หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระปรีชา
    พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระปรีชา

    ข้อมูลจาก เวปพระรัตนตรัย กระดานสนทนาธรรม กระทู้ที่ 01310 โดย คุณ : คนรู้น้อย   05-12-2003
    http://www.praruttanatri.com/v1/wb/showthisques.php?datfile=t01310.txt&name22=&nick=
    เนื้อความ :
    เป็นระยะเวลาอันยาวนาน นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ และได้พระราชทาน พระราชดำรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม” นับแต่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปเยี่ยมเยียนอาณาประชาราษฎร์ ในชนบทที่ห่างไกล ทุรกันดาร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาของพระองค์ นับร้อยนับพันโครงการ ที่เกิดจากพระราชดำริ เพื่อความสุข ความอยู่ดี กินดีของประชาชน การเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชน ก็เพื่อให้ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ และปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้าน พสกนิกรของพระองค์ประสบอยู่ เพื่อจะได้ทรงแนะนำ หรือหาทางแก้ไข โดยจะทรงโปรดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ เช่น เมื่อทอดพระเนตรบริเวณหมู่บ้าน และอ่างเก็บน้ำที่ จ.เพชรบูรณ์ ก็ได้พระราชทานคำแนะนำให้ปรับพื้นที่ ขอบอ่างเก็บน้ำ เป็นรูปขั้นบันได เพื่อป้องกันไม่ให้ฝนชะหน้าดินพังทลาย
    หรือเมื่อได้เสด็จฯไปทอดพระเนตร ฝายเก็บกักน้ำ เพื่อบำรุงรักษาต้นน้ำ ที่จังหวัดเชียงราย ได้มีพระราชดำรัสว่า ร่องน้ำที่ขุดไว้ในภูเขาโดยรอบนั้น ควรทำฝายเล็กๆ กั้นไว้ทุกร่องเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ของต้นน้ำ และจะมีผลต่อการชลประทานในพื้นที่ตอนล่าง เพื่อที่ราษฎรจะได้ไม่บุกรุกขึ้นไปทำลายป่าต้นน้ำ (เพราะพื้นที่ตอนล่าง มีความสมบูรณ์ของน้ำเพียงพอแล้ว) นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้คณะเกษตร และคณะแพทย์ ของมหาวิทยาลัยในภูมิภาค จัดทำโครงการพัฒนา วิชาการเกษตรแก่ชาวบ้านอีกด้วย โครงการต่างๆที่ทรงริเริ่ม จะทรงติดตามอย่างละเอียด และใกล้ชิด จนกว่าจะบรรลุผลในระดับหนึ่ง และจะทรงโปรดให้พัฒนาต่อไป การเสด็จพระราชดำเนิน ในแต่ละวันนั้น แม้จะมีหมายกำหนดการไว้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงมุ่งหมายในเนื้องานเป็นหลัก เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรจริงๆ ในบางจุดบางที่ จึงอาจต้องใช้เวลานาน มากกว่าในหมายกำหนดการ หลายๆ ครั้งที่กว่าจะได้ประทับเสวยพระกระยาหาร ก็เป็นเวลา ๑๕.๐๐ น.แล้ว
    พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ที่ตามเสด็จพระองค์ท่าน ในสมัยที่ทำหน้าที่ นายตำรวจราชสำนักประจำ ได้ระบุไว้ในงานเขียนของท่านว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ แล้วเสด็จฯกลับที่ประทับในยามค่ำมืดดึกดื่นนั้น เป็นเรื่องปกติในรัชกาลนี้ เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ถวายความสะดวก และปลอดภัยทุกแห่งทุกจังหวัด จึงต้องเตรียมเครื่องให้แสงสว่าง ถวายเสมอ ทั้งยังต้องเตรียมตัวที่จะพักแรม ณ ที่หมายนั้นด้วย (เนื่องเพราะพระราชภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น) จะเห็นว่าทั้งสองพระองค์ ทรงทุ่มเทเสียสละความสุข ความสบายส่วนพระองค์ เพื่อพสกนิกร ราษฎรทั้งหลาย ด้วยความรักความเมตตา ที่ทรงมีต่อราษฎรของพระองค์ อย่างยิ่งยากที่จะหาพระมหากษัตริย์ พระองค์ใดในโลก สามารถกระทำได้เสมอเหมือน ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ๒๕๒๐ เป็นปีที่ประเทศไทยถูกแทรกแซงโดยพวกผู้ก่อการร้ายคอมมูนิสต์ ในทุกๆ รูปแบบ จนพวกเราเกือบจะเสียท่าเขา
    ในขณะนั้นมีข้าราชการบางส่วน ที่มีจิตใจเลวร้าย ข่มเหงราษฎร กลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้าม โจมตีอย่างหนัก ข่าวลือในด้านร้ายมีมากมาย ข้าราชการที่ออกหน่วย ตามชนบทล้วนมีค่าหัวทั้งสิ้น ในระยะนี้เอง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ต้องทรงเสี่ยงต่ออันตราย ทนต่ออุปสรรค และความยากลำบากนานัปการ และต้องทรงทนต่อข่าวลือในทางลบ เช่น คำนินทา และบัตรสนเท่ห์ต่างๆ (เพราะพวกลัทธิอุบาทว์ พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าประชาชนเสื่อมถอยจากการนับถือ เทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์ การเข้าครอบครองประเทศจะทำได้โดยง่ายดาย) ทั้งสองพระองค์ ทรงออกเยี่ยมประชาชนอย่างใกล้ชิด ชนิดที่ข้าราชการในท้องที่นั้น ไม่กล้าทำ หรือไม่เคยทำมาก่อนเลย ผลก็คือ ขวัญและกำลังใจของประชาชนกลับมาใหม่ โดยเฉพาะ ขวัญของตำรวจตระเวณชายแดน (ต.ช.ด.) เพราะระดับนายพลก็กลัวตายเหมือนกัน ไม่ค่อยกล้าออกเยี่ยมบ่อยนัก หรือลืมไปเลย แต่ตรงข้ามทั้งสองพระองค์ ทรงเสด็จไปเองไม่กลัวภัยอันตราย แม้จะมีผู้ทัดทานไว้ก็ไม่ยอม การที่ทรงเสด็จเยี่ยม ต.ช.ด. อย่างใกล้ชิด จึงทำให้ขวัญของ ต.ช.ด. กลับมาเป็นปกติ กระผมขอนำข้อเขียนบางส่วน ของท่าน พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร มาเรียนเสนอ เพื่อให้ท่านได้เห็น ถึงพระวิริยะ อุตสาหะ และพระปรีชาญาณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังต่อไปนี้
    จากคุณ : คนรู้น้อย      05-12-2003
    วันศุกร์ ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ (น่าจะเป็นปี พ.ศ.๒๕๒๑) พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ เสด็จจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไปยัง อำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พร้อมด้วยทูลกระหม่อมน้อยพระองค์เดียว ตามเสด็จฯ ทรงเปลี่ยนพระราชพาหนะ เป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ที่พิษณุโลก จนเวลาหลังบ่ายโมงเล็กน้อย จึงเสด็จถึง ฐานสมเด็จ ที่เขาค้อ ตำบลแคมป์สน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ฐานนี้มีความสำคัญทางยุทธวิธี เป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๙๐๙ และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ ๑๖๑๗ อยู่ในบริเวณที่การคุกคามของผู้ก่อการร้าย หนาแน่น และรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯทรงใช้เวลาอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลานาน ทั้งในการฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ และการเสด็จเยี่ยมราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน ของโครงการ ทุ่งสมอ ซึ่งพัฒนาการประกอบอาชีพ เกษตรกรรม หลังจากนั้นได้ เสด็จฯไปยังวัด เพชรวราราม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเวลา เกือบ ๑๘.๐๐ น. แล้ว ทรงตัดลูกนิมิต และเยี่ยมเยียนประชาชน ที่มาเฝ้ารับเสด็จ อยู่อย่างล้นหลาม เป็นเวลานาน (คงเพื่อเป็นกำลังใจแก่ประชาชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่อันตราย) แม้จะเป็นเวลาค่ำมืดแล้ว
    ระหว่างที่กำลังทรงเยี่ยม ประชาชนอยู่นั้น ผู้รับผิดชอบในการถวายความปลอดภัย ประชุมกันอย่างกระสับกระส่าย เร่งรีบและเคร่งเครียด เพราะนักบิน เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแจ้งว่า เส้นทางที่จะเสด็จฯกลับนั้น จะต้องข้ามภูมิประเทศส่วนที่เป็นเขาสูง และป่าลึกของจังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นที่ๆรู้กันดีว่า มีการก่อการร้าย หนาแน่น และรุนแรง และเชื่อว่าผู้ก่อการร้ายบางกลุ่ม มีปืนกำลังสูง ที่อาจจะใช้ยิงเฮลิคอปเตอร์ได้ด้วย ผู้วางแผนซึ่งประกอบด้วย สมุหราชองครักษ์ แม่ทัพกองทัพภาคที่ ๓ เจ้าของพื้นที่ พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา (ยศปัจจุบัน) ขณะนั้นเป็น หัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัย บุคคลสำคัญ ประจำกรมราชองครักษ์ และ พล.ต.ต วสิษฐ เดชกุญชร (ยศขณะนั้น) ต้องประชุมหารือหาวิธี และเส้นทางที่ปลอดภัยถวาย ในที่สุดได้ข้อสรุป จึงได้กราบบังคมทูล พระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอให้เสด็จฯกลับจากเพชรบูรณ์ ไปยังพิษณุโลก โดยทางรถยนต์ และโดยเลี่ยงทางหลวงหมายเลข ๑๒ (หล่มสัก-พิษณุโลก) ซึ่งอาจมีอันตราย และใช้ทางหลวง หมายเลข ๒๑ (เพชรบูรณ์-วังชมพู) ทางหลวงหมายเลข ๑๑๓ (วังชมพู-เขาทราย) และ ทางหลวงหมายเลข ๑๒ (วังทอง-พิษณุโลก) เมื่อนำความกราบบังคมทูลทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย พระราชทานกระแสพระราชดำรัสว่า จะเสด็จฯกลับโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง แต่โดยใช้เส้นทางที่กราบบังคมทูลนั้นเอง คือ เพชรบูรณ์-วังชมพู-เขาทราย-วังทอง-พิษณุโลก โดยให้รถวิทยุของตำรวจทางหลวง จอดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะที่ทางแยกทั้งหลาย และให้รถยนต์ของตำรวจทางหลวง เปิดไฟวาบวับ บนหลังคาเป็นสัญญาณให้นักบินเห็น
    เวลา ๑๙.๔๐ น. เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ออกจากเพชรบูรณ์ นักบินใช้เส้นทางพระราชทาน โดยอาศัยไฟสัญญาณ บนหลังคารถยนต์ของตำรวจทางหลวงข้างล่างชี้ทาง ๔๐นาทีต่อมา เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ก็ถึงสนามบินพิษณุโลก และเครื่องบินแอฟโร่ พระที่นั่งก็ออกจากพิษณุโลกกลับไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทรงกลับถึงพระตำหนักภูพิงค์ฯ คงเป็นเวลาเกินกว่า 21.00 น.
    (จะเห็นว่าแผนการเสด็จฯ กลับของพระองค์ท่านนั้นเฉียบแหลมมาก เพราะว่ากลุ่มผู้ถวายความปลอดภัยได้เลือกเส้นทางที่เห็นว่าปลอดภัยที่สุดแล้วสำหรับพระองค์ แต่การเดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลาหลายชั่วโมง และเป็นการวิ่งฝ่าความมืดในเวลากลางคืน ถึงพื้นที่สองข้างทางที่ผ่านไป จะไม่ใช่เขตที่มีการก่อการร้ายหนาแน่น แต่เป็นที่แน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนเสด็จฯ ตั้งแต่ที่วัดแล้ว การดักซุ่มโจมตีบนเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 2 ชั่วโมง ก็มีความเป็นไปได้ และทางเจ้าหน้าที่คงต้องใช้กำลังคนในการเคลียร์เส้นทาง เพื่อถวายความปลอดภัยอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นความโกลาหลไม่น้อย นอกจากนี้การเดินทางโดยรถยนต์ ในเวลาค่ำคืนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นการที่ทรงโปรดให้นำเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินไปตามเส้นทางนี้ ตามที่รถตำรวจชี้นำจึงเป็นความปลอดภัยที่สุด เพราะผู้ก่อการร้ายย่อมคาดไม่ถึง และไม่อาจเคลื่อนย้ายอาวุธปืนกำลังสูงมาซุ่มโจมตีเครื่องบินได้ทันเวลา)
    ท่านทั้งหลายคงจะมีความอัศจรรย์ใจ เช่นเดียวกับกระผม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิได้ทรงศึกษามาโดยตรง เกี่ยวกับการรบ หรือ ยุทธศาสตร์การวางแผนต่างๆ แต่พระองค์ท่านสามารถพิจารณาข้อมูล และพระราชทานข้อเสนอแนะ ในการเดินทางกลับพระราชตำหนัก ได้อย่างแยบยล และเป็นแผนที่เจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญโดยตรง (สมุหราชองครักษ์, แม่ทัพภาคที่๓, หน.แผนกรักษาความปลอดภัยฯ) ยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และเป็นสิ่งที่พวกเขาคาดไม่ถึงมาก่อน ไม่เฉพาะในเรื่องนี้เท่านั้น แม้ทางด้านการเกษตร, ชลประทาน, วิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ หรือวิชาการแขนงอื่นๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ได้ทรงแสดง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ ได้ประจักษ์ว่า ทรงมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง และลึกซึ้ง พระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ เป็นที่ทราบเป็นอย่างดีในหมู่เจ้าหน้าที่, ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และพสกนิกรชาวไทยทั้งหลายเสมอมา เป็นโชคดีและเป็นบุญเหลือเกิน ที่ประเทศไทยของเรา มีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐเลิศยิ่ง และทรงพระปรีชาสามารถ เป็นองค์พระประมุข เป็นศูนย์รวมกำลังใจของเรา ให้ต่อสู้ฟันฝ่าภยันตรายต่างๆ มาได้จนทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น ที่ถวายความจงรักภักดีเทิดทูนพระองค์ แม้นานาอารยะประเทศ ก็แซ่ซ้องสดุดี ยอมรับในคุณความดี และพระบารมีของพระองค์ ...
    ขอพระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
    ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

    • Update : 1/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch