|
|
นางกาติยานี ชาวกุรรฆรนคร
นางกาติยานี ชาวกุรรฆรนคร
เอตทัคคะในทางผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น
นางกาติยานีอุบาสิกาผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของอุบาสิกาทั้งหลายผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น ก็โดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป และเป็นเพื่อนสนิทของนางนางกาฬี เอตทัคคะ ผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นโดยฟังตามๆ กันมา ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้
๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
ดังได้สดับมา นางกาติยานีนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป เพื่อปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง นางเมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิของเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป
๐ กำเนิดเป็นนางกาติยานีในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในกุรรฆรนคร บิดามารดาตั้งชื่อนางว่า กาติยานี ต่อมา นางเจริญวัย เป็นสหายเป็นมิตรสนิทของนางกาฬีชาวกุรรฆรนคร
ในคืนที่นางกาฬีท้องแก่ครบ ๑๐ เดือนนั่นเอง นางกาฬีก็ได้ฟังธรรมโดยบังเอิญจากสาตาคิรยักษ์ ซึ่งเป็น ๑ ในยักษ์เสนาบดี ๒๘ ตนแห่งท้าวกุเวรมหาราชผู้ซึ่งได้ฟังธรรมกถาของพระทศพล จนบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว และประสงค์จะให้ เหมวตยักษ์สหายของตนได้ฟังธรรมเช่นนั้นบ้าง จึงได้จึงไปหาเหมวตยักษ์นั้น โดยทางอากาศเบื้องบนแห่งกรุงราชคฤห์ กับบริษัทของตน และได้พบกับ เหมวตยักษ์ที่เหนือบ้านของนางกาฬี และสาตาคิรยักษ์ก็ได้แสดงธรรมที่ตนได้ยินมาจากพระศาสดาให้เหมวตยักษ์ได้ฟัง
เหมวตยักษ์ ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนาของสหาย ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
นางครั้นได้ฟังการสนทนาที่ประกอบด้วยพุทธคุณของเสนาบดียักษ์เหล่านั้น โดยเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ครั้นฟังแล้ว ก็เกิดปีติมีพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงถึงพร้อมด้วยพระคุณต่างๆ อย่างนี้ ข่มนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปีตินั้น ยืนอยู่ในประเทศนั้นแล ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
ในคืนนั้นนางกาฬีก็คลอดบุตรพร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติผล ในวันขนานนามทารกที่ได้ มาแล้ว ตั้งชื่อว่า โสณะ
ต่อมาเมื่อ โสณมาณพ บุตรชายของนางกาฬีได้ออกบรรพชาในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ
เมื่อบวชเรียนแล้วท่านก็ได้บำเพ็ญสมณธรรม ตั้งความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์ และมีความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ จึงได้ลาท่านพระมหากัจจายนะ และท่านพระอุปัชฌาย์ก็ได้ฝากให้ท่านพระโสณเถระขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้อยู่ในอวันตีชนบท
พระโสณะนั้นเมื่อพระอุปัชฌาย์อนุญาตแล้วจึงเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้ถึงพระนครสาวัตถีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงปูลาดเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้อาคันตุกะนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะประทับอยู่ในวิหารเดียวกับท่านพระโสณะ ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดเสนาสนะสำหรับท่านพระโสณะในวิหารที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยับยั้งด้วยการบรรทมในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ทรงล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร แม้ท่านพระโสณะก็ยับยั้งด้วยการนอนในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ล้างเท้าแล้วเข้าไปสู่พระวิหาร
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี รับสั่งกะท่านพระโสณะว่าดูกรภิกษุการกล่าวธรรมจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้วได้กล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค ด้วยสรภัญญะ พยัญชนะตัวหนึ่งก็ไม่เสียด้วยเสียงอันไพเราะ
ลำดับนั้น ในเวลาจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานสาธุการ ประกาศ ถึงความเลื่อมใสว่า ภิกษุ ธรรมเธอเรียนไว้ดีแล้ว เทศนาในเวลาที่เราแสดงแล้วก็ดี ในวันนี้ก็ดี เป็นอย่างเดียวกันเทียว ไม่ขาดไม่เกินเลย เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะ ไม่มีโทษ สามารถที่จะทำเนื้อความให้แจ่มแจ้ง
๐ มารดาพระเถระได้ยินเสียงสาธุการ
ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา ประทานสาธุการแก่ท่านในเวลาจบสรภัญญะนั้น ภุมมัฏฐกเทพดา นาค และสุบรรณ ฟังสาธุการที่พระศาสดาประทานแล้ว ได้ให้สาธุการแล้ว เสียงสาธุการเป็นอันเดียวกัน ได้มีแล้วตลอดพรหมโลกอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้
ในขณะนั้น แม้เทพดาผู้สิงอยู่ในเรือนของมหาอุบาสิกาผู้เป็นมารดาของพระเถระ ในกุรรฆรนคร ที่ไกลประมาณ ๑๒๐ โยชน์จากพระเชตวันมหาวิหาร ก็ได้ให้สาธุการด้วยเสียงอันดังแล้ว
ครั้งนั้น อุบาสิกากาฬี ถามเทพดานั้นว่า “นั่น ใครให้สาธุการ ?”
เทพดา : เราเอง น้องหญิง
อุบาสิกากาฬี : ท่านเป็นใคร ?
เทพดา : เราเป็นเทพดา สิงอยู่ในเรือนของท่าน
อุบาสิกากาฬี : ในกาลก่อนแต่นี้ ท่านมิได้ให้สาธุการแก่เรา เพราะเหตุไร ? วันนี้จึงให้
เทพดา : เรามิได้ให้สาธุการแก่ท่าน
อุบาสิกากาฬี : เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านให้สาธุการแก่ใคร ?
เทพดา : เราให้แก่พระโสณกุฎิกัณณเถระ ผู้เป็นบุตรของท่าน
อุบาสิกากาฬี : บุตรของเราทำอะไร ?
เทพดา : ในวันนี้บุตรของท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา แล้วแสดงธรรมแก่พระศาสดา พระศาสดาทรงสดับธรรมแห่งบุตรของท่าน แล้วก็ทรงเลื่อมใสจึงได้ประทานสาธุการ เพราะเหตุนั้นแม้เราจึงให้สาธุการแก่พระเถระนั้น ก็เพราะรับสาธุการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดสาธุการเป็นเสียงกันไปหมด นับตั้งแต่ภุมมัฏฐกเทพดาตลอดถึงพรหมโลก
อุบาสิกากาฬี : นาย ก็บุตรของเราแสดงธรรมแก่พระศาสดา หรือพระศาสดาแสดงแก่บุตรของเรา
เทพดา : บุตรของท่านแสดงธรรมแก่พระศาสดา
เมื่อเทพดากล่าวอยู่อย่างนั้น ปีติมีวรรณะ ๕ ประการ เกิดขึ้นแก่อุบาสิกากาฬี แผ่ไปทั่วสรีระทั้งสิ้น ครั้งนั้น อุบาสิกากาฬีนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “หากบุตรของเราอยู่ในพระคันธกุฏีเดียวกันกับพระศาสดาแล้วยังสามารถแสดงธรรมแก่พระศาสดาได้ ก็จักสามารถแสดงธรรมแม้แก่เราได้เหมือนกัน ในเวลาบุตรมาถึง เราจักให้ทำการฟังธรรมกันแล้วฟังธรรมกถา”
๐ พระเถระเทศน์โปรดมารดา
ครั้นเมื่อพระเถระกลับมาแล้ว ในวันรุ่งขึ้น พระเถระเที่ยวไปบิณฑบาต ได้ไปถึงประตูเรือนของอุบาสิกากาฬีผู้เป็นมารดา
ฝ่ายอุบาสิกากาฬีนั้น เห็นบุตรแล้วก็ดีใจ ไหว้แล้ว อังคาสโดยเคารพแล้วถามว่า “พ่อ ได้ยินว่า คุณอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดาแล้วแสดงธรรมกถาแก่พระศาสดา จริงหรือ ?”
