ว่าด้วยเรื่อง ศีล
ศีลข้อที่ 1
การไม่ฆ่าสัตว์ ทำร้ายสัตว์ ก็อาศัย 1. มีความรัก 2. มีความสงสาร ถ้าเห็นสัตว์ควรที่จะฆ่าได้เราก็ไม่ฆ่า ขณะใดที่เราไม่ฆ่าสัตว์ ขณะนั้นเราเป็นผู้มีศีลข้อที่ 1 ถ้าพบของที่เราจะทำร้ายได้ สัตว์ที่เราทำร้ายได้ คนที่เราจะทำร้ายได้ แต่เราไม่ทำ เราไม่ทำจัดเป็นอภัยทาน อย่างนี้มีศีลข้อที่ 1 ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ 1 ได้ ชาตินี้เราก็มีความสุข เพราะว่าเป็นคนที่มีศัตรูน้อย หรืออาจจะได้ศัตรูเลยก็ได้
ประการที่ 2 ถ้าตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม ก็มีรูปร่างหน้าตาสวย ถ้าพ้นจากการเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า หรือพรหม มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวย มีอายุยืนยาว มีโรคน้อย โรคอาจจะมีบ้างแต่ว่ามีน้อย
ศีลข้อที่ 2
คือ อทินนาทาน การลักการขโมยเขา เป็นการก่อศัตรู เป็นของไม่ดี ก็คิดว่าทรัพย์ของเราเราก็หวงแหน เราต้องการจะเก็บไว้ใช้สอย เราก็ไม่ควรไปเบียดเบียนทรัพย์ของเขา ถ้าเราละเมิดในศีลข้อที่ 2 ตายก็ต้องตกนรก พ้นจากนรกก็มาเป็นเปรต พ้นจากเปรตก็เป็นอสุรกาย พ้นจากอสุรกายก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน พ้นจากสัตว์เดรัจฉานก็มาเป็นคน มาเป็นคนก็ถูกไฟไหม้บ้านบ้าง ลมพัดให้บ้านพังบ้าง โจรปล้นบ้านบ้างอย่างนี้ เพราะโทษของอทินนาทาน ถ้าบังเอิญเราไม่ละเมิดศีลข้อนี้ เราสามารถทรงศีลข้อนี้ได้ เราตายจากความเป็นคนก็เป็นเทวดา เป็นนางฟ้า หรือพรหม ถ้าพ้นจากนั้นแล้วมาเป็นคนจะไม่มีอันตราย จากอันตรายทั้ง 4 เราก็มีความสุข
ศีลข้อที่ 3
กาเมสุมิจฉาจาร การละเมิดความรักของบุคคลอื่น ตายแล้วต้องตกนรก ลงนรกขุมใหญ่ก่อน แล้วจึงมาเข้ายมโลกียนรก (ปีนต้นงิ้ว) ก็เป็นอันว่าโทษการละเมิดศีลข้อนี้ นอกจากจะลงนรกแล้วก็มาเป็นเปรต จากเปรตเป็นอสุรกาย จากอสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามาเป็นคน คนในปกครองจะว่ายากสอนยาก ดื้อด้าน ไม่อยู่ในโอวาท
ศีลข้อที่ 4
มุสาวาท ถ้าโกหกก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เขาก็จับลงนรกเหมือนกัน ต่อมาถ้าเรารักษาได้เราก็เป็นเทวดาได้ เป็นนางฟ้าก็ได้ เป็นพรหมก็ได้ ทำไมว่า รักษามุสาวาทจะเป็นพรหมได้ไหม สัจจะบารมี ถ้าเป็นฌานใช่ไหม คำว่าฌาน ไม่จำเป็นจะต้องนั่งหลับตาเสมอไป ถ้าเราจะถือ่าเราจะรักษาสัจจะ คือความเป็นจริงอะไรก็ตาม ถ้าไม่เป็นความจริงเราจะไม่พูด เราจะรักษาอย่างนั้นไว้ เรารักษาไว้โดยไม่ต้องระมัดระวัง มันมีอารมณ์ชิน อย่างนี้ท่านเรียกว่าฌาน ทำอย่างนี้เป็นพรหมได้ อย่าไปนึกว่าฌานต้องไปนั่งหลับตา ไอ้นั่นเขาฝึกการเข้าฌาน ไม่ใช่ผู้ทรงฌาน สำหรับผู้ทรงฌาน ไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตา จะใช้กำลังฌานเมื่อไรก็ได้ สามารถใช้ได้ทันที ทีนี้หากว่าเรามีสัจจบารมี ถ้าเราขาดก็ลงนรกเหมือนกัน ถ้าเราดี เราเป็นเทวดา เป็นพรหม เราก็มีความสุข
ศีลข้อที่ 5
การดื่มสุราเมรัย ถ้าเราละเมิด ตายจากความเป็นคนลงนรกเหมือนกัน ว่าเรื่อยเหมือนกัน เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เหมือนกันหมด ถ้าเกิดเป็นคนใหม่ ถ้าเราเป็นนักดื่มแบบเบา ๆ ก็จะเป็นคนที่มีโรคปวดศีรษะบ่อย ๆ ถ้าเป็นนักดื่มปานกลาง ก็จะเป็นโรคเส้นประสาท ถ้าเป็นนักดื่มอย่างหนัก ก็จะเป็นโรคบ้า ถ้าเราไม่ดื่มสุราและเมรัย ตายแล้วจะเป็นเทวดา เป็นพรหมได้
สรุปดังนั้น ความทุกข์ทุกอย่าง 5 ประการ จึงเกิดจากการละเมิดศีลทั้ง 5 คือ
1. การป่วยไข้ไม่สบาย มาจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในชาติก่อน
2. ทรัพย์สมบัติเสียหาย เสียด้วยน้ำ เสียด้วยไฟ เสียด้วยโจร เสียด้วยลม ก็ตาม มาจากเราเคยลักเราเคยขโมยเขามาในชาติก่อน
3. ลูกหลานดื้อด้านเลี้ยงยาก มาจากโรคเจ้าชู้นอกใจสามีภรรยาในชาติก่อน
4. โทษที่เราพูดดี พูดตามความเป็นจริง แต่ไม่มีใครเขาเชื่อ ไม่มีใครอยากฟัง ทั้ง ๆ ที่ใช้วาจาไพเราะ ก็มีคนไม่ชอบ อันนี้มาจากมุสาวาทในชาติก่อน คือโกหก
5. การเป็นโรคเส้นประสาทก็ดี การปวดหัวหนักก็ดี เป็นประจำ และการเป็นบ้าก็ดี มาจากโทษการดื่มสุราเมรัยในชาติก่อน ชาติก่อนเราทำชั่วไว้มันก็ตั้งใจมาริดรอนในชาตินี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้รักษาศีล 3 ขั้น คือ
1. เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
2. เราไม่ยุยงบุคคลอื่นทำลายศีล
3. จะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว อันนี้ต้องจำ ต้องปฏิบัติ
คนที่จะรักษาศีลได้ต้องเป็นคนมีปัญญา ในเมื่อเรามีปัญญา รู้ว่าศีลเป็นของดี เราก็ใช้อารมณ์ปกติคุมกำลังของศีล คือใช้สติสัมปชัญญะ สตินึกไว้เสมอว่าศีลของเรามีกี่สิกขาบทที่เราจะต้องปฏิบัติ ควบคุมกำลังใจ ทรงศีลไว้ให้ปกติ ดังนั้นการทำลายศีลเป็นปัจจัยของความเลว ถ้าเราไปยินดีด้วย ก็หมายความว่าช่วยให้เราเลวมากขึ้น นี่เป็นอันว่า ถ้าจิตของเราเข้าไปควบคุมศีลอยู่อย่างนี้แล้ว ก็ใช้สติสัมปชัญญะใคร่ครวญ จริยาที่แสดงออกทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี แม้แต่อารมณ์คิดทางใจก็ดี มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า พูดอย่างนี้ศีลจะขาดไหม บกพร่องในศีลไหม ทำอย่างนี้เป็นการละเมิดศีลไหม อารมณ์แบบนี้เป็นอารมณ์ใช้ที่ปราศจากความเมตตาปรานีไหม หรือปราศจากความสันโดษไหม
เป็นอันว่า เอาสติเข้าไปนึกไว้ว่า สิกขาบทมีเท่าไร แล้วก็เอาสติสัมปชัญญะเข้าไปรู้ตัวในการกระทำ การพูด การคิด ทางกาย วาจา และจิต อาการที่จิตคุมอยู่อย่างนี้ ท่านเรียกว่า สมาธิ สมาธิตัวนี้เขาเรียกว่าเป็น สีลานุสสติกรรมฐาน นี่จะเห็นว่า ถ้ามีความฉลาดก็ไม่ต้องนั่งหลับตา ศีลก็บริสุทธิ์
- ในเรื่องของศีลนี้ องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์โสภาคย์ทรงแนะนำว่า ถ้าจะให้ศีลบริสุทธิ์รู้สึกว่าจะไม่หนักอะไรนัก ถ้ารู้จุดของเหตุนั่นคือ ถ้าเรามีพรหมวิหาร 4 ครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าศีลอะไรทั้งหมดมันก็ดีไปหมดทุกอย่าง แต่นอกจากจะมีพรหมวิหาร 4 ครบถ้วนแล้วก็ยังดีไม่พอ ต้องมีสติสัมปชัญญะควบคุมกำลังใจไว้เสมอ เมื่อมีสติสัมปชัญญะควบคุมกำลังใจไว้แล้ว ถ้ามีสติสัมปชัญญะมากเกินไปก็มักจะเฟ้อเหมือนกัน ฉะนั้น ศึลที่จะทรงได้ดีนั้น อีกด้านหนึ่งจะต้องมีปัญญาเข้าไปควบคุม ปัญญากับสตินี้จะต้องเท่ากัน ถ้าสติมากไปก็ฟุ้งอีก ปัญญามากไปก็ฟุ้งเกินไป เวลาสตินึก ปัญญาก็ควบคุมว่า ไอ้สิ่งที่ตัวนึกไว้นี้มันถูกต้องตามสิกขาบทที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไหม เมื่อใช้สติสัมปชัญญะควบคุมอยู่ ถ้าจะให้ดีไปอีก ให้บริสุทธิ์จริง ก็จะต้องมีหิริและโอตตัปปะ คือมีความละอายในจิตที่เราคิดว่าจะทำลายศีล เกรงกลัวผลของความชั่วที่จะเกิดจากศีลถูกทำลายแล้ว ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วทุกท่าน ทรงกำลังใจอยู่ได้อย่างนี้ คือ
1. มีพรหมวิหาร 4
2. มีสติ
3. มีสัมปชัญญะ
4. มีปัญญา
5. มีหิริ โอตตัปปะ
- ในเมื่อเห็นว่าศีลดีแล้ว เราต้องรักษาศีลให้มั่นคง เอาศีลจับเป็นอารมณ์ของใจ ก่อนจะหลับ สำรวจศีลว่าวันนี้ครบตัวไหนบ้าง ตื่นขึ้นมาใหม่ ตั้งใจทรงศีลให้บริสุทธิ์ แล้วก็โลกธรรม 8 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนินทาและสรรเสริญ อย่าให้มันขึ้นมาอยู่กับใจ นิพพานเป็นอารมณ์ ทั้งนี้ อารมณ์ของเราก็ยังมีความรักในระหว่างเพศ ยังมีการแต่งงาน แต่อยู่ในขอบเขตของศีล เรายังมีความโกรธอยู่บ้าง แต่ว่าอยู่ในขอบเขตของศีล โกรธแต่ไม่ฆ่าเขา เรายังมีความหลงอยู่บ้าง แต่ทว่าใจเรารักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าทำได้อย่างนี้เป็นปกติ ตอนนี้เป็นตัวดึงกรรมฐานไม่ให้ลดตัวลง มีแต่ว่าจะดีขึ้น ความแจ่มใสของจิตจะมีขึ้นทุกวัน และจิตจะทรงตัวอยู่ด้านของอารมณ์แจ่มใสเป็นปกติ การขึ้นไปสู่ภพต่าง ๆ จะมีแต่ความแจ่มใสไม่เศร้าหมอง อารมณ์อย่างนี้ท่านเรียกกันว่า พระโสดาบัน
ดังนั้น ความเป็นพระโสดาบันนี้จึงมีความสำคัญอยู่ที่ศีล ถ้าหากว่าทุกท่านมีศีลบริสุทธิ์ ไม่ต้องกล่าวย้อนไปถึงการเคารพในพระรัตนตรัย ทั้งนี้ เพราะว่าศีลมาจากพระรัตนตรัยทั้งสามประการ การที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ก็แสดงว่าเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยอยู่แล้ว ฉะนั้น ศีลของท่านทั้งหลายจึงบริสุทธิ์ ศีลจะบริสุทธิ์ได้ต้องอาศัยเมตตากับกรุณาเป็นสำคัญ และยังมีเพื่อนอีกสองเป็นฝ่ายสนับสนุน นั่นก็คือมุทิตา กับอุเบกขา รวมความว่า ถ้าทรงศีล 5 บริสุทธิ์ได้ ไม่สงสัยในพระไตรสรณคมน์ได้ ไม่ลืมความตาย เป็นพระโสดาบันชั้นหยาบ ต่อไปเป็นพระโสดาบันขั้นละเอียด ก็ทรงกรรมบถ 10 จิตมีกำลังสูง นอกจากศีล 5 แล้ว มีกรรมบถเข้าช่วย
