หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระเจ้าพิมพิสาร

    Image

    พระเจ้าพิมพิสาร


    พระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นที่ใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดแคว้นหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีเมืองหลวงชื่อ กรุงราชคฤห์ พระองค์ได้ปกครองแคว้นมคธต่อจากพระบิดา เมื่อพระชนมายุ ๑๕ ปี และครองราชสมบัติอยู่เป็นเวลา ๕๒ ปี พระเจ้าพิมพิสารมีอัครมเหสีพระนามว่า เวเทหิ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามหาโกศล แห่งแคว้นโกศล มีพระราชโอรสซึ่งประสูติจากพระนางเวเทหิ ๑ พระองค์ มีนามว่า อชาตศัตรู

    พระองค์เลื่อมใสในเจ้าลัทธิหลายองค์ในสมัยนั้น แม้กระทั้งชฎิลสามพี่น้อง คือ อุรุเวละกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา ที่สวนตาลหนุ่ม นอกเมืองราชคฤห์แล้ว พระองค์บรรลุพระโสดาบัน จึงกลายเป็นพุทธมามกะที่เข้มแข็ง ประกอบกับแคว้นมคธเป็นรัฐมหาอำนาจในยุคนั้น จึงทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปอย่างรวดเร็ว

    เมื่อยังทรงเป็นราชกุมาร ทรงตั้งความปรารถนาไว้ ๕ ประการ คือ

    ๑. ขอให้ได้อภิเษกในราชสมบัติ
    ๒. ขอให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสู่แว่นแคว้น
    ๓. ขอให้ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น
    ๔. ขอให้พระอรหันต์นั้นทรงแสดงธรรม
    ๕. ขอให้ได้รู้ธรรมของพระอรหันต์นั้น


    ๐ ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าพิมพิสารกับพระพุทธเจ้า

    เพื่อความสะดวกในการกำหนด อาจแบ่งระยะของความสัมพันธ์ออกเป็น ๒ ตอน คือ


    ๑. ความสัมพันธ์ก่อนกาลตรัสรู้

    พระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ต้น กล่าวกันว่าพระองค์เป็นอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน) กับเจ้าชายสิทธัตถะ สมัยที่ยังทรงเป็นพระกุมาร ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงมีความสนิทสนมกับพระบิดาของพระเจ้าพิมพิสาร

    พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพบพระพุทธเจ้าครั้งแรก ในสมัยที่พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา เสด็จมาพักที่เชิงเขาปัณฑวะ ตำบลอุรอเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ในสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นมหาอุปราชยังมิได้ราชาภิเษก พระองค์ทรงพอพระทัยในบุคคลิกลักษณะของพระมหาบุรุษมาก จึงทูลเชิญให้ครองราชสมบัติครึ่งหนึ่งแห่งแคว้นมคธ แต่พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธ และตรัสบอกถึงความตั้งพระทัยของพระองค์ที่จะออกผนวชเพื่อแสวงหาอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระเจ้าพิมพิสารทรงแสดงความยินดีด้วย และทูลขอต่อพระมหาบุรุษว่า เมื่อได้ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จกลับมาโปรดพระองค์ด้วย


    ๒. ความสัมพันธ์หลังกาลตรัสรู้

    เมื่อพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี และเสด็จจำพรรษา ณ ที่นั่น เมื่อออกพรรษาแล้วทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนา พระองค์เองเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงสั่งสอนพระอุรุเวลกัสสปะพร้อมน้องชายทั้ง ๒ และบริวาร ๑,๐๐๐ คนให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วทรงดำริจะเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามที่ทูลขอไว้

    พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกที่เคยเป็นชฏิล ๑,๐๐๓ รูป เสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ (เนื่องจากกรุงราชคฤห์เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก) โดยทรงประทับอยู่ ณ สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิวัน) พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ เสด็จไปเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนเป็นอันมาก ประชาชนสงสัยว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับอุรุเวลกัสสปะ ใครเป็นอาจารย์ใครเป็นศิษย์กันแน่ พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้พระอุรอเวลกัสสปะแก้ข้อสงสัยของประชาชน ท่านจึงประกาศว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา ท่านเองเป็นศิษย์ พร้อมทั้งกราบพระบาทของพระพุทธเจ้า ประชาชนจึงเชื่อและพร้อมที่ฟังพระธรรมเทศนา

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารและประชาชนทั้งปวง เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน ประกาศพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทรงดำริถึงที่ประทับอันเหมาะสมสำหรับพระพุทธเจ้าและพระสาวก จึงทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันหรือป่าไผ่แด่พระพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ทรงรับไว้ จึงเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

    พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานเป็นอันมาก แต่ไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว บรรดาญาติที่เป็นเปรตจึงปรากฏแก่พระเจ้าพิมพิสาร จึงทำให้ทรงตกพระทัยกลัว และทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ถวายทานแล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตเหล่านั้น พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงปฏิบัติตาม การทำบุญแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเกิดขึ้นครั้งแรกในตอนนั้น

    พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน จึงทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระธนิยะ ซึ่งเป็นช่างก่อสร้างมาก่อนบวช ได้กล่าวเท็จกับคนรักษาไม้หลวงว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาตแล้ว นำไม้หลวงไปสร้างกุฏิ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็ไม่เอาโทษเพราะเห็นว่าเป็นพระภิกษุ แต่เรื่องนี้เป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัย ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ ว่าด้วยการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

    นอกจากนี้ พระเจ้าพิมพิสารยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยประการต่างๆ เป็นอันมาก เช่น ได้พระราชทานหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก ให้เป็นหมอประจำองค์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ เป็นต้น

    พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสผู้หลงผิดพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งประสูติจากพระนางเวเทหิ และเป็นรัชทายาท ก่อนประสูติ ขณะทรงพระครรภ์ นางเวเทหิทรงมีอาการแพ้พระครรภ์ทรงพระกระหายอยากเสวยพระโลหิตจากพระพาหาข้างขวาของพระสวามี พระเจ้าพิมพิสารจึงกรีดเอาพระโลหิตของพระองค์ให้พระนางเวเทหิทรงเสวย โหราจารย์ได้ทำนายว่า พระโอรสของพระองค์จะปิตุฆาต คือ ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร

    พระเจ้าพิมพิสารทรงรักใคร่พระราชโอรสมาก แม้จะได้ทรงสดับคำทำนายที่ร้ายแรงเช่นนั้น และแม้พระนางเวเทหิจะได้ทรงพยายามทำลายพระครรภ์เพื่อป้องกันภัยแก่พระองค์ แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ ก็ทรงห้ามเสียและโปรดให้ดูแลรักษาพระครรภ์เป็นอย่างดี เมื่อพระราชโอรสประสูติแล้ว ได้ทรงขนานพระนามว่า อชตศัตรู (ผู้เกิดมาไม่เป็นศัตรู)

    เมื่ออชาตศัตรูเจริญวัยขึ้น ได้เลื่อมใสในพระเทวทัต จึงถูกพระเทวทัตชักชวนให้ทำปิตุฆาต โดยพระเจ้าอชาตศัตรูมีพระบัญชาให้ขังพระราชบิดาของพระองค์ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าพบนอกจากพระนางเวเทหิ และต่อมาก็ทรงห้ามเข้าพบเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นหนทางมิให้พระนางเวเทหิมีโอกาสซุกซ่อนอาหารเข้าไปถวายพระสวามี และจะได้เร่งให้พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตไปตามแผนการ แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นอริยบุคคล สามารถเสวยสุขมีความอิ่มพระทัยได้ด้วยการเสด็จจงกรม จึงทรงพระชนม์อยู่ต่อไปได้อีก ในขั้นสุดท้ายพระเจ้าอชาตศัตรูจึงให้กรีดพระบาทของพระเจ้าพิมพิสารเสียทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้เสด็จจงกรมได้อีกต่อไป เป็นเหตุให้พระองค์สวรรคต

    ในขณะเดียวกับที่พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตนั่นเอง พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ประสูติ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีความรักใคร่เสน่หาในพระโอรสมาก จึงทรงสำนึกขึ้นได้ว่าพระเจ้าพิมพิสารคงจะทรงรักใคร่พระองค์เช่นนั้นเหมือนกัน ครั้นสำนึกได้ก็ตรัสรับสั่งให้ปล่อยพระราชบิดา แต่ปรากฏว่าพระราชบิดาได้สวรรคตเสียก่อนแล้ว ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเสียพระทัยเป็นอันมาก และได้จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติ และทรงเลิกคบกับพระเทวทัต หันมาทำบุญในพระพุทธศาสนา เช่นเป็นองค์อุปถัมภ์ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นต้น แต่ก็ล้างบาปที่ทำปิตุฆาต (ฆ่าบิดา) ซึ่งเป็นอนันตริยกรรม (กรรมหนักหาที่สุดมิได้) หาได้ไม่



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://clubchay.tripod.com/buddha/buddha12.html
    http://www.geocities.com/sakyaputto/pimpisarn.htm

    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch