เรื่องของญาณ 4
-ปฐมฌานนี่เป็นฌานที่หนึ่ง ที่บรรดาพวกเราเหล่าพุทธบริษัทต้องทำให้ได้ เพราะเป็นฌานโลกีย์ อาการที่ทรงฌานที่หนึ่งนี้ไม่มีอะไรยาก เราใช้คำภาวนาและพิจารณาในขันธ์ 5 ก็ดี ภาวนาบทใดบทหนึ่งก็ดี หรือว่าจะพิจารณาลมหายใจเข้าออกก็ดี ให้จิตมันทรงอยู่อย่างนี้เป็นปกติ นี่หมายความว่าไม่ยอมให้ใจของเราเคลื่อนจากอารมณ์ที่เราต้องการ อย่างเราอยากจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เมื่อว่างจากกิจอื่น จิตมันจะมีความรู้สึกไปโดยอัตโนมัติ รู้ลมเข้าลมออก หรือภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ อะไรก็ช่าง จะพิจารษายังไงก็ช่างให้จิตมันทรงตัว แล้วทรงจนกระทั่งให้อารมณ์จิตนี่แม้แต่ได้ยินเสียงภายนอกเข้ามาจิตก็ไม่รำคาญ สามารถใช้คำภาวนาและพิจารณาได้ตามอัธยาศัย อย่างนี้ชื่อว่าปฐมฌาน
-พอจิตเข้าถึงฌานที่สอง คำภาวนาหายไปเฉย ๆ หยุดไปเอง เมื่อคำภาวนาหยุดไปเอง เราก็มีใจสบายชุ่มชื่นดีกว่า เพราะว่าไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติ พอเริ่มก็มีความชุ่มชื่นสบายแล้วก็สุข เอกัคตารมณ์ทรงตัวดีก่าฌานที่หนึ่ง ตอนนี้เราจะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลงไปหน่อยกว่าเดิม กว่าฌานที่หนึ่ง ตอนนี้ก็มีหลาย ๆ ท่าน เมื่อจิตถอยลงมาถึงปฐมฌาน คือ ทรงฌานที่ 2 ได้ไม่นานรู้สึกตัวว่า ตายจริง นี่เราลืมภาวนาไปเสียแล้วรึ หรือเราหลับไป แต่ความจริงนั้นไม่ใช่หลับ มันก็โงก อาการจะโงกไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ทั้งนี้ไม่ใช่หลับ คือจิตเข้าถึงปฐมฌาน เราทิ้งภาวนาไปเอง ถ้าเข้าถึงฌานที่ 2 คือ ทุติยฌาน จะทิ้งภาวนาไปเอง
-สำหรับฌานที่สามนี้จะรู้สึกว่าลมหายในเบามาก ร่างกายเราจะตัด ความอิ่มเอิบจะหายไป เหลือแต่ความสุขเยือกเย็น มีความสบาย ๆ ขาดความอิ่ม แต่จิตจะทรงตัวมาก อารมณ์จะไม่เคลื่อนไหว หูจะไม่ได้ยินเสียงภายนอก เบาลงไปมาก เสียงที่ดังมาก ๆ เราได้ยินเหมือนกันแต่เบามาก มีการทรงตัวแบบแน่นสนิท มีความรู้สึกเหมือนกับว่าร่างกายของเราเกร็งไปทั้งตัว แต่ความจริงนั้นเป็นเรื่องอาการของจิตไม่ใช่เรื่องอาการของกาย
-แล้วตอนนี้ถ้าคนทั้งหลายเข้าถึงฌานที่สาม แล้วก็ทรงฌานที่สามได้ดี สมมติว่าเช้ามืดท่านตื่นขึ้นมานอนอยู่หรือนั่งอยู่ก็ตาม จิตทรงสมาธิถึงฌานที่สามได้ดี วันทั้งวันนั้นรู้สึกว่าเราไม่ต้องการอยากจะพูดกับใคร อาการพูดมันจะน้อยทั้งวัน เพราะว่าจิตมันทรงตัวได้ดี ถ้าอาการมีอย่างนี้กับท่าน ก็ขอให้ท่านภูมิใจว่า เราทรงฌานได้ดีมาก แต่ทว่าเลิกแล้วก็อยากจะพูดอยากจะคุย อยากจะสนทนาปราศรัย อยากจะพูดมาก
