หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เรื่องของวิปัสสนาญาณ
    เรื่องของวิปัสสนาญาณ
     
                            -การขึ้นต้นของการเจริญพระกรรมฐาน ถ้าเอากันเต็มแบบจริง ๆ ท่านให้ใช้วิปัสสนาญาณก่อน คือว่าใช้อารมณ์วิปัสสนาญาณอย่างอ่อน ให้คิดถึงไตรลักษณญาณ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันดับแรก ท่านให้คิดถึงความเป็นจริงของไตรลักษณญาณ
                            1. ทุกขัง การเกิดมาในโลก การมีชีวิตของคนและสัตว์มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ที่มันทุกข์ก็เพราะอาการต่าง ๆ มันไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง มันไม่มีการทรงตัว ความทุกข์มันมีมาตั้งแต่เด็ก ความหิวก็เป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายก็เป็นทุกข์ การประกอบกิจการทุกอย่างเหน็ดเหนื่อยก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ และในที่สุดความตายเข้ามาถึงก็เป็นทุกข์ มีความทุกข์ตั้งแต่เด็ก ต่อมาเป็นผู้ใหญ่และก็แก่ตายในที่สุด มีความทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง ต่อไปก็อนัตตาตามลำดับ
                            2. อนัตตา คิดตามความเป็นจริงว่าคนหรือสัตว์ก็ดีที่เกิดมาในโลกนี้ ในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกันหมดทั้งโลก เราก็ตายเหมือนกัน
                            -เรื่องของวิปัสสนาญาณนั้น ส่วนสำคัญถ้าจะกล่าวให้ละเอียดก็คือ ตอนต้นที่จะเริ่มทำสมาธิ ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกคนใช้กำลังปัญญาก่อน ปัญญานี่เป็นส่วนหนึ่งของวิปัสสนาญาณ อันดับแรกใช้ปัญญาของสมาธิ โดยการใช้อารมณ์เมตตาจิต เมตตาความรัก กรุณา ความสงสาร แผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง คือทั้งโลก ให้มีความรู้สึกว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั้งหมด
                            กรุณาความสงสาร ถ้าคนหรือสัตว์ก็ตามเขามีความทุกข์ ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะพึงช่วยได้ เราจะช่วยให้เขามีความสุข ตั้งใจตามนี้ไว้ก่อนเป็นอันดับแรก
                            -เมื่อจิตมีอารมณ์โปร่ง มีความสุขดีแล้ว ต่อไปให้นึกถึงด้านวิปัสสนาญาณขั้นอ่อน มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า โลกนี้มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่มีการทรงตัว เราเองเกิดจากท้องมารดาใหม่ ๆ เป็นเด็กเล็ก ต่อมาก็เปลี่ยนแปลง กลายเป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน จนมาเป็นคนแก่ เป็นเพราะมันไม่เที่ยง ขณะที่ทรงร่างกายอยู่มันก็ไม่เที่ยง มีการป่วยไข้ไม่สบายเป็นปกติ ที่อาการไม่เที่ยงทำให้เราเป็นทุกข์ ในที่สุดพึงเข้าใจว่าในที่สุดเราก็ต้องตาย ก่อนตายเราก็เลือกทางไปว่าเราจะไปทางไหน ถ้าเราไปสวรรค์ เพียงแค่ให้ทานก็ได้ รักษาศีลก็ได้ ถ้าจะไปพรหมโลก ก็ต้องเจริญสมาธิจิตให้ได้ญาณสมาบัติ แต่ถ้าต้องการนิพพาน ก็ต้องให้เข้าใจตามความเป็นจริงด้วยปัญญา มีความเข้าใจว่าโลกนี้เป็นทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ร่างกายมีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเรายังมีร่างกายแบบนี้ เราก็มีแต่ความทุกข์ไม่สิ้นสุด ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดมีร่างกายแบบนี้จะมีกับเราชาตินี้ชาติเดียวเป็นชาติสุดท้าย เราไม่ต้องการเกิดแบบนี้อีก เราต้องการนิพพาน
                            -ความจริงศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี สามประการนี้จะแยกกันไม่ได้ บางท่านบอกว่า สุกขวิปัสสโกไม่ต้องใช้สมถะเลย ใช้แต่วิปัสสนาญาณตัวเดียว อันนี้ผิด ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่า ท่านผู้พูดไม่ได้อะไรเลย อันแรกปรับปรุงศีลให้ดี เมื่อปรับปรุงศีลดีแล้วสมาธิก็ทรงตัว เมื่อสมาธิทรงตัวปัญญามันก็เกิด  ที่เป็นพื้นฐานของการเจริญฌาน และวิปัสสนาญาณ
                            -เราปฏิบัติวิปัสสนาญาณจริง ๆ ให้เริ่มต้นด้วยการสมาทานศีล แล้วก็ทำจิตเป็นสมาธิ โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก่อน เมื่อรู้ลมเข้าออก ก็ใช้คำภาวนาตาม พอจิตเริ่มเป็นสุข ต่อไปก็ใช้ปัญญาพิจารณา การใช้ปัญญาพิจารณานี่จะไม่ทรงตัวนาน  ประเดี๋ยวจิตก็เริ่มฟุ้งซ่าน ถ้าจิตเริ่มฟุ้งซ่านก็ทิ้งวิปัสสนาญาณเสีย จับสมถะภาวนาใหม่ คือรู้ลมหายใจเข้าออกใหม่ ต้องสลับกันไปสลับกันมาแบบนี้ ถ้าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทสามารถทรงตัวถึงปฐมฌานเพียงใด เวลานั้นการกำจัดกิเลสขั้นพระโสดาบันและสกิทาคามีก็มีขึ้น สรุปได้ว่า ถ้าจะทำวิปัสสนาญาณ ให้เริ่มจับลมหายใจเข้าออกก่อน กับคำภาวนา พอจิตเริ่มเป็นสุข พอใจเริ่มสบาย ๆ ก็ใช้ปัญญา ทิ้งภาวนาเสีย ใช้ปัญญาพิจารณา แต่ยังรู้ลมเข้าออกอยู่ ขณะใดที่ยังรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก และพิจารณาไปด้วย เวลานั้นจิตเป็นสมาธิ มีกำลังที่จะต่อสู้กับนิวรณ์ได้ จึงกล่าวได้ว่า การทำวิปัสสนาพื้นฐานเดิมจริง ๆ ต้องมีศีลก่อน เมื่อจิตมีศีลแล้วก็ต้องทรงสมาธิ ถ้าศีลและสมาธิไม่มี วิปัสสนาญาณไม่มีผล กำลังใจจะไม่สามารถตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ ฉะนั้น คำว่าวิปัสสนาญาณ ซึ่งแปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง เป็นบทที่ใช้ปัญญาโดยเฉพาะ แต่ใช้เฉพาะปัญญาจริง ๆ นี่ไม่ได้ จะต้องมีศีลกับสมถะพร้อมวิปัสสนาญาณ
                            -บุคคลผู้บวชมา 100 ปี และก็มีศีลบริสุทธิ์ทุกสิกขาไม่บกพร่อง แต่ว่าไม่เคยเจริญสมาธิจิต ท่านมีศีลครบก็จริง แต่ทว่าไม่เคยทำสมาธิจิต ไม่เคยระงับนิวรณ์ บวชมามากอย่างไร ถึงมีศีลบริสุทธิ์ก็สู้บุคคลที่ทำจิตว่างจากกิเลส วันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่งไม่ได้ อานิสงส์มากกว่ากัน ทั้งนี้ก็เพราะว่า ศีลถ้าว่ากันถึงศีลจริง ๆ ก็มีอานิสงส์แค่กามาวจรสวรรค์ ถ้าหากว่าท่านผู้นั้นไม่ปฏิบัติในสีลานุสสติกรรมฐาน แค่ระวังสิกขาบท จะไปเป็นพรหมไม่ได้
                            ประการที่ 2 คือไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์ให้ระงับนิวรณ์ได้ เห็นไหมกิเลสหยาบยังท่วมทับใจอยู่ แต่ที่ทรงอยู่ได้เพราะเป็นการระวังตัวไว้เฉพาะเวลาเท่านั้นเอง สำหรับสมาธิจิต แต่ความจริงคำว่าจิตว่างจากกิเลส จะว่าถึงสมาธิอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องวิปัสสนาญาณควบคู่กันด้วย เฉพาะสมาธิจิตจริง ๆ สามารถไปเกิดเป็นพรหมได้ ถ้ามีวิปัสสนาญาณควบคุม แม้แต่วันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่งก็ก้าวเข้าใกล้นิพพานเข้าไปทุกที สามารถเป็นพระอริยเจ้าได้ โดยเเฉพาะพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันก็ดี สกิทาคามีก็ดี ทั้งสองท่านมีสมาธิไม่สูง มีปัญญาไม่มาก ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่มีศีลบริสุทธิ์
                            -เวลาเจริญวิปัสสนา เขาต้องใช้สมถะคุม ถ้าไม่ใช้สมถะคุมก็ไหลลงนรกไป เพราะถ้าไม่ใช้สมถะคุมมันไปไม่ได้ อันดับแรก เขาเข้าฌานให้เต็มที่ จิตตั้งอยู่ในอุเบกขารมณ์ ทรงฌานให้สบาย ใช้เวลาเท่าไรก็ตาม รู้สึกว่าสบาย จิตทรงอารมณ์มั่น ถอยหลังจิตมาถึงอุปจารสมาธิ ก็มาพิจารณาขันธ์ 5 หรือว่าพิจารณาภาพกสิณ เทียบกับขันธ์ 5 ก็ได้ จะพิจารณาร่างกายในขันธ์ 5 ในรูปลักษณะของวิปัสสนาญาณ 9 ก็ได้ ในลักษณะของอริยสัจก็ได้ เป็นต้นว่า พิจารณาดูกายเรามันทรงตัวดีหรือเปล่า ร่างกายของเราเป็นปัจจัยของความสุขหรือความทุกข์ อันดับแรกให้ดูว่าร่างกายของเรามีอะไรบ้าง ขั้นแรก กายของเรามีธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เข้ามาผสมกัน รวมกันเข้ามาเป็นกาย แล้วก็มีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุเข้ามาผสมให้เกิดความรู้สึก แล้วก็มีจิตเข้าสถิตสิงอยู่ในกาย คือ มีการเคลื่อนไหวได้ แต่ส่วนทั้งหมดนี้มันไม่เที่ยง ที่ว่าไม่เที่ยงเพราะว่ามีการไม่ทรงตัวแท้จริง มันมีการเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง ตัวเล็กแปลงเป็นโตขึ้นมาทีละน้อย ๆ เมื่อโตถึงที่สุด ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วก็ทรุดตัวลง ค่อย ๆ ทรุดตัวทีละน้อย ๆ ทุกวัน กลางคนแล้วก็เป็นคนแก่ตายไป   ในที่สุดที่เราจะเห็นว่าร่างกายของเราที่ไม่มีการทรงตัว ในที่สุดมันก็พัง
                            ในเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือร่างกายเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ เมื่อมีลมปราณอยู่เพียงใด มีแต่ความทุกข์ เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหิว เดี๋ยวกระหาย อยากมีผัว อยากมีเมีย อยากมีลูกมีหลาน อยากได้ทรัพย์ หาความพอไม่ได้ จนกระทั่งแก่จะตายหายใจไม่ไหวยังไม่นึกว่าจะตาย อยากโน่น อยากนี่ไม่มีวันจบ นี่สภาพของการเกิดมาภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหา นี่มันไม่ดี มันมีแต่ความทุกข์  ร่างกายมันต้องตายและพังไปในที่สุด มีแต่ความสกปรก ไอ้คนที่เกิดมาในโลกนี้ กายของใครมันวิเศษกว่ากันมีไหม ไม่มี ทุกคนสกปรกหมด นี่หาความไม่ดีของร่างกายให้ปรากฎ จะเห็นว่ามันประกอบไปด้วยความทุกข์ พระอรหันต์ทั้งหลายพิจารณาร่างกายแบบนี้จึงวางร่างกายเสียได้
                            เมื่อพิจารณาวิปัสสนาตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เมื่อพิจารณาไป จิตพอจะเริ่มเฝือ อารมณ์จะทรงตัวไม่ได้ ก็ทิ้งวิปัสสนาญาณเข้าหาฌาน 4 ใหม่ พักอารมณ์สบายแล้ว พออารมณ์เป็นอุเบกขารมณ์ มันไม่นึกอะไร มันทรงตัวเลย สบายมีกำลัง ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิพิจารณาใหม่ เพียงเท่านี้ ไม่ช้าไม่นานเท่าไร กำลังใจจะเกิดรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง คือปัญญามันเกิด ตอนนี้ไปว่ากันตรงวิปัสสนาญาณ นี่บารมีอย่างกลางไม่เกิน 7 เดือนเป็นพระอรหันต์
                            -การตัดกิเลสจริง ๆ ต้องใช้วิปัสสนาญาณ ถ้าฌานสมาบัติของท่านดี วิปัสสนาญาณมีความคมกล้า ก็สามารถตัดกิเลสได้เร็ว  โดยมากคนจะเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ เพราะอารมณ์ที่ทรงฌานจริง ๆ มันมีอารมณ์หนักและก็แน่นหนามาก คนจะติดตรงนี้ จิตมีกำลังสูง ที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์เพราะอะไร เพราะเจอะรูปที่สวย เคยชอบมันก็เฉย มีสภาพเฉยหมด เฉยนี่เป็นสภาพหนักแน่ของจิต นี่เป็นอารมณ์ของฌานโลกีย์  ก็มีหลายท่านเจออาการแบบนี้ ก็นึกว่าท่านบรรลุมรรคผลขั้นสูง เป็นพระอรหันต์ ต่อมาไม่ช้าฌานเสื่อมลง ความรู้สึกต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส ก็เกิดขึ้น
                            ดังนั้น สมถะและวิปัสสนากรรมฐานจึงต้องไปด้วยกัน ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้  สรุปก็คือ ก่อนที่จะคำนึงถึงวิปัสสนาญาณก็จงทำใจให้มีความสุขด้วยอำนาจของสมาธิจิตก่อน เมื่อจิตมีสมาธิดีแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้ปรากฎ เมื่อพิจารณาไปแล้ว ถ้าหากยังเห็นไม่พอเพราะจิตมันซ่าน ก็ดับความรู้สึกในการพิจารณาเสีย กลับมาภาวนาและทรงจิตให้หยุดในอารมณ์เดิมก่อนให้จิตสบายเป็นสมาธิ ทำสลับกันไปสลับกันมา
                            -การพิจารณาวิปัสสนาญาณควรมุ่งตัดกิเลสเป็นตอน ๆ ไป ถ้าตอนใดคิดว่าจะละให้เด็ดขาดก็ยังละไม่ได้ ก็ไม่ย้ายข้อที่ตั้งใจจะละต่อไปในข้ออื่น ๆ ต้องย้ำซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ในข้อนั้น จนเห็นว่าตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบแล้ว จึงเลื่อนไปพิจารณาละข้อต่อไป อย่าทำแบบสุกเอาเผากิน คราวเดียวมุ่งละหมดทั้ง 10 หรือคราวละหลาย ๆ ข้อ ถ้าทำอย่างนั้นจะเป็นพวกโมฆกรรม คือทำไม่ได้ผลไป การเจริญวิปัสสนาต้องเจริญเพื่อมรรคผล อย่าทำแบบคิดว่าพอเป็นอุปนิสัยเท่านั้น ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริงก็อย่าเข้ามายุ่ง ทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย
                            -วิปัสสนาญาณ นี่คือตัวปัญญา เกิดขึ้นได้เมื่อมีสมาธิเกิดขึ้น จิตใจระงับนิวรณ์ อารมณ์ก็เยือกเย็น กิเลสระงับ เวลานั้นกิเลสในใจเรายังไม่ฟู ไม่ดิ้นรน ระงับตัว มันนอนนิ่ง เมื่อกิเลสนอนนิ่ง จิตเป็นสุข ปัญญาด้านตัดกิเลสก็จะเกิดเอง ดังนั้น ไอ้การทรงฌานที่เป็นฌานโลกีย์มันก็ไม่แน่เหมือนกัน พระพุทธเจ้ายังเรียกว่าเป็นอนิยตบุคคล จะถือว่าตายแล้ว มีคติดิ่งไปสู่สุคติโดยเฉพาะก็ยังไม่ได้ มันจะสลายตัวเมื่อไรก็ได้ เรียกว่าฌานประเภทลูกผีลูกคนเอาแน่อะไรไม่ได้นัก