พระโสณะ : เรื่องนี้ ใครบอกแก่โยม ? อุบาสิกา
อุบาสิกากาฬี : พ่อ เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือนนี้ ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง เมื่อโยมถามว่า ‘นั่นใคร’ ก็กล่าวว่า ‘เราเอง’ แล้วบอกอย่างนั้นนั่นแหละ เพราะฟังเรื่องนั้น โยมจึงได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าว่าบุตรของเราแสดงธรรมกถาแก่พระศาสดาได้ไซร้ ก็จักอาจแสดงธรรมแม้แก่เราได้ ’
ครั้งนั้น อุบาสิกากาฬีกล่าวกะพระโสณะนั้นว่า “พ่อ เพราะคุณแสดงธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาได้แล้ว คุณก็จักอาจแสดงแม้แก่โยมได้เหมือนกัน ในวันชื่อโน้น โยมจักให้ทำการฟังธรรมกัน แล้วจักฟังธรรมของคุณ” พระโสณะรับนิมนต์แล้ว
อุบาสิกาคิดว่า “เราถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ทำการบูชาแล้วจักฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา” จึงได้ตั้งให้หญิงทาสีคนเดียวเท่านั้นให้เป็นคนเฝ้าเรือน แล้วได้พาเอาบริวารทั้งสิ้นไป เพื่อฟังธรรมกถาของบุตรผู้จะก้าวขึ้นสู่ธรรมาสน์ที่ประดับประดาไว้แล้ว ในมณฑปที่ตนให้สร้างไว้ภายในพระนคร เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม แสดงธรรมอยู่
(เรื่องในตอนต่อไปนี้ ในอรรถกถาเล่มที่ ๔๓ เรื่องประวัติพระโสณกุฏิกัณณะ บรรยายว่าพวกโจรเข้าปล้นเรื่องของ อุบาสิกากาฬี แต่ในอรรถกถาเล่มที่ ๓๓ เรื่องประวัตินางกาติยานี บรรยายว่า พวกโจรเข้าปล้น เรื่องของอุบาสิกากาติยานี)
๐ พวกโจรเข้าปล้นเรือนมหาอุบาสิกา
ฝ่ายอุบาสิกากาติยานีผู้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนางกาฬี เมื่อได้ทราบว่า พระโสณเถระ จะมาแสดงธรรมโปรดนางกาฬีผู้เป็นมารดาก็ได้พาบริวารไปยังสถานที่แสดงธรรมที่นางกาฬีได้จัดไว้
ก็ในเวลานั้น พวกโจร ๙๐๐ เที่ยวมองหาช่องในเรือนของอุบาสิกากาติยานีนั้นอยู่ ก็เรือนของอุบาสิกากาติยานีนั้น ล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น ประกอบด้วยซุ้มประตู ๗ ซุ้ม เขาล่ามสุนัขที่ดุไว้ในที่นั้นๆ ทุกๆ ซุ้มประตู อนึ่งเข้าขุดคูไว้ในที่น้ำตกแห่งชายคาภายในเรือน แล้วก็ใส่ดีบุกจนเต็ม เวลากลางวัน ดีบุกนั้นปรากฏเป็นประดุจว่าละลายเดือดพล่านอยู่เพราะแสงแดด (เผา) ในเวลากลางคืน ปรากฏเป็นก้อนแข็งกระด้าง เขาปักขวากเหล็กใหญ่ไว้ที่พื้นในระหว่างคูนั้นติดๆ กันไป พวกโจรเหล่านั้นไม่ได้โอกาส เพราะอาศัยการรักษานี้ และเพราะอาศัยความที่อุบาสิกาอยู่ภายในเรือน
วันนั้นทราบความที่อุบาสิกานั้นไปแล้ว จึงขุดอุโมงค์เข้าไปสู่เรือน โดยทางเบื้องล่างแห่งคูดีบุกและขวากเหล็กทีเดียว แล้วส่งหัวหน้าโจรไปสู่สำนักของอุบาสิกานั้น ด้วยสั่งว่า “ถ้าอุบาสิกานั้น ได้ยินว่าพวกเราเข้าไปในที่นี้แล้ว กลับมุ่งหน้ามายังเรือน ท่านจงฟันอุบาสิกานั้นให้ตายเสียด้วยดาบ” หัวหน้าโจรนั้น ได้ไปยืนอยู่ในสำนักของอุบาสิกานั้น
ฝ่ายโจร จุดไฟให้สว่างในภายในเรือน แล้วเปิดประตูห้องเก็บกหาปณะ นางทาสีนั้นเห็นพวกโจรแล้ว จึงไปแจ้งแก่อุบาสิกากาติยานี บอกว่า “คุณนาย โจรเป็นอันมากเข้าไปสู่เรือน งัดประตูห้องเก็บกหาปณะแล้ว”
