|
|
ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์ (มหายาน)
ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์ (มหายาน)
โดย อ.เสถียร โพธินันทะ
เมื่อประเทศไทยได้ประกอบรัฐพิธีเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ รัฐบาลของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เชิญผู้แทนพุทธบริษัทนานาชาติทั่วโลก มาร่วมอนุโมทนาใน มหากุศลกรรมนี้โดยพร้อมเพรียงกัน ผู้แทนพุทธบริษัทจีนคณะชาติที่ไต้หวัน มีพระสมณาจารย์กานจูฮูตุ๊กตู ชาวมงโกล เป็นประธาน พระสมณะอินสุ อาจารย์ใหญ่แห่งสำนักปริยัติ ธรรมฟูเยนฯ เป็นรองประธานพร้อมด้วยคณะผู้ติดตามอีก ๗ ท่าน ได้อัญเชิญพระไตร ปิฎกฉบับจีน ๒ จบมาด้วย และได้ทำพิธีมอบเป็นธรรมบรรณาการ แก่สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยจบหนึ่ง มอบแก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุอีกจบหนึ่ง ในฐานะเป็นสถาบันศึกษาพระพุทธศาสนาสูงสุด ๒ แห่งของประเทศไทย พระไตรปิฎก ฉบับนี้เป็นของถ่ายพิมพ์จากฉบับญี่ปุ่น ได้เริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยสำนักวัฒนธรรมพุทธศาสนาแห่งประชาชาติจีนเมืองไทเป จบหนึ่งมี ๒,๒๓๖ คัมภีร์ คิดเป็นผูกได้ ๙,๐๐๖ ผูก เป็นสมุดพิมพ์ ขนาดเอ็นไซโคลปีเดีย ๕๕ เล่มใหญ่หนามาก นับว่าพระไตร ปิฎกฉบับนี้ เป็นผลงานของชาวพุทธบริษัทฝ่ายมหายานที่ใหม่ที่สุด ถึงแม้ว่าอาศัยถ่ายพิมพ์ มาจากฉบับญี่ปุ่นคือฉบับ ไดโช ก็จริง แต่พระไตรปิฎกฉบับญี่ปุ่น คือไตรปิฎกจีนนั่นเอง เพราะญี่ปุ่นรับพระพุทธศาสนาไปจากจีน ชนิดถ่ายเอาตัวอักษรไปด้วย แต่โดยที่ญี่ปุ่น เข้าใจเก็บรวบรวมเก่งกว่าจีน ฝ่ายจีนซึ่งเป็นเจ้าของเดิม จึงกลับต้องไปอาศัยของเขามาถ่ายพิมพ์ ผู้เขียนซึ่งมีหน้าที่บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสากล และโดยเฉพาะ ลัทธิมหายานในสภาการศึกษาฯ จะขอถือโอกาสค้นคว้าประวัติปิฎกจีนพากย์ฉบับนี้มาเล่าสู่ กันฟัง
เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายออกไปในนานาประเทศ เริ่มแต่รัชสมัยพระเจ้า อโศกมหาราช และขยับขยายแพร่หลายต่อเนื่องกันต่อมาจนกระทั่งพระพุทธศาสนาสิ้นสูญ จากอินเดีย ประเทศต่างๆ ซึ่งยังรับช่วงพระสัทธรรม กลับปรากฏว่าเป็นแหล่งเจริญของ พระพุทธศาสนาแทนที่มาติภูมิ แก่นสำคัญของพระพุทธศาสนาที่จะเป็นเหตุให้เจริญตั้งมั่น อยู่ได้ก็อยู่ที่พระธรรมวินัย ปรากฏว่าพระธรรมวินัยที่แพร่หลายไปในดินแดนต่างๆ หาได้ เสมอเหมือนกันไม่ จำแนกออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑. พระธรรมวินัยที่ถือภาษามคธ หรือบาลีเป็นหลัก มีลัทธิเถรวาทในพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานเป็นฝ่ายประกาศเจริญแพร่หลายในลังกา, ไทย, พม่า, เขมร และลาว พระไตรปิฎกของประเทศทั้ง ๕ จึงเหมือนกัน
๒. พระธรรมวินัยที่ถือภาษาสันสกฤตเป็นหลัก มีลัทธิมหายานและนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของฝ่ายสาวกยานเป็นฝ่ายประกาศเจริญแพร่หลายในประเทศจีน แต่จีนมิได้รักษาต้นภาษาเดิมไว้ เอามาแปลถ่ายไว้ในภาษาจีนหมด แล้วจึงแพร่หลายต่อออกไปในเกาหลี, ญี่ปุ่น และญวน
๓. พระธรรมวินัยที่ถือภาษาสันสกฤตเป็นหลักเหมือนประเภทที่ ๒ และเป็นลัทธิ มหายานดุจกัน แต่ประกาศหนักไปในนิกายมนตรยาน อันเป็นสาขาหนึ่งของมหายานเจริญ แพร่หลายในประเทศธิเบต และแปลสู่ภาษาธิเบตแล้วหมด จากธิเบตจึงแพร่ต่อออกไป ในมงโกเลีย และมานจูเรีย
พระธรรมวินัยทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าจะว่าโดยชัดแจ้งแล้ว กล่าวได้ว่าคือพระไตรปิฎก ภาษาบาลี, พระไตรปิฎกภาษาจีน และพระไตรปิฎกภาษาธิเบตนั่นเอง พระไตรปิฎกภาษา จีน มีลักษณะพิเศษกว้างขวางโอบอุ้มเอาคติธรรมต่างๆ ในพระไตรปิฎกบาลีกับธิเบตไว้ ด้วยคือมีปกรณ์ลัทธินิกายสำคัญในพระพุทธศาสนาไม่จำกัดเฉพาะลัทธิมหายานเท่านั้น ลักษณะนี้พระไตรปิฎกบาลีหามีไม่ ส่วนพระไตรปิฎกธิเบตถึงมีอยู่บ้างก็ยังน้อยกว่าฝ่ายจีน ฉะนั้น พระไตรปิฎกจีนจึงเป็นธรรมสาครอันยิ่งใหญ่ที่สุดของพระพุทธศาสนา ในที่นี้จะยก อุทาหรณ์ปกรณ์สำคัญของต่างนิกายที่มีในพระไตรปิฎกจีนมากล่าว เช่นหมวดพระวินัยปิฎก มี:
๑. ทศภาณวารสรวาสติวาทวินัย ๖๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระปุณยาตระ, พระกุมารชีพ, พระธรรมรุจิ, พระวิมลรักษ์ รวม ๔ รูป เมื่อ พ.ศ. ๙๔๗ - ๙๕๐ ต่อมาสมณะอี้จิงได้แปลวินัยปกรณ์ของนิกายนี้อีก ๑๕ ปกรณ์ ซึ่ง ส่วนมากเป็นเรื่องปลีกย่อย ว่าด้วยเรื่องอุปสมบทกรรม, การจำพรรษา, เภสัชชะและเรื่อง สังฆเภทเป็นต้น
๒. จตุรอัธยายธรรมคุปตวินัย ๖๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์แปลสู่ ภาษาจีน โดยพระพุทธยศ เมื่อ พ.ศ. ๙๕๓
๓. มหาสังฆิกวินัย ๓๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหาสังฆิกะ แปลสู่ภาษาจีนโดย พระพุทธภัทรกับสมณะฟาเหียน เมื่อ พ.ศ. ๙๖๓ - ๙๖๕
๔. ปัญจอัธยายมหิศาสกวินัย ๓๐ ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดย พระพุทธชีวะ กับ สมณะเต้าเซง เมื่อ พ.ศ. ๙๖๖
๕. สมันตปาสาทิกาวินัยอรรถกถา ๑๘ ผูก เป็นอรรถกถา พระวินัยปิฎกนิกายเถรวาท แปลสู่ภาษาจีนโดยพระสังฆภัทรเมื่อ พ.ศ. ๑๐๓๒ แต่เป็นฉบับย่อไม่มีพิสดาร เช่น ต้นฉบับบาลี
๖. ปาฏิโมกข์ศีลสูตรของนิกายกาศยปิยะ เป็นเพียงหนังสือสั้นๆ มิใช่พระวินัยปิฎกทั้งหมด
หมวดพระสุตตันตปิฎก ถือตามมติของศาสตราจารย์เหลียงฉีเชาก็มี:
๑. เอโกตตราคม ๕๑ ผูก คือ อังคุตตรนิกายของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระธรรมนันทิเมื่อ พ.ศ. ๙๒๗
๒. มัธยามาคม ๖๐ ผูก มัชฌิมนิกาย ของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดย พระสังฆรักษกับพระสังฆเทวะเมื่อ พ.ศ. ๙๔๑
๓. ทีรฆาคม ๒๒ ผูก ทีฆนิกายของนิกายธรรมคุปต์ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระพุทธยศเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖
๔. สังยุกตาคม ๕๐ ผูก สังยุตตนิกายของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระคุณภัทรเมื่อ พ.ศ. ๙๘๖
ส่วนประเภทพระอภิธรรมปิฎก และคัมภีร์ประเภทศาสตร์หรือปกรณ์วิเศษของนิกายต่างๆ ก็มีอุดม เช่น อภิธรรมสังคีติบรรยายปาทศาสตร์ ๒๐ ผูก, อภิธรรมสกันธปาทศาสตร์ ๑๒ ผูก, อภิธรรมวิชญานกายปาทศาสตร์ ๑๖ ผูก, อภิธรรมปกรณะปาทศาสตร์ ๑๘ ผูก, อภิธรรมมหาวิภาษาศาสตร์ ๒๐๐ ผูก, อภิธรรมนยายนุสารศาสตร์ ๘๐ ผูก, อภิธรรมปกรณศาสนศาสตร์ ๔๐ ผูก, อภิธรรมหฤทัยศาสตร์ ๔ ผูก, สังยุกตาภิธรรมหฤทัย ศาสตร์ ๑๑ ผูก, ปกรณ์เหล่านี้เป็นของนิกายสรวาสติวาทิน, อภิธรรมโกศศาตร์ ๒๐ ผูก, คัมภีร์นี้ระคนด้วยลัทธิในนิกายสรวาสติวาทิน กับนิกายเสาตรันติกวาทิน, สารีปุตราภิธรรม ๓๐ ผูก ของนิกายวิภัชวาทิน, อภิธรรมสัตยสิทธิวยกรณศาสตร์ ๑๖ ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะหรือนิกายเสาตรันติก หรือนิกายพหุสุตวาทยังไม่แน่นอน จตุราริยสัจจปกรณ์ ๔ ผูก, และคัมภีร์วิมุตติมรรค ๑๒ ผูก คัมภีร์นี้เป็นของนิกายเถรวาทมีเค้าโครงอย่างเดียวกับคัมภีร์ วิสุทธิมรรคมาก ข้าพเจ้าได้เขียนวิจารณ์ไว้ในหนังสือเรื่องน่ารู้ ๑๕ เรื่องแล้ว คุณวิภังคนิทเทศศาสตร์ ๓ ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะ, สัมมิติยะศาสตร์ ๒ ผูก ของนิกายสัมมิติ ยะ ฯลฯ
เฉพาะคัมภีร์ฝ่ายมหายานซึ่งต้นฉบับสันสกฤตที่ตกค้างเหลืออยู่ในปัจจุบันมีไม่ถึง ๑ ใน ๑๐ เพราะเมื่อพวกข้าศึกต่างศาสนารุกรานเข้ามาในอินเดียได้เที่ยวเผาวัดวาอารามของพระพุทธศาสนา ทำลายพระไตรปิฎกเสียมากกว่ามาก มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ซึ่งเป็นสถาบันศึกษาพระพุทธศาสนาสูงสุดในสมัยนั้น ก็ถูกเผาเสียป่นปี้ คัมภีร์ต่างๆ จึงสูญหายไปมาก ที่ยังเหลือตกค้างอยู่บ้าง ก็เป็นด้วยภิกษุสงฆ์พาหนีไป กับหลบทารุณภัยเข้าไปอยู่ในเนปาลบ้าง ในธิเบตบ้าง ประกอบทั้งเมื่อสมัยพระพุทธศาสนา แพร่หลายเข้าไปในประเทศเหล่านี้อยู่ทั้งในเนปาลบ้าง ในธิเบตบ้าง ประกอบทั้งเมื่อสมัยพระพุทธศาสนา แพร่หลายเข้าไปในประเทศเหล่านี้ได้พาคัมภีร์สันสกฤตมาเป็นต้นฉบับ จึงพอจะหาได้บ้างก็ที่ตกค้างเหลืออยู่ในเนปาล, ธิเบต, จีน และญี่ปุ่น แต่หาพบใน เนปาลกับธิเบตมากกว่าแห่งอื่นและส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์นิกายมันตรยาน โชคดีที่คัมภีร์ สันสกฤตของลัทธิมหายานได้ถูกแปลถ่ายไว้ในภาษาจีนเป็นอันมาก การศึกษาลัทธิมหายานจึงจำเป็นต้องผ่านทางภาษาจีน ในหนังสือประมวลสารัตถะพระไตรปิฎก แต่งครั้งราชวงศ์หงวน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้บอกจำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์ไว้ดังนี้
๑. พระสูตรฝ่ายมหายาน ๘๙๗ คัมภีร์ ๒,๙๘๐ ผูก
๒. พระวินัยฝ่ายมหายาน ๒๘ คัมภีร์ ๕๖ ผูก
๓. ศาสตร์ฝ่ายมหายาน ๑๑๘ คัมภีร์ ๖๒๘ ผูก
๔. พระสูตรฝ่ายสาวกยาน ๒๙๑ คัมภีร์ ๗๑๐ ผูก
๕. พระวินัยฝ่ายสาวกยาน ๖๙ คัมภีร์ ๕๐๔ ผูก
๖. ศาสตร์ฝ่ายสาวกยาน ๓๘ คัมภีร์ ๗๐๘ ผูก
รวมทั้งสิ้นเป็น ๑,๔๔๑ คัมภีร์ ๕,๕๘๖ ผูก แต่จำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ ชำระกันหลายครั้งหลายคราว จำนวนคัมภีร์กับจำนวนผูกเปลี่ยนแปลงไม่เสมอกันทุกคราว ในหนังสือว่าด้วยสารัตถะความรู้จากการศึกษพระไตรปิฎกแต่งครั้งราชวงศ์เหม็ง ได้แบ่งหมวดพระไตรปิฎก เพื่อสะดวกแก่การศึกษาดังนี้
๑. หมวดอวตังสกะ
หมวดนี้มีพระสูตรใหม่สูตรหนึ่งเป็นหัวใจคือ พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร ๘๐ ผูก และมีสูตรปกิณณะย่อยๆ อีกหลายสูตร
๒. หมวดไวปุลยะ
มีพระสูตรใหญ่ชื่อมหารัตนกูฏสูตร ๑๒๐ ผูก เป็นหัวใจ นอกนั้นก็มีมหาสังคีติสูตร ๑๐ ผูก, มหายานโพธิสัตว์ปิฎกสูตร ๒๐ ผูก, ตถาคตอจินไตยรหัศยมหายานสูตร ๓๐ ผูก, สุวรรณประภาสสูตร ๑๐ ผูก, กรุณาปุณฑริกสูตร ๑๑ ผูก, มหายานมหาสังคีติกษิติครรภทศจักรสูตร ๑๐ ผูก, มหาไวปุลยมหาสังคีติโพธิสัตวพุทธานุสสติสมาธิสูตร ๑๐ ผูก, จันทร ประทีปสมาธิสูตร ๑๑ ผูก, ลังกาวตารสูตร ๗ ผูก, สันธินิรโมจนสูตร ๕ ผูก, วิเศษจินดาพรหมปุจฉาสูตร ๔ ผูก, อักโษภยพุทธเกษตรสูตร ๒ ผูก, ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสปูรวประณิธานสูตร ๒ ผูก, มโยปมสมาธิสูตร ๓ ผูก, ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร ๑ ผูก, อมิตายุรธยานสูตร ๑ ผูก, มหาสุขาวดีวยูหสูตร ๒ ผูก, อจินไตยประภาสโพธิสัตวนิทเทสูตร ๑ ผูก, ศูรางคมสมาธิสูตร ๓ ผูก, วิมลกีรตินิทเทศสูตร ๓ ผูก, และอื่นๆ อีกมากสูตรนัก ฯลฯ อนึ่งคัมภีร์ฝ่ายลัทธิมนตรยานก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะนี้ มีพระสูตรสำคัญ เช่น มหาไวโรจนสูตร ๗ ผูก, เอกอักขระพุทธอุษฯราชาสูตร ๖ ผูก, มหามณีวิปุลยะวิมาน วิศวศุภประดิษฐานคุหยปรมรหัสยะกัลปราชธารณีสูตร ๓ ผูก, สุสิทธิกรสูตร ๓ ผูก, วัชร เสขรสูตร ๗ ผูก, โยคมหาตันตระราชาสูตร ๕ ผูก, มหามรีจิโพธิสัตวสูตร ๗ ผูก, วัชรเสข ระประโยคโหมตันตระ ๑ ผูก, มหาสุวรรณมยุรีราชาธารณีสูตร ๒ ผูก ฯลฯ
๓. หมวดปรัชญา
มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ๖๐๐ ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น ราชไมตรีโลกปาลปารมิตาสูตร ๒ ผูก วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ๑ ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ
๔. หมวดสัทธรรมปุณฑริก
มีพระสูตรใหญ่ ชื่อสัทธรรมปุณฑริกสูตร ๘ ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น อนิวรรตธรรมจักรสูตร ๔ ผูก, วัชรสมาธิสูตร ๒ ผูก, มหาธรรมเภรีสูตร ๒ ผูก, สมันตภัทรโพธิสัตวจริยธรรมธยานสูตร ๑ ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ
๕. หมวดปรินิรวาณ
มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรินิรวาณสูตร ๔๐ ผูก เป็นหัวใจ มีสูตรปกิณณะ เช่น มหากรุณาสูตร ๕ ผูก, มหามายาสูตร ๒ ผูก, มหาเมฆสูตร ๔ ผูก, อันตรภาวสูตร ๒ ผูก เป็น อาทิ ฯลฯ
พระวินัยลัทธิมหายาน
ลัทธิมหายานมิได้มีภิกขุปาฏิโมกข์เป็นเอกเทศ คงปฏิบัติวินัยบัญญัติตามพระปาฏิโมกข์ของฝ่ายสาวกยาน แต่มีแปลกจากฝ่ายสาวกยานคือ โพธิสัตวสิกขา เพราะลัทธิมหายานสอนให้มุ่งพุทธิภูมิ บุคคลจึงต้องประพฤติโพธิจริยา มีศีลโพธิสัตวเป็นที่อาศัย วินัยโพธิสัตวนี้สาธารณทั่วไปแม้แก่ฆราวาสชนด้วย มีโพธิสัตวกุศลศีลสูตร ๙ ผูก, พุทธ ปิฏกสูตร ๔ ผูก, พรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับบาลี) ๒ ผูก, โพธิสัตวศีลมูลสูตร ๑ ผูก และอื่นๆ อีก พึงสังเกตว่าเรียกคัมภีร์เหล่านี้ว่า “สูตร” มิได้จัดเป็นปิฎกหนึ่งต่างหาก อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์อินเดีย
มี ๓๓ ปกรณ์ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ ๑๐๐ ผูก แก้คัมภีร์มหาปรัชญาปารมีตาสูตร, ทศภูมิวิภาษาศาสตร์ ๑๕ ผูก, สัทธรรมปุณฑริกสูตรอุปเทศ ๒ ผูกเป็นอาทิ อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์จีน
มี ๓๘ ปกรณ์ เช่น อรรถกถาพุทธาวตังสกมหาไพบูลยสูตร ๖๐ ผูก และปกรณ์ ประเภทเดียวกันอีก ๕ คัมภีร์ นอกนั้นมีอรรถกถาลังกาวตารสูตร ๘ ผูก, อรรถกถาวิมล กีรตินิทเทศสูตร ๑๐ ผูก, อรรถกถาสุวรรณประภาสสูตร ๖ ผูก, อรรถกถาสัทธรรม ปุณฑริกสูตร ๒๐ ผูก, อรรถกถามหาปรินิรวาณสูตร ๓๓ ผูก เป็นอาทิ
ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์อินเดีย
มี ๑๐๔ ปกรณ์ เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ ๑๐๐ ผูก, ปกรณารยวาจาศาสตร์การิกา ๒๐ ผูก, มหายานอภิธรรมสังยุกตสังคีคิศาสตร์ ๑๖ ผูก, มหายานสัมปริครหศาสตร์ ๓ ผูก, มัธยานตวิภังคศาสตร์ ๒ ผูก เหตุวิทยาศาสตร์ ๑ ผูก, มหายสนศรัทโธตปาทศาสตร์ ๒ ผูก, มาธยมิกศาสตร์ ๒ ผูก, ศตศาสตร์ ๒ ผูก, มหายานวตารศาสตร์ ๒ ผูก, มหายาน โพธิสัตวศึกษาสังคีติศาสตร์ ๑๑ ผูก, มหายานสูตราลังการ ๑๕ ผูก, ชาตกมาลา ๑๐ ผูก, มหาปุรุษศาสตร์ ๒ ผูก, สังยุกตอวทาน ๒ ผูก ทวาทศทวารศาสตร์ ๑ ผูก นอกนั้นก็เป็นปกรณ์สั้นๆ เช่น วิฃญาณมาตราตรีทศศาสตร์, วีศติกวิชญานมาตราศาสตร์, อลัมพนปริกษ ศาสตร์, อุปายหฤทัยศาสตร์, หัตถธารศาตร์, วิชญานประวัตรศาสตร์, วิชญานนิทเทศ ศาสตร์, มหายานปัญจสกันธศาสตร์เป็นอาทิ
ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์จีน
มี ๑๔ ปกรณ์เป็นคัมภีร์ประเภทฎีกาแก้ปกรณ์วิเศษรจนา โดยคันถรจนาจารย์ อินเดียมี ๑๑ ปกรณ์ รจนาโดยคันถรจนาจารย์จีนมี ๑๘ ปกรณ์ คัมภีร์ปกิณกคดีที่อธิบายหลักธรรมบ้างที่เป็นประวัติบ้าง ของคันถรจนาจารย์อินเดียรวบรวมไว้ก็ดี รจนาขึ้นใหม่ก็ดี มีทั้งของฝ่ายพาหิรลัทธิด้วย รวม ๕๐ ปกรณ์ อาทิเช่นพุทธจริต ๕ ผูก, ลลิตวิสตระ ๒๐ ผูก, นาคเสนภิกษุสูตร (มิลินทปัญหา) ๓ ผูก, อโศกอวทาน ๕ ผูก, สุวรรณสัปตติศาสตร์ของลัทธิสางขยะ ๓ ผูก, และไวเศษิกปทารถศาสตร์ของลัทธิไวเศษิก ๓ ผูก เป็นต้น ส่วนปกรณ์ปกิณณคดีประเภทต่างๆ ของนิกายมหายานในประเทศจีน มีนิกายเทียนไท้, นิกาย เฮี่ยงซิ้ว, นิกายเซ็น, นิกายสุขาวดี, นิกายวินัยกับนิกายอื่นๆ อีก รวมทั้งประเภทประวัติ ศาสตร์ และจดหมายเหตุที่รจนารวบรวมไว้ โดยคันถรจนาจารย์จีนมีประมาณ ๑๘๖ ปกรณ์ ปกรณ์เหล่านี้มีทั้งชนิดยาวหลายสิบผูก และชนิดสั้นเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ
ความสำเร็จแห่งพระไตรปิฎกจีนดังพรรณนามา เกิดจากความวิรยะ อุตสาหะ ของท่านธรรมทูตทั้งหลายผู้ภักดีศาสนา ซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวอินเดีย, ชาวอาเซียกลาง และชาวจีน ได้แปลถ่ายจากภาษาสันสกฤตออกเป็นภาษาจีนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายดายเลย อักษรศาสตร์สันสกฤตและอักษรศาตร์จีน มีความยากลึกซึ้งขนาดไหนและมีลีลาแตกต่างกันในเชิงไวยากรณ์ขนาดไหน ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ศึกษาอักษรศาสตร์ทั้ง ๒ ชาตินั้นแล้ว ยิ่งใน การแปลนี้เป็นการถ่ายทอดปรมัตถธรรมของพระศาสนาอันมีอรรถรสสุขุมล้ำลึกหนักหนาก็ ยิ่งทวีความยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ แต่บรรดาท่านธรรมฑูตเหล่านั้นก็พยายามบาก บั่นผลิตผลงานของท่านขึ้นสำเร็จจนได้ ควรแก่การเคารพสรรเสริญของปัจฉิมาชนตาชน อย่างยวดยิ่ง เราพอจะแบ่งระยะกาลแปลคัมภีร์อย่างกว้างๆ ได้ ๔ สมัย คือ
๑. สมัยวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงต้นวงศ์ถัง (พ.ศ. ๖๑๐- ๑๒๗๓) ในระยะเวลา ๖๖๓ ปี นี้ มีธรรมทูตทำงานแปลรวม ๑๗๖ ท่าน ผลิตคัมภีร์ ๙๖๘ คัมภีร์ ๔,๕๐๗ ผูก
๒. สมัยกลางวงศ์ถัง ถึงวงศ์ถังตอนปลาย (พ.ศ. ๑๒๗๓ - ๑๓๓๒) มีธรรมทูต ทำงานแปล ๘ ท่าน
๓. สมัยปลายวงศ์ถัง ถึงต้นวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๓๓๒ - ๑๕๘๐) มีธรรมทูตทำงาน แปล ๖ ท่าน
๔. สมัยวงศ์ซ้อง ถึงวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๕๘๐ - ๑๘๒๘) มีธรรมทูตทำงานแปล ๔ ท่าน
ในจำนวนธรรมทูต ๔ สมัย ๑๙๔ ท่านนี้ ผู้มีเกียรติคุณเด่นมีรายนามต่อไปนี้ อันสิทเกา, ธรรมกาละ, ธรรมนันทิ, อภยะ, ธรรมรักษ์ศิริมิตร, สังฆเทวะ, กุมารชีพ, ปุณยาตระ, พุทธยศ, พุทธชีวะ, พุทธภัทร, สังฆภัทร, คุณภัทร, โพธิรุจิ, ปรมัตถะ, กาลยศ, ธรรมมิตร, พุทธคุปตะ, สังฆปาละ, ฟาเหียน, เฮี่ยงจัง, เทพหาร, ศึกษานันทะ, อี้จิง, วัชรโพธิ, สุภกรสิงหะ, อโมฆวัชระ, ปรัชญา, ธรรมเทวะ, สันติเทวะ, ทานปาละ เป็นต้น ในบรรดาท่านเหล่านี้ มีพิเศษอยู่ ๕ ท่านที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “นักแปลคัมภีร์อันยิ่งใหญ่” คือ
๑. พระกุมารชีพ เลือดอินเดียผสมคุจะ มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ แปลคัมภีร์ ๗๔ ปกรณ์ ๓๘๔ ผูก
๒. พระปรมัตถะ ชาวอินเดียแคว้นอุชเชนี มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ แปลคัมภีร์ ๖๔ ปกรณ์ ๒๗๘ ผูก
๓. พระสมณะเฮี่ยงจัง ชาวมณฑลโฮนาน จาริกไปอินเดียศึกษา พระธรรมวินัยเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๒ กลับประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๘ แปลคัมภีร์ ๗๔ ปกรณ์ ๑๓๓๐ ผูก (หรือ ๑๓๒๕ หรือ ๑๓๓๕ ผูกไม่แน่)
๔. พระสมณะอี้จิง ชาวเมืองฟันยาง จาริกไปอินเดียศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๔ กลับประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๒๓๗ แปลคัมภีร์ ๕๖ ปกรณ์ ๒๓๐ ผูก
๕. พระอโมฆวัชระ เชื้อสายอินเดียเหนือ แปลคัมภีร์เมื่อ พ.ศ. ๑๒๘๙ - ๑๓๑๔ จำนวน ๗๗ ปกรณ์ ๑๐๑ ผูก
งานถ่ายทอดพระธรรมวินัยดังพรรณนานี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหา กษัตริย์จึงสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นคณะหนึ่ง มีการแบ่งหน้าที่เป็นแผนกหรือตำแหน่งดังนี้
๑. ประธานในการแปล ต้องเป็นผู้รอบรู้ในภาษาสันสกฤตหรือภาษาอินเดียภาค ต่างๆ รวมทั้งภาษาเอเซียกลางด้วย เป็นผู้ควบคุมพระคัมภีร์ที่แปลโดยตรง
๒. ล่ามในการแปล ได้แก่ผู้รู้ภาษาสันสกฤตหรือภาษาของท่านธรรมทูต และภาษาจีนดี ฟังคำอธิบายในข้อความในคัมภีร์สันสกฤตจากผู้เป็นประธานแล้ว ก็แปลเป็นภาษาจีน โดยมุขปาฐะ สำหรับล่ามนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ถ้าประธานมีความรู้ในภาษาจีน
๓. ผู้บันทึก ได้แก่ผู้คอยจดคำแปลของล่ามลงเป็นอักษรจีน ถ้าประธานแตกฉานใน อักษรศาสตร์จีนดีก็ไม่ต้อง เพราะเขียนเองได้
๔. ผู้สอบต้นฉบับ ได้แก่ผู้ตรวจสอบ ผู้ทานดูข้อความแปลที่จดไว้จะตรงกับต้นฉบับหรือไม่
๕. ผู้ตกแต่งทางอักษรศาสตร์ ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตกแต่งภาษาจีนซึ่งแปลจดไว้แล้วให้ สละสลวยถูกต้องตามลีลาไวยากรณ์ของจีน ฟังไม่เคอะเขินหรือกระด้างหู ทั้งนี้เพราะล่ามก็ ดีผู้บันทึกก็ดี จำต้องรักษาถ้อยคำให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่งในบางกรณีลีลาโวหารอาจกระด้าง หรือไม่หมดจดก็ได้
๖. ผู้สอบอรรถรส ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบฉบับแปลจีนนั้นให้มีอรรถรสตรงกันกับต้นฉบับโดยสมบูรณ์ทุกประการ
๗. ผู้ทำหน้าที่ธรรมาภิคีติ ได้แก่การสวดสรรเสริญสดุดีคุณพระรัตนตรัย ก่อนที่จะเริ่มงานแปลทุกวาระ หรือสวดสาธยายข้อความ ในพระคัมภีร์ที่แปลนั้น พูดง่ายๆ ก็คือเจ้าหน้าที่พิธีการนั่นเอง
๘. ผู้ตรวจปรู๊ฟ เมื่อเขาแปลและจดกันเป็นที่เรียบร้อยหมดจดทุกอย่างแล้ว ก็ปรู๊ฟกันอีกทีหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องกันผิดพลาด หากจะมีอะไรหลงหูหลงตาบ้าง
๙. เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ ซึ่งจะต้องเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่คอยดูแลให้มีจตุปัจจัยสมบูรณ์ และคอยอุปการะถวายความสะดวกแก่คณะกรรมการ ตลอดจนเป็นผู้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบถึงผลงาน บางครั้งเมื่อคัมภีร์ปกรณ์หนึ่งๆ แปลจบลง ก็นำถวายขอพระราชนิพนธ์บทนำ
เมื่อพิจารณาการดำเนินงานอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้มั่นใจว่าพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้มีข้อแปลผิดพลาดได้น้อย แต่ถึงกระนั้น เนื่องด้วยในสมัยต้นๆ แห่งการแปลคัมภีร์ ท่านผู้แปลที่เป็นประธานเป็นชาวต่างชาติจะต้องมาเรียนรู้ภาษาจีน ฉะนั้นจึงมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องลีลาโวหารทางอักษรศาสตร์จีน มิได้ผิดพลาดกับอรรถรส ที่น่าประหลาดอยู่ คือ ท่านกุมารชีพเป็นคนต่างชาติแท้ๆ สามารถแปลได้อย่างวิจิตรจนจัดสำนวนของท่านอู่ ในอันดับวรรณคดีชั้นสูงของจีน ส่วนท่านสมณะเฮี่ยงจัง และท่านสมณะอี้จิงนั้นมิพักต้องกล่าวถึงละ เพราะท่านเป็นชาวจีนและยังแตกฉานในภาษาสันสกฤตอย่างเอกอุ ยิ่งท่านเฮี่ยงจังด้วยแล้ว ท่านสามารถรจนาปกรณ์วิเศษได้ในภาษานั้นๆ จึงหาข้อบกพร่องใดๆ ในคัมภีร์ที่ท่านทั้งสองแปลไว้มิพานพบเลย โดยสรุปแล้วก็นับได้ว่าพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ งดงามทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด
พระไตรปิฎกฉบับเขียน
จีนเป็นชาติที่รู้จักทำกระดาษใช้เขียนหนังสือ แต่ยุคราชวงศ์ฮั่น คือประมาณร่วม ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายเข้าไป การแปลคัมภีร์แปลกันเป็นระยะๆ มากบ้างน้อยบ้าง มิได้แปลทีเดียวหมดทั้งไตรปิฎก พุทธบริษัทจีนก็ต้องคัดลอกคัมภีร์ที่แปลแล้วไว้ในกระดาษบ้าง จารึกไว้ในแผ่นไม้บ้าง เพื่อศึกษาเล่าเรียนและเก็บรักษา ครั้นลุถึงแผ่นดินพระเจ้าเหลียงบูเต้แห่งราชวงศ์เหลียง เมื่อ พ.ศ. ๑๐๖๑ มีพระราชโองการให้ ชำระรวบรวมพระไตรปิฎกเท่าที่แปลแล้ว และพวกปกรณ์วิเศษ ได้จำนวนรวม ๑,๔๓๓ คัมภีร์ จำนวนผูกได้ ๓,๗๔๑ ผูก ต่อมาในสมัยวงศ์งุ่ย ชำระหนหนึ่ง, สมัยวงศ์บักชี้ หน หนึ่ง, สมัยวงศ์ซุ้ย ๓ หน, สมัยวงศ์ถัง ๙ หน มีลำดับดังนี้
๑. แผ่นดินพระเจ้าถังไทจง ศักราชเจ็งกวน ปีที่ ๙ (พ.ศ. ๑๑๖๙) จำนวน ๗๓๙ คัมภีร์ ๒,๗๑๒ ผูก
๒. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจง ศักราชเฮี่ยนเข่ง ปีที่ ๔ (พ.ศ. ๑๒๐๒) จำนวน ๘๐๐ คัมภีร์ ๓,๓๖๑ ผูก
๓. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจงอีกเหมือนกัน ศักราชลิ่นเต็ก ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๒๐๗) จำนวน ๘๑๖ คัมภีร์ ๔,๐๖๖ ผูก
๔. แผ่นดินจักรพรรดินีบูเช็กเทียน ศักราชบ้วนส่วย ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๒๓๘) จำนวน ๘๖๐ คัมภีร์ ๓,๙๒๙ ผูก
๕. แผ่นดินพระเจ้าถังเฮียงจง ศักราชไคหงวน ปีที่ ๑๘ (พ.ศ. ๑๒๗๓) จำนวน ๑,๐๗๖ คัมภีร์ ๕,๐๔๘ ผูก
๖. แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจง ศักราชเฮงหงวน ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๓๒๗) จำนวน ๑,๑๔๗ คัมภีร์ ๕,๐๔๙ ผูก
๗. แผ่นดินถังพระเจ้าถังเต็กจงอีกเหมือนกัน ศักราชเจ็งหงวน ปีที่ ๑๑ (พ.ศ. ๑๓๓๘) จำนวน ๑,๒๔๓ คัมภีร์ ๕,๓๙๓ ผูก
๘. แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจงดุจกัน ศักราชเจ็งหงวน ปีที่ ๑๕ (พ.ศ. ๑,๓๔๒) จำนวน ๑,๒๕๘ คัมภีร์ ๕,๓๙๐ ผูก
๙. สมัยวงศ์ถังภาคใต้ ศักราชเปาไต๋ ปีที่ ๓ (พ.ศ. ๑๔๘๘) จำนวน ๑,๒๑๔ คัมภีร์ ๕,๔๒๑ ผูก
รวมการชำระรวบรวมพระไตรปิฎกฉบับเขียน ๑๕ ครั้ง
พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์
จีนเป็นชาติแรกในโลกที่คิดการพิมพ์หนังสือได้ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๗ สมัย ราชวงศ์ฮั่น เริ่มแรกมีผู้คิดใช้วิธีอัดก๊อปปี้ จากตัวอักขระที่จารึกไว้บนแผ่นหินหรือแผ่นไม้ก่อน ต่อมาพัฒนาการเจริญขึ้นตามลำดับใช้วิธีแกะเป็นตัวนูนบนแผ่นไม้แล้วใช้หมึกทาเอา กระดาษนาบพิมพ์ติดหนังสือขึ้นมา ครั้นต่อมาวิชาพิมพ์ก้าวหน้าจนถึงแกะตัวพิมพ์ได้ เมื่อปรารถนาจะพิมพ์ก็ใช้วิธีเรียงตัวพิมพ์เอา ซึ่งมีกำเนิดขึ้นในราวสมัยราชวงศ์ซ้อง แต่มาเจริญแพร่หลายต่อสมัยราชวงศ์หงวนและเหม็ง วิชาการพิมพ์ของจีน เช่นวิธีนาบพิมพ์ แม้จะมีมาก่อนสมัยถัง คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็ยังนิยมใช้คัดลอกกัน ครั้นลุสมัยถังในหมู่พุทธบริษัทนิยมพิมพ์ภาพพระพุทธรูป, พระโพธิสัตว์ไว้ในแผ่นกระดาษบูชาต่อมาจึงได้ พิมพ์พระสูตรบางเอกเทศขึ้น ปรากฏว่าเอกสารพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือพระสูตรของพระพุทธศาสนา ชื่อวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (ผู้เขียนแปลเป็นไทยแล้ว) มิสเตอร์สติน นักขุดค้นพบโบราณวัตถุค้นพบพระสูตรพิมพ์นี้ในถ้ำแห่งหนึ่งของเมืองต้นฮอง มณฑลกานสู เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ปัจจุบันตันฉบับเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลอนดอน ในหนังสือเล่มนี้มี ข้อความบอกถึงอายุดังนี้ “ศักราชฮัมทงปีที่ ๙ เดือน ๔ วันที่ ๑๕ เฮ่งกาย (ชื่อคน) สร้าง ขึ้นเป็นธรรมทานอุทิศ บูชาแด่บิดามารดาทั้งสอง” ศักราชฮัมทงปีที่ ๙ ตรงกับ พ.ศ. ๑๔๑๑ คือประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ถึงกระนั้นตลอดสมัยวงศ์ถัง ก็ยังมิได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นตราบลุถึง
สมัยราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง)
๑. ในสมัยราชวงศ์ซ้อง พระเจ้าซ้องไทโจ๊วฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ เมื่อศักราชไคเป้าปีที่ ๔ (พ.ศ. ๑๕๑๔) มีพระราชโองการให้ขุนนางผู้ใหญ่ชื่อเตียช่งสิ่ง ไปชำระรวบรวมพิมพ์พระไตรปิฎกที่มณฑลเสฉวน พระไตรปิฎกฉบับนี้มาแล้วเสร็จเมื่อรัชสมัย พระเจ้าซ้องไทจง พ.ศ. ๑๕๒๖ กินเวลา ๑๒ ปี เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับไคเป้า” นับ เป็นปฐมพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาทที่ตีพิมพ์เก่าที่สุด (ไม่ใช่จารึกหรือ คัดลอก) ตามที่ข้าพเจ้าทราบ คือ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ของไทย เมื่อรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ช้ากว่าของจีน ๙๑๗ ปี พระไตรปิฎกฉบับไคเป้ามีคัมภีร์ ๑,๐๗๖ คัมภีร์ ๕,๐๔๗ ผูก แต่หายสาบสูญเสียมากกว่ามาก เหลือเพียงข้อความกระท่อนกระแท่นบางคัมภีร์เท่านั้น
๒. พระไตรปิฎกฉบับเคอร์ตานจั๋ง พิมพ์โดยพระราชโองการกษัตริย์เคอร์ตาน ซึ่งเป็นเตอร์กพวกหนึ่ง ปกครองดินแดนทางใต้ของมานจูเรียและจีนเหนือ พระไตรปิฎกพิมพ์ ด้วยอักษรจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๕ บัดนี้สาบสูญกันหมดแล้ว
๓. พระไตรปิฎกฉบับกิมจั๋ง พิมพ์ครั้งราชวงศ์กิมซึ่งเป็นตาดอีกพวกหนึ่งยึดครอง จีนเหนือ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๑-๑๗๑๖ ใช้อักษรจีนเหมือนกัน ยังมีคัมภีร์เหลืออยู่ ณ บัดนี้ ๔,๙๕๐ ผูก ค้นพบที่วัดกวางเซ่งยี่ มณฑลชานสี
๔. พระไตรปิฎกฉบับช่งหลิงบ้วนซิ่งจั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซ้องสิ่นจง สมณะชงจิง วัดตังเสี่ยงยี่ เมืองฟูจิว บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๔๗ มีการพิมพ์เติมต่อมาอีกหลายหนสำหรับฉบับนี้ รวมจำนวน ๖,๔๓๔ ผูก ปัจจุบันกระจัดกระจายหมด
๕. พระไตรปิฎกฉบับพีลู้จั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซ้องฮุยจง สมณะปุงหงอวัดไคหงวน ยี่เมืองฟูจิว บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๘-๑๖๙๓ มี ๖,๑๑๗ ผูก ยังมีฉบับเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่น
๖. พระไตรปิฎกฉบับซือเคยอิ้กั๋กจั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซ้องเกาจง พุทธบริษัทชาวฮูจิว พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๗๕ มีจำนวน ๑,๔๒๑ คัมภีร์ ๕,๔๘๐ ผูก ยังมีฉบับสมบูรณ์อยู่ที่ญี่ปุ่น
๗. พระไตรปิฎกฉบับซือเคยจือฮกจั๋ง ประมาณเวลาพิมพ์ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ คงเหลือบางส่วนเท่านั้น
๘. พระไตรปิฎกฉบับจีซาจั๋ง พิมพ์ราว พ.ศ. ๑๗๗๔ มี ๑,๕๓๒ คัมภีร์ ๖,๓๖๒ ผูก
สมัยราชวงศ์หงวน (หยวน)
๑. พระไตรปิฎกฉบับโพหลิงจั๋ง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๑ สมณะเต้าอัง วัดโพหลิง มณฑลจีเกียงบอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น มี ๑,๔๒๒ คัมภีร์ ๖,๐๑๐ ผูก ยังเหลือบริบูรณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น
๒. พระไตรปิฎกฉบับห่งหวบจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ (คือ กุบลาย ข่าน) ศักราชจีหงวนปีที่ ๑๔ (พ.ศ. ๑๘๒๐) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้น ถึง พ.ศ. ๑๘๓๗ จึงแล้วเสร็จ มี ๑,๖๕๔ คัมภีร์ ๗,๑๘๒ ผูก ฉบับนี้หายสาบสูญแล้ว
สมัยราชวงศ์เหม็ง (หมิง)
๑. พระไตรปิฎกฉบับน่ำจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าเหม็งโจ๊วฮ่องเต้ ศักราชห่งบู๊ปีที่ ๕ (พ.ศ. ๑๙๑๕) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่นครนานกิง มี ๑,๖๑๐ คัมภีร์ ๖,๓๓๑ ผูก ยังอยู่บริบูรณ์ดี
๒. พระไตรปิฎกฉบับปักจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าเหม็งเซ่งโจ๊ว ศักราชยงลัก ปีที่ ๘ (พ.ศ. ๑๙๕๓) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่นครปักกิ่ง มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๑๙๘๔ มี ๖,๓๖๑ ผูก ยังอยู่บริบูรณ์ดี
๓. พระไตรปิฎกฉบับบูลิ้มจั๋ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๕-๒๑๐๙ ฉบับนี้มิได้ร่องรอยที่ละเอียด
๔. พระไตรปิฎกฉบับแกซันจั๋ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๒-๒๒๒๐ มี ๑,๖๕๔ คัมภีร์ ๖,๙๕๖ ผูก ฉบับนี้ยังมีเหลืออยู่ส่วนมาก
สมัยราชวงศ์เช็ง (ชิง)
๑. พระไตรปิฎกฉบับเล่งจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าย่งเจ็ง ปีที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๑๗๘) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ที่กรุงปักกิ่ง มาแล้วบริบูรณ์ในแผ่นดินพระเจ้าเคี่ยนหลง ปีที่ ๓ (พ.ศ. ๒๒๘๑) มีจำนวน ๑,๖๖๐ คัมภีร์
๒. พระไตรปิฎกฉบับแปะนั่มจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าท่งตี้ ปีที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๐๙) นาย ยินซัน อุบาสกคนสำคัญในสมัยนั้นบอกบุญเรี่ยไรชำระพิมพ์ขึ้นที่นานกิง ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์
๓. พระไตรปิฎกฉบับพิงแคจั๋ง แผ่นดินพระเจ้าซวนท้ง (กษัตริย์องค์สุดท้ายของ วงศ์แมนจู) ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๕๒) พุทธบริษัทชาวเมืองเซี่ยงไฮ้จัดพิมพ์ขึ้นมาแล้วเสร็จเมื่อ ศักราชปับลิก คือ มิ่นก๊ก ปีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๕๗) มีจำนวน ๑,๙๑๖ คัมภีร์ ๘,๔๑๖ ผูก
สมัยสาธารณรัฐ (สาธาณรัฐจีน)
๑. พระไตรปิฎกฉบับซกจั๋ง ศักราชมิ่นก๊ก ปีที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๔๖๕) สำนักพิมพ์ชางวู เมืองเซี่ยงไฮ้ จัดพิมพ์ มีจำนวน ๑,๗๕๗ คัมภีร์ ๗,๑๔๘ ผูก
๒. พระไตรปิฎกฉบับจีซาจั๋ง ศักราชมิ่นก๊ก ปีที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๔๗๖) นายพล จูจือ เฉียว และเยกุงเจา รองประธานสภาสอบไล่ได้นำคณะพุทธบริษัทจัดการถ่ายพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับจีซาน ครั้งราชวงศ์ซ้อง ซึ่งค้นพบที่วัดไคหงวนยี่ และวัดออหลุงยี่ มณฑลเซียมซี พิมพ์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ กินเวลา ๓ ปีก็เสร็จ พิมพ์ ๕๐๐ จบๆ ละ ๕๙๑ เล่มสมุด พระไตรปิฎกฉบับนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านสมณาจารย์ไท้สู และคณะพุทธบริษัทแห่งประเทศจีน ได้มอบเป็นบรรณาการแก่รัฐบาลไทย โดยส่งผ่านพุทธศาสนสมาคมตงฮั้วในกรุงเทพฯ เป็นผู้มอบ เวลานี้เก็บรักษาอยู่ในหอพระสมุดแห่งชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเล่งจั๋ง และฉบับอื่นอีกบ้าง จนลุถึงสมัยรัฐบาลคณะชาติ ย้ายมาอยู่เกาะไต้หวัน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พุทธบริษัทจีนซึ่งมีสำนักวัฒนธรรมแห่งประเทศจีนเป็นหัวหน้า ดำเนินการถ่ายพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับไดโชซิของ ญี่ปุ่นขึ้นใหม่ ดังที่มีอยู่แล้วในหอสมุดสภาการศึกษามหามกุฏฯ วัดบวรนิเวศวิหาร และ มหาจุฬาลงกรณฯ วัดมหาธาตุ แต่มิได้ถ่ายพิมพ์เหมือนฉบับไดโช โดยสมบูรณ์ ได้ตัดบางส่วนออก
ต่างประเทศที่ได้รับอารยธรรมจากจีนก็มีเกาหลี, ญี่ปุ่นเป็นต้น ต่างก็อาศัยฉบับพระไตรปิฎกจีนเป็นต้นฉบับพิมพ์เลียนแบบขึ้นบ้าง เช่น ประเทศเกาหลีปรากฏว่าพระไตรปิฎก ๓ ฉบับๆ แรกเริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๕๕๔ ช้ากว่าฉบับแรกของจีนพิมพ์ครั้งต้นวงศ์ ซ้อง ๔๐ ปี ประเทศญี่ปุ่นมี ๙ ฉบับๆ แรกเริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๐ ช้ากว่าฉบับแรกของจีนพิมพ์ครั้งต้นวงศ์ซ็องถึง ๖๖๖ ปี ช้ากว่าฉบับแรกของเกาหลี ๖๒๖ ปี แต่ญี่ปุ่นเจริญก้าว หน้าในด้านค้นคว้ารวบรวมปกรณ์วิเศษ, อรรถกถา, ฎีกาต่างๆ ยิ่งกว่าจีนและเกาหลี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ศาสตราจารย์ตากากุสุ พร้อมด้วยนักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นหลายท่านร่วมกันชำระ รวบรวมพิมพ์พระไตรปิฎกใหม่มาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ให้ชื่อว่าฉบับ ไดโช มีความ วิจิตรพิสดารมโหฬารพันลึกอุดมสะพรึบพร้อมด้วยนานาปกรณ์ ไม่มีพระไตรปิฎกฉบับใดในโลก ทั้งฝ่ายมหายานเถรวาทจะเทียบได้ ได้รวบรวมทั้งคันถะต่างๆ ของบรรดาคณาจารย์ ฝ่ายจีนและญี่ปุ่นทุกคณะทุกนิกายไว้หมด มี ๓๐๕ ปกรณ์ ๑๑,๙๗๐ ผูก พิมพ์เป็นสมุด หนาใหญ่ขนาดเอนไซโคลปีเดีย ๑๐๐ เล่ม พระไตรปิฎกฉบับนี้ในประเทศไทยมีอยู่ ๔ แห่ง ด้วยกัน เท่าที่ผู้เขียนเรียนรู้คือ ที่วัดโพธิ์เย็น (โพยิ่นยี) อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรีแห่ง หนึ่ง ที่วัดทิพยวารีวิหาร (กัมโล่ยี่) กรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง ที่สมาคมพุทธบริษัทไทยจีนประชา กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง และเป็นสมบัติส่วนบุคคลของห้างเบ๊จูลิบ กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง วงการพุทธศาสนาของญี่ปุ่นยังก้าวหน้าไปอีกคือ ยังได้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรญี่ปุ่น ขึ้นและยังได้แปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาทออกเป็นภาษาญี่ปุ่น พิมพ์ขึ้นแพร่หลายก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้วย นับว่าพุทธบริษัทฝ่ายมหายานเขาเอาใจใส่ในเรื่องการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางไม่จำกัดในเรื่องลัทธินิกาย ควรที่จะ เป็นเนตติของพุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทบ้าง
อันที่จริงคลังปริยัติของฝ่ายเถรวาทก็มีอุดม สะพรึบพร้อมด้วยนานาคันถะไม่น้อยกว่าของฝ่ายมหายาน แต่เราไม่คิดรวบรวม ไม่มีผู้ใดจะสนใจศึกษาพวกปกรณ์วิเศษและคันถะต่างๆ เหล่านี้ ปล่อยให้กระจัดกระจายตกหล่น สูญหาย ปกรณ์สำคัญๆ เช่น อภิธรรมมาวตารเนตติปกรณ์เป็นต้น ในวงการปริยัติของไทย ไม่มีใครสนใจ เรารู้จักกันแต่วิสุทธิมรรค, อภิธรรมมัตถสังคหกับอภิธรรมมัตถวิภาวินี และ มิลินทปัญหาและปรมัตถมัญชุสาเท่านั้น พม่าก็มี คณาจารย์ไทยก็มี ซึ่งประมวลกันเข้าแล้ว มากมายไม่ต้องอายฝ่ายมหายาน เราไม่รับรู้ไม่คิดสนใจ ไม่คิดรวบรวม ปล่อยให้เพชรน้ำ หนึ่งเหล่านี้จมดินจมทรายหมด ถ้าสามารถจะเป็นไปได้ กล่าวคือ พุทธบริษัทในกลุ่มประเทศเถรวาท ๕ ประเทศ มีไทย, ลังกา, พม่า, เขมร และลาว ตั้งคณะกรรมการชำระ รวบรวมอรรถกถา, ฎีกา, โยชนาและปกรณ์วิเศษต่างๆ ที่แต่งเป็นภาษาบาลี หรือภาษา ของชาตินั้นๆ รวบรวมเข้าไว้เป็นภาคผนวกของบาลีพระไตรปิฎกเรียกว่า คลังพระปริยัติ ธรรมฝ่ายเถรวาท ก็จักเป็นงานเชิดหน้าชูตาเทียมบ่าเทียมไหล่กับพระไตรปิฎกฉบับไดโช ของฝ่ายมหายานได้ และถ้ารวมคลังปริยัติธรรมทั้งสองฝ่ายเข้าไว้ ก็เป็นมหาธรรมสาครอันยิ่งใหญ่นักหนา ไม่มีศาสนาลัทธิใดในโลก ที่จะมีความมหัศจรรย์วิจิตรพิสดารสะพรั่งด้วยตำรับตำราถึงขนาดนี้เลย
ที่มา : ลานธรรม
|
Update : 28/4/2554
|
|