-นั่นก็แสดงว่า สำหรับอารมณ์ที่เป็นฌานของท่าน มันได้แต่เวลาที่นั่งอยู่หรือปฏิบัติอยู่เท่านั้น พอเวลาเลิกแล้ว กำลังฌานนั้นไม่ได้ตามจิตของท่านไปด้วย อย่างนี้ไม่ดี ควรจะพยายามรักษาให้มันทรงอยู่ได้ทั้งวัน ถ้าทรงไม่มากก็ทรงน้อย อย่างน้อยที่สุดก็ให้จิตมันอยู่ในอุปจารสมาธิในวันทั้งวันนี่ละ สามารถจะทรงได้ถ้าจิตตั้งอยู่ในอุปจารสมาธิ ในวันทั้งวันนี่ละสามารถจะทรงได้ ถ้าจิตตั้งอยู่ในอุปจารสมาธินี่เราก็คุยกับชาวบ้านได้ แต่ว่าคุยน้อยไปหน่อย ถ้าจะพูดก็พูดในเรื่องที่เป็นสาระจริง ๆ เรื่องที่เป็นอกุศลทุกอย่างจะไม่ยอมพูด ใจจะไม่ยอมคิดในเรื่องของอกุศล
-ฌานที่สี่ท่านกล่าวว่าตัดสุขเสียได้ มีองค์สองเหมือนกัน ตัดสุขออกไปเหลือแต่เอกัคตา แล้วเพิ่มอุเบกขาเข้ามา เอกัคตานี่แปลว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อมันตัดสุขออกไปได้ ไม่สัมผัส การกระทบกระทั่งจิตไม่รับการสัมผัส เสียงจะมาจากภายนอกดังเท่าไรก็ตามที หูจะไม่ได้ยินเสียงภายนอก การสัมผัสจากลมแรงก็ดี เหลือบยุงจะเข้ามาเกาะตัวก็ดี ไม่มีความรู้สึก แต่ว่าอาการทางจิตไม่ใช่หลับ มีความรู้สึก มีสติสัมปชัญญะทรงตัว เป็นคนมีสติสัมปชัญญะดีมาก มีความสว่างไสวในจิต จงอย่าลืมคำว่าฌานนี้ไม่ใช่นั่งหลับ จิตจะทรงตัวสมาธิดี สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี้เป็นการฝึกอารมณ์จิตของเราให้มีการทรงตัวเพื่อเตรียมรับสภานการณ์ที่จะเจริญวิปัสสนาญาณ
-จิตของฌาน 4 มีเอกัคตากับอุเบกขาเป็นปกติ จิตดวงนี้ต้องจำเอาไว้ว่า ต้องให้มันทรงอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันทรงตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วเรื่องทิพจักขุญาณมันง่ายเหลือเกิน ยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก แต่ถ้าว่า ถ้าจิตเข้าถึงจุดนี้แล้ว ท่านที่มีความรู้ในขั้นนี้จริง ๆ ท่านบอกว่า ถ้ายังใช้อารมณ์จิตของตนรู้อยู่ ท่านบอกว่าใช้ไม่ได้ ต้องหาทางเข้าถามถึงพระ ถามพระสอนกันตอนไหน จับภาพนิมิตพระองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นบรรทัดฐาน เรียกว่าภาพพระพุทธนิมิต จับแล้วเวลาที่ต้องการอยากจะทราบอะไรก็ถามพระ พระบัญชาการมาอย่างไรเป็นคำตอบที่เราได้ปรากฎรับเอง แล้วก็ถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องจำไว้เลยทีเดียวว่า พระลักษณะนี้ที่เราเห็น เราถามแล้ว ทรงพยากรณ์ตรงตามความเป็นจริงทุกประการ จำภาพพระไว้ ถ้าทำอย่างนี้จนชำนาญก็เลิก ฝึกวิธีอื่น ต้องการอะไรก็ถามพระ
