พระนางรูปนันทาเถรี
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อัปปมาเทนะ สัมปาเทถาตีติ
ณ โอกาสบัดนี้ อาตมาภาพจะได้แสดงพระสัทธรรมเทศนาในเรื่องราวปุพพคาถา อันเป็นเครื่องโสรสสรงองค์ศรัทธาบารมี ที่บรรดาท่านนริศราทานบดีทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลประจำปักษ์ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับวันที่ 2 กันยายน 2525 วันนี้ การที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจบำเพ็ญกุศลบุญราศี เนื่องจากทานมัย คือบุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ภาวนามัย คือตั้งใจสดับรับรสพุทธพจน์เทศนา อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันนี้ทุกคนต้องการความสุขคือพระนิพพาน ฉะนั้น วันนี้ อาตมาภาพได้นำพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทในเรื่องราวของพระนางรูปนันทาเถรี ความมีอยู่ว่า
พระเจ้าปเสนทิโกศล
เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์มีความสนิทสนมกับพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์เป็นอันมาก ทราบข่าวว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปกรุงพาราณสีมากกว่าทุกประเทศ คือประเทศนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีเสด็จไปถึง 25 ครั้ง สำหรับประเทศอื่น ๆ เสด็จไปน้อยกว่านั้น แต่ทว่าปรากฎในกาลไม่นานนัก อัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์ คือพระนางมัลลิกาเทวีถึงแก่สิ้นชีพิตักษัย ฉะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลปรารถนาใคร่จะได้มีความใกล้ชิดกับองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดามากขึ้น จึงได้ไปขอสตรีในราชนิกูลของกรุงกบิลพัสดุ์มหานครซึ่งเป็นหลาน จะกล่าวกันไปก็เป็นน้องสาวขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา คือเป็นลูกของพระเจ้าอา ชื่อว่ารูปนันทาเทวี
ครั้นเมื่อนางได้เข้ามาอยู่ในสำนักของพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่แล้ว ปรากฎว่าเธอเป็นคนสวยมาก ยากที่จะมีสตรีอื่นเทียบทันได้ แต่ทว่าได้ทราบข่าวว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระเชษฐา เทศน์ทรงตำหนิความสวยของร่างกาย ฉะนั้น พระนางนี้จึงไม่ตั้งใจคือไม่สนใจจะสดับรับรสพุทธพจน์เทศนา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงพาราณสีแต่ละคราวนาน ๆ จะมาสักทีหนึ่ง เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นเวลา 45 ปี แต่ก็มีโอกาสพักที่กรุงพาราณสีเพียง 25 ครั้ง เป็นอันว่าไม่ได้มาทุกปี
ไม่ยอมไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น ขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ เสด็จประทับยับยั้งสำราญอิริยาบทปรากฎอยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลและบรรดาประชาชนทั้งหลาย ต่างคนก็ต่างไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรเป็นปกติ เพื่อสดับพระธรรมเทศนา แต่ทว่าพระนางรูปนันทาไม่ยอมไปด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศลจะช่วยชักชวนแนะนำประการใดก็ดี พระนางนี้ก็ไม่ยอมไป ที่ไม่ยอมไปก็เพราะว่า ไม่ได้โกรธพระพุทธเจ้า มีความรู้สึกว่า ตัวท่านเป็นคนที่มีความสวยสดงดงามมาก ยากที่จะมีบุคคลใดเทียบเท่าได้ แต่ทว่าองค์สมเด็จพระจอมไตร ข่าวว่าอย่างนั้นว่า พระพุทธเจ้าทรงตำหนิรูปสวยหรือรูปคนว่าไม่ดี พระนางนี้จึงไม่ยอมไป
ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ให้คนแต่งกลอน เป็นกลอนพรรณนาถึงพระราชอุทยาน ว่ามีความงามเสมอด้วยสวนสวรรค์ และให้นางกำนัลขับร้องกล่อมให้พระนางรูปนันทาฟังทุกวัน พระนางรูปนันทาก็สงสัยถามเธอเหล่านั้นว่า การที่เธอขับร้องกันอยู่นี่ อยากทราบว่ามันเป็นสวนที่ไหน หญิงทั้งหลายเหล่านั้นก็กราบทูลว่า สวนของพระเจ้าแม่เองพระเจ้าค่ะ สวยสดงดงามเหลือเกินเวลานี้ นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระมหามุนีพร้อมด้วยบรรดาพระอริยสงฆ์ทั้งหลายมาพัก พระเจ้าปเสนทิโกศลพระบาทท้าวเธอให้จัดการให้สวยสดงดงามเป็นพิเศษ มาวันรุ่งขึ้นเธอก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ แต่ว่าอยากจะไปดูสวน เขาลือกันว่ามันสวย
ในตอนเช้า เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้เข้าไปหานางถามว่า รูปนันทาวันนี้จะไปชมสวนไหม นางก็บอกว่า วันนี้ตั้งใจจะไป วันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจัดกระบวนเป็นพิเศษ สวยงามมาก พอได้เวลาตอนบ่ายจึงได้พานางไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ทว่าขณะที่ไปเฝ้านั้นแล้ว ก็ปรากฎว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วกำลังแสดงพระสัทธรรมเทศนาอยู่ นางเห็นองค์สมเด็จพระบรมครูเทศน์อย่างนั้น ก็เลยนั่งอยู่ไกล ๆ ท้ายบริษัท เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ นั่งอยู่ไกลที่สุดคือท้ายหมู่คน
พระพุทธเจ้าเนรมิตหญิงสาวสวย
ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดา ทรงทราบว่าน้องสาวเสด็จมา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นว่าวิสัยของรูปนันทานี้จะได้อรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาในวันนี้ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระมหามุนีขณะที่เทศน์อยู่ สมเด็จพระบรมครูจึงได้ทรงเนรมิตรผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความสวยสดงดงามมากว่าพระนางรูปนันทา รูปร่างก็สวยกว่า ทรวดทรงก็ดีกว่า ผิวพรรณก็ดีกว่า เครื่องประดับก็ดีกว่าพระนางรูปนันทามาก ยืนอยู่ใกล้ ๆ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายงานพัด ก็หมายความว่าองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เทศน์ ฝ่ายหญิงนั้นก็ยืนพัดเรื่อยไป เป็นเหตุให้พระนางรูปนันทามองดูหญิงคนนั้น แล้วก็มองดูสมเด็จพระภควันต์ แล้วก็ดูตัวเอง
