หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    หัวใจของการปฏิบัติธรรม ว่าด้วยเรื่อง ภาวนา
    หัวใจของการปฏิบัติธรรม
     
    ว่าด้วยเรื่อง ภาวนา
     
    1. เรื่องของสมาธิ
                            -ในตอนต้น บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทจะเริ่มเจริญพระกรรมฐาน ขอให้จุดธูปบูชาพระก่อน อันดับแรกนะ แล้วก็ตั้งใจจำรูปพระพุทธรูป ลืมตาดูท่านจำให้ได้ ไม่หลับตาก็ได้ ตั้งใจจำภาพพระไว้ แล้วก็บูชาพระตามที่เคยบูชา หลังจากนั้นแล้วก็สมาทานพระกรรมฐาน ถ้าสมาทานไม่ไหวก็ไม่ต้อง ตั้งนะโม 3 จบ ว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ใช้ได้
                            ต่อจากนั้นไปก็นั่งขัดสมาธิ นั่งที่บ้านญาติโยมทั้งหลาย จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ จะนั่งพับเพียบก็ได้ จะนั่งเก้าอี้ก็ได้ นั่งห้อยขาก็ได้ ตามชอบใจ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเอาตามสบาย นั่ง นอน ยืน เดิน ทั้งสี่อย่างนี้มีผลเสมอกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องนั่งเฉย ๆ อย่างเดียว
                            -เวลาปฏิบัติ เริ่มทำสมาธิ ตัดกังวลเสียก่อน สิ่งใดที่จะห่วงใยยกเลิกทิ้งไป และก็ตัดสินใจว่าจะต้องปฏิบัติให้มีผลตามคำแนะนำ ไม่ห่วงแม้แต่ร่างกาย ทุกคนเมื่อตัดกังวลไม่ห่วงแม้แต่ร่างกาย แล้วก็ตั้งใจสมาทานศีล เรื่องศีลนี่ความจริงไม่ใช่จะมีเฉพาะเวลาปฏิบัติ ศีลนี่เป็นเครื่องค้ำจุนฌานสมาบัติ สมาธิ หรือญาณ จะมีขึ้นได้เพราะศีล ถ้าศีลบกพร่อง ฌานก็พร่องด้วย ถ้าศีลสมบูรณ์แบบ สมาธิหรือฌานจึงจะสมบูรณ์แบบ นอกจากนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนคุมอารมณ์ให้ดีในพรหมวิหาร 4 ให้จิตทรงตัว คำว่าปกติ ต้องเหมือนศีล ศีลนี่ต้องบริสุทธิ์ทุกวัน และพรหมวิหาร 4 ต้องทรงตัว และเวลาเจริญพระกรรมฐาน ไม่ได้หมายความว่า ใช้เวลานั่งสมาธิเสมอไป ถ้าเราใช้แต่เวลาที่นั่งสมาธิ เวลาสงัด จิตใจเราจึงจะกำหนดถึงพระกรรมฐานอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เนื้อแท้การเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม ต้องใช้อารมณ์ของเรานี้นึกถึงกรรมฐานเป็นปกติตลอดวัน อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า ท่านเข้าถึงพระกรรมฐาน และพระกรรมฐานเข้าถึงท่าน และการนั่งสมาธิให้คนเห็น พระพุทธเจ้าท่านทรงปรับว่าเป็นอุปกิเลส  มันจะมีการโอ้อวดอยู่ในตัวเสร็จ ใช้ไม่ได้
                            -สมาธิ แปลว่า ความตั้งใจ ตามขั้นตอนก็มีอยู่เยอะ ทุกคนเวลาทำ ให้พอใจในอารมณ์ที่ทรงอยู่เวลานั้น จะทรงอยู่ระดับไหนก็ตาม ให้พอใจในอารมณ์นั้น จิตใจจะได้ไม่มีความกลุ้ม การเริ่มต้นสมาธิ ให้กำหนดจับลมหายใจเข้าออก ทำความรู้สึกว่าเวลานี้หายใจเข้า เรารู้อยู่ หายใจออก เรารู้อยู่ แล้วก็ภาวนาตาม คำภาวนานี้ไม่จำกัด ใครจะภาวนาอย่างไรก็ได้ตามชอบใจ ถ้าไม่เคยภาวนาเลย ให้ใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท หายใจออกนึกว่าโธ ตอนหายใจก็เหมือนกัน ขอจงอย่าบังคับร่างกาย ร่างกายจะหายใจเร็วหรือช้า ก็เป็นเรื่องของร่างกายอย่าบังคับ ลมหายใจนี่ต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของร่างกาย ร่างกายจะหายใจช้าหรือเร็วก็ตามใจแล้วแต่ร่างกาย จะได้ไม่เหนื่อย
                            -อารมณ์พระกรรมฐานกับอารมณ์ชาวโลกไม่เหมือนกัน มันกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไอ้การงานชาวโลก ถ้าขยันมุมานะมาก ผลงานมันสูง แล้วก็ดี แต่การเจริญพระกรรมฐาน มุมานะมากถอยหลัง แทนที่จะก้าวหน้า มันกลับลงต่ำ ใช้ไม่ได้ เพราะว่าการปฏิบัติความดีเพื่อการบรรลุในพุทธศาสนา ต้องละส่วนสุดสองอย่างคือ หนึ่ง อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนที่เรียกว่าขยันเกินไป สอง กามสุขัลลิกานุโยค เวลาทรงสมาธิหรือพิจารณาวิปัสสนาญาณ มีตัวอยากประกอบไปด้วย อยากจะได้อย่างนั้น อย่างนี้ มันก็เจ๊งทั้งสองทาง ที่ถูกคือจะต้องวางใจเฉย ๆ ปล่อยอารมณ์ให้มันเป็นไปตามสบาย ๆ
                            -การปฏิบัติ ไม่ว่ากรรมฐานกองใดทั้งหมด อุปสรรคทางจิตย่อมปรากฎมีขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเกิดจากอารมณ์ก็ดี หรือว่าเกิดจากทางกายก็ดี ถ้าเราไม่ยอมแพ้เสียอย่างเดียว เราก็ชนะอุปสรรคต่าง ๆ มันจะมีขึ้นได้มันก็สลายตัวได้เหมือนกัน ต้องถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาทุกอย่าง ถ้าเอาจิตไปจับธรรมดาเสียอย่างเดียว จิตมันก็มีความสุข การเจริญกรรมฐาน ความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ ต้องการให้มีความสุข การฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิต้องพยายามทำ จงอย่าคิดว่าทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาทำได้แต่เกิด ทุกคนต้องฝึกเหมือนกัน พระอรหันต์ทุกองค์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ฝึกกันมาแบบนี้ ค่อยทำค่อยไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดมันก็เข้าถึง ถ้าเราไม่ละความพยายาม
                            -วิธีปฏิบัติ นักปฏิบัติทุกคน อันดับแรกท่านแนะนำให้ใช้ลมหายใจเข้าออกก่อน อันนี้ทิ้งไม่ได้ ในกรรมฐาน 40 หรือในมหาสติปัฏฐานสูตรก็ตาม ทั้งสองอย่างนี้ ท่านให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นใหญ่ ขณะใดที่รู้ลมเข้ารู้ลมออก เวลานั้นจิตว่างจากนิวรณ์  นิวรณ์คือกิเลสหยาบที่ทำให้ปัญญาถอยหลัง กั้นความดี ขณะใดที่รู้ลมเข้าลมออก ขณะนั้นจิตเป็นสมาธิ ขณะนั้นจิตว่างจากกิเลส ถือว่าเวลานั้นจิตของเราเป็นบุญ
                            โดยเฉพาะลมหายใจเข้าออกกันความฟุ้งซ่านของจิต การเจริญกรรมฐานมีความสำคัญที่ต้องระงับความฟุ้งซ่าน แต่การระงับความฟุ้งซ่านต้องรู้กำลังของจิต เพราะว่าตามธรรมดาจิตของเรามี 2 สภาพ คนเดียวนะใช้เวลาต่างกัน บางเวลามันต้องการความสงบ ถ้าเราจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาควบกัน มันจะทรงตัว มีความสงบสงัดดี และบางเวลาจิตต้องการคิด เวลานั้นจับลมหายใจเข้าออก ก็จับเข้าไปเรื่อย ๆ แต่ว่าจิตยังไม่มีการทรงตัว รู้ลมเข้ารู้ลมออก แต่มันอยากคิด อันนี้ต้องปล่อยให้มันคิด ถ้าฝืนจะมีอาการกลุ้ม คิดก็คิดอยู่ในขอบเขตของกรรมฐาน อย่างในกรรมฐาน 40 นี่มีอารมณ์ทรงตัวอยู่แค่ 11 อย่าง และมีอารมณ์คิดอยู่ 29 อย่าง จะใช้กองใดกองหนึ่งก็ได้ใน 29 อย่าง คิดกองไหนก็ได้ คิดตาม
                            -การรู้ลมหายใจเข้าออกกับคำภาวนานี่มีความสำคัญมาก เป็นการป้องกันนิวรณ์ 5 ประการได้ และประการที่สองเป็นการป้องกันอบายภูมิได้ด้วย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเรามีฌานสมาบัติ หรือมีสมาธิดี แม้แต่ฌานเบื้องต้น ขณะที่เราตายเราไม่หลงตาย นั่นหมายความว่า ขณะที่จะตาย สติสัมปชัญญะจะดีอยู่จิตจะนึกถึงพระอยู่เสมอ หรือว่าจิตจะนึกถึงสิ่งที่เป็นบุญกุศลอยู่เสมอ ถ้าขณะก่อนจะตายถึงแม้ว่าเราจะทำบาปมากสักเท่าไรก็ตาม แต่ว่าถ้าจิตนึกถึงพระก็ดี นึกถึงสิ่งที่เราทำบุญก็ตาม เราจะไปสวรรค์ก่อน
                            -สมาธินี่ถ้าทำเฉย ๆ ก็ไม่ไปไหน มันก็อยู่แค่ฌาน เรื่องสมาธิ ถ้าหากได้จริง ๆ ก็อยู่แค่ฌาน 4 แล้วก็ไม่ไปไหน ก็ทรงตัวบ้าง เดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง ที่นี้ผลการปฏิบัติจริง ๆ เขาไม่ได้มุ่งสมาธิ ต้องหวังตัดสังโยชน์ ถ้าบอกว่าวิปัสสนาญาณก็จะมากเกินไป ความจริงถ้ามุ่งตัดสังโยชน์ก็ต้องดูอารมณ์ใจตัวตัด  ไม่ใช่ดูสมาธิ
                            อันดับแรก ความโลภ อยากได้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นมีในเราหรือเปล่า เบาลงไปไหม ประการที่ 2 ความโกรธเบาไหม ประการที่ 3 ความหลงเบาลงไปไหม สิ่งที่มีความสำคัญ 1. ลืมความตายหรือเปล่า 2. เคารพพระไตรสรณคมณ์จริงจังไหม 3. มีศีล 5 บริสุทธิ์ไหม 4. หวังพระนิพพานจริงจังหรือเปล่า เขาดูตรงนี้ มุ่งเอาสมาธิมันไม่มีการทรงตัว เวลาใดร่างกายดี   ไม่มีอารมณ์กลุ้ม สมาธิก็ทรงตัว ร่างกายเพลียหน่อย สมาธิก็ทรุดตัว เอาแค่สมาธิไปไม่รอด
                            -กำลังใจของเราที่ต้องการทรงสมาธิก็เช่นเดียวกัน อย่าฝืนอารมณ์ อย่าฝืนร่างกาย ถ้าจิตใจฟุ้งซ่านเกินไปก็เลิก หรือว่าจิตใจกระสับกระส่ายเกินไปก็เลิก ร่างกายทนทุกข์ทรมานไม่ไหว ถ้านั่งไม่ไหวก็นอน นอนทนไม่ไหวก็ยืน ยืนทนไม่ไหวก็เดิน ถ้าทั้ง 4 อย่างนี้มันทนไม่ไหวก็เลิก เลิกเสียก่อนเวลา อันนี้เป็นการขึ้นต้นของการเจริญพระกรรมฐานโดยปกติธรรมดา ก็รวมความว่า สมาธิต้องทำเพื่อเป็นการฝึกอารมณ์ แต่อย่าให้เคร่งเครียดมากเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโบราณาจารย์ท่านสอน ก่อนที่จะเริ่มต้นทำสมาธิให้นึกถึงวิปัสสนาญาณก่อน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก่อนทำสมาธิเป็นอย่างอื่น จับลมหายใจเข้าออกก่อนภาวนา ก็นึกว่า ความเกิดมีแล้วมันต้องตาย ประการที่สอง เราจะไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยะสงฆ์ จะรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ เราจะมีนิพพานเป็นที่ไป แล้วก็ตั้งใจภาวนาตามอัธยาศัย
                            -ทีนี้เมื่อเราได้สัมผัสภาพใหม่ ๆ ไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อจิตกระทบภาพปั๊บ ความสนใจเกิดขึ้น สมาธิเคลื่อน ภาพหาย หายไปแล้วจะเรียกคืนไม่ได้ บางคนที่เป็นบ้า เพราะบ้าตรงนี้ บ้าเพราะหลงภาพ จงจำไว้ว่า ภาพที่จะปรากฎกับเราได้ ที่เราต้องการคือ ภาพที่เราตั้งไว้ก่อน อย่างเรานั่งบูชาอยู่ นั่งจำภาพพระพุทธรูป ลืมตามองภาพ จำได้ หลับตานึกถึงภาพ ถ้าภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไป อันนี้ดีมาก ถ้าภาพพระพุทธรูปใหญ่ขึ้น โตขึ้น สว่างมากขึ้น อันนี้สมาธิดีขึ้น ต่อไปอาจจะเปลี่ยนเป็นมนุษย์ เป็นภาพของมนุษย์ เป็นพระสงฆ์ธรรมดา อย่างนี้ใช้ได้ ก็รวมความว่า อย่าหลงภาพอื่น ให้ตั้งใจเฉพาะภาพที่เราต้องการ
                            -ในอันดับแรก การแผ่เมตตาจิต ให้เว้นบุคคลที่เป็นศัตรูเสียก่อน เพราะใจจะเศร้าหมอง ถ้านึกถึงคนที่เป็นศัตรู จิตจะขุ่นมัว เราก็ไม่นึกถึง เรานึกถึงคนที่ไม่เป็นศัตรูก่อน ต่อไปถ้าจิตใจเชื่องในอารมณ์นี้ ก็สามารถคิดถึงศัตรูได้ แผ่เมตตาจิตไปในศัตรูว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของเขา ในเมื่อแผ่เมตตาจิตไปในจักรวาลทั้งปวงแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่า ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้นก็รู้ หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้ การรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกนี่จิตเป็นสมาธิ เรียกว่ามีสมาธิในอานาปานุสสติ การรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญมาก เป็นแม่บทของกรรมฐานอีก 39 กอง เพราะกรรมฐานที่เป็นแม่บทจริง ๆ มี 40 กอง แต่ว่าอานาปานุสสติคุมอีก 39 กอง
                            ดังนั้น ก่อนที่จะภาวนา ก่อนที่จะพิจารณา ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง อันนี้ต้องทำ ยังไม่ภาวนาด้วย ยังไม่พิจารณาด้วย พอนั่งปั๊บ จะนั่ง นอน ยืน เดินเหมือนกัน ทำได้หมด ให้ตั้งใจแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง จงมีความรู้สึกว่า มนุษย์หรือสัตว์ก็ดีทั้งหมด เราจะเป็นมิตรที่ดีของสัตว์ในโลกทั้งหมด เราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร เราจะมีความสงสารเพื่อการสงเคราะห์ ถ้าหากเราไม่สามารถจะสงเคราะห์ได้ จิตสงสารยังมีอยู่ อันดับแรกให้ทำแบบนี้ก่อน
                            สมาธินี่เราจะแพ้หรือชนะสมาธิก็อยู่ที่นิวรณ์ ถ้าขณะใดนิวรณ์กวนใจ เวลานั้นสมาธิไม่เกิด เวลาที่จะทำสมาธิ ต้องพยายามจำกัดนิวรณ์ให้พ้นไปจากใจ นิวรณ์ 5 ประการก็คือ
                            1. กามฉันทะ มีความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
                            2. อารมณ์ไม่พอใจ
                            3. ความง่วง
                            4.  ฟุ้งซ่านเกินไป
                            5. สงสัยผลการปฏิบัติ
                            ถ้าหากว่านิวรณ์มันเกิดขึ้น อาการตัดนิวรณ์ ตัดด้วยการภาวนา มันทรงตัวช้า ก็ตัดไปด้วยพระกรรมฐาน
                            กามฉันทะ ก็ตัดด้วยอสุภกรรมฐาน กับกายคตานุสสติ
                            ความโกรธ ความพยาบาท ก็ตัดด้วยพรหมวิหาร 4 หรือกสิณ 4
                            ความง่วงเกิดขึ้น เดินไปเดินมา เดินมาเดินไปเสีย ใช้วิธีจงกรมมันทนไม่ไหว ฟังเสียงให้หลับไป ในเมื่อมันทนไม่ไหวจริง ๆ ก็อย่าไปทนมัน จะเป็นโรคเส้นประสาทเปิดบันทึกเสียงตามอารมณ์ที่เราพอใจ ให้มันหลับไปกับเสียงที่เป็นธรรมะ อย่าปล่อยให้มันไร้ประโยชน์
                            อารมณ์ฟุ้งซ่าน ก็ใช้อานาปานุสสติ หรือว่าหาวิธีแก้อารมณ์ฟุ้งซ่าน มันซ่านจริง ๆ โดยเฉพาะก็เปิดแผ่นบันทึกเสียงตามที่เราชอบใจ อารมณ์สงสัยเกิดขึ้น ก็หาความเป็นจริงดังเช่นว่า พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ถูกไหม เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของจริงไหม หิวเป็นทุกข์จริงไหม ฯลฯ ใช้อารมณ์อย่างนี้เป็นปกติ
