|
|
นางสุชาดา (มารดาพระยสมหาสาวก)
นางสุชาดา (มารดาพระยสมหาสาวก)
เอตทัคคะในทางผู้ถึงสรณะก่อน
นางสุชาดาเป็นธิดาของเสนียะ (เสนานิกุฏุมพี) ผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา และเป็นมารดาของพระยสมหาสาวก
ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้านามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดใน เรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมา นางฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดา ทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะก่อนอุบาสิกาทั้งปวง จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น
นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป บังเกิดในครอบครัวของกุฎุมพีชื่อเสนียะ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด เจริญวัยแล้วได้ทำความปรารถนาไว้ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งว่า
ถ้านางไปมีเหย้าเรือนกะคนที่เสมอๆ กัน ได้บุตรชายในท้องแรกจักทำพลีกรรมประจำปี ความปรารถนาของนางก็สำเร็จ
เมื่อพระมหาสัตว์ทรงทำทุกรกิริยาครบปีที่ ๖ ในวันวิสาขปุณณมี นางมีความประสงค์จะทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ และก่อนหน้านั้นแหละ ได้ปล่อยแม่โคนมพันตัวให้เที่ยวไปในป่าชะเอม ให้แม่โคนม ๕๐๐ ตัว ดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๑,๐๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่โคนม ๒๕๐ ตัว ดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๕๐๐ ตัวนั้นรวมความว่า นางต้องการความข้นความหวาน และความมีโอชะของน้ำนมจึงได้กระทำการหมุนเวียนไป จนกระทั่งแม่โคนม ๘ ตัวดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๑๖ ตัว ด้วยประการฉะนี้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ นางคิดว่า จักทำพลีกรรมตั้งแต่เช้าตรู่ จึงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งของราตรี แล้วให้รีดนมแม่โคนม ๘ ตัวนั้น ลูกโคทั้งหลายยังไม่ทันมาใกล้เต้านมของแม่โคนม แต่เมื่อพอนำภาชนะใหม่เข้าไปที่ใกล้เต้านม ธารน้ำนมก็ไหลออกโดยธรรมดาของตน
นางสุชาดาเห็นความอัศจรรย์ดังนั้น จึงตักน้ำนมด้วยมือของตนเองใส่ลงในภาชนะใหม่ แล้วรีบก่อไฟด้วยมือของตนเอง
เมื่อนางกำลังหุงข้าวปายาสนั้นอยู่ ฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นไหลวนเป็นทักษิณาวัฏ น้ำนมแม้จะแตกออกสักหยาดเดียว ก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก ควันไฟแม้มีประมาณน้อยก็ไม่ตั้งขึ้นจากเตาไฟ
สมัยนั้น ท้าวจตุโลกบาลมาถือการอารักขาที่เตาไฟ ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกะทรงนำดุ้นฟืนมาใส่ไฟให้ลุกโพลงอยู่ เทวดาทั้งหลายรวบรวมเอาโอชะที่สำเร็จแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารมาใส่ลงในข้าวปายาสนั้น ด้วยเทวานุภาพของตนๆ เสมือนคั้นรวงผึ้งซึ่งติดอยู่ที่ท่อนไม้ถือเอาต้นน้ำหวานฉะนั้น
จริงอยู่ ในเวลาอื่นๆ เทวดาทั้งหลายใส่โอชะในทุกๆ คำข้าว แต่ในวันบรรลุพระสัมโพธิญาณ และวันปรินิพพานใส่ลงในหม้อเลยทีเดียว
นางสุชาดาได้เห็นความอัศจรรย์มิใช่น้อย ซึ่งปรากฏแก่ตนณ ที่นั้น ในวันเดียวเท่านั้น จึงเรียกนางปุณณาทาสีมาพูดว่า
นี่แน่ะแม่ปุณณา วันนี้เทวดาของพวกเราน่าเลื่อมใส่ยิ่งนัก เพราะว่าเราไม่เคยเห็นความอัศจรรย์เห็นปานนี้ ในเวลามีประมาณเท่านี้ เธอจงรีบไปปัดกวาดเทวสถานโดยเร็ว นางปุณณาทาสีรับคำของนางแล้วรีบด่วนไปยังโคนไม้
ในตอนกลางคืนวันนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงเห็นมหาสุบิน ๕ ประการ เมื่อทรงใคร่ครวญดู จึงทรงกระทำสันนิษฐานว่า วันนี้ เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อราตรีนั้นล่วงไป จึงทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระ ทรงคอยเวลาภิกขาจาร
พอเช้าตรู่ จึงเสด็จมาประทับนั่งที่โคนไม้นั้น ยังโคนไม้ทั้งสิ้นให้สว่างไสวด้วยพระรัศมีของพระองค์
ลำดับนั้น นางปุณณาทาสีนั้นมาได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งที่โคนไม้ มองดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออกอยู่ และต้นไม้ทั้งสิ้นมีวรรณดุจทองคำ เพราะพระรัศมีอันซ่านออกจากพระสรีระของพระองค์ นางปุณณาทาสีนั้นได้เห็นแล้วจึงมีความคิดดังนี้ว่า วันนี้ เทวดาของเราเห็นจะลงจากต้นไม้มานั่งเพื่อคอยรับพลีกรรมด้วยมือของตนเอง จึงเป็นผู้มีความตื่นเต้น รีบมาบอกเนื้อความนั้นแก่สุชาดา