                            เมื่อทำจิตเข้าถึงฌานสมาบัติแล้วก็ต้องเร่งรัดวิปัสสนาญาณ อย่างเลวที่สุด ก้าวจิตเข้าไปสู่พระโสดาบันให้ได้ อย่างนี้ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วถือว่าเป็นผู้มีคติแน่นอน ตายแล้วไปสวรรค์แน่ ตายแล้วไปพรหมแน่ สุดแต่เราต้องการจะไป
                            -วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ
                            1. พิจารณาตามแบบวิปัสสนาญาณ 9 ตามนัยวิสุทธิมรรค
                            2. พิจารณาตามนัยอริยสัจ 4
                            3. พิจารณาขันธ์ 5 ตามนัยพระไตรปิฎกที่มีมาในขันธวรรค
                            ทั้งสามนัยนี้ ความจริงก็มีอรรถ คือความหมายเป็นอันเดียวกัน โดยท่านให้เราเห็นว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน  เพราะบางท่านชอบค่อยทำไปตามลำดับ ตามนัยวิปัสสนาญาณ 9 เป็นการค่อยปลดค่อยเปลื้องตามลำดับทีละน้อย ไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาตามแบบอริยสัจ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเองแลเะนำมาสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผลเป็นปฐมก็เพราะได้ฟังอริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือให้เห็นอนัตตาในขันธ์ 5 เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค และในขันธวรรค ในพระไตรปิฎกว่า ผู้ใดเห็นขันธ์ 5 ผู้นั้นก็เห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจ ก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ 5
                            -จงอย่าลืมว่า ก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารสมาธิ แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่านั่งนึกนอนนึก แล้วในที่สุดก็เลิกนึก ถ้าใครสามารถทรงฌานได้ดี เวลาเจริญวิปัสสนาญาณมันรู้สึกว่าง่ายบอกไม่ถูก ถ้าฌาน 4 เต็มอารมณ์แล้ว เราจะใช้วิปัสสนาญาณ ก็ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เราจะต้องตัดตัวไหนล่ะ ตัดราคะ ความรักสวยรักงาม เราก็ยกอสุภกรรมฐานขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ ยกกายคตานุสสติกรรมฐานขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ เปรียบเทียบกันว่าไอ้สิ่งที่เรารักน่ะ มันสะอาดหรือว่ามันสกปรก กำลังของฌาน 4 นี่เป็นกำลังที่กล้ามาก ปัญญามันเกิดเอง เกิดชัด มีความหลักแหลมมาก ประเดี๋ยวเดียวมันเห็นเหตุผลชัด พอตัดได้แล้วมันไม่โผล่นะ รู้สภาพยอมรับความเป็นจริงหมด เห็นคนปั๊บไม่ต่างอะไรกับส้วมเดินได้ จะเอาเครื่องหุ้มห่อสีสันวรรณะขนาดไหนก็ตาม มันบังปัญญาของท่านพวกนี้ไม่ได้ แต่ถ้าได้สมาธิไม่ถึงฌาน 4 ก็ให้เข้าฌานจนเต็มกำลังสมาธิที่ได้ เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้ว ค่อย ๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้น อย่าละโมบโลภมากทำทีละขั้น ๆ นั้นจนเกิดเป็นอารมณ์ประจำใจไม่หวั่นไหว เป็นเอกัคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบ แล้วจึงค่อยเลื่อนไปฌานต่อไปเป็นลำดับ ทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกัน ทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้ เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริง ต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้
                            -เรื่องญาณต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันเป็นของมีจริง แต่ขออย่างเดียว อย่าให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเอาแต่คิดกับอ่านตำรา แล้วก็พูด แค่นี้มันใช้ไม่ได้ อย่าลืมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต้องใช้อารมณ์เป็นสำคัญ ให้ปรับปรุงอารมณ์ ไม่ใช่ปรับปรุงวัตถุ พิจารณากายคตานุสสติกรรมฐานตัวเดียว คือพิจารณาขันธ์ 5 ร่างกาย ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ให้เข้าใจ แล้วก็ถอยหลังไปดูร่างกายที่เราทิ้งมาแล้ว มันเป็นอะไรมาบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นคนบ้างเท่าไร ดูให้มันช่ำใจ จะเกิดความเชื่อในตัวเอง แล้วก็ท่านที่ไม่ต้องเกิดอีกมีบ้างไหม อันนี้ไม่ยาก ถ้าสร้างอารมณ์เข้าถึงโคตรภูญาณ อันนี้เราจะใช้ทิพจักขุญาณเห็นพระนิพพานได้อย่างแจ่มใสแล้วก็ชัดเจน ถ้าอารมณ์ของท่านยังไม่ถึงโคตรภูญาณเพียงใด อย่าเพิ่งพูดไปนะเรื่องนิพพาน แล้วก็ยังไม่ได้ทิพจักขุญาณด้วย ไม่ได้โคตรภูญาณด้วย ยังไม่ต้องพูดกันเรื่องนิพพาน  พูดเท่าไรผิดเท่านั้น ไม่ต้องห่วง ไม่พูดไม่ผิดดีกว่า
                            -การจะตัดนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวรูปมันก็ตัดง่าย เราเอาความรู้ความสามารถของเราที่มีอยู่ในด้านอภิญญา เอามาใช้เป็นเครื่องประกอบ
                            อันดับแรก เอาอทิสมานกายยกใจขึ้นไปที่พระจุฬามณีเจดียสถาน พอไปถึงที่นั่นแล้วจะเห็นว่า กายใจในที่นั้นมันเป็นนามธรรม เทวดาหรือพรหมทั้งหมดเป็นกายนามธรรม พระอริยเจ้าที่เราเห็นเป็นนามธรรม ทุกคนไม่ปวดไม่เมื่อย ไม่ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่มีอะไรทั้งหมด สบายทุกอย่าง โรคภัยไข้เจ็บไม่มี และถ้าเราไปด้วยกำลังที่หนักแน่น มันก็ไม่เจ็บไม่ปวดไม่เมื่อยเหมือนกัน การไปก็คล่องตัว นึกปั๊บเดียวมันก็ถึง นี่กำไรในการที่ไม่มีขันธ์ 5
                                    ถ้าเราจากที่นั้นไป ถ้าเราจะไปพรหมนึกปั๊บเดียว แค่นึกก็ถึงพรหม ไปเห็นสภาพของพรหมมีความสุขสงัดคำว่าแก่ไม่มี คำว่าป่วยว่าตายไม่มี นอกจากวาระมันจะถึงมันก็เคลื่อนไป ต่อไปถ้าไปถึงพระนิพพาน เราก็เหยียดหยามทั้งหมด ทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เพราะที่นั้นเป็นแดนที่เต็มไปด้วยความสุขจริง ๆ แล้วเรามองลงมาดูข้างล่าง ถึงนิพพานก็ได้ ถึงเทวดาหรือพรหมก็ได้ มองมาดูมนุษย์ ถ้ามองมาดูมนุษย์แล้วก็จะเห็นสภาพของเมืองมนุษย์ที่มันเต็มไปด้วยสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะเกลื่อนกล่นไปด้วยการงาน มีความสกปรกโสโครกหาที่แน่นอนไม่ได้ ร่างกายที่เราทิ้งไปมันก็เหมือนตอไม้ซึ่งไม่มีประโยชน์ ร่างกายนี่ไม่ช้าก็พัง สิ่งที่เราจะทรงได้จริง ๆ ก็คือ อารมณ์ที่เราไปสวรรค์ ไปพรหม ไปพระนิพพาน
                            -วิธีการตัดง่าย ๆ ก็ใช้กำลังของทิพจักขุญาณ มองดูกายในของเราให้เป็นปกติ เห็นร่างกายเราดูข้างใน เห็นร่างกายคนอื่น เราก็ดูข้างในอีก มองลึกเข้าไปเห็นน้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ ภายในร่างกายว่ามันเต็มไปด้วยความโสโครก ตัวนี้เป็นตัวสมถภาวนา
                            สำหรับด้านวิปัสสนาภาวนา ก็ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาว่าร่างกายของคนนี้ กายของเราก็ดี มันไม่ทรงอยู่แค่นี้ ขณะที่ทรงอยู่มันเต็มไปด้วยความสกปรก ต้องประกอบการงานเหน็ดเหนื่อย มันก็มีความป่วยไข้ไม่สบายเข้ามาแทรกอยู่เสมอ ทำให้เราป่วยมากขึ้น นอกจากนั้นร่างกายมันต้องพัง พังแล้วเราก็อยู่ไม่ได้ เราต้องไป ก็คิดอย่างนี้เสมอ
                            เห็นหน้าคนเมื่อไร อย่ามองหน้า อย่ามองผิว มองทะลุเข้าไปในท้องเลย ทะลุหนังเข้าหาเนื้อ ทะลุเนื้อเข้าหาตับ ไต ไส้ ปอด มองต่อไปถึงความแก่ ความป่วย ความตาย ในที่สุดใจของเรามีความเบื่อหน่ายในกาย   ถ้าใจของเราไม่ต้องการกายเมื่อไร เรียกว่า กายคตานุสสติกรรมฐาน  ท่านเป็นอริยเจ้าเบื้องสูง คือ เป็นพระอรหันต์
                            -วิปัสสนาญาณนี้ ในระยะต้นให้ควบคุมอารมณ์ใจอยู่ในอำนาจของสมถภาวนา ให้นานที่สุดที่จะทรงได้ เมื่อทรงอยู่ได้ด้วยดีแล้ว ต่อไปก็ใช้อารมณ์สมาธินี้พิจารณาขันธ์ 5 เห็นว่าขันธ์ 5 นี้เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ แล้วก็สลายตัวไปในที่สุด เป็นอันว่าขันธ์ 5 นี้ แม้เราจะปรนเปรอขนาดไหนก็ตาม มันก็ไม่ตามใจเรา เราไม่ต้องการให้มันแก่ มันก็จะแก่ เราไม่ต้องการให้มันป่วย มันก็จะป่วย เราไม่ต้องการให้มันพลัดพรากจากเรา หรือเราพลัดพรากจากมัน เราก็ทำไม่ได้ ในที่สุด เราไม่ต้องการอยากให้ตายมันก็ตาย ห้ามไม่ได้ ขันธ์ 5 คือร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา นี่ว่าโดยย่อ เราพิจารณาขันธ์ 5 การเจริญวิปัสสนาญาณก็มีอยู่หลายแบบด้วยกัน แต่ก็รวมอยู่ในขันธ์ 5 ว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ จะพิจารณาแบบไหนก็ตาม ถ้าเลยขันธ์ 5 ไปไม่ใช่วิปัสสนาญาณ
                            -เห็นคนที่เขาเดินผ่านไปผ่านมา ดูข้างนอกแล้วมองข้างใน ว่าร่างกายของเขาเต็มไปด้วยความสะอาดหรือเต็มไปด้วยความสกปรก คนสวยที่เขาต้องการประคับ-ประคองกันมันน่าประคับประคองตรงไหน มันไม่มีอะไรที่ควรแก่การประคับประคองเลย เพราะสภาวะของเขามีสภาพไม่ต่างกับถุงอุจจาระ มันเป็นของเหม็น มันห่ออยู่ข้างใน ถ้าลักษณะหน้าตาผิวพรรณสวย ก็นึกว่าเอาผ้าแพรห่ออุจจาระ ถ้าลักษณะผิวพรรณข้างนอกไม่สวย ก็แสดงว่าเอาผ้าดิบมาห่ออุจจาระ หรือกระสอบห่ออุจจาระ คิดถึงความรังเกียจในร่างกายของเราและของเขา ให้อารมณ์มันทรงตัว และคิดต่อไปว่า คนทั้งหลายเราก็ดี เขาก็ดี จะทรงสภาพอยู่อย่างนี้หรือ ในที่สุดมันก็ตายหมด ทำอารมณ์ใจให้ทรงตัวอย่างนี้เป็นปกติ อย่าสนใจคำนินทาและสรรเสริญ อย่าสนใจโลกธรรม 8 ประการ  มันมาอย่างไรก็ให้มันไปอย่างนั้น อย่าไปยุ่งกับมัน  อย่าถือเป็นสาระเป็นแก่นสาร
                            -เมื่อมาเจริญวิปัสสนาญาณ ขั้นพิจารณาขันธ์ 5 หรือในอริยสัจ 4 พอมาพิจารณาอารมณ์อย่างนี้เข้า จิตกลับมีความเบาขึ้น ความแน่นสนิทน้อยลงไป ตอนนี้นักเจริญกรรมฐานใหม่ ๆ ที่ยังมีอารมณ์เข้าไม่ถึงมักจะไม่ชอบใจ คิดว่าอารมณ์สมาธิมีความหนักแน่นน้อยเกินไป มีความเข้าใจว่าอารมณ์ใจของเราเสื่อมจากความดีไปเสียแล้วก็ได้
                            เมื่ออารมณ์อย่างนี้เกิดขึ้น จงสร้างความรู้สึกของใจเสียใหม่ให้มันถูกต้องว่า การเจริญพระกรรมฐานเราต้องการอะไรกัน ความจริงที่ถูก การเจริญพระกรรมฐานเรามีความต้องการตัดอำนาจของราคะ ความรักในเพศตัดอำนาจโลภะ ความปรารถนาอยากได้ทรัพย์สินต่าง ๆ ตัดอำนาจโทสะและพยาบาท การจองล้างจองผลาญ การคิดประทุษร้ายบุคคลอื่นให้ถึงความพินาศ ตัดอำนาจของโมหะ ความหลง โดยคิดว่าร่างกายนี้มันเป็นของเรา เป็นของเรา ทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นเรา เป็นของเรา ถือเราถือเขาเป็นสำคัญ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็น ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ นึกเห็นตามความจริง ถ้าเราเห็นตัวเราแล้วก็เห็นบุคคลอื่น ดูหาความจริงให้พบจนกระทั่งจิตสลด คิดว่าร่างกายของคนและสัตว์เต็มไปด้วยความสกปรกจริง ๆ ร่างกายของคนและสัตว์มีทุกข์จริง ๆ ร่างกายของคนและสัตว์หาความเที่ยงไม่ได้จริง ๆ มันมีการสลายตัวไปในที่สุด   ไม่มีใครกล้าจะแสดงว่าเราเป็นเจ้าของร่างกายจริงจังโดยการบังคับให้ทรงตัวได้ ในเมื่อร่างกายมันไม่ดีอย่างนี้ เราจะไปเมามันเพื่อประโยชน์ในโลกีย์วิสัยทำไม
                            -เมื่อร่างกายมันเป็นของสกปรก เป็นของไม่เที่ยง มีอนัตตาคือสลายตัวไปในที่สุด จิตก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ผูกพันในรูปกายใด ๆ ทั้งหมด จะเป็นที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม เห็นว่าไม่เป็นสาระ หรือว่าไม่เป็นแก่นสาร มีแต่ความสกปรก เครื่องประดับที่แต่งกายเป็นของหลอกลวงไม่มีอะไรดี ผ้าผ่อนท่อนสไบหามาแล้วอย่างดี สีสดสวย เดี๋ยวก็ทรุดโทรม ความจริงนึกว่าสวมแล้วก็เก็บ จะใช้ใหม่ก็ต้องซัก ต้องฟอก นี่แสดงว่ามันสกปรก เครื่องอาภรณ์ต่าง ๆ ก็คอยปัดคอยสีขัดเกลา ทำลายสิ่งสกปรกอยู่เสมอ ทีนี้อะไรมันเป็นของสะอาด เป็นอันว่าวัตถุก็ดี สิ่งที่มีชีวิตก็ดีมันก็ของไม่สะอาดทั้งหมด จิตคิดอย่างนี้ให้มันปกติ จิตก็ตัดความรักเสียได้ เพราะความรักที่มันเกิด เราเข้าใจว่ามันดี เข้าใจว่ามันสวย เข้าใจว่ามันสะอาด อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของตัณหา ดึงไปอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น การทำลายอารมณ์รักภายในใจเสียได้เป็นอารมณ์วิปัสสนาญาณ ต้องมีอารมณ์ให้ทรงอยู่เป็นปกติ
                            จงจำไว้ว่า อารมณ์ใดที่ประกอบไปด้วยความรัก ประกอบไปด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง อันนั้นพระพุทธเจ้ากล่าวว่า เป็นอารมณ์ของดิรัจฉาน ดิรัจฉานก็หมายความว่า ไปขวาง คือมันขวางจากความดี เราจึงควรตัดความโลภด้วยการให้ทาน ตัดความโกรธด้วยการเจริญพรหมวิหาร 4 ตัดความหลงด้วยการยอมรับนับถือกฎของธรรมดา  ไม่หวั่นไหวในเมื่อร่างกายมันจะเป็นอะไรเกิดขึ้น และจงมีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงด้วยความจริงใจ เมื่อเคารพแล้วก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน   โดยการพิจารณากายของเราว่าไม่ดี ไม่มีการทรงตัว ความรักด้วยอำนาจของตัณหามันก็จะน้อยลงไป หรือไม่ก็หมดลงเลย ส่วนความโลภ ให้พิจารณาว่า จะตะเกียกตะกายไปเพื่อประโยชน์อะไร เราตายแล้วมันก็ไม่ไปกับเรา และความโกรธอยากจะฆ่าเขา ก็ให้พิจารณาว่า เราและเขาก็จะต้องตายเหมือนกัน จะไปฆ่าให้เสียเวลาทำไม เพราะฆ่าไม่ฆ่ามันก็ต้องตายอยู่แล้วนั่นเอง ทีนี้ความหลงนั่นเป็นของกู นี่เป็นของกู แม้แต่ร่างกายของเรามันยังไม่เป็นของกูเลย แล้วร่างกายคนอื่น วัตถุอื่น มันจะเป็นของเราหรือ วิธีการตัดเขาตัดที่ตรงนี้
                            -ให้พิจารณาเป็นปกติเสมอว่า ร่างกายมันจะแก่ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายมันจะป่วยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายมันจะตายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ของรักของชอบใจที่พลัดพรากจากเราไปก็ถือว่าเป็นธรรมดา ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน ให้คิดเสียว่าเมื่อร่างกายมันพังเมื่อไร เราไปนิพพานเมื่อนั้น ตั้งใจไว้เพียงเท่านี้  หากว่าชาตินี้ถ้าไม่สามารถจะไปนิพพานได้ ถ้าอารมณ์ใจท่านเป็นอย่างนี้แล้ว ดีไม่ดีไปพักอยู่แค่เทวดาหรือพรหมไม่กี่วัน เพียงแค่พระศรีอาริย์ตรัส เห็นหน้าพวกท่านเข้า พระพุทธเจ้าท่านจะเทศน์กายคตานุสสติกรรมฐาน หรือปฏิกูลบรรพฉับพลันทันที เพราะองค์สมเด็จพระชินสีห์รู้ทุนเดิมของเรา ถ้าฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระทศพลเพียงกัณฑ์เดียว อย่างเลวที่สุดได้พระโสดาบัน ถ้าฟังซ้ำอีกทีก็ได้อรหัตผล ตัวอย่างก็มีเยอะที่ปรากฎในพระพุทธประวัติ ดังเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะว่า พาหิยะ เมื่อเธอเห็นรูปแล้วจงทำจิตเพียงสักแต่ว่าเห็น พระพุทธเจ้าตรัสเพียงเท่านี้ ปรากฎว่า พระพาหิยะสำเร็จพระอรหัตผลพร้อมไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ท่านสำเร็จได้อย่างไร ทั้งนี้เพราะว่ากำลังใจพระพาหิยะพร้อมแล้วที่จะรับคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อฟังก็เกิดความเข้าใจ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความที่ท่านตรัสว่า พาหิยะ เธอเห็นรูปแล้วจงทำความรู้สึกแต่เพียงว่าสักแต่ว่าเห็น ก็หมายความว่า เธอจงอย่าสนใจในรูป เมื่อรูปเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ รูปเป็นทุกขัง สภาวะของรูปไม่มีการทรงตัว แล้วก็รูปเป็นอนัตตา มีการสลายตัวไปในที่สุด อันนี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาญาณ
                            -พระพุทธเจ้าบอกรูปไม่เที่ยง รูปเป็นทุกข์ เมื่อรูปไม่เที่ยงก็ทำให้มันเป็นเรื่องของรูป รูปมันเป็นทุกข์ ก็ให้มันเป็นเรื่องของรูป ใจเราจงอย่าทุกข์ แล้วก็ในที่สุด รูปมันเป็นอนัตตา ก็ให้มันเป็นเรื่องของรูป สำหรับใจของเราต้องเป็นนิจจัง คือมีอารมณ์เที่ยง ใจของเราให้มันเป็นสุขัง คือมีอารมณ์เป็นสุข ใจของเรามันเป็นอัตตา คือมีการทรงตัว ความจริงใจมีสภาพเที่ยง เราจะเห็นได้ว่าคนและสัตว์ที่ตาย มันตายแต่กาย ใจมันไม่ได้ตาย ถ้าใจมันตายด้วย การขึ้นสวรรค์ การลงนรก การเป็นพรหม ไปนิพพานมันก็ไม่มี สภาพของใจมันเป็นสภาพเที่ยง เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่มีสภาพไม่รู้จักการสลายตัว แต่ทว่าเราต้องระมัดระวังใจของเราให้มันมีอารมณ์ผ่องใส อารมณ์ของใจอย่าให้ขุ่นมัว เพราะเราจะดีหรือชั่วมันอยู่ที่ใจ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ
                            -ถ้าบุคคลใดใช้ปัญญาหรือสมาธิเป็นเครื่องพิจารณากาย จะเห็นว่าร่างกายนี้ สภาวะความเป็นจริงมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราเองไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่เรา มันคนละส่วนกัน คนที่ตายจากความเป็นคนไปแล้ว ไปเกิดบนสวรรค์บ้าง ไปเป็นพรหมบ้าง ไปนิพพานบ้าง ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานบ้าง อย่างนี้เป็นต้น ทุกคนไม่ได้เอาร่างกายไป เขาไปแต่อทิสมานกาย   คือกายภายใน ร่างกายภายนอกเป็นแค่เปลือกนอกเท่านั้น ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงจำไว้ว่า รูปเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ แล้วรูปก็เป็นทุกขัง มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เราไม่ควรยึดถือรูปของเรา ไม่ควรยึดถือรูปของบุคคลอื่น เราไม่ควรยึดถืออะไร ๆ ทั้งหมดในโลกว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ควรทำใจของเราให้ออกห่างจากความปรารถนาในรูป เมื่อเราตัดอารมณ์รักในรูปทุกอย่างเสียแล้ว มีความเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ที่ความทุกข์มีเกิดขึ้นมาแก่เราทุกขณะที่มีอยู่ในเวลานี้ เพราะอาศัยร่างกายเป็นเหตุ เรามีจิตรังเกียจ คิดว่าไม่ว่ารูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุ เป็นปัจจัยของความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ เมื่อจิตใจของท่านหลุดลอยในการเกาะรูป หรือบุคคลใดวางร่างกายภายในคือร่างกายของเราเสียได้ วางร่างกายภายนอกคือกายของบุคคลอื่นเสียได้ วางวัตถุธาตุใด ๆ เสียได้ทั้งหมด ท่านก็เป็นพระอรหันต์ มันเป็นของไม่ยาก เมื่อตายจากความเป็นคนเมื่อไร ก็ไปนิพพานเมื่อนั้น
                            -เรื่องของร่างกาย ถ้าจะพิจารณาโดยใช้อำนาจของปัญญา เราจะเห็นว่าร่างกายของเราและบุคคลอื่นก็ดี เต็มไปด้วยความสกปรก ยกตัวอย่างน้ำลายในปาก ถ้าหากเรายังไม่บ้วนออกมานี่ เราอมไว้ เราไม่รู้สึกรังเกียจ  และแถมกลืนได้ แต่พอบ้วนออกมาแล้วมือไม่กล้าแตะน้ำลายของใคร น้ำลายของเราเอง อยู่ในปากสะอาด พอออกมาดันสกปรกเสียได้ และอาหารที่จะกินเข้าไปเราเลือกแล้วเลือกอีก ถ้าไม่ดีไม่ชอบใจ ไม่กิน พอถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ ไม่เอาเสียแล้ว นี่เป็นอันว่าร่างกายของคนเรา  ถ้าพิจารณากันไปมันสกปรก ดังนั้น เราจะเอาจิตเข้าไปพัวพันร่างกายของบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์อะไร และแม้แต่ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มันเพียงแต่ว่าเป็นแดนสำหรับที่เราอาศัยเท่านั้น เราจะไม่หลงใหลใฝ่ฝันในรูปกายจนเกินสมควร และก็รู้อยู่เสมอว่าร่างกายของเราสกปรก ร่างกายของคนอื่นก็สกปรก มันสกปรกไม่สกปรกเปล่า ในที่สุดมันก็พังทลายเหมือนผีตายทั้งหลายนั่นแหละ ความจริงเราต้องการความสะอาด เราไม่ต้องการความสกปรก เมื่อจิตของเราเห็นว่า อัตภาพร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีสกปรก ความรักความปรารถนา ความใคร่มันก็หมดไป เพราะว่าไม่มีใครต้องการความสกปรก นี่เป็นการใช้วิปัสสนาญาณทางหนึ่ง
                            -ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว อาการอย่างนี้มันไม่ปรากฎจิตมันก็กำหนดไว้เลยว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีก การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่ต้องการ หรือว่าการที่จะมีอารมณ์พิสมัยว่า โลกมนุษย์สวยสดงดงาม เทวโลก พรหมโลก สวยสดงดงาม มันเป็นที่น่าอยู่ ไม่มีสำหรับเรา เราต้องการอย่างเดียวคือความดับไม่มีเชื้อ คือสามโลกไม่ต้องการทั้งหมด จิตที่เราจะพึงกำหนดไว้ก็คือ ไม่มีกาย แล้วก็มีพระนิพพานเป็นที่ไป จึงกล่าวได้ว่า ความต้องการประคับประคองร่างกายเป็นความโง่ของจิต ทำไมเราจึงโง่ ที่เราโง่เพราะเรามีนายบังคับ นายของเรา 4 คน ปราบยาก ไม่มีใครสามารถจะปราบให้มันราบคาบได้ นอกจากหนีไป นาย 4 คนก็คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม
                            กิเลส แปลว่าความเศร้าหมองของจิต เรียกง่าย ๆ ว่า ความเลวของจิต
                            ตัณหา เมื่อความรู้สึกมันเลว ความต้องการเลวเกิดขึ้น ตัณหาก็เกิด
                            จิตที่เป็นกิเลส เห็นของเลวเป็นของดี เห็นของดีเป็นของเลว มันกลับกัน ชอบของเลว ๆ ชอบของสกปรก เห็นของสกปรกว่าเป็นของสะอาด อย่างร่างกายคน ร่างกายสัตว์   ไปดูเถอะไม่มีส่วนไหนสะอาดเลย เต็มไปด้วยน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ เสลด น้ำลาย ทุกอย่างที่มันมีอยู่ในร่างกาย ถ้าหลั่งไหลออกมาเราก็รังเกียจทั้งหมด แต่จิตคิดอยากได้ร่างกายคนอื่นเพื่อร่วมอยู่กับเรามันยังมีอยู่ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะมันโง่ และท่านที่ทำให้เราโง่ก็คือกิเลสที่เป็นนามธรรมมันเสี้ยมสอน
                            -ถ้าเจริญอสุภกรรมฐานแล้วไม่ต้องไปไหนละ ถ้าเราต้องการสุกขวิปัสสโก เดินสายเดียวเลย มันจะมีอารมณ์เข้าจุด อันดับแรกที่สุดที่จะกระทบหนักก็คือ พระอนาคามี ทำไมถึงว่าอย่างนั้น ทำไมไม่บอกว่าต้องเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามีก่อน ความจริงเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามีเหมือนกัน แต่อารมณ์มันเร็วเกินไป
                            พอจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ เห็นว่าโลกเป็นทุกข์ โลกเต็มไปด้วยความสกปรก สมบัติที่เรารักที่สุดก็คือร่างกาย สกปรกแบบนี้หาความดีอะไรไม่ได้ ทีนี้จิตใจที่มีความต้องการในร่างกายของเราน่ะเกือบไม่มี ในเมื่อความต้องการร่างกายเราไม่มีแล้ว เราจะต้องการร่างกายของใคร ไม่มีหรอก เรารักตัวเราเองมากที่สุด ยิ่งกว่ารักคนอื่น อารมณ์ตัวนี้เป็นอารมณ์ตัดราคะ เมื่อตัดราคะจริต มันก็ตัดกามราคะ ความปรารถนาในกาม อารมณ์ที่เข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี ทิ้งไปเลย มันไปถึงอนาคามีเลย
                            -ชีวิตมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แก่ลงไปในขั้นกลาง และมีความตายในที่สุด เมื่อคนเราเกิดแล้วตายเหมือนกันหมด ธรรมใดที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วตายมี ธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วไม่ตายก็ต้องมีอยู่ เพราะว่าตายแล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดแล้วก็มาลำบากลำบนแล้วก็ตาย ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในตำรา อยู่กับความจริง ถ้าจิตใจของเราเข้าถึงความเป็นจริง ก็ชื่อว่าจิตของเราเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า อันดับแรก ให้เห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก อันนี้เป็นสมถภาวนา ต่อไปเห็นการเกิดและการเสื่อมของร่างกาย จนกระทั่งมีความเบื่อหน่ายว่าร่างกายสกปรก เราก็ไม่ชอบใจ ร่างกายมีความเสื่อม เราก็ไม่ชอบใจ ตัวนี้เป็นวิปัสสนาภาวนา ต่อไปก็ทำจิตวางเฉยในร่างกาย คือร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี ตัวนี้เป็นการตัดวิปัสสนาตัวปลาย เป็นอารมณ์พระอรหันต์ ดังนั้น เราจะเข้าถึงความดีได้ก็เพราะอาศัยการฝึกฝนตนคือจิต คำว่าตนในที่นี้ได้แก่จิต ไม่ใช่ร่างกาย คือเอาจิตของเราเข้าไปเกาะความดีเข้าไว้ ธรรมส่วนใดที่จะทำให้เราเข้าถึงพระนิพพานได้ เราก็ทำส่วนนั้น ธรรมส่วนสำคัญที่เราจะเห็นได้ง่ายก็คือ ตัดรากเหง้าของกิเลส ได้แก่ โลภะ ความโลภ เราตัดด้วยการให้ทาน  ทำจิตให้ทรงอยู่เสมอว่า เราจะให้ทานเพื่อทำลายโลภะ ความโลภ แล้วความโลภจะได้ไม่เกาะใจ อีกประการหนึ่ง รากเหง้าของกิเลสก็ได้แก่ ความโกรธ เมื่อจิตเราทรงพรหมวิหาร 4 เป็นปกติ เพื่อเป็นการหักล้างความโกรธ ความพยาบาทมันก็ไม่มี ประการที่ 3 โมหะ ความหลง ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นรากเหง้าใหญ่ เป็นตัวบัญชาการให้เกิดความรัก ความโลภ ความโกรธ  ถ้าหลงไม่มีเสียอย่างเดียว เราตัดความหลงได้อย่างเดียว เราก็ตัดได้หมด การตัดตัวหลงตัดอย่างไร ตัดตรงมรณานุสสติกรรมฐาน ก็คิดเสียว่าคนและสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความตายไปในที่สุด วัตถุต่าง ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มันมีการเกิดก่อตัวขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็สลายตัวไปในที่สัดเหมือนกัน วัตถุเรียกว่าพัง คนและสัตว์เรียกว่าตาย
                            -สังขารุเปกขาญาณ คือว่า ทำใจวางเฉยยอมรับนับถือความเป็นจริง เรามีหน้าที่ที่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติกันอย่างนั้น เพื่อเป็นการระงับทุกขเวทนา อย่างเช่น ตื่นขึ้นมาก็ต้องล้างหน้า ไม่ต้องการก็ล้าง ถึงเวลาจะกินก็กิน ก่อนที่จะได้กินต้องหา ก็ต้องหาทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าทำตามหน้าที่ แต่ร่างกายอัปรีย์ที่สร้างความเร่าร้อน สร้างความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และมันเองก็เต็มไปด้วยความสกปรกอย่างนี้ จิตเราก็คิดไว้ว่า ก่อนจะเกิดเรามันโง่ ถ้าเราไม่โง่ เราไม่ยึดถือกิเลสตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม เป็นสมบัติของเรา ประจำจิตใจเรา เราก็ไม่ได้เกิด เราก็ไปนิพพาน ในเมื่อเราโง่มาแล้ว เราก็จะไม่โง่ต่อไป คิดไว้ในใจคือ สังขารุเปกขาญาณ เขาคิดอย่างนี้ คิดว่าอะไรเราจะเกิดขึ้นมากับร่างกายก็ตามที และอะไรจะเกิดขึ้นมากับอารมณ์ก็ตาม ถือว่าช่างมัน มันธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น เราก็ทำไปทุกอย่าง ทำตามหน้าที่เท่านั้น มันหิวก็หาให้กินตามหน้าที่ มันร้อนเอาความเย็นให้มัน ระงับทุกขเวทนาตามหน้าที่ มันหนาวหาความอบอุ่นให้ตามหน้าที่ มันป่วยไข้ไม่สบาย รักษากายนี้ตามหน้าที่ คือตามหน้าที่หมายถึงว่า ระงับทุกขเวทนาชั่วคราว แต่ว่าจิตใจของเราไม่มีความต้องการในมันอีก
                            -สังขารุเปกขาญาณ อารมณ์มันเฉยทุกอย่าง ความรู้สึกน่ะมี ไม่ใช่ไม่คิด คนถ้ายังมีลมหายใจอยู่มันต้องคิด แล้วถ้าถามว่าเฉยอย่างไร ก็ตอบว่า อารมณ์มันเฉย ความรักในเพศไม่เกิดขึ้น ความเกลียดไม่เกิดขึ้น คือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย ธาตุ 4 เข้ามาประชุมกันแบบนี้ มีอาการ 32 มีความสกปรกโสโครก เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกข์ เป็นทุกข์ อนัตตา สลายตัว เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้มันเฉย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ร่างกายเป็นหน้าที่ของร่างกาย จิตใจเป็นหน้าที่ของจิตใจ ร่างกายจะแก่ก็เป็นหน้าที่ของร่างกาย ใจไม่ต้องไปช่วยมันแก่ ร่างกายจะป่วยก็เป็นหน้าที่ของร่างกาย ไม่ใช่ใจจะช่วยมันป่วย ร่างกายจะตายเป็นหน้าที่ของร่างกาย ไม่ใช่หน้าที่ของใจ ใจไม่ต้องไปช่วยมันตาย จงวางอารมณ์เสีย ใครเขาจะยังไงก็ช่าง  เขาจะดี เขาจะชั่ว เขาจะเลว เขาจะอย่างไรก็ตามเถอะ ไม่สนใจ เห็นหน้าคน เราคิดไว้เสมอว่า เป็นคนที่เราควรแก่การปรานี เห็นหน้าสัตว์ก็คิดว่าเป็นสัตว์ควรแก่การปรานี พยายามไม่ถือตน คนและสัตว์ก็ตาม ถือว่ามีธาตุ 4 คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟเสมอกัน มีอาการ 32 เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน สร้างอารมณ์ให้เป็นสังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ อย่างนี้ การระงับการถือตัวถือตนย่อมเป็นของไม่ยาก
                            -ขอพูดย่อ ๆ อารมณ์ที่ทำนี่ ไม่ใช่ต้องนั่งหลับตา ท่านเดินไปเดินมา นั่งทำอะไรอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ แล้วก็เดินอยู่ ทำอะไรก็ตาม มองดูสภาพของความจริง เห็นต้นหญ้าที่มันร่วงโรยลงไปก็คิดว่า โอหนอ ชีวิตของคนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ก็คิดมันวนไปวนมา ถอนกำลังใจให้มันติด คือว่าเมื่ออาการอย่างนั้นเกิดขึ้น เราเห็นอะไรขึ้น ถ้าอาการของความทุกข์เกิดขึ้น ความขัดข้องเกิดขึ้น เราก็เฉย ที่เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ มันอะไรจะมาก็ช่างมัน มันจะแก่ก็เชิญแก่ ใจสบาย ๆ ถือว่าหนีความแก่ไม่ได้   ถ้าความป่วยไข้ไม่สบายมันเกิดขึ้น ทุกขเวทนามันมีเราก็ต้องรักษา ใจเราก็เฉย รักษาหายก็หาย ไม่หายก็ช่างมัน อยากตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เกิดมาเพื่อตาย ใช้สังขารุเปกขาญาณ เฉยทั้งอาการที่เข้ามากระทบกระทั่งจิต ในด้านของโลกีย์วิสัย เฉยทั้งคำชม เฉยทั้งคำนินทา เฉยทั้งได้มา เฉยทั้งเสื่อมไป ไอ้การชมการสรรเสริญก็ดี การด่าการนินทาก็ดี เราไม่ได้เป็นไปตามปากเขา เราจะดีหรือจะชั่วมันอยู่ที่กำลังใขของเราเท่านั้น รวบรวมกำลังใจไว้อย่างนี้ เราก็เฉยต่ออาการทั้งหมด ไม่มีอะไรสนใจ  ช่างมัน ถ้าจะถามว่า ถ้าทำจิตได้อย่างนี้ยังสูบบุหรี่ไหม ยังกินหมากไหม ยังจะต้องใช้ของที่เคยใช้กับร่างกายไหม ก็ต้องตอบว่าใช้ตามปกติ เขาไม่ได้ติด แต่ร่างกายต้องการ เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วยังฉันภัตตาหาร เรื่องอะไรที่ประสาทต้องการเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องบำรุงประสาท เพื่อเราจะเอาไว้ใช้ประโยชน์ เหมือนกับคนที่ลงเรือรั่วเพื่อหวังจะข้ามฟาก ถ้าขณะใดที่ยังอาศัยเรืออยู่ เมื่อน้ำมันรั่วขึ้นมาเราก็ต้องอุด มันผุตรงไหนก็ต้องทำนุบำรุงซ่อมแซม ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มันรั่วให้มันพังไปจนกว่าเราจะขึ้นฝั่งได้ สิ่งสำคัญคือการยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อย่าใช้อารมณ์ฝืนกฎธรรมดา อารมณ์จิตของเราจะเป็นสุข
                            -ขอท่านทั้งหลายผู้หวังดีกับตัวเอง พิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก เตือนใจของตนเองไว้ว่า วันไหนมันหลงในร่างกายของเราบ้างไหม ว่าร่างกายของเราแข็งแรงดี สวยสดงดงาม ผิวพรรณผ่องใสมีไหม ถ้ามีจงรู้ว่านั่นโง่เต็มทีแล้ว เป็นอารมณ์ของอบายภูมิ วันไหนที่เราเห็นร่างกายคนอื่นมันสวยมีไหม ถ้ามีแสดงว่าเราโง่เต็มที เราพึงคิดไปว่าไอ้เจ้าโง่ตัวนี้เราไม่คบ เพราะร่างกายมันเป็นอย่างไร เรารู้อยู่แล้ว เราก็สกปรก คนอื่นก็สกปรก ร่างกายมันไม่ใช่เรา มันเป็นบ้านเช่าชั่วคราว สังขารุเปกขาญาณ ใช้ให้เป็นอารมณ์ วางเฉยต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ มีจิตใจจับเฉพาะอย่างเดียวคือนิพพาน ทำศีลให้บริสุทธิ์ ทำสมาธิให้ตั้งมั่น ใช้ปัญญายอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง ไม่ดิ้นรน มีอารมณ์สบาย ถ้าทำได้แค่นี้ท่านก็เป็นอรหันต์ มันไม่ยาก คิดไว้ทุกวัน คิดไว้เสมอทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออก ตื่นขึ้นมาแล้วก็ดูกายสกปรก ดูกายไม่เที่ยง ดูกายเป็นทุกข์ ดูกายเป็นอนัตตา อารมณ์มันจะชิน จะเป็นปกติ   ในที่สุดมันก็เปลื้องได้
                            -ความเบื่อหน่ายในร่างกาย เบื่อในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ ถ้าท่านคิดใคร่ครวญในรูปสมถะให้เห็นเป็นซากศพอยู่เสมอ และใคร่ครวญหากฎธรรมดาควบคู่กันไป คือเมื่อเกิดความทุกข์อันเกิดแต่การป่วยไข้หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจ หรือความแก่เฒ่าเข้ามารบกวน ท่านก็วางใจเฉยเสีย ไม่ดิ้นรนกระเสือกกระสน โดยคิดว่า ที่เป็นเรื่องธรรมดา เกิดมามันก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบาย มีลาภแล้วลาภมันก็เสื่อมได้ มียศแล้วยศมันก็สิ้นได้ มีสุขแล้วทุกข์มันก็มีได้ มีคนสรรเสริญแล้วคนนินทาก็มีได้ เกิดแล้วก็ต้องตายได้ ทุกอย่างมันธรรมดาแท้ ๆ จนจิตชินต่ออารมณ์ มีอะไรที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกว่าเป็นปกติ ไม่ดิ้นรนหวั่นไหวอย่างนี้ ท่านเรียกว่าได้สังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่ใกล้ความเป็นผู้บรรลุพระโสดาบันแล้ว
                            -การใช้วิปัสสนาญาณ ถ้ายังไม่ถึงนิพพิทาญาณเพียงใด ก็ชื่อว่าอารมณ์ของบรรดาท่านพุทธบริษัทยังไม่มีผลในวิปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณที่เป็นตัวแรกที่เข้าถึงผล แต่ผลที่เข้าถึง ตอนแรกอย่าคิดว่ามันจะทรงตัว เอาแค่เบื่อเล็กน้อย เฉพาะเวลาใหม่ ๆ เบื่อตลอดเวลาไม่ได้นะ หรือว่าจะบังคับให้เบื่อตลอดเวลามันจะไม่เบื่อตลอดเวลา บางครั้งเราจะมีความรู้สึกเบื่อในร่างกายของเราเอง เอาร่างกายเป็นสำคัญ แล้วก็บางครั้งมันก็ไม่เบื่อ อารมณ์เบื่อมันจะน้อยกว่าอารมณ์ไม่เบื่อก็ช่างมัน ถือว่ามีความเบื่อก็แล้วกัน ให้คิดเสียว่า ถ้าเรายังไม่สิ้นกิเลสเพียงใด การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะยังมีอยู่ ตายจากความเป็นคนมาเกิดเป็นคนก็ยังดี ส่วนใหญ่ก็ไปอบายภูมิ ไปสวรรค์หรือพรหมก็มีน้อย ไปเกิดในอบายภูมิมีนรก เป็นต้น ก็ทุกข์หนักกว่านี้ ก็รวมความว่า ถ้าเราเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ก็ไม่สิ้นทุกข์ ฉะนั้นการเกิดประภทนี้เป็นของน่าเบื่อ นี่เรียกว่านิพพิทาญาณ
                            -ถ้าทำใจสบาย จิตเข้าถึงฌาน 4 หรือ ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ก็ตาม เวลาที่จิตสงัด ปัญญามันจะเกิดเอง มันจะบอกชัด มันจะมีความเบื่อหน่ายในร่างกายขึ้นมาเอง มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีการทรงตัวเพราะอะไร เพราะเมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความป่วย ความตาย ในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หากความสุขไม่ได้ เราจะบริหารในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ เราจะบริหารร่างกายสักเพียงใดก็ตาม ร่างกายก็เต็มไปด้วยความทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ 5 คือร่างกายเสีย นี่ตัวปัญญามันจะเห็น ปัญญามันจะสอนต่อไปว่า ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการเกิดอีกต่อไปแล้ว ก็ตัดรากเหง้าของกิเลสทั้ง 3 ประการทิ้งเสียให้หมด คือตัดอำนาจของความโลภด้วยการให้ทาน ตัดรากเหง้าของความโกรธด้วยการเจริญเมตตาบารมี และตัดรากเหง้าของความหลงด้วยการพิจารณาหาความจริงของขันธ์ 5 ปัญญามันจะเห็นชัดว่า ร่างกายเป็นแค่เพียงธาตุ 4 ไม่มีการทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลง ภายในเต็มไปด้วยความสกปรก นี่มันจะบอกชัด ปัญญามันดีกว่านี้มาก ถ้ามันได้ถึงจริง ๆ
                            -จิตต้องปล่อยให้เป็นนิพพิทาญาณจริง ๆ เห็นคนก็ดี เห็นสัตว์ก็ดี เห็นผู้หญิงก็ตาม เห็นผู้ชายก็ตาม ให้พิจารณาเป็นอสุภกรรมฐาน เห็นตามความเป็นจริงว่า คนทั้งหลายเหล่านี้ไม่ช้าก็เป็นศพ  และเวลานี้ก็มีสภาพเหมือนศพเดินได้ เพราะอะไร เพราะเลยผิวหนังเข้าไปไม่มีอะไร หาอะไรที่สะอาด หาอะไรที่น่ารัก ดูน่าชื่นใจไม่มี มันเป็นสิ่งโสโครกด้วยประการทั้งปวง นี่ว่ากันถึงอารมณ์ของอสุภกรรมฐาน ถ้าเราเจริญอสุภกรรมฐาน ถ้าเราเข้าถึงฌาน 4 จริง ๆ อารมณ์จิตจะเห็นว่าร่างกายปรากฎว่าเป็นของน่าเกลียด โสโครก ไม่ว่าร่างกายของเราหรือกายของบุคคลอื่น เมื่อรู้ว่าศพเน่า ศพเหม็น ไม่น่ารัก ไม่น่าดู แบบนี้หนัก ๆ เข้า จิตมันจะเกิดความเบื่อหน่าย ว่าร่างกายเขาก็ไม่เป็นเรื่อง ร่างกายเราก็ไม่เป็นเรื่อง ร่างกายบุคคลอื่นก็ไม่เป็นเรื่อง ไม่น่ารักน่าชมตรงไหนเลย เรื่องอะไรที่เราจะมาหลงใหลใฝ่ฝันในร่างกายเพื่อประโยชน์อะไร
                            ร่างกายของเรามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไป   แล้วก็สลายไปในที่สุด เมื่อความสลายปรากฎมีมาเมื่อไรก็ปรากฎว่า สิ่งสกปรกทั้งหลายมันก็หลั่งไหลออกมาแบบนี้ ร่างกายของเรา ของคนทั้งหมดนี่น่าเกลียดจริง ๆ ตัวนี้เอาความเบื่อหน่ายปรากฎเป็นวิปัสสนาญาณไปในด้านวิปัสสนาญาณ ทีแรกจริง ๆ พิจารณาว่าศพตายอืด เหม็น ที่เป็นสมถะ แล้วตัวสมถะตัวนี้มันก็วิ่งไปหาวิปัสสนาญาณเอง โดยไม่ต้องตั้งขึ้นมาใหม่ อันนี้มีความสำคัญมาก
                            มันจะเกิดเป็นนิพพิทาญาณ เมื่อวิปัสสนาญาณปรากฎเป็นด้านนิพพิทาญาณแล้ว ต่อมาสังขารุเปกขาญาณก็ปรากฎ  เมื่อเราเบื่อทั้งหมดแล้ว เบื่อทั้งกายเรา และเบื่อทั้งกายคนอื่น มันเบื่อหมด หาความสวยไม่ได้ หาความดีไม่ได้ หาความสะอาดไม่ได้ แล้วต้องการมันทำไม ความต้องการในร่างกายมันก็ไม่มีอยู่ จิตมันก็เฉย ความดิ้นรนประสงค์ในร่างกายเรา ร่างกายบุคคลอื่นไม่มีแล้ว ก็เป็นการวางเฉย การวางเฉยตัวนี้คือสังขารุเปกขาญาณ ดังนั้นข้อสำคัญ เราต้องควบขคุมกำลังใจของเราในด้านนิพพิทาญาณ พิจารณาตามความเป็นจริง วิปัสสนานี่เขาเอาจิตเข้าไปจับหาความเป็นจริงกัน ไม่ใช่ฝืนความจริง

    • Update : 30/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch