ความกำหนดพิจารณารูปกับนามนี้ กระจายออกไปให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางไม่ถือมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา นั่นแหละเรียกว่า วิปัสสนา ให้พึงสันนิษฐานดูว่า รูป ได้แก่สิ่งที่มองเห็นด้วยตาทั้งหมด ทั้งที่มีใจครองก็ดี และไม่มีใจครองก็ดี เรียกว่ารูปทั้งนั้น ส่วนนามธรรมนั้น หมายเอาสิ่งที่รู้ด้วยใจ นามธรรมไม่มีรูปร่าง ดังนั้นจึงรู้ได้แต่ทางใจเท่านั้น เพราะว่าใจหรือจิตก็ไม่มีรูปร่างเหมือนกัน แต่มันก็มีอิทธิพลสามารถทำกายนี้ให้เคลื่อนไหวไปมาได้ และสามารถบังคับกายวาจาให้ทำดีหรือทำชั่วได้ การที่จะรู้จักจิตนี้ได้โดยแจ่มแจ้งก็เพราะกำหนดละอารมณ์ที่เป็นอดีตอนาคตเสีย แล้วเพ่งอยู่ในปัจจุบันนี้จนจิตรวมลงเป็นหนึ่งนั่นแหละ จะรู้ว่าจิตคืออะไร
การเจริญสมถะก็ดี และการเจริญวิปัสสนาก็ดี ก็เพื่อมุ่งชำระจิตดวงนี้ให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงสมควรเจริญให้มาก กระทำให้มาก จักเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นคือ อริยสัจธรรมทั้งสี่ ได้แก่ ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันทุกข์นั้นหมายเอาความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และความโศกเศร้าเสียใจ พิไรรำพันต่างๆ ความคับแค้นใจ ความเหี่ยวแห้งใจ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ดี ความได้ร่วมกับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักที่ชอบใจก็ดี และความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวังก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้น ส่วนความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้น ทรงสอนให้กำหนดรู้เท่าตามเป็นจริงแล้วอดกลั้นทนทานต่อทุกขเวทนานั้นๆ เสมอไป ส่วนความโศกเศร้าเป็นต้นนั้น ทรงสอนให้กำหนดละ และบุคคลสามารถละได้ ถ้าอบรมปัญญาให้เกิดขึ้น และตัณหาคือความอยากนั้น ทรงสอนให้ละ ในขั้นต้นนี้ทรงสอนให้ละตัณหาคือความอยากกระทำไปในทางบาปอกุศล เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุราเมรัย กัญชายาฝิ่น เฮโรอีน และอื่นๆ ซึ่งเป็นของเสพติดให้โทษ ตัณหาประเภทนี้ควรเพียรพยายามละให้ได้ ถ้าไม่ละแล้วมันจะพาให้ได้รับทุกข์ ทั้งในปัจจุบัน และเบื้องหน้าต่อไปไม่มีสิ้นสุด ส่วนความอยากประเภทอื่นนั้นค่อยเอาไว้ละทีหลัง ถ้าละตัณหาตอนต้นนั้นไม่ได้ ตัณหาประเภทอื่นๆ ก็ละไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงสมควรพยายามละตัณหาประเภทต้นนั้นให้ได้ จึงจะพ้นจากทุกข์ในอบายภูมิทั้งสี่มีนรกเป็นต้นได้ เราเกิดมาในชาตินี้เป็นบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้มาพบพระพุทธศาสนา