พระเจ้าสุทโธนะ
๐ พระราชพิธีมงคลราชาภิเษกสมรส
พระพุทธศาสนามีแหล่งกำเนิดอยู่ในดินแดนที่รู้จักกันในครั้งพุทธกาลว่า “ชมพูทวีป” อันได้แก่ทวีปที่มีลักษณะสัณฐาณคล้ายใบชมพูหรือใบหว้า ในปัจจุบัน ชมพูทวีปมีฐานะเป็นเพียงอนุทวีป (Subcontinent) แห่งเอเชียใต้ ประกอบด้วยดินแดนของประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังคลาเทศ แต่ในครั้งพุทธกาลภาคพื้นชมพูทวีปถูกแบ่งเป็นประเทศใหญ่น้อย ซึ่งเรียกกันว่ารัฐหรือแคว้นจำนวนไม่น้อยกว่า 21 แคว้น เฉพาะแคว้นมหาอำนาจในสมัยนั้นมี 4 แคว้นคือ มคธ โกศล วังสะ และอวันตี
เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ในภูมิภาคด้านเหนือของชมพูทวีป อันเป็นดินแดนรอยต่อระหว่างอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน ตอนที่เป็นมณฑลอูธ (Oudh) และมณฑลพิหารเหนือ (North Behar) นั้น มีแคว้นน้อยๆ ของชนเชื้อชาติต่างๆ ตั้งอยู่ด้วยกันหลายแคว้น แต่ละแคว้นมีพระราชาของตนๆ เป็นผู้ปกครองบ้าง มีคณะบุคคลที่นับเนื่องในราชสกุลเป็นผู้ปกครองบ้าง
ในบรรดาแคว้นเล็กๆ เหล่านั้น มีแคว้นเล็กแคว้นหนึ่งตั้งอยู่ตรงพื้นที่ทางทิศเหนือของจังหวัดโครักขปุระ (Gorakhapore) ในปัจจุบัน ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำรัปตี (Rapti) ชื่อว่า สักกชนบท เป็นดินแดนของชนชาติผู้เรียกตนเองว่า ศากยะ พระราชาผู้ปกครองแคว้นนี้ในครั้งนั้นมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสีหหนุ ราชสำนักของพระองค์ตั้งอยู่ในเมืองหลวงชื่อว่า กรุงกบิลพัสดุ์
สมเด็จพระเจ้าสีหหนุ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ ปรารถนาจะราชาภิเษกพระเจ้าสุทโธทนะมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีวัฒนาการได้ 16 พรรษา ไว้ในเศวตราชาฉัตรสืบสิริราชสมบัติแทนพระองค์ จึงทรงส่งพราหมณาจารย์ผู้รอบรู้ในสตรีลักษณ์ไปสืบแสวงหานางรัตนกัญญา จนได้ประสพพระนางสิริมหามายาราชกุมารี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอัญชนา กษัตริย์แห่งกรุงเทวทหะ มีพระสิริวิลาศต้องตามนารีลักษณ์ ไม่มีผู้เทียบเท่า
เมื่อพระเจ้าสีหหนุทรงรับราชบรรณาการ จากกษัตริย์แห่งเทวทหนคร ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก โปรดให้ทำการวิวาหมงคล และดำรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ ตกแต่งมรรคาตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุจนถึงเทวทหนคร ประดับด้วยอลังการ ให้พวกกษัตริย์ศากยวงศ์ ประทับกุญชรชาติ พระเจ้าสุทโธทนะราชโอรส ประทับช้างต้นเศวตไอยรา แวดล้อมด้วยกษัตริย์จำนวนมากเป็นบริวาร พลม้า พลเดินเท้าถือธนูเป็นจำนวนมากแห่ไปเบื้องหน้า พร้อมทั้งสรรพเสบียงอาหารสู่ ณ อโศกอุทยาน
วิวาหมงคลปริวัตต์ พระราชพิธีมงคลราชาภิเษกสมรส พระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ได้จัดขึ้นที่อโศกราชอุทยาน แห่งเทวทหนคร พระนางสิริมหามายาทรงเครื่องแล้ว ก็เสด็จไปสู่ราชอุทยาน พร้อมด้วยหมู่ขัตติยกัญญาบริวารเป็นจำนวนมาก พระเจ้าชนาธิราช พระราชบิดา กับพระนางสุนันทาเทวี พระราชชนนี เสด็จตามขบวนไปด้วย ประชาชนพลเมืองก็มาห้อมล้อมมหาวิวาหมงคลมณฑปอยู่โดยรอบ
ทรงยับยั้งอยู่ในมณฑปโรงราชพิธี มีการมหรสพครบถ้วนไตรมาสแล้ว จึงได้เสด็จกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสีหหนุจึงประกอบพระราชพิธีมงคลราชาภิเษก พระเจ้าสุทโธทนะขึ้นครองราชสมบัติแทนพระองค์ พระองค์มีชื่อโคตรหรือสกุลว่า โคตมะ บางครั้งจึงมีผู้เรียกพระเจ้าสุทโธทนะด้วยพระนามเต็มว่า พระเจ้าสุทโธนะ โคตมะ
พระเจ้าสุทโธทนะก็เสวยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ กับพระนางสิริมหามายา พระอัครมเหสี ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ร่วมกันมาด้วยความผาสุก จนกระทั่งพระเทวีทรงมีพระครรภ์ เมื่อพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระสวามีให้แปรพระราชฐาน ไปประทับที่กรุงเทวทหะเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ก็เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมสมัยนั้น พระเทวีเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ในเวลาเช้าของวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
เมื่อขบวนเสด็จผ่านมาถึงสวนลุมพินี อันตั้งอยู่กึ่งกลางทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน พระนางทรงมีพระประสงค์จะประพาสอุทยาน ข้าราชบริพารจึงเชิญเสด็จแวะไปประทับพักผ่อนอิริยาบถใต้สาละ ขณะประทับอยู่ที่สวนลุมพินีนั้น พระนางได้ประสูติพระโอรสภายใต้ต้นสาละ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวประสูติ จึงตรัสสั่งให้เชิญเสด็จพระนางพร้อมด้วยพระราชกุมาร กลับคืนกรุงกบิลพัสดุ์โดยด่วน
ข่าวประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย ดาบสท่านนี้มีความคุ้นเคยกับราชสำนักของพระเจ้าสุทโธทนะ พอทราบข่าวประสูติของพระราชกุมาร ดาบสจึงลงจากเขาเข้าไปเยี่ยมเยียนราชสำนัก ท่านมีความรู้เกี่ยวกับการทำนายมหาปุริสลักษณะ พอเป็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า
“พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย” แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส
เมื่อพระกุมารประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ประกอบพิธีเฉลิมฉลองรับขวัญและขนานพระนาม โดยเชิญพราหมณ์ 108 คนผู้เชี่ยวชาญไตรเพทมาบริโภคโภชนาหาร ที่ประชุมของพราหมณ์ได้ถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมประสงค์” กล่าวคือพระราชกุมารจะทรงปรารถนาสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้นตามความปรารถนา
คนส่วนมากมักเรียกพระองค์ตามชื่อโคตรว่า “โคตมะ” ต่อจากนั้นพราหมณ์ 8 คนผู้รู้การทำนายลักษณะได้ตรวจสอบลักษณะของพระกุมารแล้ว พบว่าพระกุมารมีลักษณ์มหาบุรุษ 32 ประการ จึงให้คำทำนายชีวิตในอนาคตของพระกุมาร พราหมณ์ 7 คน ทำนายว่าพระสิทธัตถราชกุมารนี้ ถ้าอยู่ครองเพศฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก แต่พราหมณ์คนที่ 8 ชื่อว่าโกณฑัญญะให้คำทำนายยืนยันหนักแน่นเป็นคติเดียวว่า พระกุมารจะต้องออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในวันที่ 7 นับแต่วันประสูติ พระนางมหามายาเทวีผู้เป็นพระชนนีของพระกุมาร ได้ทิวงคต ทั้งนี้เพราะ “มารดาของพระโพธิสัตว์มีอายุน้อยนัก เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ 7 วัน มารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทิวงคตไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต” นับแต่นั้นมาพระสิทธัตถราชกุมารจึงอยู่ในความดูแลของพระนางมหาปชสบดีโคตมี พระน้านางของพระองค์ ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะสืบต่อมา
ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง 6 ปี จนที่สุดทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงประทับที่โพธิมณฑสถาน 7 สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับข่าวว่า พระบรมศาสดาเสด็จมายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี พร้อมบริวาร 1,000 คน (ทูตคณะที่ 10) ไปนิมนต์พระบรมศาสดามายังนครกบิลพัสดุ์ให้ได้ ดังนั้น อำมาตย์กาฬุทายีจึงไปยังกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อไปถึงพอดีเป็นเวลาพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม จึงยืนฟังธรรมอยู่ข้างท้ายบริษัทพร้อมด้วยบริวาร เมื่อจบพระธรรมเทศนาหมู่อำมาตย์นั้นทั้งหมดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา และกราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาก็ได้ประทานให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (วิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เอง ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” วิธีนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรก)
ครั้นเวลาได้ล่วงไป 7-8 วัน ในวันเพ็ญเดือน 4 พระกาฬุทายีเถระเห็นเป็นเวลาอันสมควรจึงได้กราบทูลวิงวอนอาราธนาพระบรมศาสดาให้ทรงเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งพระบรมศาสดาก็ทรงรับอาราธนานั้น
๐ พระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์
ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว ทรงเสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมคธ จนแพร่หลายแล้ว จึงได้เสด็จมาโปรดพระราชบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประทับอยู่ที่นิโครธารามซึ่งพระประยูรญาติสร้างถวาย ในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้าทรงปฏิบัติพุทธกิจ เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระนครกบิลพัสดุ์
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบว่าพระบรมศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์จึงทรงเสียพระทัย ด้วยทรงเห็นว่าการเสด็จพุทธดำเนินโปรดสัตว์ตามถนนหลวงนั้นเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันจะทำให้ชาวเมืองดูหมิ่นดูแคลนว่าเหล่าพระประยูรญาติ และพระราชบิดาตั้งข้อรังเกียจมิได้อุปถัมภ์ จึงรีบเสด็จพระดำเนินมาหยุดอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา แล้วกราบทูลตัดพ้อว่า “ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้”
พระบรมศาสดาจึงทรงอรรถาธิบายว่า “การเที่ยวบิณฑบาตเป็นจารีตประเพณีของตถาคตและพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร”
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงพระธรรมเทศนา “อริยวังสิกสูตร” ในระหว่างถนน โดยพระอิริยาบถยืนถือบาตรอยู่ ณ ที่นั้น แม้พระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงประทับยืนฟังพระโอวาท เมื่อจบพระธรรมเทศนาอันวิจิตร พระราชบิดาก็สำเร็จพระโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกให้เสด็จไปรับบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์
ครั้นวันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ เมื่อพระบรมศาสดาเสร็จภัตกิจแล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัส “จันทกินนรชาดก” โปรดพระราชบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระมาตุจฉา (พระน้านาง) เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระราชบิดาก็ดำรงอยู่ในสกทาคามีผล ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
ในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาตินั้นเอง พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระตำหนักของ นันทกุมาร เนื่องด้วยนันทกุมารจะอภิเษกสมรสกับนางชนปทกัลยาณีในวันนั้น หลังจากพระบรมศาสดาเสร็จภัตตกิจแล้ว ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสอวยพรเพื่อเป็นมงคลแล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จพระดำเนินกลับไป โดยมิได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมาร ฝ่ายนันทกุมารนั้นด้วยความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างยิ่ง จึงมิกล้ากราบทูลให้พระองค์ทรงรับบาตรคืนไป ฉะนั้น ท่านจึงต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อยจนถึงนิโครธาราม
เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด” สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของนางชนปทกัลยาณีที่มาร้องสั่งเตือน ให้รีบเสด็จกลับ แต่เพราะความเคารพยำเกรงในพระบรมศาสดาเป็นยิ่งนัก ไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระพุทธฏีกาบวชในวันนั้น
๐ สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
ครั้นล่วงถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาราชเทวีประดับตกแต่งองค์ราหุลกุมาร ราชโอรสด้วยอาภรณ์อันวิจิตรแล้วตรัสว่า
“พ่อราหุลลูกรัก พ่อจงไปดูพระสมณะผู้มีผิวพรรณผ่องใส รูปดุจท่านท้าวมหาพรหม แวดล้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นจำนวนมาก พระสมณะองค์นั้นคือพระบิดาของเจ้า พระองค์มีขุมทรัพย์มหาศาลอันสุดจะคณนา นับแต่พระบิดาของเจ้าออกผนวช เจ้าก็เหมือนหมดหวังในราชสมบัติ เจ้าจงไปกราบถวายบังคมพระบิดา แล้วกราบทูลขอทรัพย์สมบัตินั้น ในฐานะเป็นทายาทสืบสันติวงศ์ต่อพระองค์เถิด”
ราหุลกุมารเสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพระดำรัสของพระมารดา กราบถวายบังคมแล้ว ทอดพระเนตรดูพระสัพพัญญู ได้บังเกิดความรักในพระบิดา ทรงปราโมทย์โสมนัสตรัสชมว่า “ร่มเงาของพระองค์เย็นสดชื่นยิ่งนัก พระพักตร์ของพระองค์สดใสสุดประมาณ” ดังนี้แล้วก็ตรัสเรื่องอื่นๆ ต่อไป โดยมิได้กราบทูลขอทรัพย์สมบัติ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสอนุโมทนา เสด็จกลับสู่นิโครธาราม ส่วนราหุลกุมารก็เสด็จติดตามไปจนถึงพระอาราม มิมีผู้ใดจะสามารถกราบทูลทัดทานได้ เมื่อสบโอกาสจึงกราบทูลขอทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิ่งที่รัชทายาทผู้สืบราชสันติวงศ์จะพึงได้รับ
พระบรมศาสดาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ราหุลกุมารปรารถนาทรัพย์สมบัติอันเป็นของพระบิดา ถ้าตถาคตจะให้ราชสมบัติซึ่งเป็น ‘ทรัพย์ธรรมดา’ หรือทรัพย์ภายนอกแก่เธอแล้ว ก็จะเป็นสิ่งชักนำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร เป็นไปด้วยความคับแค้นและจมอยู่ในกองทุกข์ ด้วยเป็นสิ่งหาสาระแม้สักนิดหนึ่งก็หามีไม่ อย่ากระนั้นเลยตถาคตจะมอบ ‘อริยทรัพย์’ หรือทรัพย์ภายในอันเป็นสิ่งที่มั่นคงถาวรและประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนานี้แก่เธอ ซึ่งจะทำให้เธอเป็นโลกุตรทายาท สืบสกุลในพุทธวงศ์นี้สืบไป”
ครั้นแล้วทรงมีพระดำรัสสั่งให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมารในวันนั้น ด้วยวิธีไตรสรณคมน์ สามเณรราหุลจึงได้ชื่อว่า เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
๐ พระเจ้าสุทโธทนะทูลขอพระพุทธานุญาต
เมื่อพระเจ้าสุทโธนะทรงทราบว่าราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ทรงโทมนัสเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโหรทั้งหลายได้ทำนายพระโพธิสัตว์ว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นใด ก็ได้ทำนายทั้งพระนันทะและพระราหุลว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นนั้นเหมือนกัน ครั้งนั้นพระราชาทรงเกิดพระปีติโสมนัสด้วยหวังพระทัยว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของบุตรเรา และได้ทรงถึงความหมดหวังอย่างใหญ่หลวง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวชเสีย จึงทรงตั้งความหวังไว้ที่ว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของพ่อนันทะ แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนำพระนันทะให้ผนวชเสียอีก ทำให้ทรงผิดหวังเป็นคำรบสอง แต่อย่างไรก็ตาม ยังทรงตั้งความหวังไว้กับพระเจ้าหลานเธอ คือ พ่อราหุล และแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนำพระราหุลนั้นให้ผนวชเสียอีก บัดนี้ จึงหมดสิ้นผู้จะสืบสายรัชทายาท กุลวงศ์บัดนี้ขาดสายเสียแล้ว
ฉะนั้น พระเจ้าสุทโธนะได้ทรงดำริว่า “แม้ว่าเราจะเป็นพุทธมามกะ ธัมมมามกะ สังฆมามกะ ก็ตาม แต่ถ้าหากปล่อยไว้เช่นนี้ อีกไม่นานบรรดาราชกุมารในศากยสกุล ก็จะถูกนำไปบวชเสียจนหมดสิ้น อนึ่ง ความทุกข์โทมนัสอย่างนี้ก็จะเกิดแก่บิดามารดาในสกุลอื่นๆ ด้วยเหตุที่บุตรและหลานทั้งหลายของตนออกบวช จนหมดสิ้นผู้จะสืบสายสกุล”
ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระบรมศาสดาทรงกระทำภัตกิจในพระราชนิเวศน์ พระเจ้าสุทโธนะจึงรีบเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระราชาประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อพ่อนันทะผนวชก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อราหุลผนวช ความทุกข์ยิ่งมีประมาณมากล้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระเจ้าสุทโธนะจึงกราบทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับต่อแต่นี้ไป ถ้ากุลบุตรผู้ใดประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา หากมารดาบิดายังมิยินยอมพร้อมใจกัน อนุญาตให้บวชแล้ว ขอได้โปรดงดเสีย อย่าได้บวชให้แก่กุลบุตรผู้นั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาได้ประทานพระพุทธานุญาตตามที่พระพุทธบิดากราบทูลขอแล้ว ถวายพระพรลา พาพระนันทะและสามเณรราหุล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จกลับสู่มหานครราชคฤห์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงนำเอาเรื่องนี้เป็นเหตุในการแสดงธรรม แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวชต้องอาบัติทุกกฎ”
๐ พระเจ้าสุทโธทนะประชวร
ในปีที่ 5 นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา กำหนดเวลานี้ว่าตามปฐมสมโพธิ พระพุทธเจ้าเสด็จพระทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี ได้ทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงพระประชวรหนักด้วยพระโรคชรา ทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจ้าศากยะ และพระญาติอีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตามพระพุทธเจ้า เช่น พระอานนท์ พระนันทะ และสามเณรราหุลผู้เป็นหลาน
พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งพระอานนท์ให้แจ้งข่าวพระสงฆ์ ถึงเรื่องที่พระองค์จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง
ธรรมเนียมการเสด็จจาริกทางไกลของพระพุทธเจ้ามีอยู่อย่างหนึ่งคือ ก่อนเสด็จจะรับสั่งพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ชิดให้บอกข่าวพระสงฆ์ทั้งมวลว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จทางไกล ที่นั่น ที่นี่ เวลานั้น เวลานี้ พระสงฆ์รูปใดจะตามเสด็จก็จะได้เตรียมข้าวของอัฐบริขารไว้พร้อม
การเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า เพื่อทรงเยี่ยมและพยาบาลพระพุทธบิดาที่ทรงประชวรครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้าย
เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ได้เสด็จเข้าเยี่ยมพระพุทธบิดา ซึ่งมีพระอาการเพียบหนักแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ปฐมสมโพธิบันทึกพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ดูกร มหาบพิตร อันว่าชีวิตแห่งมนุษย์ทั้งหลายนี้ น้อยนักดำรงอยู่ โดยพลันมิได้ยั่งยืนอยู่ช้า คุรุวนา ดุจสายฟ้าแลบอันปรากฏมิได้นาน.....”
พระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งทรงสำเร็จอนาคามีผลอยู่ก่อนแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ได้สำเร็จอรหันต์ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ หลังจากนั้นอีก 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ด้วยความสงบ
พระพุทธเจ้าเสด็จสรงน้ำพระศพพระพุทธบิดา และถวายพระเพลิง พร้อมด้วยพระสงฆ์ พระประยูรญาติ ชาวศากยะทั้งมวล จนเสร็จสิ้นอย่างสมพระเกียรติ
.............................................................
คัดลอกและรวบรวมมาจาก ::
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7516
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7822
http://www.heritage.thaigov.net/
|