- ศีลที่เราต้องการสมาทานจริง ๆ ทำอย่างไร ต้องดูระดับของท่านผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ ท่านที่เข้าถึงไตรสรณคมน์คือ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ ท่านทรงศีล 5 บริสุทธิ์ แต่ว่าจิตของท่านด้านไปนิดหนึ่ง ท่านสมาทานศีลเพื่อหวังกามาวจรสวรรค์เป็นสำคัญ คิดเสียว่าถ้าเรามีศีลแล้วไม่ตกนรกเท่านี้เป็นพอ ถ้าทรงศีลแบบนี้ชื่อว่าจิตอยู่ในขั้นกามาวรจสวรรค์ ถ้าจะเรียกเป็น สีลานุสสติกรรมฐาน ก็เป็นเพียงขั้น ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ ความมั่นคงยังไม่พอ แต่ว่าทำกำลังจิตของท่านให้บริสุทธิ์ มีความมุ่งมั่นผูกมัดอยู่ในศีลให้เป็น เอกัคคตารมณ์ โดยนิยม แล้วรักษาศีลเป็นฌาน คำว่าศีลเป็นฌาน ก็หมายความว่า เราจะไม่ยอมให้ศีลขาดเด็ดขาด ศีลนี้เราไม่ยอมให้บกพร่อง ทรงอารมณ์ให้เป็นปกติ การเคลื่อนไหวทุกอย่างเราจะคุมอารมณ์ของศีลให้เป็นปกติ ไม่ยอมให้ศีลนี่มันคลาดจากจิตของเรา อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรง
สีลานุสสติกรรมฐาน
แล้วเป็นอะไร ก็เป็นพระโสดาบัน กับพระสกิทาคามี อย่างนี้ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง 4 คือ เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่มีผล ผลทางอบายภูมิไม่มี สำหรับผู้ทรงศีลแบบนี้ที่ว่ากันเฉพาะศีล 5 ถ้าท่านผู้ใดสามารถทรงศีล 8 ได้เป็นปกติ ท่านผู้นั้นมีปัจจัยจะได้พระอนาคามีในปัจจุบัน และก็ได้โดยรวดเร็ว
- เมื่อจิตรักศีลเป็นปกติ ก็ชื่อว่าท่านเป็นผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ คนที่เข้าถึงไตรสรณคมน์ คำว่าคนนี้หมายถึงพระ หมายถึงเณรหมด คำว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ ชาตินี้เวลาที่ตายลงอบายภูมิไม่เป็น ถ้าเวลาตายจิตอยู่ในไตรสรณคมน์ขั้นขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ ตายแล้วท่านเป็นเทวดาในชั้นกามาวจรสวรรค์ ถ้ากำลังใจของท่านตั้งมั่นอยู่ในศีลบริสุทธิ์ คิดว่าร่างกายจะตายก็ช่างมัน สิ่งที่เราต้องการคือศีลบริสุทธิ์ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌาน ก่อนจะตายจิตใจเป็นฌาน ตายแล้วท่านก็จะเป็นพรหม เพราะอำนาจสีลานุสสติกรรมฐาน
แต่ทว่าสมมติว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านยังไม่ตาย เมื่อกำลังใจของท่านทรงศีลบริสุทธิ์แล้ว ก็มานั่งคิดว่า การที่เราทรงศีลบริสุทธิ์เพื่ออะไร ศีลและกรรมบถสิบเป็นมนุษยธรรม เป็นธรรมที่ทำให้คนเกิดเป็นมนุษย์ชั้นดีแล้วก็ศีลบริสุทธิ์ ศีลนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า สีเลนะ สุคติง ยันติ คนทรงศีลบริสุทธิ์อยู่เป็นมนุษย์ก็มีความสุข ตายแล้วก็ไปเกิดในสุคติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็เป็นมนุษย์พิเศษ ดีมาก สมบูรณ์ทุกอย่าง หรือมิฉะนั้นก็เกิดเป็นเทวดา สีเลนะ โภคสัมปทา ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็มีความร่ำรวยทรัพย์ เยือกเย็น ถ้าเกิดเป็นเทวดาก็มีทิพย์สมบัติมาก สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ศีลเป็นปัจจัยให้เราเข้าถึงพระนิพพาน นี่เป็นอันว่าพอถึงจุดนี้ เราก็มั่นใจว่า ศีลตัวเดียวที่เรารักษา ถ้ากำลังใจของเราดี ประกอบด้วยปัญญาเล็กน้อย เราก็เข้านิพพานได้
- คนที่เข้าถึงพระนิพพานได้ อันดับแรกก็ต้องทรงศีลบริสุทธิ์ และนอกจากนี้ก็ทรงอารมณ์สมาธิให้ตั้งมั่น มีปัญญารู้เท่าทันสภาวะตามความเป็นจริง เราก็มานั่งคิดว่าทำไมศีลของเราจึงจะบริสุทธิ์ ความจริงนักปฏิบัติมักจะสนใจผิดคิดว่าการเจริญพระกรรมฐานนั้น จะต้องนั่งหลับตากันท่าเดียวมันจึงจะมีผล ถ้าหากว่าเป็นการฝึกด้านสุขวิปัสสโกนี้ ความจริงจะไม่นั่งหลับตาเลยก็ใช้ได้ มันขึ้นกับอารมณ์ใจ ศีลของเราบริสุทธิ์ได้ก็อาศัยเรามีสมาธิ สมาธิจะทรงตัวได้ก็เพราะอาศัยศีลบริสุทธิ์ เป็นอันว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลกัน ฉะนั้น ถ้าเราจะถือเหตุจริง ๆ ก็ต้องถือปัญญา คนใดถ้าไร้ปัญญา คนนั้นหาศีลไม่ได้ และคนใดไร้ศีล บุคคลนั้นจะมีสมาธิไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเจริญภาวนาครั้งแรก ก่อนที่จะภาวนา ขอทุกคนเคารพในศีลก่อน ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ขาดตกบกพร่องอย่างนี้ การเจริญภาวนาไม่เกิดผล ต้องเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ ฌานสมาบัติจึงเกิด ทีนี้การบกพร่องของศีลย่อมมีบ้างเป็นของธรรมดาของแต่ละบุคล ถ้าเวลาอยู่บ้าน ก่อนที่จะภาวนาให้สมาทานศีลก่อนเป็นการยับยั้ง ถ้าเรารู้สึกว่าจิตของเรามีศีล อารมณ์จะเป็นสุข ในเมื่ออารมณ์เป็นสุข สมาธิมันก็เกิด เมื่อสมาธิเกิด จิตมีความเยือกเย็น ปัญญามันก็เกิด
- ท่านพร่องในศีลด้วยเจตนาเพียงนิดเดียว ท่านไม่มีหวังที่จะทรงสมาธิเพื่อฌานสมาบัติได้เลย เพราะเพียงศีล มีการรักษาแบบหยาบ ๆ ท่านยังรักษาไม่ได้ ท่านจะเป็นผู้ทรงสมาธิที่มีอารมณ์ละเอียดกว่านี้ได้อย่างไร ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานมาเป็นเวลาหลายสิบปี ที่ไม่สำเร็จผลใด ๆ แม้แต่ฌานโลกีย์ก็ไม่ได้ ก็เพราะพร่องในศีลเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงสังวรเรื่องศีลให้มาก คำว่าสังวรนี่แปลว่าระวัง อันดับแรก ต้องมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน ไม่ใช่บริสุทธิ์เฉพาะเวลาที่สมาทานพระกรรมฐาน ให้ศีลบริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าศีลของท่านบริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออก การเจริญสมาธิก็เป็นของง่าย เพราะศีลจะมีขึ้นได้เพราะอาศัยเมตตา ความรักซึ่งกันและกัน กรุณา ความสงสารซึ่งกันและกัน คนที่มีจิตเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร อารมณ์เย็น จิตมีความเยือกเย็น ความฟุ้งซ่านของจิตไม่มี ความเร่าร้อนของจิตไม่มี อารมณ์ก็สบาย ในเมื่ออารมณ์สบายมีความเยือกเย็น จิตก็ทรงสมาธิได้ดี ความอาฆาต พยาบาท หรือการจองล้างจองผลาญคิดประหัตประหารซึ่งกันและกัน หรือความโลภโมโทสันอยากได้ทรัพย์ของบุคคลอื่น การที่จะละเมิดความรัก หรือการที่จะมุสาวาท การที่จะดื่มสุราเมรัยไม่มี ในเมื่ออาการ 5 อย่างนี้ไม่มีแล้ว จิตก็มีความสบาย มีอารมณ์เป็นสุข อันดับแรกจึงควรปรับปรุงศีลให้ดี เมื่อปรับปรุงศีลดีแล้ว สมาธิก็ทรงตัว เมื่อสมาธิทรงตัว ปัญญามันก็เกิด นี่เป็นพื้นฐานของการเจริญฌานและวิปัสสนาญาณ
- การรักษาศีลของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าต้องดูตามกำลัง พระพุทธเจ้าท่านไม่มีการเครียด ท่านปฏิบัติตามความเหมาะสม ถ้าไม่ดีแต่งอย่างนั้นไม่ได้ก็ต้องดูนางวิสาขา นางวิสาขาท่านมีเครื่องมหาลดาปสาธน์ราคา 16 โกฏิ นางวิสาขาทรงเครื่องอย่างนี้ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยคิดว่าเลยใช่ไหม จะว่าเขาแต่งเกินไปไม่ได้ เพราะเขามีอย่างนั้น และเวลาเราเข้าสังคมก็เหมือนกัน ปล่อยหน้าเซียว ๆ เข้าไปก็ไม่เหมาะสม เราก็ต้องแต่งตามเขา แต่อยู่บ้านเราก็ไม่ได้สนใจเกินไป เราก็ใช้แก้งทาหน้าบ้าง ทาได้ ทาเฉพาะความเหมาะสมอยู่เป็นสุข ไม่ไปอวดใคร เพื่อกิเลสอันนี้ ไม่ถือ ต้องดูแค่พอดี ๆ และศีลนั้นมันขาดยาก มันจะต้องขาดด้วยเจตนา ตั้งแต่เวลานี้ไปจะเป็นตายอย่างไรก็ตามไม่ละเมิดศีลห้าแน่ ตั้งใจไว้ให้แน่เป็นอันดับแรก เว้นไว้แต่เผลอ เผลอเขาไม่ถือว่าทำลายศีล บางวันเราอาจจะเผลไปบ้างก็เป็นของธรรมดา ถ้าบังเอิญรู้ตัวว่าเผลไป เราก็ยับยั้งมันเสียใหม่ ว่าเราจะไม่ทำต่อไป และข้อสำคัญขอให้ค่อย ๆ ฝึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำคัญที่ศีล อย่าเร่งรัดเกินไป ถ้าเร่งรัดเกินไปเป็นการทรมานตัว ค่อย ๆ ระมัดระวัง วันนี้เราตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ครบถ้วน เวลาจะนอนก็นั่งนึกนอนนึก คิดว่าตั้งแต่เช้าจนกว่าจะเข้าถึงเวลานอน เราพลาดศีล 5 ข้อไหนบ้าง ถ้าบังเอิญพบพลาดเราก็ตั้งใจคิดว่า วันพรุ่งนี้เราจะไม่ยอมพลาดทั้งหมด อันนี้ใหม่ ๆ มันอดพลาดไม่ได้ เป็นของธรรมดา