หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    หัวใจของการปฏิบัติธรรม ว่าด้วยเรื่อง ทาน
    หัวใจของการปฏิบัติธรรม
     
    ว่าด้วยเรื่อง ทาน
     
                            ท่านที่มีอารมณ์เข้าถึงพระนิพพาน ท่านผู้นั้นไม่มีอารมณ์ของความทุกข์ เพราะว่าเป็นผู้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา และที่เราต้องให้ทานก็เพราะว่า เราไม่ต้องการมีขันธ์ 5 เมื่อการมีขันธ์ 5 เป็นปัจจัยของความทุกข์ ที่เราต้องมีขันธ์ 5 ก็เพราะว่า เราติดอยู่ในวัตถุว่าสิ่งนั้นเป็นทรัพย์สินของเรา สิ่งนี้เป็นทรัพย์สินของเรา แล้วก็ธาตุ 4 ที่หุ้มห่อจิตอยู่ที่เป็นเรือนร่างที่จิตอาศัย อันนี้เป็นเราเป็นของเรา เป็นอันว่าเราเข้าใจผิด คิดว่าสิ่งที่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของเรา เมื่อเรามีความเข้าใจผิด มีความหลงผิดคิดอย่างนี้ ตัวเราจึงต้องเกิด ถ้าเรายังยึดเอาตัณหาเป็นที่ตั้ง เอาตัณหาเป็นสรณะ ฉะนั้น การให้ทานเป็นการตัดความอยาก ถ้าตัดความอยากได้เข้ามาแล้ว ก็เป็นการตัดอารมณ์ที่ติดในขันธ์ 5 ซึ่งทาน การให้ ก็มีแบ่งเป็นระดับของกำลังใจในการให้ทาน ซึ่งจะกล่าวดังต่อไป
                            พาหิรกทาน ทานที่เป็นการให้ในลำดับพระโสดาบัน กล่าวคือ ตัดสินใจในการให้ทาน เพื่อไม่หวังในการเกิด คือไม่ติดในวัตถุภายนอกทั้งหมด เพราะพิจารณาได้ว่า ในที่สุดวัตถุก็ดี เราก็ดี วัตถุที่เราให้ทานก็ตาม ร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 ก็ดี มันเป็นอนัตตา จะเล็งเห็นได้ว่า ทานได้แก่วัตถุก็เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ถ้าติดมากเกินไปก็เป็นทุกขัง มีอารมณ์เป็นทุกข์ และเมื่อพลัดพรากจากมันแล้ว ในที่สุดอนัตตามาถึงแล้วก็ดึงไว้ไม่ได้ ในเมื่อมีชีวิต เราก็จะหาเงินมาเพื่อกิจการแห่งการเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัวตามหน้าที่ แต่เมื่อร่างกายเราสลายลงไปเมื่อไร เรากับมันก็จากกัน อย่างนี้เป็นทานภายนอก คิดอย่างนี้นั้นก็ชื่อว่า เป็นกำลังใจของพระอริยเจ้าเบื้องต้น นั่นคือกำลังใจของ “พระโสดาบัน”
                            อัชฌัตติกทาน ทานที่จะเป็นหลักในการที่จะเป็นพระสกิทาคามี เรียกว่าทานภายใน ทานภายในนี้ไม่ได้อาศัยวัตถุ แต่ก็อย่าลืมว่า ถ้าเราไม่สละวัตถุยังมีความเสียดายอยู่ในวัตถุซึ่งเป็นทานภายนอก เป็นของภายนอก เราก็ไม่สามารถให้ทานภายในนี้ได้ ดังนั้น ลำดับทานเข้าถึงการเป็นพระสกิทาคามี ต้องประกอบทั้งทานภายนอกและก็ทานภายใน
                            ทานภายในนี้ไม่ได้ใช้วัตถุ ได้แก่อภัยทาน คือพระสกิทาคามีนี้ระงับบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลง หมายความว่า ความโลภของพระสกิทาคามีเบาเต็มที จิตที่เกาะอยู่ในวัตถุเกือบจะไม่มี จะมีแต่เพียงเราอาศัยมันเพื่อยังชีพให้ยังคงอยู่ เราจะตายไปเมื่อไหร่ก็ช่างเถอะ นี่เป็นทานภายนอก
                            สำหรับทานภายในที่พระสกิทาคามีทรงได้นั้น คือ อภัยทาน หมายความว่า บุคคลใดก็ดีที่ทำให้เป็นที่ไม่ถูกใจเรา ด้วยกายหรือวาจาก็ดี แต่ทว่าอารมณ์ของเรานี้ ประกอบไปด้วยปัญญาที่มีความรู้สึกอยู่ว่า ขันธ์ 5 มีสภาพไม่ทรงตัว ร่างกายทั้งของเราและเขา มันเป็นแต่เพียงเปลือกภายนอกที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 มีความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน ไม่มีสิ่งใดที่เราจะคิดว่ามันเป็นปัจจัย เป็นสมบัติของความสุข ร่างกายเป็นเชื้อสายของความทุกข์ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และก็มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง และมีการสลายตัวในที่สุด เป็นอันสรุปได้ว่า มันไม่มีอะไรเป็นที่จีรังยั่งยืน
                            เพราะฉะนั้น คนที่เขาทำให้เราไม่ชอบใจ เราก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเราจะทำลายเขา ก็ไม่มีอะไรเป็นผลแห่งความดี เพราะเขาเองก็มีทุกข์อยู่แล้ว และจะต้องตายในที่สุด เราก็ควรให้อภัยเขา มีจิตใจเต็มไปด้วยการให้อภัย ถ้ากำลังใจน้อมรำลึกถึงการให้ทานด้วยประการแบบนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์เรียกบุคคลนั้นว่า เป็น “พระสกิทาคามี”
                            สำหรับพระอนาคามี มีพร้อมในการให้ทานที่เป็นวัตถุ และก็พร้อมในการให้ทานเป็น อภัยทาน นอกนั้นก็จัดทานอีกประเภทหนึ่ง คือเป็นทานภายในโดยเฉพาะ ได้แก่ การให้อภัยกับจิต คือจิตที่คิดว่าจะผูกพันในร่างกายเราก็ดี ร่างกายบุคคลอื่นก็ดี อารมณ์ประเภทนี้ไม่มี เรายกให้เป็นหน้าที่ของตัณหา ยกให้เป็นภาระหน้าที่ของอุปาทาน
                            มองดูกายของเราก็ดี บุคคลอื่นก็ดี เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก น่าสะอิดสะเอียน และประกอบไปด้วยทุกข์ต่าง ๆ ในที่สุดก็ไม่เที่ยง พังสลายไปในที่สุด และกำลังใจอีกส่วนหนึ่งในด้านความโกรธ นอกจากจะให้ อภัยทาน อย่างพระสกิทาคามีแล้ว เราก็ตัดกำลังใจว่า ขึ้นชื่อว่าการกระทบกระทั่ง กำลังใจที่ไม่ชอบใจ ไม่มีสำหรับเรา มีจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา มีการคิดให้อภัยอยู่เสมอ ใครจะด่าว่าร้ายประการใด ใจมีความสุข คิดว่านี่มันเป็นธรรมดาของความโง่ที่เราเกิดมามีร่างกาย กำลังใจมีความสบายไม่สะทกสะท้าน อันนี้เป็นอารมณ์ของ “พระอนาคามี”
                            พระอรหันต์นั้น จะต้องมีอารมณ์คิดอยู่เสมอว่าร่างกายนั้นเป็นเพียงธาตุ 4 ที่เข้ามาประชุมกัน มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ความโง่ที่คิดว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีในจิต ให้ปลดเปลื้องร่างกายเสีย คือความรู้สึกในการต้องการร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นหรือสัตว์อื่นนอกจากเราก็ดี ความพอใจในวัตถุต่าง ๆ ที่เราจะยึดเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็ดี ตอนนี้ตัดหมดสิ้นไปจากกำลังใจ เห็นว่าร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ อะไรจะมากระทบกระทั่งกายก็ดี ใจก็ดี เราไม่ยอมรับ เรายกให้เป็นกฎธรรมดา เพราะการเกิดมาต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตใจท่านคิดอย่างนี้เป็นปกติ องค์สมเด็จพระประทีบแก้วกล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็น “พระอรหันต์”
                            - อานิสงส์ของทาน สมัยพระพุทธกัสสป ท่านเทศน์อย่างนี้
                            บุคคลใดให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนคนอื่น ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดใหม่ จะมีทรัพย์สมบัติมาก จะเป็นคนร่ำรวย เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี แต่ว่าขาดเพื่อน ขาดคนเป็นที่รัก
                            บุคคลใดมีแต่ชักชวนบุคคลอื่น แต่ว่าตนเองไม่ให้ทาน ท่านบอกว่า ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ มีพรรคพวกมากแต่ยากจน
                            บุคคลใดให้ทานด้วยตนเอง แล้วชักชวนบุคคลอื่นด้วย ตายจากชาตินี้ไปเกิดใหม่ จะเป็นคนร่ำรวยมากด้วย แล้วก็จะมีเพื่อนมีบริวาร มีมิตรสหายมาก
                            บุคคลใดไม่ได้ให้ทานด้วยตนเอง ไม่ชักชวนบุคคลอื่นด้วย ตายจากชาตินี้ไปเกิดใหม่ จะไม่มีทรัพย์สมบัติ เป็นคนยากจนเข็ญใจ เป็นยาจกขอทาน แล้วขอก็ไม่ค่อยจะได้ ไม่มีใครเขาอยากจะให้ มีแต่คนรังเกียจ
                            - กำลังใจในการให้ทานเป็นจาคานุสสติ ก่อนที่คิดให้เป็นจาคานุสสติ อันนี้เป็นอนุสสติอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ามีประจำใจแล้วมันก็ตกนรกไม่ได้
                            - การถวายสังฆทาน พระผู้รับจะมีคุณสมบัติเพียงใดก็ไม่เป็นไร เพราะการถวายทานนั้นถวายแด่สงฆ์ แม้พระผู้รับหรือว่าเณรผู้รับเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ตามคติของพระพุทธศาสนา อานิสงส์ที่ได้รับก็ยังสมบูรณ์แบบ แต่ทว่าผู้รับถ้ากินเข้าไปหรือใช้ของเขาในการถวายสังฆทานนี่ตกนรกเอง เป็นเรื่องของท่าน
                            คำว่า สังฆทานนี้ ความจริงนิมนต์พระมาองค์เดียวก็ได้ แต่พระองค์เดียวนี้ฉันไม่ได้  ถ้าฉันต้องแบ่ง แบ่งไว้เฉพาะส่วนที่ตนต้องไปถวายพระสงฆ์ในหมู่ใหญ่ ถ้าฉันองค์เดียวตกนรก กินแล้วไม่แบ่งกับหมู่ใหญ่นี้ตกนรก
                            - ลำดับการบำเพ็ญทาน
                            ให้ทานแก่คนที่เคยมีศีลแล้วศีลขาด 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานกับท่านที่ทรงศีลบริสุทธิ์ 1 ครั้ง
                            ให้ทานกับท่านที่มีศีลบริสุทธิ์ 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานกับท่านผู้ทรงฌาน หรือท่านปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติมรรค 1 ครั้ง
                            ผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติมรรค หมายความว่า ท่านที่ปฏิบัติกรรมฐาน แต่ยังไม่ถึงพระโสดาปัตติมรรค จะเป็นขั้นไหนก็ตาม อย่างน้อยที่สุดจิตของท่านตัดนิวรณ์ มีความเคารพในพระรัตนตรัยจริง ๆ ทรงศีลบริสุทธิ์ก็มีอานิสงส์มาก
                            ให้ทานกับท่านที่ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติมรรค 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานกับพระโสดาปัตติผล 1 ครั้ง
                            ถวายทานกับพระโสดาปัตติผล 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระสกิทาคามีมรรค 1 ครั้ง 
                            ถวายทานกับพระสกิทาคามีมรรค 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระสกิทาคามีผล 1 ครั้ง
                            ถวายทานกับพระสกิทาคามีผล 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระอนาคามีมรรค 1 ครั้ง
                            ถวายทานกับพระอนาคามีมรรค 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระอนาคามีผล 1 ครั้ง
                            ถวายทานกับพระอนาคามีผล 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระอรหัตมรรค 1 ครั้ง
                           
                            ถวายทานกับพระอรหัตมรรค 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระอรหัตผล 1 ครั้ง
                            ถวายทานกับพระอรหัตผล 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า 1 ครั้ง
                            ถวายทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 ครั้ง
                            ถวายทานกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน 1 ครั้ง
                            ถวายสังฆทาน 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับวิหารทาน 1 ครั้ง
                            ก่อนที่จะให้ทาน ถ้าหวังผลเพื่อเป็นปัจจัยเพื่อนิพพาน ต้องเลือกบุคคลผู้ให้ ถ้าไม่สามารถให้ได้ ก็ต้องใช้วิธีถวายสังฆทานดีที่สุด
                            - การถวายสังฆทาน 1 ครั้งในชีวิต และก็ถวายด้วยจิตที่บริสุทธิ์ มีศรัทธาแท้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ผลของสังฆทานนี้จะดลบันดาลให้แก่บุคคลผู้ถวาย เกิดไปทุกชาติ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไม่มี ในแดนใดที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากขัดสน คนที่ถวายสังฆทานแล้วจะไม่เกิดในที่นั้น ผลที่ให้ไปไกลมาก กล่าวว่า แม้แต่พระพุทธญาณเองก็ยังไม่เห็นผลที่สุดของการถวายสังฆทาน คำว่า ไม่เห็นที่สุดของการถวายสังฆทาน หมายความว่า แม้แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของสังฆทานบำเพ็ญบารมีแล้ว เกิดไปอีกกี่แสนชาติก็ตาม จนกระทั่งเข้าพระนิพพาน อานิสงส์นั้นก็ยังไม่หมด นี่เป็นอำนาจของการถวายสังฆทาน