ก็นึกในใจว่า ข่าวเขาลือกันว่าสมเด็จพระเจ้าพี่ตรงตำหนิสตรีผู้มีความงาม แล้วผู้หญิงคนนั้นก็สวยกว่าเรา แล้วเครื่องประดับประดาก็ดีกว่าเรา ถวายงานพัดอยู่ใกล้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็คือพระเจ้าพี่ แล้วทำไมข่าวลือจึงลือกันไปว่าพระเจ้าพี่นี้ทรงตำหนิความงามของร่างสตรีใด ๆ เป็นอนว่าข่าวคราวที่ลือกันไม่เป็นความจริง ฉะนั้น เจ้าหญิงรูปนันทาจึงตั้งใจสดับรับรสพุทธพจน์เทศนาของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะมีความเบาใจว่าเธอเป็นคนสวย แต่ว่าสวยน้อยกว่าหญิงคนนั้น เมื่อหญิงคนนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ให้อยู่ใกล้ถวายงานพัดได้แสดงวาไม่รังเกียจฉันใด เธอซึ่งมีความงามต่ำกว่า องค์สมเด็จพระศาสดาก็คงไม่รังเกียจในรูปฉันนั้น เธอก็ตั้งใจฟังเทศน์
ฟังเทศน์
พระพุทธเจ้าวันนั้นเทศน์ใน ไตรลักษณญาณ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อมาองค์สมเด็จพระจอมไตรก็เทศน์เป็นใจความสั้น ๆ ว่า เวลามันสั้นนะ ท่านกล่าวว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็มีความเสื่อมไป เดิมเป็นเด็ก แล้วต่อมาก็เป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์แบบมีความงามทุกอย่าง แต่ความงามของทรวดทรงทั้งหลายเหล่านี้มันไม่ทรงตัวอยู่ แล้วสมเด็จพระบรมครูก็ตรัสว่า หลังจากความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วร่างกายก็จะร่วงโรยลงทีละน้อย ๆ จนไปถึงวัยกลางคน มาตอนนี้เอง หญิงสาวคนสวยที่ถวายงานพัดอยู่ เมื่อสมเด็จพระบรมครูเทศน์ไปแบบไหน ร่างกายเธอก็ทรุดโทรมไปตามนั้น ค่อย ๆ คลายความสวยไปทีละน้อย ๆ จนถึงวัยกลางคน
พระนางรูปนันทานั่งมองดูฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระบรมครู แล้วก็มองดูหญิงกลางคนนั้นแล้วก็แปลกใจว่า หญิงคนนี้เมื่อกี้นี้มันสาวสวยกว่าเรา แต่เวลานี้ก็แก่ไปทีละน้อย ๆ จนถึงวัยกลางคน ผมเริ่มเป็นดอกเลา ต่อมาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเทศน์ต่อว่า กลายจากความเป็นคนกลางคนแล้ว ร่างของบุคคลนั้นก็จะต้องแก่ไปทีละน้อย ๆ ทรุดโทรมไปทีละน้อย ๆ ถึงวัยแก่ชราร่างของหญิงนั้นก็แก่ไปตามวาจาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ ท่านก็บอกว่า เมื่อความแก่เข้ามาถึงผมที่ดำสนิทก็กลับค่อย ๆ ขาวเริ่มเป็นดอกเลา แล้วก็ขาวหมดทั้งศีรษะ ผมของหญิงคนนั้นก็เริ่มคลายตัวไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดก็ขาวหมดหัว พระนางรูปนันทาก็แปลกใจ
ต่อไปองค์สมเด็จพระจอมไตรก็บอกว่า หนังที่เคยเปล่งปลั่งมันก็เหี่ยวย่นกลายเป็นคนที่ไม่มีความสวย ร่างกายของหญิงนั้นก็เป็นตามนั้น แล้วสมเด็จพระภควันต์ก็ตรัสว่า แม้แต่ฟันที่อาศัยอยู่เต็มปากทั้ง 32 ซี่ นี้มันก็ยังหลุดไปทีละซี่สองซี่ ในที่สุดองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเทศน์อย่างนี้ปั๊บ ฟันของหญิงนั้นก็หลุดไปทีละซี่สองซี่จนหมดปาก ปากบุ๋มเข้าไป เวลาต่อไปองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสว่า นอกจากความแก่จะเข้ามาถึงแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็เข้ามาเบียดเบียนมีอาการต่าง ๆ
มีอาการเสียดท้อง ปวดท้อง ปวดศีรษะ มีอาการอาเจียน เป็นต้น แล้วองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดากล่าวแบบไหนหญิงนั้นก็มีสภาพแบบนั้น ผลที่สุดก็อาเจียนเกือบล้มก็เกือบตาย ในที่สุดองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็กล่าวว่า ที่สุดของชีวิตนั่นก็คือความตาย หญิงคนนั้นก็ล้มลงมาทันทีถึงแก่ความตาย
แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสต่อไปว่า ความตายมันไม่หยุดเพียงแค่นี้ ในเมื่อธาตุลมหมดไป ธาตุไปหมดไป เหลือแต่ธาตุน้ำกับธาตุดิน ธาตุดินไม่มีอะไรเป็นเครื่องประคับประคอง คือไม่มีไฟประคับประคอง ในที่สุดธาตุน้ำก็ละลายดิน ดินละลายแล้วเกิดอาการเน่าขึ้นมา บรรดาอสุภะคือของที่น่าเกลียดทั้งหลายในร่างกายก็ผุดขึ้นมามีกลิ่นเหม็นฟุ้ง ขึ้นอืด สภาพของหญิงนั้นก็เป็นสภาพแบบนั้น
ในที่สุดองค์สมเด็จพระภควันต์ก็กล่าวว่า เมื่อน้ำหมดไปร่างกายก็โทรมลง เนื้อหมดไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ภาพของหญิงนั้นก็เป็นตามนั้น ในที่สุดท่านก็บกว่า กระดูกเรี่ยรายหายไปจากสภาพร่างกาย หายไปในพื้นปฐพี ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ตามนี้ ร่างกายของหญิงนั้นมีสภาพไปตามนั้น
พระนางรูปนันทาก็มองดูตามภาพนั้นตามลำดับ ในที่สุดก็มีความคิดว่า หญิงคนนี้สาวกว่าเรา หญิงคนนี้สวยกว่าเรา รูปร่างหน้าตาดีกว่าเรา เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์เธอก็มีสภาพดีกว่าเรา พองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์จบ พระนางรูปนันทาพิจารณาร่างกายหญิงคนนั้นแล้วก็พิาจารณาร่างกายของตัวเองว่า สภาพต่อไปในเบื้องหน้าก็มีสภาพเป็นอย่างนี้ เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์เทศน์จบ พระนางรูปนันทาก็บรรลุอรหัตผลในพระพุทธศาสนา
บุญอะไรจึงเกิดมาสวย
แล้วกลับตามย้อนถอยหลังมาว่า ทำไมพระนางรูปนันทาจึงสวยมาก ตอนนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในที่บางตอน ท่านกล่าวว่า พระนางรูปนันทาเป็นคนในตระกูลศากยราช เกิดในตระกูลของเจ้าก็จริงแหล่ แต่ทว่าเป็นเจ้าที่มีความสวยงดงามเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีหญิงใดในกรุงกบิลพัสดุ์มหานครจะสวยเท่าพระนางรูปนันทา
คำว่ารูปนันทา แปลว่า มีรูปเป็นเครื่องบันเทิง คือมีรูปเป็นเครื่องดีใจ สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า ในอดีตชาติก่อน คือว่าทุกชาติที่ผ่านมามันเป็นนิสัยนะ พระพุทธเจ้าบอกว่านิสัยนี้ละไม่ได้ คนจะละนิสัยได้มีคนเดียวคือพระพุทธเจ้า ถ้ายังไม่เป็นพระพุทธเจ้าเพียงใด ก็ทรงนิสัยตามนั้น เมื่อได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้วก็ละนิสัยนั้นได้ มีองค์เดียว คนอื่นนอกจากพระพุทธเจ้าแม้แต่พระอรหันต์ทั้งหลายก็ละนิสัยเดิมไม่ได้ อย่างพระสารีบุตรอดีตเห็นจะเกิดเป็นลิงมามาก เป็นอัครสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เวลาพบลำคลองหรือลำราง พระอื่นค่อย ๆ ข้ามไป หรือค่อย ๆ ถกผ้าลุยน้ำไป แต่พระสารีบุตรขัดเขมรแล้วก็โดดไป เป็นอันว่านิสัยนี้ทิ้งไม่ได้แม้ว่าจะเป็นอัครสาวก
สำหรับพระนางรูปนันทาก็เหมือนกัน ที่สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาตรัสว่า ชาติในอดีตของรูปนันทาทุกชาตุที่เกิดเป็นมนุษย์ นี่หมายความว่าทุกชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ เวลาที่เธอจะทำบุญทำทาน ภาชนะทุกอย่างต้องสะอาดหมด ตั้งแต่สมัยเป็นคนยากจนก็ตามที ภาชนะมันอาจจะไม่ดีเท่าชาวบ้านเขา แต่ว่าการทำความสะอาดภาชนะที่จะไปทำบุญต้องสะอาด ถ้าไม่สะอาดเธอไม่ทำ ต่อมาจนกระทั่งเป็นลูกเศรษฐีหรือลูกกษัตริย์ มาก็หลายวาระ เวลาที่จัดภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ภาชนะทุกอย่างเธอต้องล้างเอง ต้องเช็ดเอง ต้องทำเองทุกอย่างจนกระทั่งเป็นที่พอใจ
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อาศัยที่รูปนันทาเป็นคนชอบความสะอาด รักความสะอาด เวลาให้ทานหรือบำเพ็ญกองการกุศล เหตุนี้เป็นปัจจัยให้รูปนันทาเป็นคนสวยทุกชาติ มาชาติสุดท้ายนี่เป็นคนสวยที่สุด แต่ว่าไอ้ความสวยก็อยู่ไม่ได้นาน แล้วองค์สมเด็จพระพิชิตมารจึงได้กล่าวแก่บุคคลทั้งหลายว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความจริงท่านเทศน์กับพระกับคน แต่พระนั่งอยู่ใกล้จึงปรารภกับพระว่า
ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงดูสภาวะของหญิงที่มีรูปงามที่ถวายงานพัดตถาคตอยู่ ในไม่ช้าไม่นานเท่าไร องค์สมเด็จพระบรมครูคือตถาคตเทศน์ไม่ทันจะจบเธอก็ตาย เวลานี้กระดูกเรี่ยรายลงบนพื้นปฐพี จะหาสิ่งที่ปรากฎเป็นร่างกายนี้ก็ไม่ปรากฎฉันใด พวกท่านทั้งหลายที่สดับรับรสพุทธพจน์เทศนาอยู่เวลานี้ ภายหลังไม่ช้าจากวันนี้ไป วันคืนล่วงไป ๆ ชีวิตก็เสื่อมไปทีละน้อย เข้าไปหาความตาย ถ้าอายุยืนสักหน่อยก็มีอายุถึงแก่ แก่แล้วก็ตาย ถ้าบาปกรรมที่เป็นอกุศลทำไว้มากไซร้ เช่น ปาณาติบาต ก็สามารถจะตัดชีวตไปในระหว่างกลางให้ถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้น พวกเธอทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต อย่าคิดว่าชีวิตจะยืนยาวต่อไป
แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนำมาซึ่งอริยสัจโดยย่อ นั่นก็หมายความว่า เธอทั้งหลายจงรู้สภาพว่าการเกิดนั้นมีสภาพเป็นทุกข์ การทรงชีวิตอยู่นั้นมีสภาพเป็นทุกข์ทุกอย่าง ความหิวก็เป็นทุกข์ ความกระหายก็เป็นทุกข์ การป่วยไข้ไม่สบายก็เป็นทุกข์ การประกอบการงานก็เป็นทุกข์ การปวดอุจจาระปัสสาวะก็เป็นทุกข์ มีความปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ มันทุกข์ทั้งหมด เพราะว่าปรากฎแล้วว่าคนเกิดมาแล้วไม่มีความสุขแท้จริง
ปัจจัยให้เกิดทุกข์
พระองค์กล่าวว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย และบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง พวกเราจะพ้นทุกข์ได้เพราะหาเหตุความเกิดให้พบ เหตุที่จะเกิดความทุกข์ได้นั่นก็คือตัณหา ได้แก่ความอยาก
กามตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ในสิ่งที่ไม่มีให้อยากมีขึ้น
ภวตัณหา สิ่งที่มีขึ้นแล้วอยากให้ทรงตัว ตอนนี้แหละมันเป็นตัวทุกข์มาก การอยากได้เข้ามาเป็นของธรรมดาของคนที่มีชีวิต เพราะต้องเลี้ยงตัวเองเป็นของไม่แปลก ถ้าได้มาด้วยสัมมาอาชีวะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่ทรงตำหนิ แต่ก็ทรงตำหนิตอนที่ว่า พอได้มาแล้วไม่ต้องการให้มันหมดไป จะให้มันทรงอยู่
อย่างคนที่ได้มาแล้วมีความเป็นหนุ่มเป็นสาวเพียงใด ต้องการให้สาวให้หนุ่มตลอดกาล มีรูปร่างหน้าตาสะสวยเพียงใดให้สวยอยู่ตลอดกาล ทรัพย์สินที่หามาได้แล้วต้องการให้มันอยู่กับเราตลอดกาล สมบัติส่วนใดที่สร้างขึ้นมาเป็นวัตถุ ต้องการให้มันใหม่ตลอดเวลานี่มันเป็นไปไม่ได้ อารมณ์ที่ต้องการให้ทรงอยู่ตลอดกาลนี้เรียกว่าภวตัณหา มันเป็นตัวบันดาลให้เกิดความทุกข์ เพราะอะไร เพราะคนเกิดมาแล้วมันต้องแก่ทุกคน ร่างกายต้องทรุดโทรมทุกคนแล้วต้องตายทุกคน สัตว์ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน วัตถุที่หามาได้นั้นได้มาจากใหม่แล้วก็เก่าลงไปทุกวัน ๆ ถ้าเราต้องการให้มันใหม่อยู่ ให้มันทรงตัวอยู่ ในเมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปใจมันก็เป็นทุกข์ อันนี้ภวตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ คืออารมณ์ต้องการให้ทรงตัวอยู่
และในตอนท้ายสมเด็จพระบรมครูกล่าวว่า
วิภวตัณหา อีกตัวหนึ่งที่ทำให้เราทุกข์ วิภวตัณหานี่ยมอรับว่ามันแก่ก็แก่ ทนไม่ไหวห้ามไม่ได้ ของเก่าก็เก่าไม่ว่าอะไร ขออยาให้มันพังอย่าตายก็แล้วกัน ไอ้ความพังความตายมันเป็นของธรรมดาของสมบัติของโลก นี่มันก็ห้ามไม่ได้อีก ในเมื่อเราต้องการไม่ให้มันฟังไม่ให้มันตาย ทีนี้เวลามันจะพังมันจะตายขึ้นมาใจเราก็เป็นทุกข์
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า เธอทั้งหลายเมื่อรู้เหตุของความทุกข์คือตัวอยาก คืออยากได้ในสิ่งที่ไม่มาไม่มีมา ต้องการให้มีขึ้น สิ่งที่มีขึ้นแล้วต้องการให้ทรงตัว สิ่งที่มันไม่ทรงตัวไม่ต้องการให้มันจากไป อาการอย่างนี้เป็นปัจจัยความทุกข์ เธอทั้งหลายจงตัดทุกข์ด้วยอริยมรรค อริยมรรคท่านย่อลงแล้วเหลือ 3 ประการ คือศีล สมาธิ ปัญญา คือตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และตั้งใจดำรงสมาธิหรือกำจัดนิวรณ์ 5 ออกจากใจ ปัญญาพิจารณาไปว่า ขึ้นชื่อว่าขันธ์ 5 ซึ่งประกอบด้วยธาตุ 4 มีอาการ 32 มันเป็นของไม่ดี ตัวอย่างเหมือนสตรีในภาพเมื่อกี้นี้เธอเป็นสาวเป็นคนสวย ต่อมาร่างกายก็ทรุดโทรมไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดก็แก่ แก่แล้วก็ตาย
เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงกล่าวว่า จงอย่ายึดถือว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา จงอย่ายึดถือร่างกายของเราว่าจะทรงอยู่ จงอย่ายึดถือร่างกายของบุคคลอื่นว่าจะทรงอยู่ แล้วสมเด็จพระบรมครูก็กล่าวว่า จงวางภาระในวัตถุธาตุทั้งหมดที่เป็นของภายนอกจากกาย จิดใจเราไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากพระนิพพาน
**************