นางสุชาดาได้ฟังคำของนางปุณณาทาสีนั้นแล้วมีใจยินดีพูดว่า ตั้งแต่วันนี้ไป เจ้าจงตั้งอยู่ในฐานะเป็นธิดาคนโตของเรา แล้วได้ให้เครื่องอลังการทั้งปวงอันสมควรแก่ธิดา ก็เพราะเหตุที่ในวันจะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะได้ถาดทองใบหนึ่งซึ่งมีราคาหนึ่งแสน ฉะนั้นนางสุชาดานั้นจึงทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักใส่ข้าวปายาสในถาดทองนางมีความประสงค์จะให้นำถาดทองราคาหนึ่งแสนมา เพื่อใส่ข้าวปายาสในถาดทองนั้น จึงรำพึงถึงโภชนะที่สุกแล้ว ข้าวปายาสทั้งหมดได้กลิ้งมาตั้งอยู่เฉพาะในถาด เหมือนน้ำกลิ้งมาจากใบปทุมฉะนั้น ข้าวปายาสนั้นได้มีปริมาณเต็มถาดหนึ่งพอดี
นางจึงเอาถาดใบอื่นครอบถาดใบนั้นแล้วเอาผ้าขาวพันห่อไว้ ส่วนตนประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องประดับทุกอย่างเสร็จแล้ว ทูนถาดนั้นบนศีรษะของตนไปยังโคนต้นไทรด้วยอานุภาพใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์แล้วเกิดความโสมนัสเป็นกำลัง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา จึงโน้มตัวเดินไปตั้งแต่ที่ที่ได้เห็น ปลงถาดลงจากศีรษะแล้วเปิด (ผ้าคลุม) ออก เอาสุวรรณภิงคาร คนโทน้ำทองคำ ตักน้ำที่อบด้วยดอกไม้หอมแล้วได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ยืนอยู่
บาตรดินที่ฆฏิการมหาพรหมถวาย ไม่ได้ห่างพระโพธิสัตว์มาตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ขณะนั้นได้หายไปพระโพธิสัตว์ไม่ทรงเห็นบาตร จึงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกรับน้ำ นางสุชาดาจึงวางข้าวปายาสพร้อมทั้งถาดลงบนพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษๆ ทรงแลดูนางสุชาดาๆ กำหนดพระอาการได้ทูลว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันบริจาคแก่ท่านแล้ว ท่านจงถือเอาถาดนั้นไปกระทำตามความขอบใจเถิด ถวายบังคมแล้วทูลว่า
มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้ว ฉันใด แม้มโนรถของท่านก็จงสำเร็จ ฉันนั้น นางบริจาคถาดทองซึ่งมีราคาตั้งหนึ่งแสน เหมือนบริจาคใบไม้เก่าไม่เสียดายเลย แล้วหลีกไป
พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวางถาดทองไว้ริมฝั่ง ลงสรงสนานแล้วเสด็จขึ้น ทรงปั้นเป็นก้อนได้ ๔๙ ก้อน เสวยข้าวมธุปยาสแล้ว ทรงลอยถาดทองลงในแม่น้ำ เสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถานตามลำดับ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประทับ ณ โพธิมัณฑสถานล่วงไป ๗ สัปดาห์ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐโปรดแก่ปัญจวัคคีย์แล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงเห็นอุปนิสัยของเด็กชื่อ ยสะ บุตรของนางสุชาดา จึงเสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง
แม้ยสกุลบุตรเห็นนางบำเรอนอนเปิดร่างในลำดับต่อจากครึ่งราตรี เกิดความสลดใจพูดว่า วุ่นวายหนอ ขัดข้องหนอ แล้วออกจากนิเวศน์เดินไปยังสำนักพระศาสดานอกพระนครฟังธรรมเทศนาแล้วแทงตลอดมรรคผล ๓
ขณะนั้น บิดาของยสกุลบุตรเดินตามรอยยสกุลบุตรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามเรื่องของยสกุลบุตร
พระศาสดาทรงปกปิดยสกุลบุตรไว้ ทรงแสดงธรรมจบเทศนา เศรษฐีคฤหบดีก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล
ส่วนยสะบรรลุพระอรหัต
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเขาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด
ทันใดนั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของเขาก็หายไป เขาได้เป็นผู้ทรงบาตรและจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์. แม้บิดาของท่านก็นิมนต์พระศาสดา พระศาสดาทรงมีพระยสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะ ติดตามไปข้างหลัง เสด็จไปเรือนของเศรษฐีนั้น เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ทรงแสดงธรรมโปรด
จบเทศนา นางสุชาดามารดาและภริยาเก่าของพระยสะ ก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล
ในวันนั้น นางสุชาดากับหญิงสะใภ้ ก็ดำรงอยู่ในเตวาจิสรณะคือถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ครบ ๓ เป็นสรณะ นี้เป็นความย่อในเรื่องนั้น ส่วนโดยพิสดาร เรื่องนี้มาแล้วในคัมภีร์ขันธกะ
ภายหลังต่อมา พระศาสดาเมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ แล
[อ้างอิง : องฺ.อ. ๑/๒/๘๓-๘๖ ; วินย. ๔/๒๗-๒๙ ; อป.อ. ๘/๑/๑๓๗-๑๔๐]
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
สารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
http://www.dharma-gateway.com/ |
|
|
Update : 17/4/2554
|
|