อุบาสิกากาติยานี : พวกโจรจงขนเอากหาปณะที่ตนค้นพบแล้วไปเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งพระเถระ เจ้าอย่าทำอันตรายแก่ธรรมของเราเลย เจ้าจงไปเรือนเสียเถิด
ฝ่ายพวกโจร ทำห้องเก็บกหาปณะให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บเงิน นางทาสีนั้นก็มาแจ้งเนื้อความแม้นั้นอีก อุบาสิกาพูดว่า “พวกโจรจงขนเอาทรัพย์ที่ตนปรารถนาไปเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งพระเถระ เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย” แล้วก็ส่งนางทาสีนั้นออกไปอีก
พวกโจรทำแม้ห้องเก็บเงินให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บทอง นางทาสีนั้นก็ไปแจ้งเนื้อความนั้นแก่อุบาสิกาแม้อีก
ครั้งนั้น อุบาสิกาเรียกนางทาสีมา แล้วพูดว่า “ชะนางตัวดี เจ้ามาสำนักเราหลายครั้งแล้ว แม้เราสั่งว่า ‘พวกโจรจงขนเอาไปตามชอบใจเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งพระเถระ เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย’ ก็หาเอื้อเฟื้อถ้อยคำของเราไม่ ยังขืนมาซ้ำๆ ซากๆ ร่ำไป ทีนี้ ถ้าเจ้าจักมา เราจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่เจ้า เจ้าจงกลับบ้านเสียเถิด” แล้วส่งให้กลับ
๐ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
หัวหน้าโจรฟังคำนางก็คิดว่า พวกเราซึ่งพากันลักทรัพย์สิ่งของในเรือนของหญิงที่มั่นคงด้วยอัธยาศัยดังนี้ก็พึงถูกสายฟ้าตกฟาดกระหม่อมแน่” ดังนี้แล้ว จึงไปสำนักพวกโจร สั่งว่า “พวกท่านจงขนเอาสิ่งของๆ อุบาสิกาไปไว้ตามเดิมโดยเร็ว” โจรเหล่านั้น ให้ห้องเก็บกหาปณะเต็มด้วยกหาปณะ ให้ห้องเก็บเงินและทองเต็มไปด้วยเงินและทองแล้ว ได้ยินว่า ความที่ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นธรรมดา
พวกโจรได้ไปยืนอยู่ในที่เป็นที่ฟังธรรม ฝ่ายพระเถระแสดงธรรมแล้ว เมื่อราตรีสว่าง จึงลงจากอาสนะ ในขณะนั้นหัวหน้าโจรหมอบลงแทบเท้าของอุบาสิกา พูดว่า “คุณนาย โปรดยกโทษให้แก่ผมเถิด”
อุบาสิกา : นี้อะไรกัน ? พ่อ
หัวหน้าโจร : ผมผูกอาฆาตในคุณนาย ประสงค์จะฆ่าคุณนาย จึงได้ยืนคุมอยู่
อุบาสิกา : พ่อ ถ้าเช่นนั้น ฉันยกโทษให้
๐ พวกโจรเลื่อมใสขอบวชกะพระโสณะ
แม้พวกโจรที่เหลือ ก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่ออุบาสิกากาติยานีพูดว่า “ท่านทั้งหลาย ฉันอดโทษให้” จึงพูดว่า “คุณนาย ถ้าว่าคุณนายอดโทษแก่พวกผมไซร้ ขอคุณนายให้ๆ บรรพชาแก่พวกผม ในสำนักแห่งพระเถระเถิด” อุบาสิกากาติยานีนั้นไหว้พระเถระแล้ว พูดว่า “ท่าน โจรพวกนี้เลื่อมใสในคุณของโยม และธรรมกถาของท่านแล้ว จึงพากันขอบรรพชา ขอท่านจงให้โจรพวกนี้บวชเถิด”
พระเถระพูดว่า “ดีละ” แล้วให้ตัดชายผ้าที่โจรเหล่านั้นนุ่งแล้วให้ย้อมด้วยดินแดง ให้พวกเขาบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีล แม้ในเวลาที่พวกเขาอุปสมบทแล้ว พระเถระได้ให้พระกัมมัฏฐานต่างๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นร้อยองค์ ต่อกรรมฐาน ๑ อย่าง ภิกษุ ๙๐๐ รูปนั้นเรียนพระกัมมัฏฐาน ๙ อย่างต่างๆ กันแล้วพากันขึ้นไปสู่ภูเขาลูกหนึ่ง นั่งทำสมณธรรมใต้ร่มไม้นั้นๆ แล้ว
พระศาสดา ประทับนั่งอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารอันไกลกันได้ ๑๒๐ โยชน์นั่นแล ทรงเล็งดูภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงกำหนดพระธรรมเทศนาด้วยอำนาจแพ่งความประพฤติของเธอเหล่านั้น ทรงเปล่งพระรัศมีไปประหนึ่งว่าประทับนั่งตรัสอยู่ในที่เฉพาะหน้า ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :
“ภิกษุใด มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น พึงบรรลุบทอันสงบ เป็นที่เข้าไประงับสังขาร อันเป็นสุข
ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้ว จักถึงเร็ว เธอตัดราคะและโทสะได้แล้ว แต่นั้นจักถึงพระนิพพาน
ภิกษุพึงตัดธรรม ๕ อย่าง พึงละธรรม ๕ อย่าง และพึงยังคุณธรรม ๕ ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่างได้แล้ว เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้
ภิกษุ เธอจงเพ่งและอย่าประมาท จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนแห่งโลหะ เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่คร่ำครวญว่า ‘นี้ทุกข์’
ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญาย่อมมีในบุคคลใด บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้พระนิพพาน
ความยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ
ภิกษุพิจารณาอยู่ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายโดยอาการใด เธอย่อมได้ปีติและปราโมทย์โดยอาการนั้นๆ การได้ปีติและปราโมทย์นั้น เป็นธรรมอันไม่ตายของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ธรรมนี้ คือความคุ้มครองซึ่งอินทรีย์ ๑ ความสันโดษ ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ เป็นเบื้องต้นในธรรมอันไม่ตายนั้น มีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้
เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีวะอันหมดจด ไม่เกียจคร้าน
ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เพราะเหตุนั้นเธอจักเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
บรรดาบทพระคาถาเหล่านี้ ที่พระศาสดาทรงแสดงด้วยอย่างนี้ ในกาลจบพระคาถาหนึ่งๆ ภิกษุร้อยหนึ่งๆ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในที่แห่งตนนั่งแล้วๆ นั่นแล เหาะขึ้นไปสู่เวหาสแล้ว ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก้าวล่วงทางกันดาร ๑๒๐ โยชน์ทางอากาศนั่นแล ชมเชยพระสรีระซึ่งมีสีดุจทองของพระตถาคตเจ้า ถวายบังคมพระบาทแล้ว ดังนี้แล
๐ ทรงแต่งตั้งอุบาสิกาเป็นเอตทัคคะผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น
ต่อมา พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ จึงทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกา ผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น แล
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/ |
|
Update : 17/4/2554
|
|