                            -ความจริงเรื่องนิวรณ์ 5 ประการ นี่เราฆ่ามันไม่ตาย   ถ้าเราไม่ใช่พระอริยเจ้าเบื้องสูงขั้นพระอนาคามีก็ฆ่าได้แค่ 2 ตัว คือ กามฉันทะ กับอารมณ์ไม่พอใจ แต่พระอรหันต์นี่สามารถฆ่านิวรณ์ได้ทั้งหมด ฉะนั้น ในเมื่อเรายังไม่เป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ ก็แค่ระงับหรือหลบหน้ามันชั่วคราว พยายามชนะคราวละเล็กละน้อย คือว่าขณะที่เรารู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก เวลานั้นให้สนใจเฉพาะลมหายใจเข้าหายใจออก แล้วก็คำภาวนาควบ จะภาวนาว่าอย่างไรก็ตามใจชอบ สักประเดี๋ยวหนึ่งมันจะเผลอคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาแทรก ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา พอเรารู้ตัวใหม่เราก็เริ่มต้นใหม่ หายใจเข้ารู้อยู่ หายใจออกรู้อยู่ อย่างนี้เป็นต้น
                            ถ้าต่อไปทำจนชิน คำว่าชินก็คืออารมณ์ฌาน จิตจะทรงตัวมากขึ้น หากว่าบรรดาพุทธบริษัทชายหญิง ชนะนิวรณ์ 5 ประการได้เมื่อไร เรื่องผี เรื่องเทวดา นรก สวรรค์ ไม่ใช่ของแปลกอีกต่อไป
                            -สมาธิ แปลว่า ความตั้งใจ การฝึกขั้นต้นก็ต้องเพียงแค่รู้ลมหายใจเข้าออก พยายามเอาจิตเข้าไปทรงตัว หายใจเข้าก็ดี หายใจออกก็ดี เรารู้ตัว ขณะใดที่เรารู้ตัวอยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออก เวลานั้นขึ้นชื่อว่า เรามีสมาธิในอานาปานุสสติกรรมฐาน คือลมหายใจเข้าออก แต่การรู้ตัว ยังไม่ภาวนาก็ตาม หรือภาวนาด้วยก็ตาม มันจะทรงตัวได้ไม่นาน สักประเดี๋ยวเดียวจิตก็จะเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น ถ้าจิตเคลื่อนไปคิดนั่นคิดนี่ไปตามเรื่องตามราวของจิตที่คิดไปรอบนอก ก็เป็นธรรมดา เมื่อรู้ตัวขึ้นมาว่า เวลานี้จิตคิดนอกลู่นอกทางจากที่เราตั้งใจไว้ ก็หันเข้าไปรับรู้ลมหายใจเข้าออกใหม่ อย่างนี้เรียกว่า ขณิกสมาธิ
                            -ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิเล็กน้อย อารมณ์จะทรงได้ไม่นานนัก บางทีหนึ่งนาทีบ้าง สองนาที สามนาทีบ้าง เป็นอย่างมาก จิตก็เคลื่อนนึกถึงเรื่องอื่นเข้าไปแทรก อย่างนี้ไม่เป็นไร ก็ถือว่าเราเริ่มต้นมีสมาธิแล้ว ในเมื่อมันเคลื่อนไป เราทราบว่ามันเคลื่อนก็เริ่มต้นใหม่ จับลมหายใจเข้าออกใหม่ รู้ลมหายใจเข้าออก ภาวนาตาม ทำแบบนี้สลับกันไป ต่อมาจิตก็มีความชุ่มชื้นขึ้น มีปิติ คำว่าปิติ หมายถึง ความอิ่มใจ อย่างนี้เข้าถึงขั้นอุปจารสมาธิ
                            -การฝึกขั้นต้น หนึ่ง ให้รู้ลมหายใจเข้าออก และก็ขอได้โปรดจงอย่าเครียดกับอารมณ์ บางทีเราตั้งใจเกินไป คือว่าเราไม่ต้องการให้จิตเคลื่อนจากอารมณ์ จาการทรงตัว สักประเดี๋ยวหนึ่งก็เคลื่อนไป คิดอย่างโน้นอย่างนี้เข้า ทีนี้เราตั้งใจจะทรงตัวให้มาก เมื่อจิตทรงตัวไม่ได้มาก เราก็โมโหจิต ถ้าเราไปโมโหจิตหรือโกรธใจอย่างนี้ จิตฟุ้งซ่าน สมาธิพลาด ก็ต้องตั้งใจสบาย ๆ คิดว่าการฝึกสมาธิจะมากก็ตาม จะน้อยก็ตาม ย่อมมีอานิสงส์ คำว่าอานิสงส์ก็หมายความว่า บุคคลใดสามารถทรงขณิกสมาธิได้ คำว่าทรงนี้ไม่ใช่ทั้งวันนะ ถ้าทั้งวันไม่ใช่ขณิกสมาธิ อันนี้เป็นฌาน คำว่าทรงขณิกสมาธิได้ก็หมายความว่า ขณะเวลาใดก็ตาม ถ้าเราต้องการจะรู้ลมหายใจเข้า จะรู้ลมหายใจออกก็ตาม หรือต้องการภาวนาควบคู่ก็ตาม เราสามารถทำได้ เมื่อมีความสามารถทำได้ แต่ทว่าสักประเดี๋ยวหนึ่งจิตก็ไหลไปสู่อารมณ์อื่น ก็ไหล ๆ ไป เรารู้ตัวเราก็เริ่มต้นใหม่ หายใจเข้าออกใหม่ ภาวนาใหม่ และก็สักครู่ก็ไม่สามารถจะทนได้ รำคาญต้องเลิก อย่างนี้ทรงได้ในขั้นขณิกสมาธิ
                            -ถ้าปฏิบัติได้ถึงขั้นขณิกสมาธิ มีการสะสมทีละน้อย ไม่ใช่ของต่ำ จนกว่าเราจะตาย หรือว่าเราใกล้จะตาย ที่เราป่วยไข้ไม่สบาย เราก็ตั้งใจนึกถึงพระพุทธเจ้า คือพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ และก็รู้ลมหายใจเข้าออกและภาวนาไปด้วย คำว่าภาวนา ให้ภาวนาตามอัธยาศัย แต่ส่วนใหญ่เขาแนะนำให้ภาวนาว่าพุทโธ และคำภาวนานี่ไม่บังคับนะ ถ้าบังเอิญเวลาที่เราป่วย เวลานั้นยังเอิญเป็นเวลาตายเข้ามาพอดี แต่ยังไม่ตาย ขณะที่ป่วยไม่ไว้ใจตัวเอง นึกหายใจเข้าว่าพุท หายใจออกโธ ได้ประเดี๋ยวหนึ่งก็หายไป ต่อ ๆ ไปอารมณ์สบายก็นึกลมหายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ ประเดี๋ยวหนึ่งเพียงแค่เท่านี้ ถ้าตายจากความเป็นคน เป็นเทวดาก็ได้ เป็นนางฟ้าก็ได้ เป็นได้แน่นอน
                            -การเจริญสมาธิถ้าจิตถึงปิติ ถ้าสมาธิถึงปิติ ตอนนี้ระมัดระวัง ถ้าเข้าถึงปิติคือความอิ่มใจ ตอนนี้มันจะไม่อยากเลิก หรือว่าเข้าถึงอุปจารสมาธิ มันจะไม่อยากเลิก ถ้าไม่กำหนดเวลาอย่าใช้เวลามากเกินไป ถ้าเวลามากเกินไปนี่ทำให้ประสาทฟุ้งซ่าน การพักผ่อนน้อย ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเราเคยพักผ่อนเท่าไรก็พักผ่อนเท่านั้น เพราะการเพลินเกินไปไม่พักผ่อน เป็นโรคเส้นประสาทกันหลายราย
                            -อาการของปิติมี 5 อย่าง คือ
                            1. ขนพองสยองเกล้า พอเริ่มทำสมาธิปั๊บ ขนก็ลุกซู่ซ่าเหมือนกับกลัวผี อาการอย่างนี้อย่างหนึ่ง
                            2. น้ำตาไหล
                            3. ร่างกายโยกโคลง โยกไปโยกมา โยกหน้าโยกหลัง
                            4. มีการตัวเต้นเหมือนปลุกพระ หรือตัวลอยไปในอากาศ
                            5. มีอาการซาบซ่านทางร่างกาย  หมายความว่า มันเหมือนกับลมออกจากร่างกาย วิ้ว มีความรู้สึกมันออกหนัก ๆ เข้าจะรู้สึกเบา หนัก ๆ เข้ามีความรู้สึกว่าไม่มีร่างกาย มีความรู้สึกว่าหน้ามันใหญ่ขึ้น มันรู้สึกแต่หน้า ตัวหายไป
                            อาการปิติทั้ง 5 อย่างนี้ อาจจะไม่เกิดกับคนทุกคน
                            บางท่านอาจจะเกิดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่เกิดเลยก็ได้ แต่จิตก็มีความชุ่มชื่น แต่บางท่านก็เกิดทั้ง 5 อย่าง อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ปล่อยอย่าสนใจ สนใจอย่างเดียวคือจิตเป็นสุข เวลานั้นจิตจะมีความสุขมาก อิ่มเอิบ ปลื้มใจมาก
                            และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว จิตเริ่มเป็นทิพย์ ตัวนี้มีความสำคัญมาก จงอย่าหลงภาพที่เกิดขึ้น นอกจากภาพที่เรากำหนดไว้ ถ้าตั้งใจดูพระพุทธรูป ถ้าภาพพระพุทธรูปโตขึ้นหรือเล็กลง นั่นดีมาก สูงขึ้นบ้าง ต่ำบ้าง ไปข้างหน้า ไปข้างหลังได้ อย่างนั้นดีมาก ถ้าเป็นภาพอื่นจงอย่าสนใจ เพราะภาพเกิดขึ้นในขณะจิตเริ่มเป็นทิพย์
                            อาการของปิติถ้าเกิดขึ้นให้ปล่อยไป ถ้าจิตมันผ่านนี้ไปแล้ว ถ้าผ่านตัวนี้ไปก็เข้าถึงฌาน เมื่อเข้าถึงจุดนี้แล้ว จิตก็จะมีความสุข เข้าถึงสุขตัวที่ 2 เป็นตัวที่ 2 ของปิติ ของอุปจารสมาธิ
                            -การปฏิบัติจริง ๆ จงอย่าบังคับเวลาของจิต เวลาจริงเอาแค่จิตเป็นสุขในขณะที่ทำกรรมฐานไป รู้ลมหายใจเข้าออกไป รู้คำภาวนาไป จิตเริ่มเป็นสุข มันจะเป็นสุขขนาดไหนก็พอใจขนาดนั้น แต่ว่าถ้าจิตเริ่มเป็นสุข อย่างนี้ไม่ใช่ขณิกสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ ถ้าขณิกสมาธิเล็กน้อย ยังไม่ถึงขั้นเป็นสุข แค่รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก แต่ภาวนาประเดี๋ยวเดียว จิตก็เริ่มเลือนหายไปจากอารมณ์ภาวนา ไปคิดนี่คิดโน่นตามอารมณ์ บางทีก็ไปคิดอารมณืที่เราไม่เคยนึกไว้ก็ช่างมัน พอรู้ตัวปั๊บว่าเลื่อนไหลไปแล้วก็เริ่มต้นใหม่ รู้ลมหายใจเข้าออกใหม่ อย่างนี้เป็นขณิกสมาธิ อันนี้พอภาวนาไปด้วย รู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วยจิตเริ่มเป็นสุข มีความอิ่มเอิบ มีความเบิกบานใจ มีความชุ่มชื่นเกิดขึ้น รู้สึกไม่อยากเลิกจากสมาธิ จิตใจสบายมาก อย่างนี้เริ่มเข้าถึงปิติ เป็นขั้นอุปจารสมาธิเบื้องต้น หลังจากนั้นต่อไปอารมณ์จะเป็นสุข สุขยอดเยี่ยมอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนอย่างนี้ หรือว่าเป็นองค์ที่ 5 เป็นสุขในสมาธิ เป็นอาการเต็มของอุปจารสมาธิ
                            เมื่อหลังจากสุขแล้ว จิตยังมีอาการทรงตัว ไม่สนใจอารมณ์ใดทั้งหมด มีการทรงตัวเฉย ๆ และภาวนาอยู่ จิตมีอารมณ์โพลงไม่ใช่หลับ ไม่ใช่มืด จิตมีความสว่าง จิตทรงตัวเฉย ๆ อย่างนี้เป็นปฐมฌาน
                            -นักปฏิบัติพระกรรมฐาน เมื่อเข้าถึงปิติถึงอุปจารสมาธิ มีปิติเต็มที่ได้ดีทุกคน เว้นไว้แต่คนที่หลงเท่านั้น อาการที่เกิดขึ้นทางกาย ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จงอย่าเอาจิตเข้าไปยุ่ง มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน เรารวบรวมกำลังใจไว้อย่างเดียว คือทรงอารมณ์จิตให้เป็นสมาธิ จงจำไว้ว่า การฝึกสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เราฝึกใจ แต่อารมณ์จิตมันละเอียดลงไปก็ปรากฎทางกายขึ้นมาบ้าง มันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยมัน อย่าไปสนใจ รักษาใจไว้เป็นสมาธิแล้วเป็นพอ
                            จิตที่เข้าถึงขั้นอุปจารสมาธิ จิตเริ่มเป็นทิพย์ มักจะเห็นภาพต่าง ๆ บางทีเห็นแสงสีบ้าง เห็นภาพเป็นคนเป็นวิมานบ้าง เป็นต้น ถ้าหากว่าบังเอิญเรานึกถึงภาพพระที่นั่ง แต่ภาพพระเปลี่ยนเป็นนอน เป็นยืน เป็นเดิน เราจับภาพพระพุทธ ภาพพระพุทธจะหายไปกลายเป็นพระสงฆ์ อารมณ์จิตเป็นอย่างนั้นก็ช่าง จะเป็นพระสีขาว สีดำ สีแดง ก็ช่าง เราจับภาพพระให้เป็นภาพพระก็แล้วกัน อิริยาบถจะเปลี่ยนไปอย่างไร สีแสงจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ช่าง ถ้าจับภาพอย่างนี้จริง ๆ ได้ทุกเวลาตามที่เราต้องการ อาการอย่างนั้นจะเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ   เมื่อจิตเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ อารมณ์แห่งทิพจักขุญาณมันเริ่มเกิด  ถ้าภาพนั้นไม่สดสวยนะ เป็นภาพธรรมดา ภาพที่เราเคยเห็นเป็นภาพพระพุทธรูปบางทีที่เห็นเป็นภาพนั่งบ้าง นอนบ้าง อย่าเอาภาพลอยมานะ เอาใจนึกเห็น อย่างนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนึก เอาใจนึกเห็น อย่างนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนึก เอาใจนึกเห็นไว้ อย่าไปอวดวิเศษว่าเป็นอุปทานนะ ใจที่เห็นอารมณได้หลับตาเห็นภาพได้มันไม่ใช่อุปาทาน
                            คำว่าอุปาทาน หมายถึงสิ่งที่เราคิดไว้ก่อน เราเห็นไว้ก่อน แล้วเวลาที่เราทำสมาธิไป ไอ้สิ่งเหล่านั้นปรากฎขึ้นอย่างนี้เรียกว่าอุปาทาน เป็นตัวที่จิตมันยึดอยู่ ถ้าอารมณ์เราเป็นสมาธิจริง ๆ จับภาพพระเป็นปกติ แต่บางขณะจิตหายแวบลงไปสิ่งอื่นมันจะสะดุดขึ้นมา ปรากฎนึกในขณะจิตเป็นสมาธิ นั่นเป็นของแท้ไม่ใช่อุปาทาน
                            เมื่อจิตเข้าถึงปิติ หรืออุปจารสมาธิ ก็ต้องระมัดระวังว่ามันจะสุขขนาดไหนก็เชิญสุข มันจะอิ่มเอิบใจขนาดไหนก็เชิญเอิบอิ่ม แต่ว่าเราต้องพักผ่อนตามเวลาที่เราพักผ่อน ถ้าจิตถึงตอนนี้ เราสามารถกำหนดเวลาหลับเวลาตื่นได้  สมมติว่าเรานอนไปนี่ เราจะบังคับให้หลับภายใน 3 หรือ 5 นาที ก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เอาจิตจับที่ลมหายใจเข้าออก ภายในเวลาเท่านั้นมันจะหลับ ถ้าเราคิดจะตื่นเวลาไหน ตั้งใจไว้ว่าเวลานาฬิกาเท่านั้นเราจะตื่น ไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก มันจะตื่นตามเวลาที่ตั้งใจไว้ ฉะนั้น เป็นสมาธิที่มีกำลังสูง เรียกว่าใกล้ฌานสมาบัติ
                            คำว่าอุปจารสมาธิ นี่แปลว่าใกล้ฌาน หรือเฉียดฌานยังไม่ถึงฌานสมาบัติ อุปจารสมาธิมีอาการ 3 อย่าง 1. ปิติ 2. สุข 3. เอกัคคตา มีปิติกับสุขโดยเฉพาะ เอาอย่างหนัก ๆ จริง ๆ แล้วมีปิติกับสุข มีความอิ่มใจ มีความสุขใจมาก อาการอย่างนี้ถึงแม้จะเข้าถึงจิตของเราไม่นานก็ตาม 1 นาที 2 นาที 3 นาที 5 นาที 10 นาทีก็ตาม ถ้า 10 นาทีก็ถือว่ามากจัด อย่างนี้ต้องถือว่าจิตของท่านว่างจากกิเลสตามเวลานั้น อุปจารสมาธิจะให้ทรงตลอดวันนั้นเป็นไปไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติสมาธิเพื่อให้จิตเราทรงตัวในด้านความดี คือฝึกจิตให้ว่างจากกิเลสแม้จะชั่วเวลาเล็กน้อย ก็ชื่อว่ามีอานิสงส์มาก
                            เรื่องความสุขไม่มีความสำคัญมาก ก็มาพูดถึงปิติ เมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิจิตจะมีความสบายมากขึ้น แต่หูจะได้ยินเสียงชัดเจนแจ่มใส ใครจะพูดอะไรที่ไหนก็ได้ยิน แต่ว่าความรำคาญในเสียงน้อยลง จิตมีอาการชุ่มชื่นมาก มีความสบายมาก เพราะฉะนั้นต้องระวัง ที่เขาบอกว่า การเจริญกรรมฐานเป็นคนบ้าน่ะ ตอนนี้ตอนที่จิตเข้าถึงปิติหรืออุปจารสมาธิมันมีความอิ่มอกอิ่มใจ ทำแล้วไม่ยอมเลิก มันไม่อิ่ม ไม่เบื่อ มีแต่ความสุข มีความชุ่มชื่น ไม่พักผ่อนตามเวลาที่ควรพักผ่อน นอนก็ไม่ได้นอน กินก็กินไม่ได้มาก ในที่สุดก็เป็นโรคเส้นประสาท บ้า
                            ฉะนั้น การปฏิบัติพระกรรมฐาน ต้องถือเวลาพักผ่อนตามสมควรตามเดิม เราเคยพักผ่อนเวลาไหน ต้องพักผ่อนเวลานั้น ไม่ใช่ทำกรรมฐานเพลินจนไม่เลิก ใช้ไม่ได้ เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานตัวเกินไป พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่เป็นทางบรรลุผล อีกประการหนึ่ง เมื่อเราได้สัมผัสภาพใหม่ ๆ ไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อจิตกระทบภาพปั๊บ ความสนใจเกิดขึ้น สมาธิเคลื่อนภาพหาย หายไปแล้วจะเรียกคืนไม่ได้ บางคนที่เป็นบ้า เพราะบ้าตรงนี้ บ้าเพราะหลงภาพ จงจำไว้ ภาพที่จะปรากฎกับเราได้ ที่เราต้องการคือภาพที่เราตั้งไว้ก่อน อย่าหลงภาพอื่น ให้ตั้งใจเฉพาะภาพที่เราต้องการ