                            ก่อนที่องค์สมเด็จพระสวัสดิ์โสภาคย์จะปรารถนาพระโพธิญาณนั้น ก็เริ่มต้นมาจากการถวายสังฆทานเป็นเหตุ ฉะนั้น จึงเป็นปัจจัยให้พระองค์บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ
                            คนที่ถวายสังฆทานแล้วจะปรารถนาอย่างใดก็ได้ ถ้าปรารถนาพุทธภูมิก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ปรารถนาเป็นสาวกก็ได้เป็นพระพุทธสาวก ปรารถนาจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ย่อมได้ ถ้าปรารถนาจะเป็นพระอรหันต์ในศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาองค์ใดองค์หนึ่งก็ย่อมได้เช่นเดียวกัน และยิ่งไปกว่านั้น สังฆทานยังเป็นปัจจัยให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชและมหาเศรษฐี
                            - การถวายสังฆทานนี้ ควรจะต้องมีครบ 4 อย่าง คือ
                            1. มีอาหาร อาหารเป็นปัจจัยให้ได้ร่างกายเป็นทิพย์
                            2.ในสังฆทานมีผ้า มีผ้าเป็นเหตุให้ได้เครื่องแต่งกายเป็นทิพย์ มีเครื่องประดับอันเป็นทิพย์
                            3. มีน้ำ น้ำเป็นเหตุให้ได้สระโบกขรณี
                            4. พระพุทธรูป พระพุทธรูปนี่สำคัญมาก เพราะถ้าเกิดเป็นเทวดาก็ดี เป็นนางฟ้าก็ดี เป็นพรหมก็ดี จะมีแสงสว่างมาก เพราะเทวดา นางฟ้า หรือพรหม ถือแสงสว่างจากกายเป็นสำคัญ ถ้าใครมีแสงสว่างมาก คนนั้นมีบุญมาก ถ้าใครมีแสงสว่างน้อยแสดงว่าท่านผู้นั้นมีบุญน้อย
                            ดังนั้น ขอยืนยันว่ากำลังทาน สังฆทานนี่หนักมาก อธิษฐานสิ่งใดก็จะได้ตามปรารถนา
                            -กฐินทาน เริ่มทอดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 อานิสงส์ในการถวายผ้าพระกฐินทานนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า มีอานิสงส์มากเป็นกรณีพิเศษ คือคนถวายผ้าพระกฐินทาน หรือร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็เป็นได้ จะปรารถนาพระนิพพานเพื่อเป็นพระอรหันต์ปกติก็เป็นได้ ยิ่งกว่านั้นไซร้ ก่อนที่บรรดาผลทั้งหลายเหล่านั้น คือความเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ความเป็นพระอัครสาวกก็ดี หรือว่าเป็นอรหันตสาวกก็ดี จะมาถึง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มีบารมียังไม่สูงดี ยังไม่พอที่จะบรรลุมรรคผลได้ อานิสงส์กฐินทานจะให้ผลตามนี้
                            กล่าวคือ อันดับแรก เมื่อตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดา แล้วก็จะลงมาเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ปกครองประเทศทั่วโลก มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต 500 ชาติ
                            เนื้อบุญแห่งความเป็นพระมหาจักรพรรดิสิ้นไป บุญก็หย่อนลงมา จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ 500 ชาติ
                            หลังจากนั้นมา เนื้อบุญแห่งความเป็นกษัตริย์ได้หมดไป ก็จะเป็นมหาเศรษฐี 500 ชาติ
                            บุญแห่งความเป็นมหาเศรษฐีหมดไป ก็จะเป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ
                            บุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป ก็จะเป็นคหบดี 500 ชาติ
                            รวมความแล้ว สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสว่า “คนที่ทอดผ้าพระกฐินครั้งหนึ่งก็ดี หรือว่าร่วมในการทอดผ้าพระกฐินทานครั้งหนึ่งก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันหมด ก็ปรากฎว่าท่านเจ้าของไปนิพพานก่อน”
                            - การทอดกฐินมี 3 อย่าง ความจริงอานิสงส์กฐินก็ย่อมเป็นอานิสงส์กฐิน แต่ในปัจจุบันจัดกฐินเป็น 3 อย่างคือ
