|
|
ตำนานพระวิรุณ (เทพแห่งสายฝน)
|
พระวิรุณ(เทพแห่งสายฝน)
เรื่องราวของพระวรุณ หรือ พระพิรุณ เทพเจ้าแห่งสายฝนของไทยเรานั้น มีคติความเชื่อด้วยกัน ๒ ทาง คือ ความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดู และความเชื่อในทางพุทธศาสนา ถ้าในทางพุทธศาสนาแล้ว เชื่อว่า พระพิรุณเทพนั้นอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพบริวารของพระอินทร์ ที่เป็นเทพแห่งสายฝน สภาพดินฟ้าอากาศ มีหน้าที่รับคำบัญชาจากพระอินทร์อีกทอดหนึ่ง และยังมีเทพรองลงไป เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น เทพปรชันยะ (ผู้ประทานฝน) , เทพปัชชุนนะ หรือ วัสสวลาหกเทพ (เทพแห่งเมฆฝน),สีตวลาหกเทพ(หนาวเย็น) อุณหวลาหกเทพ(ความร้อน) อัพภวลาหกเทพ(เมฆหมอก) วาตวลาหกเทพ(ลม) ซึ่งบรรดาเทพเหล่านี้ จะทำงานประสานกัน หรือผสมกลมกลืน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อให้เกิดฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
เทพปรชันยะ เวลาประทานฝนนั้น จะขับรถที่ฉ่ำด้วยน้ำ เวียนร่อนอยู่ในอากาศ แล้วจึงเปิดถุงน้ำเทลงมาโปรยพรมเป็นฝนลงสู่โลก การทำงานก็เหมือนกับโลกของเราที่มีพนักงาน หัวหน้า ไล่เรียงลำดับกันขึ้นไป เทพปรชันยะ ทำงานใต้คำสั่งของเทพวรุณ เทพวรุณ ก็ขึ้นกับพระอินทร์อีกทอดหนึ่ง ยามใดที่โลกมนุษย์ร้อนแล้งแห้งร้าย ต้นไม้เหี่ยวเหลืองเฉาตายเพราะขาดฝน ก็จะบนบานบวงสรวง ต่อเทพแห่งฝนทั้งหลาย ซึ่งบางครั้ง อาจจะบวงสรวงต่อเทพปรชันยะ หรือไม่ก็บวงสรวงต่อพระวรุณ หากสุดท้ายแล้วก็ต้องร้องขอต่อพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แก่เทพทั้งสองอีกทอดหนึ่ง เหมือนกับที่เรายื่นเรื่องต่อ เจ้าพนักงาน จนถึงรัฐมนตรีว่าการ และสุดท้ายก็ต้องร้องเรียนถึงท่านนายกฯ ที่จะถ่ายทอดคำสั่งลงมาอีกทีหนึ่ง
ประเพณีขอฝนของชาวล้านนา ได้กล่าวถึงเทพผู้ประทานฝน ถือเป็นคติทางพุทธ องค์หนึ่ง คือ ท่านปัชชุนนะเทพบุตร “ปัชชุนนะ” แปลว่า เมฆฝน ผู้ที่ครองเมฆ ก็คือผู้ที่ครองฝน ด้วยฝนเกิดจากเมฆ ทำให้เทพปัชชุนนะ มีบทบาทสำคัญในการร้องขอฝน เมื่อบ้านเมืองขาดน้ำฟ้าในการทำนา แม้แต่พระพุทธเจ้าในกาลเสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน ก็ยังได้ร้องขอฝนต่อเทพปัชชุนนะ ที่จริงแล้ว “ปัชชุนนเทวบุตร” น่าจะเป็นเพียงตำแหน่ง เหมือน ๆ กับตำแหน่งรัฐมนตรี หรืออธิบดีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อันจะให้เทพองค์ไหนมาดำรงตำแหน่งและหน้าที่นี้ เพราะพระอานนท์ก็เคยเกิดมาเป็นปัชชุนนเทวบุตรมาแล้วครั้งหนึ่ง
เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นรูปพระพิรุณทรงนาค หรือแม้แต่ที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ก็มีเทวรูปของพระพิรุณทรงนาค อยู่ด้านหน้าเช่นเดียวกัน เช่นกัน แต่พระวรุณหาได้ทรงนาคไม่ การที่เอาพระวรุณและนาค มาอยู่ด้วยกันเพราะทั้งสองเกี่ยวเนื่องกับ “ฝน” และความอุดมสมบูรณ์ของการเกษตร สัตว์พาหนะของพระวรุณ ส่วนใหญ่จะเป็นจระเข้ บางแห่งว่าเป็นมังกร หรือบอกว่าเป็นหงส์ นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า พระวรุณ เป็นเทพแห่งน้ำและฝน โดยเป็นผู้ควบคุมกระแสน้ำและยังให้แม่น้ำไหลหลั่งถั่งเติมลงสู่มหาสมุทร อีกทั้งยักเก็บกักน้ำในห้วงอากาศไว้ในก้อนเมฆ เพื่อเอาไว้ประพรมลงสู่สวรรค์ บรรยากาศ และโลกมนุษย์
เดิมนั้น พระวรุณมีบทบาทมาก เพราะเกี่ยวกับปากท้องของผองชน แต่เมื่อมีชนเผ่าอื่นเข้ามาแทนที่ ก็ฐาปนาพระอินทร์ขึ้นเป็นใหญ่แทน พระวรุณจึงลดอันดับ อยู่ใต้อาณัติของพระอินทร์ไปโดยปริยาย
พระวรุณนั้น มีธิดาองค์หนึ่ง เป็นที่รู้จักคุ้นหูกันดี เป็นตำนานพื้นบ้านในการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า มีนามว่า “นางเมขลา หรือ นางมณีเมขลา” ชื่อของนางจะดังควบคู่กับอสูรตนหนึ่งที่ชื่อว่า “รามสูร” เสมอนิยายชาวบ้านว่า รามสูรเป็นยักษ์ ถือขวานเพชรเป็นอาวุธ เป็นเพื่อนกับพระราหู เมื่อพระราหูไปดื่มน้ำอมฤตที่พระนารายณ์ชักชวนไปกวน แล้วถูกพระนายรายณ์เอาจักรขว้าง ตัดร่างขาดครึ่งตัวแต่ไม่ตายเพราะดื่มน้ำทิพย์ รามสูรก็คิดจะขอพรพระอินทร์ให้พระราหูกลับมีร่างดังเดิม บังเอิญนางเมขลาไปลักดวงแก้วพระอินทร์ จึงจะจับนางไปถวายเพื่อได้ความชอบก่อน แต่เมขลาก็หลบหลีกโยนแก้วล่อหลอกรามสูร รามสูรจึงขว้างขวานเพชรไป แต่อำนาจดวงแก้ววิเศษคุ้มครองนางเมขลาไว้ ต่างวนเวียนไล่ล่อกันจนเกิดเป็นฟ้าแลบ เพราะแสงแก้วของเมขลา และมีเสียงฟ้าร้องเพราะรามสูรขว้างขวาน
คนทางประเทศตะวันออก เช่น ประเทศอินเดีย จีน ประเทศในแหลมอินโดจีนรวมทั้งคนไทยมีความเชื่อกันว่าเมื่อใดที่ฝนตกฟ้าคะนอง ฟ้าแลบเป็นประกายเจิดจ้า ตามด้วยเสียงฟ้าร้องสะเทือนไปทั้งแผ่นดิน และบางครั้งฟ้าก็ผ่าลงมาดังสนั่นหวั่นไหว ถูกอะไรก็พังพินาศ ไหม้เป็นจุล ไม่ว่าคนหรือสัตว์ โดนฟ้าผ่าก็ตายทันทีปรากฏการณ์ที่กล่าวมานี้ คนชาวอาเซียเชื่อกันว่า เกิดจากอำนาจแก้ววิเศษของนางฟ้าเมขลา และขวานวิเศษของอสูรเทพรามสูร ดังรายละเอียดของเรื่องว่าไว้ดังนี้
นางเมขลา
เมขลา เป็นเทพธิดาผู้รักษาน่านน้ำ และนางผู้ถือดวงแก้วล่อให้รามสูรขว้างขวานทำให้เกิดฟ้าแลบและฟ้าร้อง นิยายพื้นบ้านของไทย ยกเรื่องฟ้าคะนองขึ้นมาเล่าว่า นางเมขลา หรือมณีเมขลามีดวงแก้วประจำตัว รามสูรพอใจในดวงแก้วและความงามของเมขลา จึงเที่ยววิ่งไล่จับนางเมื่อจับไม่ทันก็ใช้ขวานขว้าง แต่ไม่ถูก เพราะเมขลาใช้แก้วล่อจนเป็นฟ้าแลบ แสงแก้วทำให้ตารามสูรมัวจึงขว้างขวานไม่ถูก
ใน วรรณคดีเฉลิมไตรภพ กล่าวถึงเมขลารามสูรนี้ ว่า มีพระยามังกรการตนหนึ่งอมแก้วไว้เสมอ จะไปไหนก็เอาดวงแก้วทูนศีรษะไว้ มังกรการได้แปลงเป็นเทวดาไปสมสู่กับนางฟ้ามีบุตรีชื่อ เมขลา เมื่อเจริญวัยขึ้นมีความงามยิ่ง มังกรการได้นำบุตรีและดวงแก้วไปมอบแก่พระอิศวร ครั้งหนึ่งเมขลาได้ขโมยดวงแก้ววิเศษนั้นไป ราหูผู้มีครึ่งตัวเพราะถูกจักรพระนารายณ์เมื่อครั้งแปลงเป็นเทวดาไปดื่มน้ำอมฤต ได้อาสาไปจับเมขลา และได้ชวนรามสูรผู้เพื่อนไปด้วย รามสูรได้ขว้างขวานจนกลายเป็นฟ้าลั่น
ในวรรณคดีรามเกียรติ์ กล่าวถึงรามสูร (เพี้ยนมาจากปรศุราม) ว่าเป็นอสูรเทพบุตร มีขวานเพชร ในเทศกาลวสันต์ เทวดาและอัปสรเล่นจับระบำกัน รามสูรเข้าไปไขว่คว้านางอัปสร และไล่ตามนางเมขลาไปพบพระอรชุน ได้ท้ารบกัน รามสูรจับอรชุนสองขาฟาดเหลี่ยมพระสุเมรุตาย นางเมขลาฝ่ายบาลีนั้นว่ามีหน้าที่รักษาน่านน้ำมหาสมุทร คอยช่วยเหลือผู้มีบุญที่ตกน้ำ เช่น ช่วยพระชนกและพระสมุทรโฆษ เมขลาของอินเดีย มีคำว่ามณีอยู่ด้วยรวมเป็นมณีเมขลา จึงรวมเป็นองค์เดียวกับเมขลาที่ถือแก้วในนิยายพื้นบ้านไทย
เรื่องฟ้าคะนองนี้มีอีกว่า เป็นเพราะรามสูร เมขลา และพระประชุน มาชุมนุมรื่นเริงกัน พระประชุน คือ พระอินทร์ ในสมัยพระเวทที่มีหน้าที่ทำให้เกิดพายุฝน พระอินทร์ในหน้าที่นี้เรียกว่า ปรรชันยะ หรือ ปรรชัยนวาต ไทยเรียกเป็นพระประชุน เมื่อมีการชุมนุมรื่นเริงกันของเทพแห่งฝน เมขลาผู้มีดวงแก้วและรามสูรผู้มีขวานจึงทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นเรื่องเอานิยายไทยมาปนกับอินเดีย
ในวรรณกรรมจีน เมขลาของจีนมีชื่อว่า เง็กนิ้ง แปลว่า นางหยก บางทีก็ชื่อ เตียนบ๊อ แปลว่าเจ้าแห่งสายฟ้า แต่ไม่ได้ถือดวงแก้ว หากถือธงหรือกระจกเงาทำให้เกิดแสงแวบวับ รามสูรจีนชื่อ ลุ่ยกง หน้าตาน่าเกลียด หัวมีผมพนมขึ้นไปเหมือนลิง หน้าเหมือนครุฑ ผิวเนื้อดำหรือเขียว มีปีกอย่างค้างคาว ที่ตีนมีเล็บอย่างเหยี่ยว เอากลองมาร้อยกันสวมคอเป็นสร้อยสังวาลย์ เสียงฟ้าร้องนั้นเกิดจากลุ่ยกงรัวกลอง บ้างว่ามือหนึ่งของลุ่ยกงถือสิ่ว อีกมือหนึ่งถือขวานและฆ้อน ลุ่ยกงมีหน้าที่ลงโทษผู้มีใจชั่วโดยให้ฟ้าผ่า ครั้งหนึ่งไปผ่าคนผิด โดยผ่าชายคนหนึ่งซึ่งโยนเปลือกแตงโมทิ้ง โดยเข้าใจว่าโยนข้าวที่มีประโยชน์แก่มนุษย์ทิ้ง เรื่องรู้ถึงลุ่ยโจ๊วหัวหน้าใหญ่จึงบัญชาให้เง็กนิ้ง (แปลว่านางหยก) หรือบางทีเรียกว่าเตียนบ๊อ ซึ่งเป็นนางเมขลาของจีนนำกระจกมาคอยฉาย และคอยโบกธงให้ลุ่ยกงรู้ก่อนว่าผู้ใดมีใจชั่วควรลงโทษ คราวหนึ่งลุ่ยกงทำให้ฟ้าผ่าถูกลูกชาวนาตาย พ่อเด็กจึงทำพิธีบวงสรวงลุ่ยกง เพราะเชื่อว่าลูกตนไม่มีความผิด ลุ่ยกงพิจารณาแล้วเห็นว่าเด็กไม่ผิดจึงทำให้ฟ้าผ่าอีกครั้ง ให้เด็กนั้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ และอีกครั้งหนึ่งลุ่ยกงทำงานพลาด แล้วตนเองไปติดอยู่ในง่ามไม้ที่ตนให้ฟ้าผ่า ถูกไม้หนีบออกไม่ได้ ต้องขอให้คนตัดฟืนช่วย คนตัดฟืนต้องเอาหินทำเป็นลิ่มตอกตรงรอยแยก ให้ไม้ถ่างช่วยลุ่ยกงออกมาได้ ลุ่ยกงจึงมอบตำราศักดิ์สิทธิ์เรียกฝน และรักษาโรคภัยความเดือดร้อนต่าง ๆ ได้ คนตัดฟืนได้อาศัยตำรานั้นช่วยผู้คนจนร่ำรวย วันหนึ่งคนตัดฟืนกินเหล้าเมาไปนอนในศาลเจ้า เจ้าเมืองจับตัวไป ชายนั้นก็ขอให้ลุ่ยกงช่วย ลุ่ยกงจึงบันดาลให้ฟ้าผ่า เจ้าเมืองจึงต้องปล่อยตัวไป
|
|
|
|
Update : 17/4/2554
|
|