-ถ้าทำใจสบาย จิตเข้าถึงฌาน 4 หรือฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ก็ตาม เวลาที่จิตสงัด ปัญญามันจะเกิดเอง มันจะบอกชัด มันจะมีความเบื่อหน่ายในร่างกายขึ้นมาเอง มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีการทรงตัว เพราะอะไร เพราะเมื่อมีความเกิดขึ้น แล้วก็มีความป่วย ความตาย ในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ เราจะบริหารร่างกายสักเพียงใดก็ตามที ร่างกายก็เต็มไปด้วยความทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ 5 คือร่างกายเสีย นี่ตัวปัญญามันจะเห็น ปัญญามันจะสอนต่อไปว่า ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการเกิดต่อไปแล้ว ก็ตัดรากเหง้าของกิเลสทั้ง 3 ประการทิ้งเสียให้หมด คือตัดอำนาจของความโลภด้วยการให้ทาน ตัดรากเหง้าของความโกรธ ด้วยการเจริญเมตตาบารมี และตัดรากเหง้าของความหลงด้วยการพิจารณาหาความจริงของขันธ์ 5 ปัญญามันจะเห็นชัดว่า ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ 4 ไม่มีการทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลง ภายในเต็มไปด้วยความสกปรก นี่มันจะบอกชัด ปัญญามันดีกว่านี้มาก ถ้ามันได้ถึงจริง ๆ
-คำว่าเอกัคตารมณ์ ก็คืออารมณ์เป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่งในที่นี้เรานิยมเรียกว่า ฌาน อารมณ์มันจะทรงตัว ก็มีหลายคนเคยถามว่า อารมณ์เป็นหนึ่งดิ่งอย่างนี้จะทำอย่างไรต่อไป ก็ขอตอบว่า เวลานั้นไม่ใช่เวลาที่ทำอย่างอื่น ถ้าจิตเป็นฌานมีอารมณ์ทรงตัวเป็นเอกัคตารมณ์ อารมณ์เป็นหนึ่งอย่างนั้นต้องปล่อยไปตามนั้น เพราะอะไรจึงปล่อย เพราะเราต้องการให้อารมณ์ว่างจากกิเลส เวลานั้นถ้าจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งในลมหายใจเข้าออกก็ดี ในคำภาวนาก็ดี ในนิมิตก็ดี ถ้าจิตจับเฉพาะอย่างนั้น กิเลสจะเข้ากวนใจไม่ได้ มันจึงเป็นหนึ่ง มีอารมณ์ดิ่งก็ควรจะพอใจว่า เวลานี้จิตเราว่างจากกิเลส เราต้องการจุดนี้
-ขณะใดที่เรารู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้คำภาวนาว่า พุทโธ ขณะนั้นเชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิตามความต้องการ ถ้าหากว่าภาวนาไป ๆ ใจมันเกิดความสบาย คำภาวนาหยุดไปเฉย ๆ เป็นความสุขที่ยิ่งกว่า อย่างนี้ก็จงอย่าตกใจ อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ 2 ซึ่งเป็นอารมณ์ดีขึ้น หากว่าทำไปความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด ลมหายใจเบาลง หูได้ยินเสียงภายนอกเบามากจิตใจทรงตัวแนบสนิทอย่างนี้ เป็นอาการของฌานที่ 3 ถ้าบังเอิญภาวนาไปกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ปรากฎว่า ไม่รู้ว่าลมหายใจเข้าออกมีหรือเปล่า มันมีอาการเฉย ๆ มีอาการจิตใจสบาย ๆ อยางนี้เป็นอาการของฌานที่ 4 จัดว่าเป็นอารมณ์ฌานที่มีความสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา