|
|
ความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่ธรณี
พระแม่ธรณีบีบมวยผม
ความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่ธรณี
การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระแม่ธรณีหรือพระธรณี จะไม่มีผู้ใดได้ค้นคว้าเรื่องราวไว้มากนัก จึงผูกพันความเชื่อระหว่างศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา แยกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ลักษณะที่นำความเชื่อมาจากสิ่งมหัศจรรย์บังเกิดขึ้นเหนือธรรมชาติที่มิอาจจะหาคำอธิบายได้ จากปรากฎการณ์ที่เร้นลับ ตลอดจนการเล่าขานสืบต่อจนกลายเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น และความเชื่อถือผูกให้เป็นเทพเทวา เมื่อกระทำสิ่งที่ขัดหรือผิดต่อความเชื่อมักจะมีความรู้สึกว่า ถูกฟ้าดินลงโทษและชีวิตไม่สามารถดำรงต่อไปอย่างผาสุข หรือจะรู้สึกว่าผิดบาปต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะเป็นสิ่งไม่มีตัวตน เช่น พื้นพิภพ , ธรณี, พื้นดิน เป็นต้น
2. ลักษณะที่กล่าวอ้างความเชื่อจาก เทศน์มหาชาติ พุทธประวัติ ปฐมสมโพธกถา เกี่ยวกับตำนานเทพ เทวดาต่าง ๆ มีเป็นรูปลักษณ์ เห็นเป็นรูปร่างของเทพ ปรากฏกายเป็นสตรี
จากลักษณะความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่ธรณี ซึ่งเป็นลักษณะความคิด ความเชื่อ จากหนังสือนิตยสารชวนรู้เขียนโดย อาจารย์ฤดีรัตน์ กายราศ จากกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เรื่องพระคงคา พระธรณี แม่โพสพ เทวดา ในวัฒนธรรมไทยได้ค้นคว้าเกี่ยวกับพระแม่ธรณีได้ชัดเจน จึงขออนุญาตอ้างอิงและนำบทความของท่านมาบางตอนเพื่อได้เห็นภาพลักษณ์ของพระแม่ธรณี ซึ่งท่านได้นำลักษณะของเทวานุสาวรีย์พระแม่ธรณีการประปานครหลวง มากล่าวและเขียนถึงภาพลักษณ์ได้ชัดเจนดังนี้
“ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่โบราณกาลไม่สามารถทราบหรืออธิบายได้ด้วยปัญญาและเหตุผล จึงเข้าใจว่าเกิดจากฤทธิ์และอำนาจของผีสางเทวดาที่จะบันดาลให้ทั้งคุณและโทษ ประกอบกับธรรมชาติของมนุษย์ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้อง คุ้มครอง จึงเกิดคติความเชื่อว่า หากมีการบนบานศาลกล่าวเซ่นไหว้บูชาแล้ว ก็จะพ้นจากความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน ด้วยความเชื่อดังนี้เมื่อปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้เข้าไปครอบงำอยู่ในความนึกคิดและจิตใจของคนในชาติ ในสังคมอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กลายเป็นมูลฐานแห่งวัฒนธรรมจารีตประเพณี เกิดเป็นพิธีรีตองต่าง ๆ ที่มนุษย์ในยุคสมัยต่อมาได้ปรับปรุงให้ประณีตงดงามขึ้น เพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งความเป็นสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิต เทวดาในวัฒนธรรมไทยก็เป็นมรดกจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนการทำมาหากินของคนไทยและเป็นที่น่าสังเกตว่าเทวดาที่คอยเอื้อเฟื้อดูแลทุกข์สุขของมวลมนุษย์ มักจะเป็นเทวดาผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ “
พระธรณี ตามคติความเชื่อของชาวฮินดูให้ความเคารพนับถือว่าแผ่นดินเป็นสิ่งค้ำจุนสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกเปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเทพจากธรรมชาติองค์หนึ่งเป็นเพศหญิง เรียกนามว่า “ธรณิธริตริ” แปลว่าผู้ค้ำจุนพระธรณี แม้จะมิค่อยมีรูปเคารพอย่างแพร่หลายเช่นเทพองค์อื่นแต่ก็มีผู้ให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมิใช่น้อย เพราะถือกันว่าพระธรณีสถิตย์อยู่ตามที่ต่าง ๆ ทุกหนทุกแห่ง จะทำการบูชาด้วย ข้าว ผลไม้ และนมด้วยการวางไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนพื้นดิน บางแห่งใช้เหล้าเป็นการสังเวยก็มี นอกจากนี้ชาวฮินดูยังมีการขอขมาลาโทษเมื่อจะวางเท้าลงบนพื้นดินก่อนจะลุกขึ้นในตอนเช้า วัวหรือควายที่มีลูกก่อนที่จะให้ลูกกินนมครั้งแรก เจ้าของจะปล่อยน้ำนมของแม่วัวลงบนพื้นดินเสียก่อนทุกครั้งไป ถ้าเป็นพวกชาวนาก็จะขอให้พระธรณีช่วยคุ้มครองผืนนาและวัวควาย แม้ในพระเวทก็มีการขอร้องต่อพระธรณ๊ให้ช่วยพิทักษ์คุ้มครองวิญญาณของคนตาย และต่อมาได้นับถือว่าเป็นเทพแห่งไร่นาด้วย ในแคว้นปัญจาบเชื่อกันว่าพระธรณีจะนอนหลับเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ของทุก ๆ เดือนชาวไร่ชาวนาจะหยุดไม่ทำงานในระยะนี้
เทพแห่งแผ่นดินหรือพระธรณี ไม่ค่อยมีเรื่องราวประวัติความเป็นมาปรากฏมากมายดังเช่นเทพองค์อื่น หรือมีก็สับสน เช่น บางแห่งว่าพระธรณีมีโอรสกับพระนารายณ์องค์หนึ่งคือพระอังคาร บางแห่งว่าพระอังคารเป็นโอรสของพระศิวะกับพระธรณี หรือในคติพราหมณ์พบเพียงว่าเป็นชายาของพระธุรวะหรือดาวเหนือ
คติความเชื่อเรื่องพระธรณีได้เผยแพร่มาสู่ไทย ก็เนื่องจากอิทธิพลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ในพิธีกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น พิธีการก่อนไปจับช้างก็มีการกล่าวบูชาพระธรณีเช่นกัน แต่ความเชื่อถือเกี่ยวกับพระธรณีในไทยก็มิได้เป็นที่แพร่หลายนัก และมีความเชื่อเช่นเดียวกับทางอินเดียว่าเป็นเพศหญิงนามพระธรณีมีปรากฎในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิเช่น หนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น มีนามเรียกแตกต่างกันไปเช่น นางพระธรณี พระแม่วสุนธราพสุธา แปลในความหมายเดียวกันว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติหมายถึงแผ่นดินนั่นเอง สำหรับชาวไทยทั่วไปจะเรียกกันติดปากว่า แม่พระธรณีบ้าง พระแม่ธรณีบ้าง ตามความนิยม
จากเรื่องราวของพระธรณี แสดงให้เห็นว่าเป็นเทพที่รักสงบอยู่เงียบ ๆ จึงไม่ใคร่มีเรื่องราวอะไรในโลก เฝ้าแต่เลี้ยงโลกประดุจแม่เลี้ยงลูก คอยรับรู้การทำบุญกุศลของมนุษย์โลก ด้วยการใช้มวยผมรองรับน้ำจากการกรวดน้ำเสมือนกับเป็นอรูปกะ คือไม่มีตัวตนแต่เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหรือมีผู้ร้องขอจึงจะปรากฏรูปขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง
พระธรณีเป็นเทวดาผู้หญิงที่มีสรีระรูปร่างใหญ่หากแต่อ่อนช้อย งดงามพระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศายาวสลวยสีเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนดอกบัวสายคือสีน้ำเงิน พระชงฆ์เรียว พระพาหาดุจงวงไอยรา นิ้วพระหัตถ์เรียวเหมือนลำเทียน มีพระทัยเยือกเย็นไม่หวั่นไหว พระพักตร์ยิ้มละมัยอยู่เสมอ
ภาพเขียนรูปนางพระธรณีที่ถือกันว่างดงามเป็นพิเศษ คือภาพที่ฝาผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี ส่วนภาพปั้นหล่อนางพระธรณีในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่จะทำเป็นรูปหญิงสาว มีรูปร่างอวบใหญ่ ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือมวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผมแสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผมนั้น ส่วนเครื่องทรงไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว ตามแต่จินตนาการของผู้สร้าง บางแห่งสวมพัตราภรณ์เฉพาะช่วงล่าง แต่บางแห่งทั้งนุ่งผ้าจีบและห่มสไบอย่างสวยงาม ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์มีกรอบหน้าและจอนหูเป็นต้น
สำหรับเทวานุสาวรีย์พระแม่ธรณีในการประปานครหลวงจะมีรูปทรงแตกต่างจากรูปปั้นทั่วไป คือมีลักษณะรูปทรงสง่างาม ลำแขน องค์เอวเรียวงดงาม พระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศายาว พระเนตรรีใหญ่คมเหลือบมองพื้นพสุธา วงหน้ารีเรียวพระโอษฐ์ยิ้มละไม เหมือนรูปภาพพระแม่ธรณีที่ฝาผนังด้านหน้าพระอุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี
ส่วนลักษณะตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา จากตำนานเกี่ยวกับเทวดา มาร พรหม และจากพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเรื่องปฐมสมโพธิกถาตอนมารวิชัยปริวรรต ได้กล่าวถึงพระแม่ธรณีที่ปรากฎขึ้นมาในช่วงที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าคือ ก่อนการตรัสรู้ ได้เป็นพยานสำคัญในการปราบมารทั้งหลายทั้งปวง ดังความละเอียดต่อไปนี้
“แต่ในชาติอาตมะเป็นพระยาเวสสันดรชาติเดียวนั้น ก็ได้บำเพ็ญทานบารมีถึงบริจาคนางมัทรีเป็นอวสาน พื้นพสุธาก็กัมปนาการถึง 7 ครั้ง แลกาลบัดนี้ อาตมะนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์อาสน์ หมู่มารอริราชมาแวดล้อมยุทธการเป็นไฉนแผ่นพสุธาธารจึงดุษณีภาพอยู่ฉะนี้ แลพระยามารอ้างบริษัทแห่งตนให้เป็นกฏสักขีขานคำมุสา แลพื้นปฐพีอันปราศจากเจตนาได้สดับคำอาตมะในครั้งนี้จงรับเป็นสักขีพยานแห่งข้า แล้วเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาอันประดับด้วยจักรลักษณะอันงามดุจงวงไอยรารุ่งเรืองด้วยพระนขามีพรรณอันแดงดุจแก้วประพาฬออกจากห้องแห่งจีวร ครุวนาดุจวิชุลดาในอัมพรอันออกจากระหว่างห้องแห่งรัตวลาหก ยกพระดัชนีชี้เฉพาะพื้นมหินทรา จึงออกพระวาจาประกาศแก่นางพระธรณีว่า ดูก่อนวนิดาดลนารี ตั้งแต่อาตมะบำเพ็ญพระสมภารบารมีมาตราบเท่าถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดรราช ได้เสียสละบุตรทานบริจาคแลสัตตสดกมหาทานสมณะพราหมณาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจะกระทำเป็นสักขีพยานในที่นี้ก็มิได้ มีแต่พสุนธารนารีนี้แลรู้เห็นเป็นพยานอันใหญ่ยิ่ง เป็นไฉนท่านจึงนิ่งมิได้เป็นพยานอาตมาในกาลบัดนี้
ในขณะนั้น นางพสุนธรีวนิดาก็มิอาจดำรงกายาอยู่ได้ ด้วยโพธิสมภารานุภาพยิ่งใหญ่แห่งพระมหาสัตว์ ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพียืนประดิษฐานเฉพาะพระพุทธังกุรราช เหมือนดุจร้องประกาศกราบทูลพระกรุณาว่าข้าแต่พระมหาบุรุษราช ข้าพระบาททราบซึ่งสมภารบารมีที่พระองค์สั่งสมอบรมบำเพ็ญมา
แต่น้ำทักษิโณทกตกลงชุ่มอยู่ในเกศาข้าพระพุทธเจ้านี้ ก็มากกว่ามากประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะบิดกระแสใสสินโธทกให้ตกไหลหลั่งลง จงเห็นประจักษ์แก่นัยนาในครานี้ แลนางพระธรณีก็บิดน้ำในโมลีแห่งตน อันว่ากระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศโมลีแห่งนางพสุนธรีเป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศที่ทั้งปวงประดุจห้องมหาสาครสมุทร พระผู้เป็นเจ้ารักขิตาจารย์จึงกล่าวสารพระคาถาอรรถาธิบายความก็เหมือนนัยกล่าวแล้วแต่หลัง
ครั้งนั้น หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำปลาตนาการไปสิ้น ส่วนคิรีเมขลคชินทรที่นั่งทรงองค์พระยาวัสวดีก็มีบาทาอันพลาดมิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร อันว่าระเบียบแห่งฉัตรธวัชจามรทั้งหลาย ก็ทักทบท่าวทำลายล้มลงเกลื่อนกลาดและพระยามาราธิราชได้ทัศนาการเห็นมหัศจรรย์ ดังนั้น ก็บันดาลจิตพิศวงครั่นคร้ามขามพระเดชพระคุณเป็นอันมาก พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาสรรเสริญคุณานุภาพโพธิสัตว์อรรถาธิบายความก็ซ้ำหนหลัง
ครั้งนั้นมหาปฐพีก็ป่วนปั่นปานประหนึ่งว่าจักรแห่งนายช่างหม้อบันลือศัพท์นฤนาทหวาดไหวสะเทือนสะท้าน เบื้องบนอากาศก็นฤโฆษนาการ เสียงมหาเมฆครืนครั่นปิ่มปานจะทำลายภูผาทั้งหลาย มีสัตตภัณฑ์บรรพต เป็นต้น ก็วิจลจลาการขานทรัพย์สำเนียงกึกก้องทั่วทั้งท้องจักรวาล ก็บันดาลโกลาหลทั่วสกลดังสะท้าน ปานดุจเสียงป่าไผ่อันไหม้ด้วยเปลวอัคคี ทั้งเทวทุนทุภีกลองสวรรค์ก็บันลือลั่นไปเอง เสียงครืนเครงดุจวีหิลาชอันสาดทิ้ง ถูกกระเบื้องอันเรืองโรจน์ร้อนในกองอัคนี การอัสนีบาตก็ประหารลงเปรี้ยง ๆ เพียงพื้นแผ่นปฐพีจะพังภาคดังห่าฝน ถ่านเพลิงตกต้องพสุธาดลดำเกิงแสงสว่างหมู่มารทั้งหลายต่าง ๆ ตระหนกตกประหม่า กลัวพระเดชานุภาพแพ้พ่าย แตกขจัดขจายหนีไปในทิศานุทิศทั้งปวงมิได้เศษ แลพระยามาราธิราชก็กลัวพระเดชบารมี ปราศจากที่พึ่งที่พำนักซ่อนเร้นให้พ้นภัยหฤทัย ท้อระทดสลดสังเวชจึงออกพระโอษฐ์สรรเสริญพระเดชพระคุณพระมหาบุรุษราชว่า ดังอาตมาจินตนาการอันว่าผลทานศีลสรรพบารมีแห่งพระสิทธัตถกุมารนี้ ปรากฏอาจให้บังเกิดมหิทธฤทธิ์สำเร็จกิจมโนรถปรารถนาทุกประการ มีพระกมลเบิกบานแผ่ไปด้วยประสาทโสมนัส จึงทิ้งเสียซึ่งสรรพาวุธประนมหัตถ์ทั้ง 2,000 อัญชลีกรนมัสการ ก็กล่าวสารพระคาถาว่า นโม เต ปุริสาชญญ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ปุริสาชาไนยชาติเป็นอุดมบุรุษราชในโลกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายวันทนาการชุลีพร้อมด้วยทวารทั้ง 3 คือกายวจีมโนประณามประณตในบทบงกชยุคลบาท บุคคลผู้ใดในมนุษย์โลกธาตุกับทั้งเทวโลก ที่จะปูนเปรียบประเสริฐเสมอพระองค์คงเทียมเทียบนั้นมิได้มี พระองค์ได้ตรัสเป็นพระศรีสรรเพชญ์เสร็จแจ้งจตุราริยสัจจ์ศาสดาจารย์มีพระเดชครอบงำชำนะหมู่มาร เป็นปิ่นปราชญ์ฉลาดในอนุสัยแห่งสรรพสัตวโลกจะข้ามขนนิกรเวไนย์ให้พ้นจตุรโอฆกันดารบรรลุฝั่งฟากอมฤตมหานฤพานอันเกษมสุขปราศจากสังสารทุกข์ในครั้งนี้ แลพระยาวัสวดีมารโถมนาการพระคุณพระมหาบุรุษราชด้วยจิตประสาทเลื่อมใส ผลกุศลนั้นจะตกแต่งให้ได้ตรัสแก่พระปัจเจกโพธิญาณในอนาคตกาลภายหน้า เมื่อพระยามารกล่าวสัมภาวนากถาสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์ แล้วก็นิวัตตนาการสู่สกลฐานเทวพิภพ”
จึงสรุปความเชื่อทั้ง 2 ลักษณะ คือ พระแม่ธรณีเป็นอรูปกะคือไม่มีรูปกาย เช่นเดียวกับพระแม่คงคา ซึ่งชาวฮินดูจะทำการสักการะได้ทุกสถานที่ เมื่อต้องการความช่วยเหลือก็อ้างเรียกได้ทุกเวลา ส่วนความเชื่ออีกลักษณะหนึ่งที่ทางศาสนาพุทธได้เชื่อตามพุทธประวัติ ที่พระแม่ธรณีได้มีพระคุณต่อพระพุทธเจ้าก่อนการตรัสรู้ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น พระแม่ธรณีมีรูปกายผุดขึ้นมาจากพื้นปฐพีเป็นองค์ที่มีภาพเป็นนิมิตรเป็นรูปสตรีที่ทางพุทธได้กำหนดพระนามของพระแม่ธรณี คือ”นางพสุนธรี” ซึ่งเป็นองค์ตามลักษณะของรูปร่างตามพระแม่ธรณีบีบมวยผมจะประดิษฐานอยู่ใต้แท่นฐานพระพุทธเจ้า “ปางปราบมาร” และเมื่อเกิดมหาปฐพีป่วนปั่น ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระแม่ธรณีบีบมวยผมน้ำมาท่วมท้นหมู่มาร มีทั้งฝนตกและน้ำท่วม และ “ปางนาคปรก” หรือเรียกว่า “พระอนันตชินราช” ชึ่งมีพญานาคได้มาแผ่ปกบังฝนและขดตัวยกชูบัลลังก์ขึ้นสูงจากน้ำที่ท่วมท้นขึ้นมาอย่างฉับพลัน จึงมีรูปภาพที่ตามผนังพระอุโบสถวัดต่าง ๆ ตรงข้ามกับพระประธาน พระแม่ธรณีจึงเป็นเทพผู้อุปถัมภ์พระพุทธเจ้าการบูชาจึงดูได้จากภาพพระแม่ธรณีที่ทูนบัลลังก์พระพุทธองค์สูงเหนือเศียร เป็นต้น
ธรณีนี่นี้เป็นพยานความศักดิ์สิทธิ์ของแม่โลก
พระแม่ธรณี เป็นเทพฝ่ายหญิงที่ผูกพันอยู่กับศาสนาพุทธ และคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งที่พระแม่ธรณีนั้นเคยเป็นเทพของศานาพราหมณ์ – ฮินดูเคยกล่าวถึงมาก่อนเพียงแต่พระแม่พระองค์นี้ไม่ได้สร้างรูปเคารพให้เป็นที่เอิกเกริกอย่างเมืองไทย ส่วนใหญ่ถือเอาดินก้อนหนึ่งมาเป็นเครื่องบูชาแทน “ พระแม่ธรณี ” เท่านั้น ความยิ่งใหญ่ของท่านนั้นแทบไม่ต้องบรรยายถึง เพราะเหย้าเรือน ตึกรามบ้านช่อง ห้องหอเวียงวัง พร้อมด้วยสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนั้นตั้งอยู่บนพระวรกายของท่าน เพียงแต่ท่านไม่ได้ปรากฏรูปกายเป็นเรือนร่างให้เราสัมผัสมองเห็นด้วยตาเท่านั้นเอง
คนไทยเองสร้างรูปของพระนางในลักษณะบีบมวยผม เป็นจินตนาการที่จำลองเอาจากพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าผจญมารมาสร้างรูปไว้สักการบูชา ปางอื่นๆ ด้วยอิริยาบถยืนก็มี แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่ากับการนั่งพับเพียบเท่านั้นเอง
ความจริงแล้ว ซึ่งพระแม่ธรณีนั้นเข้าใจง่ายที่สุด ไม่ต้องอธบายมากทั้ง ๆ ที่ท่านเองก็มีชื่อเรียกอื่นเหมือนกัน อาทิ พระศรีวสุนธรา , พระปฤถิวี , พระภูมิเทวี , ธฤตริ , พสุนธร , พสุนธรี
สถานภาพของพระแม่นั้นโสด ปราศจากการครองคู่กับพระสวามี !!!
แต่ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนอินเดียนั้น มักไม่ยอมให้ผู้หญิงอยู่เป็นโสด เพราะผู้หญิงที่ปราศจากคู่ครองหนึ่ง หรือ สามีตายหนึ่ง มักจะถูกประณามหยามเหยียด ดูหมิ่นดูแคลนกันไปต่าง ๆ ดังนั้น ... ในยุคแรก ๆ นั้นก็เลยไม่มีการจัดคู่ให้กับแม่ธรณี , พระแม่คงคา ซึ่งมีสถานภาพโสดด้วยกันทั้งคู่ ตำนานว่า กาลก่อนนั้น พระลักษมี , พระสรัสวดี , พระธรณี , พระคงคา นั้นร่วมอยู่ในครอบครัวเดียวกับพระวิษณุเทพ ด้วยเหตุที่มีเรื่องวิวาทกันบ่อย ๆ ตามประสาเมียทั้งหลาย พระวิษณุเทพก็เลยต้องทำหน้าที่แจกจ่ายเมียแจกพระคงคาให้กับพระศิวะ และจะยกพระปฤถิวีให้กับเทวดาองค์หนึ่ง ทำให้นางเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจก็เลยอธิษฐานขอลงมาใช้ชีวิตบนโลก ไม่อยากหาความสำราญบนสวรรค์อีกต่อไป
ทุกวันนี้พระแม่ธรณีแทบจะหมดความสำคัญในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มีหลงเหลืออยู่บ้างก็คือ ชาวฮินดูบางคนให้ความเคารพด้วยการเอาฝ่ามือแตะพื้นธรณีขึ้นมาแตะหน้าผากเพื่อแสดงว่ายังเคารพอยู่เท่านั้นเอง หรือบางคนหลังตื่นนอนก่อนเอาเท้าแตะพื้นก็จะกล่าวคำขอขมาลาโทษ เทพชั้นรองหลายคนที่ลดบทบาทบนสวรรค์ก็เลยมาสมาทานเอาพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพระพรหม พระอินทร์ พระแม่ธรณี เป็นต้น ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะสอนเด็กว่า ห้ามเหยียบธรณีประตู !!
จะด้วยเชื่อว่า พระแม่ธรณีสถิตอยู่ตรงนั้น หรือเพราะไม่อยากให้เด็กสะดุดประตูก็แล้วแต่ ก็แสดงว่าพระแม่ธรณีนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ค่อนข้างมาก
นมราดพื้นบูชาแม่ธรณี
อินเดียโบราณ คนซึ่งมีอาชีพทำปศุสัตว์ ก็จะแสดงความเคารพแม่องค์นี้ด้วยวิธีการหนึ่งเหมือนกันคือ เมื่อแม่วัวสาวท้องแรกหลังคลอด และก่อนที่จะให้ลูกวัวได้กินนมจากเต้า คนเลี้ยงจะรีดนมลงพื้นเพื่อบูชาพระแม่ธรณี หรือบางแห่งก็จะตั้งเครื่องสังเวยที่พื้นดิน บูขาด้วยข้าว ผลไม้และนมสด และเอานมนั้นเทราดไปบนพื้น
เพราะการเทราดบนพื้นดินถือเป็นการบูชาแม่ธรณี ตามคติโบราณของคนอินเดียเรื่องพระแม่ธรณีเป็นเพียงแค่เรื่องเครื่องเคียงของเทวนิยมฮินดูเท่านั้น ไม่ได้แสดงบทบาทที่ชัดเจนเหมือนเทพเจ้า เริ่มต้นในสมัยสร้างโลกได้กล่าวถึงพรปฤถิวีที่จมอยู่ใต้น้ำ หลังน้ำท่วมโลกด้วยความทุกข์ทรมานจนพระวิษณุเทพอวตารเป็นหมาป่าไปงัดเอาโลกที่จมอยู่ใต้น้ำ
ขึ้นมาตั้งอยู่ดังเดิมเพื่อให้สรรพสิ่งในโลกได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งพระนางปฤถิวียังทำหน้าที่รับฝาก
ของวิเศษแบบไม่มีดอกเบี้ยอีกด้วย เช่นพระชนกของนางสีดา ฝากลูกใส่ผอบฝังดินไว้จนลูกโตเป็นสาว หรือพระศิวะฝากรัตนธนูเพื่อถวายพระราม อวตารปางหนึ่งของพระวิษณุเทพ
ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง
|
Update : 17/4/2554
|
|