3 เดือนก่อนปรินิพพาน
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 000480 โดยคุณ : ธนา [ 2 ต.ค. 2542 ]
1/24
พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
คราเมื่อพระพุทธองค์ทรงปลงพระชนม์มายุสังขาร พระพุทธองค์ เสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์ประทับภายใต้ต้นไม้ซึ่งมีเงาครึ้มต้นหนึ่งทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า
"อานนท์! เพราะอบรมอิทธิบาทสี่มาอย่างดีแล้วทำจนแจ่มแจ้งแล้วอย่างเรานี้ ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึงหนึ่งกัปป์หรือมากกว่านั้นก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้"
พระโลกานาถตรัสดังนี้ถึงสามครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉยมิได้ทูลอะไรเลย ความวิตกกังวลและความเศร้าของท่านมีมากเกินไป จึงปิดบังดวงปัญญาเสียหมดสิ้น ความจงรักภักดีเหลือล้น ที่ท่านมีต่อพระศาสดานั้น บางทีก็ทำให้ท่านลืมเฉลียวใจ ถึงความประสงค์ของผู้ที่ท่านจงรักภักดีนั้น ปล่อยโอกาสทองให้ล่วงไปอย่างน่าเสียดาย
เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"อานนท์ ! เธอไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว แม้ตถาคตก็จะพักผ่อนเหมือนกัน" พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง
ณ บัดนั้น พระตถาคตเจ้าทรงรำพึงถึงอดีตกาลนานไกล ซึ่งล่วงมาแล้วถึงสี่สิบห้าปี สมัยเมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ท้อพระทัยในการที่จะประกาศสัจธรรม เพราะเกรงว่าจะทรงเหนื่อยเปล่า แต่อาศัยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงพระทัยย่ำธรรมเภรี และครานั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า ถ้าบริษัททั้งสี่คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคง ยังไม่สามารถย่ำยีปรูปวาท คือ คำกล่าวจ้วงจาบล่วงเกินจากพาหิรลัทธิที่จะพึงมีต่อพระพุทธธรรมคำสอนของพระองค์ยังไม่แพร่หลายเพียงพอตราบใด พระองค์ก็จะยังไม่นิพพานตราบนั้น
ก็แลบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระองค์แพร่หลายเพียงพอแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพรหมจรรย์ศาสโนวาทของพระองค์แล้ว เป็นการสมควรที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน
ทรงดำริดังนี้แล้วจึงทรงปลงอายุสังขาร คือตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า พระองค์จะปรินิพพานในวันวิสาขะปูรณมี คือ วันเพ็ญเดือนหก
อันว่าบุคคลผู้มีกำลังกลิ้งศิลามหึมาแท่งทึบจากหน้าผาลงสู่สระ ย่อมก่อความกระเพื่อมสั่นสะเทือนแก่น้ำในสระนั้นฉันใด การปลงพระชนม์มายุสังขารอธิษฐานพระทัยว่า จะปรินิพพานของพระอนาวรณญาณก็ฉันนั้น ก่อความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพีมีอาการสั่นสะเทือนเหมือนหนังสัตว์ที่เขาขึงไว้ แล้วตีด้วยไม้ท่อนใหญ่ก็ปานกัน รุกขสาขาหวั่นไหวไกวแกว่ง ด้วยแรงวายุโบกสะบัดใบอยู่พอสมควร แล้วนิ่งสงบมีอาการประหนึ่งว่า เศร้าโศกสลดในเหตุการณ์ครั้งนี้ เหมือนกุมารีน้อยคร่ำครวญปริเวทนาถึงมารดาผู้จะจากไปจนสลบแน่นิ่ง ณ เบื้องบนท้องฟ้าสีครามกลายเป็นสีแดงเข้มดุจเสื่อลำแพนซึ่งไล้ด้วยเลือดสด ปักษาชาติร้องระงมสนั่นไพรเหมือนจะประกาศว่า พระผู้ทรงมหากรุณากำลังจะจากไปในไม่ช้านี้
พระอานนท์สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวน ของโลกธาตุดังนี้ จึงเข้าเฝ้าพระจอมมุนี ทูลถามว่า "พระองค์ผู้เจริญ! โลกธาตุวิปริตแปรปรวนผิดปกติไม่เคยมีไม่เคยเป็น ได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ?"
2/24
พระทศพลเจ้าตรัสว่า "อานนท์เอ๋ย! อย่างนี้แหละ คราใดที่ตถาคต ประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงอายุสังขารและนิพพาน ครานั้นย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น"
พระอานนท์ทราบว่า บัดนี้พระตถาคตเจ้าปลงพระชนม์มายุสังขารเสียแล้ว ความสะเทือนใจและความว้าเหว่ประดังขึ้นมาจนอัสสุชลธาราไหลหลั่งสุดห้ามหัก เพราะความรักเหลือประมาณที่ท่านมีในพระเชฏฐภาดา ท่านหมอบลงที่พระบาทมูลแล้วทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ! ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิดอย่าเพิ่งด่วนปรินิพพานเลย" กราบทูลเท่านี้แล้วพระอานนท์ก็ไม่อาจทูลอะไรต่อไปอีก เพราะโศกาอาดูรท่วมท้นหทัย
"อานนท์เอ๋ย!" พระศาสดาตรัสพร้อมด้วยทอดทัศนาการไปเบื้องพระพักตร์อย่างสุดไกล ลีลาแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตรและพระพักตร์
"เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะอีกสามเดือนข้างหน้านี้ อานนท์! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่าสิบหกครั้งแล้วว่า คนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์ หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่า ในคราวก่อนๆ นั้น ถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไป เราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่สามเราจะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เรามิอาจกลับใจได้อีก" พระศาสดาหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสต่อไปว่า
"อานนท์! เธอยังจำได้ไหม ครั้งหนึ่ง ณ ภูเขาซึ่งมีลักษณะยอดเหมือนนกแร้ง อันมีนามว่า "คิชฌกูฏ" ภายใต้ภูเขานี้มีถ้ำอันขจรนามชื่อ "สุกรขาตา" ที่ถ้ำนี้เอง สาวกผู้เลื่องลือว่าเลิศทางปัญญาของเราคือ สารีบุตร ได้ถอนตัณหานุสัยโดยสิ้นเชิง เพียงเพราะฟังคำที่เราสนทนากับหลานชายของเธอผู้มีนามว่า "ทีฆนะขะ" เพราะไว้เล็บยาว
เมื่อสารีบุตรมาบวชในสำนักของเราแล้ว ทีฆนะขะปริพาชกเที่ยวตามหาลุงของตน มาพบลุงคือสารีบุตรถวายงานพัดเราอยู่จึงพูดเปรยๆ เป็นเชิงกระทบกระเทียบว่า พระโคดม! ทุกสิ่งทุกอย่างข้าพเจ้าไม่พอใจหมด ซึ่งรวมความว่าเขาไม่พอใจเราด้วย เพราะตถาคตก็รวมอยู่ในคำว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เราได้ตอบเขาไปว่า
"ถ้าอย่างนั้นเธอก็ควรไม่พอใจความคิดเห็นอันนั้นของเธอเสียด้วย"
"อานนท์! เราได้แสดงธรรมอื่นอีกเป็นอเนกปริยาย สารีบุตรถวายงานพัดไปฟังไป จนจิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง"
"อานนท์ เอ๋ย! ณ ภูเขาคิชฌกูฏดังกล่าวนี้ เราเคยพูดกับเธอว่า คนอย่างเรานี้ถ้าจะอยู่ต่อไปอีกหนึ่งกัปป์หรือเกินกว่านั้นก็พอได้ แต่เธอก็หารู้ความหมายแห่งคำที่เราพูดไม่"
"อานนท์! ต่อมาที่โคตมนิโคธร, ที่เหวสำหรับทิ้งโจร, ที่ถ้ำสัตตบรรณ ใกล้เวภารบรรพต, ที่กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิซึ่งเลื่องลือมาแต่โบราณกาลว่า เป็นที่อยู่อาศัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอันมาก เมื่อท่านเข้าไป ณ ที่นั้นแล้วไม่มีใครเห็นท่านออกมาอีกเลยจึงกล่าวขานกันว่า อิสิคิลิบรรพต, ที่เงื้อมเขาชื่อสัปปิโสณฑิกา ใกล้ป่าสีตวันที่ตโปทาราม, ที่เวฬุวันสวนไผ่อันร่มรื่นของจอมเสนาแห่งแคว้นมคธ, ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์. ที่มัททกุจฉิมิคทายวันทั้งสิบแห่งนี้มีรัฐเขตแขวงราชคฤห์"
3/24
"ต่อมาเมื่อเราทิ้งราชคฤห์ไว้เบื้องหลัง แล้วจาริกสู่เวสาลีนคร อันรุ่งเรื่องยิ่ง เราก็ให้นัยแก่เธออีกถึงหกแห่ง คือที่อุเทนเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ โคตมกเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ และปาวาลเจดีย์ เป็นแห่งสุดท้ายคือสถานที่ซึ่งเราอยู่ ณ บัดนี้ แต่เธอก็หาเฉลียวใจไม่ ทั้งนี้เป็นความบกพร่องของเธอเอง เธอจะคร่ำครวญเอาอะไรอีก"
"อานนท์เอ๋ย! บัดนี้สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้ว เรื่องที่จะดึงกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งนั้นมิใช่วิสัยแห่งตถาคต อานนท์! เรามิได้ปรักปรำเธอ เธอเบาใจเถิด เธอได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว บัดนี้เป็นกาลสมควร ที่ตถาคตจะจากโลกนี้ไป แต่ยังเหลือเวลาอีกสามเดือน บัดนี้สังขารของตถาคตเป็นเสมือนเรือรั่ว คอยแต่เวลาจะจมลงสู่ท้องธารเท่านั้น อานนท์ ! เราเคย บอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพราก จากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้ อานนท์ ! ชีวิตนี้ มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไปเป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น นั้น เป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไป เคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ"
และแล้วพระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณฑุคาม และโภคนคร ตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยพระธรรมเทศนาอันเป็นไปเพื่อโลกุตตราริยธรรมกล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทรรศนะเป็นต้นว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขรและสัตว์จตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจ ย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อยปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิคือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบเหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับป้องกันลม แดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวายเมื่อลมแดดและฝน กล่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยี และเชือดเฉือนกิเลสอาสวะต่างๆ ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้น ย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ"
"อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติ ที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่เศร้าหมองไป เพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีล สมาธิและปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะย่อมพบกับปิติปราโมทอันใหญ่หลวง รู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้ อิ่มอาบซาบซ่านด้วยธรรม ตนของตนเองนั่นแลเป็นผู้ดู
4/24
แลรู้ว่า บัดนี้กิเลสานุสัยต่างๆ ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลผู้ตัดแขนขาด ย่อมรู้ด้วยตนเองว่าบัดนี้แขนของตนได้ขาดแล้ว
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปด ประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่คืออริยสัจ ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลายวิราคะ คือการปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐสุด บรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์แปดนี่แลเป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์แปดนี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ความเพียรพยายามเธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น เมื่อปฏิบัติตนดังนี้ พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหาอุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นของตน ที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงสักว่าๆ ไม่หลงไหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุฑิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบาย คลายทุกข์ คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เอง ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจ ให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น เป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อย เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็กๆ เพียงตัวเดียว มนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือ ดวงจิต ที่ผ่องแผ้ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา และเรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ เมื่อมีเกียรติมากขึ้นภาระที่จะต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพิ่งมองแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยประสบความสงบเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆ กันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! คนในโลกส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความกลับกลอกและหลอกลวงหาความจริงไม่ค่อยได้ แม้แต่ในการนับถือศาสนา ด้วยอาการดังกล่าวนี้ โลกจึงเป็นเสมือนระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื้อรังตลอดเวลา ภายในอาคารมหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบายแต่สถานที่เหล่านั้น มักบรรจุเต็มไปด้วยคนซึ่งมีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมาก ภาวะอย่างนั้นจะมีความสุขสู้ผู้มีใจสงบอยู่โคนไม้ได้อย่างไร"