|
|
พระพุทธชินสีห์มุนีนาถฯ วัดพระเชตุพนฯ
"พระพุทธชินสีห์มุนีนาถฯ" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมาจากเมืองลพบุรี เมื่อครั้งที่สร้างวิหารทิศใต้ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ไม่ปรากฏประวัติ แต่ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ กล่าวว่า "พระพุทธรูปหน้าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว เชิญมาแต่ลพบุรี ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตก บรรจุพระบรมธาตุ ถวายนามว่า พระนาคปรก มีพญา นาคแผลงฤทธิ์เลิกพังพาน มีต้นจิกด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกษธาตุ"
พระพุทธรูปองค์นี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มาจากสุโขทัยคู่กับพระพุทธชินราชวโรวาทธรรมจักร ที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านทิศใต้มุขหน้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้บูรณปฏิ สังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2375 ครั้งนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงบันทึกเรื่องราวไว้เป็นโคลง กล่าวถึงพระ พุทธชินสีห์มุนีนาถฯว่า
"ชินศรีชื่อชี้พระ นาคปรก
สถานสถิตทิศตก ท่านไว้
จิกแมกแจกกิ่งปก ปานฉัตร เฉลอมแฮ
เดิมสุโขทัย อยู่รั้งหอเหม"
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411) โปรดฯ ให้บูรณะพระพุทธชินสีห์ใหม่
ได้ถวายพระนามว่า "พระพุทธชินสีห์มุนีนาถ อุรุคอาสนบัลลังก์ อุทธังทิศภาคยนาคปรก ดิลกภพบพิตร"
ส่วนประวัติ "วัดโพธิ์" หรือนามทางการว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลา รามราชวรมหาวิหาร" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระ บาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธาราม เป็นวัดหลวง ข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระ พุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ 50 ไร่ 38 ตารางวา อยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาสชัดเจน
มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรม มหาราชวังแล้ว มีพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง 2 วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2331
ใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯให้มีการฉลองเมื่อปี พ.ศ.2344 พระราชทานนามใหม่ ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส"
ทั้งนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง 16 ปี 7 เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตก คือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์สวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณ ฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้ บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เป็นโบราณสถาน ในพระอารามหลวง ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น "วัดพระเชตุ พนวิมลมังคลาราม"
แม้การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด เมื่อฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี พ.ศ.2525 เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ
เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนา และการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ 1 และที่ 3 ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถาน และสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวงด้วยพลังศรัทธา ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก)
ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทย ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กัน อย่างไม่รู้จบสิ้น
|
Update : 19/4/2554
|
|