                            -ขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่านจำตรงนี้ไว้ว่า พระพุทธเจ้าบอกไว้เลยว่า บุคคลใดสามารถทำจิตใจให้ว่างจากกิเลสวันหนึ่ง 24 ชั่วโมง มันว่างแค่ชั่วขณะจิตเดียว นาทีหรือ 2 นาที ท่านชมว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตไม่ว่างจากฌาน วิธีที่ทำจิตให้ว่างจากกิเลส ทำอย่างไร ถ้าเข้าใจแล้วเป็นของไม่ยาก ถ้าจะมีจิตว่างจากกิเลสก็คือ อารมณ์ของพระพุทธเจ้า อันดับแรก ตั้งใจทรงศีลก่อน วันทั้งวันเราอาจจะบกพร่องบ้างเรื่องศีล เวลาจะเริ่มทำสมาธิก็ตั้งใจสมาทานศีลเพื่อความมั่นใจ เมื่อสมาทานศีลเสร็จก็เริ่มกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หลังจากนั้นก็ภาวนาตาม ไม่ให้อารมณ์ส่งไปสู่อารมณ์อื่น รู้จักควบคุมใจของเราให้อยู่เฉพาะกิจที่เราจะพึงทำ นึกอยู่ ควบคุมกำลังอยู่ เท่านี้ตามเวลาที่กำหนด ถ้าเราบังคับจิตของเราอย่างนี้ไปทุกคราวที่เจริญพระกรรมฐาน นกระทั่งจิตมีอารมณ์ชินอย่างนี้ จิตของเราก็เป็นฌาน สำหรับสุกขวิปัสสโก ไม่จำกัดคำภาวนาในเบื้องต้น แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติไปเพื่อเข้ากองทำลายกิเลสโดยเฉพาะนี่ เขาจำกัดคำภาวนา เอาเฉพาะเบื้องต้นก่อน เบื้องต้นเราจะภาวนาอย่างไรก็ได้ แล้วแต่ความชอบใจ ขอเพียงให้เวลานั้นจิตไม่คิดถึงอารมณ์ของกิเลสแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้นชื่อว่าจิตว่างจากกิเลส ถ้าทำได้อย่างนี้ครั้งหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นผู้มีจิตไม่ว่างจากฌาน
                            และคนที่มีจิตไม่ว่างจากฌาน ถ้าฌานขั้นต่ำ คำว่าฌานจะเกิดในกามาวจรสวรรค์ไม่ได้ ต้องไปเป็นพรหม หากว่าถ้าฌานขั้นสูง ถ้าจิตว่างเฉพาะว่างจริง ๆ มันว่างวันละเล็กละน้อย เวลาป่วยไข้ไม่สบาย ป่วยหนักเข้ามาจริง ๆ ก็จะปรากฎว่าจิตใจของบรรดาพุทธบริษัทชายหญิงจะว่างจากกิเลสมากขึ้น เพราะความดีที่สะสมวันละเล็กละน้อย มันจะเข้าไปรวมตัวในขณะที่ใกล้จะตาย เวลานั้นจิตจะผ่องใส จิตใจจะขาดจากความวุ่นวาย จะมีแต่ความสุข ตอนนี้แหละ ถ้าตายไปเวลานั้น ใจเราตั้งเพื่อไปไหน ตั้งเพื่อไปสวรรค์ มันก็ไปสวรรค์ ถ้าตั้งเพื่อไปพรหมโลก มันก็ไปพรหมโลก ตั้งนึกว่าจะไปนิพพาน ก็ไปนิพพาน
                           -จิตที่ทรงฌานอยู่นั้นเป็นอารมณ์ที่สงบสงัด มีความเยือกเย็นมาก มีการทรงตัวดี เพราะจิตในขณะนี้ ตัดนิวรณ์ 5 ประการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความดี คือมีการทรงอารมณ์เป็นสมาธิก็ดี มีเมตตาบารมีก็ดี วันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง เรากล่าวว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน หมายความว่า ความดีที่ท่านทรงอยู่เพียงขณะจิตเดียว เวลาที่ท่านตายไปจากภพชาตินี้ ถ้าเวลาจะตายมีอารมณ์ตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นฌาน ก็เข้าถึงพรหม ถ้าเวลาจะตายจริง ๆ เกิดมาคิดว่า อัตภาพร่างกายไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เราไม่ต้องการความเกิดอีก ขึ้นชื่อว่าความเกิด เราเกิดมาแล้วเพราะความโง่ เพราะเพื่อกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่เกิดมันอีก เพราะเกิดมาแล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ สิ่งใดที่เป็นปัจจัยของขันธ์ 5 ก็ดี หรือว่าเป็นปัจจัยของกิเลสที่จะนำมาเกิดก็ดี เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการ คือนิพพาน ถ้าจิตของท่านจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อท่านตายท่านก็จะไปนิพพาน
                            -ถ้าเราทำบาปไว้มาก พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ว่า ท่านทั้งหลาย จงอย่านึกถึงความชั่วที่ทำมาแล้ว นึกถึงความดีอย่างเดียว ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้เจริญภาวนา หนึ่งการให้ทาน สองรักษาศีล สามเจริญภาวนา ถ้าเราให้แต่ทาน และรักษาศีลสองอย่าง เราลืมง่าย ถ้าทุกขเวทนาเข้ามา ถึงเราอาจจะลืมทาน ลืมศีล ดีไม่ดีจิตใจเศร้าหมอง ไปโกรธใคร เห็นภาพที่เราเคยฆ่าสัตว์บ้างอย่างนี้เราลงนรกแน่นอน ถ้าเรามีภาวนาด้วย อันนี้ไม่แน่นอนนัก จะไปนรก ไปสวรรค์ยังไม่แน่นอน ถ้าในคติสองอย่าง เราภาวนาอ่อน ถ้าบังเอิญควบคุมจิตให้เป็นฌาน ถ้าใช้จิตทรงฌานไว้ทุกวัน คำว่าฌานไม่ใช่ของหนัก เป็นอารมณ์ชิน คิดไว้เสมอว่าเราจะเจริญสมาธิ ตั้งใจภาวนาว่าพุทโธ ภาวนาได้ทุกอย่าง ถ้าเราภาวนาเป็นปกติวันหนึ่ง 10 หรือ 20 นาที คือว่ามีเวลาน้อยก่อนจะหลับ เมื่อศีรษะถึงหมอนก็ภาวนากำกับพร้อมกับหายใจเข้าออก แต่ถ้าสามารถทำได้ ก็นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง จะเป็นวัดไหนก็ได้ที่เราชอบ หรือองค์ไหนที่เราชอบ ก็นึกถึงภาพองค์นั้น แล้วภาวนาพุทโธอย่างนี้ทุกวัน ทำอย่างนี้จนกว่าจะชิน  คำว่าชิน หมายความว่า ถ้าศีรษะถึงหมอนเมื่อไร เราภาวนาว่าพุทโธเมื่อนั้น อย่างนี้เราเป็นฌาน ถ้าเป็นฌานอย่างนี้ทุกคน ถึงแม้ว่าจะบาปมากขนาดไหนก็ตาม ก่อนจะตาย แทนที่จะเห็นภาพที่เราเคยทำบาป บาปจะเข้ามาไม่ได้ มันจะมีแต่ภาพของบุญ ถ้าหากว่าวันไหนถ้าเราตายจริง ๆ ก่อนหน้านั้นสัก 2-3 วัน ก็จะมีรถทิพย์มารับ มีขบวนแห่ที่เทวดา นางฟ้า ท่านจะมาก่อนอย่างน้อย 3 วัน ในเมื่อเราเห็นรถทิพย์ เห็นเทวดา เห็นนางฟ้า มีความสวยสดงดงาม จิตก็ลืมทุกขเวทนา จิตนึกถึงบุญอย่างเดียว อย่างนี้ทุกคนไปสวรรค์แน่
                            -คำว่า “จิตทรงฌาน” ไม่ใช่ว่าไปนั่งสมาธิทั้งวัน ถ้านั่งสมาธิทั้งวันนี่เป็นโรคประสาท เป็นบ้าแน่ 
                            -คำว่า สมาธิ เขาแปลว่า ตั้งใจ ต้องทำกำลังใจเบา ๆ อันดับแรกที่สุด เราจะทำงาน ทำการ ต้องทำทุกอย่าง งานอะไรมีขึ้นต้องทำ ไม่ใช่ทำสมาธิแล้วฉันไม่ทำงาน อันนี้ตกนรกแน่ อย่าถือว่าทำฌานสมาบัติแล้วทำโน่นทำนี่ไม่ได้ ไม่ช้ามานะมันจะเกิด ไอ้นั่นละตัวนรกล่ะ คำว่าผู้ทรงฌาน แปลว่าผู้มีจิตใจปกติ ไม่ตกเป็นทาสของนิวรณ์ อำนาจของนิวรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม จะไม่ให้มีอำนาจเหนือจิตใจ ยามว่างถ้าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีนิวรณ์เข้ากินใจเป็นธรรมดา แต่ถ้าเวลาต้องการฌานเมื่อใด นิวรณ์จะต้องกระเด็นออกทันที ถ้ากระเด็นบ่อย ๆ ไม่ช้ามันก็ไม่เข้ามายุ่งกับใจ เราทำงานทำการทุกอย่าง ใจไม่ตกเป็นทาสของนิวรณ์ จิตของเรา ถ้าหากนิวรณ์ไม่เข้ามายุ่งเมื่อไรมันก็เป็นฌานเมื่อนั้น มันก็ไม่มีอะไรยาก ถ้าเรามีกำลังเข้มแข็ง จะไม่ยอมเชื่อไอ้ตัวร้ายนิวรณ์นี่ ทีนี้ในเมื่อเราไม่คิดถึงเรื่องอื่น ขณะที่พิจารณาก็มองดูแต่ขันธ์ 5 อย่างเดียว และเวลาภาวนาก็จับเฉพาะลมหายใจเข้าออกกับคำภาวนาว่าพุทโธ อันนี้ นิวรณ์มันไม่มากวน จิตเข้าถึงปฐมฌานทันที
                            -คำว่าเป็นฌาน ให้สังเกตตามนี้ ไอ้ฌานเฉพาะเวลานั่งสมาธิน่ะไม่จริง ไม่ใช่ฌานจริง เขาเรียกว่าฌานหลอก  ถ้าฌานจริง ๆ ต้องเป็นอย่างนี้   ถึงเวลานี้เราเคยบูชาพระ ถ้าเวลานั้นไม่ได้บูชาพระ เราไม่สบายใจ ต้องบูชาพระ ถ้าไม่มีพระจะบูชาก็นึกในใจ นึกบูชาเอาเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ถือว่าจิตมีฌานในการบูชาพระ การบูชาพระมีอะไรบ้าง
                            1. พุทธานุสสติใช่ไหม นึกถึงพระพุทธเจ้า
                            2. ธัมมานุสสติ นึกถึงคำสวดมนต์นี่เป็นธรรมะ
                            3. สังฆานุสสติ นึกถึงพระสงฆ์ที่เราชอบใจ
                            ก็รวมความว่า ในเมื่อจิตมันทรงตัวแบบนี้   เป็นอนุสสติแบบนี้ ถ้านึกอยู่เสมอว่า ถ้าถึงเวลา ถ้าเราไม่ได้ทำ ใจไม่สบาย นี่ละฌานแท้ และไอ้เรื่องการเข้าฌานนี่มันต้องคล่อง เหมือนกับเราเขียนหนังสือคล่องแคล่ว จะเขียนเมื่อไรก็เขียนได้ ไม่ใช่ต้องมานั่งตั้งท่า ขัดสมาธิมันก็เสร็จแล้ว มันไม่ทัน เวลาจะตายจริง ไปตั้งท่าได้เมื่อไร มันต้องคล่อง การจะทำให้คล่องก็มีอยู่ว่า ต้น ๆ ทำจิตมันเข้าถึงสมาธิให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ใหม่ ๆ มันก็อึดอัด ไม่ช้าก็เกิดอาการชิน มันชินเสียจนช้าไม่เป็น
                            -เราเพลีย ถ้าจิตเราฝืนก็ฟุ้งซ่าน นั่งโงกไปโงกมาไม่เป็นผล เมื่อนอนเลือดลมเดินสะดวกก็เริ่มจับอานาปา อันดับแรกจับวิปัสสนาญาณก่อน เอาวิปัสสนาญาณอย่างอื่อน ๆ ละนะ คือ ไตรลักษณญาณ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอคิดว่าร่างกายเป็นทุกข์ ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน มีสภาพเป็นทุกข์  ในที่สุดก็ตาย ปัญญาเห็นพร้อม ใช้ก็ใช้ไม่นาน เพราะเห็นอยู่ทุกวันใช่ไหม   แล้วต่อไปก็เริ่มภาวนา
                            ทีนี้ตอนภาวนาตามหลักการปฏิบัติ ถ้าภาวนาจนถึงหลับ อย่าลืมว่าถ้าจิตยังไม่ถึงฌานมันไม่หลับ จิตน่ะถ้าสงบไม่ถึงฌานมันไม่หลับ จิตจะหลับได้ต่อเมื่อจิตเข้าถึงฌาน จะเป็นฌานไหนก็ตาม พอถึงฌานปั๊บมันจะตัดหลับ เราหลับกี่ชั่วโมงก็ถือว่าเราทรงฌานอยู่ ได้กำไรตรงนี้นะ แล้วก็เป็นที่สังเกตขั้นฌานนี่ ฌานอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด จะสังเกตว่าก่อนหลับเราเข้าฌานอย่างหยาบหรืออย่างกลาง อย่างละเอียด เวลาตื่น ๆ ใหม่ ถ้าตื่นเต็มที่แล้ว บังคับให้ภาวนาต่ออย่างนั้น แสดงว่า ก่อนที่เราจะหลับ เราเข้าถึงฌานอย่างหยาบ ถ้าหากว่าเราตื่นขึ้นมาใหม่ ๆ นะ เราตื่นขึ้นมานั้นประเดี๋ยวหนึ่งมันภาวนาเองโดยไม่ต้องบังคับ อย่างนี้เวลาหลับ เข้าถึงฌานอย่างกลาง ถ้าเวลาครึ่งหลับครึ่งตื่นมันภาวนาเลย อย่างนี้เข้าถึงฌานละเอียด เวลาหลับได้กำไร ตัวนี้นะ
                            -พระที่เข้านิพพานแล้วอย่างพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้า ท่านจะมาโปรดพวกที่ยังไม่บรรลุได้ เราจะได้ยินท่านได้ เมื่อจิตเข้าสู่อุปจารฌาน ถ้าท่านต้องการให้ได้ยินเสียง จะเห็นท่านได้เมื่อมีอารมณ์จิตอยู่ในอุปจารฌาน แต่เห็นไม่ชัด ถ้ามีอารมณ์ถึงจตุตถฌาน และทรงฌานจนชำนาญแล้ว จะเห็นชัดและได้ยินคำสอนเหมือนเห็นฉันนั่งอยู่ และพูดอยู่อย่างนี้ เรื่องการเห็นมีเป็นระดับอย่างนี้ อย่าเถียงกันเรื่องนิพพานเลย ทำตัวให้ถึงเสียก่อนจะเห็นเอง
                            จุดแรกในการเจริญพระกรรมฐาน ที่เราต้องการคือพระโสดาบัน ฉะนั้น อารมณ์อย่างอื่นที่มันจะเกิดขึ้นจงปล่อยมันไป เอากำลังใจของเราจับไว้ในจุดนี้ ฉะนั้น จงจำไว้ว่า การเจริญพระกรรมฐาน เรามุ่งหมายอย่างเดียว คือความเป็นพระอริยเจ้า ไอ้เรื่องอารมณ์ต่าง ๆ ที่มันผ่านเข้ามานี่อย่าไปยุ่งมันนัก เอาจิตจับไว้แค่เพียงว่า จิตของเราเวลานี้ ลืมความตายหรือเปล่า มีความประมาทในชีวิตไหม มีความเคารพในพระรัตนตรัยแน่นอนหรือเปล่า   มีศีล 5 บริสุทธิ์ไหม มีอารมณ์รักพระนิพพานหรือเปล่า ข้อสำคัญการเจริญสมถภาวนานี่เราต้องการให้จิตสงบจากอกุศล และจิตน้อมอยู่ในส่วนของกุศลเป็นปกติ ท่านจึงแนะนำให้นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ โดยใช้คำภาวนาว่าพุทโธและกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกกำกับคำภาวนาเพื่อลดความฟุ้งซ่านของจิต เรียกว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน และเป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร เวลาที่เราป่วยไข้ไม่สบายให้ใช้อานาปานุสสติกรรมฐานเข้าระงับ ประการที่สาม อานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานระงับโมหจริตและวิตกจริต รวมความว่า ตัดความโง่ของจิตทำให้จิตฉลาดขึ้น
                            -คนที่หลับตาเก่ง นาน ๆ จะนึกว่าได้กรรมฐานดีฉันไม่เชื่อ เพราะถ้าดีจริง ๆ มันต้องดีทั้ลืมตาและหลับตา ดีทั้งที่อยู่ในที่สงัด ดีทั้งอยู่ในที่เกลือกกลั้วไปด้วยประชาชน ดีทั้งที่เวลาร่างกายปกติและไม่ปกติ อารมณ์ต้องดีทั้งในขณะที่เราฟังคำสรรเสริญ และก็ดีทั้งในขณะที่คนเขาด่าเรา อารมณ์ของเราต้องสม่ำเสมอกัน ไม่ขึ้นไม่ลง ใครเขาสรรเสริญหรือนินทาก็เฉย อารมณ์เงียบสงัด เสียงเงียบสงัด เสียงจอแจ โวยวาย เราก็เฉย ลงเฉยเสียหมดมันก็หมดเรื่อง และคำว่าสถานที่สงัดคือเราใช้อารมณ์สงัด จะไปนั่งคิดว่าที่นั้นต้องไม่มีเสียง ที่นี้ต้องไม่มีเสียง เราคิดหรือว่าเวลาที่เราจะตายน่ะเราจะหาที่สงัดได้ เราต้องพร้อมใจไว้เสมอว่า เวลาที่เราจะตายอาจจะมีเสียงเครื่องขยายเสียง หรืออาจจะมีใครกำลังทะเลาะกัน หรือมีใครมานั่งด่าเราอยู่ใกล้ ๆ ก็ได้ เราจึงต้องเตรียมใจไว้ ถ้าอาการอย่างนั้นมันปรากฎ เราจะไม่เอาจิตของเราเข้าไปยุ่งกับเสียงกับอารมณ์ต่าง ๆ ทำจิตของเราให้สงัด คือใช้อารมณ์จิตสงัดจากนิวรณ์ 5 ประการ และก็สงัดจากกิเลสด้วย
                            -คนที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านจริงก็มีพระอรหันต์เท่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ท่านจึงขึ้นอานาปานุสสติก่อน อันดับแรกจึง ขอให้ทุกท่านทำอานาปานุสสติกรรมฐานให้เข้าถึงฌาน 4 เอากันจริงจัง อย่าสักแต่ว่าทำ ความกลุ้มมันจะเกิดขึ้นนิดหน่อย เพราะว่าใหม่ ๆ เมื่อใจเรา เราจะควบคุมกำลังใจให้มันแรงอยู่ ใจมันก็คงจะออกนอกลู่นอกทาง คิดโน่นคิดนี่ อย่างนี้ เราต้องดึงอารมณ์เข้ามาจับ อานาปานุสสติกรรมฐานให้เป็นปกติกับพุทธานุสสติกรรมฐานควบคู่กัน ประเดี๋ยวหนึ่งมันก็ไป มันไป เรารู้ตัวเราก็จับมันมาใหม่ การทำอย่างนี้จงอย่าทำแต่เฉพาะเวลาที่ได้ยินคำสอน จงใช้เวลาของท่านตลอดวันที่ทำงานอยู่ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ใช้เวลาเป็นปกติ
                            -ที่ให้ภาวนาว่าพุทโธ และให้นึกถึงภาพพระ นึกถึงภาพพระพุทธรูป เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าหากว่าพระสีเหลืองเป็นทองคำเป็นปีตกสิณ พระสีเขียวหรือสีดำเป็นนีลกสิณ พระสีขาวเป็นโอทาตกสิณ นี่เป็นได้ทั้งสองอย่าง และก็เป็นกสิณด้วย ทั้งพยายามทำจิตจับภาพพระพุทธรูปไว้ในใจ คือเห็นลอยอยู่ตรงหน้า อยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าอะไรใช้ได้หมด อย่างนี้ไม่ช้าอารมณ์จิตก็จะเป็นฌานโดยง่าย ทั้งเวลาจับภาพพระจิตก็นึกถึงลมหายใจเข้าออกไว้ด้วย   ลมหายใจเข้าออกนี่เราทิ้งไม่ได้ แต่ก่อนที่จะจับภาพพระเราก็นึกถึงลมหายใจเข้าออกเสียก่อน ทำใจให้สบายแล้วค่อยจับภาพพระ จนกระทั่งจิตนี่จะทรงตัว จะทำอิริยาบทใด ภาพนั้นปรากฎติดตาติดใจอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ชื่อว่าได้ฌานในกสิณ ทีนี้การที่เจริญพระกรรมฐานให้ดี เขาจะไม่ยอมให้เวลาว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอน ก่อนจะหลับให้จับอานาปานุสสติกรรมฐานให้ทรงตัว ท่านจะหลับง่าย และให้หลับไปกับอานาปานุสสติกรรมฐาน เวลาหลับจะมีความสุข ขณะที่หลับจะถือว่าเป็นผู้ทรงฌานอยู่ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจนหลับ ขณะที่หลับ จิตจะต้องเข้าถึงปฐมญาณหรือฌานสูงกว่านั้นจึงจะหลับ และเมื่อขณะที่หลับอยู่ก็คือว่าหลับอยู่ในฌาน ถ้าตายระหว่างนั้นท่านเป็นพรหม
                            เวลาที่ตื่นมาใหม่ ๆ ท่านจะลุกจากที่นอนก็ตาม หรือไม่ลุกก็ได้ จะนอนอยู่อย่างนั้น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหรือว่าอยากจะนั่งก็ได้ แต่ระวังให้ดี การลุกขึ้นมานั่งต้องคุมสติสัมปชัญญะให้ดี เมื่อตื่นนอนเข้ามาแล้วต้องจับลมหายใจเข้าออกทันทีเพื่อทรงสมาธิจิตให้ทรงตัว ตอนตื่นเช้ามืดพยายามทำให้สงบสงัดให้มากที่สุด เป็นการรวบรวมกำลังใจสูงสุด
                            -สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน ผมขอแนะนำให้ทุกท่านใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ ถ้าทำได้แบบนี้ อารมณ์จิตมันจะเลี้ยวเข้าไปหาความเลวไม่ได้ จะมีเวลาว่างเพื่อสร้างความเลวตรงไหน โปรดจำไว้ด้วยว่า การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจะทำเป็นปกติ ไม่ได้บอกว่าให้เลือกเวลาทำ ขณะใดที่ใจของท่านยังตื่นอยู่ แม้ตาจะหลับ แต่ใจยังตื่นอยู่ให้เอาจิตรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เสมอ ด้านสมาธิก็ฝึกซ้อมเป็นปกติ เวลาฝึกซ้อมไม่ต้องนั่งหลับตา หลับตามันไม่เก่ง ลืมตาอยู่อย่างนี้แหละให้จิตมันทรงสมาธิ ลืมตาอยู่อย่างนี้แหละ ให้จิตมันทรงตัว ยอมรับนับถือกฎธรรมดาและความเป็นจริง เห็นอะไรเข้าตายหมด เห็นคนคนตาย เห็นสัตว์สัตว์ตาย เห็นวัตถุธาตุวัตถุธาตุพัง แล้วก็นึกถึงว่าเราจะต้องตายเหมือนกัน ท่านทั้งหลาย ที่ระงับความวุ่นวายของจิตไม่ได้ คนประเภทนี้กี่แสนกัปป์ก็ลงนรก เพราะสักแต่ว่าปฏิบัติ ไม่รู้จักพิจารณาจิตตัวเองว่าดีหรือชั่ว
                            -ถ้าใครเขาว่าสมถภาวนาไม่มีความสำคัญ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการบรรลุมรรคผลก็อย่าไปเชื่อเขา เพราะถ้าสมถภาวนา ถ้าไม่ดีจริง ๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนให้เราปฏิบัติ และพระพุทธเจ้าก็จะไม่ยึดสมถภาวนาไว้เป็นอารมณ์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าลืมว่าพระอรหันต์ทุกท่านแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี ใช้กรรมฐาน 40 กองควบกับวิปัสสนาญาณเพื่อความอยู่เป็นสุข ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วเลิกกัน อย่างนั้นเข้าใจผิด พระอรหันต์นี่ท่านกลับขยันกว่าเราทั้งหมด เพราะท่านเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ หมายถึงว่าการเห็นสภาวะตามความเป็นจริงของขันธ์ 5 ท่านเห็นเป็นปกติ ท่านไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละ
                            -คำว่าจิตเป็นสมาธินั้น หมายถึงจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตหยุดโดยไม่รับอารมณ์ใดเลยทั้งสิ้น นักปฏิบัติใหม่หรือท่านที่ไม่เคยปฏิบัติสมาธิเลยมักจะเข้าใจอย่างนั้น ความจริงการเข้าใจอย่างนั้นเป็นการเข้าใจที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ธรรมดาของนักปฏิบัติใหม่ จิตที่ว่างจากอารมณ์โดยไม่รับรู้อารมณ์เลย สำหรับการปฏิบัติเบื้องต้นนี้ไม่มีอาการอย่างนั้น จิตที่ว่างจากอารมณ์เป็นอาการของสัญญาเวทยิตนิโรธ พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณหรือพระอนาคามี ระดับปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้นที่จะเข้าได้ พระอริยะนอกนั้นแม้จะเป็นพระอรหันต์ระดับเตวิชโช หรือฉฬภิญโญก็ไม่สามารถทำได้ ปกติของจิตเป็นอย่างนี้ เมื่อทราบแล้วว่าจิตไม่ว่างจากอารมณ์เพื่อฝึกฝนจิตให้มีกำลังที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนาญาณในขั้นต่อไป ท่านจึงสอนให้ภาวนาเพื่อโยงจิตให้อยู่ในอารมณ์ภาวนา คือหาทางให้จิตนึกคิด แต่นึกคิดในขอบเขตที่มอบหมายให้ ไม่ใช่จะนึกคิดเพ่นพ่าน การภาวนาคาถาบทใดบทหนึ่งนี้เป็นการระงับการฟุ้งซ่านของจิต ดังนั้น ไอ้ตัวสงบมันไม่ใช่ว่าง จิตของคนนี่มันไม่ว่าง มันต้องเกาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้ามันละอกุศล มันก็ไปเกาะกุศล ไอ้จิตตัวที่เรียกว่าสงบ ก็เพราะว่า สงบจากกรรมที่เป็นอกุศล คืออารมณ์ที่เป็นอกุศล อารมณ์ชั่ว สงบจากความปรารถนาในการเกิด อารมณ์สงบคือไม่คิดว่าเราต้องการความเกิดอีก และจิตก็มีความสงบ เห็นว่าสภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไอ้ตัวคิดว่าเราว่าของเรานี่สงบไป สงบตัวยึดถือวัตถุก็ตาม สิ่งมีชีวิตก็ตาม ว่าเป็นเราเป็นของเรา นี่สงบตัวนี้นะ มีอารมณ์เป็นปกติอยู่เสมอ
                            -ถ้าหากว่าท่านไม่สามารถจะทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ถึงปฐมญาณ ผลแห่งการเจริญวิปัสสนาญาณของท่านทั้งหลายจะไม่มีผลตามต้องการ เพราะจิตมีกำลังไม่พอที่จะทำลายกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหานได้ จิตของญาณ 4 มีเอกัคคตากับอุเบกขาเป็นปกติ จิตดวงนี้ต้องจำเอาไว้ว่าต้องให้มันทรงตัวอยู่ตลอดเวลาแล้ว เรื่องทิพจักขุญาณมันง่ายเหลือเกิน แต่ว่าถ้าจิตเข้าถึงจุดนี้แล้ว ท่านที่มีความรู้ในขั้นนี้จริง ๆ ท่านบอกว่าถ้ายังใช้อารมณ์จิตของตนรู้อยู่ ท่านบอกว่าใช้ไม่ได้ ต้องหาทางเข้าถามถึงพระโดยการจับภาพนิมิต พระองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นบรรทัดฐาน เรียกว่า ภาพพระพุทธนิมิต จับแล้วเวลาที่ต้องการอยากจะทราบอะไรก็ถามพระ พระบัญชาการมาว่าอย่างไร เป็นคำตอบที่เราได้รับปรากฎเอง แล้วก็ถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องจำไว้เลยทีเดียวว่า พระลักษณะนี้ที่เราเห็น เราถามแล้วทรงพยากรณ์ตรงตามความเป็นจริงทุกประการ จำภาพพระไว้ ถ้าทำอย่างนี้จนชำนาญก็เลิกฝึกวิธีอื่น ต้องการอะไรก็ถามพระ
                            -ทิพจักขุญาณ ถ้าหากจะดูกันให้แจ่มใสจริง ๆ รู้กันให้แจ่มใสจริง ๆ ก็ต้องทำจิตของเราเข้าสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ แล้วอารมณ์วิปัสสนาญาณนี้ต้องว่ากันให้ตรง ๆ จริงนะ อย่าปัสฯส่งเดช ถ้าปัสฯส่งเดชไม่มีผล ถ้าเราได้ทิพจักขุญาณเสียแล้ว การปัสฯส่งเดชย่อมไม่มี นี่สำหรับคนดีนะ แต่คนที่เหลิงแล้วก็ใช้อะไรไม่ได้เหมือนกัน บางทีพอได้ทิพจักขุญาณแล้วก็เหลิง นึกว่าตัวเป็นผู้วิเศษ ความจริงยังไม่พ้นนรก ถ้าเหลิงเสียหน่อยเดียว ฌานโลกย์มันก็จะเสื่อม ทิพจักขุญาณมันก็สูญ ทีนี้ก็เหลือแต่อุปาทาน
                            -เจโตปริยญาณ พระพุทธเจ้าสอนไว้ คือหนึ่ง มีไว้ให้เปลื้องความสงสัยว่ากิเลสมีจริงไหม สองรู้จิตของตนเองว่าเวลานี้กิเลสอะไรมันมาสิงอยู่ อะไรเข้ามาทับอยู่ แล้วเราจะแก้อารมณ์ของกิเลสนั้นด้วยประการใด นี่ท่านมีไว้ให้ดูใจตนเอง ใจของชาวบ้านจะเป็นอย่างไรช่างเขา อย่าไปยุ่ง  ยกเว้นบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่เราจะต้องสงเคราะห์
                            -การที่มีคนพูดว่า ฌานสมาบัติหรือมรรคผลในสมัยนี้ไม่ควรหวัง เพราะไม่มีใครจะบรรลุได้นั้นไม่เป็นความจริง ขอให้ท่านดีเท่าดีถึงเถิด ฌานและมรรคผลยังมีสนองความดีท่านอยู่เป็นปกติ ที่ไม่ได้ไม่ถึงแม้แต่ฌานโลกีย์ก็เพราะแม้แต่ศีลที่เป็นความดีหยาบ ๆ ที่พระอริยะเจ้าเห็นว่าเป็นของเด็กเล่น ก็ไม่สามารถรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ จะเอาอะไรมาเห็นผี เห็นเทวดา สวรรค์ นรก อันเป็นวิสัยของผู้ได้ฌาน เพราะศีลซึ่งเป็นความดีในระยะต่ำก็ยังทรงไม่ได้ ความมุ่งหมายเอาพระนิพพานก็ยิ่งไกลเกินไปที่จะหวังได้
                            -การสำเร็จมรรคผลหรือได้ฌานสมาบัติไม่ใช่ได้มาจากป่า ส่วนใหญ่จริง ๆ เขาได้ในที่มวลชนมาก ๆ และการเจริญสมาธิจากป่าในแดนสงัด ที่ว่าได้และดีน่ะไม่จริง ถ้าหากว่าจิตยังไม่ถึงความเป็นพระอริยะเจ้าเพียงใด ถ้ากลับมาหาหมู่ชนเมื่อไร เมื่อนั้นมันเกิดอาการกลุ้มทันที ต้องมาฝึกกันใหม่
                            -การพิจารณาอสุภกรรมฐาน ถ้าจิตเข้าถึงจริง ๆ พิจารณาทีละเล็กละน้อย ต่อไปเมื่อจิตเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เห็นอะไรก็ตามมันเป็นซากศพไปหมด เราก็มีความรังเกียจในร่างกายของเรา ในร่างกายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น เมื่อมีความรังเกียจมีขึ้น กามราคะ คือความพอใจในผิวพรรณ วรรณะ หรือการสัมผัสก็ไม่มี เพราะเห็นความอืดเห็นความสกปรกจับอยู่ที่ขั้วหัวใจ การพิจารณาร่างกายในด้านอสุภกรรมฐาน เป็นการตัดความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จนกระทั่งความรู้สึกในเพศไม่มี การยอมรับนับถือกฎธรรมดาของโลก ใครเขาด่าก็ถือว่าเป็นธรรมดา เขาเสียดสีก็เป็นเรื่องธรรมดา ใจไม่มีความหวั่นไหวสะทกสะท้าน ไม่มีความหนักใจหรือเจ็บใจ   ถือว่าธรรมดาของคนเกิดมาในโลกเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ชื่อว่าตัดโทสะลงไปเสียได้ เมื่อเราตัดโทสะได้ ตัดกามราคะได้ ทังสองประการท่านเรียกว่า “พระอนาคามี” และถ้าท่านพุทธบริษัทมีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ เห็นว่าร่างกายเป็นแดนแห่งความทุกข์ ร่างกายเป็นอนิจจัง ให้ใจเราคิดไว้เสมอว่า  ร่างกายของเรานี่สกปรก หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา มันจะสลายตัวไปในที่สุด เราอาศัยมันอยู่เราก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ถ้ามันสลายตัวเมื่อไรเรากับมันเลิกกัน เราไม่ต้องการร่างกายอีก ทรงสติสัมปชัญญะให้ดี ทรงอสุภสัญญาเป็นปกติ มีจาคานุสสติกรรมฐาน จิตใจให้ทานเป็นปกติ มีสีลานุสสติกรรมฐาน ทรงศีลเป็นปกติ พรหมวิหาร 4 เป็นปกติ เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันจะพังเมื่อไรก็ช่างมัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาเป็นปกติ อย่างนี้เราเข้าอริยมรรค อริยผลได้ไม่ยากนัก การเจริญกรรมฐานความมุ่งหมายมีเพียงเท่านี้
                            -ขอเตือนว่า ท่านจะใช้กรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม จงใช้กองนั้นให้ถึงอรหัตผล ในเมื่อเราเริ่มทำสมถะกองใด จงใช้สมถะกองนั้นให้ถึงอรหัตผล คือว่าไม่ต้องไปเที่ยววิ่งไปหาที่โน่นไปหาที่นี่ ไอ้ความดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่จิตของเรา ทราบไว้แต่เพียงเท่านี้ การพลั้งพลาดที่ผ่านมาแล้วจงถือว่าเป็นครู คำว่าพลั้งพลาดในที่นี้เพราะเราใช้เวลามาก แต่ทว่าผลแห่งการปฏิบัติมีผลน้อย ที่เป็นอย่างนี้เพราะขาดความเข้มแข็งของจิตไม่เอาจริงเอาจัง สักแต่ว่าทำ แต่ไม่สามารถจะทำจิตใจให้เบาบางจากกิเลสได้ จรณะ 15 ฟังแล้วไม่ปฏิบัติ บารมี 10 ฟังแล้วไม่สนใจ อิทธิบาท 4 ฟังแล้วก็วางไว้ พรหมวิหาร 4 ฟังแล้วก็ทิ้งไป ที่เราไม่สามารถจะก้าวเข้าไปสู่ระดับความดีได้ เพราะว่าขาดคุณธรรมประเภทนี้ และสำหรับคำภาวนา
                            -สิ่งสำคัญเวลาภาวนาจะภาวนาว่าอย่างไร ภาวนาตามชอบใจ ภาวนาว่าอย่างไรก็ได้ให้จิตสบาย ถ้าภาวนาขั้นต้นตามที่เราต้องการแล้วจิตเริ่มสบาย ให้ภาวนาต่อว่านิพพานสุขัง เราเคยภาวนาพุทโธก็ดี นะมะพะธะก็ดี สัมมาสัมพุทโธก็ดี ก็ให้ภาวนาขึ้นต้นไปก่อน พอจิตสบายเริ่มเป็นสุขให้ต่อว่า นิพพานสุขัง จิตจะรักพระนิพพาน ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกคนทรงความเป็นพระได้ แล้วถ้าตายเมื่อไรก็อาศัยคำว่านิพพานสุขัง จิตจะรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ วันไหนจะตาย ถ้าเป็นฆราวาส วันนั้นจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็นิพพานวันนั้น ถ้าถึงนิพพานก็จบเรื่องกัน
                            -สมาธินี่มันจำเป็น แต่คนถามไม่รู้จักสมาธิ ไอ้ตัวนึกถึงนิพพานมันเป็นสมาธิอยู่แล้ว&

    • Update : 30/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch