาปดีโคตมีนี้ เป็นพระมารดาเลี้ยงถวายขีโรทก (น้ำนม) แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าในวัยเยาว์ จึงขวนขวายให้สตรีบวช
    แม้พระอานนท์จะทราบว่าตัวเองไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์พิจารณาลงโทษ ปรับอาบัติท่านก็ยอมรับ ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด เพราะความเป็นนักประชาธิปไตยของท่าน
    พระปุราณะคัดค้านการประชุม
    การสังคายนาครั้งนี้ได้กระทำขึ้นโดยสงฆ์ฝ่ายที่นับถือพระมหากัสสปเถระ แต่ยังมีสงฆ์ฝ่ายพระปุราณะที่ไม่ยอมรับการประชุมครั้งนี้ จึงได้พาบริวาร ๕๐๐ รูป เดินทางจากทักขิณาคิริชนบทมาสู่เวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พระสงฆ์ฝ่ายที่สังคายนาเสร็จแล้วได้แจ้งให้พระปุราณะทราบ แต่ท่านกลับตอบว่า "พวกท่านทำสังคายนาก็ดีแล้ว แต่พวกผมได้ฟัง ได้รู้มาอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น" ความจริงพระปุราณะยอมรับการสังคายนาทั้งหมด แต่มีสิกขาบท ๘ อย่างที่ยังไม่ยอมรับคือ
    ๑.  อันโตวุตถะ ของอยู่ภายในที่อยู่
    ๒. อันโตปักกะ ให้สุกภายในที่อยู่
    ๓. สามปักกะ ให้สุกเอง
    ๔. อุคคหิตะ หยิบของที่ยังไม่ได้รับประเคน
    ๕.  ตโตนีหฏะ ของที่ได้มาจากการนิมนต์
    ๖. ปุเรภัตตะ ของรับประเคน ในเวลาก่อนภัตร
    ๗. นวัฏฐะ ของอยู่ในป่า
    ๘. โปกขรฏฐะ ของอยู่ในสระ
    พระปุราณะกล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติได้ แต่พระมหากัสสปะแย้งว่าทรงอนุญาตจริง แต่ในเวลาข้าวยากหมากแพงเท่านั้นเมื่อพ้นสมัยแล้วทรงให้ยกเลิก แต่พระปุราณะก็ไม่เชื่อเพราะไม่ได้ยิน แล้วพาคณะไปทำสังคายนาใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าทำที่ไหน เมื่อไหร่ ใช้ภิกษุกี่รูป นี้เป็นรอยแยกครั้งแรกในสังฆมณฑลหลังพุทธปรินิพพาน
    ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ
    พระฉันนะเป็นข้าราชบริพารของพระเจ้าสุทโธทนะ และเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช นายฉันนะก็ได้ตามเสด็จจนถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที แล้วจึงกลับ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์จนพุทธศาสนา แผ่ไปกว้างไกล ฉันนะจึงพร้อมด้วยเจ้าศากยะหลายองค์ตามออกบวช เมื่อบวชแล้วกลับมีความหยิ่งจองหอง ดูหมิ่นเหยียดหยามภิกษุอื่น เพราะถือว่าตัวเองใกล้ชิดพระพุทธองค์และตามเสด็จออกบวชด้วย และด่าบริภาษภิกษุอื่นว่าตอนที่พระองค์เสด็จออกบวชไม่เห็นมีใคร แต่พอเป็นพระศาสดาแล้วกลับอ้างว่า คนนี้คือสารีบุตร คนนี้คือโมคคัลลานะ คนนี้คือพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก เป็นต้น
    แม้จะถูกพระพุทธองค์ตรัสห้ามก็หาได้ยุติไม่ พระองค์จึงให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือประกาศมิให้ภิกษุรูปอื่นตักเตือนว่ากล่าว ห้ามพูดคุย ห้ามช่วยเหลือ เป็นต้น ในภายหลังสำนึกตัว และแสดงโทษต่อคณะสงฆ์ ต่อมาขวนขวายประพฤติธรรมจนสามารถบรรลุพระอรหันต์
    บทสรุปการสังคายนาครั้งที่ ๑
    ๑.     ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา บนภูเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
    ๒.     พระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเถระเป็นองค์วิสัชนาพระวินัย ส่วนพระอานนท์เป็นองค์วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม
    ๓.     พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
    ๔      พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เข้าร่วมประชุม
    ๕.     ปรับอาบัติพระอานนท์
    ๖.     ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ
    ๗.     พระปุราณะคัดค้านการประชุม และแยกตัวไปทำสังคายนาใหม่
    ๘.     วัตถุประสงค์เพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่
    ๙.     เริ่มทำเมื่อหลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน
    ๑๐.  ใช้เวลา ๗ เดือน จึงสำเร็จ
    ๑๑.  มีการฉลองถึง ๖ สัปดาห์
    เมื่อการสังคายนาสำเร็จลงแล้ว สถานการณ์ในสังฆมณฑล ก็สงบลงพอสมควร แต่ก็ยังมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายที่ไม่ยอมรับการสังคายนา แล้วไปทำต่างหากคือคณะของพระปุราณะ อย่างไรก็ตามผลสำเร็จของการสังคายนาครั้งนี้ที่เห็นชัดเจนในครั้งนี้คือ
    ๑.  ทำให้การร้อยกรองพระไตรปิฎกเป็นหมวดหมู่ขึ้นเป็นครั้งแรก
    ๒.  ทำให้พุทธศาสนากระจายไปสู่ถิ่นอื่นอย่างรวดเร็ว
    ๓.  ทำให้พุทธศาสนามั่นคงและสืบทอดมาจนทุกวันนี้
    ๔.  การปฏิบัติของพระอานนท์และการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะเป็นแบบอย่างที่ดีในหลักประชาธิปไตยและ ธรรมาธิปไตยอย่างชัดเจน
    ๕.  แสดงถึงความสามัคคีของภิกษุที่ได้พรั่งพร้อมทำสังคายนาเพื่อรักษาพุทธศาสนา

    • Update : 1/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch