อานิสงส์ของทาน
การให้ทานนี้อย่าลืมนะว่า ถ้าใจยังไม่หนักแน่นพอ คนที่เรายังไม่ชอบใจอย่าเพิ่งให้ ให้แต่คนที่เรารักหรือคนที่เราไม่เกลียด ต่อไปถ้ากำลังใจสูงขึ้น จิตสบายมีอุเบกขาดี มีเมตตาบารมีสูง ก็ให้ไม่เลือก ให้เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ คือกิเลสของเรา กำลังใจในการให้ทานน่ะเป็นจาคานุสสติ ก่อนที่จะคิดให้เป็นจาคานุสสติ อันนี้อนุสสติอย่างใดอย่างหนึ่งถ้ามีประจำใจแล้วมันก็ตกนรกไม่ได้
จะยกตัวอย่างมันก็ยาวเกินไป จะขอพูดถึงอานิสงส์การให้ทาน ที่สมเด็จพระพิชิตมารทรงตรัสว่า สมัยพระพุทธกัสสปท่านเทศน์อยางนี้ ท่านบอกว่า
บุคคลใดให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนคนอื่น ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดใหม่ จะมีทรัพย์สมบัติมาก จะเป็นคนร่ำรวย เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี แต่ว่าขาดเพื่อน ขาดคนเป็นที่รัก มันก็โดดเดี่ยวแย่เหมือนกัน
บุคคลใดดีแต่ชักชวนบุคคลอื่น แต่ว่าตนเองไม่ให้ทาน ท่านบอกว่า ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ มีพรรคพวกมากแต่ยากจน
บุคคลใดให้ทานด้วยตนเอง แล้วก็ชักชวนบุคคลอื่นด้วย ตายจากชาตินี้ไปเกิดใหม่จะเป็นคนร่ำรวยมากด้วย แล้วก็จะมีเพื่อนมีบริวารมีมิตรสหายมาก นี่เรียกว่ามีความสุข
บุคคลใดไม่ให้ทานด้วยตนเอง ไม่ชักชวนบุคคลอื่นด้วย ตายจากชาตินี้ไปเกิดใหม่ จะไม่มีทรัพย์สมบัติ เป็นคนยากจนเข็ญใจ เป็นยาจกขอทาน แล้วขอก็ไม่ค่อยจะได้ ไม่มีใครเขาอยากจะให้ มีแต่คนรังเกียจ
การให้ทานที่ก่อนจะนิพพานน่ะ เราจะต้องมีความสุขในทรัพย์สมบัติก่อน จะไปคิดว่าการให้ทานเป็นการกำจัดโลภะความโลภ หรือมีผลอันน้อยแค่กามาวจรอันนี้ไม่ถูก ถ้าเราจะไปนิพพาน ถ้าเราลำบากมันไปยาก ใจไม่สบาย จะเล่านิทานสักเรื่องหนึ่งเอาไหม มันจะชักช้าก็ช้า จะจบเมื่อไรก็ช่าง ก็เล่าสู่กันฟัง
ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ มีคนหนึ่งเขามาเกิด แต่คนคนนี้น่ะในชาติก่อน ๆ เวลาบำเพ็ญบารมี ตัดทานบารมีออกจากใจ แต่ความจริงเขาก็ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของใคร เขามีจาคานุสสติกรรมฐานเป็นปกติ ได้จาคานุสสติกรรมฐาน ตัวนี้เขาไม่ได้ให้ แต่จิตเขาละความโลภ คือละความอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นที่ใครไม่ให้เขาโดยชอบธรรมน่ะ เขาไม่เอา เขาไม่อยากได้ แต่ว่าเขาไม่ให้ทาน ที่ว่า “ทานัง สัคคโส ปาณัง” ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ทานเป็นบันไดให้ไปเกิดบนสวรรค์” เขาบอกว่ามันต่ำไป เอาบุญที่เป็นปรมัตถบารมีดีกว่า คือ
1. มีศีลบริสุทธิ์
2. สมาธิตั้งมั่นก็ระงับนิวรณ์
3. มีปัญญาแจ่มใสเพื่อตัดกิเลส
ก็เป็นการบังเอิญว่า ชาตินั้นเขายังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ก็ต้องตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดา ก็สงสัยอาจจะเป็นเทวดาคนจนก็ได้ ทิพยสมบัติอาจจะสู้ชาวบ้านเขาไม่ได้ ทีนี้ก็กลับมาเกิดใหม่ มาเกิดเป็นลูกหญิงแพศยา เป็นโสเภณี โสเภณีเวลานั้นถือว่าเป็นตระกูล เป็นอาชีพ ๆ หนึ่ง สังคมหรือสมาคมหนึ่ง แต่ว่าโสเภณีน่ะเขาต้องการเฉพาะลูกผู้หญิง เขาไม่เหยียดหยามเหมือนสมัยนี้ว่า โสเภณีเลว ไม่ใช่อย่างนั้น เขาถือว่าโสเภณีก็เป็นตระกูลหนึ่งที่มีศักดิ์ศรี พอออกมาเป็นลูกผู้ชายเขาไม่ต้องการ เขาก็เลยไปหมกป่าไว้ ทิ้งปล่อยให้ตาย ก็สืบตระกูลเป็นโสเภณีไม่ได้
เวลานั้นโสเภณีผู้ชายยังไม่มี ถ้าบังเอิญมีโสเภณีผู้ชายอย่างสมัยนี้ บางประเทศก็จะหากินคล่องเหมือนกัน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของบุคคลแต่ละคน ก็รวมความว่าเขาเกิดมาไม่มีความสุข ถูกปล่อยแต่เขาก็ไม่ตาย เขาไม่ตายเพราะอะไร เพราะว่ามีบุญรักษา เขาจะเป็นอรหันต์ในชาตินี้ เขาถูกหมกอยู่อย่างนั้นไม่ตาย ถูกแวดล้อมไปด้วยสัตว์รักษาไว้ จนกระทั่งเป็นหนุ่ม เดินไปเดินมา เดินเที่ยวไปก็ไม่มีอะไรกิน แต่บุญรักษาเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ต้องกินอาหาร
ต่อมาวันหนึ่งเดินเข้าไปชายป่า เห็นคนเขาเอาอะไรมาฝังไว้ เป็นลูกเขาออกเอารกมาฝัง ก็แอบดู พอเขาไปแล้วก็ย่องเข้าไปขุด เห็นรกเด็กเลยนำรกมากิน ในชีวิตเขาได้กินเท่านั้นอย่างเดียว นี่การขาดทานบารมี หลังจากนั้นก็เดินไปเดินมา เห็นพระท่านมีความสุขเลยขอบวช พระอุปัชฌาย์ก็ให้บวช
ในเมื่อบวชแล้ว เวลาบิณฑบาตรตอนเช้า พระใหม่ก็ต้องเดินข้างหลังตามระเบียบ เพราะเดินตามอาวุโส ชาวบ้านใส่บาตรจากหน้า พอจะถึงองค์หลังข้าวหมดพอดี นี่อานิสงส์ของการไม่ให้ทาน ท่านก็เดือดร้อนไม่ได้กินข้าว อุปัชฌาย์ต้องแบ่งให้ ถึงอุปัชฌาย์จะแบ่งให้ หาเองไม่ได้ ใจก็ไม่สบาย
วันที่สอง ท่านอุปัชฌาย์บอกว่า “วานนี้เขาใส่หน้าไม่ถึงหลัง วันนี้คุณเดินข้างหน้า ทุกคนใส่จะต้องถึงคุณ” แต่ความจริงพระอุปัชฌาย์เป็นพระอรหันต์ อย่างต่ำก็ต้องเป็นวิชชาสามหรืออภิญญาหกแน่ เพราะรู้เรื่องในใจดี รู้กฎของกรรมดี ท่านต้องการพิสูจน์ผลว่าคนไม่ให้ทานนั้นมันมีผลเป็นอย่างไร
วันที่สอง ชาวบ้านบอกว่า “วานนี้เราใส่หน้าไม่ถึงหลัง วันนี้รวมกันใส่จากหลังมาหาหน้า” พอจะถึงองค์หน้าข้าวหมดพอดี แต่ความจริงเขาตั้งใจจะให้ถึง แต่กฎของกรรมมันบันดาลให้ตักข้าวหมด
วันที่สาม พระอุปัชฌาย์บอกว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คุณยืนกลางเขาจะใส่ทางไหนมันพอทั้งนั้น” เป็นอันว่าท่านยืนกลาง
วันที่สาม ชาวบ้านบอกว่า “วันต้นใส่หน้าไม่ถึงหลัง วันที่สองใส่หลังไม่ถึงหน้า วันนี้เราแบ่งเป็นสองพวก ใส่จากข้างหน้ามาหนึ่งพวก ใส่จากข้างหลังมาหนึ่งพวก” เขาก็ทำตามนั้น ปรากฎว่าทั้งสองพวกพอจะถึงองค์กลางข้าวหมดพอดี
วันที่สี่ พระอุปัชฌาย์บอกว่า “ยืนรองฉัน มันใส่แบบไหนถึงทั้งนั้น” ในวันต่อมา เขาใส่บาตรพระตามระเบียบ ใส่บาตรที่ 1 เขาไม่เห็นบาตรที่ 2 ไปใส่บาตรที่ 3 พอวันต่อมาพระอุปัชฌาย์บอกว่า “คุณยืนรองฉัน” ท่านเอามือจับบาตรไว้ เขาจึงเห็นบาตรของท่าน
นี่การให้ทานถ้าบารมีไม่เต็มจริง ๆ ถ้าไปโดนเข้าแบบนี้ เราจะถูกความหิวทรมานขนาดไหน แต่นั่นบังเอิญเป็นบารมีของท่านเต็มจะได้เป็นพระอรหันต์ ยังต้องถูกทรมานจิตใจแบบนั้น เห็นโทษเห็นทุกข์แห่งการเกิด พระอุปัชฌาย์แนะนำไม่นานนักท่านก็เป็นพระอรหันต์ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วชาวบ้านก็เห็นบาตร เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว
นี่การให้ทานน่ะมีความสำคัญอย่างนี้นะ จงอย่าคิดว่าเราต้องการเฉพาะพระนิพพาน เราไม่ให้ทาน เราเอาเฉพาะศีลภาวนา อันนี้ไม่ได้ ท้องไม่อิ่มนี่มันภาวนาไม่ไหว มันจะตายเอา ดีไม่ดีมันเป็นโจร
การให้ทานของบรรดาท่านพุทธบริษัท เราจะต้องให้ ถ้าบุญบารมีของเรายังไม่เต็มเพียงใด เราก็เอาละ เราจะต้องใช้ต้องกิน แต่ถ้าบุญบารมีเต็ม เราก็จะมีความอุดมสมบูรณ์ อย่างตัวอย่างท่านพระสิวลี
ท่านพระสิวลีนี้ ชาติหนึ่งเป็นชาวป่า วันนั้นเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสมัมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระพุทธกัสสป เทศน์บอกว่า
คนใดให้ทานด้วยตนเอง เมื่อตายไปชาติหน้า จะมีโภคสมบัติมากแต่ไม่มีบริวารสมบัติ (ตามที่เล่ามาแล้ว)
บุคคลใดชักชวนบุคคลอื่น แต่ไม่ให้ทานเอง จะมีพวกมากแต่ว่ายากจน
ให้ทานเองด้วย ชวนบุคคลอื่นด้วย เกิดไปชาติหน้าเป็นคนรวยด้วย มีพวกมากด้วย
แล้วก็ ไม่ให้ทานด้วยตนเองด้วย ไม่ชักชวนชาวบ้านด้วย เกิดเป็นคนยากจนไม่มีคนคบหาสมาคม ขอทานก็ยาก
ชาวบ้านจึงตั้งใจถวายทานกันอย่างหนัก มีทุกอย่าง แต่มันขาดน้ำผึ้งสด หาเท่าไรก็ไม่ได้ ตั้งคนไว้ที่ประตูเมือง 4 ประตู ให้เงินไว้ 1,000 กหาปณะ (เท่ากับ 4,000 บาทสมัยนี้) บอกว่า “ถ้าใครเอาน้ำผึ้งสดมา นำรวงผึ้งสดมาจะซื้อ จาก 1 กหาปณะ ไปจนถึง 1,000 กหาปณะ”
พอดีท่านสิวลีเป็นชาวป่า ท่านจะมาหาเพื่อนในเมือง ไม่มีอะไรติดมือมาก็เลยเอาผึ้งมารวมงหนึ่ง พอพวกนั้นเห็นเข้าก็ขอซื้อตั้งแต่ 1 กหาปณะ ถึง 1,000 กหาปณะ
ท่านบอกว่า “ฉันจะเอาไปให้เพื่อน” ก็สงสัยว่า ผึ้งรวงนี้จริง ๆ ราคาไม่ถึง 1 กหาปณะ แต่เจ้าคนนี้ให้มาก ๆ คงจะสติไม่ดีหรืออาจจะมีเหตุใดเหตุหนึ่งเกิดขึ้น มีความจำเป็น จึงถามว่า
“ทำไมพวกท่นสติไม่ดีรึ ไอ้ผึ้งรวงหนึ่งราคาตั้ง 1,000 กหาปณะ ใครเขาซื้อขายกัน ราคามันไม่ถึง 1 กหาปณะ”
เขาก็บอกว่า “พวกเราจะทำบุญ แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีหมด มันขาดอยู่น้ำผึ้งสดอย่างเดียว เราต้องการมีทุกอย่าง”
ท่านก็บอกว่า “ถ้าซื้อไม่ขาย แต่จะเอาไปให้เพื่อน แต่ว่าท่านจะให้ฉันร่วมบุญด้วย ฉันให้”
ท่านสิวลีก็ให้เป็นการปิดรายการครบถ้วนพอดี เขาขาดอย่างนั้น ท่านปิดพอดี มันก็ปิดให้เต็ม
หลังจากชาตินั้นมาแล้ว ท่านมาพบองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว เกิดในชาตินี้มาเกิดในชาติหลังนี่เขาบอกว่า ท่านพระสิวลีนี่ไม่เคยมีโรคเลย โรคภัยไข้เจ็บไม่เคยมี เป็นพระที่มีลาภจริง ๆ จะไปไหนก็ตาม คนก็ดี เทวดาก็ดี ปรารภพระสิวลี ถ้าพระสิวลีไปด้วย ไม่มีคำว่าอด จะมีความอุดมสมบูรณ์ แม้แต่เดินเข้าไปในป่าที่ไม่มีบ้าน
ในสมัยที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารจะเข้าไปเยี่ยมพระเรวัติในป่าสะแก ที่ว่าเป็นน้องพระสารีบุตร อายุ 7 ปี เป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ เวลาเดินเข้าไป ตอนจะไปเจอะถึงทางสองแพร่ง พระพุทธเจ้าจึงได้ถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ ทางไปหาพระ
เรวัตไปทางไหน” ความจริงท่านทราบ พระอานนท์บอกว่า “ถ้าไปทางอ้อมทางนี้เดินทาง 60 โยชน์ มีบ้านบิณฑบาตรตลอด ทางนี้เป็นทางตรง เดินไป 30 โยชน์ ไม่มีบ้านใส่บาตร”
สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงตรัสถามว่า “สิวลีมาหรือเปล่า” แต่ความจริงท่านก็รู้ว่ามา แต่ต้องการจะประกาศความดี
พระอานนท์ก็กราบทูลว่า “มาพระพุทธเจ้าข้า”
พอพระพุทธเจ้าตัดสินใจว่าจะไปทางตรงบรรดารุกขเทวดาและอากาศเทวดาทั้งหลาย ต่างคนต่างปรารภว่าเวลานี้หลวงพ่อสิวลีของเรามา ความจริงพระโมคคัลลาน์พระสารีบุตรก็ไป พระพุทธเจ้าเสด็จด้วย แต่เทวดาไม่ได้ปรารภถึงเลย ปรารภเฉพาะท่านพระสิวลี จึงเนรมิตเรือนแก้ว กุฏิเป็นที่พัก วัดเป็นที่พัก สำหรับพระ 500 รูป เป็นเรือนแก้วไว้แต่ละโยชน์ ๆ 1 โยชน์มี 1 วัด สร้าง 30 วัด เป็น 30 โยชน์
เมื่อพระพุทธเจ้าไปถึงวัดต่าง ๆ เขาก็แสดงตนเป็นคนธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านรู้ นิมนต์พักวัดท่านก็พัก ตอนเช้าท่านนำอาหารการบริโภคเนรมิตจากจิตใจของเทวดา ไม่ต้องหุง ถวายพระอิ่มหนำสำราญ แต่การที่เขาถวายน่ะเขาปรารภพระสิวลีว่า “เราจะนำอาหารไปถวายหลวงพ่อสิวลีของเรา” เป็นอย่างนี้จนกระทั่งถึงสำนักของพระเรวัต
นี่แหละบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณร และญาติโยมพุทธบริษัท ท่านพระสิวลีให้ทานด้วยรวงผึ้งรังเดียวปิดรายการแต่ชาติหลัง ท่านมีความอุดมสมบูรณ์ คนที่มีความอุดมสมบูรณ์จะปฏิบัติธรรมมันก็ดี ทำอะไรก็ดีทุกอย่าง มีการคล่องตัว รวมความว่า มีความปรารถนาสมหวัง แม้แต่จิตใจคนบางประเภทก็ซื้อได้ แต่บางประเภทเราก็ซื้อใจเขาไม่ได้นะเงินน่ะ แต่บางประเภทเวลานี้ฟุ่มเฟือยมาก การซื้อก็ซื้อด้วยเงินสะดวก อันนี้มีประโยชน์มาก ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทหรือเพื่อนภิกษุสามเณร จงสนใจในการให้ทานให้มาก เพราะว่าการให้ทานนี่ไม่ใช่จะหวังเฉพาะการร่ำรวยอย่างเดียว การให้ทานเป็นปัจจัยของความสุข ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
การให้ทานนี่ขอพูดถึงอานิสงส์ของการให้ทานสักนิดหนึ่ง คืออานิสงส์ของทานในชาติปัจจุบัน เราจะเห็นได้ชัด ๆ จริง ๆ นั่นก็คือว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของบุคคลผู้รับ คือว่าคนผู้ให้มีโอกาสชื่นใจว่า เราได้ให้ทาน แต่ว่าบางคนน่ะ บางพวก จอมอกตัญญูไม่รู้คุณคนนี่เยอะเหมือนกันนะ อย่าลืมว่าผมโดนมาแล้ว โดนมาตลอดชีวิต ให้แล้วมันก็กัด แต่ผมก็ไม่ได้ผูกใจเจ็บ ผมถือว่าเป็นความชั่วของเขา ผมไม่ยอมชั่วด้วย ไอ้ผมนั้นก็เลวอยู่แล้ว ถ้าจะไปโกรธเขาเข้ามันจะเลวมากขึ้น มันจะแบกไม่ไหว เอาแค่ความเลวที่มีอยู่ มันก็เดินตุปัดตุเป๋ไปแล้ว เวลานี้ผมเดินตุปัดตุเป๋ไม่ตรงทาง หนักความชั่ว ความชั่วมีเยอะมหาศาล แต่ว่าพวกนั้นเขากลั่นเขาแกล้ง เขากินอิ่มเข้าไปแล้วเขาคิดจะฆ่าผม คิดจะไล่ผม เขาชุมนุมกันเยอะแยะ เวลาที่พูดอยู่นี่ก็ยังมีร้องเรียนไปที่ไหน ๆ ไปลงหนังสือพิมพ์ด่าบ้าง ฟ้องไปทุกระดับ จนกระทั่งสำนักนายก เขาหาว่าคนของผมโหดร้าย แต่ผมไม่เคยแตะต้องอะไรเขาเลย แต่พวกนี้เป็นอย่างไร ได้ประโยชน์มากเลย คิดว่าถ้าผมไปเสียแล้วเขาจะได้ประโยชน์จากผม หมายความว่าคนจะมาหาเขา เขาจะร่ำรวยเขานึกว่าผมรวย ก่อสร้างต่างๆ
นา ๆ ญาติโยมท่านให้สร้าง ญาติโยมท่านให้เก็บ แต่จริง ๆ การก่อสร้างนี่เหน็ดเหนื่อยหนักใจหนักกาย แต่เพื่อความดีของญาติโยม ผมไม่เหนื่อย ไม่หนัก ผมปลื้มใจ เพราะญาติโยมทำความดี ทุกคนเขาจะพ้นทุกข์กัน ฉะนั้น เราจะกักให้เขาอยู่ในแดนความทุกข์ยังไง ต้องสนองสนับสนุนตามที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนแบบไหน เราทำกันแบบนั้น
นี่แหละบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทุกท่าน ต้องจำไว้ว่า การให้ทานน่ะมันก็มีการสะดุดแบบนี้ แต่เราจงอย่าคิด คิดอย่างเดียวว่าจิตใจของเราเป็นสุข สุขเพราะการเกื้อกูลแก่เพื่อน ในเมื่อเราให้เขา ถ้ามีคนรัก ไอ้คนรักเรามาก ๆ ก็มี ไม่ใช่เลว คนเลวมันน้อยกว่าคนดี ให้ทานแก่บุคคลที่รู้คุณคนนี่มี แต่เราอย่าไปคิด คิดอย่างเดียวให้ทานเพื่อเป็นการสงเคราะห์ เรามีน้อยเราให้น้อย เรามีมากเราให้มาก ให้พอควรอย่าให้เกินพอดี อย่าให้เบียดเบียนตนเอง อย่าให้ถึงกับตัวมีทุกข์ ผลแห่งการให้ทานจริง ๆ มันก็มีประโยชน์ใหญ่ ไปที่ไหนมีแต่คนรู้จัก ความจริงเราไม่รู้จัก จำเขาไม่ได้หรอก จำเขาไม่ได้จริง ๆ อย่างพวกท่านก็เคยไปกับผม ไปถึงญาติโยมก็มาหากัน ไปถึงก็หลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงน้า ผมมองหน้าผมจำไม่ได้ แต่ว่าท่านมาด้วยความดี ผมปลื้มใจ ผมก็ดีใจ บางคราวท่านมากันมากในที่บางแห่ง จนกระทั่งผมฉันข้าวไม่ได้ ฉันข้าวไม่ได้ไม่ใช่ญาติโยมจะมากวนใจผมหรอก ผมปลื้มใจในความดีของญาติโยม
นี่แหละบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย การให้ทานน่ะ ชาติปัจจุบันเราก็มีความสุขมาก ทั้งนี้เพราะอะไร มีคนเขาสนใจเรามาก ประคับประคองเรามาก ป้องกันอันตรายให้ แต่อันตรายถ้ามันจะเกิดจากกฎของกรรม ก็อย่าไปโทษว่าทานไม่ช่วยนะ คิดไว้เสมอว่า กรรมที่เราทำไว้ในชาติก่อนมันตามมาเล่นงานเรายังไงก็ช่างมัน ชาตินี้ทำหนีมันไปให้ได้ อันดับแรกเอาทานบารมีเข้าชนกับมันก่อน เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เราพอมีความสุข คนที่เขาดีมีความกตัญญูรู้คุณ เขาก็ให้การประคบประหงมเรา ให้ความสนิทสนมกับเรา เป็นที่รักของเรา เราก็ชื่นใจในความสุข เว้นไว้แต่คนจังไรที่มีความอกตัญญูไม่รู้คุณ เขามีความทุกข์ปล่อยให้เขาทุกข์ไปฝ่ายเดียว เราอย่าทุกข์กับเขา ถ้ากำลังใจของเราอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นทานที่มีกำลังยิ่งใหญ่ ชาตินี้มีความสุข ชาติหน้าจะยิ่งสุขยิ่งไปกว่านี้ ถ้าบังเอิญบารมีของเรายังไม่ถึงที่สุดในชาตินี้ ก็อาจจะไปตกในชาติหน้าอย่างท่านเมณฑกเศรษฐี กับคณะก็ได้
(คัดลอกมาจากหนังสือธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ฉบับที่ 52 เรื่องบารมี 10)
(จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม 1)