|
|
อุคคตคฤหบดี ชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี
อุคคตคฤหบดี ชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี
เอตทัคคะในทางผู้อุปัฏฐากภิกษุสงฆ์
คฤหบดีคนหนึ่ง เป็นชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี ท่านผู้นี้พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมว่าใครหมดในด้านการบำรุงสงฆ์ [สังฆุปัฏฐาก (องฺ. ๒๐/๓๓ ; สํ. สฬา. ๑๘/๑๓๘)] ท่านได้รับตำแหน่งเศรษฐีแทนบิดาในเมื่อบิดาท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปยังหมู่บ้าน หัตถิคามประทับอยู่ที่อุทยานนาควัน เวลานั้นท่านอุคคตเศรษฐีได้ดื่มสุราเมามายเป็นเวลา ๗ วัน ในวันสุดท้าย ได้พาพวกเต้นรำออกไปยังอุทยานนาควัน มีการบำรุงบำเรอและเฮฮาร่าเริงกันอย่างเอกเกริก แต่เมื่อเข้าไปพบพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดความละอาย ความเมามายของท่านจึงหายไป ท่านได้ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วนั่งอยู่ในที่สมควรข้างหนึ่ง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมโปรด ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี
ตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงงดการร่าเริงต่างๆ เสีย แล้วอนุญาตให้พวกเต้นรำไปอยู่ที่อื่นตามใจชอบ ส่วนตัวท่านเองได้อุทิศชีวิตถวายทานแก่พระสงฆ์ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง คืนหนึ่งเทวดาตนหนึ่งได้เข้าไปบอกท่านว่า ภิกษุรูปโน้นได้บรรลุวิชาชา ๓ รูป นั้นได้บรรลุอภิญญา ๖ รูปนั้นเป็นผู้มีศีล รูปนี้เป็นผู้ทุศีล แม้จะทราบความจริงเช่นนั้น ท่านก็มิได้คำนึงถึงข้อเสียหายของภิกษุบางรูป ได้แต่พูดสรรเสริญในแง่ดีทั้งนั้น แม้เวลาถวายทานก็ถวายด้วยจิตใจเป็นกลาง สม่ำเสมอ ไม่มีลำเอียง หรือเลือกหน้าถวาย ทั้งถวายด้วยความยินดีเท่าเทียมกัน (องฺ.อ. ๑/๔๒๖)
ต่อมา พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระสงฆ์ว่า ท่านอุคคตคฤหบดีมีคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ถึง ๘ อย่าง พอถึงตอนเช้าภิกษุรูปหนึ่งซึ่งได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้น ได้ไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านหัตถิคามแล้วเข้าไปหาท่านอุคคตคฤหบดี ได้ถามท่านคฤหบดีเกี่ยวกับคุณธรรมที่แปลกน่าอัศจรรย์ ๘ อย่างนั้น ท่านคฤหบดีตอบว่า ท่านเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคุณธรรม ๘ อย่าง ที่พระพุทธองค์ตรัสถึงนั้นได้แก่อะไรบ้าง แต่ท่านคฤหบดีได้อธิบายถึงคุณธรรม ๘ อย่างที่เกิดในใจท่านให้ภิกษุรูปนั้นฟังโดยลำดับว่า
(๑) ขณะที่ท่านกำลังเมาสุราอยู่ที่อุทยานนาควันนั้น เมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ความเมาสุราของท่านก็ได้สูญสิ้นไป นี้เป็นคุณธรรมข้อแรกที่เกิดขึ้นในใจท่าน
(๒) เมื่อท่านมีใจเลื่อมใสได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้ฟังอนุปุพพิกถา ๕ คือ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา และเนกขัมมกถา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงโปรด แล้วมีจิตปลอดโปร่ง อ่อนโยน ปราศจากนีวรณธรรม เบิกบาน และผ่องใสยิ่ง เหมือนผ้าที่ขาวสะอาดปราศจากจุดด่างดำ ควรรับน้ำย้อมได้ฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงทราบภาวะจิตของท่าน แล้วได้ทรงแสดงสามุกกังสิกธรรมเทศนา คือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดท่าน ขณะที่นั่งอยู่บนอาสนะนั่นเองท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือมีปัญญาเห็นประจักษ์ว่า สิ่งใดที่เกิดมาแล้วสิ่งนั้นทั้งหมดก็จะต้องดับ จึงชื่อว่าท่านได้เห็นธรรม ได้บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งถึงธรรม หมดความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง เป็นผู้มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในเรื่องสัตถุศาสน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะสมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สอง
(๓) โดยที่ท่านมีภริยา ๔ คนท่านจึงแจ้งให้ภริยาทราบ ท่านสมาทานสิกขาบทแล้ว ผู้ใดปรารถนาจะใช้โภคทรัพย์ จะทำบุญทำทาน หรือจะกลับไปอยู่บ้านญาติของตน ก็เชิญตามใจชอบ หรือถ้าปรารถนาชายใดก็จะยกให้ชายนั้นตามต้องการ ภริยาหลวงจึงขอให้ท่านยกให้ชายที่ตนชอบคนหนึ่ง ท่านก็ยินดีจัดการให้ตามความประสงค์ ขณะที่บริจาคภริยานั้น ท่านก็มิได้มีจิตคิดฟุ้งซ่าน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สาม
(๔) ท่านมีโภคสมบัติมากมายแต่ท่านมิได้ตระหนี่ ท่านได้แจกจ่ายแก่ท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมโดยทั่วหน้ากัน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สี่
(๕) ท่านเข้าไปหาภิกษุรูปใด ก็เข้าไปหาด้วยความเคารพ เมื่อฟังธรรมก็ฟังด้วยความเคารพเมื่อภิกษุไม่แสดงธรรมให้ฟัง ท่านก็แสดงให้ภิกษุฟัง นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่ห้า
(๖) เมื่อท่านนิมนต์พระสงฆ์แล้ว แม้จะมีเทวดามาบอกท่านว่า ภิกษุรูปนั้นมีคุณธรรมอย่างนั้น รูปนี้มีคุณธรรมอย่างนี้ รูปนี้มีศีล รูปโน้น ไม่มีศีล ท่านก็มีใจสม่ำเสมอ ได้ถวายทานแก่ภิกษุเหล่านั้นโดยเท่าเทียมกัน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่หก
(๗) แม้จะมีเทวดาเข้าไปหาท่านและได้สนทนาธรรมกับท่านเสมอ ท่านก็มิได้เกิดความลำพองใจในเพราะเหตุนั้น นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่เจ็ด
(๘) หากท่านจะสิ้นชีวิตก่อนพระพุทธเจ้าท่านก็มิได้อัศจรรย์ใจอะไรเลย ที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเกี่ยวพัน อันจะทำให้เวียนมาเกิดในโลกนี้อีก นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่แปด
ภิกษุรูปนั้น เมื่อได้สนทนาและได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถึงคำอธิบายที่ตนได้ฟังมานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสรับรองว่า ธรรมที่ท่านคหบดีแสดงนั้น เป็นธรรมที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ในพระทัย ในเวลาที่ทรงสรรเสริญท่านคฤหบดีแล้ว (องฺ. ๒๓/๒๑๕-๒๑๙)
ในสังยุตตนิกายเล่าว่า ท่านอุคคตคฤหบดีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่หัตถิคาม ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย มิให้สัตว์บางพวกปรินิพพาน ให้บางพวกปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ผู้มีอุปทานย่อมไม่ปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ ส่วนผู้ไม่มีอุปทานย่อมปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ (สํ.สฬา. ๑๘/๑๘๓)
ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านอุคคตคฤหบดีก็เคยเป็นคฤหบดีเช่นกัน วันหนึ่งท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าได้เห็นพระพุทธองค์ทรงประกาศยกย่องอุบาสกคนหนึ่งว่า เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใครหมดในด้านบำรุงสงฆ์ (สังฆุปัฏฐาก) ท่านมีความเลื่อมใสได้ปรารถนาจะได้รับตำแหน่งเช่นนั้นในอนาคต จึงได้บำเพ็ญบุญกุศลจนตลอดชีวิต และได้รับตำแหน่งนั้นสมปรารถนา ในพุทธุปาทกาล (องฺ.อ. ๑/๔๒๖) นี้
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/ |
|
Update : 17/4/2554
|
|