                            1. จุลกฐิน
                            2. ปกติกฐิน
                            3. มหากฐิน
                            กฐิน 3 อย่างย่อมเป็นเทวดา นางฟ้า เหมือนกัน แต่ว่าทรัพย์สมบัติมากกว่ากัน คำว่า จุลกฐิน ก็หมายความว่า เขาถวายผ้าโดยเฉพาะชิ้นเดียว คือผ้ากฐินจะเป็นผ้าสังฆาฏิตัวหนึ่งก็ได้ จะเป็นผ้าจีวรตัวหนึ่งก็ได้ สบงตัวหนึ่งก็ได้ ถ้าเราไม่มีทั้งไตร ถวายผ้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งก็เป็นกฐิน
                            ปกติกฐิน ก็มีผ้าไตรครบไตร ถวายผ้าไตรเดียว หรืออย่างน้อยก็มีผ้าไตร 3 ไตร  องค์ครองหนึ่งไตร คู่สวด 2 ไตร ที่นี้ ถ้ามีผ้าไตรครบทุกองค์ เรียกว่า มหากฐิน  อย่างนี้ถ้าบังเอิญจะไปเกิดในชาติใดก็ตาม จะเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สมบัติมากที่สุดเป็นพิเศษ
                            กฐินทั้งสามอย่างนี้ จะเป็นมหาเศรษฐีเหมือนกัน แต่เป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์แตกต่างกัน อย่าง จุลกฐิน จะเป็นมหาเศรษฐีแค่ทรัพย์ 80 โกฏิ ปกติกฐิน จะมีอานิสงส์เป็นมหาเศรษฐีนับได้แค่ 180 โกฏิขึ้นไป สำหรับมหากฐิน จะมีทรัพย์มากที่สุด
                            การทอดกฐิน แต่ละครั้งเป็นมหากุศล และเป็นมหาสังฆทาน ดังนั้น การทอดกฐิน ขอบรรดท่านพุทธบริษัททุกคนให้ตั้งจิตอธิษฐาน ท่านต้องการอะไรก็ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส ถ้าต้องการปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นได้ ต้องการเป็นอัครสาวกก็เป็นได้ ต้องการเป็นมหาสาวกก็เป็นได้ ต้องการเป็นปกติสาวก คือเข้านิพพานก็เป็นได้ แต่เรื่องการเป็นเศรษฐี ไม่ต้องอธิษฐาน อานิสงส์กฐินธรรมดาก็เป็นมหาเศรษฐีแน่นอน
                            - การทอดผ้าป่ากับการทอดกฐิน เป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่ แต่อานิสงส์โดยเฉพาะกฐินได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด เรียกว่าเป็นสังฆทานเฉพาะกิจ อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือผู้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผู้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัยได้หลายสิกขาบท ทำให้สบายขึ้น
                            ส่วนผ้าป่าก็เป็นสังฆทาน แต่อานิสงส์จะน้อยไปนิดหนึ่ง ผ้าป่านั้นผู้ให้ได้อานิสงส์ ผู้รับมีอานิสงส์แต่เพียงแค่ใช้ เรียกว่า ผ้าป่าเป็นสังฆทานไม่เฉพาะกิจ
                            สรุป ในเรื่องของทานก็คือ ทาน แปลว่า การให้ นั้นมีอยู่สองอย่างด้วยกัน คือ
                            1. อามิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุ จะเป็นเงินหรือวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องบริโภคก็ตาม
                            2. ธรรมทาน มีสองประเภท ประเภทแรกในที่นี้ได้แก่ การบอกธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ชี้เหตุผลให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว
                            และธรรมทานอีกส่วนหนึ่งที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า สำคัญที่สุดจัดว่าเป็นปรมัตทาน คือ เป็นทานที่ไม่ต้องลงทุน ก็ได้แก่ อภัยทาน
                            ทานทั้งสองอย่าง กล่าวคือ   อามิสทาน กับอภัยทาน นี้มีผลต่างกัน อามิสทานนั้นให้ผลอย่างสูงก็แค่กามาวจรสวรรค์ แต่สำหรับธรรมทาน กล่าวคือให้ธรรมเป็นทานก็ดี ให้อภัยทานก็ดี ทานทั้งสองประการนี้เป็นปัจจัยแห่งนิพพาน พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว คำว่าปรมัตถบารมีนี้เป็นบารมีสูงสุด เป็นบารมีที่จะทำให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

    • Update : 30/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch